ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ กับ เจมส์ แม็กซ์ตัน (James Maxton)

3
ธันวาคม
2565

ผลของการที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476) จนส่งผลให้เขาถูกกล่าวหาโจมตีว่าแนวคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะสร้างความหายนะ ทั้งยังเป็นมหันตภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ครั้นพอวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดใหม่ก็ร่วมกันออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476”

นายปรีดี ต้องตัดสินใจออกนอกประเทศสยามพร้อมภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เดินทางระหกระเหินไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน นับเป็นการลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรกสุดของชีวิต

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยช่วงชีวิตระหว่างการลี้ภัยในฝรั่งเศสไว้ในข้อเขียน “ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จําได้” ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเราไปถึงฝรั่งเศส สมาชิกสภาอังกฤษพรรค Independent Labour ชื่อ Mr.Maxton ได้เชิญให้พ่อไป House of Commons เพื่อฟังการประชุมสภา”

Mr.Maxton ที่เอ่ยนามมา น่าจะหมายถึง เจมส์ แม็กซ์ตัน (James Maxton) นักการเมืองคนสำคัญและแกนนำพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ของอังกฤษในห้วงยามนั้น

ในหนังสือ หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ยังมีอีกเสียงเล่าโดยภริยาของคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

“ในช่วงนั้นเราได้รับเชิญไปยังประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง โดยสมาชิกพรรคอินดิเพนเดนท์เลเบอร์คนหนึ่งที่ได้เป็นผู้แทนในสภาอังกฤษ เหตุที่เขาเชิญไปนั้น เพราะสมาชิกของพรรคนี้ได้พบเราในเรือโกลา และรู้จักว่านายปรีดีเป็นใคร จึงติดต่อขอเชิญไป

การเดินทางในตอนนั้นต้องโดยสารรถไฟจากปารีส ลงเรือที่ท่าเมืองเดี้ยพ (Dieppe) มาขึ้นที่เมืองนิวเฮเว่น แล้วต่อรถไฟเข้ากรุงลอนดอน…”


เจมส์ แม็กซ์ตัน (James Maxton)

นั่นแสดงว่า นายปรีดี กับ เจมส์ แม็กซ์ตัน พบเจอกันบนเรือโกลาหรือกัวลา อันเป็นเรือเดินสมุทรที่แล่นลำจากเมืองไทยไปถึงเพียงแค่สิงคโปร์ ก่อนจะต้องเปลี่ยนเป็นเรือลำใหญ่กว่าเพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังทวีปยุโรป ซึ่งในครั้งนั้น ทั้ง ปรีดี และ พูนศุข ได้โดยสารเรือเดินสมุทรสัญชาติญี่ปุ่นชื่อฮากุซัน มารุ (Hakusan Maru) ออกจากท่าเรือของสิงคโปร์ มีจุดหมายปลายทางที่เมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

ข้อพึงสนใจและชวนพิศวงคือ เจมส์ แม็กซ์ตัน น่าจะแวะมาทำภารกิจอะไรสักอย่างในทวีปเอเชีย เพราะปกตินักการเมืองผู้นี้ควรจะเคลื่อนไหวอยู่ในอังกฤษ ทว่าคราวนี้กลับมาปรากฏตนบนเรือโกลาที่แล่นล่องเฉพาะท้องทะเลแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม็กซ์ตันผู้เลื่อมใสแนวทางสังคมนิยม (Socialism) คงจะจับตามองและปรารถนาทำความรู้จักนายปรีดี—คนหนุ่มชาวไทยซึ่งกำลังเป็นที่เลื่องลือในฐานะผู้ยึดถือแนวทางสังคมนิยม ครั้นสบโอกาสได้เจอตัวจริงบนเรือ จึงเอ่ยปากเชิญชวนให้ไปร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษหรือ House of Commons ซึ่งจะจัดการประชุมขึ้น ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster)

นายปรีดี และ พูนศุข เดินทางไปถึงและพำนักในประเทศฝรั่งเศสมินานครัน ต่อมารับทราบกำหนดการว่าจะจัดประชุมสภาที่อังกฤษเมื่อวันเวลาใด เขาก็ชวนภริยานั่งรถไฟจากกรุงปารีสไปยังเมืองเดียปป์ (Dieppe) เมืองท่าเล็กๆ ในแคว้นนอร์ม็องดี (Normandie) โดยสารเรือข้ามฟากทะเลในช่องแคบอังกฤษไปขึ้นฝั่งที่เมืองนิวเฮฟเวน (Newhaven) และนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงลอนดอน

ชื่อเต็มๆ ของสภาสามัญชนอังกฤษคือ คณะสามัญชนผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา (The Honourable the Commons of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled) แม้จะถือเป็นสภาล่าง เพราะระบบรัฐสภาอังกฤษจะมีสภาขุนนาง (House of Lords) เป็นสภาสูง แต่สภาสามัญชนกลับมีบทบาททางการเมืองการปกครองของประเทศเสียมากยิ่งกว่า โดยเฉพาะภายหลังการออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911” (Parliament Act 1911) อำนาจที่เคยมีล้นพ้นของสภาขุนนางถูกลอดทอนลง

สมาชิกสภาสามัญชนถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน เพราะได้รับเลือกตั้งเข้ามาแบบแบ่งเขต เขตละหนึ่งคน และผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจะดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยทำหน้าที่คอยพิจารณาร่างกฎหมาย คอยตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ประพฤติเป็นปากเสียงเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน อภิปรายและตั้งกระทู้ถามกันในการประชุมสภา

เจมส์ แม็กซ์ตัน เป็นสมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคแรงงานอิสระหรือ ILP ทว่าต่อมาภายหลังได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากพรรคมาเคลื่อนไหวเองแบบอิสระ เนื่องจากในพรรค ILP เกิดความขัดแย้งกัน

น่าเสียดายยิ่งนัก ยังไม่เคยค้นพบบันทึกรายละเอียดของการที่ นายปรีดี ได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์และรับฟังในการประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษตามคำเชื้อเชิญของ นายแมกซ์ตัน หนึ่งในสมาชิกสภาแห่งนั้น ผมมิแน่ใจว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เคยเปิดเผยเรื่องราวนี้ตามที่ตนเองได้สัมผัสพบเห็นไว้บ้างหรือเปล่า ที่พอจะทราบก็เพียงจากคำบอกเล่าของท่านผู้หญิงพูนศุข คนรุ่นหลังจึงนึกภาพไม่ออกว่าการประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษในวันที่มันสมองของคณะราษฎรไปนั่งเป็นประจักษ์พยานอยู่ด้วย มีลักษณะและบรรยากาศเช่นไร

โปรดอย่าลืมว่า ตอนนายปรีดีไปเข้าร่วมการประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษนั้น ที่เมืองไทยยังไม่เคยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เลย แม้ทางรัฐบาลคณะราษฎรจะได้ตระเตรียมวางแผนจะจัดให้มีการเลือกตั้งไว้แม่นมั่นช่วงราวๆ ปลายปี พ.ศ. 2476 แต่พอเดือนเมษายนปีนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับถูกเนรเทศไปอยู่ฝรั่งเศส พอปลายเดือนกันยายนจึงหวนคืนกลับสู่สยาม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งแน่นอนเป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม

ผมค่อนข้างเชื่อเหลือเกินว่าประสบการณ์ที่นายปรีดีสัมผัสพบเห็นจากการประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษ ณ พระราชวังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ น่าจะทรงอิทธิพลต่อแนวความคิดของเขาในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการผลักดันให้เมืองไทยมีระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง จึงนับได้ว่าคำเชิญชวนของ เจมส์ แม็กซ์ตัน บนเรือเดินสมุทรชื่อโกลา นอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ นายปรีดี พนมยงค์ แล้ว ยังเป็นจุดเล็กๆ ที่ก่อคุณูปการให้กับสังคมไทยอีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. “ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จําได้” ใน ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์. บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ: ตถาตาพับลิเคชั่น, 2551.
  • ไพโรจน์ ชัยนาม. สถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญของต่างประเทศกับระบอบการปกครองของไทย. พระนคร : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2515.
  • นรุตม์ (เรียบเรียง). หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แพรว, 2551.
  • Brown, Gordon. Maxton: A Biography. Edinburgh: Mainstream Publishing Co.,1986.
  • Parliaments of the World: A Comparative Reference Compendium. 2nd ed. Aldershot: Gower, 1986.