ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง : 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน

4
มีนาคม
2564

 

ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง : 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน

 

ภายหลังเหตุการณ์ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 สิ้นสุดลง ได้เกิดการเริ่มต้นของปฏิบัติการกวาดล้างและจับกุมคณะผู้ก่อการฯ ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งได้ตั้งกองบัญชาการปราบปรามขึ้นที่วังปารุสกวัน ปฏิบัติการการกวาดล้างได้เริ่มต้นขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 เป้าหมายคือ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตนายทหารเรือ

ร.ต.อ. อรรณพ พุกประยูร ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกไปยังบ้านของ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข และได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมโดยอ้างว่า พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ทำการต่อสู้และขัดขืนขณะจับกุม แต่ลักษณะของศพที่ปรากฏนั้นคือนอนเสียชีวิตอยู่ที่หน้าตู้กระจกแต่งตัว โดยมือข้างหนึ่งยังคงกำมีดโกนแน่น ซึ่งในเวลาต่อมาศพนั้นก็มิได้ผ่านกระบวนการการชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนจากแพทย์ในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

นอกจากกระทำการสังหารอย่างโหดเหี้ยมแล้ว พนักงานสอบสวนยังได้ใช้วิธีการข่มขู่ผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ดังกรณีของ พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต ที่ให้การในชั้นศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า พ.ต.ต. ประชา บูรณธนิต บังคับขู่เข็ญให้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น ยิงตัวตาย และกินยาตาย จากความกดดันที่ได้รับในขณะนั้นพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต จึงตัดสินใจที่จะกินยาตาย โดยที่ พ.ต.ต. ประชา บูรณธนิต ได้ผสมยาพิษลงไปในกาแฟ พร้อมทั้งได้บังคับให้พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เขียนจดหมายลาบุตรและภรรยาด้วย แต่ยังไม่ทันที่พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต จะกินยาพิษที่ผสมอยู่ในถ้วยกาแฟ ก็ปรากฏว่าได้รับการขัดขวางจาก พ.ต.ต. ศิริ คชหิรัญ

 

ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ร่วมคณะกับพระยาพหลฯ  กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  หลวงธำรงนาวาสวัดิ์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ร่วมคณะกับพระยาพหลฯ  กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  หลวงธำรงนาวาสวัดิ์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

 

เหยื่ออีก 4 ราย ซึ่งมิได้เข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยฯ แต่กลับถูกจับกุมและสังหารโหดอย่างทารุณด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ คือ 4 อดีตรัฐมนตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และ ทองเปลว ชลภูมิ

อ่าน: ประวัติคร่าวๆ และบทบาททางการเมืองของ 4 อดีตรัฐมนตรี ได้ที่ “ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน 4+1 กับการเมือง

ครั้นถึงคืนวันที่ 3 ต่อเนื่องวันที่ 4 มีนาคม 2492 พล.ต.ต. หลวงพิชิตธุระการ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ผู้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนพิเศษเกี่ยวกับคดีกบฏ ได้ให้เบิกตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จากที่คุมขังทั้ง 4 แห่ง พาออกจากกลางพระนครอ้างว่าจะพาไปโรงพักบางเขนที่ถนนพหลโยธินใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี (ภาพจาก เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี)
คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี
(ภาพจาก เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี)

 

จากนั้น เมื่อไปถึงบริเวณถนนพหลโยธิน กม. 14-15 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลวงพิชิตธุระการได้บอกให้ผู้ตายทั้ง 4 คนลงจากรถ โดยพูดว่า รถคันหน้าถูกยิง แต่ไม่มีใครยอมลง และได้มีคนหนึ่งในพวกผู้ตายได้พูดขอชีวิต แต่หลวงพิชิตธุระการกลับพูดคะยั้นคะยอจะให้ลงจากรถให้ได้  ทั้งได้พูดรับรองว่า ลงจากรถจะเป็นการปลอดภัย ถ้าหากอยู่ในรถจะไม่ปลอดภัยแต่ผู้ตายก็คงไม่มีใครยอมลงจากรถ

“ขณะนั้นจำเลยที่ 1 (พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต) ได้พูดถึงว่า ‘อ้ายพวกนี้ กบฏแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม’ แล้วจำเลยที่ 2 (พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล) ก็พูดว่า ‘อ้ายพวกนี้เป็นกบฏ เอาไว้ทำไม’ ต่อจากนั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้เรียกร้องชื่อจำเลยที่ 5 (สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์)  จำเลยที่ 5 ได้วิ่งเข้ามาทางข้างหลังหลวงพิชิตธุระการ  หลวงพิชิตธุระการเดินหลบออกไป ทั้งได้ตะโกนบอกให้ นายร้อยตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ หลบออกไปด้วย แล้วจำเลยที่ 5 ได้ประทับปืนยิงผู้ตาย 1 ชุด และข้างจำเลยที่ 5 นั้น ยังมีจำเลยที่ 3 (ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย) และที่ 4 (ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี) ยืนอยู่ในท่าเตรียมยิงเหมือนกัน ต่อจากนั้นยังมีการยิงผู้ตายอีก 2-3 ชุด”

ดูเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีภายหลังหมดยุคของอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์  สำหรับ หลวงพิชิตธุระการ ไม่ตกเป็นจำเลย เพราะเสียชีวิตไปก่อน ส่วน พุฒ บูรณสมภพ หลบหนีไปต่างประเทศ[1]

ศาลฎีกาสรุปข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นนักการเมืองทางฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ทั้งเป็นบุคคลสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว  ได้มีการกบฏขึ้นในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะติดๆ กัน ถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเพราะพรรคพวกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อขึ้น และมีรายงานว่าผู้ตายได้ร่วมในการกบฏ จึงมีเหตุเพ่งเล็งถึงผู้ตายว่าได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้ตายก็ถูกจับกุมในระยะเวลาใกล้ชิดนั้น และถูกแยกย้ายควบคุมไว้ในสถานที่ต่างๆ กัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง ไม่มีเหตุที่จะต้องย้ายไปทำการควบคุมที่อื่นรวมกันไว้ทั้ง 4 คน”

 

‘พาหนะสื่อมฤตยู’ จิ๊ปสเตชั่นเวกอนของตำรวจสันติบาล หมายเลข ก.ท. 10371 ที่นำ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปพบจุดจบที่ทุ่งบางเขน ภาพจาก เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี
‘พาหนะสื่อมฤตยู’ จิ๊ปสเตชั่นเวกอนของตำรวจสันติบาล หมายเลข ก.ท. 10371
ที่นำ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปพบจุดจบที่ทุ่งบางเขน
ภาพจาก เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี

 

และข้ออ้างของฝ่ายตำรวจที่ว่ามีโจรมลายูมาชิงตัวนั้น ศาลก็ไม่เห็นด้วย ดังเหตุผลที่ว่า “ถ้ามีผู้ร้ายมาดักแย่งชิง ย่อมจะมีการต่อสู้ขัดขวางบ้าง ตรงที่เกิดเหตุสองข้างถนนมีต้นไม้ปลูกไว้ห่างๆ พ้นออกไปเป็นที่โล่งไม่มีที่กำบังหรือสิ่งพรางสายตาที่คนร้ายจะเข้ามาซุ่มยิงได้ ปรากฏว่าผู้ที่ถูกกระสุนปืน คงมีแต่ผู้ตายรวม 4 คนเท่านั้น ผู้อื่นที่ไปด้วยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บด้วยกระสุนปืนเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่มีรอยกระสุนปืนยิงทะลุเข้ามาทางประตูด้านขวา … และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมไปในขบวนนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้เห็นคนร้ายเลย”

สำหรับเหตุผลในการฆาตกรรมครั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า “การกระทำของจำเลยผู้กระทำความผิดเหล่านี้ พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ”

น่าเสียดายที่ในเวลาที่มีการพิจารณาคดีนี้ หลวงพิชิตธุระการถึงแก่กรรมไปเสียก่อน จึงไม่อาจทราบเหตุผลจากปากของนายตำรวจหัวหน้าชุดซึ่งลงมือฆ่าได้ แต่จะมีเหตุผลใดเล่าที่ฟังขึ้น หรือ อนุญาตให้ตำรวจลงมือเข่นฆ่าประชาชนเพียงเพราะเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้นเอง

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการกระทำครั้งนี้ “น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะรัฐประหารมุ่งจะดำเนินการเพื่อปราบปรามกลุ่มการเมืองกลุ่มเสรีไทยให้ขยาด ไม่ก่อการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอีกต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้ว อดีตรัฐมนตรี 4 คน ไม่ได้เข้าร่วมก่อการกบฏครั้งนี้เลย”[2]

การฆาตกรรมสังหารนี้นำโดยหัวหน้ากองปราบปราม หลวงพิชิตธุระการ ซึ่งเคยได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เมื่อเวลา 11.00 วันที่ 5 มีนาคม 2492 ว่า

“การย้ายผู้ต้องหาทั้ง 4 ไปบางเขนนี้ เป็นคำสั่งของ พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ผู้ช่วยผู้อำนายการสอบสวน ในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 เนื่องจากสถานีตำรวจบางเขนมีความปลอดภัยกว่า โดยมีรถจี๊ปของ พ.ต.อ. หลวงพิชิตธุระการ นำหน้าด้วยรถสเตชั่นแวก้อนบรรทุกผู้ต้องหา และตามด้วยรถชนิดเดียวกันอีก 1 คัน บรรทุกตำรวจจำนวน 15 นาย มีตำรวจชั้นหัวหน้าคือ พ.ต.ต. ลั่นทม จิตรวิมล, ร.ต.อ. ผาด ตุงคะสมิต, ร.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ, ร.ต.ท. บุญสม ประไพ เมื่อรถวิ่งมาเกือบถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีชายฉกรรจ์แต่งตัวสีกากีสวมหมวกแบบมลายูระดมยิงมาที่รถ จากนั้นก็เกิดการยิงต่อสู้กัน ผลคือสี่อดีตรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาถูกยิงตาย โดยกระสุนเข้าทางด้านหน้าคนทั้งสี่ ส่วนรถถูกยิงด้านข้าง ส่วนคนในเครื่องแบบสีกากีก็ได้หายไปในความมืด”[3]

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยได้ถามว่า “เหตุใดกระบอกตาของทองอินทร์ ภูริพัฒน์กับนายทองเปลว ชลภูมิ จึงเขียวช้ำขณะตาย”

พ.ต.อ. หลวงพิชิตธุระการ ตอบว่า “คงเกิดจากการกระทบกระแทกของรถขณะบรรทุกศพส่งโรงพยาบาล”[4]

 

ภาพถ่ายในวันบำเพ็ญกุศลศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งไสว สุทธิพิทักษ์ เล่าว่า “คนไปในงานสวดศพก็น้อยเหลือเกิน ... ไม่มีใครกล้าไปในงานศพ เกรงจะมีอันตรายมาถึงตัว และก็มีอันตรายจริงๆ เสียด้วย เพราะตลอดเวลา 7 วันที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ก่อนบรรจุนั้น ทุกคืนจะมีสมุนของผู้ทรงอำนาจในขณะนั้นไปคอยดูว่ามีใครไปฟังพระสวดบ้าง” ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ภาพถ่ายในวันบำเพ็ญกุศลศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งไสว สุทธิพิทักษ์ เล่าว่า “คนไปในงานสวดศพก็น้อยเหลือเกิน ... ไม่มีใครกล้าไปในงานศพ เกรงจะมีอันตรายมาถึงตัว และก็มีอันตรายจริงๆ เสียด้วย เพราะตลอดเวลา 7 วันที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ก่อนบรรจุนั้น ทุกคืนจะมีสมุนของผู้ทรงอำนาจในขณะนั้นไปคอยดูว่ามีใครไปฟังพระสวดบ้าง”
ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

 

หน้าปกเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504 ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์
หน้าปกเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504
ภาพจาก: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

 

“ตามรูปคดีน่าเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ถูกนำตัวไปกำจัดเสีย ตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจขณะนั้น และผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ตายไปนั้นเอง”[5]

 

เอกสารอ้างอิง

  • กษิดิศ อนันทนาธร. “พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี”, 2564, สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564, https://www.the101.world/the-murder-of-four-minister/
  • ประทีป สายเสน. “กบฏวังหลวงกับปรีดี”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531).

[1] กษิดิศ อนันทนาธร, “พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี”, สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564, https://www.the101.world/the-murder-of-four-minister/.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] พิมพ์ไทย. วันที่ 5 มีนาคม 2492, อ้างถึงใน, ประทีป สายเสน. “กบฏวังหลวงกับปรีดี”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531), หน้า 101.

[4] ข่าวบ้านการเมือง. วันที่ 12 มีนาคม 2492, อ้างถึงใน, ประทีป สายเสน. “กบฏวังหลวงกับปรีดี”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531), หน้า 101.

[5] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2505. ใน, “หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ฌาปนกิจ นางสาวอรทับ ภูริพัฒน์ (ธิดา)” ณ เมรุ วัดมกุฎกษัตริยาราม 9 พฤษภาคม 2505, หน้า [ณ]