ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

12
เมษายน
2565

1 ปี ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม แม้จะไม่มีการลั่นกระสุนสักนัดแต่ก็ใช่ว่าการเมืองภายในจะราบรื่น ความขัดแย้งของรัฐบาลใหม่ที่เกิดจากการประนีประนอมกันนั้นค่อยก่อตัวจากคลื่นใต้น้ำจนปะทุเด่นชัดจากนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างนโยบายของฝ่าย ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ และ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ของ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’[1] ที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะทำให้สยามเป็นเอกราชทางด้านเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎรที่เป็นฐานรากของสังคม เช่น ชาวนา และเกษตรกร แต่ได้เกิดกระแสโจมตีเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ เป็นการภายในว่าเป็นนโยบายแบบคอมมิวนิสต์ หรือ โซเชียลลิสต์

จนท้ายที่สุดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต่อมามีการเผยแพร่พระบรมราชวินิจฉัยฯ หรือ สมุดปกขาว ราว 3,000 เล่ม และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ขึ้น ภายหลังการรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476[2] จึงเป็นเหตุให้เข้าใจกันทั่วไปว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ มีรูปแบบเป็นคอมมิวนิสต์[3] แล้วนำไปสู่การลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476

 

คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เสนอต่อสภาฯ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475
คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ที่เสนอต่อสภาฯ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476

 

จากกรุงเทพฯ สู่ปารีสของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

การลี้ภัยครั้งแรกของ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ถือเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของฝ่ายคณะราษฎรท่านแรกๆ และรัฐบาลสยามมีการออกหนังสือเดินทางรับรองตัวหลวงประดิษฐ์ฯ ต่อรัฐบาลทั่วโลกครั้งแรก โดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสังเกตว่าข้อความในหนังสือรับรองการเดินทางครั้งนี้ ระบุว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางไปเพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

 

“รัฐบาลสยาม รับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่อรัฐบาลทั่วโลก

รัฐบาลขอรับรองว่า ผู้ถือเอกสารนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สัญชาติไทยเดิมเป็นข้าราชการของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองสามัญผู้หนึ่ง เพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับความเอื้อเฟื้อและความสะดวกทุกอย่างตามอัธยาศัย จะขอบคุณ

(ลงนาม) พระยาศรีวิสารวาจา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ 10 เมษายน 2476”
[4]

 

เนื่องจากการลี้ภัยครั้งนี้ ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงไว้มากนัก จึงน่าสนใจอย่างยิ่งที่พบว่ามีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้รายงานการลี้ภัยครั้งนี้ไว้อย่างละเอียด หลังจากที่ทราบข่าวแน่ชัดหลังจากที่พระยามโนฯ ได้เชิญหลวงประดิษฐ์ฯ ไปพบที่วังปารุสกวัน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2476 เช่น หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้พาดหัวข่าวและเขียนเล่าเหตุการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ฝรั่งเศสด้วยความจำเป็น อันเป็นกฎสูงสุดของมนุษย์”

“...เดิมหลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะไปญี่ปุ่นแต่ทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไปฝรั่งเศสสมควรกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จึงยอมไปฝรั่งเศส เวลานี้ได้เตรียมการเดินทางไว้พร้อมมูล ภรรยาท่านก็ไปด้วย แต่บุตรน้อยๆ ยังไม่นำไปเพราะเกรงจะลำบาก ต่อเมื่อได้ไปอยู่ที่ไหนแน่นอนแล้วจึงค่อยไปรับภายหลัง ท่านตั้งใจจะไปอยู่นอกปารีสเพราะไม่ชอบความเริงรมย์อย่างปัจจุบัน ชอบแต่จะดูตำหรับตำราเท่านั้น…”

ชีวิตในยามถูกเนรเทศของหลวงประดิษฐ์ฯ ในห้วงเวลา 5 เดือนกว่า นอกจากจะ “ดูตำรา” แล้วยังชอบไปหอสมุดปารีส ดังที่ท่านเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476 สอดรับกับหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ข้างต้นว่า

“ข้อมุ่งแรกทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าต้องการพักผ่อน แต่ความจริงทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาเปนอันมากหมกอยู่ในหอสมุดแห่งปารีส เพื่อศึกษาประวัติการความเจริญในทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในยุโรปต่างๆ สมัย

เท่าที่ข้าพเจ้าได้มาจากการค้นคว้าศึกษาครั้งนี้อาจจะใช้เปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้าและเพื่อนฝูง (น่าจะหมายถึงพระสารสาสน์พลขันธ์ด้วยผู้หนึ่งผู้ใช้นามปากกา ๕๕๕-บ.ก.ว.) ได้ช่วยกันร่างโครงการแก้ไขและทำความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจสำหรับกรุงสยามขึ้น

ไม่เปนความจริงเลยที่ยุโรปพูดกันว่าข้าพเจ้าศึกษาวิธีการของคอมมิวนิสตฺ หรือแม้เกี่ยวข้องกับราชการตำรวจฝรั่งเศสแต่อย่างใด”[5]

 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476
หนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

ขณะที่บรรยากาศของวันเดินทางนั้น ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้เขียนเล่าไว้อย่างละเอียด

“ประชาชนที่หลั่งไหลไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ท่าเรือบีไอในวันนี้ มีไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคน ในจำนวนนี้มีบุคคลชั้นรัฐมนตรีหลายท่าน เช่นพระยาพหลฯ พระยามานวราชเสวี หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม หลวงเดชสหกรณ์ พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ…ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหลายสิบคน…”

หนังสือพิมพ์หลักเมือง ยังสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างหลวงประดิษฐ์ฯ และพระยาพหลฯ ไว้ด้วยว่า

“เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่หลวงประดิษฐ์ และกอดจูบอย่างอาลัยรัก…ต่อจากนั้น บรรดา…เพื่อนฝูง และลูกศิษย์ลูกหาทั้งทหารบกและทหารเรือ และพลเรือนต่างก็เข้าสัมผัสมือกับหลวงประดิษฐ์ฯ  เมื่อหมดพิธีแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเดินขึ้นบันไดเรือ…ครั้นแล้วเสียงไชโยก็ดังกึกก้องเมื่อเรือได้เคลื่อนที่ออกจากท่ามุ่งออกสู่ทะเลลึกไปสิงคโปร์”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุง  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2476 ลงรายละเอียดมากกว่าหนังสือพิมพ์หลักเมือง ในแง่ของจำนวนราษฎรที่ไปส่งหลวงประดิษฐ์ฯ ว่ามีนับพันคน

“พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จูบลากัน คนส่งนับพันใจหายถึงกับร้องไห้

รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือง ตำรวจ พ่อค้า คหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณรไทย นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้น ทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็ก ประมาณ 3,000 คน ไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ด้วยน้ำตาไหลพรากไปตามๆ  กัน เป็นส่วนมาก

เสียงไชโยก้องกังสดาลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออก ลับตาไป”

ภาพของถนนเจริญกรุง ตรงท่าเรือบีไอ เวลา 15.00 น. ใน วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 จึงมีรถยนต์จอดสองข้างถนนยาวยืดและบางแห่งถึงกับจอดซ้อนกัน จนแทบจะกั้นถนนไม่ให้มีทางสาธารณะ เพราะว่าราษฎรเดินทางไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และภรรยา พูนศุข พนมยงค์

 

จากปารีส สู่กรุงเทพฯ

วันกลับสู่มาตุภูมิจากปารีสสู่กรุงเทพฯ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาถึง หลังจากลี้ภัยได้ราวเดือนกว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476[6]  หลวงประดิษฐ์ฯ จึงได้เดินทางกลับมายังสยามอย่างสง่างามพร้อมกับเรือลำเดียวกันกับที่ได้ใช้เดินทางไปสู่ปารีส

จากบันทึกและหนังสือพิมพ์[7] ได้เล่าเหตุการณ์นี้ไว้อย่างมีชีวิตชีวา ว่า

“วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2476 ณ ท่าเรือมาแซลส์ เรือเดินสมุทรฮาโคนีมารู ได้พาปรีดี และพูนศุข พนมยงค์ เดินทางจากฝรั่งเศสกลับสู่สยาม โดยแล่นฝ่าคลื่นลมมาประมาณ 20 วัน จึงได้มาจอดเทียบท่าเรือสิงคโปร์เพื่อแวะถ่ายเรือแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2476 

ก่อนที่จะเดินทางออกจากเมืองมาแซลล์ ประเทศฝรั่งเศส  ปรีดี ได้โทรเลขแจ้งถึงการเดินทางมาให้รัฐบาลทราบ รัฐบาลจึงได้จัดคณะผู้แทนไปต้อนรับปรีดี  และพูนศุข ที่สิงคโปร์คณะหนึ่ง โดยมีหลวงเสรีเริงฤทธิ์  เป็นหัวหน้าคณะและตัวแทนรัฐบาลสยาม

ปรีดี ได้พักรอเรือที่จะเข้ากรุงเทพฯ อยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน พอถึงวันที่ 25 กันยายน จึงได้ลงเรือชื่อว่า โกล่า เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อันเป็นเรือลำเดียวกับที่นำปรีดี ออกจากปารีสไปสู่กรุงเทพฯ หลังจากรอนแรมในเรือโกล่า มา 3 วัน 3 คืน เรือจากสิงคโปร์ก็เข้าสู่อ่าวไทยผ่านสันดอนเจ้าพระยาเมื่อเช้าของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ณ ปากน้ำเจ้าพระยา…”

เมื่อถึงฝั่งที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหม ได้มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม มารอต้อนรับหลวงประดิษฐ์ฯ และภรรยานอกจากนี้ยังมีประชาชน และลูกศิษย์บางคน ตลอดจนสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มหนึ่งได้มาคอยรับอีกด้วย แล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ได้ขึ้นรถยนต์ออกจากวังบางขุนพรหมมุ่งไปสู่วังปารุสกวัน ซึ่งมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รอคอยอยู่ และยังมีนักเรียนกฎหมายอีกราว 400 คน ที่ได้เข้าไปพบสนทนากับหลวงประดิษฐ์ฯ ที่มีใจความปราศรัยน่าประทับใจระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งมีปณิธานตรงกันคือต้องการจะ “รักษารัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงถาวร”

 

กรุงเทพวารศัพท์ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476
กรุงเทพวารศัพท์ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

เพียง 2 วันหลังจากกลับมาสยาม หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นี่คือเกมการเมืองของสยามที่พลิกผันอย่างเข้มข้นในระยะ 1 ปี ภายหลังการอภิวัฒน์ ผ่านชีวิตการลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

ที่มาของภาพ: กรุงเทพวารศัพท์ 4-5 ตุลาคม พ.ศ. 2476, หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 1-4
  • ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่  1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 7.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 วันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1518-1536.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 วันที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 630-631.

หนังสือพิมพ์ :

  • กรุงเทพวารศัพท์, 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476
  • กรุงเทพวารศัพท์, 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476
  • ศรีกรุง, 11 เมษายน  พ.ศ. 2476
  • ศรีกรุง, 13 เมษายน พ.ศ. 2476
  • หลักเมือง, 13 เมษายน พ.ศ. 2476

หนังสือภาษาไทย :

  • ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์),  (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526)
  • สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน เผชิญวิกฤติทางการเมือง, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516)
  • สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516)

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • ณัฐพล ใจจริง, “ วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ และพระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ”, ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 6, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์), น. 1-22.

วิทยานิพนธ์ :

  • ชวลิต ทรงกิตติ, “การต่อสู้ทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2475-2490),” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)
  • วีณา มโนพิโมกษ์, “ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร,” (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, (12 เมษายน พ.ศ. 2564), ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๖. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/04/666
  • พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, (14 มิถุนายน พ.ศ. 2563), ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรที่มีผลต่อหนังสือพิมพ์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/303

[1] บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์ ณ ขณะนั้น

[2] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 1-4, ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่  1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 7.

[3] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543), น. 281-286.

[4] สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516), น. 22.

[5] สะกดตามต้นฉบับหนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476, หน้า 32.

[6] เหตุการณ์วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โปรดดูเพิ่มเติมที่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)

[7] สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516), น. 3-5.