ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติประชาธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

20
ตุลาคม
2564

สันติประชาธรรมคืออะไร

“ถ้ายึดหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี”

“สันติประชาธรรม” คือ หลักการที่ ‘อาจารย์ป๋วย’ หรือ ‘ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ได้นำเสนอเป็นหลักคิดสำหรับการเกิดสันติและความเป็นธรรมในสังคม โดยอาจารย์ป๋วยเชื่อว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนทางการเมือง ซึ่งอาจารย์ป๋วยเรียกว่า “ประชาธรรม” นั้นจะได้มาก็ด้วยสันติวิธีเท่านั้น 

ฉะนั้น ในมุมมองของอาจารย์ป๋วย ธรรมเป็นอำนาจ (ธรรมเป็นที่มาและวิธีการของอำนาจ) ไม่ใช่ อำนาจเป็นธรรม (อำนาจเป็นที่มาและวิธีการของการเป็นธรรม) ดังนั้นแล้วจึงถ้ายึดหลักประชาธรรม (สิทธิและเสรีภาพของประชาชน) แล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี

คุณค่าของสิทธิและเสรีภาพในมุมมองของอาจารย์ป๋วยจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดประการหนึ่งในการดำรงอยู่ของสังคม และการใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะสำเร็จอาจจะได้ผลก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น  ดังนั้น การที่รัฐบาลพยายามใช้กำลังทหารหรือควบคุมฝูงชนจึงอาจจะไม่ใช่หนทางไปสู่การเกิดประชาธรรมแล้ว ซ้ำร้ายยังทำให้เกิดความเกลียดชังในสังคมอีกด้วยซ้ำ

“สมมติว่าเราปักใจท้อเสียก่อนว่าสันติวิธีจะไม่สามารถนำประชาธรรมมาได้ (ความจริงไม่น่าท้อเสียก่อน) สมมติว่าไม่มีหวังจะสำเร็จ ก็น่าจะคิดว่าควรทำ หรือควรจะพูด ควรจะเขียนเพื่อเสรีภาพ”

ในมุมมองของอาจารย์ป๋วย ประชาธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ด้วยสันติวิธีเท่านั้น และแม้จะเกิดขึ้นได้ยากและอาจทำให้ผู้คนหมดหวังไปเสียก่อน ในมุมมองของอาจารย์ป๋วยการปักใจเชื่อว่า “สันติวิธีจะไม่สามารถนำประชาธรรมมาได้ (ความจริงไม่น่าท้อเสียก่อน) สมมติว่าไม่มีหวังจะสำเร็จ ก็น่าจะคิดว่าควรทำ หรือควรจะพูดควรจะเขียนเพื่อเสรีภาพ” ก็ควรแสดงออกทางการเมืองโดยสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการเรียกร้องหรือการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงประชาธรรม วิธีการดังกล่าวนั้นเช่นเดียวกับที่อาจารย์ป๋วยพยายามทำเสมอมาผ่านตัวตนที่แสดงออกจากงานเขียน “ปฏิทินความหวัง-จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” “สันติประชาธรรม” และ “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง”

หนทางของอาจารย์ป๋วยในการได้มาซึ่งประชาธรรมนั้น มีสันติวิธีเพียงอย่างเดียวถึงจะได้ประชาธรรมถาวรมั่นคง และต้องใช้เวลานาน ต้องเสียสละ ต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นพิเศษ และอาจจะถูกเย้ยหยันโดยผู้อื่น แต่ถ้ามุ่งมั่นในหลักการจริง ความมานะอดทนย่อมตามมาเอง บุคคลที่บัดนี้ได้ถูกรัฐบาลควบคุมตัวไว้เพราะกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักในประชาธรรมนั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติ ควรได้มาซึ่งความเคารพ และไม่ควรถูกทอดทิ้งไว้ในยามยากลำบาก เพราะอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นก็ควรจะพิจารณาวิถีทางแห่งสันติประชาธรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลที่ได้เข้ามาบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 7 ปีนั้น ได้เพียงแต่นำเสนอการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ใส่ใจในเชิงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่แท้จริง ซึ่งภาพดังกล่าวยิ่งชัดเจนในช่วงเวลาของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่มีหลักประกันในคุณภาพชีวิต

เมื่อเผชิญกับโรคระบาดและภาวะการตกงาน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ปัดความรับผิดชอบทั้งหมดให้ไปตกแก่ภาระของปัจเจกบุคคล แทนที่จะแสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความบกพร่องของการทำงานและระบบของรัฐบาล ซึ่งตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ยอมรับว่าความผิดเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ไม่มีความสามารถของตนเองการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

สังคมเศรษฐกิจไทยจะก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งสันติประชาธรรมได้นั้น จำเป็นต้องยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเสียก่อน ซึ่งสภาพดังกล่าวนั้นตรงกันข้ามกับสังคมไทยที่เน้นการเติบโตเชิงตัวเลขเท่านั้นมากกว่าการจะเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 

นอกจากนี้ การพัฒนาในปัจจุบันก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองหลวงและเมืองใหญ่เพียงไม่กี่เมือง ภาพที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการนำเอาทรัพยากรของคนทั้งประเทศไปทุ่มไว้ให้คนบางกลุ่มเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนที่มีความเป็นอยู่ภายนอกกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับปัญหาความยากลำบาก ทั้งการเข้าไม่ถึงสวัสดิการ การรักษาพยาบาล และกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้การพัฒนาในรูปแบบดังกล่าวเป็นการพัฒนาบนรากฐานของความรุนแรงและการบังคับเสียสละ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งกลายเป็นภาพซ้ำเติมของความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น (ภาพเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะนอกกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ในเขตกรุงเทพมหานครก็กลายเป็นพื้นที่แสดงภาพดังกล่าวซ้อนทับเข้าไปอีก เมื่อโครงสร้างของการพัฒนาไม่สมดุล)

การจะหลุดพ้นจากการพัฒนาแบบไม่สมดุลได้นั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นสังคมสันติประชาธรรม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้การกำหนดนโยบายการพัฒนา (ทางเศรษฐกิจ) ก็ควรจะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

“ผมจำเป็นต้องมีโอกาสได้ร่วมงานของชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ และสามารถมีปากเสียงในการกำหนดชะตาของบ้านเมืองในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศของผม”

อาจารย์ป๋วยได้เคยเขียนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ไว้ในเอกสารเรื่อง “ปฏิทินความหวัง-จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” แสดงให้เห็นว่าบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการมีประชาธรรม และจะมีเฉพาะการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เท่านั้นที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในระดับรากฐานของชุมชนการเมือง ฉะนั้น การกระจายอำนาจทางปกครองจึงมีความสำคัญ

“ในการพัฒนาประชาชาติ ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือ ประชาชาติประกอบด้วยประชาชนที่เป็นมนุษย์ และมนุษย์แตกต่างกับสัตว์เดรัจฉานหรือตุ๊กตาของเล่นอยู่ที่มนุษย์สามารถใช้สมองใช้ความคิด สามารถช่วยตัวเองได้  ฉะนั้น วิธีการพัฒนาหมู่ชนด้วยการลงทุนน้อยและได้ผลมากก็คือ วิธีการช่วยให้มนุษย์และประชาชนนั้นสามารถช่วยตัวเองได้อย่างดี กล่าวคือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนกลาง คือ รัฐบาล จำเป็นต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของเอกชน เคารพในศักดิ์และสิทธิแห่งเอกชน ที่จะริเริ่มดำเนินการได้ด้วยตนเอง ที่จะดำเนินกิจการของเขาไปได้โดยปราศจากข้อกีดขวางในทำนองถูกเบียดเบียนแย่งชิง หรือ ห้ามปรามด้วยเอกสิทธิ์อันไม่ชอบธรรม”

แนวทางการพัฒนาตามสันติประชาธรรมนั้น สิ่งสำคัญก็คือ การไม่ปฏิเสธคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่ควรดำเนินนโยบาย หรือ วางท่าทีการบริหารประเทศเสมือนเป็นการทำมหากุศลหรือการบริจาคทาน และมองประชาชนเป็นเสมือนภาระ หรือ ผู้ขอรับความช่วยเหลือ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่จะให้การสนับสนุนประชาชนในการจะดำเนินการเพื่อก่อร่างสร้างตำแหน่งแห่งที่ของตน

ดังนั้น ทัศนคติของรัฐบาลโดย คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พยายามกระทำกับประชาชนเหมือนเป็นการบริจาคโดยใช้เงินภาษีของประชาชนนั้น ไม่ใช่ทัศนคติที่ถูกต้องต่อการสร้างสังคมที่มีประชาธรรม ในทางตรงกันข้าม ทัศนคติแบบนี้เป็นวิถีทางของเผด็จการและเศษซากศักดินาที่มองประชาชนเป็นเบี้ยล่าง และวางตนเป็นผู้มีบุญอยู่เหนือความทุกข์ยากของประชาชน

 

“สังคมที่เป็นสันติประชาธรรม” นั้น นอกจากการตระหนักในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วนั้น สังคมควรสร้างความเป็นภราดรภาพระหว่างคนในสังคมจะต้องผนวกความเอื้ออาทรต่อกลุ่มชนผู้เสียเปรียบในสังคมและมองว่าเป็นหนี้ร่วมกันของคนในสังคมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ดังอาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ในการเพิ่มรายได้นั้น ไม่ควรที่จะให้คนมี มีจนเกินไปนัก และไม่จำเป็นที่จะต้องให้คนจน จนลงไปมาก...สุภาษิตของแมกไซไซที่ว่า ถ้าใครเกิดมามีน้อยบ้านเมืองพึงให้มากๆ เป็นสุภาษิตซึ่งควรจะมีประจำใจไว้” และหัวใจสำคัญคือการจะต้องเกื้อกูลกันด้วยความเป็นภราดรภาพ

ดังอาจารย์ป๋วยได้เคยแสดงปาฐกถาเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการพัฒนาชาติ” ว่า

“ผู้อ่อนแอกว่าย่อมพึงมีสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่คอยรับทานจากผู้ที่แข็งแรงกว่า และผู้ที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า จะต้องรู้จักยับยั้งไม่กอบโกยด้วยความโลภ เปิดโอกาสให้มีความยุติธรรมทางสังคม”

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาสังคมสู่สันติประชาธรรมนั้นก็คือ ภายหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ระบอบการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบอบเผด็จการเสียส่วนใหญ่ ทหารและนักการเมืองรับใช้ทหารคอยปกครองประเทศ และเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศให้มีลักษณะบางประการทางสังคม ได้แก่ ขนาดของการเปิดประเทศที่มีมากเกินไป

การพึ่งพาการนำเข้าและการพึ่งพิงเงินออกจากต่างประเทศมากเกินไป การผูกขาดและการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาล (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และนิพนธ์ พัวพงศกร, 2531) ที่คอยสนับสนุนอุ้มชูกลุ่มทุนจากต่างประเทศโดยกดขี่แรงงานไทย (เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, 2564) หรือ การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่สนับสนุนตนเองหรือตนเองเข้าไปมีส่วนเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการรวมอยู่ด้วย (เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, 2564 และผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, 2546) ลักษณะเหล่านี้เองก็มีส่วนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขัดขวางการพัฒนา

ปัจจุบันนี้ สังคมกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน มนตราของระบอบเผด็จการได้เริ่มเสื่อมลงแล้ว และประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีทัศนะที่ถูกต้องแล้วว่าการพัฒนาแบบไม่สมดุลนั้น ไม่ใช่ความยั่งยืน การจะทำให้สังคมไปสู่สังคมสันติประชาธรรมอาจจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ไม่มีอะไรที่จะสายเกินกว่าจะเริ่มต้นทำในวันนี้

การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาโดยยึดถือสันติประชาธรรมนั้น จะช่วยให้สังคมไทยดีขึ้น พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น แม้ในเวลาที่ยากลำบากก็ขอให้อย่าหมดหวังในสังคมที่เป็นประชาธรรมโดยสันติ และขอให้อย่าหมดหวังในขบวนการประชาธิปไตย

 

เอกสารอ้างอิง

  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ทัศนะทางการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559).
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ทัศนะทางเศรษฐกิจ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559).
  • รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และนิพนธ์ พัวพงศกร, ‘เศรษฐกิจไทย: บนเส้นทางแห่งสันติประชาธรรม’ ใน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และนิพนธ์พัวพงศกร (บรรณาธิการ) เศรษฐกิจไทย: บนเส้นทางแห่งสันติประชาธรรม (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2531) 1027 – 1051.
  • เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานไทยในเดือนตุลา’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 8 ตุลาคม 2564) https://pridi.or.th/th/content/2021/10/854 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564
  • เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘รัฐประหาร 2490 จุดกำเนิดขุนศึก พ่อค้า และพญาอินทรี’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 8 กุมภาพันธ์ 2564) https://pridi.or.th/th/content/2021/02/599 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564
  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2546).
  • ธารทอง ทองสวัสดิ์, ‘เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ. 2488 – 2504’ ใน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (บรรณาธิการ) เศรษฐกิจไทย (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2533).