เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ในขณะที่ผมกําลังเรียนหนังสืออยู่ที่อเมริกานั้น ผมบังเอิญแวะไปที่ร้านหนังสือแพรากอน ในเมืองนิวยอร์ค ที่นั่นผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ King of the White Elephant ที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มา ก็เพราะเห็นว่า พิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 และก็มีรูปประกอบอย่างสวยงาม
ที่สําคัญที่สุด ก็คือ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโสที่สำคัญของเมืองไทย
หลังจากนั้นอีกหลายปี ผมก็ไม่เคยให้ความสนใจกับพระเจ้าช้างเผือกนัก จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2515 ผมผ่านไปที่กรุงปารีส สมัยนั้น ท่านปรีดี ซึ่งได้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีน นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2490 นั้น ได้ย้ายไปพำนักที่กรุงปารีส ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ท่านปรีดี ได้ก๊อบปี้หนัง พระเจ้าช้างเผือก ที่ตกค้างอยู่ที่สถานทูตไทยในสวีเดน ท่านปรีดีได้นำหนังเรื่องนี้มาตัดต่อใหม่เปลี่ยนจากเดิมที่เป็น 35 ม.ม. เป็น 16 ม.ม. และย่อเรื่องลงจากประมาณ 2 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง
ท่านปรีดีได้นำหนัง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายให้คนไทยในปารีสชมกัน เมื่อได้ดูหนังครั้งนั้นผมก็ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นหนังเก่าที่ไม่เคยดูมาก่อน ผมตื่นเต้นกับฉากทัพช้างและสงครามยุทธหัตถีระหว่างพระเจ้าจักรากับพระเจ้าหงสา ตื่นเต้นกับบทหนังที่ผู้แสดงคนไทยเจรจากันเป็นภาษาอังกฤษ และที่จําได้ ก็คือ นางเอกในหนังซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เธอสวยมาก มีคนบอกว่า เธอเป็นดาวธรรมศาสตร์ เคยเป็นนางงามบุปผาชาติ เธอชื่อไพลิน นิลรังษี (ปัจจุบันเธอแต่งงานมีลูก 8 คน และใช้นามสกุล นิตยวรรธนะ)
เมื่อผมดูหนัง พระเจ้าช้างเผือก ที่กรุงปารีส และเกิดความประทับใจก็เลยเขียนบทความ “พระเจ้าช้างเผือก” ลงพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 10:11 (พฤศจิกายน 2515) ในสมัยที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการเครางาม ผมเข้าใจว่า “ดูเหมือนผู้ประพันธ์เรื่อง (นายปรีดี พนมยงค์) จับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนสงครามช้างเผือกมาผสมกับตอนพระนเรศวรชนช้างกู้อิสรภาพ ผลออกมากลายเป็นเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเป็นจินตนาการและความบันดาลใจของผู้ประพันธ์เอง เป็นเสมือนหนึ่งตีความหมายใหม่ของเรื่องเก่า... สิ่งนอกเหนือไปจากนี้ เห็นจะเป็นว่า หนังเรื่องนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ ของผู้อำนวยการสร้างเป็นอย่างดี”
ผมเสียดายว่า เมื่อครั้งเขียนบทความนั้น มิได้มีโอกาสสอบถามรายละเอียดจากท่านปรีดีเอง และข้อมูลบางอย่างที่เขียนไปก็ผิดพลาดไม่น้อย
จนกระทั่งในปีนี้ (2523) คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิพากษ์วิจารณ์สังคมคนสำคัญ ได้แจ้งว่า ทางสยามสมาคมจะจัดฉายหนัง พระเจ้าช้างเผือก ออกสู่มหาชนอีกเป็นครั้งแรกในระยะเกือบ 40 ปี และต้องการที่จะให้ผมช่วยกล่าวนำหนังก่อนการฉาย เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
ดังนั้น ผมจึงเริ่มแกะรอย พระเจ้าช้างเผือก และก็ได้รับความร่วมมือข้อมูล ความคิดเห็นมากมาย ผมเริ่มต้นด้วยการถามไถ่จากคุณสุวัฒน์ วรดิลก ถามถึงตัวพระเอกและนางเอก คุณสุวัฒน์เองก็บอกว่า ความจำเรื่องนี้เลือนลางมาก เพราะสมัยนั้นยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ แต่การสอบถามเรื่องก็โยงไปให้ผมได้ติดต่อกับคุณประจวบ อัมพะเสวต ผู้ตรวจการสํานักเร่งรัดพัฒนา กระทรวงมหาดไทย โยงไปถึงคุณประจวบ บุนนาค แห่งธนาคารแห่งประเทศไทย และท้ายที่สุดที่ทำให้เรื่องราวกระจ่างขึ้น ก็คือ คุณไววิทย์ ไวทยพิทักษ์
คุณไววิทย์แสดงเป็นแม่ทัพช้างของกองทัพพระเจ้าหงสา และได้ช่วยให้ผมสามารถติดต่อกับคุณสุวัฒน์ นิลรังษี แห่งบริษัทกมลสุโกศล ซึ่งแสดงเป็นสมุหราชมณเฑียร และท้ายที่สุดผมก็ได้พบ “พระเจ้าช้างเผือก” คือ คุณเรอเน โกดาท นอกจากนี้ผมก็ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณปาล พนมยงค์ (บุตรชายของท่านปรีดี) อีกด้วย
บุคคลต่าง ๆ ที่ผมได้สอบถาม (ส่วนใหญ่ใช้ทางโทรศัพท์) นั้น มีอายุประมาณ 50 กว่าไปจนถึงกว่า 70 ปีแล้ว หลายท่านคิดอยู่นานก่อนจะตอบคําถาม หลายท่านหวนกลับไปนึกถึงอดีตครั้งโน้น หลายท่านจดจําสมัยโน้นด้วยความตื่นเต้น ชื่นชมอาลัยอาวรณ์ บางครั้งก็เผยให้เห็นถึงปัญหาการบ้านการเมืองในสมัยนั้นด้วย ผมต้องขอขอบคุณที่ได้ช่วยให้แกะรอย พระเจ้าช้างเผือก มา ณ ที่นี้ด้วย ส่วนการตีความและความผิดพลาด ถ้าจะมีผมขอรับเป็นความผิดชอบของผมเอง
พระเจ้าช้างเผือก คงลงมือถ่ายทําประมาณปี 2482 หรือ 2483 สมัยนั้นท่านปรีดี ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลชุดแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2481-87) การถ่ายทําคงจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ฉากวังของพระเจ้าจักรานั้นใช้บริเวณวัดพระแก้ว ส่วนฉากวังของพระเจ้าหงสาใช้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
สําหรับฉากภายในสถานที่ สร้างฉากขึ้นที่โรงถ่ายของทหารอากาศที่ทุ่งมหาเมฆ และที่ทุ่งมหาเมฆนี้ก็ใช้เป็นที่อัดเสียงในฟิลม์ด้วย มีผู้กล่าวว่าบางครั้งทุลักทุเลมาก เพราะโรงถ่ายและโรงอัดเสียงสมัยนั้น มีรูรั่ว มีตุ๊กแกร้อง บางครั้งต้องเอาผ้าไปอุดรูรั่ว และไล่ตุ๊กแกกัน
ฉากสําคัญตอนทัพช้าง ปรากฏว่าถ่ายที่ป่าแดง จังหวัดแพร่ ท่านปรีดียกขบวนโดยรถไฟไปที่นั่นและก็สร้างฉากตั้งทัพและการคล้องช้าง ตลอดจนฉากสงครามยุทธหัตถี ฉากทัพช้างอันน่าตื่นเต้นได้ช้างงามจํานวนมาก ทั้งนี้โดยความร่วมมือของชาวแพร่ชื่อคุณวงศ์ แสนศิริพันธ์ (ซึ่งต่อมาเป็นผู้แทนราษฎรสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง)
คุณไววิทย์ ผู้แสดงเป็นแม่ทัพพม่า เล่าให้ฟังว่า เกิดมาก็ไม่เคยขี่ช้าง น่ากลัวมาก กลัวจะตกช้าง แล้วช้างที่วิ่งตามมาข้างหลังจะเหยียบตาย ส่วนคุณเรอเนผู้แสดงเป็นพระเจ้าจักราก็บอกว่า ขี่ช้างนี้มันยาก บางทีขนช้างมันแทงก้นเอา
ประเด็นที่น่าสนใจของการหาตัวผู้แสดง ก็คือ ผู้แสดงฝ่ายชายระดับนำส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ หลายคนเป็นครู (มาสเตอร์) มาก่อนและมีความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ โรงเรียนอัสสัมชัญมีครูทางแผนกภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ผู้ที่เก่งภาษาอังกฤษถูกจัดให้อยู่ฝ่ายพระเจ้าจักรา ส่วนพวกภาษาฝรั่งเศสอยู่ทางฝ่ายพระเจ้าหงสา
สําหรับทหารราบทหารเลวนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์จํานวนมากเข้าร่วมแสดง แน่นอนนางเอก ก็คือ ดาวธรรมศาสตร์ คุณไพลิน นิลรังษี (เดิมชื่อไอรีน นีลเสน เธอมีเชื้อสายเดนมาร์ก) เธอเป็นนักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. รุ่น 3
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ฉากการรบและการฟันดาบนั้น คุณจําลอง อ่างแก้ว อดีตครูพลศึกษาโรงเรียนอํานวยศิลป์ ได้นํานักเรียนสัก 100 คน มาร่วมแสดงด้วย และมีคุณสมัย เมษมาน ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าสํานักดาบพุทธไธสวรรค์ เป็นผู้ช่วยฝึกซ้อมการฟันดาบ
ดูเหมือนว่า พระเจ้าช้างเผือก จะรวบรวมบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ ของไทยไว้มากมายเหลือเกิน จากการแกะรอยของผมนั้น เราทราบว่า ท่านปรีดีเป็นผู้อํานวยการสร้างในนามของ ปรีดีโปรดั๊กชั่น และท่านมีส่วนกํากับการแสดง คัดตัวแสดง นอกจากนี้ก็ยังมีผู้เข้าร่วมกํากับการแสดงอีก เช่น คุณสันต์ วสุธาน คุณสุดใจ สุวรรณทัต
ผู้ชมจะเห็นว่าการถ่ายทํานั้นงดงามมาก มุมกล้องฉากช้าง รอยยิ้มของนางเอก เป็นฝีมือของคุณประสาท สุขุม ซึ่งได้เรียนวิชาการถ่ายภาพมาจากอเมริกา
และที่น่าสนใจ ก็คือ ดนตรีประกอบจะเป็นทํานองไทย บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตก มีผู้ควบคุมสําคัญ คือ พระเจนดุริยางค์
ฉากสุดท้ายที่จะเป็นแฮปปี้เอนดิ้ง ที่นางเอกถามพระเอกว่า Are you happy, Sire? และพระเอกตอบว่า Terribly happy my dear นั้น จะมีเพลง “อโยธยาคู่ฟ้า” อันเป็นเพลงขวัญใจของชาวธรรมศาสตร์ขึ้นนําก่อนที่พระเอกและนางเอกจะเดินหายลับไปในปราสาทกรุงอโยธยา
เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เป็นประหนึ่งเทพนิยายหรือนิยายอิงประวัติศาสตร์ ท่านปรีดีใช้เค้าโครงของสงครามช้างเผือก และสงครามยุทธหัตถี แต่ตีความใหม่ในแง่ที่ว่า พระเจ้าจักราแห่งอโยธยาเป็นธรรมราชา สนพระทัยในความทุกข์สุขของราษฎร ประเพณีที่ล้าหลัง เช่น การต้องรับสนมถึง 365 คนนั้นก็ไม่ทรงรับ ส่วนพระเจ้าหงสาเป็นทรราช ต้องการสงคราม มีนโยบายรุกราน ดังนั้น เมื่อเกิดสงคราม พระเจ้าจักราก็ท้าพระเจ้าหงสาชนช้างตัวต่อตัว ไม่ต้องให้ไพร่ทหารบาดเจ็บล้มตาย พระเจ้าจักราถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ต่อกษัตริย์ การทําสงครามมิได้ต้องการพิชิตสงครามในความหมายเก่า มิต้องการทําลายชีวิตราษฎร แต่ต้องการสันติภาพแก่มวลมนุษย์ และเรื่องก็จบลงด้วยการที่อโยธยามีสันติภาพ พระเอกและนางเอกก็รักกันอยู่กันด้วยความสุข
คําถามที่น่าจะถาม ก็คือ ทําไมท่านปรีดีซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีคลังและต่อมาเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงกลายเป็นผู้อํานวยการสร้างภาพยนตร์
คําตอบ ก็คือ จะต้องพิจารณสถานการณ์การเมืองภายในและภายนอกในสมัยนั้น
สิ่งที่เห็นชัดมากในยุคนั้น ก็คือ การก้าวขึ้นสู่อํานาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนหนึ่งที่ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก พ.ศ. 2481 เมื่ออายุได้ 41 ปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม มหาดไทย และการต่างประเทศด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ริเริ่มของการปกครองโดยระบบทหารในเมืองไทยเป็นบุคคลแรกที่นําคําว่า “ผู้นํา” มาใช้กับระบบการเมืองไทย ทํานองเดียวกับระบบนาซีของฮิตเลอร์ หรือระบบฟาสซิสม์ของอิตาลี
ในสมัยดังกล่าวสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นในยุโรป และ สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็รุนแรงในเอเชีย บรรยากาศทั่วไปตึงเครียด ปัญหาของสงครามและสันติภาพเป็นปัญหาใหญ่
ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามชุดแรก (2481-87) รัฐบาลไทยมีนโยบายลัทธิชาตินิยมรุนแรงทั้งภายในและภายนอก ภายในประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างบรรยากาศที่จะทําให้คนไทยเชื่อว่า กําลังอยู่ในยุคใหม่ เปลี่ยนวันชาติจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นวันที่ 24 มิถุนายน (เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475) เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย รัฐบาลชักชวนและบังคับให้ประชาชนแต่งกายสากล (ตะวันตก) รายการทางวัฒนธรรมทางวิทยุและละคอนมีเนื้อหาที่เป็นลัทธิชาตินิยมรุนแรง เช่น รายการสนทนานายมั่น-นายคง (ของสังข์ พัธโนทัย) โดยกรมโฆษณาการ รายการละคอนของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เลือดสุพรรณ เจ้าหญิงแสนหวี และ น่านเจ้า ฯลฯ
ทางด้านเศรษฐกิจรัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม พยายามผลักดันคนเชื้อจีนออกจากวงการธุรกิจ และพยายามให้คนไทยเข้ามีบทบาทมากขึ้น
ที่สําคัญที่สุดในกรณีนี้ ก็คือ นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีลักษณะลัทธิชาตินิยมรุนแรง ในขณะนั้นฝรั่งเศสกําลังอ่อนแอมาก รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเล็งนโยบายต่างประเทศไปที่อินโดจีนของฝรั่งเศส และผลที่สุดก็เกิดการเรียกร้องดินแดนที่ประเทศไทยถือว่าสูญเสียไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เริ่มแรกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรียกร้องให้ฝรั่งเศสปรับปรุงพรมแดนระหว่างไทยกับลาวและกัมพูชา แต่เมื่อกองทัพเยอรมันบุกฝรั่งเศส และปารีสยอมจํานนเมื่อเดือนมิถุนายน 2483 ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เริ่มเคลื่อนจากจีนเข้าสู่อินโดจีน ระหว่างกันยายน 2483 - กรกฎาคม 2484 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคลื่อนทัพเข้าสู่อินโดจีนของฝรั่งเศส การรบระเบิดขึ้นในปี พ.ศ. 2483 มีการหยุดยิงในปี 2484 และไทยกับฝรั่งเศสก็ตกลงกันด้วยการไกล่เกลี่ยและบีบบังคับของญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้น
ผลของวิกฤตการณ์อินโดจีน ทําให้รัฐบาลไทยได้ดินแคนจากลาว คือ ไซยะบุรีและจำปาศักดิ์ จากกัมพูชา คือ เสียมเรียบและพระตะบอง นโยบายต่างประเทศนี้ทําให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับความสนับสนุนมาก และหลวงพิบูลสงครามก็เลื่อนยศเป็นจอมพล ป. พิบูลสงครามในระยะนี้
นี่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของนโยบายต่างประเทศไทย กล่าวคือ จะทําให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากการสนับสนุนฝ่ายโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายอังกฤษ) มาอยู่ในวงจรและอิทธิพลของญี่ปุ่นแน่นอน ฝรั่งเศสไม่พอใจมาก แต่ก็ทําอะไรไม่ได้ ส่วนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ไม่พอใจ เพราะต่างต้องการ “สถานะเดิม” ในเอเซีย ต้องการสกัดกั้นญี่ปุ่น
จุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ทําให้ไทยเข้าสู่วงจรของญี่ปุ่น และเมื่อสงครามแปซิฟิคระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ และบุกประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ในเวลาเดือนกว่า ๆ ต่อมารัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ร่วมกับญี่ปุ่นเต็มที่ด้วยการประกาศสงครามกับอังกฤษ และอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม 2485
นี่คือบรรยากาศของการเมืองภายในและภายนอก และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีนโยบายลัทธิชาตินิยมรุนแรง ปัญหาของสงครามหรือสันติภาพเป็นปัญหาใหญ่ ประเทศไทยประสบปัญหาว่าจะรักษาความเป็นกลางไว้ได้อย่างไร ด้านของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โอนเอียงเข้าไปในวงจรญี่ปุ่นมากขึ้นทุกที ๆ จนในที่สุดก็เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะเต็มที่ (ส่วนหนึ่งก็เพราะความเต็มใจ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะถูกบีบบังคับโดยสถานการณ์)
นายปรีดี พนมยงค์ อยู่ในฐานะที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับสภาพการณ์เช่นนั้น นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ก่อการ 2475 ถ้าเรากล่าวว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นําของคณะราษฎรฝ่ายข้าราชการทหาร (ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) นายปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นผู้นําของคณะราษฎรฝ่ายข้าราชการพลเรือน ทั้งสองท่านร่วมมือกันมาในระยะแรก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้เข้ามา ก็เห็นความแตกต่างในด้านความคิดและนโยบายของท่านทั้งสองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นําฝ่ายข้าราชการพลเรือนที่มิได้มีส่วนสําคัญในนโยบายลัทธิชาตินิยมรุนแรงหรือในวิกฤตการณ์อินโดจีน นายปรีดี พนมยงค์ ทําอะไรนอกจากงานในตําแหน่งรัฐมนตรีคลัง คําตอบ ก็คือ ท่านเขียนหนังสือ พระเจ้าช้างเผือก และก็สร้างหนัง นายปรีดีคงเห็นชัดแล้วว่า ปัญหาของสงครามหรือสันติภาพเป็นปัญหาใหญ่ นโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะทําให้ไทยตกอยู่ในวงจรของญี่ปุ่นและนําไทยเข้าสู่ความขัดแย้งกับตะวันตก
ดังนั้น การสร้าง พระเจ้าช้างเผือก ก็เป็นความพยายามทางด้านวัฒนธรรมการเมืองที่แสดงถึงความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายลัทธิชาตินิยมรุนแรงระบบการปกครองทหาร และวิกฤตการณ์อินโดจีน
น่าสนใจว่านายปรีดี พนมยงค์เลือกใช้ภาษาอังกฤษสําหรับหนังสือและหนังครั้งนี้ (ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศส) น่าเชื่อว่า นายปรีดีเล็งไปที่ผู้ชมระดับนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันตก (อังกฤษและอเมริกา)
กล่าวโดยย่อ พระเจ้าช้างเผือก ก็เป็นหนังที่สะท้อนความคิดของนายปรีดีในแง่ของการชี้ปัญหาของสงครามและสันติภาพ ในแง่ของการต่อต้านลัทธิทหาร ในแง่ของการแสดงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่า อย่างน้อยในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายลัทธิชาตินิยมรุนแรง ก็ยังมีผู้นําไทยกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้น
และน่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สภาพสงครามกับอังกฤษและอเมริกานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ก็เริ่มจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและร่วมมือกันสัมพันธมิตร ขบวนการเสรีไทยช่วยให้ไทยรอดพ้นจากสภาพของประเทศแพ้สงครามภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง พระเจ้าช้างเผือก ก็ได้มีบทบาทช่วยงานของขบวนการเสรีไทยไม่น้อย
พระเจ้าช้างเผือก ถูกนําออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ พ.ศ. 2484 ก่อนสงครามแปซิฟิค คือ ก่อนญี่ปุ่นบุกไทย หนังเรื่องนี้ได้รับการต้อนรับอย่างแน่นขนัด ผู้ชมคนไทยคงตื่นเต้นเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่พิศดาร และตื่นเต้นหนังไทยที่พูดอังกฤษ แต่แน่นอนชาวต่างประเทศก็ได้รับข่าวสารที่นายปรีดีพยายามบอกผ่านสื่อวัฒนธรรมอันนี้
มีคนกล่าวว่า พระเจ้าช้างเผือก ไปฉายต่างประเทศด้วย เช่น ที่ฟิลิปปินส์ และคุณแดง คุณดิลก ที่นายปรีดีลักลอบส่งออกไปกับชุดเสรีไทยของคุณสงวน ตุลารักษ์ ไปเมืองจีน ไปอังกฤษ และไปถึงสหรัฐอเมริกาในที่สุด คุณแดง คุณดิลก ให้ข้อมูลว่าในสมัยนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นอัครราชทูตไทยอยู่ที่วอชิงตัน และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอเมริกาด้วย เมื่อคุณแดง คุณดิลก ไปถึงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. 2487 ในระหว่างสงครามนั้น ได้จัดฉาย พระเจ้าช้างเผือก ให้ข้าราชการอเมริกันประมาณ 400 คนดู
ผมขอจบรายการแกะรอย พระเจ้าช้างเผือก ด้วยการอ้างข้อความจากคํานําของนายปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือเล่มนั้นว่า (นายปรีดี เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมขอถอดความเป็นภาษาไทย)
“นี่คือเรื่องราวสมัยโบราณทางตะวันออก เมื่อชาติต่าง ๆ จับอาวุธขึ้นมา เมื่อตนได้รับบัญชาจากกษัตริย์ของตน ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถจะรับรู้ได้ เว้นแต่จะได้รับคําสั่งมา ชาติต่าง ๆ ในปัจจุบันที่ได้รับแสงสว่างจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตระหนักถึงความโง่เขลาของชนรุ่นก่อนตน และได้ให้อภัยกับลืมเรื่องเสีย และผู้ถูกรุกราน ผู้รุกราน ผู้พิชิต และผู้พ่ายแพ้ทั้งหลายได้จับมือกันด้วยความรักฉันท์พี่น้อง เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ
ในดินแดนแห่งนี้อันมีช้างอุดมดกดื่น ช้างเผือกสูงส่งเหนือชั้นใด และประชาชนก็สรรเสริญ “พระจ้าช้างเผือก” กษัตริย์ผู้กล้าหาญของตน พระองค์ทรงนามจักรา พระองค์ไม่ปรารถนาความโอ่อ่าแห่งราชสํานัก แต่ทรงอุทิศพระองค์ต่อความผาสุกของประเทศชาติ พระองค์ต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่พระองค์รักสันติภาพ และเรื่องนี้ก็ขออุทิศให้สันติภาพ เพราะสันติภาพมีชัยชนะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงคราม”
ที่มา: หนังสือ วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 74-85 ทราบว่า เขียนเมื่อปี 2523 แต่ไม่ทราบว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ใด
- พระเจ้าช้างเผือก
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- King of the White Elephant
- โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปรีดี พนมยงค์
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- รัฐบุรุษอาวุโส
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- สุวัฒน์ วรดิลก
- ประจวบ อัมพะเสวต
- ประจวบ บุนนาค
- ไววิทย์ ไวทยพิทักษ์
- สุวัฒน์ นิลรังษี
- เรอเน โกดาท
- ปาล พนมยงค์
- แกะรอยพระเจ้าช้างเผือก
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ลัทธิชาตินิยม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- เศรษฐกิจชาตินิยม
- วิกฤตการณ์อินโดจีน
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- จักรวรรดิญี่ปุ่น
- 24 มิถุนายน 2475
- คณะราษฎร
- ขบวนการเสรีไทย
- สันติภาพ
- สงครามแปซิฟิค