ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

จากปารีสสู่กรุงเทพฯ ข้อมูลใหม่ก่อนปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับไทย 29 กันยายน 2476

29
กันยายน
2567

Focus

  • 29 กันยายน พ.ศ. 2476 หรือ 91 ปีที่แล้วนายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางกลับเมืองไทย หลังจากต้องเดินทางไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 เพราะร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2475 ถูกโจมตีว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ และด้วยเหตุที่ต่อมาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ร่วมกันออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ในการหวนคืนเมืองไทยหลังจากกลับใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่งในฝรั่งเศส 5 เดือนเศษ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกศิษย์ และประชาชน
  • หลังการปิดสภาฯ รัฐประหารครั้งแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ทางนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เข้ายึดอำนาจคืนจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และขอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ผลการพิจารณาปรากฏว่าคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

 


คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีครั้งแรก
จำนวน 200 ฉบับ

 

ราว 3 เดือนให้หลังการปิดสภาฯ หรือรัฐประหารทางรัฐสภาครั้งแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ทางนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้เข้ายึดอำนาจคืนจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ส่งผลให้ความขัดแย้งของรัฐบาลหลังการอภิวัฒน์ 2475 จากนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างนโยบายของฝ่าย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะทำให้สยามเป็นเอกราชทางด้านเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎรที่เป็นฐานรากของสังคมถูกโจมตีว่ามีลักษณะนโยบายแบบคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การออกเดินทางยังต่างประเทศจากผลทางการเมืองครั้งแรกของนายปรีดี ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476

หากหลังจากนายปรีดีเดินทางกลับสยามเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ไม่นานในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ โดยผลการพิจารณาปรากฏว่าคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ว่านายปรีดีไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

 

จากกรุงเทพฯ สู่ปารีสหลังกรณี ‘สมุดปกเหลือง’

 


นายปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2476 ภายหลังการรัฐประหารปิดสภาฯ ครั้งแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

 

การออกเดินทางของนายปรีดีหลังการรัฐประหารโดยปิดสภาฯ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีลักษณะพิเศษกว่าการลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลสยามมีการออกหนังสือเดินทางรับรองตัวนายปรีดี ต่อรัฐบาลทั่วโลกครั้งแรก โดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสังเกตว่าข้อความในหนังสือรับรองการเดินทางครั้งนี้ ระบุว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางไปเพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

 

“รัฐบาลสยาม รับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่อรัฐบาลทั่วโลก

รัฐบาลขอรับรองว่า ผู้ถือเอกสารนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สัญชาติไทยเดิมเป็นข้าราชการของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองสามัญผู้หนึ่ง เพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับความเอื้อเฟื้อและความสะดวกทุกอย่างตามอัธยาศัย จะขอบคุณ

(ลงนาม) พระยาศรีวิสารวาจา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ 10 เมษายน 2476”

 

ในการเดินทางครั้งนี้ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงไว้มากนักแต่ยังพบว่ามีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้รายงานการลี้ภัยครั้งนี้ไว้อยู่บ้างภายหลังที่ทราบข่าวระแคะระคายจากที่พระยามโนฯ ได้เชิญหลวงประดิษฐ์ฯ ไปพบยังวังปารุสกวัน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2476 เช่น หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้พาดหัวข่าวและเขียนเล่าเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ฝรั่งเศสด้วยความจำเป็น อันเป็นกฎสูงสุดของมนุษย์”

“...เดิมหลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะไปญี่ปุ่นแต่ทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไปฝรั่งเศสสมควรกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จึงยอมไปฝรั่งเศส เวลานี้ได้เตรียมการเดินทางไว้พร้อมมูล ภรรยาท่านก็ไปด้วย แต่บุตรน้อย ๆ ยังไม่นำไปเพราะเกรงจะลำบาก ต่อเมื่อได้ไปอยู่ที่ไหนแน่นอนแล้วจึงค่อยไปรับภายหลัง ท่านตั้งใจจะไปอยู่นอกปารีสเพราะไม่ชอบความเริงรมย์อย่างปัจจุบัน ชอบแต่จะดูตำหรับตำราเท่านั้น…”

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2476 

 

บรรยากาศของวันเดินทางนั้นมีหนังสือพิมพ์หลักเมือง วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้เขียนเล่าไว้อย่างละเอียด

“ประชาชนที่หลั่งไหลไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ท่าเรือบีไอในวันนี้ มีไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคน ในจำนวนนี้มีบุคคลชั้นรัฐมนตรีหลายท่าน เช่นพระยาพหลฯ พระยามานวราชเสวี หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม หลวงเดชสหกรณ์ พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ…ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหลายสิบคน…”

และสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างหลวงประดิษฐ์ฯ และพระยาพหลฯ ไว้อีกด้วย

“เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่หลวงประดิษฐ์ และกอดจูบอย่างอาลัยรัก…ต่อจากนั้น บรรดา…เพื่อนฝูง และลูกศิษย์ลูกหาทั้งทหารบกและทหารเรือ และพลเรือนต่างก็เข้าสัมผัสมือกับหลวงประดิษฐ์ฯ  เมื่อหมดพิธีแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเดินขึ้นบันไดเรือ…ครั้นแล้วเสียงไชโยก็ดังกึกก้องเมื่อเรือได้เคลื่อนที่ออกจากท่ามุ่งออกสู่ทะเลลึกไปสิงคโปร์”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้ลงรายละเอียดมากกว่าหนังสือพิมพ์หลักเมือง ในแง่ของจำนวนราษฎรที่ไปส่งหลวงประดิษฐ์ฯ ว่ามีนับพันคน

“พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จูบลากัน คนส่งนับพันใจหายถึงกับร้องไห้

รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือง ตำรวจ พ่อค้า คหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณรไทย นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้น ทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็ก ประมาณ 3,000 คน ไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ด้วยน้ำตาไหลพรากไปตามๆ  กัน เป็นส่วนมาก

เสียงไชโยก้องกังสดาลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออก ลับตาไป”

และยังเสนอภาพของถนนเจริญกรุง ตรงท่าเรือบีไอ เวลา 15.00 น. ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่ามีรถยนต์จอดสองข้างถนนยาวยืดและบางแห่งถึงกับจอดซ้อนกันจนแทบจะกั้นถนนไม่ให้มีทางสาธารณะ เพราะว่าราษฎรเดินทางไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และภรรยา พูนศุข พนมยงค์

 

จากปารีส สู่กรุงเทพฯ: ข้อมูลใหม่ก่อนปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับไทย 29 กันยายน 2476

 


หนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

ชีวิตในปารีสของนายปรีดีนั้นมีกิจวัตรประจำคือไปอ่านหนังสือที่หอสมุดปารีส โดยนายปรีดีชี้แจงการต้องเดินทางไกลของตนพร้อมกับเล่าถึงชีวิตประจำวันไว้ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476 อย่างละเอียด

“ข้อมุ่งแรกทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าต้องการพักผ่อน แต่ความจริงทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาเปนอันมากหมกอยู่ในหอสมุดแห่งปารีส เพื่อศึกษาประวัติการความเจริญในทางเศรษฐกิจของชาติต่าง ๆ ในยุโรปต่าง ๆ สมัย

เท่าที่ข้าพเจ้าได้มาจากการค้นคว้าศึกษาครั้งนี้อาจจะใช้เปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้าและเพื่อนฝูง (น่าจะหมายถึงพระสารสาสน์พลขันธ์ด้วยผู้หนึ่งผู้ใช้นามปากกา ๕๕๕-บ.ก.ว.) ได้ช่วยกันร่างโครงการแก้ไขและทำความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจสำหรับกรุงสยามขึ้น

ไม่เปนความจริงเลยที่ยุโรปพูดกันว่าข้าพเจ้าศึกษาวิธีการของคอมมิวนิสตฺ หรือแม้เกี่ยวข้องกับราชการตำรวจฝรั่งเศสแต่อย่างใด”

และแล้ววันกลับสู่มาตุภูมิจากปารีสสู่กรุงเทพฯ ของนายปรีดีก็มาถึง หลังจากอยู่ที่ปารีสได้ราว 5 เดือนกว่ากระทั่งเมื่อทาง พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และระหว่างนี้เองที่นายปรีดีเริ่มเคลื่อนไหวโดยส่งบันทึกและกรณีการแก้ไขสมุดปกเหลืองซึ่งปรากฏข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์ดังต่อไปนี้

 

จดหมายของนายมังกร สามเสน เสนอให้เรียกตัวนายปรีดี พนมยงค์ กลับจากปารีส

 

ถนนนครไชยศรี เลขที่ ๑๕ พระนคร

                    วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

กราบเรียน เจ้าคุณนายกรัฐมนตรี ทราบ

ด้วยหลวงประดิษฐมนูธรรม ซึ่งรัฐบาลได้ส่งไปอยู่ปารีส เนื่องจากเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลขอให้เขาร่างขึ้นและคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องเค้าโครงการณ์นั้นน้อมไปในทางคอมมูนิตส์ จึงหยิบยกขึ้นเปนเหตุ ส่งหลวงประดิษฐฯ ไปเสียต่างประเทศ โดยรัฐบาลต้องออกเงินค่าใช้จ่ายหรือเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๑๑๐๐ บาทนั้น

เรื่องนี้มีคนหยิบยกขึ้นถกกันทุกวัน จนปรากฏขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับแล้ว เห็นว่าอาจจะเป็นเรื่องก่อความไม่สงบอีกก็ได้

เพื่อรักษาผลแห่งความสามัคคีของประชาชนให้กลมเกลียวกันและเพื่อความสงบ ข้าพเจ้าขอเสนอความเห็นดังนี้ หลวงประดิษฐฯ นั้น ในวันหนึ่งวันใดรัฐบาลจําต้องเรียกมาเพื่อชักฟอกหรือไต่สวนว่า เป็นคอมมูนิตส์ หรือมิใช่ และท่านก็ทราบอยู่ว่าเรื่องมันเกิดจากเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจและเกิดความเห็นแตกต่างกันในคณะกรรมาธิการและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ให้มีเอกสิทธิ์เด็ดขาด ผู้ใดจะนําไปเปนเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวมิได้ นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าหลวงประดิษฐฯ ได้เผยแผ่ลัทธิคอมมูนิตส์แก่ใครที่ไหน ด้วยเหตุนี้ท่านตั้งใจว่าจะให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชักฟอกให้ขาวเสียก่อนนั้น จะฟอกอย่างไร ๆ ก็คงไม่หนีจากตรวจพิจารณาเค้าโครงการณ์นั้นเอง และพวกผู้แทนหัวเมืองพอเห็นบทตั้งธนาคารแห่งชาติใช้หมุนเงินกันด้วยเช็ก ให้เงินเดือนราษฎรตั้งแต่ผลุดจากครรภ์มารดา จนเขาเฒ่าจนแก่ตาย และยังจะรับซื้อที่ดินจากราษฎรอีกด้วยดังนี้ พวกผู้แทนเหล่านั้นจะออกความเห็นทันทีทีเดียวว่า วิธีการของหลวงประดิษฐฯ วิเศษดี ไม่ใช่คอมมูนิตส์ เพราะมีร่างพระราชบัญญัติซึ่งต้องมีพระบรมนามาภิธัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วยจะเปนคอมมูนิตศ์อย่างไร ท่านตั้งใจจะฟอกให้ขาว ขาวแล้วมันจะกลับกลายเปนแดงไปทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างแน่ ๆ.

เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นว่าการเรียกหลวงประดิษฐฯ กลับนั้นควรจะแนะนําให้เปนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกกลับเพื่อให้หลวงประดิษฐฯ และราษฎรทั้งประเทศเห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อหลวงประดิษฐฯ กลับมาแล้ว ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับสนองพระบรมราโชวาท ดังนี้จะงามมาก ประชาชนจะซ้องสาธุการ จะบังเกิดความสามัคคีทั่ว ๆ ไป หลวงประดิษฐฯ จะรู้สํานึกในพระมหากรุณาธิคุณเปนล้นเกล้าฯ เปนแน่ ถ้าท่านเห็นชอบด้วย ขอให้นําความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว/.

                     ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
        (ลงนาม) นายมังกร สามเสน
                     สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

 

บันทึกเรื่องหลวงประดิษฐมนูธรรม

 

 

บันทึกเรื่องหลวงประดิษฐมนูธรรม

 

ด้วยหลวงประดิษฐมนูธรรม โทรเลขมาว่า ภรรยาป่วย เพราะไม่สามารถทนอากาศหนาวต่อไปได้ จะขอเดินทางมาส่งภรรยาที่สิงคโปร์รัฐบาลจะจัดข้องหรือไม่

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

“ว่าถ้าหลวงประดิษฐมนูธรรมยอมรับรองว่าจะเดินตามนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งสภาเศรษฐกิจจะวางมาแล้ว ก็ควรยอมให้กลับเข้ามาในประเทศสยามได้ทีเดียวถ้าไม่รับรองว่าจะเดินนโยบายร่วมกับรัฐบาลนี้ รัฐบาลก็จะไม่ดําริในเรื่องของหลวงประดิษฐ์ ถ้ายอมรับรองก็ให้ตอบรับมา และเมื่อตอบรับมาแล้ว ซึ่งค่อยนําความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระมหากรุณาให้เรียกกลับทางคณะรัฐมนตรี

ต่อมาสภาเศรษฐกิจขอให้วินิจฉัยว่าสภาเศรษฐกิจมีหน้าที่ราชการเพียงใด ฉะเพาะอย่างยิ่งว่าสภานั้นมีหน้าที่แต่เพียงศึกษาและรายงานในปัญหาซึ่งรัฐบาลสั่งให้พิจารณาเท่านั้นหรืออย่างใด

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ว่า

ข้อ ๑ สภาเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ปรึกษาและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจ ได้ไม่ว่าในปัญหาใด ๆ ทั้งที่ไปจากรัฐบาลและที่สมาชิกของสภาเสนอต่อประธานกรรมการและประธานกรรมาธิการให้

ข้อ ๒ ในขั้นนี้ให้รีบพิจารณาและเสนอความเห็นก่อนว่านโยบายของรัฐบาลเก่านั้น รัฐบาลนี้ควรรับเพียงใด ควรแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรหรือว่าไม่ควรรับเลยทั้งหมด หรือว่าควรวางนโยบายขึ้นใหม่เสียทีเดียว.

ข้อ ๓ เพื่อประกอบความดําริของสภาในข้อ ๒ จุดความมุ่งหมายของรัฐบาลนี้นั้นเป็นดั่งนี้

(๑) รักษาประโยชน์ของประชาชนทุกชั้นทุกเหล่า และสมานประโยชน์นั้นให้กลมกลืนกัน โดยให้ในชนทุกชั้นทุกเหล่าช่วยกันบํารุงเศรษฐกิจของชาติ

(๒) ให้ที่ดินของประเทศที่ยังว่างเปล่าอยู่มากเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจขึ้น

(๓) ให้ราษฎรมีช่องทางประกอบการเลี้ยงชีพโดยทั่วหน้ากัน

(๔) ให้คนไทยเลื่อมใสในการกสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชย์กรรม โดยวิธีที่รัฐบาลให้ความสะดวก ความช่วยเหลือ การฝึกฝน การควบคุม และการร่วมมือ ให้ผู้ประกอบการนั้น ๆ ได้รับผลเต็มที่ ๆ คนควรได้ และมีลู่ทางความหนักในหนี้สินที่มีอยู่ให้เบาบางลง

(๕) ให้สินค้าขาออกของประเทศมีมากขึ้นและมีปริมาณยิ่งขึ้น

(๖) ให้ฐานะการเป็นอยู่ของคนไทยเขยิบดีขึ้นเป็นขั้น ๆ เป็นลําดับไป

ข้อ ๔ ให้สภาเศรษฐกิจแนะนํารัฐบาลว่ากิจการใดบ้างที่รัฐบาลควรทําทันทีเพื่อจะแก้ความฝืดเคืองในบ้านเมืองของเราในเวลานี้ได้ เบาบางลงได้ (และมีคําแปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งสําเนาหมายอักษร ก.)

เมื่อคณะรัฐมนตรีได้วางนโยบายของสภาเศรษฐกิจดั่งกล่าวแล้ว ซึ่งได้ส่งโทรเลยไปยังหลวงประดิษฐมนูธรรม (ดั่งสำเนาอักษร ข.)

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้มีโทรเลขตอบรับมาว่า จะร่วมนโยบายกับรัฐบาลนี้ทั้งที่แจ้งไป (ทั้งสำเนาหมายอักษร ค.)

อนึ่งหลักนโยบายของสภาเศรษฐกิจนี้ได้นําไปหารือ นายแบกซเตอร์ที่ปรึกษาคลังฯ เห็นชอบด้วยแล้ว แต่หักคําว่าการควบคุม (control) ในข้อ ๓ (๔) ว่ายังไม่เหมาะเพราะเข้าใจว่ารัฐบาลจะเข้าไปควบคุมเสียทั้งหมด ควรเปลี่ยนเสีย

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้แก้การควบคุมและร่วมมือ เป็นการร่วมมือและการควบคุมเท่าที่จําเป็น และแก้คําแปลดังนี้ education,cooperation and control with a view to accuring them the full benefits of their interprises เป็น education and cooperation and any necessary control that their enterprises may be brought to full functional และนายแบกซเตอร์เห็นด้วย

และให้กราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติ คือ

(๑). ในเรื่องเรียกหลวงประดิษฐมนูธรรมกลับประเทศสยามโดยเหตุผลดั่งกล่าวแล้ว

(๒) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทั้งหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นรัฐมนตรีต่อไปด้วย.

The present government will not have recourse to compulsory recourse of land. labor as a means of economic semelparous.

 

 

จดหมายเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นายปรีดี พนมยงค์

 

                                                                                                  วันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

 

ขอประทานกราบเรียน ท่านนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มีนามข้างท้ายนี้มารู้สึกว่า การที่ใต้เท้าได้เข้าทําการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ศกนี้ ก็ด้วยเจตนาที่จะให้ชาติบ้านเมือง ไทยได้มีระบอบการปกครองที่ชอบด้วยเหตุผล และเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญสืบไป ไม่ใช่เศษกระดาษ นอกจากนั้นแล้วใต้เท้ายังมุ่งที่จะผดุงความยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ชาวสยามให้ยืนยงคงอยู่สมกับที่ได้ชื่อว่าเมืองไทย ไม่ใช่เมืองทาส พวกข้าพเจ้าทั้งหลายขออนุโมทนาการกระทําของใต้เท้าด้วยความรู้สึกอันเต็มขึ้นไปด้วยความกตัญญูกตเวที

บัดนี้ยังมีอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีพระคุณแก่ชาติบ้านเมืองอย่างมหันต์ โดยได้เป็นผู้นําแสงสว่างแห่งรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาสู่ประเทศสยาม และซึ่งเวลานี้ต้องถูกขับไล่ไสส่งไปอยู่ต่างประเทศโดยอํานาจอธรรมบุคคลผู้นี้คือ หลวงประดิษฐมนูธรรม

เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า รัฐบาลอันมีพระยามโนเป็นนายก ได้กล่าวหาว่าหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้คิดกําจัดเสียโดยทางเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศ ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นว่า ทั้งนี้เป็นการกล่าวหาข้างเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้เพื่อความชอบธรรมเลย ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่มีความเชื่อเลยว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะการกระทําทั้งหลายของหลวงประดิษฐมนูธรรม เท่าที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่ประชาชนแล้ว ล้วนแต่เป็นการเสียสละอย่างยิ่งยวด และจงรักภักดีต่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ฉะนั้นในนามของประชาชนชาวสยาม ข้าพเจ้าทั้งหลายขอร้องต่อใต้เท้าได้โปรดให้ความยุติธรรมแก่หลวงประดิษฐมนูธรรม โดยเรียกตัวเข้ามาทําประโยชน์ให้แก่ชาติประเทศสืบไปทันที ไม่บังควรจะรีรอต่อไปอีก หากจะมีการพิจารณากันเป็นสถานใด ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ยินดีจะฟังต่อไป เพราะจะได้ทราบกันเสียทีว่าใครเป็นผู้ผิดผู้ถูก แต่ที่จะทรมานหลวงประดิษฐมนูธรรมให้อยู่ต่างประเทศต่อไปนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นเป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างเอก และเป็นการเสียหายแก่พวกข้าพเจ้าทั้ง ทั้งหลายโดยเหตุที่ต้องเสียภาษีให้หลวงประดิษฐมนูธรรมไปอยู่ต่างประเทศเปล่า ๆ เขามักกล่าวกันว่า ความยุติธรรมในโลกนี้หาไม่ได้ พวกข้าพเจ้า ทั้งหลายหวังว่าใต้เท้าจะเป็นผู้แสดงให้โลกเห็นในครั้งนี้ว่า คํากล่าวนั้นยังไม่จริงนัก ความจริงความยุติธรรมในเมืองไทยยังคงมีอยู่ครบบริบูรณ์

 

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
นายฮับ ศรีอรุณและคณะ

 

 

จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระยาทรงสุรเดช วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2475

 

 

บ้านป้อมเพ็ชร์ พระนคร

วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

เรียน เจ้าคุณทรงสุรเดช ที่นับถือ

หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ได้มาแจ้งว่าใต้เท้ามีข้อตำหนิในโครงการเศรษฐกิจของผมอยู่ ๓ ประการ คือ

๑.ไม่ประสงค์ให้มีการบังคับซื้อที่ดิน คือประสงค์ให้ซื้อโดยสมัคร หรือโดยภาษีทางอ้อม

๒.ไม่ประสงค์บังคับให้คนมาเปนลูกจ้างของสหกรณ์หมด คือ ประสงค์ให้เป็นโดยสมัครใจ

๓. ประสงค์ให้ทําเป็นส่วน ๆ ตามกําลังของเราที่มีซึ่งจะทําได้

ข้อความเหล่านี้เป็นข้อความที่ผมได้ยอมผ่านและได้ชี้แจงไว้แล้ว ฉะนั้นเมื่อประสงค์จะใช้โครงการเศรษฐกิจที่ผมได้เสนอไว้ และแก้ข้อความ ๓ ประการนี้ผมก็ยอมรับและขอให้ได้ประกาศตามที่แก้ให้อยู่ในเท่านี้ เมื่อแก้แล้วเราจะได้ให้หลักการแก่สภาเศรษฐกิจแห่งชาติถูกเพื่อสภาจะได้ยกร่างโครงการ และวันหน้าจะกระจายไปในหลักอันเดียวกัน มิฉะนั้นจะต้องโต้เถียงหลักการกันเรื่อยไปทำให้การงานเดินไปไม่เรียบร้อย

 

                                                                       ขอใต้เท้าได้โปรดตอบให้ทราบด้วย
                                                                                       โดยนับถือ
                                                                                หลวงประดิษฐมนูธรรม

 

เมื่อหลวงประดิษฐยอมผ่อนผันนี้ก็เรียกว่าหลวงประดิษฐเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้ ขั้นแรกเมื่อเห็นแก่เค้าโครงการก็นึกสงสัยอยู่บ้าง แต่พอเห็นจดหมายนี้แล้วก็สิ้นสงสัย

                                                    โกมารกุล
                                                    ๓๑/๓

 

คําแถลงการณ์ เรื่องหลวงประดิษฐมนูธรรมรับรองว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลและแก้ไขร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ

 

คําแถลงการณ์ เรื่องหลวงประดิษฐมนูธรรม

 

โดยที่หลวงประดิษฐมนูธรรมรับรองว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในอันจะดําเนินการตามหลักนโยบาย ซึ่งรัฐบาลได้วางไว้แล้วในการโภคกิจ กล่าวคือ

๑. รักษาประโยชน์ของชนทุกชั้นทุกเหล่า และสมานประโยชน์นั้นให้กลมกลืนกัน โดยให้ชนทุกชั้นทุกเหล่าช่วยกันบํารุงเศรษฐกิจของชาติ

๒. ให้ที่ดินของประเทศที่ยังว่างเปล่าอยู่มากเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจขึ้น

๓. ให้ราษฎรมีช่องทางประกอบการเลี้ยงชีพโดยชอบทั่วหน้ากัน

๔. ให้คนไทยเลื่อมใสในการกสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม โดยวิธีที่รัฐบาลให้ความสะดวก ความช่วยเหลือ การฝึกฝน การร่วมมือและการควบคุม เท่าที่จําเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้น ๆ ได้รับผลเต็มที่ ๆ ตนควรได้ และมีลู่ทางผ่อนความหนักในหนี้สินที่มีอยู่ให้เบาบางลง

๕. ให้สินค้าขา-ออกของประเทศมีมากอย่าง และมีปริมาณยิ่งขึ้น

๖. ให้ฐานะการเป็นอยู่ของคนไทยเขยิบดีขึ้นเป็นขั้น ๆ เป็นลําดับไป

อนึ่งในการที่จะดําเนินการไปสู่จุดความมุ่งหมายข้างต้นนั้น รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีใด ๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดินและบังคับจ้างแรงงาน ดั่งนี้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐมนูธรรมกลับมารับราชการเป็นรัฐมนตรีสืบไป

หลวงประดิษฐมนูธรรมจะได้เดินทางโดยเรือ Hakone Maru ออกจาก มาเชลย์ ในวันที่ 9 เดือนนี้

กองการโฆษณา
วันที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

 

หลังจากการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหเสนาดังกล่าว ผนวกกับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งจดหมาย และบันทึกเพื่อยืนยันเจตจำนงในการแก้ไขสมุดปกเหลืองข้างต้นส่งผลให้นายปรีดีเดินทางกลับมาสยามอย่างสง่างามพร้อมกับเรือลำเดียวกันกับที่เดินทางไปสู่ปารีส และปรากฏข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเอิกเกริกหลายฉบับ อาทิ

“วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2476 ณ ท่าเรือมาแซลส์ เรือเดินสมุทรฮาโคนีมารู ได้พาปรีดี และพูนศุข พนมยงค์ เดินทางจากฝรั่งเศสกลับสู่สยาม โดยแล่นฝ่าคลื่นลมมาประมาณ 20 วัน จึงได้มาจอดเทียบท่าเรือสิงคโปร์เพื่อแวะถ่ายเรือแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2476

ก่อนที่จะเดินทางออกจากเมืองมาแซลล์ ประเทศฝรั่งเศส  ปรีดี ได้โทรเลขแจ้งถึงการเดินทางมาให้รัฐบาลทราบ รัฐบาลจึงได้จัดคณะผู้แทนไปต้อนรับปรีดี  และพูนศุข ที่สิงคโปร์คณะหนึ่ง โดยมีหลวงเสรีเริงฤทธิ์  เป็นหัวหน้าคณะและตัวแทนรัฐบาลสยาม

ปรีดี ได้พักรอเรือที่จะเข้ากรุงเทพฯ อยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน พอถึงวันที่ 25 กันยายน จึงได้ลงเรือชื่อว่า โกล่า เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อันเป็นเรือลำเดียวกับที่นำปรีดี ออกจากปารีสไปสู่กรุงเทพฯ หลังจากรอนแรมในเรือโกล่า มา 3 วัน 3 คืน เรือจากสิงคโปร์ก็เข้าสู่อ่าวไทยผ่านสันดอนเจ้าพระยาเมื่อเช้าของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ณ ปากน้ำเจ้าพระยา…”

 

ภาพวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับสู่สยาม 

เมื่อถึงฝั่งที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหมได้มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลสยามเดินทางมารอต้อนรับนายปรีดีกับภรรยาแล้วให้ขึ้นรถยนต์มุ่งสู่วังปารุสกวันที่มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและมีนักเรียนกฎหมายอีกราว 400 คน รอเข้าพบสนทนากับนายปรีดีโดยโดยบทสนทนาสำคัญในครั้งนั้นคือ ยืนยันสัจจะเพื่อรักษารัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงถาวร

 


กรุงเทพวารศัพท์ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

ในเดือนถัดมา-ตุลาคม พ.ศ. 2476 นายปรีดีก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีร่วมในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และมีการขอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ โดยผลการพิจารณาปรากฏว่าคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

 

 

ที่มาของภาพ: 

  • สถาบันปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพวารศัพท์ 4-5 ตุลาคม พ.ศ. 2476 และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 1-4
  • ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่  1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 7.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 วันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1518-1536.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 วันที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 630-631.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี ม.-(2) สร. 0201/335 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. (15 สิงหาคม 2476-13 กรกฎาคม 2496)

 

หนังสือพิมพ์ :

  • กรุงเทพวารศัพท์, 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476
  • กรุงเทพวารศัพท์, 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476
  • ศรีกรุง, 11 เมษายน  พ.ศ. 2476
  • ศรีกรุง, 13 เมษายน พ.ศ. 2476
  • หลักเมือง, 13 เมษายน พ.ศ. 2476

 

หนังสือภาษาไทย :

  • ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์),  (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526)
  • สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516)

 

วิทยานิพนธ์ :

  • ชวลิต ทรงกิตติ, “การต่อสู้ทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2475-2490),” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, (12 เมษายน พ.ศ. 2564), ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๖. https://pridi.or.th/th/content/2021/04/666, เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, (29 กันยายน 2566), 29 กันยายน 2476 เมื่อปรีดี พนมยงค์เดินทางหวนคืนมาถึงเมืองไทยภายหลังการถูกเนรเทศ. https://pridi.or.th/th/content/2023/09/1696, เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567.