ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวคิดการขุดคลองที่คอคอดกระ: เอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

30
มีนาคม
2564

 

แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณที่จะดำเนินโครงการคลองคอคอดกระ
แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณที่จะดำเนินโครงการคลองคอคอดกระ

 

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 

เรียน นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ ประเทศไทย

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ทราบข่าวจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงความดำริห์ของรัฐบาลไทยที่จะขุดคลองคอคอดกระ ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ชาติไทยจะได้จากคลองนี้ ก็คงมีผู้คิดกันมากแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวซ้ำ ข้าพเจ้าขอเน้นเฉพาะความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของชาติ คือ ถ้าการขุดคลองนี้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง และป้องกันให้อยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติได้ ก็จะเป็นวิถีทางอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ชาติไทยได้มีความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

โดยที่นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น (พลโท ถนอม กิตติขจร) ได้เคยแถลงไว้ว่า ยินดีรับฟังความเห็นของคนไทยทั่วไป ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการศึกษาค้นคว้าและความคิดอันเกี่ยวกับการสร้างคลองนี้ที่ข้าพเจ้าเคยมีอยู่บ้างเล็กน้อยอาจจะเป็นประโยชน์แก่มวลราษฎรไทย และรัฐบาลบ้างก็เป็นได้ 

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเขียนจดหมายมายังท่าน เพื่อขอให้ท่านนำส่งต่อไปยังรัฐบาล และก่อนนำส่งขอให้ท่านคัดกับอัดสำเนาจดหมายฉบับนี้ แจกไปยังหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อราษฎร และรัฐบาลรับไว้ประกอบการพิจารณาในการที่จะสร้างคลองนี้ให้สำเร็จตามอุดมการณ์ดังกล่าวข้างต้น

 

1.

คลองสุเอซ
คลองสุเอซ


เมื่อ พ.ศ. 2463 ขณะที่เรือลำซึ่งข้าพเจ้าโดยสารไปยังประเทศฝรั่งเศสได้แล่นผ่านคลองสุเอซนั้น ข้าพเจ้าได้ถามอาจารย์เลเดแกร์ (ชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายและอาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม) ซึ่งเดินทางไปด้วยถึงเรื่องราวของคลองสุเอซ 

เมื่ออาจารย์ได้เล่าให้ฟังพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ระลึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ว่า รัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ดำริห์ที่จะขุดคลองที่คอคอดกระแต่มีอุปสรรคเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าจึงได้ถามอาจารย์ผู้นั้นว่า ‘ถ้าประเทศสยามจะฟื้นความคิดที่จะขุดคลองกระขึ้นมาอีก ต่างประเทศจะว่าอย่างไร?’ อาจารย์ตอบว่า ‘สำหรับฝรั่งเศสไม่มีปัญหาคือถ้าขุดได้ก็เป็นการดีเพราะจะทำให้คมนาคมระหว่างฝรั่งเศสกับอินโดจีนทางทะเลสั้นเข้าอีก’ 

อาจารย์ได้เล่าให้ฟังถึงการที่ชาวต่างประเทศเสนอโครงการต่อรัชกาลที่ 5 เพื่อขอขุดคลองที่กล่าวนี้ ท่านแนะว่า ถ้าข้าพเจ้าสนใจที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศของข้าพเจ้า แล้วเมื่อข้าพเจ้าอยู่ในฝรั่งเศสก็ควรค้นคว้าศึกษาเรื่องคลองนั้นและเทียบเคียงดูกับเรื่องของสุเอซ คลองปานามา คลองคีลของเยอรมัน คลองโครินธ์ของกรีก 

 

คลองคีล ประเทศเยอรมัน
คลองคีล ประเทศเยอรมัน

ต่อมาเพื่อนของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกับข้าพเจ้าได้คิดทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ตั้งแต่เรายังอยู่ด้วยกันในประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าได้เสนอหลักการอันเป็นรากฐานสำคัญที่เป็นจุดหมายของข้าพเจ้าในการเปลี่ยนแปลง นั้นคือจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่อยู่ที่ความปรารถนาให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชสมบูรณ์ ซึ่งรวมทั้งเอกราชในทางเศรษฐกิจด้วย (ผู้อ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าคงเห็นความปรารถนาของข้าพเจ้าในเรื่องที่กล่าวแล้ว) มิตรสหายดังกล่าวได้ตกลงมอบให้ข้าพเจ้าพิจารณาปัญหาแก้เศรษฐกิจของชาติ ข้าพเจ้าจึงได้พิจารณาตามสติปัญญาน้อยของข้าพเจ้า และโดยเฉพาะการขุดคลองที่คอคอดกระนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการขุดคลองที่คอคอดต่างๆ ตามที่อาจารย์เลเดแกร์เคยแนะนำไว้

ผลแห่งการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้าในสมัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าในแง่การช่างนั้นการขุดคลองที่คอคอดต่างๆ ซึ่งแม้ภูมิประเทศจะเป็นภูเขาก็สามารถทำได้ เช่น คลองปานามา เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่แรงงาน, ทุน, การเมืองระหว่างประเทศ

ในเรื่องแรงงานนั้น ปรากฏว่าการขุดคลองสุเอซต้องใช้วิธีเกณฑ์แรงงานอาหรับซึ่งต้องล้มตายกันมาก ส่วนการขุดคลองปานามานั้น แม้จะใช้วิธีจ้างคนงานแต่คนงานก็ต้องล้มตายเพราะไข้มาลาเรียมาก การขุดคลองคีลและคลองโคลินธ์ไม่มีปัญหาดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าถ้าจะขุดคลองคอคอดกระแล้ว ก็ต้องใช้วิธีจ้างคนงานและเครื่องมือทุ่นแรงที่ทันสมัยกว่าแต่ก่อน และต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของคนงานซึ่งรัฐบาลมีทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ในเรื่องเงินทุนนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการขุดคองคีลและคลองโคลินธ์ได้ใช้จ่ายเงินของประเทศนั้นๆ เอง จึงไม่มีปัญหาอันใดที่ต่างประเทศจะแทรกแซงในธุรกิจอันเป็นไปตามอธิปไตยของชาตินั้น แต่สำหรับคลองสุเอซนั้น ก็รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าต้องใช้ทุนของหลายประเทศ อันทำให้ไอยคุปต์ต้องเสียอธิปไตยในเขตครองนั้นไป 

 

คลองปานามา ประเทศปานามา
คลองปานามา ประเทศปานามา

 

ส่วนการขุดคลองปานามานั้น เดิมฝรั่งเศสได้รับสัมปทานจากประเทศโคลัมเบียซึ่งเป็นเจ้าของเขตปานามา แต่บริษัทนั้นขุดไปไม่สำเร็จ การงานต้องหยุดชะงักลงและมีการชำระบัญชีบริษัท ต่อมา ส.ร.อ. ได้ทำการเจรจากับโคลัมเบียเพื่อขอสัมปทาน รัฐบาลโคลัมเบียสมัยนั้นได้ประวิงการสัตยาบันตกลงกับ ส.ร.อ. เพื่อเกี่ยงที่จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น 

ในค.ศ. 1913 ได้เกิดมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนโคลัมเบียโดยแยกเขตปานามาออกเป็นอีกหนึ่งประเทศต่างหากจากโคลัมเบีย รัฐบาลโคลัมเบียได้ส่งกองทหารไปเพื่อจะปรับกระบวนการนี้แต่ได้ถูกตั้งโดยนาวิกโยธินของอเมริกาแข่งเรือลาดตระเวน ส.ร.อ. ชื่อ “แนชวิลล์” ซึ่งอ้างนัยยะของสัญญาที่มีไว้แต่ปางก่อนว่า ส.ร.อ. มีสิทธิ์คุ้มครองที่จะให้บริเวณคอคอดปานามานั้นเป็นแดนเปิด การสู้รบระหว่างกองทหารของรัฐบาลโคลัมเบียกับขบวนการเอกราชของปานามาจึงสงบลง 

ต่อมาอีกไม่กี่วันรัฐบาล ส.ร.อ. ก็รับรองประเทศปานามาที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นและประเทศปานามาก็ทำสนธิสัญญายกเลิกเขตคลองปานามาให้อยู่ในความอารักขาของ ส.ร.อ. ฉะนั้นปัญหาเรื่องทุนก็เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดและอาจเป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นประเทศใหม่ เช่น ประเทศปานามา เป็นต้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ โดยทั่วไปนั้น ก็เป็นที่เห็นประจักษ์อยู่แล้วสำหรับคลองสุเอซและคลองปานามา ส่วนของคีลกับคลองโครินธ์ไม่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ สำหรับการขุดคลองกระในสมัยที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่นั้นเห็นว่าปัญหามิได้อยู่แต่เพียงที่เราจะต้องระมัดระวังระบบอาณานิคมอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น คือต้องระลึกถึงตัวอย่างของคลองอื่นๆ ที่จะมีผลในทางการเมืองตามมาอีกด้วย ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังให้ดีและถ้าคิดหาทุนโดยการกู้เงินจากต่างประเทศแทนที่จะเอาทุนของเราเองแล้วจะทำให้มีภาระหลายอย่างติดตามมา

 

2.

ในระหว่างพ.ศ. 2478 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกรมโยธาเทศบาลสมัยนั้น (ที่ได้ตั้งขึ้นโดยรวมกรมทางกับกรมนคราทรเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันมีหน้าที่ในการทางทั่วราชอาณาจักรและการคมนาคมส่วนท้องถิ่น) ได้จัดร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักรตามคำสั่งของข้าพเจ้าเสร็จแล้ว ได้เสนอร่างโครงการนั้นมายังข้าพเจ้าเพื่อพิจารณา เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงการสร้างทางจากชุมพรผ่านกระบี่เพื่อไปยังระนองและพังงาแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้หวนระลึกถึงการขุดคลองที่คอคอดกระว่าสมควรที่จะได้ฟื้นขึ้นมาอีก แทนที่จะสร้างทางอย่างเดียวซึ่งจะเป็นวิธีทางอย่างหนึ่งในการช่วยให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร 

แต่ปัญหาการขุดคลองกระนี้เกินขอบเขตของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าจึงได้นำเรื่องไปเสนอเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่าถ้าขุดได้ก็เป็นการดีเพราะท่านเองเคยผ่านคลองสุเอซมาเหมือนกัน และเคยอยู่ในประเทศเยอรมันที่มีของคีลเชื่อมทะเลเหนือกับบอลติกที่คอคอด ใกล้กับประเทศเดนมาร์ก จึงอยากให้เรามีคลองที่คอคอดกระบ้าง ท่านถามว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน จะต้องระวังต่างประเทศ ข้าพเจ้าเรียนต่อท่านเจ้าคุณว่า ข้าพเจ้ามีความวิตกอยู่อย่างท่าน แต่ก่อนอื่นทีเดียว เราจะขุดคลองนั้นต่อเมื่อเรามีทุนของเราเอง 

เพราะถ้าขืนใช้วิธีกู้ยืมจากต่างประเทศแล้ว ก็จะทำให้เราผูกพันกับเจ้าหนี้ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ข้าพเจ้าจะปรึกษาหลวงเดชาติวงศ์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) เพื่อนร่วมก่อการวันที่ 24 มิถุนายน ย้ายจากกรมรถไฟมาเป็นนายช่างในกรมโยธาเทศบาล ซึ่งเป็นผู้ร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักรว่า การขุดคลองกระจะสิ้นค่าใช้จ่ายสักเท่าใด แล้วจะพิจารณาว่ากระทรวงการคลังจะมีเงินให้หรือไม่ ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ ต่อไปว่าปัญหาต่างประเทศนั้น นอกจากการป้องกันโดยไม่กู้เงินเขามาขุดคลองแล้ว เราจะต้องระวังไม่เพียงแต่อังกฤษเท่านั้น แต่ต่างชาติที่เป็นมหาอำนาจทั้งหมด เราจะต้องเอาเยี่ยงคลองคีลของเยอรมันและคลองโครินธ์ของกรีก ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของชาตินั้นเด็ดขาดไม่ว่าวิธีการอย่างคลองสุเอซ หรือ คลองปานามา

 

คลองโครินธ์ ประเทศกรีก
คลองโครินธ์ ประเทศกรีก

 

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณพระพหลฯ ว่าประเทศอังกฤษย่อมถูกกระทบกระเทือนโดยเฉพาะ ถ้าเราชี้แจงกับเขาว่าแม้สิงคโปร์จะขาดรายได้เนื่องจากการผ่านสินค้าของไทยก็ตาม แต่อินเดียกับพม่าของอังกฤษย่อมได้ประโยชน์จากคลองนี้ด้วย แม้พ่อแม่ที่ลอนดอนเองก็ได้ประโยชน์เพราะปีหนึ่งๆ บริเตนซื้อสินค้าหนักๆ เช่น ไม้สักและข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อค่าขนส่งถูกลง พ่อค้าอังกฤษเองจะได้ประโยชน์คุ้มหรือเกินกว่าที่ได้ทางสิงคโปร์ 

การที่เราจะขุดคลองกระตามอธิปไตยของเราได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัญหาแห่งการรักษาอธิปไตย และความเป็นเอกราชทั้งมวลของชาติ ข้าพเจ้าเห็นว่าวิธีการที่สำคัญก็คือ เราต้องรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้ให้ได้โดยไม่ลำเอียงถ่วงตาเต็งหนึ่งไปทางชาติใดชาติหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลที่ท่านเจ้าคุณฯ เป็นหัวหน้าอยู่นั้นก็คงได้รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้เป็นอย่างดี และถ้าเราช่วยกันประคองรักษาต่อไป เราจะรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้ ท่านเจ้าคุณฯ ตอบว่า “จริง” แล้วท่านเสริมต่อไปว่า ถ้าเราลงเสียดุลยภาพแห่งอำนาจแล้ว ดุลยภาพอื่นๆ ก็เสียตามไปด้วย บ้านเมืองก็จะพังทลาย

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ อีกว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ก็คือ การเจรจาแก้ไขสัญญาที่ไม่เสมอภาค เวลานั้นยังไม่ได้แก้สนธิสัญญากับต่างประเทศ คือถ้าเราลงมือขุดคลองก่อนแล้วก็จะทำให้การเจรจาแก้ไขสัญญาเช่นนั้นขลุกขลักได้ เราต้องจัดการแก้ไขสัญญาให้เรามีเอกราชสมบูรณ์ก่อน

เจ้าคุณพหลฯ เห็นด้วยในหลักการตามที่ข้าพเจ้าเสนอแล้ว ท่านสั่งให้ข้าพเจ้ากลับไปพิจารณากับหลวงเดชาฯ เรื่องการช่างและให้ข้าพเจ้าคิดหาเงินทุนต่อไป

 

3.

ข้าพเจ้าได้เชิญหลวงเดชาติวงศ์มาปรึกษา กะประมาณการกันอย่างคร่าวๆ ว่า ถ้าเราจะขุดคลองที่คอคอดกระยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ขนาดกว้างและลึกอย่างคลองสุเอซ รวมทั้งการแต่งร่องน้ำจากปากคลองไปสู่ทะเลลึก ก็คงใช้เงินในขณะนั้นประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนั้นเราจำเป็นต้องสร้างเขื่อนและท่าเทียบเรือ โรงคลังสินค้า เขื่อนกันคลื่นในทะเล ถนน และทางรถไฟริมฝั่งคลอง สะพานรถไฟ และสะพานต่างๆ ข้ามคลอง โรงไฟฟ้า การโทรเลข โทรศัพท์กระโจมไฟ อาคาร และอุปกรณ์อื่นๆ อันเกี่ยวแก่ความจำเป็นและความสะดวกแก่การเดินเรือผ่านคลองนี้ จึงได้กะกันไว้อย่างคร่าวๆ ว่าคงจะใช้เงินอีก 7 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 17 ล้านบาท

เราได้คิดกันอีกแผนหนึ่งถึงการขุดคลองที่กว้างและลึกน้อยกว่าคลองสุเอซ เช่น ขนาดคลองโครินธ์ของกรีก เพื่อให้เรือเพียงขนาดที่เข้าปากน้ำเจ้าพระยาได้ผ่านเท่านั้น อันจะเป็นการกระทบกระเทือนอังกฤษไม่มากนัก ในการนี้เราอาจลดค่าใช้จ่ายสำหรับงานดินลงไปได้ประมาณ 6 ล้านบาท แต่เราก็ต้องสร้างเขื่อน สะพานข้ามคลอง และการสร้างอื่นๆ เช่นเดียวกับการขุดคลองขนาดของสุเอซนั่นเอง เราได้คิดต่อไปว่าถ้าเราจะขุดเพียงขนาดกว้างลึกเท่าคลองโครินธ์ แล้วมีแผนการขยายให้เท่าคลองสุเอซในอนาคต แต่เราเห็นว่าการขยายคลองต่อไปนั้นจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเกือบเท่าสร้างคลองใหม่ เช่น สะพานข้ามคลอง เป็นต้น ฉะนั้น จึงคิดว่าไหนๆ จะขุดคลองกันตรงนี้แล้ว ก็ขุดกันเต็มอัตราทีเดียวเอาขนาดคลองสุเอซนั่นแหละ

หลวงเดชาฯ ถามข้าพเจ้าว่า จะเอาเงินมาจากไหน? ข้าพเจ้าตอบว่า เงินคงคลังกับเงินสำรองใช้หนี้เงินกู้มีอยู่ที่กระทรวงการคลังซึ่งเก็บไว้เฉยๆ นั้น สมควรขอเอามาใช้จ่ายในการลงทุนของประเทศชาติได้ประมาณ 35 ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างทาง อีกส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างคลองคอคอดกระ แต่กระทรวงการคลังหวงเงินนั้น ข้าพเจ้าเห็นจะต้องอาสาไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรัฐบาลจะได้อนุญาตให้ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองใช้หนี้ได้สะดวก

หลวงเดชาฯ ได้ถามถึงปัญหาระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าได้ตอบตามที่ได้เรียนเจ้าคุณพหลฯ ดังกล่าวแล้ว

ข้อสังเกต ตามที่วิทยุกระจายเสียงแจ้งว่ารัฐบาลไทยปัจจุบัน (พ.ศ. 2501) คิดจะขุดคลองนี้ จากบริเวณใต้บางสะพานไปยังปากน้ำจันทร์นั้น ทำให้ข้าพเจ้าฉงนว่า เหตุใดจึงจะขุดคลองยาวประมาณกว่า 100 กิโลเมตรซึ่งเกินกว่าแนวที่ช่างได้กะกรุยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 กว่าหนึ่งเท่า แต่ได้ทราบว่ารัฐบาลหวังจะได้ทองคำและแร่อื่นๆ จากการขุดคลองนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าระลึกว่าการขุดคลองกับการทำเหมืองแร่นั้นต่างกัน และข้าพเจ้าจะเห็นด้วยตาเปล่าว่างานทั้งสองอย่างมีการขุดดินด้วยกัน การสร้างคลองนั้นต้องการให้คลองตรงและสั้นที่สุด 

ส่วนการทำเหมืองแร่มีการขุดดินในที่จำกัด และคดเคี้ยวไปมาตามสายแร่ และบางทีสายแร่ก็อยู่ตื้น บางทีก็อยู่ลึก ไม่สม่ำเสมอเครื่องขุดดินสำหรับเหมืองแร่ก็มีลักษณะต่างกับเครื่องขุดสำหรับคลอง ยิ่งเป็นเครื่องขุดดินทำเหมืองทองคำแล้วก็มีลักษณะพิเศษออกไปอีก เพราะแร่ทองคำที่มีอยู่ในดินในทรายนั้นเป็นชิ้นเล็กมากๆ นานๆ จึงจะพบ เป็นเมล็ดเท่าเมล็ดถั่วเขียวซึ่งถือว่าเป็นมหัศจรรย์ไม่ใช่เป็นลิ่มหรือแท่ง 

นอกจากนั้น เครื่องมือสำหรับเหมืองทองคำต้องมีเครื่องกลไกที่สามารถระวังเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขุด ที่อาจมีบางคนไม่ซื่อแล้วยักยอกเอาไป คนหนึ่งเพียงวันละไม่ถึงกรัมก็จะทำให้นายเหมืองหรือรัฐบาลขาดทุน ข้าพเจ้าได้ระลึกต่อไปอีกว่าบริเวณอำเภอบางสะพานนี้ เป็นแหล่งที่บรรพบุรุษไทยได้ทำการขุดและร่อนเอาแร่ทองคำขึ้นมาติดต่อกันเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ทองคำส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในกลุ่มก็ได้มาจากแหล่งที่กล่าวนี้ ดังนั้น ในสมัยโบราณท่านจึงยกบริเวณนี้ขึ้นเป็นเมือง (คือที่เรียกว่าจังหวัดในปัจจุบัน) มีชื่อว่าเมือง “กำเนิดนพคุณ” ซึ่งหมายถึงจังหวัดที่เป็นแหล่งกำเนิดทองคำเนื้อดี  ซึ่งเรียกกันว่า ทองเนื้อเก้า หรือ ทองนพคุณ 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แหล่งทองคำที่กล่าวนี้ก็ยังทำกันต่อมาและได้ยกบริเวณนี้ให้เป็นเมืองกำเนิดนพคุณอยู่จนกระทั่งยุบเมืองเป็นอำเภอแล้ว ต่อมาเปลี่ยนเรียกชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองกำเนิดนพคุณจึงกลายมาเป็นอำเภอบางสะพาน ในปลายรัชกาลที่ 5 ได้มีบริษัทต่างประเทศขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ ณ บริเวณนั้น ตามปกติแล้วพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงหวงแหนทรัพยากรอันมีค่าของชาติ 

แต่ในการนี้พระองค์พระราชทานสัมปทานนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าพระองค์คงทรงพิจารณาว่าทองคำที่เหลืออยู่จากการขุดค้นตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมาเหลือน้อยมาก ถ้าบริษัทต่างด้าวอยากจะลงทุนก็อาจเป็นประโยชน์แก่ราษฎรไทยที่จะได้ค่าจ้างจากการเป็นลูกจ้างบริษัท ในที่สุดบริษัทนั้นทำไปไม่สำเร็จแล้วต้องล้มละลาย 

ข้าพเจ้าคิดว่าเทคนิคในการทำเมืองทองปัจจุบันอาจจะมีอะไรดีกว่าเมื่อสองบริษัทนั้นมาทำก็เป็นได้ ฉะนั้น จึงไม่ประสงค์คัดค้านการที่รัฐบาลจะทำเหมืองแร่ทองคำ ณ ที่นี้เอง แต่ขอให้สำนึกให้ดีว่าจะยังมีทองคำเหลืออยู่พอที่จะลงทุนทำได้กำไรหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการทำเหมืองแร่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการขุดคลองจึงไม่สมควรที่จะเอาการขุดคลองไปขึ้นต่อการทำเหมืองแร่ ที่อาจเป็นการเสี่ยง 

การขุดคลองอาจทำให้เห็นชิ้นแร่บางชนิดบ้าง แต่ก็ไม่มากมายถึงกับจะโกยขึ้นได้

ง่ายๆ ยิ่งเป็นแร่ทองคำแล้วไม่ใช่ของหาได้ง่ายๆ มิฉะนั้นทองคำก็หมดคุณค่า หรืออาจมีราคาถูกกว่าดีบุก การที่ทองคำเป็นสิ่งหายากนั้นเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ทองคำมีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นสมควรในหลักการที่ดำริห์วิสาหกิจใดๆ จะต้องคำนึงถึงวัตถุพลอยได้ด้วย จึงคิดว่านอกจากแสวงหาแร่ดังกล่าว รัฐบาลอาจคิดอย่างอื่นอีกก็เป็นได้ ในขณะที่เราดำริห์ขุดคลองสมัยเจ้าคุณพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เราได้ดำริห์ถึงสิ่งพลอยได้จากสภาพที่เห็นกันได้อย่างประจักษ์ ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

การสร้างคลองนี้ เราก็จะต้องมีประกาศหวงห้ามที่ดิน ในบริเวณคลองประมาณ 2 แสนไร่ และโดยเฉพาะที่ดินในบริเวณนั้นเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามิได้มีผู้ใดทำประโยชน์เมื่อขุดคลองขึ้นแล้ว ที่ดินสองฝั่งคลองต้องเจริญแน่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกหลวงเดชาฯ ว่าจะให้รัฐบาลลงทุนอีก 2 ล้าน เพื่อจัดการปรุงแต่งที่ 2 แสนไร่นั้นให้เป็นสวน คือที่ดินบางแห่งเหมาะแก่สวนผลไม้ก็ทำเป็นสวนผลไม้ได้ เช่นบริเวณหลังสวนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์สำหรับสวนผลไม้ 

นอกจากนั้นก็ปลูกยางพาราและมะพร้าวต้นโกโก้และไม้ยืนต้นอื่นๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อพ้นกำหนดห้าปีที่สวนเหล่านั้นก็จะมีราคา (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ไม่น้อยกว่าไร่ละ 100 บาท และถ้าเป็นสวนผลไม้ ก็มีราคามากขึ้นไปอีก ที่สวนสองแสนไร่

ก็คงเป็นเงินยี่สิบล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการสร้างสวนแล้วรัฐบาลก็จะได้กำไรคืนทุนที่จะขุดคลอง เราเห็นกันว่าจะไม่ใช้วิธีถางป่าแบบเผาป่าที่ทำกัน โดยโค่นต้นไม้ลงแล้วใช้ไฟเผา เพราะเราเสียดายไม้ของชาติ 

เราจะปรุงแต่งที่ดินสองฝั่งคลองอย่างปราณีต เช่น ไม้ใหญ่ต้นใดสามารถทำเป็นซุงเพื่อใช้ทำเขื่อนได้ก็ต้องประคองให้เป็นซุง ไม้ใดที่เลื่อยเป็นแผ่นกระดานปลูกอาคารได้ก็ต้องเลื่อย ไม้ใดที่ทำเป็นเสาเข็มได้ก็ต้องเอามาเป็นเสาเข็ม ส่วนไม้ที่ใช้อย่างอื่นไม่ได้ จึงเอามาเผาเป็นถ่านไม่ใช่เผาทิ้งให้เป็นขี้เถ้า ในการนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกในการถางป่า

เราได้พิจารณากันว่าที่สวนที่สร้างขึ้นใหม่นั้นจะให้กรรมกรที่มาช่วยการขุดคลองมีสิทธิ์ซื้อก่อนผู้อื่น เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีที่ดินอันเป็นที่สวนอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นกรรมสิทธิของแต่ละคน โดยให้ชำระเงินผ่อนเป็นงวดๆ กรรมกรเหล่านี้อาจมาจากภาคอื่นทั่วราชอาณาจักร และเมื่อเขาได้ช่วยขุดคลองสำเร็จแล้ว ก็จะได้มีที่ดินพร้อมด้วยอาคารที่สร้างให้ด้วยราคาถูกอย่างผาสุก กรรมกรแต่ละคนก็เพียงแต่จะบำรุงพืชผลที่เราลงไว้ให้ และต่อเติมตามที่เขาเห็นสมควร เขาก็จะเก็บผลไม้อย่างสบาย และนำไปส่งตลาดค้ากับต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ปากคลองขุดใหม่นั้น ซึ่งเราจะได้ราคาดีขึ้นกว่าที่ต้องผ่านเมืองท่าของประเทศอื่น 

ที่ดินส่วนที่เหลือจากขายให้กับกรรมกร ก็จะได้ขายให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นคนยากจน หรือคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ของตนเองตามที่กรรมการขายที่ดินจะได้ตรวจสอบพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพื่อป้องกันมิให้คนมั่งมีเอาเงินไปซื้อที่ดินจากกรรมกร หรือคนยากจนดังกล่าวแล้ว เราก็จะต้องมีข้อกำหนดว่าที่ดินซึ่งกรรมกร และคนยากจนรับซื้อไปนั้นจะซื้อขายหรือโอนด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากโอนทางมรดกเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้เสนอเรื่องที่ปรึกษากับหลวงเดชาฯ ต่อเจ้าคุณพหลฯ แล้วเดินทางไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ สำเร็จแล้วกลับมาประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาวต่างประเทศและได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค เป็นอุปสรรคของอธิปไตยและเอกราชแห่งชาติไทย แล้วย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาก็มีเหตุการณ์ต่างๆ จนกระทั่งสัญญาสมบูรณ์แบบตามที่ราษฎรไทยรู้อยู่แล้ว

 

4.

บัดนี้ สัญญาไม่เสมอภาคและสัญญาสมบูรณ์แบบก็หมดไปแล้วตามนิตินัยประเทศไทยมีความเป็นเอกราช สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอีกคือเอกราชตามพฤตินัย เพราะปัญหาที่จะต้องคิดให้รอบคอบ มิใช่อยู่แต่เพียงว่าเราเห็นว่าเป็นเอกราชตามนิตินัยแล้วก็จะทำตามพลการ

ข้าพเจ้าสนับสนุนรัฐบาลให้ขุดคอคอดกระสำเร็จไปตามอุดมการณ์ที่ข้าพเจ้าพรรณามาแต่ต้น ก็เพราะมีความหวังว่า รัฐบาลจะรักษาและป้องกันเอกราชของชาติ ตามพฤตินัยได้ และใช้ทุนของชาติไทยเราเอง ดังที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป

ประการที่ 1 การรักษาและป้องกันเอกราชทางพฤตินัย ข้าพเจ้าคิดว่านักการเมืองปัจจุบันนี้ จำนวนมากเคยเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าคุณพหลฯ มาโดยตรง คงจะระลึกถึงเจ้าคุณพหลฯ บ้างว่าในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เอกราชและอธิปไตยของชาติเท่าที่มีอยู่ขณะนั้น มิได้เสื่อมลงไปแต่ได้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะท่านเจ้าคุณได้นำราษฎรรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้เป็นอย่างดี การงานของประเทศชาติสมดุลย์ไปทุกส่วน

ภายหลังสงครามครั้งที่แล้ว หลายรัฐบาลไทยที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารพ.ศ. 2490 ก็ได้นำหลักนโยบายอันสุขุมคัมภีรภาพของเจ้าคุณพหลฯ มาใช้ เพื่อรักษาความเป็นเอกราชตามนิตินัยและตามพฤตินัยของชาติ โดยรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจของมหาประเทศไว้ได้ แม้ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องบางอย่าง แต่ก็ไม่บกพร่องในเรื่องความเป็นเอกราชของชาติ ซึ่งสำคัญกว่าบุคคลและสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

ราษฎรมากหลายในปัจุบันนี้ได้เรียกร้อง โดยใช้ภาษาอย่างสามัญชนว่า “ความเป็น กลาง” ซึ่งทำให้บางท่านวินิจฉัยตามรูปการณ์ภายนอกของศัพท์เทคนิคแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และบางท่านก็คัดค้านคารมต่างๆ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าการพิจารณาคำเรียกร้องของราษฎรสามัญทั่วไปนั้น จะต้องพิจารณาเจตนารมย์ของราษฎร เพราะถ้าจะพิจารณาเถียงกันตามศัพท์เทคนิคแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าอีกหลายท่านถ้าใช้เวลาว่างสำรวจศัพท์ที่เราใช้แล้วก็จะพบว่า เราและท่านใช้ศัพท์ผิดเพี้ยนไปได้ จึงควรให้อภัยแก่ราษฎรสามัญโดยอย่างเข้มงวดในการใช้ศัพท์เทคนิคนัก

ข้าพเจ้าคิดว่า “ความเป็นกลาง” ที่ราษฎรสามัญเรียกร้องนั้น หมายถึงดุลยภาพแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าคุณพหลฯ นำราษฎรมาสมัยหนึ่งในการรักษาอธิปไตยและเอกราชของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง และ ทวียิ่งขึ้น เพราะท่านไม่เอาชาติไปเป็นเดิมพันถ่วงน้ำหนักข้างหนึ่งข้างใด สิ่งที่ท่านเอาเป็นเดิมพัน คือการรักชาติด้วยกาย, วาจา, ใจ

ท่านเทิดทูนชาติไทยเหนือบุคคลใดๆ ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าคุณพหลฯ คงสามารถเจริญรอยตามได้ นโยบายของเจ้าคุณพหลฯ ดังว่านี้เท่านั้นเป็นเกราะที่แข็งแกร่งในการป้องกันอิทธิพลของต่างชาติที่จะแทรกเข้ามาในปัญหาการขุดคลองกระ และปัญหาอธิปไตยกับเอกราชของชาติไทย ข้าพเจ้าหวังว่าความหวังของข้าพเจ้าคงไม่พลาด

 

ประการที่ 2 ปัญหาทุน ข้าพเจ้าเห็นว่าการสร้างคลองที่คอคอดกระเป็นการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับชาติไทยโดยชาติไทยเอง ฉะนั้นเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะนำเอาทุนนอนที่มีอยู่โดยยังมิได้ใช้เป็นประโยชน์อย่างใด และไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรามาลงทุนได้

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ถ้ารัฐบาลจะคิดกู้เงินของชาติอื่นมาลงทุนในการนี้ เพราะจะทำให้เกิดภาระผูกพันทางพฤตินัยหลายอย่าง ผลที่เราหวังจะได้ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางเศรษฐกิจก็จะกลับกลายเป็นเสียเอกราชทางพฤตินัยอย่างอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ถ้ารัฐบาลจะเพิ่มภาษีอากรหรือลดเงินเดือนข้าราชการเพื่อการนี้และข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะเอาทุนนอนของชาติมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องที่ไม่ใช่การลงทุนเช่นการขุดคอคอดกระนี้

ข้าพเจ้าเห็นว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบางรัฐบาลต่อๆ มาจน ถึงมีการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 นั้น ได้สะสมทุนบางประเภทไว้ให้ชนรุ่นหลัง ซึ่งยังคงมีเหลืออยู่บ้างพอที่รัฐบาลนี้อาจนำเอามาลงทุนในการสร้างคลองกระได้ และยังมีขุมทรัพย์อีกบางประเภทที่ข้าพเจ้าจะบอกให้ท่านไปสำรวจเอามาใช้ในการนี้

ทุนและขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นทองคำแท่งที่ชาติไทยมีอยู่แล้วไม่ต้องไปขุดค้นจากดินให้เสียเวลา ทองคำแท่งเหล่านี้ บางประเภทก็เป็นทุนสำรองเงินตรา บางประเภทก็ไม่ใช่ทุนสำรองเงินตรา แม้ทองคำรัฐบาลเอาขึ้นบัญชีเป็นสำรองเงินตรานั้น ก็ยังมีบางประเภทที่การได้มา การหายไป การมีอยู่ มิได้ทำให้เงินตราปัจุบันนี้ดีขึ้นหรือเลวลง เช่นทองคำประเภทที่เราได้คืนจากพันธมิตร ซึ่งยึดครองญี่ปุ่น และบัดนี้เราได้ฝากไว้ใน ส.ร.อ. นั้น 

เมื่อคราวญี่ปุ่นได้เอาทองคำส่วนหนึ่งแห่งธนาคารชาติของเขากันไว้ว่าเป็นของไทย เนื่องจากที่เขามาขอเบิกเป็นเงินบาทในระหว่างสงครามทองคำประเภทนั้น ก็มิได้ช่วยให้เงินบาทระหว่างสงครามมีค่าดีขึ้นอย่างไร เมื่อเสร็จสงครามแล้วพันธมิตรยึดทองคำประเภทนั้นไว้ ก็มิได้ทำให้เงินบาทของไทยเสื่อมค่าลงไปเพราะเหตุนั้น คือเสื่อมค่าเพราะเหตุอื่นๆ ภายหลังเราได้ทองคำนั้นคืนมา ก็มิได้ทำให้เงินบาทมีค่าดีขึ้นอย่างไร เพราะค่าของเงินบาทเสื่อมลงโดยเหตุอื่นๆ

เพื่อความเข้าใจของสามัญชนผู้อ่านจดหมายนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงอย่างง่ายๆ ว่าระบบเงินตราของไทยเมื่อก่อนสงครามครั้งที่แล้วนั้นเป็นระบบการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี คือผู้ ใดมีธนบัตรเป็นจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น สมมุติว่าตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ก็มีสิทธิเอาธนบัตรนั้นมาขอแลกเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองได้ทันทีโดยรัฐบาลปฎิเสธไม่ได้ 

ในสมัยนั้น รัฐบาลสยามได้มีทุนสำรองมั่นคงนัก คือ นอกจากเงินตราต่างประเทศแล้วยังมีทองคำอีกด้วย คือมีหลักทรัพย์อันมีค่า 100% ซึ่งไม่หวั่นเกรงแม้จะมีผู้เอาธนบัตรที่ออกใช้ทั้งหมดมาแลกทุนสำรอง แต่ในระหว่างสงครามที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ระบบเงินตราของไทยก็เหมือนกับอีกหลายประเทศในโลก คือใช้ระบบควบคุม กล่าวคือ ผู้ถือธนบัตรไทยไม่มีสิทธิที่จะขอแลกเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรอง รัฐบาลยอมให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ตามที่รัฐบาลเห็นสมควร เพื่อไม่ต้องเอาทุนสำรองที่มีอยู่เดิมมาจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยน รัฐบาลอาจทำได้โดยรักษาดุลยภาพแห่งมูลค่าที่มีผู้เอาเงินบาทมาขอแลกเงินตราต่างประเทศที่รัฐบาลได้รับมา เช่น ได้รับมาจากการขายสินค้าแก่ต่างประเทศ เป็นต้น 

ถ้ารัฐบาลรักษาดุลยภาพเช่นนี้ไว้ไม่ได้ คือมีการแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศเกินกว่ามูลค่าที่รัฐบาลได้รับแล้วก็จะต้องจำหน่ายทุนสำรอง และในที่สุดทุนสำรองก็หมด ตามปกติ ชาติไทยเราอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในทางการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศอยู่แล้ว ถ้าเราดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมดา โดยไม่ถ่วงตาเต็งแห่งอำนาจให้หนักไปข้างใด อันเป็นการทำให้ดุลยภาพทางการเศรษฐกิจและการค้าเสียไปแล้ว เราก็รักษาดุลยภาพในการแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก ดังนั้น การรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้ให้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแก้ไขความหนักใจของรัฐบาลในดุลยภาพทางการคลังและทางงบประมาณ

เนื่องจากเราเสียดุลยภาพไปมากในระหว่างสงคราม จึงเป็นเหตุให้ค่าเงินบาทตกต่ำไป ต่อมาจนภายหลังสงครามด้วยซึ่งปรากฏว่าเงิน 18 บาท ถึงจะแลกดอลล่าร์ ส.ร.อ. ได้ 1 เหรียญ แต่บางรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนรัฐประหาร (พ.ศ. 2490) ได้ใช้วิธีรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจและเศรษฐกิจ จึงทำให้ค่าของเงินบาทสูงขึ้น คือเงิน 10 บาทแลกได้ 1 ดอลล่าร์ แต่บัดนี้ ราษฎรไทยต้องจ่ายถึง 21-22 กว่าบาท จึงจะแลก หนึ่งดอลล่าร์ ส.ร.อ.โดยมีความหวังว่ารัฐบาลจะรักษาดุลยภาพต่างๆ ดังที่กล่าวแล้วไว้แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เสนอต่อราษฎรและรัฐบาลในการที่จะเอาทองคำบางประเภท ที่ชาติไทยมีอยู่มาลงทุนขุดคลองกระดังกล่าวในข้างบนนี้

เพื่อความเข้าใจของสามัญชนว่า ชาติไทยมีทองคำอยู่ในเวลานี้อย่างไรบ้างนั้น ข้าพเจ้าจึงลองนึกเค้าๆ จะขอเล่าสู่กันฟัง ถ้าความจำของข้าพเจ้าเลือนไปบ้างก็ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยให้ด้วย

 

ก.

ในสมัยก่อนที่ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ทุนสำรองเงินตราของไทยเอาฝากไว้เป็นเงินปอนต์เสตอรลิงค์ในอังกฤษแทบทั้งสิ้น เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งที่กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาเห็นว่าวิธีดังกล่าวนั้นเป็นการทำให้เงินตราและเศรษฐกิจของไทยต้องตกอยู่ภายใต้เงินอังกฤษอย่างสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น ถ้าเงินอังกฤษเสื่อมราคาลงไป เงินไทยก็จะต้องเสื่อมราคาด้วย 

ข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้ธนาคารตัวแทนรัฐบาลไทยในอังกฤษเอาเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองเงินตราส่วนหนึ่งซื้อเป็นทองคำประมาณ 15 ล้านกรัม แล้วนำมาเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง ณ กรุงเทพฯ ต่อมาเงินปอนด์เสื่อมราคาลง โดยอังกฤษได้ลดค่าของเงินปอนด์ที่แลกเปลี่ยนกับเงินดอลล่าร์ ส.ร.อ. ประมาณปอนด์ละ 20 เซ็นต์อเมริกัน จึงทำให้ทองคำที่ข้าพเจ้านำมาเก็บไว้ ณ กรุงเทพฯ นั้น มีราคาสูงขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับเงินปอนด์ อันทำให้ชาติไทยได้มีกำไรจำนวนมากและทำให้ค่าแห่งทุนสำรอง เงินตราไทยสูงขึ้น 

นอกจากนี้ก่อนที่อังกฤษจะลดค่าเงินปอนด์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังถึงฐานะของเงินอังกฤษ เห็นว่าอังกฤษจะต้องลดค่าในเร็ววัน จึงได้ส่งโอนเงินปอนด์อีกส่วนหนึ่งไปเป็นเงินเหรียญอเมริกันเป็นการด่วน โทรเลขของข้าพเจ้าไปถึงลอนดอนประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนอังกฤษประกาศลดราคาเงิน จึงสามารถโอนเงินปอนด์บางส่วนไปเป็นเงินดอลล่าห์อเมริกัน ซึ่งชาติไทยได้มีกำไรส่วนหนึ่ง

เมื่อรัฐบาลสมัยก่อนโน้นประกาศสงครามกับอังกฤษ อังกฤษจึงได้ยึดเงินของไทยที่ฝากไว้ในอังกฤษ แต่ทองคำที่เราเอามาเก็บไว้ในกรุงเทพฯ ก็ได้รอดพ้นจากการยึดของอังกฤษ และข้าพเจ้าคิดว่ายังอยู่เรียบร้อยที่ห้องนิรภัยของชาติไทยจนถึงทุกวันนี้ ทองคำประเภทนี้ก็ยังไม่ควรที่รัฐบาลจะแตะต้องคือ ควรรักษาไว้เพื่อความจำเป็นอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในกาลภายหน้า

 

ข.

เมื่อ พ.ศ. 2481 เนื้อเงินมีราตาตกต่ำลงเรื่อยๆ รัฐบาลไทยขณะนั้นมีเงินเหรียญบาทอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อคิดเป็นเนื้อเงินก็มีราคาประมาณบาทละ 40 สตางค์ ราษฎรก็ไม่นิยมเหรียญบาท เหรียญบาทจึงค้างอยู่ที่กระทวงคลังประมาณ 40 กว่าล้านเหรียญ ข้าพเจ้าจึงได้ส่งเอาเหรียญเหล่านั้นไปขายแล้วซื้อเป็นทองคำได้ประมาณ 9 ล้านกรัมเศษ เอาฝากไว้ที่ ส ร.อ. ทองคำงวดนี้รัฐบาลก็ยังไม่ควรแตะต้องเช่นเดียวกับที่กล่าวในข้อ ก.

 

ค.

เมื่อก่อนญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์นั้น ญี่ปุ่นได้ถูกอังกฤษ อเมริกันกักเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น ญี่ปุ่นไม่มีเงินตราต่างประเทศที่จะมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อซื้อข้าวสาร ญี่ปุ่นจึงได้มาเจรจากับรัฐบาลไทยขณะนั้นเพื่อขอเอาเงินเย็นมาแลกเป็นเงินบาท ข้าพเจ้าเห็นว่าเงินเยนไม่มั่นคงจึงเกี่ยงญี่ปุ่นว่า ถ้าญี่ปุ่นจะเอาเงินบาทก็ให้เอาทองคำมาแลก ญี่ปุ่นไม่พอใจ แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอม ตกลงว่าทองคำส่วนหนึ่งให้ขนเอามากรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งให้ฝากไว้ในธนาคารที่ญี่ปุ่น แต่ยังไม่ทันที่จะได้ขนทองดังกล่าวนั้นมา พอดีเกิดสงคราม การขนทองก็คงชะงักไป และคงฝากไว้ที่ญี่ปุ่นข้าพเจ้าประมาณเค้าๆ เห็นจะราวๆ 3 ล้านกรัม ทองคำยอดนี้เอามาลงทุนขุดคลองได้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรา

 

ง.

ในระหว่างสงครามญี่ปุ่นได้บังคับให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินบาทแลกกับเงินเยนที่เรียกว่าบัญชีเงินเย็นพิเศษจำนวนมากมาย อันเป็นมูลเหตุสำคัญทำให้เงินบาทต้องเสื่อมค่าลงอย่างมากมาย และ เรื้อรังมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลในสมัยหลังเคยมาหารือถึงการที่ญี่ปุ่นขอเงินอีก ข้าพเจ้าก็แนะไปว่าให้เกี่ยงเอาทองคำมาแลก ญี่ปุ่นก็ยอมให้ทองคำบางส่วน และเอาขึ้นบัญชีเงินเยนพิเศษบางส่วน ข้าพเจ้าหนักใจว่าถ้าเสร็จสงครามแล้วทองคำประเภทนี้ของไทยที่ฝากไว้ในญี่ปุ่นก็คงสูญ เพราะญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายแพ้แน่นอน และสัมพันธมิตรก็คงจะยึดทองคำนี้ โดยอาจอ้างตามนิตินัยว่าสืบเนื่องจากรัฐบาลไทยครั้งก่อนโน้นร่วมรบกับญี่ปุ่น 

ข้าพเจ้าคิดดูเห็นว่าทางออกที่จะพออ้างกับสัมพันธมิตรได้ ที่คงมีบันทึกไว้ว่าเงินที่จ่ายให้ญี่ปุ่นในตอนที่รัฐบาลมาหารือกับข้าพเจ้านั้น เราจ่ายให้ไปเพราะญี่ปุ่นเอาไปซื้อข้าวให้ราษฎรมลายูและอินโดนีเซีย ประกอบด้วยความจริงก็ปรากฏจากหนังสือของญี่ปุ่นที่แจ้งมาว่าจะเอาไปซื้อข้าวสารให้ราษฎรเหล่านั้น พร้อมกันนั้นข้าพเจ้าก็ได้โทรเลขลับบอกไปยังกองบัญชาการของสัมพันธมิตรที่แกนดีถึงการที่ฝ่ายไทยต้องจ่ายเงินให้ญี่ปุ่นซื้อข้าวสาร เพื่อราษฎรของสัมพันธมิตรเอง เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สัมพันธมิตรผู้ยึดครองประเทศญี่ปุ่นก็ได้ยึดทองคำที่เราฝากไว้ในญี่ปุ่น รวมทั้งทองคำรายนี้ด้วย 

ต่อมาได้มีอเมริกันคนหนึ่งที่เคยทำงานอยู่ในกองทัพสัมพันธมิตรที่โตเกียว ได้เสนอต่อเอกอัคราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตันว่าสามารถที่จะหาทางเจรจาให้รัฐบาลไทยได้ทองคำที่ฝากไว้ในญี่ปุ่นโดยเขาขอค่านายหน้าบ้าง ข้าพเจ้าทราบว่ารัฐบาลไทยที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารได้พิจารณาเห็นว่า ทองคำประเภทนี้ต่างกับประเภทที่กล่าวในข้อ ค. เพราะได้ไว้ในระหว่างสงคราม ถ้าชาติไทยได้ทองคำจำนวนนั้นมาโดยเสียค่านายหน้าเพียงเล็กน้อยก็สมควร นายหน้าคนนี้ได้เดินทางมาพบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ แล้วขอโอกาสมาพบข้าพเจ้า เพื่อรอความเห็นว่าเหตุผลที่จะอ้างประกอบนั้นมีอะไรบ้าง 

นอกจากเหตุผลส่วนที่เขาคิดไว้ ข้าพเจ้าจึงได้มีแจงถึงเหตุผลว่า ทองคำของเรานั้นไม่ใช่แลกกับเงินที่ช่วยญี่ปุ่นในการรบ แต่เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นเอาเงินไปซื้อข้าวสารให้ราษฎรในมลายูและอินโดนีเซีย นายหน้าผู้นั้นพอใจมากที่ได้ข้ออ้างซึ่งข้าพเจ้าได้แนะให้เขาไปติดต่อรัฐบาลเพื่อขอดูหลักฐานที่กระทรวงการคลัง ต่อมาอีกไม่กี่วันก็เกิดรัฐประหาร 

ข้าพเจ้าไม่รู้แน่ชัดว่ารัฐบาลต่อมาได้ตกลงกับนายหน้าคนนั้นอย่างไรบ้าง ชาติไทยจึงได้ทองคำประเภทนี้คืนมาแล้วนำไปฝากไว้ยัง ส.ร.อ. (ข้าพเจ้าคิดว่านายหน้าคนนี้คงเอาเหตุที่เราอ้างเอาเงินบาทให้แก่ญี่ปุ่นเพื่อซื้อข้าวให้แก่ราษฎรสัมพันธมิตร เป็นเหตุสำคัญในการเจรจา)

ข้าพเจ้ากะว่าทองคำประเภทนี้มีประมาณ 30 ล้านกรัมเศษ ถ้าขายยังตลาดเสรีที่มีราคาสูงกว่าราคาทางการของ ส.ร.อ. แล้วเราจะได้เงินตราต่างประเทศ 30 ล้านเหรียญอเมริกา อันจะเป็นทุนสำหรับขุดคลองกระได้ 

 

จ.

ยังมีทองคำแท่งและเงินอยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินสำรองเงินตราเลย ข้าพเจ้าได้สอบสวนแล้วได้ความว่า ทองคำแท่งและเงินแท่งเหล่านี้เป็นของเจ้าประเทศราชแห่งเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และระยะต่างๆ ในบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ที่ได้นำมาในนามของราษฎรแห่งหัวเมืองเหล่านั้น ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ไทยตามระบบศักดินา 

ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าเงินและทองเหล่านั้นจะมีน้ำหนักเท่าใด เงินทองเหล่านี้เดิมเก็บไว้ ณ ห้องนิรภัยเก่าของกระทรวงการคลังมาหลายสมัยแล้ว เจ้าคุณประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ท่านเป็นสนมเอกแต่ผู้เดียวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านได้เห็นทองแท่งและเงินแท่งชนิดนี้มาก ท่านเล่าว่าเวลานั้นท่านเป็นเด็กไม่รู้จะเอาทองแท่งไปทำอะไร ท่านจึงเอาทองคำบางแท่งมาใช้เป็นที่ทับชายมุ้งเพื่อกันไม่ให้มุ้งปลิว 

ทั้งนี้ก็แสดงว่าทองคำและเงินแท่งชนิดนี้มีอยู่มาก ข้าพเจ้าคิดว่าราษฎรในภาคพายัพและภาคอีสานคงจะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวว่าทองคำแท่งและเงินแท่งซึ่งเจ้าประเทศราชในสมัยก่อนได้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชบรรณาการในนามของพี่น้องเหล่านี้ยังคงมีเหลืออยู่ที่ยังมิได้เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ถ้าหากรัฐบาลจะได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อนำเอาทองคำแท่งและเงินเหล่านี้เปลี่ยนสภาพให้เป็นทุนส่วนหนึ่งของคลองที่จะขุดใหม่ก็จะได้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติไทยเป็นส่วนรวมและจะนำมาซึ่งความปลื้มปิติของราษฎรในภาคต่างๆ ที่ได้มีส่วนในการนี้ด้วย

ฉะนั้น ถ้าหากทองคำแท่งตามที่กล่าวข้างต้นยังไม่พอเป็นทุนในการขุดคลอง (แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพอ) ข้าพเจ้าเห็นว่าการขุดคลองนั้นไม่ใช่ว่าเราจะต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างทันทีรวมทั้งหมด คือจะจ่ายเป็นงวดๆ ไปตามโครงการ ในระหว่างนั้นรัฐบาลก็มีเวลาหาทางประหยัดรายจ่ายแผ่นดินที่ไม่จำเป็นเอามาใช้ในการนี้โดยไม่ต้องเพิ่มภาษีอากรหรือลดเงินเดือนข้าราชการ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลสามารถทำได้ เพราะหวังว่าคงจะมีหลายท่านที่จะเจริญรอยตามเจ้าคุณพหลฯ ในการเทิดทูนชาติเหนือบุคคล โดยกาย, วาจา, ใจ

5.

ข้าพเจ้าหวังว่า ในการที่เอาทองคำส่วนที่ไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรามาเป็นทุนในการขุดคลองกระนี้ นอกจากชาติไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ยังจะมีประโยชน์ทางอ้อมอีกมากหลายรวมทั้งจะเป็นการทำให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การค้าและเศรษฐกิจที่ฝืดอยู่ในขณะนี้ได้กระเตื้องขึ้นอีกการนี้ การนี้จะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกวรรณะ เจ้าสมบัติ หรือผู้มีทุนน้อย หรือวรรณะไร้สมบัติ แม้ว่าชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ชาวอาเซียนทุกชาติทุกภาษาที่มาทำการค้าและวิสาหกิจ พึ่งโพธิสมภารของชาติไทยอยู่ในเวลานี้ ก็จะพลอยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของชาติไทยในการสร้างคลองกระ โดยทุนของชาติไทยเองดังกล่าวแล้วนั้นด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์
(นายปรีดี พนมยงค์)
 

ที่มา: จดหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. เขียนเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เรื่อง “แผนขุดคอคอดกระ” ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “ชีวิตและงานของดร.ปรีดี พนมยงค์” โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552) หน้า 305-321

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ