ความตายของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 บริเวณกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธินนั้น นับเป็นคดีสำคัญที่สร้างความด่างพร้อยให้กับวงการตำรวจของไทย ผู้มิได้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในยุคที่มีอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และเป็นอาชญากรรมโดยรัฐครั้งสำคัญที่สร้างผลกระทบทางการเมืองอย่างมหาศาล
และหัวหน้าชุดสังหาร ที่รับตัว ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปฆ่านั้น คือ ‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ประวัติ
‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ (หลง อัศวรักษ์) เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2443 เป็นบุตรของหลวงธุระการกำจัด (เทียม อัศวรักษ์) กับนางจ๋าย ที่ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร
ในด้านการศึกษา สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เขาเป็นนักเรียนในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาวิชาตำรวจ ณ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร (เขาน่าจะสำนึกในพระมหากรุณานั้นอยู่พอสมควร ดังที่ภายหลังได้ร่วมจัดงานวชิราวุธานุสสรณ์ เพื่อนำเงินรายได้ไปบูรณะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี)
ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา ได้สมรสกับนางสาวพูลลาภ จุลกะ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2470 มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือ สุดาดวง เทียมแสง พิชิต และเทียมศักดิ์
หลังจากล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2499 รวมอายุได้ 55 ปี 11 เดือน 20 วัน
อาชีพตำรวจ
นับตั้งแต่ปี 2469 ซึ่งเริ่มเข้ารับราชการ พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ ในชั้นแรกเป็นสารวัตรตำรวจนครบาลบางรัก และเป็นครูสอนวิชาตำรวจที่โรงเรียนพลตำรวจ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชิตธุระการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2474
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้เป็นผู้กำกับการกองที่ 4 (ทะเบียนตำรวจ) ตำรวจสันติบาล ในปี 2476 ต่อมาในปี 2478 ได้เป็นผู้กำกับการโรงเรียนตำรวจ ผู้กำกับการตำรวจนครบาลสายใต้ที่ 1 และที่ 2 (ในปี 2480)
ในปี 2481 ได้เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 9 (นครศรีธรรมราช-สงขลา) แล้วจึงย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 1 (ลำปาง) ในปี 2484
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจสนามสหรัฐไทยใหญ่ และเป็นผู้บังคับการในปี 2485
จากนั้น ย้ายมาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 5 (พ.ศ. 2486) และเขตต์ 6 (พ.ศ. 2487) แล้วจึงเป็นรองจเรตำรวจในปี 2488 และผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 9 และเขตต์ 7 ในปีถัดมา ต่อมาจึงได้เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 4 ในปี 2490
หลังรัฐประหาร 2490 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม ครั้นถึงปี 2492 ได้เป็นพลตำรวจตรี ครองตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2492 และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในวันที่ 2 มีนาคม 2492
22 ธันวาคม 2492 ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอย่างรวดเร็ว โดยไม่ปรากฏในประวัติว่าได้ใช้ตั๋วอะไรหรือไม่ เขาดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมา จนวันที่ 22 ธันวาคม 2494 ได้เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง
1 มกราคม 2495 ยังคงเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร และเหลือตำแหน่งรองปลัดฯ ตำแหน่งเดียว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2496
จนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2498 กระทรวงมหาดไทยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมตำรวจ
ความชอบในราชการ
ในหนังสืองานศพของ พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ปรากฏ “ความชอบในราชการ” ที่ผู้ตายพอใจ 3 กรณี ได้แก่
- การปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 (ได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ)
- การจับกุมนายเอี่ยวเต็ก กับพวกรวม 10 คน ผู้ต้องหาว่าสมคบกันลักลอบฆ่าสุกรโดยมิได้รับอนุญาต พ.ศ. 2479
- จับกุมนายพุ่ม สายลับทอง ผู้ยิงหลวงพิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2477
แน่แปลกที่ แม้จะรับราชการในตำแหน่งใหญ่โตในกรมตำรวจต่อมาอีกนับสิบปี แต่ประวัติในหนังสืองานศพของเขา กลับไม่ปรากฏ “ความชอบในราชการ” อื่นใดอีก
ความไม่ชอบในราชการ
หลังความล้มเหลวของ ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทำให้นักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ และลูกศิษย์ลูกหาของเขาถูกกวาดล้างเป็นจำนวนมาก บ้างถูกจับกุม บ้างถูกสังหารผลาญชีวิต
‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ก็เป็นพวกหนึ่งที่ถูกทยอยจับกุมไว้ เพราะเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในเวลานั้น
ครั้นถึงคืนวันที่ 3 ต่อเนื่องวันที่ 4 มีนาคม 2492 พล.ต.ต.หลวงพิชิตธุระการ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ผู้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนพิเศษเกี่ยวกับคดีกบฏ ได้ให้เบิกตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จากที่คุมขังทั้ง 4 แห่ง พาออกจากกลางพระนครอ้างว่าจะพาไปโรงพักบางเขนที่ถนนพหลโยธินใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากนั้น เมื่อไปถึงบริเวณถนนพหลโยธิน กม. 14-15 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า “หลวงพิชิตธุระการได้บอกให้ผู้ตายทั้ง 4 คนลงจากรถ โดยพูดว่า รถคันหน้าถูกยิง แต่ไม่มีใครยอมลง และได้มีคนหนึ่งในพวกผู้ตายได้พูดขอชีวิต แต่หลวงพิชิตธุระการกลับพูดขยั้นขยอจะให้ลงจากรถให้ได้ ทั้งได้พูดรับรองว่า ลงจากรถจะเป็นการปลอดภัย ถ้าหากอยู่ในรถจะไม่ปลอดภัย แต่ผู้ตายก็คงไม่มีใครยอมลงจากรถ
“ขณะนั้นจำเลยที่ 1 (พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต) ได้พูดถึงว่า ‘อ้ายพวกนี้ กบฏแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม’ แล้วจำเลยที่ 2 (พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล) ก็พูดว่า ‘อ้ายพวกนี้เป็นกบฏ เอาไว้ทำไม’ ต่อจากนั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้เรียกร้องชื่อจำเลยที่ 5 (สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์) จำเลยที่ 5 ได้วิ่งเข้ามาทางข้างหลังหลวงพิชิตธุระการ หลวงพิชิตธุระการเดินหลบออกไป ทั้งได้ตะโกนบอกให้นายร้อยตำรวจเอก พุฒ (บูรณสมภพ) หลบออกไปด้วย แล้วจำเลยที่ 5 ได้ประทับปืนยิงผู้ตาย 1 ชุด และข้างจำเลยที่ 5 นั้น ยังมีจำเลยที่ 3 (ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย) และที่ 4 (ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี) ยืนอยู่ในท่าเตรียมยิงเหมือนกัน ต่อจากนั้น ยังมีการยิงผู้ตายอีก 2-3 ชุด”
ดูเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีภายหลังหมดยุคของอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ สำหรับหลวงพิชิตธุระการ ไม่ตกเป็นจำเลย เพราะเสียชีวิตไปก่อน ส่วนพุฒ บูรณสมภพ หลบหนีไปต่างประเทศ
เกียรติตำรวจของไทย
ศาลฎีกาสรุปข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นนักการเมืองทางฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ทั้งเป็นบุคคลสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว ได้มีการกบฏขึ้นในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะติดๆ กัน ถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเพราะพรรคพวกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อขึ้น และมีรายงานว่าผู้ตายได้ร่วมในการกบฏ จึงมีเหตุเพ่งเล็งถึงผู้ตายว่าได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้ตายก็ถูกจับกุมในระยะเวลาใกล้ชิดนั้น และถูกแยกย้ายควบคุมไว้ในสถานที่ต่างๆ กัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง ไม่มีเหตุที่จะต้องย้ายไปทำการควบคุมที่อื่นรวมกันไว้ทั้ง 4 คน”
และข้ออ้างของฝ่ายตำรวจที่ว่ามีโจรมลายูมาชิงตัวนั้น ศาลก็ไม่เห็นด้วย ดังเหตุผลที่ว่า “ถ้ามีผู้ร้ายมาดักแย่งชิง ย่อมจะมีการต่อสู้ขัดขวางบ้าง ตรงที่เกิดเหตุสองข้างถนนมีต้นไม้ปลูกไว้ห่างๆ พ้นออกไปเป็นที่โล่งไม่มีที่กำบังหรือสิ่งพรางสายตาที่คนร้ายจะเข้ามาซุ่มยิงได้ ปรากฏว่าผู้ที่ถูกกระสุนปืน คงมีแต่ผู้ตายรวม 4 คนเท่านั้น ผู้อื่นที่ไปด้วยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บด้วยกระสุนปืนเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่มีรอยกระสุนปืนยิงทะลุเข้ามาทางประตูด้านขวา … และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมไปในขบวนนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้เห็นคนร้ายเลย”
สำหรับเหตุผลในการฆาตกรรมครั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า “การกระทำของจำเลยผู้กระทำความผิดเหล่านี้ พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ”
น่าเสียดายที่ในเวลาที่มีการพิจารณาคดีนี้ หลวงพิชิตธุระการถึงแก่กรรมไปเสียก่อน จึงไม่อาจทราบเหตุผลจากปากของนายตำรวจหัวหน้าชุดซึ่งลงมือฆ่าได้ แต่จะมีเหตุผลใดเล่าที่ฟังขึ้น หรืออนุญาตให้ตำรวจลงมือเข่นฆ่าประชาชน เพียงเพราะเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้นเอง
‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการกระทำครั้งนี้ “น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะรัฐประหารมุ่งจะดำเนินการเพื่อปราบปรามกลุ่มการเมืองกลุ่มเสรีไทยให้ขยาด ไม่ก่อการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอีกต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้ว อดีตรัฐมนตรี 4 คน ไม่ได้เข้าร่วมก่อการกบฏครั้งนี้เลย”
บทเรียนจากประวัติศาสตร์
‘ไสว สุทธิพิทักษ์’ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีฆาตกรรม ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ในคราวนี้ นับว่า “เป็นการนำความมัวหมองมาสู่วงการตำรวจของไทยในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง จริงอยู่ การตายของบุคคลทั้ง 4 เกิดขึ้น เพราะความหลงผิด และมัวเมาในอำนาจของตำรวจการเมืองเพียง 3-4 คน แต่ผลสะท้อนทำให้ตำรวจอาชีพที่สำนึกในหน้าที่ทั้งหลายต้องพลอยได้รับความมัวหมองไปด้วย”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ ผู้ควบคุมการสังหาร ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ จะต้องเป็นผู้มีมลทินมัวหมองไปชั่วกาลปวสาน
ต่างความคิด ผิดถึงตาย เริ่มต้นตั้งแต่ “ยุคทมิฬ” ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 มาแล้ว ขออย่าให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกเลย
บรรณานุกรม
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, บทละครพูดสลับลำ เรื่อง วิวาหพระสมุท, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจโท หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 26 กรกฎาคม 2499.
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สุภาษิตพระร่วง คำโคลง และการแสดงตำนานเสือป่า, คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน วชิราวุธานุสสรณ์ จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจโท หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 26 กรกฎาคม 2499.
- บัญชร ชวาลศิลป์. 2500 สฤษดิ์-เผ่า: เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2563.
- สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สายธาร, 2550.
- หัด ดาวเรือง. เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี (ชีวิตและงานของอดีตสี่รัฐมนตรี), พระนคร: อักษรสาส์น, 2508.
ที่มา: กษิดิศ อนันทนาธร. พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี, เผยแพร่เมื่อ 3 มีนาคม 2021
หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ