ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ครูเปรยกับปรีดี ไม่รู้ว่าสมบูรณาฯ ของรัสเซียหรือไทย ใครจะไปก่อนกัน

16
มกราคม
2564

หมายเหตุบรรณาธิการ: ภาพปกของบทความนี้ คือ นำมาจากพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย อันเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และใกล้ชิดกันของรัสเซียและไทย ในที่นี้จึงมุ่งสื่อถึงประเทศทั้งสอง แม้ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคราวที่ครูคนหนึ่งเปรยเรื่องนี้กับนายปรีดี พนมยงค์ จะล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม

 

-----------------------------

 

ความจำของผมที่มีต่อสภาพของสังคมไทยเริ่มมีขึ้นเมื่อใดนั้น ก็ขอให้ทราบว่า ผมเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ตรงกับ ค.ศ. 1900 ผมเริ่มจำความได้เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ สภาพของสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นที่พอจำได้ ก็คือ สังคมไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2446-2447 เป็นต้นมา และสภาพของสังคมไทยที่ผลักดันให้ผมมีจิตสำนึกทำการอภิวัฒน์ ก็ควรถือเอาสภาพที่เปลี่ยนมาตามลำดับจนถึงกาละที่ผมกับเพื่อนอีก 6 คน ได้ประชุมกันก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469  ตามปฏิทินที่ใช้ในขณะนั้น (ต่อมาทางราชการไทยเปลี่ยนวันตั้งต้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม ฉะนั้น ตามปฏิทินปัจจุบันนี้ กุมภาพันธ์ 2469 จึงเป็น พ.ศ. 2470)

จึงไม่ควรเอาสภาพของสังคมปัจจุบันนี้ไปวินิจฉัยสภาพสังคมเมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว

ก่อนผมไปศึกษาในฝรั่งเศสนั้น ผมได้ค่อย ๆ รู้และได้ค่อย ๆ เกิดจิตสำนึกเห็นสมควรเปลี่ยนการปกครองของพระเจ้าแผ่นดินเหนือกฎหมายมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่ใต้กฎหมายนั้น ตามลำดับดังต่อไปนี้

ขณะที่ผมเรียนอยู่ในชั้นประถมนั้น เคยได้ยินบิดาสนทนากับชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดาได้บอกแก่ชาวนานั้น ๆ ถึงการที่ท่านได้ยินเจ้าคุณกรุง (พระยาไชยวิชิตฯ (นาค)) เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือ สภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใดก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปขอร้องรัฐบาลได้ ขณะนั้นผมยังเป็นเด็กอยู่มาก จึงไม่สนใจเรื่องนี้ พอจำได้เค้าลาง ๆ เท่านั้น

ต่อมาเมื่อผมได้เข้าเรียนในชั้นมัธยม ซึ่งต้องเรียนภูมิศาสตร์กว้างขวางขึ้นบ้าง รวมทั้งประวัติศาสตร์ของทั่วโลกโดยสังเขป ครูสอนว่าแบบการปกครองประเทศแยกออกเป็น 3 ชนิด คือ

(1) พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”

(2) พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายการปกครองแผ่นดิน

(3) ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเป็นประมุข เรียกว่า “รีปับลิก” (สมัยนั้นแปลเป็นไทยว่า “ประชาธิปไตย” ต่อมาภายหลัง พ.ศ. 2475 จึงแปลคำว่า “รีปับลิก” เป็นภาษาไทยว่า “สาธารณรัฐ”) มีคณะเสนาบดี การปกครองประเทศตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร 

ผมจึงทราบวิธีการปกครองจากหัวข้อย่อ ๆ นั้น

ครั้นถึง ร.ศ. 130  คือ พ.ศ. 2454 มีเหตุการณ์สำคัญ 2 ประการเกิดขึ้นที่ทำให้ผมสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนการปกครองของพระเจ้าแผ่นดินเหนือกฎหมาย คือ

1. หนังสือพิมพ์ลงข่าวตื่นเต้นติดต่อกันถึงสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) ภายใต้การนำของซุนยัตเซ็น กับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู  ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ผมและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้นก็เปลี่ยนเรื่องเล่นใหม่ให้สมกับสมัย คือ เล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย 

ต่อมาในไม่ช้าความปรากฏว่า ฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรย ๆ กับผมว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่า ระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน

2. ต่อมาปลายปี ร.ศ. 130 ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านผมที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินคงโทษขนาดหนัก 

ผมสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ. 130 รักชาติ กล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ผมจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ.130 ด้วยความเห็นใจมาก

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2458-59 ผมได้ออกไปช่วยบิดาทำนาก่อนที่จะเข้าโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ผมได้สัมผัสกับภาวะความเป็นอยู่ตามความเป็นจริง คือ เวลานั้นผมสำเร็จมัธยมซึ่งเขาถือว่าบริบูรณ์แล้ว ตามปกติเข้าเรียนที่ไหนก็ได้ แต่ผมอายุ 15 เศษ จะเข้าโรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ไม่ได้ ผมก็ออกไปอยู่นาตอนนี้ได้ประโยชน์ เมื่ออายุ 17-18 จึงเข้าเรียนกฎหมาย

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อยจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 ดูฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1583072391