ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

29 กันยายน 2476 เมื่อปรีดี พนมยงค์เดินทางหวนคืนมาถึงเมืองไทยภายหลังการถูกเนรเทศ

29
กันยายน
2566

Focus

  • เมื่อ 90 ปีที่แล้ว คือวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางกลับเมืองไทย หลังจากต้องเดินทางไปอยู่ฝรั่งเศสเมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 เพราะร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2475 ถูกโจมตีว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ และด้วยเหตุที่ต่อมาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ร่วมกันออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476
  • ในการหวนคืนเมืองไทยหลังจากกลับใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่งในฝรั่งเศส 5 เดือนเศษ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกศิษย์ โดยมีข้อสังเกตว่าลูกศิษย์และคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยดูเหมือนไม่ได้เข้าใจว่านายปรีดี พนมยงค์ ออกไปต่างประเทศอย่างผู้ถูกเนรเทศด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  แต่กลับเข้าใจว่าเขาเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานและศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ
  • พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังจากเข้ายึดอำนาจคืนจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ในช่วงที่นายปรีดี พนมยงค์ ยังอยู่ในฝรั่งเศส) ได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ผลการพิจารณาปรากฏว่าคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหา มติดังกล่าวได้สร้างความสง่างามให้กับนายปรีดี พนมยงค์ และยืนยันถึงการครองบทบาทสำคัญในคณะราษฎรของนายปรีดี พนมยงค์

 

29 กันยายน พ.ศ. 2476 นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้หวนคืนกลับมายังเมืองไทย หลังจากเขาต้องตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศสยามพร้อมภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นการลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรกสุดของชีวิต สืบเนื่องมาจากการที่ นายปรีดี นำเสนอ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476) จนส่งผลให้เขาถูกกล่าวหาโจมตีว่าแนวคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ครั้นวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดใหม่ก็ร่วมกันออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476” ด้วยแรงกดดันหนักหน่วงในคณะรัฐบาล ทำให้อีกสิบวันถัดมา นายปรีดี ต้องเดินทางออกนอกประเทศสยามเมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2476
ภายหลังวิกฤตในการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ

นายปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2476

ภายหลัง นายปรีดี ลี้ภัยในต่างประเทศได้ราวหนึ่งเดือนกว่า ล่วงถึงวันอังคารที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา เข้ายึดอำนาจของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

แม้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี จะรับทราบข่าวคราวว่ารัฐบาลชุดเดิมสูญสิ้นอำนาจจากทางเมืองไทย แต่เขาไม่แสดงความกระตือรือร้นที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอนในทันทีทันใด เพราะยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ แต่ก็เขียนจดหมายส่งมาถามเพื่อนพ้อง ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ ฝ่ายพลเรือนต้องการให้ นายปรีดี กลับมาโดยเร็วเพื่อเข้าร่วมบริหารประเทศ แต่มีเพื่อนส่วนหนึ่งยังไม่อยากให้รีบกลับเพราะห่วงใย เกรงว่าข้อกล่าวหาให้เป็นคอมมิวนิสต์ที่ยังมิได้รับการพิสูจน์ จะถูกยกมาเป็นเครื่องมือเล่นงาน นายปรีดี ควรรั้งรอให้สถานการณ์แจ่มใสกว่านี้จึงค่อยกลับเพื่อความปลอดภัย

หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสไม่กล้าออกหนังสือรับรองให้ นายปรีดี เดินทางกลับมายังเมืองไทย แต่ก็แจ้งความเรื่องที่ นายปรีดี เองปรารถนาจะกลับประเทศมาทางกรุงเทพมหานคร

คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เสนอต่อสภาฯ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475

คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่เสนอต่อสภาฯ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476

ช่วงเวลาอันไม่แน่ใจว่าควรหวนกลับคืนมาตุภูมิหรือไม่ นายปรีดี ได้วางแผนจะเดินทางไปเยือนประเทศสเปน หากยังมิทันจะได้ไปตามใจหวัง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็โทรเลขมาเรียกตัว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้กลับเมืองไทย ดังนั้น นายปรีดี และภริยาจึงออกเดินทางจากฝรั่งเศสในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2476 ก่อนจะมาโดยสารเรือเดินสมุทรฮาโคนีมารู ณ ท่าเทียบเรือที่เมืองมาร์กเซย (Marseille) ก็โทรเลขแจ้งถึงการเดินทางมาให้รัฐบาลสยามทราบ

ฮาโคนีมารูแล่นฝ่าคลื่นลมกลางมหาสมุทรมาได้ประมาณ 20 วัน ก็จอดเทียบท่าเรือสิงคโปร์ ที่นั่นรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้จัดคณะผู้แทนรัฐบาลไปต้อนรับ นายปรีดี และภริยา โดย หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะ พักรอเปลี่ยนถ่ายเรืออยู่สิงคโปร์อีกสองวัน พอวันที่ 25 กันยายน ทั้ง นายปรีดี ภริยา และคณะผู้แทนรัฐบาลได้โดยสารเรือโกลาเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร โดยแล่นเข้าสู่อ่าวไทยมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเช้าของวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ก้าวขึ้นฝั่งก็พบว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แทนรัฐบาลสยามมารอต้อนรับ ต่อจากนั้นก็ลงเรือยามฝั่งของราชนาวีไทยล่องมาที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหม ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มหนึ่ง ลูกศิษย์บางคน และประชาชนมาคอยต้อนรับ ก่อนที่ นายปรีดี และภริยาจะขึ้นรถยนต์แล่นออกจากวังบางขุนพรหมมุ่งหน้าสู่วังปารุสกวันเพื่อไปเข้าพบ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ได้รายงานข่าวและนำเสนอบรรยากาศการหวนกลับคืนมาถึงเมืองไทยของ นายปรีดี เมื่อเช้าวันที่ 29 กันยายน ไว้อย่างเปี่ยมชีวิตชีวา เฉกเช่นฉบับหนึ่งให้รายละเอียดว่า

 

“ท่านปรีดีฯ ได้พักรอเรือที่จะเข้ากรุงเทพฯ อยู่ ณ สิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน พอถึงวันที่ 25 กันยายน ท่านปรีดีฯ พร้อมด้วยศรีภรรยาและคณะผู้แทนรัฐบาลที่ออกไปต้อนรับ จึงได้ลงเรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเรือที่ชื่อว่า “โกลา” อันเป็นเรือลำเดียวกันกับที่นำท่านออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ 12 เมษายน 2476 ซึ่งเป็นเวลาห่างกัน 5 เดือนกับ 13 วัน

เรือโกลาได้พาท่านปรีดีฯ และคณะฟันฝ่าคลื่นลมรอนแรมมาในท้องทะเล 3 วัน 3 คืน จากสิงคโปร์เข้าสู่อ่าวไทยและผ่านสันดอนเจ้าพระยาเมื่อเช้าของวันที่ 29 กันยายน และ ณ ปากน้ำเจ้าพระยานั่นเอง ได้มีเรือยามฝั่งของราชนาวีไทยที่รัฐบาลจัดส่งไปต้อนรับรอคอยอยู่ โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนร่วมตายคนหนึ่งของท่านเป็นผู้แทนรัฐบาลออกไปต้อนรับ

ท่านปรีดีฯ และคณะ ได้เปลี่ยนจากเรือโกลาเป็นเรือยามฝั่งของราชนาวีไทย ณ ที่นั้น ทั้งท่านปรีดีฯ และหลวงธำรงฯ ต่างแสดงความปีติยินดีที่ได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ท่านปรีดีฯ ได้กล่าวขอบคุณหลวงธำรงฯ และสหายร่วมตายของท่านทุกๆ คน ที่ยึดมั่นอยู่กับอุดมคติของคณะราษฎรและฟันฝ่าอุปสรรคจนท่านได้กลับมาสู่มาตุภูมิอีกวาระหนึ่ง

เรือยามฝั่งของราชนาวีไทยลำนั้นได้แล่นฝ่าระลอกคลื่นเล็กๆ เข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว และทิ้งห่างเรือโกลาไว้เบื้องหลังออกไปทุกที เมื่อเข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยาแล้ว จึงได้ชะลอความเร็วลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นอันอาจไปทำความเสียหายให้กับเรือเล็กๆ ที่สัญจรไปมาในลำน้ำเจ้าพระยา

ท้องน้ำเจ้าพระยาในเช้าวันนี้ ก็คงราบเรียบเหมือนกับในเย็นวันที่ท่านเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อ 12 เมษายน เรือแพนาวาคงล่องลอยขึ้นลงตามปกติ บ้านเรือนและละเมาะป่าเล็กๆ บางแห่งทั้งสองฝั่งคลองยังไม่มีมีอะไรเปลี่ยนแปลง ปล่องโรงสีไฟก็คงยังมีควันดำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเช่นเดิม จะผิดกันก็แต่ว่าวันนั้นดวงอาทิตย์คล้อยหัวไปมากแล้วและต่ำลงๆ อันเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าความมืดกำลังจะคืบคลานมา แต่ในวันนี้ 29 กันยายน ท้องฟ้ากำลังแจ่มใส ดวงอาทิตย์เพิ่งจะเริ่มทอแสง และทอแสงกล้ายิ่งขึ้นๆ อันเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าวันใหม่ได้เริ่มต้นแล้ว เหมือนกับชีวิตทางการเมืองของท่านปรีดีฯ เพื่อแก่การรับใช้ชาติและราษฎรทั้งหลายที่ได้เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งแล้วเช่นกัน

ในที่สุดการเดินทางของเรือยามฝั่งลำนั้น ได้มาสิ้นสุดลงที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหมอันโอฬารของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความดูแลของรัฐบาลแล้ว โดยกรมพระนครสวรรค์อดีตเจ้าของวังบางขุนพรหมได้เสด็จไปประทับอยู่ในต่างประเทศ

และที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหม ประชาชนและลูกศิษย์ลูกหาบางคน ตลอดจนมิตรสหายในคณะผู้ก่อการกลุ่มหนึ่งได้ไปคอยต้อนรับอยู่ที่นั่นอย่างกะทันหัน ด้วยพึ่งจะทราบการมาถึงของท่านปรีดีฯ อย่างกระชั้นชิด ประชาชนจึงไม่ได้หลามไหลไปที่นั่นอย่างมากมายเหมือนกับวันที่ไปส่ง แต่กระนั้นเสียงไชโยของผู้ไปรับก็ได้ก้องกังวานไปทั่วบริเวณนั้นทันทีที่ท่านปรีดีฯ ได้ก้าวลงสู่ท่าน้ำ ท่านปรีดีฯ ได้ยกมือขึ้นพนมรับเสียงไชโยด้วยหัวใจตื้นตัน ท่านได้พูดกับตัวเองว่า

“เราจะรับใช้ชาติและราษฎรด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ครั้นแล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับก็ได้นำท่านขึ้นรถยนต์ออกจากวังบางขุนพรหมไปสู่วังปารุสกวัน และ ณ ที่นั้นท่านเจ้าคุณนายก พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รอคอยการมาของท่านอยู่แล้ว”

 

ที่วังปารุสก์ เมื่อ พระยาพหลพลพยุหเสนา พบกับ นายปรีดี ก็สวมกอดทันที ดังหนังสือพิมพ์สะท้อนว่า

 

“ทันทีที่ท่านทั้งสองเผชิญหน้ากัน ท่านเจ้าคุณนายกก็ได้ตรงเข้ามาสวมกอดด้วยความปลื้มปีติอย่างสุดซึ้ง น้ำตาของท่านทั้งสองไหลเอ่อเป็นเกล็ดมาคลออยู่ที่เบ้าตาด้วยความดีใจ อากัปกิริยาของท่านเจ้าคุณนายกที่แสดงต่อท่านปรีดีฯ ในวันนี้ก็เช่นเดียวกับที่ท่านแสดงในวันไปส่งเมื่อ 12 เมษายน จะผิดกันก็แต่ว่าในวันนั้นท่านเจ้าคุณนายกสวมกอดท่านปรีดีฯ ด้วยความอาลัยอาวรณ์ และน้ำตาคลอเบ้าด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ทั้งสองท่านได้สนทนาปราศรัยถามข่าวสุขทุกข์ต่อกันในท่ามกลางคณะผู้ก่อการคนสำคัญๆ ”

 

ในอาณาบริเวณวังปารุสกวัน ยังมีคณะนักเรียนกฎหมายอีกประมาณ 400 คนพากันไปแสดงความยินดีต้อนรับ นายปรีดี ผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งผู้ที่นำเหล่าคณะนักเรียนกฎหมายผ่านเข้ามาก็คือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

นายบุณยรักษ์ เจริญชัย ในฐานะผู้นำคณะนักเรียนกฎหมายได้เป็นตัวแทนเพื่อนพ้องกล่าวคำต้อนรับนายปรีดี ความว่า

 

“ท่านอาจารย์ที่เคารพและรักใคร่, ในโอกาสที่ท่านอาจารย์นิวัติจากการไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ และเพื่อจะได้ร่วมมือกับรัฐบาล ในอันที่จะดำเนินกิจการงานของชาตินำสยามประเทศให้ขึ้นสู่ระดับแหล่งอารยะฐานะคราวนี้ คณะนักเรียนกฎหมายอันเป็นหน่วยหนึ่งแห่งประชาชาติสยาม มีความปลื้มปีติเป็นที่ยิ่งและยินดีที่ได้เห็นท่านอาจารย์และภริยาได้กลับมาโดยสวัสดีพร้อมด้วยความสุขสำราญ ในท่ามกลางแห่งความนิยมชมชื่นแซ่ซ้องสาธุการของมหาชนชาวสยามผู้รักชาติทั้งหลาย

ด้วยน้ำใสใจจริงแต่เดิม คณะนักเรียนกฎหมายมีความหวังว่า จะมีโอกาสได้ไปต้อนรับท่านอาจารย์ ณ สถานีรถไฟหรือท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่ง สุดแต่การมาของท่านอาจารย์ แต่ครั้นแล้วสภาพและโอกาสไม่เปิดช่องให้เหล่าคณะนักเรียนกฎหมายทำได้ตามที่มุ่งหวังไว้ กระนั้นก็ดี คณะนักเรียนกฎหมายยังจะตัดใจระงับความปีติยินดีอันมีระดับสูงสุดนี้ลงเสียมิได้

คณะนักเรียนกฎหมายย่อมทราบดีว่า ท่านอาจารย์และภริยาคงมีความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไม่น้อย และการมาแสดงความยินดีทั้งนี้คณะนักเรียนกฎหมายรู้สึกว่าคงจะเป็นการรบกวนท่านอาจารย์เป็นอันมาก แม้กระนั้นคณะนักเรียนกฎหมายก็ยังมีความหวังว่า คงจะไม่มากเกินไปที่อาจารย์จักให้อภัย

ในโอกาสอันประเสริฐนี้ คณะนักเรียนกฎหมายขออวยพรให้ท่านอาจารย์และครอบครัวจงมีความเจริญและความเกษมสุขสำราญยิ่งขึ้นไป ตราบเท่ากัลปาวสานเทอญ

อนึ่งพวกเราเหล่านักเรียนกฎหมายทั้งหลายขอปฏิญาณต่อหน้าท่านอาจารย์ผู้ให้กำเนิดแก่รัฐธรรมนูญผู้หนึ่งว่า จะช่วยรักษารัฐธรรมนูญของประเทศให้ยืนยงถาวร และถ้าหากมีผู้ใดมาละเมิดจะยอมเสียสละเลือดเนื้อทุกหยาด เพื่อรักษารัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราไว้”

 

สิ้นเสียงของนายบุณยรักษ์ คณะนักเรียนกฎหมายก็โห่ร้องไชโยขึ้น 3 ครั้ง ต่อจากนั้น นายปรีดี กล่าวตอบว่า

 

“ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีมาก ในการที่เหล่าลูกศิษย์พร้อมใจกันมาต้อนรับในคราวนี้ รู้สึกปลาบปลื้มในข้อที่ว่า พวกนักเรียนกฎหมายทั้งหมดได้ปฏิญาณต่อหน้าข้าพเจ้าว่า จะช่วยกันรักษารัฐธรรมนูญของประเทศไว้ให้มั่นคงถาวร มิให้ผู้ใดละเมิดได้เลย ตัวข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่เสียแรงเปล่าที่เคยเป็นอาจารย์มา ขอให้เหล่านักเรียนกฎหมายจงรักษาคำปฏิญาณที่ว่า จะรักษารัฐธรรมนูญให้มั่นคง ขอให้จงหมั่นเล่าเรียน และขอให้สอบไล่ได้เพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ และช่วยกันจรรโลงสยามให้เจริญถาวรสืบไป”

 

พอสิ้นเสียงของนายปรีดี คณะนักเรียนกฎหมายก็โห่ร้องไชโยขึ้นอีกคำรบ จะเห็นได้เลยว่า นายปรีดี ยึดมั่นปณิธานที่เน้นให้ทุกคนมุ่งมั่นทำผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติมากกว่าเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน นั่นคือบรรยากาศในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางหวนคืนมาถึงเมืองไทยภายหลังการถูกเนรเทศ ผู้นำคณะนักเรียนกฎหมายนามนายบุณยรักษ์ เจริญชัย ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่น่าสนใจ

 

นายบุณยรักษ์ เจริญชัย ผู้นำคณะนักเรียนกฎหมายกล่าวต้อนรับนายปรีดี พนมยงค์

นายบุณยรักษ์ เจริญชัย เขาเป็นบุตรชายของขุนอนุการสกลรัฐ (กาทอน เจริญไชย) กับนางกาไวย ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ขณะบิดาดำรงตำแหน่งปลัดซ้ายที่นั่น มีศักดิ์เป็นน้องชายของ หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญไชย ปริวรรตวร) ผู้เคยเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครและผู้ว่าราชการหลายจังหวัด

นายบุณยรักษ์ เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาในอำเภอสว่างแดนดิน แล้วไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลในตัวเมืองสกลนครเพียงหนึ่งปี ก่อนจะย้ายไปโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล อันเป็นโรงเรียนประจำมณฑลอุดร ครั้นสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2469 ก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โดยพักอยู่กับพี่ชายคือนายจันทร์ จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8

นายบุณยรักษ์ มีความใฝ่ฝันที่จะสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ตระหนักว่าภาษาอังกฤษของตนเองไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 ใหม่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ดังเขาเคยบอกเล่าผ่านข้อเขียน “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้จากโรงเรียนอัสสัมชัญ” ใน อุโฆษสาร 2512-2513 ว่า

 

“ข้าพเจ้าเป็นนักเรียน 1 ใน 3 คน ที่สำเร็จมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนรัฐบาล แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญในปี พ.ศ. 2473 โดยลดลงไปเรียนมัธยมปีที่ 7

ที่เราตัดสินใจมาเรียนต่อนี้ มีความประสงค์อย่างเดียว คือ ต้องการรู้ภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น เพื่อใช้เป็นทุนในการศึกษาชั้นสูงและประกอบอาชีพในอนาคต

ในสมัยนั้น อัสสัมชัญได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษเก่ง ผู้ที่สำเร็จไปสามารถหางานตามบริษัทห้างร้านฝรั่งได้ง่าย ส่วนโรงเรียนรัฐบาลนั้น อัสสัมชนิกยอมยกให้ว่าสอนวิชาคำนวณและภาษาไทยสูงกว่า

ข้าพเจ้าเก่งคำนวณ แต่ภาษาอังกฤษปานกลาง เรขาคณิตและพีชคณิตที่อัสสัมชัญจึงง่ายสำหรับข้าพเจ้า เช้าๆ ก่อนเข้าเรียน เพื่อนร่วมห้องหลายคนจะยืมสมุดการบ้านวิชานี้ของข้าพเจ้า เพื่อคัดลอกเป็นประจำ

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมีเวลามากสำหรับท่องบ่นและหัดเขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะเป็นวิชาภาษาอังกฤษ มีเรียงความ ไวยากรณ์ โดยเฉพาะแล้ว ยังมีวิชาอื่นๆ ที่ สอนและเรียนเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย

เมื่อเริ่มเรียนชั้นปีที่ 7 นั้น จำได้ว่า การบ้านเรียงความภาษาอังกฤษ ของข้าพเจ้าถูกครูแก้ กลับมาตัวแดง ทุกบรรทัด แต่ทั้งนี้หาทำให้ข้าพเจ้าท้อแท้ใจไม่ ตรงกันข้าม กลับทำให้มุมานะยิ่งขึ้น โดยหมั่นท่องบทเรียน และริอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษ เพื่อความคล่องในการพูดและเขียน

แม้กระนั้นก็ดี ผลของการสอบไล่ในปลายปี พ.ศ. 2473 ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของข้าพเจ้านัก เพราะได้เพียงที่ 5 ในจำนวนนักเรียน 30 กว่าคนเท่านั้น

ขึ้นชั้น 8 ในปีต่อมา ข้าพเจ้าไม่ลดละความพยายามจนเขียนและพูดได้ดีขึ้น แต่งเอสเสได้ไม่น้อยกว่าครั้งละ 10 หน้ากระดาษสมุด โดยแทบจะไม่มีตัวแดงแก้ของครูเลย

ปีนี้ข้าพเจ้าสอบประจำเดือนผลัดกันได้ที่ 1 - 2 - 3 กับเพื่อนที่เรียนเก่ง ในปลายปีข้าพเจ้าสอบได้ที่ 1 โดยเฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายในการมาเรียนต่อที่อัสสัมชัญ

ฉะนั้น สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าได้จากสถานศึกษาแห่งนี้ จึงได้แก่ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาอันแรงกล้าของข้าพเจ้า ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่าถึง 2 ปี ปล่อยให้นักเรียนรุ่นเดียวกันจากโรงเรียนรัฐบาล สำเร็จวิชากฎหมายไปก่อน

ภาษาอังกฤษที่ข้าพเจ้าได้มานี้ ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ข้าพเจ้าสอบแข่งขัน ชิงทุนรัฐบาลไป เรียนต่อในต่างประเทศได้ที่ 1 ในหลายแขนงวิชา และได้เป็นรากฐานในการดำเนินอาชีพทางการทูตในกาลต่อมา

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้มาจากอัสสัมชัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเว้นที่จะกล่าวถึงมิได้ ได้แก่ ความมีระเบียบเรียบร้อย

ครูประจำชั้นห้อง 7 ใน พ.ศ. 2473 นั้น คือ บราเดอร์ซิมิออง ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนองคุณตามสมควรเป็นผู้ที่กวดขัน เอาใจใส่ในความสะอาด ความมีระเบียบเรียบร้อย ของ นักเรียนใน ความดูแล ของท่าน เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าครูคนอื่นจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ แต่ก็อยากจะเชื่อว่าครูหรือบราเดอร์ในสมัยนั้น ได้รับการอบรมในทางครุศาสตร์มาในระดับเดียวกัน

บราเดอร์ซิมิอองของข้าพเจ้านั้น ตรวจการบ้านด้วยความละเอียดและเรียบร้อย ขีดฆ่าและแก้ด้วยหมึกสีแดงเป็นระเบียบ ไม่เลอะเทอะ ท่านไม่ได้แก้เฉพาะตัวผิดสะกดการันต์หรือไวยากรณ์เท่านั้น ยังตำหนิการเขียนหวัดเกินไป การขีดฆ่าขูดลบ หรือแม้หมึกหยดแม้แต่เล็กน้อย บางครั้งบราเดอร์ จะเขียนตรงขอบสมุดบนเส้น ที่หมึกยอดเพียงคำ “What !” ก็ทำให้เราได้อายและเตือนสติให้รู้จักระมัดระวังในคราวต่อไป

การกวดขันของครูนี้ ได้ก่อให้เกิดนิสัยความมีระเบียบสะอาด ถี่ถ้วน และสุขุม ทำให้นักเรียนต้องคิดวางโครงรูปและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนที่จะเขียนอะไรลงไปบนหน้ากระดาษ

ข้าพเจ้าเพาะนิสัยนี้สำเร็จได้ในเวลาไม่นาน เพราะหน้าสมุดเอกเซอร์ไซส์ของข้าพเจ้า ไม่ใคร่จะปรากฏเครื่องหมายตกใจอีกเลย และมันก็เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาขั้นสูง และการทำราชการของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือเป็นหลักว่า การทำงานที่ดีนั้น จะทำให้ได้รวดเร็วอย่างเดียวเท่านั้น หาเป็นการเพียงพอไม่ แต่จะต้องทำด้วยความเรียบร้อยอีกด้วย

สิ่งที่สามที่ได้มาอีกอย่างหนึ่ง คือ ความจำ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นที่จะช่วยให้การศึกษาสำเร็จด้วยดี และทำงานได้รวดเร็ว วินิจฉัยได้แม่นยำ

สมัยเมื่ออยู่โรงเรียนรัฐบาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าตนเอง มีความจำเป็นอยู่ในขั้นดีพอใช้ แต่โดยที่การเรียนมิได้ใช้วิธีท่องขึ้นใจเท่าใดนัก จึงรู้สึกว่าความอยู่ในระดับคงที่ ไม่เจริญขึ้น

แต่การเรียนที่อัสสัมชัญต้องมีการท่องจำบทเรียนมาก จะมีการบ้านให้ท่องไม่เว้นวัน แต่ละวัน วันละประมาณ หน้ากระดาษ ตอนเข้ามาอยู่โรงเรียนนี้ใหม่ๆ ข้าพเจ้าท่องจำได้ด้วยความยากเย็นที่สุด ต้องอ่านด้วยเสียงดังๆ หลายต่อหลายครั้ง จึงจะจำได้

ต่อมา ด้วยการท่องบ่อยๆ รู้สึกว่าจำได้ดีขึ้น อ่านไม่กี่เที่ยวก็พอจำได้ จนในที่สุดในระยะไม่ถึงปี ความจำเจริญเข้าขั้นดีมาก คือ แม้บางครั้งข้าพเจ้าไม่ได้ท่องจากบ้าน มาท่องเอาที่โรงเรียน หรือระหว่างยืนแถวจะเข้าห้องเรียน ก็สามารถที่จะเข้าไปยืนกอดอกท่องให้ครูฟังได้โดยไม่ผิด

อัสสัมชนิกรุ่นเดียวกันคงจำได้ว่า เราต้องท่องศัพท์และวลีหนังสือ “English Idioms and How to Use Them” โดย McMaordle and Goffin มาก เพียงใด ความรู้ซึ่งได้จากหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์จนบัดนี้

ความจำที่ได้มานี้ บัดนี้รู้สึกว่าจะเสื่อมถอยไป ซึ่งก็ควรถือเป็นของธรรมดา อาจเป็นเพราะข้าพเจ้ามีอายุมากแล้ว หรือขาดการฝึกฝนเช่นในวัยการศึกษาก็ได้ แต่กระนั้น เพื่อนร่วมงานชั้นลูกศิษย์และอายุน้อยกว่าบางคน ก็ยังรับว่า ข้าพเจ้ายังจำได้ดีกว่าเขาเสียอีก ทั้งนี้ถ้าเป็นการกล่าวด้วยความจริงใจ และไม่ประจบ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมานี้ ข้าพเจ้าจินตนาการเห็นว่า อันความจำของมนุษย์เรานั้น เป็นสิ่งที่จะฝึกฝนพัฒนาเอาได้ ผู้มีสมองเป็นปกติโดยกำเนิดย่อมมีความจำไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนัก แต่ถ้าผู้ใดได้ฝึกฝน ผู้นั้นจะมีความจำดีขึ้น เหมือนดังต้นไม้ที่ได้รับการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำ จะงอกงามขึ้นฉันนั้น

ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตอีกอย่าง คือ การจำนั้น อาจจะจำได้ทั้งทางหู ทางตา และทางสัมผัส แต่บางคนก็จะจำได้ดีเฉพาะทางใดทางหนึ่ง เช่น นักดนตรีจะจำได้ด้วยหู และมือสัมผัส นักพิมพ์ดีดจำได้ด้วยนิ้วสัมผัสแต่อย่างเดียว แต่จิตรกรจะจำด้วยตาเป็นสำคัญ

สำหรับข้าพเจ้านั้นจำด้วยตาได้ดีกว่าอย่างอื่น เวลาครูพูดมักจ้องดูที่ปาก จนครั้งหนึ่งบราเดอร์ต้องถามว่าจะจ้องดูหน้าท่านไปทำไม เวลาที่ข้าพเจ้าอ่านเอง เห็นตัวหนังสือแล้วก็จะจะได้ดีกว่าเมื่อผู้อื่นอ่านให้ฟัง ข้าพเจ้าจะจำตัวหนังสือ แถว วรรคตอน บางครั้ง จะขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญ หรือย่อหัวข้อควรจำไว้ขอบๆ หน้ากระดาษ เมื่อหลับตานึกแล้ว ข้าพเจ้าจึงมีวิธีเรียนหนังสือตามลักษณะ ความจำของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าเชื่อว่า คุณสมบัติหรือวุฒิที่กล่าวมาข้างต้นนี้เราทั้งหลายอาจจะขวนขวายหามาได้ ดังที่ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์มาแล้ว อย่างไรก็ดี เพื่อความสำเร็จ เราจะต้องมีคุณสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งจะขาดเสียมิได้ นั่น คือ วิริยะอุตสาหะ หรือความเพียรพยายามดังสุภาษิตว่า มีความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น เพราะความรู้อาจเรียนทันกันหมด”

 

นายบุณยรักษ์ สำเร็จจากโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยสอบได้เป็นอันดับที่หนึ่ง จากนั้น เข้าเรียนต่อในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จึงไม่แปลกถ้าเขาจะได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นายปรีดี ได้เข้าไปครองบทบาทการร่วมบริหารบ้านเมืองในฐานะมันสมองของคณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์ หากต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กลับต้องเดินทางระหกระเหินไปพำนักอยู่ในฝรั่งเศสด้วยแรงกดดันทางการเมือง ครั้นเมื่อ “อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ ” หวนคืนกลับมา บรรดาลูกศิษย์แห่งโรงเรียนกฎหมายจำนวนหลายร้อยคนจึงพากันไปต้อนรับอย่างอบอุ่น นายบุณยรักษ์ก็เป็นคนหนึ่ง อีกทั้งเขายังเป็นหัวหน้าคณะนักเรียนกฎหมายด้วย

ลองพิจารณาจากหลักฐานยุคสมัยนั้นแล้ว น่าใคร่ครวญขบคิดว่า ความรับรู้ของบรรดาลูกศิษย์และคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องราวที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ดูเหมือนจะไม่ได้เข้าใจว่าเป็นการที่นายปรีดี ถูกเนรเทศเพราะถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่กลับเข้าใจกันว่า นายปรีดี เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานและศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ

ในปี พ.ศ. 2477 เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับการสถาปนาขึ้น นายบุณยรักษ์ จึงโอนมาเรียนด้านกฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จนสำเร็จปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกสุด (จำนวนทั้งสิ้น 18 คน) โดยสอบได้เป็นลำดับที่สองและได้รับพระราชทานเสื้อครุย ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2478 หนุ่มชาวสกลนครผู้นี้ก็ทำตามความฝันให้เป็นจริง เขาสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปเรียนต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งยังสอบได้เป็นอันดับที่หนึ่ง ร่ำลือกันว่า นายบุณยรักษ์เป็นชาวอีสานคนแรกที่ทำได้เช่นนี้

27 มิถุนายน 2477 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สมเด็จฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จเป็นประธานในพิธีฯ

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสทั้งทางด้านกฎหมายมหาชนและเศรษฐศาสตร์แล้ว นายบุณยรักษ์ ก็กลับมาเมืองไทยแล้วเข้ารับราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองสัญญา กรมการเมืองตะวันออก พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ร่วมกับอาจารย์หนุ่มๆ คนอื่นๆ ที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศสเช่นกันอย่าง ถนัด คอมันตร์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล และ ขุน ศรียาภัย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย นายบุณยรักษ์ ซึ่งตอนนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น บุณย์ ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยปฏิบัติงานใต้ดินในสายงานที่นายทวี ตะเวทิกุล เป็นหัวหน้า นายบุณย์ จึงมีความใกล้ชิดกับนายทวี รวมถึงทำภารกิจร่วมกับ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ นายแผน วรรณเมธี และ นายเดือน บุนนาค เป็นต้น

ต้นทศวรรษ 2490 นายบุณย์ ได้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ในทวีปยุโรปทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งห้วงเวลานั้น นายปรีดีต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน

ภาพเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

นายบุณย์ ยังมีความแน่นแฟ้นกับนายดิเรก ชัยนาม ช่วงปลายปี พ.ศ. 2490 หลังเกิดรัฐประหารซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน นายดิเรกขณะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน มีความคิดที่จะลาออก โดยเอ่ยปากกับ หม่อมหลวงปุ๋ย นพวงศ์ ภริยา และชายอีกสองคนที่แวะไปเยี่ยมและรับประทานอาหารด้วย คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ บุณย์ เจริญไชย แต่ นายป๋วย ทักท้วงว่าไม่ควรลาออก

ในปี พ.ศ. 2495 นายบุณย์ กลับมาทำงานประจำกรมสนธิสัญญา กระทั่งได้เลื่อนขึ้นรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญา และไปประจำสำนักงานปลัดกระทรวงรวมถึงกรมประมวลราชการแผ่นดิน จากนั้นช่วงปี พ.ศ. 2500 ได้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำอินเดีย พ่วงด้วยอัครราชทูตประจำอัฟกานิสถานและศรีลังกา

หลังจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และต่อมาพอ จอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเองภายหลังทำรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 หลวงวิจิตรวาทการ ได้แนะนำให้ดึงตัวเอกอัครราชทูตหลายรายมาเป็นรัฐมนตรี โดย นายบุณย์ ถูกเรียกตัวจากอินเดียให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นชาวอีสานเพียงคนเดียวที่ จอมพลสฤษดิ์ ไว้วางใจให้มาเป็นรัฐมนตรี

จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ ขณะคุยกับนักศึกษาบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ช่วงเวลาที่เกิดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก ก่อนเข้าสู่เหตุการณ์รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

ครั้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์หมดสิ้นอำนาจเมื่อปลายปี พ.ศ. 2506 และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นมาบริหารบ้านเมืองแทน ล่วงเข้าปี พ.ศ. 2507 นายบุณย์ จึงกลับไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอีกหน โดยไปประจำที่ประเทศฝรั่งเศส และต่อมาก็ไปประจำที่ประเทศโปรตุเกส ก่อนจะลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2512

อีกบทบาทหนึ่งอันน่าฉงนใจไม่น้อยของ นายบุณย์ คือการเป็นผู้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะการเอาชนะด้วยการทำสงครามจิตวิทยา อันที่จริง เขาแสดงออกมาตั้งแต่ครั้งที่เป็นรองอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดิน ซึ่งมี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดี ดังในปี พ.ศ. 2498 เขาได้สนับสนุนให้มีการนำเอาศิลปะพื้นบ้านแต่ละภาคมาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดอุดมการณ์เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นลิเกหรือหมอลำ ยิ่งพอมาเป็นรัฐมนตรีชาวอีสานในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็ยิ่งได้แสดงออกถึงการต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ นายบุณย์ ยังได้โฆษณาชวนเชื่อเรื่องราวทำนองที่ว่า “คอมมิวนิสต์เอาคนไถนา”

วกย้อนไปในปี พ.ศ. 2476 หลังจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี กลับมาถึงเมืองไทยในวันที่ 29 กันยายน ถัดมาไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “รัฐมนตรีลอย” มิได้สังกัดกระทรวงใด แต่เริ่มแว่วยินข่าวเนืองๆ ว่า นายปรีดี อาจจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การกลับมาของ นายปรีดี แม้จะสร้างความปีติยินดีให้กับคนจำนวนมาก แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปรารถนาให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับมาอีกเลย อยากให้อยู่ต่างประเทศไปตลอด เพราะมองเป็นคู่แข่ง ไสว สุทธิพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด นายปรีดี เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

 

“ส่วนอีกพวกหนึ่งที่ไม่ต้องการให้กลับนั้น เป็นการไม่ต้องการให้กลับตลอดไป ทั้งนี้เพราะกันท่า ดร.ปรีดีฯ เพราะเขาถือว่า ดร.ปรีดีฯ เป็นคู่แข่งขันกับตนในทางการงาน และถ้า ดร.ปรีดีฯ กลับมาเมืองไทยและเข้าบริหารแล้ว ความปรีชาสามารถของ ดร.ปรีดีฯ จะเป็นสิ่งที่กีดกันการแสวงหาอำนาจของเขา ซึ่งความข้อนี้สำหรับผู้ที่มีจิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาโดยไม่คำนึงถึงอุดมคติและประโยชน์ของชาติแล้วเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างมาก...”

 

ขณะที่ นายปรีดี กลับตรงกันข้าม เพราะไม่เคยคิดจะแข่งขันแก่งแย่งชิงดีกับใครทั้งนั้น เจตนารมณ์สำคัญคือการอุทิศตนในการกระทำสิ่งต่างๆ นานาเพื่อบ้านเมืองและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาราษฎร

อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจอย่างยิ่งยวดต่อการกลับมาของ นายปรีดี ย่อมมิพ้นกลุ่มอำนาจศักดินา จนนำไปสู่เหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งคณะผู้ก่อการนำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช ยกเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างหลักเลยทีเดียว

ใบประกาศจับผู้ก่อการจลาจลในเหตุการณ์กบฏบวรเดช
ที่มา : มติชน

ครั้นรัฐบาลสามารถปราบปรามกบฏได้เรียบร้อยแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี จึงต้องการให้ นายปรีดี หลุดพ้นข้อครหาเรื่องเป็นคอมมิวนิสต์ จึงให้ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ในวันที่ 25 ธันวาคม โดยคณะกรรมาธิการเลือกให้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธานการสอบสวน พระยาศรีสังกร เป็นกรรมาธิการ และ พระยานลราชสุวัจน์ เป็นเลขาธิการ พร้อมขอให้ผู้เชี่ยวชาญอีกสองราย ได้แก่ เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ (Sir Robert Holland) ชาวอังกฤษ และ ร. กียอง (Monsieur R. Guyon) ชาวฝรั่งเศส วางบทวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของคอมมิวนิสต์เพื่อนำมาพิจารณาการตอบข้อคิดเห็นของนายปรีดี

ท้ายที่สุด คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายปรีดี ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 พอปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อ่าน(สำเนา) รายงาน คณะกรรมาธิการสอบสวนว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่?

ภายหลัง นายปรีดี พ้นมลทิน พระยาพหลฯ กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2 วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477) มีความว่า

“เรื่องที่หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องหานี้ ที่จริงข้าพเจ้ารักษาความเป็นกลางไว้ ข้าพเจ้ารู้ดีในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากจะแสดงออกไปให้มหาชนว่า ข้าพเจ้าเข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือข้าพเจ้ามีใจเอนเอียงไปทางนั้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงปิดเนื้อความเอาไว้ในใจให้เป็นไปในทางที่บริสุทธิ์ ดีที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความยุติธรรมหนีความยุติธรรมไม่พ้น ความยุติธรรมต้องเป็นความยุติธรรม

เพราะฉะนั้นจะต้องกระจ่างแจ้งออกมาให้แลเห็นชัดในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะรู้เต็มใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ขยายให้แลเห็นให้ฟัง นี่ท่านจะแลเห็นได้ว่าเมื่อวันหลวงประดิษฐ์ฯ ไปจากพระนคร ในเวลาที่ลงเรือ ข้าพเจ้าไปส่ง ข้าพเจ้าได้แสดงกิริยาอะไร หนังสือพิมพ์ก็ลงแล้ว ทำไมข้าพเจ้าจึงกล้าแสดงกิริยาอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้เต็มใจว่าไม่เป็นไปดังนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้าทำ ถ้าว่าจะมีใครมาฆ่าข้าพเจ้าตาย ข้าพเจ้าก็ยอมตาย คือแสดงให้เห็นจริงใจว่าคนดีๆ แล้วก็เป็นไปเสียอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ข้าพเจ้าจึงกล้าทำ กล้ายอมให้พร่าชีวิตของข้าพเจ้าแล้วก็แสดงให้คนเห็นว่า ได้เข้าไปจูบกอดอะไรกันในที่นั้น ทำไมถึงกล้าทำเช่นนั้น ที่ทำเช่นนั้นเขาจะหาว่าข้าพเจ้าเป็นพวกเสียอีกคนหนึ่งข้าพเจ้าก็ยอม ความยุติธรรมต้องมีต้องแลเห็น เพราะฉะนั้นจึงกล้าทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้เป็นประมุขรู้สึกว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งมีคนถามว่าที่ทำดังนั้นไม่กลัวหรือ แต่เพราะเหตุที่ว่าคนไม่ผิดและคนดีๆ แท้ๆ แต่ทว่าพูดไม่ออกเพราะไม่รู้จะเอาอะไรแสดงให้แลเห็นว่า คนดีถูกกล่าวหา ถูกเอาดินหม้อทาหน้า

เพราะฉะนั้นข้าพเจ้านิ่งไว้จนให้มหาชนแลเห็นให้ขาว แต่ว่านั่นแหละ เรื่องอย่างนี้ข้าพเจ้ากับหลวงประดิษฐ์ฯ ทีหลัง บอกว่านี่คุณหลวงมีความรู้ดี แต่คุณหลวงขาดความชำนาญในเรื่อง รู้จักมักคุ้นนิสัยของพวกเราในข้าราชการยังไม่ดีแท้ แต่หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนมีความรู้ แต่หาได้เคยชำนิชำนาญ เช่นกับเรื่องที่จะไปในทางการเมืองก็ดี คนทำราชการก็ดี จึงได้พลาดท่าลงนอนหงายทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ข้าพเจ้าชี้แจงให้ท่านเห็นเสียวันนี้ โดยที่ว่าคณะกรรมาธิการลงความเห็นบริสุทธิ์แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้แสดงมา ข้าพเจ้าไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ได้เข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯ แต่ว่าเมื่อสามารถแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องเปิดเผย”

ความข้างต้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า พระยาพหลพลพยุหเสนา มีความเข้าอกเข้าใจและรู้สึกว่า นายปรีดี ถูกเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่แรก จึงไม่แปลกเลยที่มหาชนจะเห็นภาพซึ่ง พระยาพหลฯ แสดงออกต่อ นายปรีดี ในวันต้องเดินทางออกนอกประเทศเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ดังหนังสือพิมพ์หลายฉบับเขียนรายงานว่า “เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่หลวงประดิษฐ์ และกอดจูบอย่างอาลัยรัก” หรือ “...พระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็จูบลากันกลมไปก็กลมมาราว 5 นาที” อีกทั้งเมื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กลับมาถึงเมืองไทยแล้วเข้าพบที่วังปารุสกวัน “ท่านเจ้าคุณนายกก็ได้ตรงเข้ามาสวมกอดด้วยความปลื้มปีติอย่างสุดซึ้ง น้ำตาของท่านทั้งสองไหลเอ่อเป็นเกล็ดมาคลออยู่ที่เบ้าตาด้วยความดีใจ...”

การหวนคืนจากฝรั่งเศสมาถึงเมืองไทยของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 ภายหลังถูกเนรเทศไปด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องอำลาบ้านเกิดเมืองนอนไปนานถึง 5 เดือนกว่า แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่จนทำให้เขาย้อนกลับมาได้อย่างสง่างาม มีคนมาต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และยืนยันเด่นชัดถึงความเป็นบุคคลผู้ครองบทบาทสำคัญในคณะราษฎรของ นายปรีดี พนมยงค์ อันยากที่จะปฏิเสธ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ดาวอีสาน. (เมษายน 2528).
  2. นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก. สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยตีพิมพ์ชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว., อ.ป.ร. 1 ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2510. พระนคร: โรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2510.
  3. บัญชา สุมา. การเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์กับนโยบายป้องกันและปราบปราม ของรัฐบาล (พ.ศ.2500-2523). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
  4. บุณย์ เจริญไชย. “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้จากโรงเรียนอัสสัมชัญ.” อุโฆษสาร ๒๕๑๒-๒๕๑๓. หน้า 135 – 138.
  5. ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 76 ตอนที่ 23 (13 กุมภาพันธ์ 2502). หน้า 1-3.
  6. ปรีดี พนมยงค์. เค้าโครงการเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552.
  7. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปริวรรตวรวิจิตร ท.ช., ท.ม. (จันทร์ เจริญไชย ปริวรรตวร) ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2522. กรุงเทพฯ: ประชารมย์, 2522
  8. วารุณี โอสถารมย์ (บรรณาธิการ). ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่มหนึ่ง (พ.ศ. 2481-2485). กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554.
  9. วัลยา. (12 เมษายน 2565). “การลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม,” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE.
  10. วิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม 1. คณะรัฐมนตรี พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เล่ม 1 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2505. พระนคร: รัชดารมภ์การพิมพ์, 2505.
  11. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The Free Thai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2546.
  12. ศรีกรุง. (13 เมษายน พ.ศ. 2476).
  13. สุพจน์ ด่านตระกูล. ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ . กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516.
  14. สุพจน์ ด่านตระกูล. ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน เผชิญวิกฤติทางการเมือง. กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516.
  15. ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.