ไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นกับประชาชนนั้นมีหลายระดับ และความรุนแรงที่ว่านั้นได้ส่งผลกระทบกลับมาทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ในทางอ้อม ความรุนแรงดังกล่าวอาจมาในคราบของความรุนแรงเศรษฐกิจที่ซ้ำเติมความหิวโหยและความอดอยาก เป็นความรุนแรงโดยมิได้เจาะจงไปที่ประชาชนผู้ใดผู้หนึ่ง กดทับผ่านโครงสร้างทางสังคมที่ดำเนินไปอย่างเหลื่อมล้ำต่ำสูง ตรงกันข้าม ความรุนแรงในทางตรง มักจะมีความเห็นต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ รวดเร็ว เงียบงัน และเอาถึงชีวิต เป็นความโหดร้ายทารุณโดยอาชญากรในนามของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งกระทำต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ตลอดประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
หนึ่งในความรุนแรงทางการเมือง คือ “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุด เป็นความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ “อาชญากรรมนี้ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ไร้ซึ่งผู้รับผิดชอบในทุกครั้ง”
“การบังคับให้บุคคลสูญหาย” หรือ “การอุ้มหาย” คือ กระบวนการการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย ซ้อมทรมาน สังหาร และลงเอยด้วยการลบร่องรอย ชำระชีวิตและประวัติศาสตร์ของบุคคลนั้นให้หายไปจากความทรงจำ คงเหลือไว้แต่เพียงคำถามและความว่างเปล่าให้แก่ญาติและบุคคลอันเป็นที่รักของผู้สูญหาย
68 ปีกับเหตุการณ์ฆาตกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับ ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา’ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งปัตตานี สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับเกียรติจาก คุณเด่น โต๊ะมีนา นักการเมืองชาวปัตตานี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย และผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของหะยีสุหลง
คุณเด่นได้ย้อนเรื่องราวในความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพ่อและพี่ชายให้กับทีมงานฟัง และเหตุการณ์ซ้ำเดิมที่เกือบจะเกิดขึ้นกับตัวเองในกรณีการถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมกับหมุดหมายที่เป็นความหวังที่ส่งตัวท่านเองรวมถึงครอบครัวโต๊ะมีนาให้ก้าวเข้าสู่วงการการเมือง ด้วยความหวังจะใช้ความรู้ ความสามารถและโอกาสเพื่อยุติอาชญากรรมที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมด้วยการผลักดันพรบ.ซ้อมทรมานอุ้มหายให้จับต้องได้ และมีผลบังคับใช้ ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าขอให้กรณีการบังคับสูญหายที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมชาวไทย ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นรายสุดท้าย
กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์
อภิวัฒน์สยาม 2475 และย่างก้าวของหะยีสุหลง
พ่อไปมักกะฮ์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ พ.ศ. 2450 เป็นเวลา 20 ปี กลับมาตอนนั้น พ.ศ. 2470 ปัตตานียังปกครองโดยสมุหเทศาภิบาล เป็นมณฑลปัตตานีอยู่ ต้องเท้าความก่อนหน้านั้น คนอื่นเรียนศาสนากลับมาแล้วจะเปิดปอเนาะ แต่หะยีสุหลงกลับมาไม่เปิดปอเนาะ แต่เปิดโรงเรียน คิดค่าจ้างสร้างโรงเรียน 7,200 บาท ได้รับบริจาคจากประชาชนมาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเจ้าเมืองยะหริ่งรับปากว่าจะช่วย คือประมาณ 3,500 บาท แต่พอถึงเวลานั้นกลับตระบัดสัตย์ไม่จ่าย เหตุนี้หะยีสุหลงจำเป็นต้องหาเงินอีกครึ่งที่เหลือ
เมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงก็เดินทางไปหานายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ขอให้ท่านบริจาคเงิน ท่านนายกก็ควักเงินให้ 3,200 บาท หะยีสุหลงก็กลับมาสร้างโรงเรียนจนเสร็จ พอเสร็จท่านแรกที่มาเยี่ยมก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงนั้น ก็เดินทางไปเยี่ยมและมีรูปถ่าย
จากผู้นำทางจิตวิญญาณสู่ศัตรูของรัฐไทย
หะยีสุหลงถูกจับปี พ.ศ. 2491 ผมกำลังจบชั้น ป.4 อายุประมาณ 13 ขวบ พ่อถูกส่งไปพิจารณาคดีที่ศาลนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นคุณแม่ย้ายครอบครัวไปเช่าบ้านแต่พี่น้องประชาชนอิสลามให้อยู่ฟรีไม่เก็บค่าเช่า เราก็ทุ่นค่าใช้จ่ายตรงนั้น ต้องใช้ทนายตั้งห้าหกคน ทรัพย์สินหะยีสุหลงมีเท่าไหร่ขายหมดไม่เหลือเลยเพื่อต่อสู้คดีนี้
เราไปอยู่ที่นั่นเพื่อหุงหาอาหารส่งไปในเรือนจำ ผมนั่งรถเกือบทุกวันไปส่งอาหาร สุดท้ายศาลตัดสินจำคุกคนละ 3 ปี แต่ไม่ใช่ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้ตัดสินตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ตอนนั้นใช้กฎหมายลักษณะอาญาเดิม ลักษณะ ร.ศ. 157 ตอนนั้น พ.ศ. 2451 กฎหมายฉบับนี้มาตรา 104 บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาทรัฐบาลถือว่ากบฏ หะยีสุหลงถูกตัดสินข้อหากบฏโดยตัวหนังสือ ไม่ใช่กบฏโดยอาวุธ
ผมเคยถามอาจารย์ที่ชำนาญเรื่องกฎหมายอาญาในประเทศไทย “อาจารย์ครับ ทำไมสมัยนั้นหมิ่นประมาทรัฐบาลถือว่ากบฏ” เขาบอกว่า “กฎหมายอาญาประเทศไทยลอกกฎหมายจากอังกฤษทั้งฉบับ อังกฤษล่าเมืองขึ้นจึงต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ประเทศไหนที่หมิ่นประมาทอังกฤษก็ถือเป็นกบฏทั้งนั้น เขาไม่ต้องการให้ประเทศไหนในจักรภพด่ารัฐบาล”
ตอนนั้นที่หะยีสุหลงโดนข้อหากบฏ ไม่ใช่ว่าเป็นกบฏธรรมดา แต่เป็นกบฏโดยหนังสือหมิ่นประมาทรัฐบาล เพราะโจทก์จ้างฟ้องข้อหาแบ่งแยกดินแดน โทษคือประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลชั้นต้นไม่เชื่อ ไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่แสดงว่าหะยีสุหลงคิดกบฏต่อราชอาณาจักรไทย เป็นคดีหมิ่นประมาทอย่างเดียว ไปเจอศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นแต่โทษอาจจะหนักกว่านั้น เพราะว่าในมาตรา 104 โทษหมิ่นประมาทไม่เกิน 7 ปี แต่ว่าศาลนครศรีธรรมราช ศาลชั้นต้นนั้นตัดสิน 3 ปี พอถึงศาลอุทธรณ์เพิ่มเฉพาะหะยีสุหลงคนเดียว 7 ปีเต็ม แต่ลดเหลือ 4 ปี 8 เดือน
หะยีสุหลงคนเดียวถูกส่งไปอยู่บางขวาง ตอนนั้น หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีสนิทกับหะยีสุหลง เลยช่วยหะยีสุหลงให้รัฐบาลปล่อยตัวก่อนครบกำหนด 3-4 เดือน กลับบ้านมาประชาชนขอร้องให้สอนหนังสือ สอนสักพักหนึ่ง พระยารัตนภักดี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตอนนั้นเป็นผู้ว่าราชการภาคสงขลาก็มีคำสั่งให้หะยีสุหลงหยุดสอน ไม่ให้สอนศาสนาเพราะไม่อยากให้ประชาชนไปชุมนุมหรือไปฟังสอนหนังสือ หะยีสุหลงร้องเรียนไปยังสำนักงานกระทรวงมหาดไทย มีทั้งจดหมาย มีทั้งโทรเลข ขอร้องให้ยกเลิกคำสั่งห้ามสอนหนังสือ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ก็ตอบมาบอกว่าตอนนี้แกราชการยุ่ง ขอรอสักพักหนึ่งให้หยุดไว้ก่อน ถ้าอย่างไรแกจะพิจารณาเรื่องนี้
ชีวิตหลังพันธนาการของ ‘หะยีสุหลง’ และครอบครัว ‘โต๊ะมีนา’
ในตอนที่คุณพ่อโดนจับครั้งแรก ตอนนั้นลำบากมาก ผมต้องตื่นตีสี่ทุกวันช่วยคุณแม่ทำขนมเข่งขาย เป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุด ชาวบ้านคนอิสลามเขาช่วยเรี่ยไรเงินตามตำบลต่างๆ มาให้ทุกๆ เดือน เป็นค่าอาหารที่ต้องทำเพื่อไปส่งให้คุณพ่อที่เรือนจำ จนป่านนี้ผมเป็นหนี้บุญคุณชาวนครศรีธรรมราชผมเรียกตัวเองว่า “ขอทานบรรดาศักดิ์” เพราะตอนนั้นเหมือนผมไปขอทานเขาจริงๆ คนนครศรีธรรมราชต้องพาแม่กับผมไปหมู่บ้านนั้น ไปตำบลนี้ บางทีนั่งเรือไปไกลๆ ไปถึงเหมือนขอทาน พอถึงบ้านหัวหน้าหมู่บ้านที่นั่น เข้าไปก็เอาผ้าสะบัดกางมาผืนหนึ่ง ชาวบ้านมาเรี่ยไรให้สิบบาทยี่สิบบาท ก็ขอทานนั่นแหละ ผมก็เลยเขียนบทความลงในนิตยสารแพรวว่าเป็น “ขอทานบรรดาศักดิ์” ไม่อย่างนั้นมันอยู่ไม่ได้ ก็ต้องให้ชาวบ้านช่วย
ชาวบ้านส่วนใหญ่เขารู้ว่าเรากำลังเจอกับอะไร ตอนนั้นผมจบแค่ ป.4 อยากจะสอบ ม.3 ก็ต้องจ้างครูเดือนละ 500 บาท เราไม่มีเงิน ก็มีชาวบ้านมาหาผมบอกว่าช่วยสอนภาษามาเลย์ได้ไหม เขาเลยส่งลูกหลานมาให้ผมสอนตอนเช้าชั่วโมงหนึ่ง เย็นชั่วโมงหนึ่งก็ได้คนละ 10 บาท เดือนหนึ่งเพิ่งได้ 300 บาท แล้วผมก็ใช้เงินที่ได้นั่นจ้างครูมาสอนหนังสือจนผมเรียนจบชั้นม.3 ต้องบอกอีกครั้งว่า เป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดเลย
อาชญากรรมโดยรัฐ การบังคับสูญหาย ‘หะยีสุหลง’
เผ่า ศรียานนท์ เขามีอัศวินแหวนเพชรหลายคน หนึ่งในนั้นคือ พันเอกพุฒ บูรณสมภพ ที่เขียนหนังสือชื่อว่า “ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย พลโทเอกเผ่า ศรียานนท์”
หนังสือเล่มนี้ อธิบายทั้งหมดว่าเผ่าฆ่าใครต่อใคร ฆ่าอดีต 4 รัฐมนตรี ฆ่าใครต่อใคร แม้กระทั่งฆ่าหะยีสุหลง เขียนหัวข้อใหญ่ว่า คำสั่งฆ่าหะยีสุหลง แล้วก็เล่าว่า ฆ่าเพราะหะยีสุหลงประพฤติตัวไม่ดี คิดจะแบ่งแยกดินแดน เขาก็เลยบอกคุณเผ่า คุณเผ่าก็เลยสั่งฆ่าเลย แล้วเล่าเหตุการณ์ว่าหะยีสุหลงมีพฤติการณ์ที่ต้องการสร้างความวุ่นวาย
ทั้งหมดโกหกทั้งนั้น ไม่มีความจริงในหนังสือเล่มนี้ ผมจึงฟ้องศาลอาญารัชดาภิเษก ตอนนั้นพุฒอายุขนาดผม แกก็เดินเข้ามาผมอยู่ในห้องพิจารณาวันที่ศาลนัด ที่ศาลแกก็เดินเข้ามาคนเดียวใช้ไม้เท้า ถามผมว่า “คุณเด่นฟ้องผมทำไม” ผมตอบไปว่า “พ่อผมตายเพราะคุณนั่นแหละ พ่อผมถูกฆ่าตายเพราะคุณ เพราะคุณรายงานโกหกทั้งนั้นเลย” เขาบอกผมกลับมาว่า “ผมก็เขียนไปตามที่ผมได้รับรายงาน” ผมจึงตอบเขากลับไปว่า “นั่นแหละ รายงานโกหกทั้งนั้นเลย” หลังจากนั้นเมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ ศาลหันไปถามพุฒว่าจะเอายังไง พุฒตอบศาลว่า
ขณะกำลังเถียงกันอยู่ศาลก็ขึ้นบัลลังก์ ศาลหันไปถามจำเลยว่า “ผมขอรับสารภาพครับ ผมผิดแล้ว ขอรับผิดทุกอย่าง แล้วแต่ศาล”
ศาลหันมาถามผม ผมก็เกิดรู้สึกสงสารคนแก่อีกแล้ว ศาลถามผมว่า “โจทก์จะเอาอย่างไร จำเลยเขารับสารภาพแล้ว” ผมตอบว่าแล้วแต่ศาลพิจารณา ศาลนัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อเขียนคำรับสารภาพ ขอขมาผ่านหนังสือพิมพ์ พอถึงวันนัดก็ไป ศาลอ่านคำขอขมาของเขาที่ยอมประกาศลงหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ 7 วัน เขารับสารภาพแล้ว ศาลพิพากษาตามเขารับสารภาพก็จบ
ในปี พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ พอจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติเสร็จก็ถามลูกน้องว่าหะยีสุหลงหายไปไหน แต่ไม่มีใครรู้ จอมพลสฤษดิ์สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนคดีหะยีสุหลง แต่งตั้งพลตำรวจจัตวาฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน มีกรรมการทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นมีน้องชายของหะยีสุหลง คือ นายอรุณ พงษ์ประเสริฐ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอร่วมเป็นกรรมการนี้ด้วย
ช่วงนั้นผมเรียนอยู่มาเลเซีย คุณแม่ให้คนไปตามเพื่อกลับมาอยู่บ้าน วันที่ 13 สิงหาคม 2497 วันที่คุณพ่อลงจากบ้านไป ผมอยู่ที่บ้านวันนั้นด้วย เพราะโรงเรียนปิดเทอม พ่อบอกว่า “พ่อจะไปหาตำรวจ ตำรวจเรียกพ่อไปสงขลา” ผมออกไปส่งพ่อกับพี่ชายที่หน้าบ้านตอนหกโมงเช้า มีรถแท็กซี่มารับไป
จากกรรมการสืบสวน สืบมาว่าหะยีสุหลงตายวันนั้น คือวันที่ พันตำรวจบุญเลิศ เลิศปรีชา เรียกพ่อจากปัตตานีไปสำนักงานสันติบาลที่สงขลา พี่ชายคนโตของผมไปเป็นล่าม สอบสวนเสร็จก็ให้เซ็นชื่อ ทุกคนก็ดีใจนึกว่าจะกลับบ้านได้ พอเดินไปข้างนอกเพชฌฆาตรออยู่ข้างหน้าแล้ว ตำรวจกลุ่มใหญ่รออยู่และลากตัวไปขึ้นบังกะโลที่ริมหาดสงขลา เอาขึ้นไปฆ่าบนนั้นด้วยวิธีรัดคอ รัดคอตายทีละคนๆ เมื่อฆ่าเสร็จแล้วปัญหาคือว่าจะเอาศพไปไว้ที่ไหนก็คือต้องทำลายศพ เลยคิดว่าต้องถ่วงทะเล ถ้าถ่วงเดี๋ยวลอยเลยต้องผ่าศพก่อนจึงเอาเสาซีเมนต์มามัด มัดเสร็จจ้างเรือประมงให้ทิ้งที่เกาะหนู เกาะแมว กรรมการเลยให้ตำรวจน้ำลงไปงมศพ
ถ่วงน้ำวันที่ 13 สิงหาคม 2497 จอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ผ่านมา 4 ปีแล้วจะงมหาอะไร ตำรวจน้ำเขารู้ เขาบอกไม่ได้งมหาศพหรอกแต่งมหาเสาที่มัดเผื่อจะเจอ
เมื่อพ่อและพี่ชายถูกบังคับให้สูญหาย
ช่วงนั้นคุณแม่ให้ผมพาไปพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านการติดต่อของ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ ผมกับคุณแม่ไปที่บ้านจอมพล ป. แถวชิดลม เมื่อไปถึงจอมพล ป. ออกมาพอดี บอกว่ากำลังจะไปประชุมครม. ให้คุยกับเมียผมก็แล้วกัน ก็บอกคร่าวๆ ว่าคุณแม่มาหาท่านนายกฯ เรื่องหะยีสุหลงหาย ท่านไปสักครู่คุณหญิงละเอียดก็เข้ามา คุณแม่ก็พูดให้ผมแปลให้ฟัง พอท่านผู้หญิงฟังจบก็บอกว่า “ไม่ต้องหาแล้ว คงตายแล้วแหละ คุณเผ่าฆ่าคนตายเยอะจริงๆ” เมียนายกพูดอย่างนี้เลย ก็ไม่ต้องไปหาหรอก
ท่านผู้หญิงละเอียดถามถึงเรื่องเรียนของผม ผมตอบท่านไปว่าไม่ได้เรียน เพราะไม่มีเงิน จบแค่ชั้นม.3 น้องๆ ที่บ้านก็ไม่ได้เรียนเหมือนกัน เพราะพวกเราไม่มีเงิน ท่านผู้หญิงละเอียดจึงบอกให้ผมเรียนที่กรุงเทพฯ ท่านจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ ส่วนน้องๆ ที่อยู่ที่บ้าน ท่านจะส่งเสียให้ปีละ 5,000 บาท
“ให้เธอเรียนสูงๆ นะ คนจะได้ทำอะไรเธอไม่ได้” ท่านผู้หญิงละเอียดว่าอย่างนั้น
ผมบอกท่านว่าขอกลับไปปรึกษาครอบครัวก่อน เดี๋ยวจะโดนหาว่า เขาฆ่าพ่อแล้วให้เราเรียนหนังสือ เดี๋ยวคนไม่ชอบ ผมก็ถามทุกคนยอมให้ไปเรียน ผมจบ ป.7 จากมาเลเซีย เทียบเท่ากระทรวงศึกษาไทยได้ ม.6 ก็ต่อ ม.6 ที่กรุงเทพเมื่อเรียนจบก็ไปบอกคุณหญิง
หลังจากปรึกษาพี่น้องที่บ้าน ทุกคนลงความเห็นว่าอยากให้ไปร่ำเรียน ผมจบ ป.7 จากมาเลเซีย เทียบเท่า ม.6 กระทรวงศึกษาไทยจึงได้ต่อ ม.6 ที่กรุงเทพฯ พอเรียนจบท่านผู้หญิงถามว่าผมอยากเรียนอะไร พ่อเคยตั้งใจไว้ว่าอยากให้ผมเรียนกฎหมาย แต่ท่านผู้หญิงบอกว่าอย่าไปเข้ามหาวิทยาลัยเลย เราเป็นคนจน ไปเรียนสายอาชีพจะดีกว่า ผมจึงได้เข้าเรียนต่อที่แผนกภาษา โรงเรียนบพิตรพิมุข
ผมได้เข้ามาเรียนภาคบ่ายที่บพิตรพิมุข ส่วนช่วงเช้าที่ผมมีเวลาว่าง หลวงสุนาวินฯ ฝากฝังให้ผมเข้าไปทำงานในกรมประชาสัมพันธ์เพราะที่นั่นมีการใช้ภาษามลายู ผมได้เงินเดือน 450 บาท แต่ยังไม่พอใช้จ่าย เพราะผมอยากเข้าเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย ในตอนนั้นพี่ชายส่งเงินมาให้ผมซื้อตำราเรียน ม.8 จนกระทั่งผมสอบเข้าม.8 ได้ ผมก็เข้าธรรมศาสตร์เลย ได้เรียนกฎหมายจริงๆ ตามที่พ่อได้เคยสั่งไว้
ชีวิตในรัฐสภา
ผมเป็น ส.ว. ร่วมกับ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มีความสนิทสนมกันดี แกพูดกับผมหลายครั้ง “พี่เด่นผมเสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ผมขอโทษคนปัตตานีดีไหม” ผมตอบก็แล้วแต่อาจารย์เลยครับ
ครอบครัวเราเจัดงานครบรอบ 13 สิงหาคมของทุกปี ปีที่ 62 เป็นปีที่อาจารย์ไกรศักดิ์มาร่วมงาน ในงานอาจารย์ไกรศักดิ์ได้บอกกับพี่น้องทุกคนว่าที่เจตนามาร่วมงานวันนี้เพื่อจะมาขออภัย ขอโทษที่ญาติของผม คือเผ่า ศรียานนท์ฆ่าหะยีสุหลงตาย เราเสียใจมาก ผมมาขอโทษ
การบังคับสูญหายหะยีสุหลงส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม
เมื่อพ่อหายตัวไป เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านเขาก็ขี้กลัวอยู่แล้ว โต๊ะครูอื่นๆ ส่วนใหญ่หนีไปอยู่มาเลเซีย ไม่กล้าอยู่ที่นี่แล้ว เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องการแบ่งแยกดินแดน
การแบ่งแยกดินแดนมีอยู่หลายขบวนการ อันนั้นเขาเคลื่อนไหวของเขา มีจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็มีตลอดของเขาไม่เกี่ยวกับเรา แต่ว่าเคยมีขบวนการส่งตัวแทนมาชักชวนผมให้เข้าป่า ไปอยู่ขบวนการแบ่งแยก ผมก็บอกเขาว่าผมไม่ไป ผมจะขอต่อสู้ทางรัฐสภา คุณสู้ของคุณไปแล้วไม่ต้องเกี่ยวกัน แต่อย่ามายุ่งกับผม ผมก็ไม่ยุ่งกับคุณ
การบังคับสูญหายหะยีสุหลง คือ หนึ่งในรอยร้าวระหว่างรัฐไทยและชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตั้งแต่หะยีสุหลงตายไปจนเหตุการณ์ต่างๆ วันนี้ก็ยังไม่จบ ความรู้สึกมีมาตลอด รุ่นแล้วรุ่นเหล่า จนกระทั่งรุ่นปัจจุบันที่เป็นเด็กวัยรุ่น มันไม่จบหรอก
นักข่าวมาสัมภาษณ์ผมหลายครั้งที่ปัตตานี ถามผมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมบอกว่าปัญหามันเยอะ และก็คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งวุฒิสมาชิก ผมกับคุณไกรศักดิ์ก็ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ศึกษาเสนอรัฐบาลเงียบ ศึกษาไปเสนอรัฐบาลเงียบ ไม่มีทางแก้ได้ จนกระทั่งเกิดมีสมัยยิ่งลักษณ์เป็นนายกแล้วก็ตั้งกรรมาธิการเจรจากัน ช่วงนั้นเริ่มความรู้สึกประชาชนว่ามีหวังที่จะสงบจากการเจรจา แต่จนวันนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ไปดูมติของสภานะ ทุกสมัยมีหมดเลย รัฐบาลทำอะไรไหม ไม่เคยทำอะไรเลย
ผมเป็นผู้แทนรุ่นแรก ครั้งแรกปี พ.ศ. 2519 ผมอยู่ประชาธิปัตย์ ไปถึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทันที ศึกษาเรื่องนี้ ศึกษาไปศึกษามา ศึกษาจนเหนื่อย เสนอไปสภา สภาเสนอไปรัฐบาล รัฐบาลก็ส่งไปสภาความมั่นคงของชาติ สภาความมั่นคงก็ตอบมาคำเดียว “ด้วยคณะกรรมาธิการสภาเสนอมานี้รัฐบาลทำอยู่แล้ว” จบ แล้วบางทีตัวแทนประชาชนศึกษาแล้วก็เสนอรัฐบาล รัฐบาลเชื่อแต่สภาความมั่นคงอย่างเดียว ไม่ฟังเสียงทางอื่น แล้วสภาความมั่นคงไม่เคยทำอะไรเรื่องนี้เลย
ผมเทียบดูเหตุการณ์ปัตตานี จนขณะนี้ก็มีการต่อสู้วางระเบิดกันอยู่ตลอดเวลา มันแก้ไม่ได้เพราะอะไร เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทยแต่มีหลายแห่งในโลกนี้ อย่างมินดาเนาของฟิลิปปินส์ อาเจะห์ของอินโดนีเซีย ทำไมอาเจะห์เวลานี้ถึงสงบ
ช่วงที่เรียนสถาบันพระปกเกล้าฯ ผมไปดูงานที่อาเจะห์ ผมก็คิดว่าทำไมหลังจากเขาปกครองตนเองแล้วบ้านเมืองสงบ ผมก็ไปถามผู้นำศาสนาของอาเจะห์ว่าทำไม เพราะปกครองตนเองมา 2 ปี แต่เหตุการณ์สงบมากเลย ผมถามคณะกรรมการอิสลามประจำรัฐเขา เขาบอกว่าที่สงบเร็วเพราะว่าเราห้ามสามอย่าง 1. เมื่อปกครองตนเองและมีอำนาจแล้ว ห้ามไม่ให้มีสุรายาเมา ห้ามไม่ให้กินเหล้า 2. ห้ามไม่ให้มีโสเภณี 3. ไม่ให้มีบ่อนการพนัน ไม่มีสามอย่างนี้มันก็สงบ
ผมไปคุยกับทหารทั้งหมดที่ไปด้วยกัน ถามว่า “ท่านแล้วทำกับทางปัตตานีได้ไหม” เขาตอบ “ทำไม่ได้” ทำไม่ได้หรอก เขาไม่ยอม ร้านขายเหล้าไม่ยอมแน่ อีกอย่างโสเภณีไม่ยอมแน่ การพนันอะไรทั้งหลายแก้ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ผมตอบนักข่าวหลายคนแล้วไม่รู้ว่าใครจะมองผมอย่างไร แต่ถ้าจะแก้จริงๆ ต้องให้ปัตตานีปกครองตนเองเหมือนอาเจะห์ ไม่ได้หมายถึงเอกราช ไม่ได้หมายถึงแบ่งแยกดินแดน แต่ให้อยู่ตามรัฐธรรมนูญไทย ปกครองตนเองมีในรัฐธรรมนูญแบบที่บีอาร์เอ็นเขาเรียกร้องตอนเจรจา ลองให้เขาทำแบบนี้สิ ลองสัก 5 ปี ดูสิว่าจะสงบไหม ผมว่ามันจะสงบ แต่ไม่มีใครกล้าทำ มันไม่มีทางอื่น ทุกคนต้องการความสงบ แต่ว่าผู้มีอำนาจไม่ยอมแก้ให้
ครอบครัว “โต๊ะมีนา” บนถนนสายการเมือง
คนแรก คือพี่ชาย คุณอามีน โต๊ะมีนา สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสู้กับพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด ทารุณที่สุดแต่รอดมาได้ อีกคนคือ เพชรดาว โต๊ะมีนา มีอยู่วันหนึ่งหมอเพชรดาวกลับบ้านมา มาบอกว่าถ้ากฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ผ่านนะ แต่มีปัญหาเรื่องอายุความ รัฐบาลไม่ยอมให้ยืดอายุความ สุดท้ายขอไปขอมาคงจะได้ 50 ปี หมอเพชรดาวถามผมว่า 50 ปีนี้เรื่องหะยีสุหลงยังได้ไหม ผมบอกว่าไม่ได้แล้ว เพราอายุความหกสิบกว่าปีแล้ว เปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้ว
หลังจากคดีคุณพ่อ พี่ชายคนแรกตายพร้อมพ่อ พี่ชายคนที่สองก็ถูกจับอีก หะยีอามีน โต๊ะมีนา ถูกจับคดีกบฏเหมือนพ่อ ขังอยู่ 4 ปี จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาโดนข้อหาการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ก่อน 5 ปีก่อน ถึงจะฟ้องศาลทหาร ศาลทหารตอนนั้นหาทนายไม่ได้ สี่ห้าคนเป็นทนายกันเอง ทั้งๆ ไม่รู้กฎหมายเลย พออีกสองวันศาลนัดตัดสิน ผมบอกว่าหลุดแน่ ผมก็แอบไปฟังเหมือนกันตอนที่เขาสืบพยาน ก็โกหกทั้งนั้น มีเป็นร้อยพยาน เพราะว่าเขาจะถ่วงเวลาให้นาน พอก่อนจะตัดสินอีกสองวัน อยู่ๆ จอมพลประภาส นึกอย่างไรไม่รู้เรียกเจ้าหน้าที่ อัยการอยู่กับมหาดไทยมาถามว่าคดีหะยีอามีนเป็นอย่างไรบ้าง ขอเอาสำนวนดู ประภาสเขาให้ลูกน้องเอาสำนวนมาดู เขาบอกท่านไม่ติดหรอก พยานเท็จทั้งนั้นเลย เป็นไปไม่ได้เลย ศาลปล่อยแน่ อย่าให้ศาลตัดสินเลย ปล่อยเลยดีกว่า ก็เลยปล่อยก่อนตัดสินสองวัน ถูกขังฟรีเลย
พี่ชายคนที่สองของผมพอกลับมาถึงบ้าน เกรงว่าจะเหมือนหะยีสุหลง มีการล่าสังหารเพื่อให้ฆ่าพี่ชายผม คนเรายังไม่ถึงที่ตายนะก็เลยหนีไปก่อน หนีไปมาเลเซีย อยู่ที่มาเลเซียและตายที่มาเลเซีย เขาสั่งไว้บอกว่าก่อนตายจะไม่กลับหรอก
ชำระประวัติศาสตร์การอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมือง
ทุกคนก็หวังกับกฎหมายฉบับนี้ คือ พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมานเเละอุ้มหายฯ เผื่อว่าการอุ้มหายจะได้ลดน้อยลงบ้าง ให้หมดทีเดียวคงยาก เพราะเขาต้องหาวิธีของเขา ในเวลานี้ก็ยังมีอยู่ ที่ปัตตานีก็มีอยู่เข้าไปในค่ายทหารก็โดนกัก ผมว่ารอกฎหมายออก ถ้าออกได้สำเร็จ น่าจะมี ทีแรกเราขอให้ไม่มีอายุความ เขาไม่ยอม 50 ปี
คนรุ่นหลังถูกฆ่าตายเยอะแต่ถ้าฟื้นใหม่มีโอกาส ตอนผมเป็น ส.ส. เป็น ส.ว. ผมอยากจะจับนายตำรวจที่ฆ่าคนสักคนให้ติดคุก ผมเชิญเพื่อนที่เป็นกองปราบยศพันโทมาช่วยผมทำคดี มี 3 คดีตอนนั้น เขาบอกว่า “ติดแน่พี่ ติดแน่ถ้าผมทำ” พอถึงกรม ทั้งหมดทุกรายเลยให้จบคดี ไม่ยอมให้ดำเนินคดีสักรายหนึ่ง
จริงๆ เขาไม่อยากให้ผ่านหรอกใช่ไหม เกิดขึ้นจากคนของเขาทั้งนั้นเลย มันทำงานยาก พวกเขายังพูดเลยว่าต่อไปนี้เราทำงานยากแล้ว ถ้าผ่านอาจจะช่วยได้บ้าง ได้แค่ไหนไม่รู้ต้องดูต่อไป แต่ว่ายังดีกว่าที่ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องรอทำงานสักระยะหนึ่งจะได้รู้ว่าได้ผลไหมดีกว่าไม่มีเลย
สัมภาษณ์ : กุมภาพันธ์ 2565
เรียบเรียง : ณภัทร ปัญกาญจน์