วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 เวลา 18.00 น. เราพากันลงเรือประมงเล็กๆ นั้น เราเลือกเดินทางเวลานี้ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กแล่นออกไปถึงป้อมพระจุลฯ ซึ่งเรือตอร์ปิโดของรัฐบาลจอดอยู่ เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่างๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโด อย่างใจเย็น และนายทหารขั้นประทวน 2 คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางแล่นเลียบชายฝั่ง มุ่งเดินทางต่อไปทางใต้
ตามกฎหมายของสยามไม่อนุญาตให้เรือหาปลาที่มีระวางขับน้ำน้อยกว่า 5 ตันและจดทะเบียนในกรุงเทพฯ แล่นออกไปไกลเกินกว่า 250 กม.จากชายฝั่งทะเลตอนใต้ แต่เราจำต้องละเมิดกฎหมาย เพื่อเดินทางออกไปไกลกว่า 1,500 กม. เพื่อการนี้ เราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากเรือลาดตระเวน
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เราเดินทางออกห่างกรุงเทพฯ ประมาณ 800 กม. เบื้องหน้าเรา ข้าพเจ้าแลเห็นเรือรบหลวงลำหนึ่งจอดอยู่ปากแม่น้ำสายเล็กๆ ทางชายฝั่ง ในสถานการณ์เช่นนั้น เรารู้สึกลำบากใจมาก ถ้าเราเดินทางต่อไป จะต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าเรากลับทางทิศเหนือ เรือรบลำนั้นก็อาจสงสัยและยิงใส่ได้ใน 2 กรณีนี้ เราต้องเสี่ยงต่อการถูกเรือรบจับกุม แต่โชคดีราวปาฏิหาริย์ เรือหาปลาลำหนึ่งได้ออกจากฝั่งไปทางเสาที่ผูกติดกับโป๊ะเพื่อดักปลา เสาเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างเรือรบกับเรือประมงของเรา กัปตันจึงเบนหัวเรือไปทางเสาเหล่านี้ แล้วผูกเรือไว้รอชาวประมง
เมื่อชาวประมงมาถึงเราก็ซื้อปลาบ้าง เพื่อหันเหให้เรือรบลำนั้นคิดว่า เราเดินทางมาเพื่อเจรจากับชาวประมงที่นั่น โดยเฉพาะหลังจากการอำพรางเช่นนี้แล้ว เราก็หันเรือกลับไปทางเหนือเพื่อทำที่ว่าเดินทางกลับไปกรุงเทพฯ
อันที่จริงเมื่อเราแล่นเรือมาไกลถึง 10 กม. เราก็หยุดที่โค้งชายฝั่งแห่งหนึ่ง ซึ่งช่วยกำบังเราให้พ้นจากสายตาเรือรบจนกระทั่งถึง 23 น. เราจึงตัดสินใจเสี่ยงภัยออกไปทะเลลึกทางตะวันออกนอกน่านน้ำสยาม เดชะบุญคืนนั้นทะเลสงบมาก และเมื่อออกมาได้ไกลพอควรเราก็หันเรือไปทางใต้ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางมาถึงเขตน่านน้ำทะเลลึกของสยาม เราหันเรือไปทางตะวันออกและเข้าสู่เขตน่านน้ำทะเลมลายูของอังกฤษ
เราแล่นเลียบไปตามชายฝั่งตะวันออกของมลายู และมาจอดที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งเพื่อหยุดพัก และมุ่งหน้าต่อไปทางใต้ พอตกค่ำก็เกิดลมพายุ เราต้องจอดเรือประมงใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชายฝั่งมลายูของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ตำรวจมลายู 2-3 นายมาตรวจเรือ และขู่ว่าจะจับกุม ภายหลังได้พูดคุยกับพวกเขา และได้ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่เขาแล้ว เขาก็สัญญาว่าจะให้เราพักอยู่ที่นั่นในช่วงที่มีพายุ เราคิดว่าเขาคงจะแจ้งจับเราแน่ แต่เราก็คงจะไม่ถูกจับระหว่างเกิดพายุ ดังนั้น ก่อนที่พายุจะสงบราบเรียบ เราก็ออกเดินทางจากชายฝั่งนั้น เพื่อแล่นออกไปยังทะเลลึกนอกเขตน่านน้ำมลายูของอังกฤษ
จากนั้น เราก็เดินทางต่อไปทางใต้ ย่างเข้าวันที่ 2 เราก็มาถึงเขตน่านน้ำสิงคโปร์ เนื่องจากการเดินทางใช้เวลาไม่ถึง 10 วัน และเพื่อนชาวจีนก็ยังมาไม่ถึงที่นัดพบ เราจึงเดินทางต่อไปยังเกาะบาไลของอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของฮอลแลนด์ เกาะนี้เป็นศูนย์กลางสินค้าหนีภาษี เป็นที่ที่รัฐบาลฮอลแลนด์อำนวยความสะดวกแก่เรือไม่ว่าสัญชาติใด เราพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2-3 วัน จนกระทั่งครบกำหนด
จากเกาะนี้เราเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อพบเพื่อนที่นั่นขณะที่เข้าใกล้ท่าเรือสิงคโปร์ เราก็ถูกเรือลาดตระเวน 2 ลำ ซึ่งบัญชาการโดยชาวมลายูตรวจตรา แต่พวกเขาไม่พบอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความใจเย็นตามเคย กัปตันได้จอดเรือประมง ณ ท่าจอดเรือในสิงคโปร์ เพื่อนชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้มาพบเราที่นั่น เพื่อปรึกษากันถึงแผนการเดินทางไปยังฮ่องกง ระหว่างที่รอคอยอยู่นั้น เราได้เข้าพักในบ้านเพื่อน ซึ่งอยู่ใกล้กองบัญชาการตำรวจโดยที่ตำรวจไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย
ต่อมาไม่กี่วัน เราก็แอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกงด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนชาวจีน (ไม่ใช่ชาวคอมมิวนิสต์)
ที่ฮ่องกง ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งชาวจีนโพ้นทะเลชื่อซุน มาต้อนรับเพื่อร่วมเดินทางไปกับเราจนถึงเมืองปักกิ่ง ซุนเป็นน้องชายของเหลียง อดีตนายทหารก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งรัฐบาลจีนคณะชาติได้มอบหมายหน้าที่ให้รับรองคณะผู้แทนเสรีไทยที่ส่งไปจุงกิงระหว่างสงคราม อันที่จริง เหลียงเป็นเพียงผู้ฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
เราพักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตเช่าไว้ ณ ที่นี้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยพำนักอยู่ภายหลังที่การก่อการเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ประสบความล้มเหลว
เช้าวันที่ 13 กันยายน พ.ศ 2492 เพื่อน 4 คนและข้าพเจ้าได้ลงเรือเดินทะเลที่มีระวางขับน้ำ 3,000 ตัน เรือลำนี้เป็นของพ่อค้าชาวจีน แต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษเพื่อป้องกันมิให้เรือของจีนคณะชาติยึดเรือลำนี้ เจ้าหน้าที่อังกฤษจึงออกใบรับรองของท่าเรือให้ โดยระบุว่าเมืองท่าปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ อยู่ที่อินชอนในเกาหลีใต้
ผู้ร่วมเดินทางคนอื่นๆ ได้แก่ ผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนจากฮ่องกง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเชิญให้เข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน ก็ทยอยลงเรือลำเดียวกันนี้
ผู้เดินทางบางคนก็รู้วิธีที่จะตกลงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ส่วนเรานั้นได้ยอมให้ศุลการักษ์ และกองตรวจคนเข้าเมืองของอังกฤษค้นกระเป๋าของเราที่ห้องพักผู้โดยสาร โดยคิดว่าศุลการักษ์ที่ฮ่องกงไม่กล้าฉวยโอกาสต่อหน้าผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษ ศุลการักษ์รื้อข้าวของของเรากระจุยกระจาย และเมื่อเขาออกจากห้องพักผู้โดยสาร เราก็พบว่ายาที่หายากและมีราคาแพงมากในสมัยนั้นซึ่งเราซื้อไว้เพื่อใช้ในระหว่างพำนักอยู่ในจีนได้อันตรธานไปเสียแล้ว
ศุลการักษ์ไม่เพียงแต่ขโมยยาที่มีค่าของเราไปเท่านั้น ซ้ำยังขู่ที่จะฟ้องกองตรวจคนเข้าเมืองว่าสงสัยเราจะเป็นคอมมิวนิสต์ ยกเว้นเราจะจ่ายเงินให้พวกเขาคนละ 500 เหรียญฮ่องกง ซุนจึงต้องติดต่อกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อจัดการให้เป็นที่พอใจแก่คนเหล่านั้น ชาวจีนฮ่องกงซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกันกับข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง มีกรณีมากมายเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการอังกฤษใน อาณานิคมแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรต้องจ่ายให้ข้าราชการเหล่านี้เรียกกันว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา”
ต่อมา เมื่อรัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงจัดให้มีการออกล็อตเตอรี่ขึ้นในอาณานิคมแห่งนี้ เพื่อนๆ ที่เคยอยู่ที่นั่นเล่าว่า เป็นที่รู้กันดีว่าฮ่องกงนั้น ใครถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ เขาอาจขายสลากล็อตเตอรี่ให้กับนายหน้าของข้าราชการที่ฉ้อฉลเหล่านี้ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาในสลาก ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญฮ่องกง เขาอาจขายสลากของเขาได้ 1,200,000 เหรียญฮ่องกง ข้าราชการเหล่านี้ จะซื้อสลากที่ถูกรางวัลเอาไว้ เพื่อแสดงว่าเขาได้รับเงินมาโดยชอบธรรม แล้วจะได้โอนเงินไปประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อว่าทางการอังกฤษจะไม่ดำเนินคดีต่อเขาในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องราวการเดินทางต่อก่อนที่จะออกจากท่าเรือฮ่องกง หลังจากจ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” สักครู่หนึ่งมีชาวจีนอีก 2 คนเข้ามาในเรือ บังคับให้ซุนมอบตัวต่อกองตรวจคนเข้าเมือง และขู่ว่าจะไม่สามารถเดินทางได้อีกต่อไป นอกจากจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับพวกเขา ซุนจึงให้เงินทั้งหมดที่เหลืออยู่ในกระเป๋าไป แต่อันธพาล 2 คน ก็ยังไม่พอใจ ซุนจำเป็นต้องให้พวกนั้นค้นเสื้อผ้าของเขา และ ขอร้องอย่าเอาเงินไปหมด โดยเหลือไว้สำหรับซื้อ “น้ำร้อนน้ำชา” คราวต่อไปในระหว่างเดินทาง
เมื่อเห็นว่า แผนการเดินทางครั้งนี้อาจล้มเหลว หากยังขนสินค้าต่างๆ ขึ้นเรืออยู่อีก ตัวแทนอีกคนหนึ่งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรับผิดชอบการเดินทางของเรา และผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนทั้งหมดในเรือ จึงได้ขอให้กัปตันถอนสมอเรือออกจากท่า เรือฮ่องกงโดยเร็วที่สุด โดยทั้งสินค้าที่เหลือไว้ลงเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งจะมาในวันรุ่งขึ้น ดังนี้ เรือของเราจึงออกจากท่าเรือฮ่องกงบ่ายวันเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ กัปตันเรือกำชับเราว่าในกรณีที่เรือรบจีนคณะชาติตรวจตรา เราจะต้องบอกว่าเดินทางไปเกาหลีใต้ มิใช่ไปดินแดนที่จีนอยู่ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์
เมื่อเรือของเราแล่นออกไปนอกเขตน่านน้ำฮ่องกง กัปตันก็ได้รับการติดต่อทางวิทยุแจ้งว่าจะมีพายุใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว กัปตันจึงต้องนำเรือฝ่าออกไปทันทียังบริเวณระหว่างเกาะเล็กๆ กับชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งยังคงถูกจีนคณะชาติยึดไว้ เราต้องอยู่ที่นั่นราว 24 ชั่วโมง ก่อนเดินทางต่อไป
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เดินทางมาเข้าเขตทะเลจีน ข้าพเจ้ามองเห็นจุดดำเป็นรูปเรือลำหนึ่งอยู่ทางขอบฟ้า และกำลังมุ่งหน้ามาทางเรือของเรา กัปตันได้แจ้งให้ผู้โดยสารทุกคนทราบว่าจะต้องเตรียมพร้อมที่จะถูกตรวจตราโดยเรือของฝ่ายจีนคณะชาติ ด้วยเหตุนี้ คนที่มีเอกสารหรือหนังสือสำคัญที่ฝ่ายจีนคณะชาติอาจถือเป็นข้อสงสัยว่า เป็นคอมมิวนิสต์หรือผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จะต้องรีบทำลายหลักฐานเหล่านั้นทันที ไม่เช่นนั้นผู้ที่ถือเอกสารเหล่านั้นอาจถูกจับกุม และนำตัวไปยังไต้หวัน ผู้โดยสารหลายคน จึงเผาเอกสารของตนที่เตาเครื่องจักรไอน้ำในเรือ แต่เราไม่ทำเช่นนั้นเพราะคิดว่าในกรณีที่มีการตรวจสอบ เราจะแสดงหนังสือเดินทางของสยามโดยแจงว่า เราจะเดินทางไปอินซอน-เกาหลีใต้ ไม่ได้ไปดินแดนจีนภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์
เรือรบลำนั้นแล่นใกล้เรือของเราเข้ามาทุกที ขณะที่อยู่ห่างประมาณ 800 เมตร เรามองเห็นธงอังกฤษที่ข้างเรือ เจ้าหน้าที่ในเรือนั้นประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าเขาตรวจตราแถบนี้อยู่ เพื่อคุ้มกันเรือพาณิชย์ของอังกฤษ และถ้าเรือของเราถูกตรวจจับโดยเรือลาดตระเวนของฝ่ายจีนคณะชาติ เราจะแจ้งให้เขาทราบทันทีทางวิทยุ เพื่อว่าเขาจะได้มาช่วยเรา ทุกคนรู้สึกโล่งใจ แต่ศาสตราจารย์ชาวจีนฮ่องกงผู้หนึ่ง ได้แสดงความเสียดายกับข้าพเจ้าที่เขาได้รีบร้อนเผาเอกสารมีค่า ซึ่งในจำนวนนั้นมีบันทึกประจำวันที่เขาเขียนไว้ตั้งแต่เด็กหลายเล่ม
เช้าวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2492 เรือของเราแล่นเทียบท่าเรือชิงเต่า เจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ประจำท่าเรือได้ลงมาในเรือให้การต้อนรับผู้เดินทางทุกคน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เรือของเราก็ทอดสมออยู่ที่ท่าเรือนั้น ชาวจีนอื่นๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน พากันรีบเดินทางต่อไปโดยทางรถไฟ เพื่อให้ไปถึงเมืองปักกิ่งทันการเปิดประชุมในวันที่ 21 กันยายน
ส่วนพวกเราได้ไปเยือนตัวเมืองที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยตามคำเชิญของ “สหายหม่า” (นายกเทศมนตรีคอมมิวนิสต์แห่งชิงเต่า) ซึ่งเขาจัดให้เราพักในโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองนั้น
ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529), หน้า 127-137
หมายเหตุ: ตัดตอน แก้ไขเล็กน้อย ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยคโดยบรรณาธิการ