ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความคิดสหกรณ์ของ ปรีดี พนมยงค์

9
เมษายน
2564

เมื่ออ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจครั้งแรก มีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญกับการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง เมื่ออ่านครั้งต่อๆ ไปก็เริ่มเห็นความสำคัญของส่วนของชาวบ้าน ส่วนของท้องถิ่น ในเค้าโครงการฯ คือในตอนที่ว่าด้วยสหกรณ์ เมื่อได้ไปสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ปรีดีที่ปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525 ก็มีความรู้สึกชัดเจนว่า ท่านอาจารย์ให้ความสนใจมากต่อชีวิตธรรมดาๆ ของชาวบ้าน และ เข้าใจปัญหาของชาวบ้านอย่างดี ปรากฏชัดในงาน ชีวิตและการงานของปรีดี พูนศุข (ยังไม่ได้พิมพ์) ซึ่งท่านอาจารย์กรุณาขอให้ท่านผู้หญิงอ่านบางตอนให้ทราบ

เมื่ออาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมสัมภาษณ์ในวันนั้นถามท่านอาจารย์ว่า “ระบบเศรษฐกิจในอุดมคติของท่านอาจารย์คืออะไร?” ท่านอาจารย์ตอบว่า “สหกรณ์สังคมนิยม (Socialist cooperative)” หมายความว่า ท่านอาจารย์ให้ความสำคัญสูงมากกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดการเศรษฐกิจ

เมื่อสะดุดใจข้อนี้และกลับมาอ่านคำอธิบายกฎหมายปกครองของท่านอาจารย์เอง ที่บรรยายและเขียนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2474) และรายงานการประชุมกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476 จึงได้ความชัดเจนว่า ในกระบวนการคิดหาระบบเศรษฐกิจสังคมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ท่านอาจารย์ปรีดีเน้นระบบสหกรณ์และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน มิใช่เน้นแต่ด้านการวางแผนของรัฐ

อีกทั้งข้อเขียนของท่านหลายชิ้นในช่วงที่ลี้ภัยทางการเมืองก็ยืนยันว่าท่านอาจารย์สนใจชาวบ้านธรรมดาและการปกครองกันเองของพวกเขาเหล่านั้นภายในหมู่บ้าน  สนใจความเป็นอยู่และฐานะทางการเมืองของชนชาติส่วนน้อย และเสนอให้รัฐไทยเคารพระเบียบประเพณีอันดีงามของชนชาติส่วนน้อยด้วย

‘คุณวรพุทธิ์ ชัยนาม’ ในบทความ เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ (สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 8 มิถุนายน 2513) ได้อธิบายความคิดของท่านอาจารย์ปรีดีในเรื่องสหกรณ์ว่า การแบ่งหน้าที่ระหว่างรัฐและสหกรณ์ในเค้าโครงการฯ อยู่ที่ว่า รัฐทำหน้าที่วางแผนทางเศรษฐกิจ แต่สหกรณ์ควบคุมการปฏิบัติงานทุกชิ้นทุกส่วน อีกทั้งสหกรณ์ยังเป็นหน่วยสังคม (นอกเหนือจากเป็นหน่วยเศรษฐกิจ) การที่ตั้งเป็นสัดส่วนย่อมสะดวกแก่การปกครองแบบเทศบาล ท้องถิ่น และการจัดบริการที่จำเป็นต่างๆ ให้ทั่วถึง เช่น

การอนามัย สาธารณสุข การศึกษา ‘คุณสมชาย สุวรรณศรี’ บรรณาธิการ ปาจารยสาร ก็เสนอในจดหมายลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526 ถึงข้าพเจ้าว่ากล่าวอย่างถึงที่สุด การแก้ปัญหาชาวนาต้องเป็นจิตสำนึกของชาวนาด้วยกันเอง ส่วนการจัดระบบบางอย่างเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะเอื้อให้เกิดภาวะการรวมตัวของจิตสำนึกเหล่านี้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ท่านปรีดีพยายามที่จะกระทำตั้งแต่สมัยนั้น

การให้ความคิดในแง่เดียวกันของมิตรสนิททั้งสองทำให้ข้าพเจ้ามีแรงใจมากขึ้นที่จะเขียนบทความว่าด้วยความคิด ซึ่งเน้นความสำคัญของประชาชนธรรมดา ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะองค์กรประชาชนที่จัดตั้งทางเศรษฐกิจกันขึ้นในรูปสหกรณ์ ความคิดสหกรณ์นี้เป็นอุดมคติสูงสุดของท่านอาจารย์ แต่บางครั้งถูกกลบเกลื่อนความสำคัญด้วยปัญหาเฉพาะหน้าที่ท่านอาจารย์ต้องเผชิญ หรือถูกกลบเกลื่อนด้วยการที่คนรุ่นหลังพิจารณาความคิดของท่านอาจารย์ไม่ละเอียดเต็มที่

ในบทความนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะสะท้อนความคิดทางเศรษฐกิจของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรื่องสหกรณ์โดยจะนำเสนอความคิดของท่านอาจารย์ในเรื่องนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ

1. ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2. ช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ
3. ช่วงลี้ภัยการเมือง

ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรื่องสหกรณ์ ปรากฏในคำอธิบายกฎหมายปกครอง (2474) ที่ท่านสอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมภาคที่ 1 หมวดที่ 2 ส่วนที่ 3 แห่งคำอธิบาย ท่านอาจารย์กล่าวถึงรัฐบาลที่ถือลัทธิผสมระหว่างลิเบอรัลลิสต์และโซเซียลลิสต์ คือ ลัทธิโซลิดาลิสต์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า “ลัทธิโซลิดาลิสต์” ผู้คิดลัทธินี้ที่มีชื่อเสียงคือ ศาสตราจารย์ชาลส์ จิด แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีส ตามลัทธินี้มนุษย์ย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน จึงควรจัดให้มีสหกรณ์ต่างๆ เช่น ในการประดิษฐ์ การใช้ การจำหน่าย เป็นต้น

(ในเบื้องแรกเมื่อการศึกษายังเจริญไม่ถึงขีด การนี้ก็จะต้องมีวิธีการบังคับก่อนและในคำอธิบายกฎหมายปกครองนั้น ภาคที่ 1 หมวดเพิ่มเติม ท่านอาจารย์ได้เขียนเกี่ยวกับ “ระเบียบการปกครองโดยสามัคคีธรรมในสมัยพุทธกาล” ท่านอาจารย์อธิบายว่า ในสมัยพุทธกาล การปกครองอาณาจักรในชมพูทวีปมีลัทธิต่างๆ เป็นมหาราชาบ้าง ราชาบ้าง แต่ “บางอาณาจักรไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน คือปกครองอย่างที่เรียกว่า โดยสามัคคีธรรม” คือ อาณาจักรสักกชนบท ซึ่งเป็นชาติภูมิและพระวงศ์ของพระพุทธเจ้า “ปกครองโดยสามัคคีธรรม คือ ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อมีกิจการแผ่นดินที่จะต้องวินิจฉัย ผู้เป็นหัวหน้าราษฎรก็ประชุมกันปรึกษาแล้วช่วยกันจัดตามสมควร”

ในทัศนะของข้าพเจ้า สิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสนอในคำอธิบายกฎหมายปกครองคือ ลัทธิสหกรณ์ที่จัดตั้งเป็นชุมชนขนาดย่อม มีรากฐานอยู่บนความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกของชุมชน ไม่ต้องมีการปกครองมาก ใช้หลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยสมัครใจในกิจการต่างๆ ที่ท่านอาจารย์เรียกว่า “สามัคคีธรรม” หลักสามัคคีธรรมนี้จะปรากฏอีกในข้อเขียนของท่านอาจารย์ในช่วงลี้ภัยทางการเมือง รวมทั้งการโยงหลักนี้เข้ากับลักษณะประชาธิปไตยแบบปฐมสหการในชุมชนหมู่บ้านไทยว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เช่นเดียวกัน ลักษณะที่ว่าในเบื้องแรกอาจจะต้องมีการบังคับก่อนบ้างปรากฏอีกในข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2476 และปรากฏในลักษณะที่เข้มข้นลดลง (นำ สั่งสอน ชี้แจง) ในคำให้สัมภาษณ์ของท่านอาจารย์ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525 ข้าพเจ้าเข้าใจเช่นเดียวกับคุณวรพุทธิ์ ชัยนาม ว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์มีอยู่ในใจคือ ดุลยภาพระหว่างการวางแผนของรัฐกับการปฏิบัติงานโดยอิสระตัวเองของสหกรณ์

และข้าพเจ้ามีความเห็นเพิ่มเติมจากคุณวรพุทธิ์ว่า ในทัศนะของท่านอาจารย์ เป้าหมายคือ ‘ความเป็นอิสระของสหกรณ์’ แต่ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสหกรณ์ภายหลังการอภิวัฒน์แล้วเป็นกระบวนวิวัฒนาการที่กินเวลานาน จากขั้นต้นที่รัฐเป็นผู้จัดค่อนข้างมากจนไปถึงขั้นต่อไปที่สหกรณ์มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และเป็นระบบสหกรณ์สังคมนิยมในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับในด้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ท่านอาจารย์เสนอระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 (มาตรา 16 และ มาตรา 65) ว่าประชาชนเลือกผู้แทน แทนผู้แทนจากการแต่งตั้ง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้แทนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง คือ จากประชาธิปไตยแบบมีพี่เลี้ยง เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ในเวลา 10 ปี

ช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แม้จะมีแนวโน้มเน้นการวางแผนเศรษฐกิจโดย รัฐ แต่ทว่าก็มีข้อเสนอให้สหกรณ์เป็นผู้จัดการเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยกัน กล่าวได้ว่าทุกครั้งในเค้าโครงการฯ ที่ท่านอาจารย์เอ่ยถึงรัฐ ท่านอาจารย์ก็จะต้องเอ่ยถึงสหกรณ์มาคานกันเอาไว้ จึงเป็นการไม่ยุติธรรมถ้าเรากล่าวถึงความคิดของท่านอาจารย์โดยระบุแต่เพียงว่า ท่านเน้นการวางแผนเศรษฐกิจโดยรัฐ ใน “คำชี้แจงข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจง” ที่ปรากฏในเค้าโครงการฯ ท่านอาจารย์ระบุว่า “การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ”

และในหมวดที่ 1 ของเค้าโครงการฯ ว่าด้วยประกาศของคณะราษฎร ท่านอาจารย์ก็ชี้ชัดว่า ท่านทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อมุ่งต่อการ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ในหมวดที่ 8 ว่าด้วยการแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ ท่านอาจารย์ระบุว่าจะให้รัฐบาลกลางจัดการเศรษฐกิจทุกประการนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจะควบคุมไม่ทั่วถึง

ท่านอาจารย์กล่าวว่า “แม้ตามหลักรัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองก็ดี แต่ในประเทศที่กว้างขวาง มีพลเมืองกว่า 11 ล้าน ดั่งประเทศสยามนี้ การประกอบเศรษฐกิจจะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเสียทั้งนั้น แล้วการควบคุมตรวจตราอาจจะเป็นไปได้ทั่วถึงไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องแบ่งการประกอบเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์ต่างๆ”

สหกรณ์ของท่านอาจารย์ต่างจากสหกรณ์ที่จัดตั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะสหกรณ์ในเค้าโครงการฯ เป็นสหกรณ์ “ครบรูป” กล่าวคือ (1) ร่วมกันในการประดิษฐ์ โดยรัฐบาลออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง (2) ร่วมกันในการจำหน่ายและขนส่ง (3) ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคและบริโภค และ (4) ร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่

นอกจากนี้สหกรณ์ครบรูปจะเป็นฐานของการจัดการปกครองแบบกระจายอำนาจ คือ เทศบาล และมีบทบาทในการจัดบริการสาธารณสุขและการศึกษาด้วยตนเอง จัดระงับปราบปรามโจรผู้ร้าย และรัฐอาจอาศัยสหกรณ์เป็นหน่วยมูลฐานของการฝึกการทหารแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย

และเมื่อคำนึงถึงว่าเค้าโครงการฯ ไม่ได้เสนอให้ริบทุนและที่ดินเป็นของรัฐ แต่ให้วิธีซื้อ อีกทั้งมีข้อยกเว้นให้กิจการบางประเภทดำเนินการแบบเอกชนได้ด้วย จึงน่าพิจารณาว่าเค้าโครงการฯ มิได้เน้นการบังคับโดยรัฐ จนมิได้พิจารณาส่วนอื่นๆ ของสังคม อีกทั้งในการจะประกาศใช้เป็นโครงการจริงๆ นั้น ก็ย่อมมีการต่อรอง ปรับปรุงเค้าโครงการฯ ได้

และในหมวดที่ 5 แห่งเค้าโครงการฯ ว่าด้วยวิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน และทุน ท่านอาจารย์ก็ได้กำหนดปรัชญาหลักของเค้าโครงการฯ ในเรื่องวิธีการปฏิบัติไว้ว่า หลักสำคัญที่ควรคำนึงถึงก็คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมี

คำแถลงของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในการประชุมกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476 ณ วังปารุสกวัน ยืนยันชัดแจ้งว่า ท่านอาจารย์เห็นความสำคัญของชาวบ้าน เป็นห่วงว่าในอนาคตจะมีการต่อสู้ขัดแย้งในสังคมอันเนื่องมาจากความทุกข์ยากของพวกเขาเหล่านี้ และ เสนอระบบโซลิดาลิสต์เป็นแกนกลางของระบบเศรษฐกิจใหม่ของสยาม ผสมด้วยข้อดีจากระบบอื่นๆ

ท่านอาจารย์แถลงอย่างจับใจในตอนหนึ่งของการประชุมอันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนั้น (เป็นการประชุมกรองข้อเสนอเค้าโครงการฯ ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็เข้าร่วมประชุมด้วย) ว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึงรู้หัวอกของคนบ้านนอกเป็นอย่างดี โดยได้รับความลำบากยากจน เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก” และอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า “มีผู้ทำนายว่า การต่อสู้ระหว่างคนต่างชั้น จะต้องเกิดมีขึ้นเมื่อมีความปั่นป่วนมากขึ้น คือมียากจน แร้นแค้น เราควรป้องกันเสียในชั้นต้น” ท่านอาจารย์ประกาศในการประชุมครั้งนั้นว่า

ตามหลักของข้าพเจ้านั้น เป็นลัทธิผสมหลายอย่างที่ได้เลือกคัดเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซลิดาลิสต์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ คือ ถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน เช่น คนจนนั้นเพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้คนเคยทอผ้าด้วยมือ ครั้งมีเครื่องจักรแข่งขัน คนที่ทอด้วยมือต้องเลิกหรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งแต่เดิมมีราคาน้อย

ภายหลังที่ดินมีราคาแพงสร้างตึกสูงๆ ดั่งนี้ราคาที่ดินแพงขึ้นเนื่องจากฝูงชน ไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกันจึงต้องร่วมกันประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ

ความคิดของท่านอาจารย์ที่นิยมหลักโซลิดาลิสต์ที่เคยสอนไว้ในคำอธิบายกฎหมายปกครองก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาปรากฏอีกครั้งในคำแถลงในการประชุมสำคัญยิ่งครั้งนี้ และในคำสอนกฎหมายปกครองบรรยายที่โรงเรียนกฎหมาย 24 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม 2475 (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวถึงหลักภราดรภาพว่า

“มนุษย์ที่เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกัน... มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์อื่นก็รับทุกข์ด้วย... เหตุฉะนั้น เพียงแต่มนุษย์มีความเสรีภาพและต่างก็มีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอที่จะรวมกันอยู่ได้ คือ จำต้องมีการช่วยเหลือกันโดยตรง…”

เนื่องจากในระยะที่ท่านอาจารย์เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจคงจะมีเสียงกล่าวหาว่าท่านอาจารย์เป็นคอมมิวนิสต์ ในการแถลงต่อคณะกรรมการดังกล่าวท่านอาจารย์จึงต้องปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าว่าท่านไม่ได้ยึดหลักคอมมิวนิสต์ ในการเค้าโครงการฯ ท่านกล่าวแถลงแต่เริ่มเปิดการประชุมในตอนเช้าวันที่ 10 มีนาคมนั้นว่า

“โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมิวนิสต์ เรามีทั้งแคปิแตลลิสต์และโซเชียลลิสต์รวมกัน ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์มาอ่านจะติเตียนมากว่ายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่”

และอีกตอนหนึ่งท่านแถลงว่า

“โปลิซีของข้าพเจ้านั้นเดินแบบโซเชียลลิสต์ผสมลิเบอรัลและอีกตอนหนึ่งย้ำซ้ำว่าหลักโครงการของข้าพเจ้านี้ ไม่ขัดกับแคปิแตลลิสต์เลย เดินคู่กันไปแท้ๆ เราต้องการให้มีทุนของพวกมั่งมีในนี้และต่างประเทศ”

กล่าวโดยสรุปความคิดทางเศรษฐกิจของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ ลัทธิโซลิดาลิสต์ ของ ศาสตราจารย์ ชาลส์ จิด (Charles Gide, 1847-1932) ดูกิต (L. Duguit, 1859-1928) และเดอไคม์ (E. Durkheim, 1858-1917) ซึ่งจัดเป็นสำนักหนึ่งของความคิดสังคมนิยมอุดมคติ (Utopian socialism) หรือสังคมนิยมเสรี (Liberal socialism)

หรือบางครั้งเรียกว่าสังคมนิยมแบบสมาคม (Associative socialism) คือถือการร่วมมือช่วยเหลือกันโดยสมัครใจระหว่างชนชั้นต่างๆ แทนการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและการล้มล้างชนชั้นให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการ ใช้รูปแบบสหกรณ์ในการบริหารเศรษฐกิจ และให้รัฐใช้มาตรการกระจายรายได้และทรัพย์สินเพื่อชนชั้นผู้เสียเปรียบ และท่านอาจารย์นำเอาลัทธิรวมส่วนกลาง (Collectivism) มาผสมเข้าด้วยเฉพาะในเรื่องที่ดิน

ดังที่ท่านกล่าวว่า เค้าโครงการฯ “เป็นลัทธิผสมหลายอย่างที่ได้เลือกคัดเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับสถานะของประเทศสยาม” เพราะเค้าโครงการฯ เสนอให้รัฐบังคับซื้อที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ นอกจากที่ดินซึ่งเอกชนได้รับสัมปทานพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ท่านอาจารย์ได้แถลงต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า “การออกกฎหมายบังคับซื้อนั้น เพื่อป้องกันคนเกเรและหน่วงไม่ขายหรือเกี่ยงเอาราคาแพงเท่านั้น”

เข้าใจว่าหากคณะรัฐบาลรับหลักเค้าโครงการฯ ในทางปฏิบัติคงสามารถต่อรองให้มีกรณียกเว้นได้มาก ดังที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้แล้วในเค้าโครงการฯ ว่า “รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมี” ท่านมิได้หันเหจากแนวทางลัทธิโซลิดาลิสต์ (Solidarism) แม้คณะของท่านเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว ท่านอาจารย์คงคำนึงถึงดุลยภาพของการใช้อำนาจบังคับของรัฐ และการร่วมกระทำการของปัจเจกชนในรูปสหกรณ์ ยึดหลักความช่วยเหลือระหว่างเพื่อนมนุษย์โดยสมัครใจ ไม่ว่าจะสังกัดชนชั้นไหน

ความคิดของท่านอาจารย์เรื่องความร่วมมือระหว่างชนชั้นปรากฏเป็นรูปธรรมชัดอีกครั้งหนึ่งในขบวนการเสรีไทยที่ท่านอาจารย์เป็นหัวหน้า เป็นข้อพิสูจน์ในทางปฏิบัติว่าท่านอาจารย์สามารถประนีประนอมได้กับคนไทยทุกชนชั้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม และเป็นข้อพิสูจน์ด้วยว่าท่านอาจารย์ได้รับการสนับสนุนอย่างดีมากจากผู้นำระดับท้องถิ่นและจากชาวบ้านธรรมดา

และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคสหชีพซึ่งสนับสนุนท่านอาจารย์ก็ยึดนโยบายเศรษฐกิจสหกรณ์เป็นหลักของพรรครวมคนทุกอาชีพ

ช่วงลี้ภัยการเมือง

ข้อเขียนของท่านอาจารย์ในช่วงลี้ภัยการเมือง (พ.ศ. 2490-2526) ชี้ชัดที่สุดว่าท่านอาจารย์ให้ความสำคัญกับชาวบ้านและการจัดตั้งกันขึ้นเองของพวกเขา อย่างน้อยองค์การของชุมชนชาวบ้านเองจะเรียกว่าสหกรณ์หรือสิ่งใดก็แล้วแต่ จะต้องเป็นหัวใจ เป็นแกนของสังคมไทยที่ก้าวหน้า รัฐเป็นเพียงผู้ชี้แนะฟื้นฟูองค์การชุมชน และช่วยเหลือมากกว่าบังคับจัดการ ลัทธิรวมส่วนกลาง (Collectivism) จางหายไปจากความคิดของท่านอาจารย์ ลักษณะ “สามัคคีธรรม”และ “สหกรณ์” ซึ่งท่านอาจารย์มีอยู่แล้วก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเด่นชัดขึ้นมาอย่างเต็มที่

ในหนังสือเล่มเล็ก ความเป็นอนิจจังของสังคม ที่ท่านอาจารย์เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2500 ท่านอาจารย์ได้เริ่มต้นหนังสือโดยอ้างคำพังเพยไทยโบราณที่ว่า

     กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ดีจะเดินตรอก
ขี้ครอกจะเดินถนน

ท่านอาจารย์อธิบายว่า คำพังเพยนี้หมายความว่า ในอนาคต พวกที่ถูกเบียดเบียน “กระเบื้อง” จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่พวกเบียดเบียน คือ “น้ำเต้าน้อย” จะตกลงมา ในยุคอนาคต ศรีอารยเมตไตรย มนุษยชาติจะอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปรานีระหว่างกัน ระบบของปุถุชนจะไม่สามารถต้านทานระบบใหม่ของสาธุชนได้

“ความเดือดร้อนอันเกิดจากการเบียดเบียนกันนั้นจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุดโดยชัยชนะของมวลราษฎร”

ท่านอาจารย์กล่าวว่า “ระบบแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของราษฎรนั้นเคยมีมาแล้วในสังคมไทยชนบทและตกทอดมาถึงปัจจุบัน ดังที่ท่านอาจารย์ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "ความเป็นอยู่ชนิดร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในสังคมน้อยๆ นั้น... ยังเป็นประเพณีตกทอดมาถึงชาวชนบทในปัจจุบันที่มีการร่วมมือในการทำนา เช่น การลงแขก ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ฯลฯ” ในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ท่านอาจารย์เรียกสังคมหมู่บ้านแบบนี้ว่า “ระบบสามัคคีธรรม”

ในบทความ จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ (2516) ท่านอาจารย์แสดงความเลื่อมใสในระบบประชาธิปไตยแบบพุทธศาสนา ท่านอาจารย์กล่าวว่า “พระพุทธองค์... ทรงบรรพชาเทศนาสั่งสอนให้มนุษย์ปกครองกันโดยสามัคคีธรรม และทรงปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์ให้เป็นตัวอย่างแก่ระบบประชาธิปไตย... วินัยสงฆ์ที่ปกครองกันในวัด... ‘ตามฉบับแท้’ เป็นระบบประชาธิปไตยเพียบพร้อมด้วยสามัคคีธรรมโดยแท้”

เช่นเดียวกัน ในบทความ ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ (2517) ท่านอาจารย์ก็เสนอไว้ว่า สังคมไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่ก่อนมานานแล้ว ณ ระดับชนบท ท่านกล่าวไว้ในบทความนั้นว่า “ซากแห่งการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ยังเหลืออยู่บ้างในชนบทก่อนรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คือ

ยังมีธรรมเนียมประเพณี ซึ่งบทกฎหมายที่ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่า ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านนั้น เป็นผู้ที่ราษฎรในหมู่บ้านเลือกตั้งขึ้น ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดส่วนมากในชนบทว่างลง ทางคณะสงฆ์ก็ปรึกษาพระภิกษุในวัดกับชาวบ้าน คัดเลือกเจ้าอาวาสองค์ใหม่ การทำนาในหลายท้องที่ก็มีการลงแขกช่วยกันไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว และต่างก็ช่วยกันในการปลูกที่พักอาศัยหลายแห่ง ฯลฯ อาการกิริยาที่ราษฎรในชนบทแสดงออกนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาธิปไตยปฐมกาลที่ยังมีซากตกค้างอยู่”

ในบทความเดียวกันนี้ ท่านอาจารย์ก็ได้อ้างถึงผลงานของรัฐบาลคณะราษฎรที่ได้เสนอพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2477 เพื่อให้ราษฎรปกครองตนเองโดยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ “จากชั้นท้องถิ่น” ขึ้นมาเลยทีเดียว สุดท้ายในคำให้สัมภาษณ์ของท่านอาจารย์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 พิมพ์เป็นเล่มชื่อ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ท่านอาจารย์ได้เล่าประวัติของตัวท่านเองที่ถือกำเนิดมาในตระกูลชาวนาที่อยุธยา ตัวท่านเคยทำนา และท่านเข้าใจปัญหาที่ชาวนาเผชิญอยู่อย่างลึกซึ้ง ทั้งปัญหาธรรมชาติ ส่วนค่าเช่าและดอกเบี้ย ท่านคิดว่า

“ชาวนามีการต่อสู้ ต่อสู้โดยการดื้อแพ่ง เช่น ข้าวได้มาก็ไม่อยากให้เจ้าของที่ดิน เป็นต้น แค่จะมารวมเป็นขบวนอย่างนิยายจีนก็ไม่มี” เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจรัฐ ได้ก็ได้เสนอสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติใช้พระราชบัญญัติห้ามยึดทรัพย์กสิกร ท่านอาจารย์อธิบายว่าคณะราษฎรทำการเพื่อชาวนาได้มากเสียยิ่งกว่าคณะก๊กมินตั๋งแห่งซุนยัดเซ็น “ในประเด็นประเทศจีนนั้น ซุนยัดเซ็นหาได้แตะต้องอะไรไม่ แต่ส่วนของเรา เราได้เปลี่ยนอาญาสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินซึ่งจะยึดทรัพย์สมบัติของชาวนา มาจนกระทั่งควาย จนกระทั่งลูกเมีย อะไรต่ออะไรนี่ ในเมืองจีนสมัยก๊กมินตั๋งยังมีอยู่ แต่ของเราได้เลิกทันที”

ท่านอาจารย์กรุณาให้คำอธิบายความคิดของท่านเรื่องสหกรณ์ว่า สหกรณ์ที่ท่านปรารถนาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น “ราษฎรเขาจัดตั้งและปกครองของเขาเอง แต่เรามีที่เรียกว่าที่ปรึกษาเทศบาล” และ สหกรณ์ของท่านต่างกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นเพียงสหกรณ์เครดิตรวมกันไปกู้ “ของเรามีสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์การผลิต (production) และทุกรูปเศรษฐกิจ ราษฎรก่อตั้งเองโดยรัฐบาลเข้าไปช่วย คือ ช่วยนำ เพราะเหตุว่าทีแรกไปสั่งสอนหรือนี้แจงต่อราษฎรเสียก่อน ไม่ใช่ไปถึงก็ไปบังคับให้ทำ... คือรัฐก็ต้องคงช่วยชี้แจงที่จะให้ชาวนาเข้ารวมกันเป็นสหกรณ์ ไม่ใช่ไปชี้สั่งก็เปล่า” และท่านต้องการ “เปลี่ยนสภาพการปกครองของตำบลให้เป็นสหกรณ์หมด”

ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เคยสรุปไว้ในปาฐกถา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2526 ปรีดีกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “อาจมีการเปลี่ยนแนวความคิดทางเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี จากสังคมนิยมโดยรัฐมาสู่สังคมนิยมแบบสหกรณ์ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา.... หลังจากที่ได้มองความล้มเหลวต่างๆ ของการเข้าสู่สังคมนิยมโดยทันทีทันใดของประเทศที่เป็นสังคมนิยมแล้ว

“ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับ ดร.ปรีชา ที่ว่า ท่านอาจารย์ไม่เน้นส่วนของรัฐในระบบสังคมนิยมเท่ากับที่ปรากฏในเค้าโครงการฯ แต่ทว่าข้าพเจ้าเห็นว่าความคิดสังคมนิยมแบบสหกรณ์เป็นแนวคิดที่ท่านอาจารย์มีมาก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มาระยะหลังเมื่อส่วนลักษณะสังคมนิยมโดยรัฐหรือลัทธิรวมส่วนกลางของท่านอาจารย์จางลงไป ลักษณะสหกรณ์ในความคิดของท่านอาจารย์ก็เด่นและพัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ท่านอาจารย์โยงความคิดนี้กลับไปสู่ลักษณะพื้นฐานประชาธิปไตยปฐมสหการ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการผลิตในชุมชนหมู่บ้านไทยเดิม

ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ท่านอาจารย์ยังให้คำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของสหกรณ์ โดยย้ำว่าสหกรณ์ที่ท่านคิดเป็น สหกรณ์สังคมนิยม ไม่ใช่สหกรณ์ทุนนิยม ท่านได้อ้างถึงเลนิน ที่ได้เขียนแสดงความแตกต่างของสหกรณ์ทั้ง 2 ลักษณะ “เลนินได้อธิบายไว้ในบทความเกี่ยวกับเรื่องที่โซเวียตจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการเร่งเข้าสู่สังคมนิยมเร็วเกินไป อันทำให้ผลผลิตโซเวียตตกต่ำนั้น มาใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) ซึ่งต้องเริ่มต้นจากสหกรณ์นั้น

เลนินก็ได้อธิบายถึงสหกรณ์ 2 ลักษณะดังกล่าว “เมื่อไปตรวจสอบดูข้อเขียนของ เลนิน (On Cooperation เขียน 1923) ข้าพเจ้าได้ความเพิ่มเติมว่า สหกรณ์สังคมนิยม ต้องทำในขอบเขตกว้างขวางทั่วประเทศ ไม่ใช่ทำเป็นหย่อมๆ รัฐต้องช่วยเหลือเต็มที่ด้านเงินทุนและการเงิน และต้องถือว่าเป็นที่ให้การศึกษาและดำเนินงานวัฒนธรรมไปด้วย

ในทัศนะของเลนิน สหกรณ์สังคมนิยม จะตั้งขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออำนาจรัฐเป็นของพรรคฝ่ายสังคมนิยม และในกรณีเช่นนั้นวิธีการสหกรณ์จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและชาวนายอมรับมากที่สุด

ข้าพเจ้าขอจบบทความนี้โดยตั้งเป็นคำถามว่า ความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นตัวแทนของชนชั้นไหนในสังคมไทย? ข้าพเจ้าขอฝากปัญหานี้ไว้กับท่านผู้อ่านที่จะตอบให้ชัดแจ้งลงไป สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าความคิดของท่านอาจารย์เป็นองค์ประกอบของหลายชนชั้น เป็นตัวแทนแนวร่วมของราษฎรฝ่ายก้าวหน้าทั้งมวล

 

ที่มา: ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บรรณาธิการ). “ความคิดสหกรณ์ของปรีดี พนมยงค์”, ใน, เศรษฐศาสตร์การเมือง, (กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรส, 2542), พิมพ์ครั้งที่ 1, หน้า 53-67

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์. “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” 2526).
  • “ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของ ปรีดี พนมยงค์” (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2526).
  • “ประสบการณ์และความเป็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” (กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย” 2526).
  • “อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์” (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์ 2525).
  • ปรีชา อารยะ “เค้าโครงการเศรษฐกิจของ นายปรีดี พนมยงค์" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 8 มิถุนายน 2513.
  • “ชื่อสหชีพแลก้าวหน้า” ไทยใหม่ 24 พฤศจิกายน 2489.
  • ปรีดี พนมยงค์ “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย”  “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ปีที่ 11 ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2516.
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475.
  • นิติสาส์น แผนกสามัญ ปีที่ 4 พุทธศักราช 2475. V.I. Lenin, “On Cooperation” Delected Works, Vol.3 (Moscow: Publishers, 1975).