ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

เรื่อง “หมาๆ” ของรัฐบุรุษอาวุโส

18
เมษายน
2564

เกริ่นนำ

ด้วยสาราณียกรแห่ง ปาจารยสาร มีบัญชาให้ผู้เขียนนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสุนัข  อันเป็นหัวข้อหลักของวารสารในฉบับนี้  ผู้เขียนจึงอนุสรณ์คำนึงถึงรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ซึ่งล่วงลับไปแล้วกว่า 37 ปี แม้จะมีผู้ที่เขียนงานต่าง ๆ ถึงมหาบุรุษผู้นี้ในหลายด้านแล้ว แต่น้อยชิ้นนักที่จะเขียนถึงเรื่อง “หมา ๆ” ของท่านให้ปรากฏ  เพื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์สามัญที่ไม่ธรรมดาของนายปรีดี พนมยงค์  ผู้เขียนจึงขอนำเสนอ เรื่อง “หมาๆ” ของรัฐบุรุษอาวุโส สนองบัญชาของท่านสาราณียกร

อนึ่ง ถ้าปราศจากข้อมูลของครูดุษฎี พนมยงค์ แล้ว บทความนี้ย่อมไม่อาจปรากฏขึ้นได้เลย จึงขอขอบคุณไว้ในโอกาสนี้ แต่ถ้ามีข้อบกพร่องประการใด ย่อมเป็นความพลั้งพลาดของผู้เขียนเอง

 

 

ความผูกพันกับหมา

สัตว์ (ที่ไม่ได้เลี้ยงเอง) ที่มีความผูกพันกับนายปรีดี คือ หมาวัด เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดพนมยงค์ จึงได้วิ่งเล่นกับหมาวัดใกล้บ้านเป็นประจำมาตั้งแต่เด็ก  นายปรีดีเล่าว่า ครั้งหนึ่งเกือบถูกหมาวัดไล่งับน่อง แต่อาศัยวิ่งเร็ว จึงไม่โดนหมากัด

ต่อมานายปรีดีได้ติดตามบิดา (นายเสียง พนมยงค์) ไปทำนาที่อำเภอวังน้อย  ซึ่งนางน้อม ตามสกุล (น้องสาวของนายปรีดี) เคยเล่าถึงความเมตตาของนายปรีดีที่มีต่อหมาในห้วงเวลานั้นว่า “ชอบเล่นกับหมาอยู่เสมอ เหมือนมันเป็นเพื่อนสนิท ตัวไหนเจ็บป่วยก็จะหาข้าวหาน้ำให้มันเป็นพิเศษ” แต่เมื่อมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แล้ว ได้พักอยู่ที่บ้านพระยาชัยวิชิตฯ (ขำ ณ ป้อมเพชร์)  ท่านเจ้าคุณไม่เลี้ยงหมา นายปรีดีจึงไม่มีโอกาสคลุกคลีกับหมาอีกเลย จนกระทั่งไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส  กลับมาก็มีภารกิจเพื่อชาติ จนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว จึงไม่ได้เลี้ยงหมาด้วย

ชีวิตเมื่อลี้ภัย

กองบรรณาธิการ สยามใหม่ เคยเขียนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนายปรีดี  เมื่อพำนักที่บ้านอองโตนีชานกรุงปารีสไว้อย่างละเอียด  จนทำให้เห็นชีวิตบั้นปลายของบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี  โดยมีความตอนหนึ่งเอ่ยถึงสัตว์เลี้ยงของนายปรีดีว่า

“สัตว์เลี้ยงนั้นสมัยอยู่ที่จีน ท่านเคยเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งทั้งแสนรู้และซื่อสัตย์ แต่เมื่อมาอยู่ที่ฝรั่งเศสไม่ได้เลี้ยง เพราะค่าอาหารแพง แต่กระนั้นก็มีกระต่ายตัวน้อย ๆ ที่หลานของท่านเลี้ยงไว้  ท่านก็คอยดูแลเอาใจใส่อยู่มิได้ขาด”

น่าสนใจตรงที่เป็นการเปิดเผยว่า นายปรีดีเคยเลี้ยงสุนัขที่เมืองจีน แต่เมื่อมาพำนักที่ฝรั่งเศสแล้วเป็นอันต้องงด เพราะ “ค่าอาหารแพง”

หมาบ้านปรีดีที่เมืองจีน

แต่ข้อมูลที่ได้รับจากธิดาของนายปรีดีนั้น เขาไม่ได้เลี้ยงเพียงตัวเดียว แต่เคยเลี้ยงหลายตัวทีเดียว และเลี้ยงไว้ถึง 2 รุ่น 2 ยุค ดังนี้

ช่วงแรก

ในช่วงที่นายปรีดีพำนักอยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนนั้น  คราวหนึ่ง ลูกสาวนายปรีดีเห็นลูกหมาที่โรงเรียนของเธอ น่ารักดี  จึงนำกลับมาเลี้ยงที่บ้าน 2 ตัว ตัวผู้ให้ชื่อ “อันช่า” เป็นชื่อหมาในภาพยนตร์สหภาพโซเวียตในขณะนั้น  ส่วนตัวเมียให้ชื่อว่า “หวง” เพราะมีขนสีเหลืองทั่วตัว (“หวง” ภาษาจีนแปลว่า สีเหลือง)  หมาทั้ง 2 ตัวเป็นหมาพันทางของจีน แต่ขนไม่เกรียนเหมือนหมาพันทางของไทย ทั้งนี้ ขนที่ยาวช่วยให้มันทนกับอากาศหนาวที่เมืองจีนได้

ด้วยความที่ทางการจีนจัดบ้านพักให้นายปรีดีและครอบครัวอยู่อาศัยอย่างสะดวกสบาย เป็นบ้านที่มีสวนและพื้นที่โดยรอบพอสมควร ทำให้ “หมาจีน” 2 ตัวที่นำมาเลี้ยงนั้น สามารถวิ่งเล่นในบริเวณสวนของบ้านได้ตามชอบใจ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น ที่เมืองจีนห้ามเลี้ยงหมา แต่บ้านของนายปรีดีก็แอบเลี้ยงกัน

วาณี พนมยงค์ เขียนใน วันวานในโลกกว้าง ของเธอไว้ว่า “วันหนึ่งปลาย[1] สังเกตว่า เวลาเดินไปที่ไหน สุนัขสีเหลืองขนยาวตัวหนึ่งตามต้อย ๆ ปลายเดิน มันก็เดิน  ปลายหยุด มันก็หยุด  ปลายกระดกลิ้น ‘ก้อก ๆ’ เรียก มันกระดิกหางหูลีบ เดินเข้ามาประจบเลียเท้าปลาย  ตั้งแต่วันนั้น อันช่าก็กลายเป็นสมาชิกของครอบครัว”

“อันช่า” มาอยู่กับครอบครัวนายปรีดีพร้อมกับ “หวง”

ต่อมา “หวง” ตั้งท้อง  จนวันหนึ่ง มันก็เดินหลบเข้าไปอยู่ใต้โพรงต้นไทรหน้าตึก ด้วยความที่คงจะเป็นท้องแรกของมัน จึงคลอดยาก ส่งเสียงร้องครวญคราง นายปรีดีเห็นแล้วสงสาร รีบคว้าไฟฉายออกไปดู เห็น “หวง” กำลังจะออกลูก จึงได้ช่วยทำคลอดให้ จนมันคลอดลูกมาถึง 6 ตัว

หลังจากหมาน้อยลืมตาดูโลกแล้ว ก็ยังไม่ประสาต่อการดูดนมแม่หมา  นายปรีดีก็ต้องช่วยจับวางให้ดูดนมแม่อีกด้วย  บางครั้ง ยังนำนมที่รับประทานเหลือจากอาหารเช้า ไปให้ลูกหมากิน

เรื่องนายปรีดีช่วยทำคลอดให้หมานี้ เป็นเรื่องที่ลูก ๆ ขำกันเลยทีเดียว  ใครจะนึกว่า ผู้อภิวัฒน์คนสำคัญของไทยจะมีแง่มุมน่ารักเช่นนี้ด้วย

 

วาณี และ ดุษฎี พนมยงค์ อุ้มลูกหมา ลูกของ ‘หวง’ ตัวที่นอนอยู่ด้านหน้า โดยที่ลูกหมาเหล่านี้มาจากคอกที่นายปรีดีช่วยทำคลอดให้ ‘หวง’ นั่นเอง (ภาพถ่ายที่บ้านพัก นครกวางโจว)
วาณี และ ดุษฎี พนมยงค์ อุ้มลูกหมา ลูกของ ‘หวง’ ตัวที่นอนอยู่ด้านหน้า
โดยที่ลูกหมาเหล่านี้มาจากคอกที่นายปรีดีช่วยทำคลอดให้ ‘หวง’ นั่นเอง
(ภาพถ่ายที่บ้านพัก นครกวางโจว)

 

ช่วงหลัง

ต่อมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ที่บ้านนายปรีดีได้หมารุ่นใหม่มาอีก 2 ตัว และตั้งชื่อเป็นภาษาไทยตามชื่อคนที่ครอบครัวรังเกียจ 2 คน ซึ่งเป็นสองคนที่คิดไม่ดีต่อประเทศชาติ แต่สุดท้ายทุกคนในบ้านก็รักหมา 2 ตัวนี้มาก ดูมันจะกลับตาลปัตรกับความรู้สึกที่มีต่อคนชื่อนั้น ๆ เพราะความที่มันให้ความรัก ความซื่อสัตย์ ไม่ขี้โกง ไม่ระรานทำร้ายผู้อื่น เป็นหมาแสนรู้ ฉลาดโดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนฝึกหมา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี  จึงเกิดความรักความผูกพัน และหมา 2 ตัวนี้ ก็อยู่เป็นสุขเรื่อยมา

แต่แล้ว เมื่อเกิดโรคหมาบ้าระบาดขึ้นที่เมืองจีน  จู่ ๆ หมาที่เลี้ยงไว้ทั้ง 2 ตัวก็หายไปจากบ้าน  ถามใครก็ไม่มีใครเปิดปาก  นอกจากคนสวนที่เป็นชาวจีน ยิ้มให้เราอย่างมีเลศนัย  

นั่นเพราะแทนที่จะฆ่าทิ้งเฉย ๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด เขาได้จับหมาไปฆ่าเพื่อปรุงอาหาร เพราะวัฒนธรรมที่นั่น การกินเนื้อหมาเป็นเรื่องปกติ  ว่ากันว่า กินเนื้อหมาแล้วทำให้ร่างกายอบอุ่น ไม่เจ็บป่วย

เวลานั้น วาณี ธิดาคนสุดท้องของนายปรีดี บรรยายความรู้สึกว่า “ยังเหมือนกับเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกแย่งของรักของหวง  แล้วนี่เป็นของรักของหวงที่มีชีวิตชีวา ผูกพันกันมานานปี จะไม่ให้ปลายเสียใจได้อย่างไร”

เธอเขียนต่อไปด้วยว่า “คนกวางตุ้งกินได้ทุกสิ่งไม่เลือก จนกระทั่งมีการกล่าวขานกันว่า กินทุกอย่างที่บินได้ ยกเว้นเครื่องบิน  กินทุกอย่างที่อยู่ใต้น้ำ ยกเว้นเรือดำน้ำ  กินทุกอย่างที่มี ๔ ขา ยกเว้นโต๊ะเก้าอี้”

หมา ๆ ของรัฐบุรุษอาวุโสจึงพบจุดจบด้วยการลงหม้อ เป็นอาหารอันโอชะของคนอีกหลายคนด้วยประการฉะนี้

 

แหล่งที่มา

  • ดุษฎี พนมยงค์, สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์, 8 พฤศจิกายน 2563.
  • กองบรรณาธิการ สยามใหม่, “บันทึกชีวิตสมถะปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส,” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2560 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 43.
  • วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562), น. 301-302, 304.

หมายเหตุ

  • เผยแพร่ครั้งแรกทาง ปาจารยสาร ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2563.

[1] ปลาย เป็นชื่อสมมติที่วาณีใช้แทนตัวเธอในการแต่งหนังสือ วันวานในโลกกว้าง แต่มิได้เป็นชื่อเล่นของเธอ.