(ในบทความนี้จะใช้คำว่า “มฤดก” เมื่อกล่าวถึงบริบทในช่วงปี พ.ศ. 2475)
รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ประธานคณะกรรมการราษฎร) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดก พุทธศักราช 2475 มาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น โดยประธานคณะกรรมการราษฎรได้แถลงว่า
“ภาษีเรื่องมฤดกนี้เป็นภาษีอย่างหนึ่งที่บ้านเมืองทั้งหลายเขามีกันทั้งนั้นแล้ว ซึ่งเป็นภาษีที่สมควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง วิธีเก็บมี 2 วิธี บางเมืองก็ใช้ 2 วิธีรวมกัน บางเมืองก็ใช้วิธีเดียว วิธีเก็บอย่างที่ 1 คือ เอามฤดกมากองเป็นกองใหญ่ก่อนแบ่ง เมื่อชำระหนี้สินทั้งหลายแล้วก็หักเงินค่าภาษีออกจากเงินนั้น เหลือเท่าใดก็แบ่งกันระหว่างผู้รับมฤดก
อีกวิธีหนึ่ง คือแบ่งเสียก่อนตามกฎหมาย ใครได้มากได้น้อยเท่าใด เสร็จแล้วจึงเสียภาษีจากส่วนแบ่งนั้นทีหนึ่ง ประเทศอังกฤษเก็บจากกองมฤดกก่อน และเมื่อแบ่งก็เก็บอีกทีหนึ่ง ฝรั่งเศสทราบว่าเก็บวิธีเดียว คือแบ่งเสียก่อนจึ่งเก็บจากส่วนแบ่งทีเดียว ส่วนของเราคิดว่าฐานะของเราเวลานี้ไม่มีศาล Probate วิธีการแบ่งมฤดกยุ่งเหยิงที่จะทำให้คล่องสะดวกง่ายนั้นยากเต็มที่
ถ้าจะเก็บอย่างวิธีแรก คือ เก็บจากกองมฤดก คือเอามฤดกมากองแล้วเก็บนั้น เห็นว่าเป็นวิธีที่ง่าย อีกอย่างหนึ่งวิธีตั้งอัตรา (Scale) มีอีกวิธีหนึ่ง คือเขาตั้งกำหนดอย่างน้อยไว้ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ต่ำแล้วสูงขึ้นไป เราได้คิดว่าสำหรับมฤดกน้อยจะเก็บภาษีก็ไม่ควร เพราะต้องแบ่งแยกกันไประหว่างผู้รับมฤดก อีกประการหนึ่งก็ได้น้อยด้วย
ฉะนั้นจึ่งตั้งอัตราไว้ 25,000 บาท และตั้งต้นเก็บแต่ 3% ขึ้นไป ตามจำนวนมฤดกที่มีอยู่ อีกประการหนึ่งที่เราทำอย่างนี้คิดว่าคนยากจนสักหน่อย กล่าวคือคนมีมฤดกน้อยก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน หรือแบ่งออกไปได้คนละเล็กละน้อยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่คนที่มีมากก็เสียตามมากขึ้นตามส่วน...”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำเสนอภาษีมรดกในสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีข้อถกเถียงอยู่เป็นจำนวนมากที่น่าสนใจ และน่าสนใจควรค่าแก่การหยิบมาพิจารณาบริบทของสังคมในขณะนั้น ซึ่งข้อถกเถียงสำคัญของการจัดเก็บภาษีมรดกในเวลานั้นคือ รัฐบาลควรจะเก็บเริ่มเก็บภาษีมรดกแล้วหรือไม่
ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ภาษีมรดกนั้นภาระทางภาษีจะตกกับบุคคลใดมากน้อยเพียงใด และการจัดเก็บภาษีมรดกในประเทศสยามเวลานั้นอาจจะยังไม่เหมาะสม เพราะอาจจะเป็นการทำให้ผู้รับมรดกนั้นถึงกับล้มละลายจากรับมรดกก็ได้ อีกทั้งการจัดเก็บภาษีมรดกนั้นจะเป็นการลดทอนกำลังใจของประชาชน
ดังเช่น นายมังกร สามเสน กล่าวว่า “ในการที่จะตั้งอนุกรรมการไปพิจารณา เห็นว่าที่ประชุมนี้ควรจะวางโปลิซีในเรื่องนี้ให้ เพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สมบัติของผู้ตายถึงกับล้มละลาย...”
หรือ พระยาปรีดานฤเบศร์ ได้กล่าวว่า “...เวลานี้ราษฎรเมืองไทยยังไม่มั่งมีสมบูรณ์ที่จะเสียภาษี...เราจะไม่คิดบ้างหรือว่า เมื่อพ่อแม่มั่งมีเมื่อตายแล้วจะไม่ปล่อยให้ลูกหลานมั่งมีด้วย เพราะการที่เขาพยายามสะสมทรัพย์ไว้ก็เพื่อลูกหลานหากจะเก็บภาษีเช่นว่านั้นก็ควรคิดให้ดี และถ้าจะถือหลักเช่นว่านั้นก็แปลว่ารัฐบาลไม่ประสงค์จะให้คนมั่งมี ซึ่งคิดว่าเป็นนโยบายผิด นโยบายที่ถูกนั้นก็คือต้องพยายามปรนให้อ้วนเสียก่อนเป็นข้อสำคัญ
จึ่งเห็นว่าภาษีนี้แม้จะมีก็ควรเก็บแต่น้อย เช่น คนละ 6 บาทเป็นทำนองภาษีรายได้ก็จะงามดี และทั้งนี้มิใช่ว่าจะมีความเห็นเป็นการคัดค้านโดยตรง (Direct opposition) ก็หาไม่ แต่ว่าอัตราที่วางไว้นั้นค่อนข้างจะแรง”
อย่างไรก็ตาม ภาษีมรดกนั้นก็มีความสำคัญต่อการจัดหารายได้มาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประเทศสยามในเวลานั้นประสบปัญหาทางการคลัง และเมื่อจะมีการยกเลิกภาษีอากรบางลักษณะก็จำเป็นต้องจัดหารายได้เพิ่มเติม
ดังความเห็นของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แถลงว่า “การเก็บภาษีมฤดกจากราษฎรนั้น เท่าจำนวนที่เราได้วางข้อยกเว้นไว้ 25,000 บาทนั้นก็ดีแล้ว เพราะคนที่มีเงินมากกว่านั้น ถ้าจะพูดตามศัพท์เจ้าคุณปรีดาก็กล่าวได้ว่าอ้วนบ้างแล้ว และแม้กระนั้นเราก็ไม่ได้เก็บแรงเลย เราอยากเก็บพวกที่มีมากๆ เช่น 1,000,000 บาท คิด 30% ก็เห็นว่าไม่เป็นภาษีที่มากเลย
ส่วนที่ภรรยาปรีดาชี้แจงว่า ควรเก็บภาษีเป็นทำนองรายได้นั้น ภาษีเช่นนี้ความจริงก็ดำริและเป็นนโยบายที่เสนาบดีคลังกำลังดำริอยู่เหมือนกัน สำหรับภาษีมฤดกนั้นพิจารณาตามอัตราแล้ว ผู้ที่มีน้อยกว่า 25,000 บาทก็ไม่ต้องเสีย
การเก็บภาษีมฤดก วัตถุประสงค์ที่จะเก็บมีว่า “ธรรมดาเมื่อบุคคลมีทรัพย์โดยได้มาจากการทำมาหากินซึ่งต้องอาศัยฝูงชนที่ร่วมกันอยู่นี้ คิดดูตามลำพังฉะเพาะคนหนึ่งๆ นั้น จะมีกำลังหาได้ตังค์ 1,000,000 บาท หรือการที่มีมากก็อาศัยฝูงชนที่ทำให้ร่ำรวย เช่นคนที่มีที่ดินซื้อที่ดินไว้เพียงราคาเล็กๆ น้อยๆ ต่อมาที่ดินแถวนั้นมีคนอยู่คับคั่งก็มีราคาแพงขึ้นตั้งหลายๆ เท่าตัวนี้ใครทำให้เจ้าของที่ดินรวย ไม่ใช่ฝูงชนหรือ ฉะนั้นเมื่อคนนั้นตาย การที่จะเก็บภาษีก็เป็นการหันเข้าหาความยุติธรรม เราต้องการที่สุดที่จะสมานฐานะระหว่างคนมั่งมีกับคนจน จึงเห็นว่าการเก็บภาษีมฤดกจะทำความเสมอภาคมากขึ้นไปได้ ถ้าไม่คิดป้องกันเสียก่อนแล้วภายหลังจะลำบาก”
นายประยูร ภมรมนตรี กล่าว่า “ภาษีมฤดกนี้เป็นภาษีพิเศษ ไม่ได้เป็นอากรตามปกติซึ่งเก็บเป็นรายได้ของแผ่นดิน ในเมืองต่างประเทศโดยมากเก็บอากรมรดกไว้เพื่อประโยชน์ในการใช้จ่ายเกี่ยวแก่งานพิเศษของประเทศ เช่น ใช้หนี้ บำรุงการศึกษา สงเคราะห์คนอนาถา และการสุขาภิบาล เป็นต้น ซึ่งเป็นเงินบำรุงประเทศเพราะฉะนั้นความเข้าใจเสียว่าอากรมฤดกที่จะเก็บนี้เพื่อใช้ในการพิเศษ
บรรดาข้อถกเถียงดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับภาษีมรดกนั้น เป็นข้อถกเถียงสำคัญซึ่งนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติม ในท้ายที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไปพิจารณาศึกษารายละเอียดของภาษีมรดกเพิ่มเติม
ประการสำคัญที่สุด สิ่งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่มีความสำคัญและช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังจะเห็นได้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีนี้ มิได้เก่าไปเลยเมื่อเวลาผ่านไป เพราะท้ายที่สุดนั้น แม้แต่การยกร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดกฉบับใหม่ ข้อถกเถียงในลักษณะเช่นนี้ก็ยังคงปรากฏอยู่เสมอ และเรื่องของภาษีมรดกนั้นยังมีให้ได้เล่าอีกเป็นจำนวนมาก
อ้างอิงจาก
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 32/28 ตุลาคม 2475