ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พระเจ้าช้างเผือก : ภาพยนตร์แห่งสันติภาพท่ามกลางกองเพลิงสงคราม

2
เมษายน
2564

 

ฉากกระทำยุทธหัตถีบนคอช้างระหว่างพระเจ้าจักรากับพระเจ้าหงสา
ฉากกระทำยุทธหัตถีบนคอช้างระหว่างพระเจ้าจักรากับพระเจ้าหงสา

 

ในประเด็นสำคัญของเราที่สะท้อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สร้างเมื่อ 70 ปีมาแล้ว (สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2553-บรรณาธิการ) ในฉากสุดท้ายเป็นฉากจบของการ “ชนช้าง” ที่ทำให้เป็นเรื่องของ “สงครามและสันติภาพ” ให้เป็นเรื่องของ “สงคราม” ระหว่าง “กษัตริย์กับกษัตริย์” ด้วยกัน ไม่ใช่ระหว่าง “ประชาชนกับประชาชน” หรือคำในสมัยนั้นคือ “ราษฎรกับราษฎร”

เรื่องอะไรจึงจะให้ “ประชาชนรบกับประชาชน” หรือ “ราษฎรรบกับราษฎร” ใช่ไหมครับ  ท่านปรีดีแต่งเรื่องให้กองทัพของ กลุ่มอโยธยา มีพระเจ้าจักราเป็นฝ่าย “ธรรมะ” ทางฝ่ายกองทัพของพระเจ้าหงสาเป็น “ฝ่ายอธรรม” เมื่อทั้งสองกองทัพมาเผชิญหน้ากันทำไมต้องให้ประชาชนราษฎรมาเดือดร้อน หรือ “หญ้าแพรกต้องแหลกลาญ” ทำไมหัวหน้ากับหัวหน้าไม่มาดวลกันเอาให้รู้แพ้รู้ชนะกันไป ประชาชน/ราษฎรจะได้ไม่เดือดร้อน

ผมว่าตรงนี้สำคัญมากๆ เป็นสาร หรือ message เป็นแนวคิดที่ท่านปรีดีต้องการสื่อและใส่เข้าไปในภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” หรือ The King of the White Elephant สำคัญมากสำหรับสมัยโน้นและยังเป็น “อมตะ” มาจนถึงสมัยนี้ ด้วยปัญหาดังกล่าวยังเป็นจริงและยังอยู่กับเรา

 

ปรีดี พนมยงค์ ในกองถ่ายพระเจ้าช้างเผือก
ปรีดี พนมยงค์ ในกองถ่ายพระเจ้าช้างเผือก

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นมาใน “บริบท” บรรยากาศของสงคราม สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นแล้วในยุโรป ใต้ของอังกฤษรบกับฝ่ายเยอรมันนีแล้ว ตอนนั้นในเมืองไทยเป็นสมัยรัฐบาลของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ก่อนที่จะเป็นจอมพลป. พิบูลสงคราม หลังจากไปยึดดินแดนในเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณในกัมพูชา กับนครจัมปาศักดิ์ และไซยะบุรี/ล้านช้างในลาวมาได้) ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนท่านปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ก่อนที่สงครามโลกจะระบาดเข้ามาในอุษาคเนย์บ้านเรานั้น ท่านปรีดีได้เขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มชื่อ The King of the White Elephant เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และต่อมาก็นำมาทำเป็นภาพยนตร์เสียงขาว-ดำ ผมคิดว่าเป้าหมายของท่านในเวลานั้นคือ ต้องการบอกให้มหาอำนาจในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและอเมริการับรู้ว่าไทยหรือสยามอยู่ตรงไหนในบรรยากาศของสงครามและการแบ่งค่ายในโลก ช่วงนั้นจะเป็นช่วงประมาณที่นามทางราชการของประเทศสยาม-Siam จะถูกเปลี่ยนเป็นประเทศไทย-Thailand (เปลี่ยนเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 คล้ายๆ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถูกจับเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉยๆ ในปี พ.ศ.  2495 นั่นแหละครับ)

สงครามกำลังคืบคลานเข้ามาในอุษาคเนย์ สงครามได้เกิดขึ้นในยุโรป กองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ แล้วก็เข้ายึดครองฝรั่งเศส สงครามเกิดในเมืองจีนแล้วเช่นกัน กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าแมนจูเรีย ยึดเกาหลีและไต้หวันไว้เป็นเมืองขึ้น สงครามกำลังเข้ามาในภูมิภาคเรา ดังนั้นในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนี้ ท่านปรีดีก็ต้องการแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยรักสันติภาพ ฉะนั้น The King of the White Elephant หรือ พระเจ้าช้างเผือก ของท่านจึงพยายามส่ง messages ในแง่ว่า “สงครามและสันติภาพ” นั้นเราชาวไทยต้องการ “สันติภาพ”

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายได้ไม่เท่าไหร่ (ฉายประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2484) ประเทศไทยถูกบุก กองทัพญี่ปุ่นบุกตลอดแนวอ่าวไทย จากบางปูไล่ลงไปยังประจวบฯ นครศรีธรรมราช และปัตตานี กองทัพญี่ปุ่นบุกเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.  2484 พร้อมๆ กันนั้น ในวันและเวลาเกือบจะเดียวกัน แสนยานุภาพทางอากาศของญี่ปุ่น ก็บินไปถล่มโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในเกาะฮาวายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไป แล้วก็เข้าโจมตีมลายู กับสิงคโปร์ของอังกฤษด้วยพร้อมๆ กัน

ตรงนี้แหละที่ทำไมดินแดนไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าใช้ประเทศเราเป็นฐานทัพ เพื่อลงใต้เข้าไปตีมลายูและสิงคโปร์ กับขึ้นเหนือไปตีพม่าของอังกฤษ และบุกเข้าไปจนถึงแถบที่เขาเรียกว่า นากาแลนด์ (Nagaland) ทางภาคอีสานของอินเดีย ดังนั้น ประเทศของเราก็ตกอยู่ในสภาพสงคราม ต้องกลายเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ยอมให้มีการสร้างรถไฟสายมรณะ (Death Railways) สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว  (Bridge on the River Kwai) เริ่มต้นตอกหมุดสร้างกันใกล้ๆ บ้านผม ที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไปจนถึงพม่า ไปเมืองเย และเมืองมะละแหม่ง-เมาะตะมะ

อย่างที่ผมเล่ามาแล้วว่า ท่านปรีดีก็เริ่มปฏิบัติการแบบใต้ดินตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” (Free Siamese Movement หรือ Free Thai Movement) ในภาษาการเมืองตอนนี้เขาเรียกว่าท่านปรีดีถูก “เตะโด่ง” ขึ้นไป คือต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่าลืมว่าตอนเป็นรมต. คลัง และเป็นผู้สร้างเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น เนื่องจากสมัยนั้นกระทรวงการคลังยังอยู่ในวังหลวง ดังนั้นท่านก็ใช้ฉากที่วัดพระแก้วถ่ายทำ outdoor บางตอนพร้อมๆ กับที่โรงถ่ายของกองทัพอากาศที่ทุ่งมหาเมฆ เป็นฉาก indoor ส่วนฉากฝูงช้างมโหฬาร หรือ “ช้างบุก” ก็ถ่ายทำที่จังหวัดแพร่ เพราะ ส.ส. จังหวัดแพร่ มีความสนิทสนมชอบพอกับอาจารย์ปรีดี

ในช่วงสงครามเมื่อญี่ปุ่นบุกนั้น ท่านปรีดีถูกออก และถูก “เตะโด่ง” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 พระองค์และพระชนนี พระพี่นาง พระเจ้าน้องยาเธอ (รัชกาลที่  9) ต่างก็พำนักอยู่ใน สวิตเซอร์แลนด์ (มาตั้งแต่พ.ศ. 2476 แล้ว)

สวิตเซอร์แลนด์ประกาศเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายใด ในสมัยนั้น ชาติและประชาชนสวิตฯ ก็รอดจากภัยสงครามไปได้ และรัชกาลที่ 8 กับพระบรมวงศานุวงศ์ ของไทยก็ทรงปลอดภัยดี ในขณะที่ทางเมืองไทยนั้น ท่านปรีดีดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และก็ใช้โอกาสนี้เป็นผู้นำ “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้น ง่ายๆ ก็คือปฏิบัติงานแทนพระมหากษัตริย์และทำการ “กู้ชาติ” ไปพร้อมกัน

หนังเรื่องนี้เป็นหนังเสียง นับว่า “สมัยใหม่” มากๆ ผมคิดว่านี่ก็ผ่านมาราว 70 ปีแล้ว แต่ในแง่เทคนิคก็สวยงามมากๆ นะ คิดว่าเพลงประกอบเพราะมากทีเดียว นอกจากจุดเด่นของการถ่ายทำมุมกล้อง การถ่ายตอน “ช้างบุก” ช้างเคลื่อนพล มุมกล้องเยี่ยมมากๆ เหมือนกับช้างจะเหยียบเราที่เป็นคนดู ไม่ทราบว่าช่างกล้องต้องขุดหลุมลงไปถ่ายเพื่อเอามุมต่ำหรืออย่างไร ทราบว่าคนที่ถ่ายช้างเป็นคนที่เรียนจบจากเมืองนอกในสมัยนั้น เข้าใจว่าไปเรียนที่ฮาร์วาร์ดด้วยซ้ำ

ส่วนเพลงประกอบก็เยี่ยมยอด เพราะได้พระเจนดุริยางค์ ผู้แต่งทำนอง (ไม่ใช่เนื้อร้อง) ของ “เพลงชาติ” มาอำนวยเพลง (พระเจนดุริยางค์ มีชื่อและสกุลว่า ปิติ วาทยะกร เป็นคนไทย “ยปม.” คือพ่อเป็นเยอรมัน แม่เป็นมอญ ชื่อเดิม ปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit เกิด 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ตาย 25 ธันวาคม พ.ศ. 2511 = 1883-1968) ท่านใช้เพลงคลาสสิกเป็นแบคกราวด์เยอะเลย เข้าใจว่าคนอย่าง ดร.สุกรี เจริญสุข (แห่งมหิดล) จะชอบเพลงจากหนังเรื่องนี้มาก อาจารย์บอกได้ทันทีว่าอันนั้นเอามาจากอันนี้ อันนี้เอามาจากอันโน้น

จุดเด่นอันหนึ่งคือเอาเพลงเก่าจากสมัยอยุธยาซึ่งปรากฏเป็นตัวโน้ตเพลงจากเอกสารของซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (ดูหนังสือแปลเรื่อง “จดหมายเหตุลาลูแบร์”) ซึ่งเข้ามาสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เอาโน้ตนั้นมา “re-arranged” ใหม่ ใช้ประกอบภาพยนตร์คล้ายเป็น “overture” คือขึ้นต้นแล้วก็เอาลงท้ายด้วย แค่ฟังเพลงอย่างเดียวก็อิ่มแล้ว

สำหรับ messages หรือ “สื่อและสาร” ที่ท่านปรีดีต้องการบอกให้โลกตะวันตก (โดยเฉพาะมหาอำนาจเก่าคืออังกฤษ และมหาอำนาจใหม่คือสหรัฐอเมริกา) รู้ว่าสยามต้องการ “สันติภาพ” ไม่ต้องการ “สงคราม” ไปสู่ความขัดแย้งของมหาอำนาจนั้นๆ และไทยก็ได้ประกาศ “เป็นกลาง” แบบเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่ความเป็นกลางของเราก็ถูกทำลายในที่สุดก็ “ไหนๆ ก็ไหนๆ” รัฐบาลไทยก็เลยเข้ากับญี่ปุ่นไปโดยการนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ของท่านปรีดี มีนักแสดงกิตติมศักดิ์เป็นอาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญก็มี พวกนักเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็มี นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็มีเป็นตัวประกอบเยอะ ส่วนตัวนางเอกเรียน ตมธก. เป็น “ดาว” ยุคสงครามโลก สวยมาก เธอเป็นลูกครึ่งเชื้อสายเดนมาร์ก ชื่อ ไอรีน นิลเสน ภายหลังเธอได้ชื่อนามสกุลไทยว่า “ไพริน นิลรังสี”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งฉายในโลกตะวันตกด้วย เพราะทราบว่าฟิล์มเก่าไปตกค้างค้นพบมาได้ใหม่ในสวีเดนและสหรัฐฯ ส่วนเมืองไทยเราไม่มีการเก็บไว้แต่อย่างใด ผมเข้าใจว่าบรรดาข้าราชการ กต. ของสหรัฐอเมริกาได้ดูกันจึงมีส่วนทำให้อเมริกามีทัศนคติที่เป็น “บวก” กับไทยมาก ไม่ต้องปรับไทยให้เป็นผู้แพ้สงครามหรือจับผู้นำไทยมาประหารชีวิตแบบญี่ปุ่นโดน ดังนั้น หนังเรื่องนี้จึงมีคุณูปการทางประวัติศาสตร์มหาศาล

แน่นอนเมื่อท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า ล้มสถาบัน” อะไรอย่างนี้ หนังเรื่องนี้ก็หายไป ไปโผล่ครั้งแรกที่ปารีสที่ผมเองก็บังเอิญได้ดู ท่านปรีดีนั้นย้ายที่พำนักลี้ภัยการเมืองจากจีนไปอยู่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ช่วงนั้นผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คอร์แนล ผมผ่านไปที่ปารีสแล้วก็ได้ไปดูเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมาก ไม่เคยคิดว่ามีหนังอย่างนี้อยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ครั้นต่อมาบรรยากาศการเมืองเริ่มปิด เมื่อรัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร เริ่มตกต่ำพอที่เราๆ ท่านๆ จะเริ่มพูดถึงเรื่องของท่านปรีดีได้ เราก็เอามาฉายที่สยามสมาคมที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ได้เผยแพร่ต่อมา เพราะว่าภาพลักษณ์ของอาจารย์ปรีดีที่ถูกกล่าวร้ายป้ายสี ใส่ความเกี่ยวกับเรื่องสถาบันและเจ้าก็ถูกแก้ไขโดยลูกศิษย์ลูกหาและนักวิชาการที่มีใจเป็นธรรมทำให้เราพูดถึงท่านปรีดีได้ เอาเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่หายไปจากสยามเมืองไทยของเรา กี่ปีเล่า น่าจะ 30-40 ปี ได้กระมัง หายประมาณกว่าหนึ่งชั่วอายุคนทีเดียว (one generation) นำกลับมารื้อฟื้นความทรงจำให้ “ถูกต้อง” กันเสียใหม่

 

 

ขอกล่าวเสริมอีกว่า เราต้องไม่ลืมบริบททางการเมืองโลกในสมัยนั้น global context ซึ่งยังเป็นสมัยของ “สันนิบาตชาติ” หรือ The League of Nations ในโลกใบนี้สมัยนั้น ประเทศเอกราชมีไม่กี่ประเทศ ยังไม่ใช่สมัยสหประชาชาติหรือซึ่งปัจจุบันมี 200 กว่าประเทศเอกราช สมัยก่อนนั้นมีอยู่ไม่กี่ประเทศ ประเทศเล็กประเทศน้อยที่เป็นทั้งราชอาณาจักรหรือ “สาธารณรัฐ” ในเอเชียและแอฟริกาสมัยนั้นแทบจะยังไม่มีเลยไม่มีเลย

(ขอแทรกว่า “สันนิบาตชาติ” ซึ่งสยามประเทศก็เป็นสมาชิกด้วยนั้น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2463 = ค.ศ.1920 มีชีวิตอยู่ 26 ปี จนถึงพ.ศ. 2489 = ค.ศ.1946 คืนละจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดครั้งที่ 2 มีสมาชิกมากที่สุดจำนวน 58 ประเทศ ในขณะที่สหประชาชาติปัจจุบันมี 192 ประเทศ (ประเทศมอนเตเนโกรเป็นอันดับล่าสุดที่ 192!) หมายความว่ามีประเทศเกิดหมายถึง 134 ประเทศ และทำท่าว่าจะเกิดตามมาอีก หลังจากกำเนิดล่าสุดของ East Timor ในปีค.ศ. 1999 = พ.ศ. 2542)

โลกสมัยนั้น มีแต่มหาอำนาจในยุโรปกับอเมริกา มียักษ์ใหญ่อย่างอังกฤษ ตั้งป้อมปราการอยู่สิงคโปร์ แต่ก็ถูกญี่ปุ่นตีแตกย่อยยับ มีฝรั่งเศสตั้งป้อมอยู่ไซ่ง่อนและฮานอย แล้วก็มีสหรัฐอเมริกาตั้งป้อมอยู่ฟิลิปปินส์ และเพิร์ลฮาร์เบอร์ในเกาะฮาวาย มีฮอลันดาตั้งป้อมอยู่จาการ์ตา ส่วนประเทศใหญ่ๆ อย่างอินเดีย ก็ยังเป็นอาณานิคมอยู่ จีนเองก็สะบักสะบอมถูกฝรั่งหลายชาติย่ำยีตกต่ำ กำลังอยู่ในสงครามกลางเมือง ขณะนั้น จีนคณะชาติของเฉียงไคเช็ค สู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นและยังสู้กับจีนคอมมิวนิสต์ของเหมาเจอตุงด้วย บรรยากาศตอนนั้นมหาอำนาจคือโลกตะวันตก และดังนั้น ท่านปรีดีต้องการสื่อสารถึงโลกตะวันตกซึ่ง “นัมเบอร์วัน” ตอนนั้นก็คืออังกฤษ ก่อนที่อเมริกาจะขึ้นเป็นนัมเบอร์วันแทน

ผมว่าเรื่องพระเจ้าช้างเผือกไม่มีอะไรซับซ้อน เอาเข้าจริงๆ แล้วก็คือ “สงครามชนช้าง” สมัยพระเจ้าสุริโยไท สมัยพระเจ้าจักรพรรดิ สมัยพระเจ้าอุปราชแค่นั้น แต่ท่านปรีดีเอามาแปลง เอาเนื้อเรื่องมาตีความใหม่ อย่างเช่นว่า พระเอกคือพระเจ้าจักรพรรดิเป็น “ฝ่ายธรรมะ” ผู้ร้ายคือพระเจ้าหงสา “ฝ่ายอธรรม” แทรกอะไรเข้าไปน่าสนใจดี เช่น ฉากพระเจ้าช้างเผือกเสด็จออกว่าราชการ พวกบรรดาข้าราชสำนักก็ยืนเฝ้า ไม่ใช้หมอบคลาน จะว่าไปก็ไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ แต่ถ้าจะตีความ ก็คือ นี่เป็นความคิดที่สมัยใหม่หรือ “modern” มากๆ เหมือนๆ กับรัชกาลที่ 5 ที่เมื่อขึ้นของราชย์ครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2416 (จ.ศ. 1235) ก็ทรงมีประกาศ “ให้ผู้น้อยเลิกหมอบคลาน กราบไหว้ ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์” (ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 1 วันจันทร์ เดือน 8 แรมค่ำ 1 ปีจอ ฉศก 1236 แผ่นที่7)

ฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนความคิดสมัยใหม่-โมเดิร์น ของคนเขียนบท คนสร้าง ตอนจบก็ “แฮปปี้เอนดิ้ง” คือพระเอกได้นางเอก “ธรรมะก็ชนะอธรรม” พระเจ้าหงสาก็แพ้ไป พวกประชาชนราษฎรไพ่ หรือหญ้าแพรก ก็ไม่ต้อง “แหลกลาญ” ฝ่ายกองทัพราษฎร-ไพร่หงสา ก็ดีใจได้กลับบ้าน เป็นเมสเสจอย่างนี้ครับ “ธรรมะกับอธรรม”

แต่ว่าข้างหลังภาพยนตร์เรื่องนี้สำคัญกว่า คือเส้นทางของมหาบุรุษปรีดี พนมยงค์ นั้น ยอกย้อน ซับซ้อน ลดเลี้ยว เคี้ยวคด มีทั้งได้รับคำชม ทั้งถูกด่าทอ กล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีแล้วก็ตกระกำลำบาก ท่านปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองอยู่เมืองจีนถึง 21 ปี (พ.ศ. 2492 - 2513 = 1949 - 1970) ดังปรากฏในหนังสือที่ท่านเขียนเรื่อง “21 ปีในเมืองจีน” (MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D'EXIL EN CHINE POPULAIRE, France, 1972) จากนั้นท่านก็ไปอยู่ฝรั่งเศสอีกตั้งแต่ปี 2513 จนสิ้นชีวิต 2526 อีก 13 ปีในฝรั่งเศส (1913 - 1983)

โดยส่วนตัวต้องเรียกว่าผมโชคดีคือ (หนึ่ง) ได้พบท่านตอนท่านไปอยู่ปารีสครั้งแรก ก็ได้นำบทสัมภาษณ์ครั้งนั้นมาเขียนและตีพิมพ์ไว้หลายครั้ง และได้ขึ้น website/e-library (สอง) เมื่อท่านสิ้นชีวิตในปีพ.ศ. 2526 ผมก็ไปปารีสในฐานะส่วนตัว ไปงานเผาศพท่านที่ปารีส ซึ่งเรียบง่าย ธรรมดามากสมัยนั้น เมื่อท่านสิ้น ต้นเดือนพฤษภาคม 2526  ผมคิดว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ทั้งรัฐบาลสมัยนั้นก็กลัว ไม่กล้าออกมาแสดงอะไรในการให้เกียรติกับท่าน ไม่กล้าแสดงออกแม้แต่ว่าจะรับรู้หรือรับทราบเกี่ยวกับคุณูปการของมหาบุรุษท่านนี้ ต่างก็อ้ำๆ อึ้งๆ

แต่ช่วงหลังๆ นี้ก็เรียกว่าก็ดีขึ้น เราสามารถพูดถึงผลงานของท่านได้เต็มปาก และผู้ที่จะคอยกล่าวหาใส่ร้ายเรื่อง “ล้มเจ้าและล้มสถาบัน” ก็เพลาๆ ไป หรือไม่ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กระซิบกระซาบเป็น “พงศาวดารกระซิบ” ในช่วงหลังนี้มีการนำเอา The King of the White Elephant  มาดูกันบ่อยครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อเป็นบทเรียน เพื่อที่เราจะทบทวนถึงเส้นทางเดินอันขลุกขลักของระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยของเราครับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ที่มา: “110 ปี ชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ สัมภาษณ์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”. ใน, “เผือกทั้งแผ่นดิน”, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง 110 ปี ชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, 2553, หน้า 33-45

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ