ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน 4+1 กับการเมือง

1
สิงหาคม
2563

4 ส.ส. อีสาน ผู้ไม่เคยก้มหัวให้เผด็จการ

เตียง ศิริขันธ์
จำลอง ดาวเรือง
ถวิล อุดล
ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

 

ในแง่ของประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ ภาพของการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วนั้นคือ ระหว่าง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” หรือระหว่าง “ทหารกับพลเรือน” ระหว่าง “ธรรมะกับอธรรม” หรือท้ายที่สุดระหว่าง “เทพกับมาร” นั้น ดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำและยอมรับกันโดยทั่วไป

ดังนั้น เรื่องราวของ 2475 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คณะเจ้า” กับ “คณะราษฎร” หรือระหว่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” กับ “ประชาธิปไตย” และเมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ “วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย” ของการ “ปฏิวัติและรัฐประหาร” ก็กลายเป็นการต่อสู้ของ “เสรีประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการทหาร”

หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องของ “ฝ่าย” และ/หรือ “ค่าย” เช่น “ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม” กับ “ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์” และ/หรือ “ค่ายสี่เสาเทเวศร์” (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กับ “ค่ายซอยราชครู” (ของผิน ชุณหะวัณ และ เผ่า ศรียานนท์) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากจะมองให้ลึกซึ้งลงไปแล้ว จะพบว่ามีหลายครั้งหลายหนที่มีความพยายามที่จะสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นใหม่ หรือให้มีทางเลือกที่มากกว่า 2 ให้เป็นทางออกของประชามหาชน แต่ความพยายามและกลุ่มก้อนดังกล่าวก็ถูกทําลายพิฆาตฆ่า ทําให้ไม่สามารถจะเติบโตขึ้นได้ในแผ่นดินนี้ กรณีของ “4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1” เป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่จะนํามาศึกษาหาความรู้ให้เห็นภาพของการเมืองไทยให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปิดงานการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พฤษภาคม 2544/2001

ในยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ในช่วงของการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีสภานิติบัญญัติ มีการเลือกตั้ง และหรือมีพรรคการเมือง นับตั้งแต่ปี 2476 ที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ “ยุคทมิฬ” และ/หรือ “วิสามัญฆาตกรรมการเมือง” ที่อํานาจ “รัฐตํารวจ” (ในสมัยของการเมือง “คณะรัฐประหาร” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล ผิน ชุณหะวัณ) ที่ในส่วนของการจัดการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” (ซึ่งแปลได้ตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรว่าฆ่าและปราบปรามนำโดยเผ่า ศรียานนท์ และบรรดา “อัศวิน”) ได้กระทําต่อบุคคลที่ไม่ลงรอยทางการเมืองกับตนจํานวนมากนั้น

กล่าวได้ว่า กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “อีสาน” ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษในฐานะที่พยายามทําหน้าที่เป็นตัวแทนของ คนส่วนใหญ่ จาก “วงนอก” และจาก “ชายขอบ” เป็นปากเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอํานาจ (กรุงเทพฯ)

กล่าวได้อีกเช่นกันว่า ความพยายามที่จะปลูกฝังระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหัวใจสําคัญที่ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในส่วนกลาง ทําการตรวจสอบการทํางานของฝ่ายบริหารและคัดค้านอํานาจของรัฐบาลนั้น ปรากฏว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยเริ่มแรกนี้ได้แสดงบทบาทและความรับผิดชอบของตนอย่างมีประสิทธิภาพ (ขัดกับภาพของ “ธนาธิปไตย” และ/หรือ “นักเลือกตั้ง” และ “นักการเมือง” ประเภท “ยี้” ที่เป็นที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน)

 

(จากซ้ายไปขวา) ดร. ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และ จำลอง ดาวเรือง
(จากซ้ายไปขวา) ดร. ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และ จำลอง ดาวเรือง

 

4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี เกิด 2449 - ตาย 2492) นายจําลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม 2452-2492) นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด 2452-2492) และ นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร 2452-2495) ส่วน + 1 ก็คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (สมุทรสาคร 2455-2492) โปรดสังเกตว่าปีเกิดของคนเหล่านี้อยู่ในช่วงปลายรัชการที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 หรือราวๆ ค.ศ. 1910 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษใหม่ อายุอ่อนกว่าฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (เกิด 2444/1900) ประมาณ 10 ปีเช่นกัน

1. ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

เป็น ส.ส. จากอุบลราชธานี รวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476, 2480, 2481, 2489 ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีถึง 6 สมัย (ชุดของนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์, ทวี บุณยเกตุ, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชุดแรก, ปรีดี พนมยงค์ ชุด 3, หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ชุด 1 และ 2 และ ได้ควบ 2 ตําแหน่งอีกด้วย)

ทองอินทร์นับได้ว่าเป็นชนชั้นผู้นําในระดับภูมิภาค เรียนหนังสือจบมัธยม 6 จากอุบลฯ แล้วมาจบมัธยม 8 จากสวนกุหลาบฯ ได้ ประกาศนียบัตรครูประโยคมัธยม ดังนั้น ก็มีชีวิตรับราชการเป็นครูก่อนที่จะย้ายไปเป็นนายอําเภอ โยกย้ายไปหลายจังหวัด ทําให้เขา “ตีนติดดิน” และมองเห็นปัญหาของสังคมในระดับของประชาชน ทองอินทร์เป็นผู้แทนครั้งแรกเมื่ออายุ 24 (เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ม.ธ.ก. เป็น “ตลาดวิชา” ครั้งแรก ทองอินทร์ก็เรียนจนได้ปริญญา “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” หรือ ธ.บ.)

กล่าวได้ว่า ทองอินทร์เป็นเสมือนหัวหน้าทีมของ “4 เสืออีสาน” มีความเชี่ยวชาญในการอภิปรายอย่างมีสาระยิ่งในสภา ทองอินทร์สมรสกับเจ้าสิริบังอร ณ จัมปาศักดิ์ สร้างความสัมพันธ์สองฝั่งโขงมากเสียกว่าข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนํามายัดเยียด ทองอินทร์เป็นพลพรรค “เสรีไทย” และถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นําของ “รัฐตํารวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกัน เพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย

2. จําลอง ดาวเรือง

เป็น ส.ส. จากมหาสารคาม รวม 3 ครั้ง (พ.ศ. 2480, 2481, 2489 และเป็นพฤฒสมาชิก 1 ครั้ง) เป็นรัฐมนตรี 4 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์, ธํารงฯ) อาจจะเป็น ส.ส. ในกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยสุด ดังนั้น ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องต่อสู้มานับแต่วิ่งรถในอีสาน ข้ามไปทํางานในลาว (ร่วมสร้างความสัมพันธ์สองฝั่งโขง แต่ก็ถูกข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนํามายัดเยียดภายหลังเช่นกัน) จําลองเคยเป็นนักมวย หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูประชาบาล จนก้าวขึ้นมาเป็นเสมียนศึกษาธิการและเป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนราษฎรแห่งแรกในจังหวัดมหาสารคามที่เปิดสอนจนถึงชั้นมัธยม

จําลองได้ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) ในภายหลังก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นผู้แทนเมื่ออายุ 27 ปี กล่าวกันว่า จําลองเก่งในเรื่องของการประสานรอยร้าวในหมู่คณะ และเข้ากับผู้คนได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกัน จําลองเป็นพลพรรค “เสรีไทย” และถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม.14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นําของ “รัฐตํารวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย

3. ถวิล อุดล

เป็น สส. จากร้อยเอ็ดรวม 2 ครั้ง (พ.ศ. 2480, 2481 และเป็นพฤฒสภา 1 ครั้ง) เป็นรัฐมนตรี 2 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์)  ถวิลเข้ามาเรียนจบมัธยม 8 จากสวนกุหลาบฯ และในปี 2473 ยังจบโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย ถวิลออกไปทํางานเป็นทนายความอีสาน และรับราชการในกรมราชทัณฑ์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งได้เป็นผู้ตรวจการเทศบาลอุบลฯ แล้วก็สมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรกในปี 2480 เป็นผู้แทนเมื่ออายุ 28 ปี

ถือกันว่า นายถวิลเป็นเหรัญญิกของกลุ่ม มีความชํานาญในการขีดเขียน โต้ตอบจดหมาย และร่างนโยบาย เช่นเดียวกัน ถวิลเป็นพลพรรค “เสรีไทย” ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ กม.14-15 บางเขนถนนพหลโยธิน โดยผู้นําของ “รัฐตํารวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย

4. เตียง ศิริขันธ์

เป็น ส.ส. จากสกลนคร รวม 5 ครั้ง (2480, 2481, 2489, 2492 และ 2495) เตียงได้เป็นรัฐมนตรี 3 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์, และ ธํารงฯ) เตียงเรียนจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศน์ และได้ประกาศนียบัตรประโยคมัธยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับราชการเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนเก่าของตนที่อุดรฯ เคยถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ ถูกขัง 3 เดือน เมื่อปี 2476 เตียงเคยเรียน ม.ธ.ก. แต่ไม่จบ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก เมื่ออายุได้ 28 ปี

ถือกันว่า ในกลุ่มอีสานนี้ เตียงเป็นประหนึ่งเลขาธิการ มีความเชี่ยวชาญในการวางแผน เป็นผู้ประสานงาน “เสรีไทย” ในอีสานให้ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เตียงมีรหัสชื่อลับว่า “พลูโต” ทําการก่อสร้างสนามบินเพื่อรับเครื่องบินและอาวุธ (เอาซ่อนไว้ในถ้ำที่ภูพาน) จากฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับฉายาว่า “ขุนพลภูพาน” 

หนึ่งในบรรดาผู้ร่วมงาน “กู้ชาติ” ครั้งนั้น คือ ครอง จันดาวงศ์ (ที่ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประหารชีวิตด้วยการ “ยิงเป้า” ด้วยมาตรา 17)  กล่าวกันว่า เตียงรู้จักกับจิม ทอมป์สัน สายลับของอเมริกาเป็นอย่างดีในช่วงงาน “เสรีไทย” ผู้ที่ต่อมาเป็น “ราชาไหมไทย” เคยไปพักที่บ้านของเตียงถึง 3 ครั้ง

เตียงเล่นบทผู้นําของภูมิภาค “อุษาคเนย์” ด้วยการตั้งและเป็นประธาน Southeast Asian League หรือสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อสิงหาคม 2490 ที่มาก่อนกาลเวลาของ ASEAN ถึง 10 กว่าปี

เมื่อเพื่อน ส.ส. อีสานถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วย การ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน เมื่อ 4 มีนาคม 1492 นั้น เตียง ศิริขันธ์ หลุดรอดไปได้ (บ้างกล่าวว่าเพราะภรรยาของเขา คือ นิวาศน์ พิชิตรณการ นั้นเกี่ยวดองกับเผ่า ศรียานนท์ กล่าวคือ น้าของนิวาศน์ เป็นภรรยาคนหนึ่งของบิดาของเผ่า)

ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองของรัฐประหาร 2490 และกบฏวังหลวง 2492 นั้น แม้เตียงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต่อมาอีกทั้งปี 2492 และ 2495 แต่บทบาททางการเมืองของเขาก็ลดลง และก็ “หายตัวไปอย่างลึกลับ” โดยมาปรากฏภายหลังว่าถูก “รัฐตํารวจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนําของอธิบดีตํารวจเผ่า ศรียานนท์ ส่ง “อัศวิน” และพรรคพวกมา “รัดคอตาย” และนําไป “ย่างศพ” ฝังทิ้งที่ป่ากาญจนบุรี เมื่อธันวาคม 2495 หรือว่า 3 ปีต่อมา พร้อมกับอดีตเสรีไทยอย่าง ชาญและเล็ก บุนนาค

5. ดร.ทองเปลว ชลภูมิ

เป็น ส.ส. จากปราจีนบุรี 1 ครั้ง 2489 (และเคยเป็น ส.ส. ประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง 1 ครั้ง 2488) เป็นรัฐมนตรี 1 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีหลวงธํารงฯ) ดร.ทองเปลว เกิดที่สมุทรสาคร เรียนจบมัธยม 6 จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ฯ และจบจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2476

หากจะเทียบกับบรรดา ส.ส. อีสานที่เขาสนิทสนมและคุ้นเคยแล้ว จัดได้ว่า ทองเปลวเป็นคน “วงใน” มากกว่าคน “วงนอก” หรือคน “ชายขอบ” เพราะได้ร่วมเป็นหนึ่งในบรรดา “ผู้ก่อการ” ปฏิวัติ 2475 ดังนั้น ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ มาแต่แรกเริ่ม ได้รับราชการในสํานักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้ทุนไปเรียนต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย ได้เป็นอาจารย์บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ ม.ธ.ก. ก้าวไปสู่ตําแหน่งสูงของการเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งมีความขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกปลดจากตําแหน่ง

ในช่วงหลังสงคราม ดร.ทองเปลวมีบทบาทมาก รับผิดชอบดูแลองค์การสรรพาหารของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเป็นการพิเศษ ซึ่งทําหน้าที่ในการจัดซื้อและจําหน่ายสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยุคสงคราม แต่องค์การนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงในเรื่องของการบริหารและคอร์รัปชั่น ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ดร.ทองเปลวหนีไปต่างประเทศและถูกจับครั้งหนึ่งในปี 2491  ในห้องขังนั้นเขาได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจและได้รับการตีพิมพ์แล้ว คือ หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน  เป็นเรื่องราวจากพงศาวดารจีนที่นํามาสะท้อนสถานการณ์หลังสงครามของไทยและองค์การสรรพาหารได้เป็นอย่างดี

เมื่อออกจากคุก ดร.ทองเปลวก็ไปลี้ภัยทางการเมืองที่ปีนัง เขาได้ถูกลวงให้กลับมาในช่วงของ “กบฏวังหลวง 2492” (หรือที่ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492”) และท้ายที่สุดเช่นเดียวกับสหายอีสาน ส.ส. รมต. และพลพรรค “เสรีไทย”  อีก 3 นาย เขาก็ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นําของ “รัฐตํารวจ” ของคณะ “รัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492

กล่าวโดยสรุป ชีวิต งาน และความตายของ 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) ที่ ไพวรินทร์ ขาวงาม ขนานนามว่า

“ดาวหนึ่งทองอินทร์นั้น           เลือดอุบล
ดาวหนึ่งเตียงเลือดสกล          เลือดสู้
ดาวหนึ่งถวิลเลือดคน             ร้อยเอ็ด
ดาวหนึ่งจําลอง                      เลือดสารคาม”

เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามของ “วงนอก” และ “ชายขอบ” ที่ จะต่อรองเพื่อสิทธิของตนในระดับชาติ

กลุ่มการเมืองหลังสงคราม

ดังนั้น ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและค่ายประชาธิปไตย บรรยากาศทางการเมืองไทยก็เบ่งบาน มีเสรีภาพทางการเมือง มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมากมายกว่า 10 พรรค ถ้าหากเราแบ่งขั้วทางการเมืองในสมัยนั้นออกมาให้เห็นชัดก็จะมี 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มอํานาจนิยมและลัทธิทหาร ที่นําโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับกลุ่มที่จะรวมตัวกันเป็น “คณะรัฐประหาร” ที่นําโดย ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร มีฐานกําลังสําคัญจากราชการทหาร (บก) กฎหมาย และพลเรือน กลุ่มนี้ต้องสูญเสียอํานาจและบทบาทนําไปชั่วคราว แต่จะหวนกลับมาปักหลักหลังการรัฐประหาร 2490 และจะผลัดกันขึ้นมาครองอํานาจได้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ จนกระทั่งถูกโค่นล้มลงโดยขบวนการนักศึกษา เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

2. กลุ่มอนุรักษนิยม ที่เป็นเชื้อสายของเจ้าและขุนนางเก่า กลุ่มนี้จะมีผู้นํา เช่น ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนี้จะมีองค์กรพรรคของตน เช่น ประชาธิปัตย์ และก้าวหน้า เป็นแกนนำ และในระยะแรกๆ มีฐานสนับสนุนจากเจ้าที่ดิน ผู้มีสมบัติ และผู้ดีเก่าจากเขตกรุงเทพฯ ก่อนที่จะขยายไปมีฐานมั่นในปักษ์ใต้ในทศวรรษ 2510 ภายหลัง

3. กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม (สหกรณ์) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผสมรวมตัวกันหลวมๆ ที่ให้ความสนับสนุน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการทั่วไปฝ่ายพลเรือน ทหารเรือ และนักธุรกิจผู้ประกอบการทั่วไป ดังนั้นก็มีพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้นํา อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนของ “วงนอก” และ “ชายขอบ” เช่นอีสานดังที่กล่าวมาแล้ว  และมีพรรคสหชีพที่มีแนวทางเด่นชัดด้านสังคมนิยมบวกกับเสรีนิยมเป็นแกนนํา มีผู้นําอย่างทองอินทร์ จําลอง ถวิล เตียง ฯลฯ และได้รับความสนับสนุนจากต่างจังหวัด จากผู้นําท้องถิ่นและข้าราชการครู

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในแง่ของพันธมิตรและขั้วทางการเมือง ผู้นํา ส.ส. อีสานจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 เป็นการรวมตัวกันหลวมๆ และโดยธรรมชาติมักจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มที่ 1 และ 2 และก็มักจะเป็นมิตรกับกลุ่มที่ 3 อย่างไรก็ตาม จากประวัติความเป็นมาก็เห็นได้ชัดว่ากลุ่มนี้มีแนวทางความเป็นตัวของตัวเองสูงและมีกรณีศึกษาที่น่าจะยกมาประกอบดังนี้

ในกรณีแรก ปี 2481 ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) เคยยื่นญัตติให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาให้ชี้แจงรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดในงบประมาณที่เสนอต่อสภา ทั้งนี้เพื่อ “ความโปร่งใส” และป้องกัน “การงุบงิบ” ที่ผู้นําไทยใน “ศูนย์กลาง” ของอํานาจมักจะทําเสมอมา รัฐบาลตอบว่าทําไม่ได้ ครั้นเมื่อมีการลงคะแนนเสียงในสภาฯ รัฐบาลก็แพ้ไป ถึงกับนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในกรณีที่สองปี 2487 ส.ส. อีสานเป็นพลังหลักในการต่อต้านโครงการนครหลวงเพชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑลสระบุรีของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงการ “ย้าย” เมืองหลวงไปเพชรบูรณ์นี้ ออกมาเป็นพระราชกําหนดขึ้นก่อนและสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนที่ถูกเกณฑ์แรงงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเพชรบูรณ์สมัยนั้นเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยมาเลเรียถึงกับกล่าวกันว่าใครที่ถูกเกณฑ์ไปทํางานก็ต้องเอาหม้อดินติดตัวไปด้วยเพื่อใส่กระดูกของตนเองกลับ

ปรากฏว่าในปี 2487 เมื่อการก่อสร้างดําเนินไปได้ 1 ปี มีประชาชนถูกเกณฑ์ไปถึงกว่า 1 แสนคน (คือ 127,281 คน ป่วยเสีย 14,316 คน และตายไปแล้ว 4,040 คน) ประชาชนที่ถูกเกณฑ์ (โดยได้รับสัญญาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ “แต่ก็มักไม่ค่อยได้จ่าย” วันละ 5 สตางค์นั้นส่วนใหญ่มาจากอีสาน

ดังนั้น เมื่อเรื่อง “พระราชกําหนด” นี้เข้าสภาฯ ก็ถูกอภิปรายคัดค้านอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลฯ) และเมื่อลงคะแนนเสียง รัฐบาลก็แพ้ไปด้วยคะแนน 48 ต่อ 36 เป็นผลให้รัฐบาลต้องลาออก และหน้าที่ในการรับสถานการณ์ตอนปลายสงครามก็ตกอยู่กับฝ่ายของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ขบวนการเสรีไทย (ทั้งในและนอกประเทศ) และ “การกู้ชาติ” ของ ส.ส. สายอีสานกับ “เพื่อนครู” พลพรรคของเขา

อีกกรณีที่จะช่วยให้เราเห็นบทบาทของ ส.ส. อีสานชัดเจน ก็คือ การช่วงชิงบทบาทนําทางการเมืองสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม (ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ และคึกฤทธิ์ ปราโมช) กับฝ่ายเสรีนิยม (ปรีดี พนมยงค์ และหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์) นั้น ฝ่าย ส.ส. อีสานก็เป็นกําลังสําคัญในการที่จะสกัดกั้นฝ่ายอนุรักษนิยม ดังจะเห็นได้ว่าควง อภัยวงศ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ครั้งที่สอง ก็เป็นอยู่ได้เพียงเดือนกว่า ๆ เท่านั้นเอง ทั้งนี้โดยพ่ายแพ้ต่อญัตติของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน หรือการให้มีการปักป้ายราคาสินค้าในช่วงที่มีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหน่วงหลังสงครามโลก

รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อลงคะแนนก็ต้องแพ้ไปด้วย 65 ต่อ 63 เสียง รัฐบาลต้องลาออก

จากจุดนี้แหละที่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ 3 สมัย ระหว่าง 24 มีนาคม - 8 มิถุนายน 2489 และ 11 มิถุนายน - 21 สิงหาคม 2489 ที่มีการคั่น 2 วัน คือ 8-9 มิถุนายน ก็เพราะรัฐบาลลาออกเนื่องจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในรัฐบาลชุดแรกของปรีดีนั้นไม่มี 4 ส.ส. อีสานเหล่านี้ดํารงตําแหน่งในคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่ในชุดที่สองจึงจะมีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เข้าดํารงตําแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ถูก “เกมการเมือง” ของฝ่ายอํานาจนิยม อนุรักษนิยมใส่ร้ายป้ายสีในกรณีสวรรคตจนต้องถูกรัฐประหาร 2490 ทําให้ต้องออกไปลี้ภัยต่างประเทศและได้กลับเข้ามาพยายามที่จะยึดอํานาจคืนด้วยความร่วมมือของข้าราชการพลเรือนและทหารเรือ (บางส่วน) และ ม.ธ.ก. ใน “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กบฏวังหลวง”

ความล้มเหลวของการปฏิบัติการครั้งนี้ส่งผลกระทบทางการเมืองไทยอย่างมากมายมหาศาล ความหวาดกลัวต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงและความอยู่รอดของ “คณะรัฐประหาร” เอง ทําให้ผู้นําของฝ่ายอำนาจนิยมและลัทธิทหาร เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผิน ชุณหะวัณ เผ่า ศรียานนท์ ฯลฯ ใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงข้าม มีการทำลายชีวิตอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อกําจัดบุคคลสําคัญๆ ในยุคนั้นกว่า 2 คน (นอกเหนือจากที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว) เช่น ทวี ตะเวทิกุล, บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข, โผน อินทรทัต, ฮัจยีสุหลง ฯลฯ

อํานาจนิยม (ร่วมด้วยช่วยกันจากอนุรักษนิยม) คุกคามไม่เว้นทั้งเมียและลูกของบุคคลเหล่านี้ (ซึ่งเป็นหัวข้อที่ควรจะได้รับความสนใจและศึกษาเป็นอีกประเด็นต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทความเป็นสตรี-ภริยา แม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร) พนมยงค์, เจ้าสิริบังอร (ณ จัมปาศักดิ์) ภูริพัฒน์, ทองคํา (ธนสีลังกูร) ดาวเรือง, บุญทัน อุดล, นิวาศน์ (พิชิตรณการ) ศิริขันธ์, และนิ่มนวล ชลภูมิ

ที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจ ก็คือ จากการศึกษาและข้อมูลที่พอจะรวบรวมได้ นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในการเมืองในระบบ รัฐสภากับงานเสรีไทยกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ไม่มีหลักฐานเด่น ชัดว่า 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1 นี้จะมีความเกี่ยวพันกับ “กบฏวังหลวง” แต่ประการใด

ดังนั้น “วิสามัญฆาตกรรม” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม.14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน จึงน่าจะเป็น “เกมการเมือง” ที่ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ใช้ “คนนอก” หรือ “ชายขอบ” เป็น “สัญญาณมรณะ” ให้ทั้ง “คนในและคนนอก” ต้องยอมสยบกับอํานาจนิยม (ร่วมด้วยช่วยกันจากอนุรักษนิยม) และในขณะเดียวกันก็สามารถหยุดยั้งพลังที่ 3 หรือทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยไปได้นานแสนนานอย่างน้อยก็กว่า 2 ทศวรรษ

 

เผยแพร่ครั้งแรก: นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2545

 

"สี่เสืออีสาน" วิดีโอจากโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน"
ผลงานโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ / Prachathai
เรื่องเก่าถ้าไม่เล่าก็จะลืม ทบทวนประวัติศาสตร์ภาคพลเมืองที่ไม่เคยอยู่ในตำราวิชาสังคมกับคลิปนี้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตสี่นักการเมืองอีสานแบบย่นย่อในเวลา 7 นาทีจบ ของ 4 นักการเมืองอีสานประกอบด้วยทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และเตียง ศิริขันธ์