ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐมนตรีปรีดีเยี่ยมแดนอีสานริมฝั่งโขง

21
มกราคม
2564

นายปรีดี พนมยงค์ (เวลานั้น คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479)  ครั้นช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480)[1] รัฐมนตรีปรีดีและคณะจึงไปตรวจเยี่ยมจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือดินแดนอีสานบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งยังข้ามฟากไปเยือนฝั่งหัวเมืองลาวที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส นับเป็นภารกิจสำคัญซึ่งนำมาสู่ความเข้าใจสภาพการเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เพื่อกำหนดนโยบายบริหารประเทศให้สัมฤทธิ์ผลก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) รัฐมนตรีลอยและอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) อธิบดีกรมการเมือง พระอนุรักษ์ภูเบศร์ หัวหน้ากองการต่างประเทศ พร้อมด้วยข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย ได้ออกเดินทางโดยรถยนต์ถึงจังหวัดหนองคายเวลา 15.00 น. ของวันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2479 เข้าพักผ่อน ณ จวนข้าหลวงประจำจังหวัด มีข้าราชการ สมาชิกสภาจังหวัดและสภาเมือง นายกมนตรีและมนตรีเทศบาลเมืองมาคอยต้อนรับ 

ถัดจากนั้น คณะของนายปรีดีขึ้นรถยนต์ไปดูโรงเรียนกสิกรรม ดูการปลูกยาสูบในดอนยาด ดูเครื่องมือจับสัตว์น้ำในลำแม่น้ำโขงชนิดต่าง ๆ และดื่มน้ำชาที่โรงเรียน จวบจนเวลา 17.00 น. ก็ขึ้นรถย้อนกลับมาจวนข้าหลวง ประชาชนชาวเมืองหนองคายได้พากันมาทำบายศรีรับขวัญตามประเพณี เวลา 19.00 น. รับประทานอาหารมื้อค่ำซึ่งทางสโมสรจังหวัดหนองคายจัดเลี้ยงต้อนรับ เคล้าเสียงแตรวงบรรเลงตลอดงาน และรับชมการแสดงจำอวด

 

ไร่ต้นยาสูบที่หนองคาย พ.ศ. 2481 ภาพจาก www.isangate.com
ไร่ต้นยาสูบที่หนองคาย พ.ศ. 2481
ภาพจาก www.isangate.com

 

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม เวลา 10.00 น. รัฐมนตรีปรีดีและคณะ พร้อมด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายได้ล่องเรือข้ามฟากลำน้ำโขงไปยังบ้านท่าเดื่อ เพื่อเดินทางต่อสู่เมืองเวียงจันทน์ตามคำเชิญของเรสิดังต์ สุเปริเออร์ (Résidence Supérieur) ข้าหลวงใหญ่หรือผู้สำเร็จราชการของที่นั่น โดยข้ารัฐการฝ่ายฝรั่งเศส ได้แก่ เมอซิเออร์ปาริโซ ตำแหน่งเรสิดังต์ เดอ ฟรังส์ (Résidence de France) เมอซิเออร์ฟอร์ ปลัดจังหวัด และหัวหน้าแผนกตำรวจสันติบาลนำรถยนต์มาคอยรับ ทั้งหมดไปถึงตัวเมืองเวียงจันทน์และเข้าพบผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายฝรั่งเศส ในเวลา 11.30 น. ร่วมรับประทานอาหารมื้อเที่ยง ซึ่งผู้สำเร็จราชการจัดเลี้ยงต้อนรับ มีข้ารัฐการฝ่ายฝรั่งเศสมาร่วมพิธีหลายนาย เสร็จจากการรับประทานอาหาร เมอซิเออร์ปาริโซได้นำคณะจากฝั่งไทยตระเวนเที่ยวชมเมืองเวียงจันทน์

15.00 น. วันเดียวกัน คณะของนายปรีดีลงเรือที่ทางข้ารัฐการฝ่ายฝรั่งเศสประจำเมืองเวียงจันทน์ตระเตรียมไว้ให้ เมอซิเออร์ปาริโซและข้ารัฐการบางนายมาส่งที่ท่าเรือบ้านท่าเดื่อ กลับถึงตัวจังหวัดหนองคายก็เข้าที่พัก ณ จวนข้าหลวง กระทั่งเวลา 18.30 น. ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายฝรั่งเศสกับคณะได้ติดตามข้ามฟากมาร่วมรับประทานอาหารมื้อค่ำที่จวนข้าหลวงตามคำเชิญของรัฐมนตรีปรีดีด้วย คืนนั้นมีการแสดงเบ็ดเตล็ดโดยนักเรียนสตรี 

เช้าวันศุกร์ที่ 29 มกราคม เวลา 08.00 น. รัฐมนตรีปรีดีและคณะพร้อมด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายออกเดินทางโดยทางเรือไปเยี่ยมเยือนนครพนม อีกจังหวัดหนึ่งริมฝั่งลำน้ำโขงเช่นกัน ซึ่งนายปรีดีเองก็เคยได้ไปนมัสการพระธาตุพนม มหาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2477 มาก่อนแล้ว

 

ปรีดี พนมยงค์ นมัสการพระธาตุพนม เมื่อ พ.ศ. 2477 ภาพจากเฟสบุ๊ก สหพันธ์ศิษย์ วัดพระธาตุพนม
ปรีดี พนมยงค์ นมัสการพระธาตุพนม เมื่อ พ.ศ. 2477
ภาพจากเฟซบุ๊ก สหพันธ์ศิษย์ วัดพระธาตุพนม

 

คณะของนายปรีดีกลับจากจังหวัดชายฝั่งแม่น้ำโขงมาถึงกรุงเทพมหานครตอนบ่ายวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ตลอดการปฏิบัติหน้าที่ทางได้รับการเอาใจใส่และความสะดวกจากการรับรองทั้งของฝ่ายเจ้าหน้าที่อินโดจีนฝรั่งเศสและทางฝ่ายสยามเป็นอย่างดี พอผู้สื่อข่าวรับทราบก็พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ท่านรัฐมนตรี เฉกเช่นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ที่ได้เข้าสัมภาษณ์หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอนบ่ายวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ และนำเอาถ้อยคำมาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ดังความว่า

“เนื่องด้วยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปดูภูมิประเทศตามลำแม่น้ำโขงเพิ่งกลับมาถึงพระนคร เราจึงถือโอกาสส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนถามถึงข้อสังเกตการณ์ในประการที่ท่านได้รู้ได้เห็นมา

เมื่อบ่ายวานนี้เจ้าหน้าที่ของเราได้ไปพบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  สังเกตเห็นว่าร่างกายของท่านสมบูรณ์ดี แม้ผิวเนื้อจะกร้านแดด เพราะผิดอากาศไปบ้างก็ตาม...”

คำถามหลัก ๆ ที่ผู้สื่อข่าวสอบถาม เป็นต้นว่า “การไปดูภูมิประเทศเกี่ยวกับลำแม่น้ำโขงคราวนี้ ท่านรัฐมนตรีมีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง?” ซึ่งคำตอบของนายปรีดี คือ

 “การไปของผมครั้งนี้ก็เพื่อจะได้รู้เห็นด้วยตนเองในบางสิ่งบางอย่าง เช่น การจัดตั้งตำรวจลำน้ำว่าควรจะดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสม การจับสัตว์น้ำว่าควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใดหรือไม่ การเดินเรือในลำแม่น้ำโขงว่าควรจะหาวิธีใดจึงจะเหมาะแก่ภูมิประเทศ ควรบำรุงการค้าขาย และจัดตั้งด่านศุลกากรโดยวิธีใดจึงจะดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ให้ความสะดวกและความยุตติธรรมแก่พลเมืองทั้งสองฝั่งลำน้ำ”

คำถามเรื่อง “การที่สยามได้ทำอนุสัญญาระหว่างสยามกับอินโดจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น ผลได้ผลเสียมีแก่ประเทศสยามเพียงใด?”  นายปรีดีตอบว่า

 “เมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ เราได้ทำสัญญากับประเทศฝรั่งเศสฉะบับหนึ่ง โดยยกสิทธิในลำแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสจนสิ้นเชิง เราไม่มีสิทธิที่จะจับสัตว์น้ำ และเดินเรือได้ตามอำเภอใจ ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เราได้ทำอนุสัญญากับอินโดจีนโดยตรง เกาะเล็กเกาะใหญ่ที่อยู่ใกล้ฝั่งฟากข้างเราก็ได้กลับคืนมามากหลาย เรามีสิทธิลงจับปลาและเดินเรือได้โดยไม่ถูกหวงห้าม ซึ่งชาวเราควรระลึกถึงบุญคุณของอนุสัญญาฉะบับใหม่ให้จงหนัก”

คำถามเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอินโดจีนตามพรมแดนภาคอิสาณเปนประการใดบ้าง?” นายปรีดีตอบว่า

 “ราษฎรตามพรมแดนทั้งสองฝั่งรู้สึกว่ารักใคร่ชอบพอเสมอด้วยพี่น้องคลานตามกันออกมาทีเดียว มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี ยิ่งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วยแล้ว ดูสนิทชิดชอบซึ่งกันและกันมาก พูดจาเข้าใจกันง่าย ถ้ามีเหตุขัดข้องขึ้นก็ได้ทำการไกล่เกลี่ยตกลงกันฉันท์มิตรภาพด้วยดีเสมอ มีความสัมพันธ์ต่อกันเปนเนืองนิตย์”

คำถามเรื่อง “ส่วนการติดต่อค้าขายทั้งสองฟากฝั่งลำแม่น้ำโขง พลเมืองได้กระทำกันด้วยดี  หรือว่ายังมีการขลุกขลักอยู่บ้าง?” นายปรีดีตอบว่า

 “การค้าขายของพลเมืองทั้งสองฝั่งต่างทำการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกันด้วยดีเสมอ จะมีอุปสัคเกิดขึ้นบ้างก็เพียงเล็กน้อย ซึ่งเปนเรื่องหยุม ๆ หยิม ๆ เสียโดยมาก แล้วต่างฝ่ายต่างก็ทำความเข้าใจกันโดยดี”

คำถามเรื่อง “สภาพความเปนอยู่ของราษฎรไทยทางแถบแม่น้ำโขง ท่านรัฐมนตรีสังเกตเห็นว่าเปนประการใดบ้าง?” นายปรีดีตอบว่า

 “ราษฎรชาวไทยที่ทำมาหากินอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น  ตามความสังเกตของผม ๆ เห็นว่าไม่อัตคัดฝืดเคืองประการใดเลย  เพราะนอกจากจะได้พืชผลจากการทำนาบนบก ซึ่งรัฐบาลสยามไม่เก็บอากรค่านาเลยแล้ว ยังมีโอกาสหารายได้จากการจับสัตว์น้ำอีกทางหนึ่งด้วย  หรือถ้าเปนผู้ที่มีฐานะดีหน่อยอาจจัดหาซื้อเรือไปเดินรับส่งคนโดยสารในน่านแม่น้ำโขงได้อีกวิธีหนึ่งด้วย  ส่วนราษฎรที่อยู่ดอนขึ้นมาก็ไม่ค่อยอัตคัดเท่าใดนัก เพราะนอกจากได้รับผลจากการทำนาแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่นหมูและวัวไว้ขายอีก สรุปความว่าฐานะของพลเมืองทางภาคอิสาณไม่ถึงกับแรงแค้นนัก”

และกล่าวเพิ่มเติม

“ส่วนการเก็บส่วยสาอากรจากพลเมืองที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชายฝั่งลำแม่น้ำโขง ทางฝ่ายเราก็เก็บถูกกว่าทางฝ่ายเขา เช่นการเก็บเงินรัชชูปการ ทางฝ่ายเราเก็บคนละ ๓ บาท ส่วนทางฝ่ายเขา ซึ่งเรียกว่าภาษีบุคคลนั้น เก็บคนละประมาณ ๗ บาท นี่ก็จะเห็นได้โดยชัดว่ารัฐบาลสยามได้ช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้นอยู่ในตัว”

ขณะที่คำถามเรื่อง “การอาชีพ และการอื่นใดที่ท่านรัฐมนตรีเห็นสมควรที่จะได้รับการส่งเสริมบ้าง?” นายปรีดีตอบว่า

“อาชีพที่ควรส่งเสริมคือสินค้าป่าซึ่งมีอยู่มากชะนิดและเปนสินค้าที่มีราคาทั้งในตลาดกรุงเทพฯ และในต่างประเทศด้วย ควรสงวนและบำรุงป่าในภาคอิสาณให้แข็งขันขึ้นอีก เพราะจากคำบอกเล่าผมได้ทราบมาว่า พลเมืองที่อพยพมาอยู่ในที่ใหม่ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกที ได้โค่นต้นไม้ที่มีราคาลงตามความพอใจ ซึ่งอาจทำให้พันธุ์ไม้ดี ๆ มีค่าสูนย์สิ้นลงได้ในเวลารวดเร็ว นอกจากนี้ก็ควรบำรุงการคมนาคมให้ดีและสดวกยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เปนทางนำมาซึ่งความเจริญของการค้า”

อนุสัญญากับอินโดจีนเมื่อ พ.ศ. 2469 ที่นายปรีดีเอ่ยพาดพิงและเน้นให้ระลึกถึงเพราะเป็นคุณประโยชน์ต่อสยามกว่าสัญญาที่เคยทำกับประเทศฝรั่งเศสอย่างเสียเปรียบเมื่อ ร.ศ. 112 (ตรงกับพ.ศ. 2436 และค.ศ.1893) นั้น มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “อนุสัญญาระวางสยามกับฝรั่งเศส เพื่อวางระเบียบความเกี่ยวพันระวางสยามกับอินโดจีน” ซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเทพฯ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ผู้ลงนามฝ่ายสยาม คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ (ต่อมาคือ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย) เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ผู้ลงนามฝ่ายฝรั่งเศสคือ อเลกซองดร์ วาเรนน์ (Alexandre Varenne) ผู้สำเร็จราชการแห่งอินโดจีนฝรั่งเศส และได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ กรุงเทพฯ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถือเป็นระเบียบที่ใช้อยู่ในมณฑลของสยามที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาเขตอินโดจีนโดยเฉพาะ แน่นอน ลำแม่น้ำโขงมิแคล้วเป็นเส้นเขตแดนระหว่างอาณาเขตทั้งสอง

รัฐมนตรีปรีดีและคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมภูมิประเทศของดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงโดยคำนึงถึงความเป็นไปอย่างสอดคล้องกับบทบัญญัติแต่ละข้อในอนุสัญญาระหว่างสยามกับอินโดจีน พ.ศ. 2469 ดังเรื่องการเดินเรือในลำแม่น้ำโขงตรงกับรายละเอียดข้อ 4 ที่ว่า

“อัครภาคีแห่งอนุสัญญานี้มีความปรารถนาที่จะให้ความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจในระวางอาณาเขตต์ของทั้งสองฝ่ายให้เผยแผ่โดยสดวก จึ่งได้ยินยอมตกลงกันว่า การเดิรเรือในทางค้าขายนั้น แต่ละฝ่ายจะต้องกระทำได้โดยเสรีภาพตลอดทั่วความกว้างของลำแม่น้ำโขงในทั้งสองตอนที่แม่น้ำนั้นเป็นเส้นเขตต์แดนในระวางกรุงสยามกับอินโดจีน

บทบัญญัติแห่งข้อ ๔ ของอนุสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ฆ.ศ. ๑๙๐๔ นั้นเป็นอันคงใช้อยู่ และรับความยืนยันในที่นี้

บริษัทเดิรเรือในทางค้าขาย  ซึ่งต่อไปภายหน้าทางราชการของประเทศทั้งสองที่ตั้งอยู่ชานฝั่ง แต่ละประเทศจักมอบอำนาจให้ใช้เรือเดิรตามลำแม่น้ำโขงตอนที่เป็นเส้นเขตต์แดนได้นั้น จะต้องเป็นฉะเพาะแต่บริษัทสยามหรือบริษัทอินโดจีนเท่านั้น”

ส่วนเรื่องการจัดตั้งตำรวจลำน้ำโขงตรงกับรายละเอียดข้อ 6

“โดยเหตุที่ตั้งแต่นี้ต่อไป  กรุงสยามจำเป็นจะต้องมีส่วนในการตำรวจทางน้ำในตอนลำแม่น้ำโขงสองตอนที่เป็นเขตต์แดนนั้น อัครภาคีแห่งอนุสัญญานี้ตกลงกันว่า  ข้อ ๒ แห่งหนังสือสัญญาลงวันที่ ๓ ตุลาคม ฆ.ศ. ๑๘๙๓ นั้นให้เป็นอันยกเลิกเสียโดยอนุสัญญาฉะบับนี้

ฉะนั้นแต่ละฝ่ายต้องได้รับอำนาจเพื่อใช้เรือมีอาวุธเดิรไปมาตามลำน้ำแม่น้ำโขงในตอนที่เป็นเขตต์แดน เพื่อการศุลกากรหรือเพื่อการตำรวจสำหรับสืบจับนั้นได้

แต่ความตกลงพิเศษที่ว่าไว้ในข้อ ๒ แห่งอนุสัญญานี้นั้น จะต้องกำหนดจำนวน ชะนิด และขนาดระวางของเรือมีอาวุธเช่นว่านี้ และกำหนดเครื่องอาวุธอย่างมากประจำเรือนั้นด้วย”

และเรื่องการจับสัตว์น้ำตรงกับรายละเอียดข้อ 7

“ตามลำแม่น้ำโขงทั้งสองตอนที่เป็นเขตต์แดนระวางกรุงสยามกับอินโดจีนนั้น  คนสังกัดชาติของประเทศทั้งสองจะต้องมีสิทธิที่จะจับสัตว์น้ำได้ตลอดทั่วความกว้างของแม่น้ำ  แต่จะต้องใช้แต่เครื่องมืออย่างที่ลอยหรือเครื่องจับปลาซึ่งใช้ทอดทิ้งด้วยมือเท่านั้น

เครื่องจับสัตว์น้ำที่เป็นเครื่องอยู่กับที่นั้นจะใช้ในแถบน่านน้ำของฝ่ายใด  ก็ต้องเป็นคนสังกัดชาติของประเทศที่เป็นเจ้าของแถบน่านน้ำของฝ่ายนั้นเท่านั้นจึงจะพึงใช้ได้

ที่ปากน้ำของแควต่าง ๆ นั้น สิทธิในการจับสัตว์น้ำในเขตต์น้ำนั้น ๆ จะต้องสงวนไว้สำหรับคนสังกัดชาติของประเทศที่เป็นเจ้าของฝั่งฟากที่เกี่ยวข้องนั้นฝ่ายเดียว และเขตต์ที่จะจับสัตว์น้ำในลำน้ำกว้างขวางออกไปได้เพียงไรนั้น คณข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขงต้องเป็นผู้กำหนดตามลักษณะท้องที่ และในกรณีหนึ่ง ๆ โดยฉะเพาะ”

ผลจากอนุสัญญาฉบับข้างต้นยังทำให้รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสยอมโอนสิทธิการปกครองหาดและดินดอน 7 แห่งในแม่น้ำโขงมาอยู่ในความปกครองของรัฐบาลสยามตามข้อ 3 วรรค 3 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นได้มีคำสั่งให้มณฑลอุดรปฏิบัติจัดการออกประกาศและกำหนดเขตตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2471

สำหรับหาดและดินดอนทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ดอนเขียว, ดอนเขียวน้อย, ดอนน้อย, ดอนยาด, ดอนบ้านแพง, หาดทรายเพเวินกุ่ม และดอนแกวกองดินเหนือ จะเห็นว่า คณะของนายปรีดีตอนตระเวนชมภูมิประเทศลำน้ำโขงก็แวะไปเยือนดอนยาด

ภารกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมจังหวัดบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ย่อมสะท้อนบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตัวแทนรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งต้องทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนและพยายามประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐของตนกับอีกรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันอันก่อคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศทั้งสองฝ่าย ทั้งยังได้ออกไปแลเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่เส้นเขตแดนอย่างแท้จริงและแจ่มชัด เพื่อนำมาออกนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ทว่าบรรยากาศสองฟากฝั่งลำน้ำโขงและสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้นจากฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศสที่รัฐมนตรีปรีดีและคณะได้สัมผัสนั้น เป็นห้วงยามก่อนกรณีพิพาทอินโดจีนจะอุบัติขึ้นในสมัยรัฐบาลพิบูลสงครามต้นทศวรรษ 2480!

 

เอกสารอ้างอิง

  • เทศาภิบาล. เล่ม 30 ฉะบับที่ 8. พระนคร:โรงพิมพ์ลหุโทษ, 2473
  • ประชาชาติ. ปีที่ 5 ฉะบับที่ 1940 (3 กุมภาพันธ์ 2479)
  • ประชาชาติ. ปีที่ 5 ฉะบับที่ 1946 (10 กุมภาพันธ์ 2479)
  • อนุสัญญาระวางสยามกับฝรั่งเศส เพื่อวางระเบียบความเกี่ยวพันระวางสยามกับอินโดจีน ลงนามกัน ณะ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณะ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐. พระนคร: โรงพิมพ์บางกอกไตมส์, 2470.
 

[1] เนื่องจากการนับปีศักราชตามแบบเดิมของไทยก่อน พ.ศ. 2484 จะเริ่มนับขึ้นปี พ.ศ. ใหม่ในวันที่  1 เมษายน มิได้นับปีศักราชแบบสากลซึ่งเริ่มขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม จึงไม่แปลกที่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมจะถือเป็นช่วงสามเดือนสุดท้ายปลายปีเก่า ฉะนั้น เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ของไทย แท้จริง คือ เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ตามแบบสากล