ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการ: จำเป็นหรือไม่กับการดำเนินชีวิต ?

20
เมษายน
2564

ความจำเป็นแห่งการมีรัฐสวัสดิการ

“รัฐสวัสดิการ” หมายถึง รัฐประชาธิปไตย ซึ่งไม่เพียงแต่รัฐนั้นรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน และ อิสรภาพส่วนบุคคลและทางเศรษฐกิจตามรัฐธรรมนูญ (เป็นนิติรัฐ) แต่ยังต้องเป็นรัฐที่ใช้มาตรการทางกฎหมาย ทางการเมือง และทางวัตถุเพื่อคลายความตึงเครียดทางสังคมและทำให้เกิดความเท่าเทียมกันท่ามกลางความแตกต่างทางสังคม (ในระดับหนึ่ง)[1]

ในลักษณะดังกล่าวเป้าหมายของรัฐสวัสดิการจึงเป็นเรื่องของความยุติธรรม (Justice) สิ่งนี้สอดคล้องกับทรรศนะของปรีดี พนมยงค์ และเป็นหัวใจสำคัญของการอภิวัฒน์สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยปรารถนาจะให้ประเทศสยามหรือประเทศไทยในขณะนั้นมีประชาธิปไตยสมบูรณ์

การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้นั้น จะต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ปรีดีให้ความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแล้ว ราษฎรส่วนมากก็จะไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้[2] ด้วยต้องกังวลว่าจะหาเลี้ยงชีพได้อย่างไร ทำให้สุดท้ายไม่ได้สนใจสิทธิและความเป็นอยู่ในทางการเมืองของตน สาเหตุดังกล่าวนี้ภายหลังการอภิวัฒน์สยาปรีดีจึงได้นำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ขึ้นมาโดยหมายมุ่งจะให้แบบแผนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของราษฎร[3]

ดังนั้น “รัฐสวัสดิการ” เป็นเรื่องของความเสมอภาคหรือก็คือ ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้เลย ด้วยเหตุที่ความเสมอภาคทั้งในแง่ศักดิ์ศรี การได้รับความเคารพ และการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองนั้น อยู่บนเงื่อนไขการได้รับการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐาน ซึ่งหากปราศจากทรัพยากรพื้นฐานเหล่านี้แล้วสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นแทบจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย

การคุ้มครองพลเมืองให้รอดพ้นจากภัยความยากจน อีกทั้งสนับสนุนให้ประชาชนใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่นั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในระบอบประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐสังคมนิยมเพียงอย่างเดียว

สำหรับทรัพยากรพื้นฐานที่รัฐควรจัดหาให้นั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและกาลเวลา ในเบื้องต้นทรัพยากรพื้นฐานนั้นอาจเป็นเรื่องของอาหารและที่พักอาศัย  อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นนั้นยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วการใช้สิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้

สิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ข้อมูลข่าวสาร เงินช่วยเหลือสำหรับเลี้ยงดูบุตร การรักษาพยาบาล และการสนับสนุนพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะต้องอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสภาวะชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ

ท้ายที่สุดแล้ว ความจำเป็นของการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการจึงเป็นไปเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคคล ให้เขาสามารถดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงอิสระของตนเองในการดำรงชีวิตและเลือกดำเนินการตามความต้องการของตนเองได้ โดยมีการสนับสนุนจากรัฐในการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมการดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงอิสระของตน

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ

คำถามสำคัญที่สุดและเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการมักจะเป็นเรื่องของต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับเพื่อจ่ายให้บรรลุสู่เป้าหมายของการเป็นรัฐสวัสดิการ หลายกระแสมักโจมตีว่ารัฐสวัสดิการนั้น ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งกลายเป็นประชานิยมที่ละลายงบประมาณแผ่นดินไปกับกิจกรรมที่สิ้นเปลือง และ ไม่รักษาวินัยทางการคลัง และ ถึงขนาดบางครั้งยังมีผู้กล่าวอ้างว่านโยบายทางสังคมเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ทว่า ข้อที่สังคมโดยรวมต้องตระหนักถึงการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการนั้นก็เช่นเดียวกันกับการเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเรื่องของกำไรขาดทุน สังคมไม่อาจเอาคุณค่าของอิสรภาพและประชาธิปไตยไปเปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้[4]

ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ มายาคติเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการซึ่งมักถูกกล่าวหาว่า รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า และไม่มีแรงจูงใจออกไปต่อสู้กับโลกภายนอก ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วรัฐสวัสดิการมิได้แจกจ่ายเงิน แต่ทำให้คนไม่ต้องกังวลเวลาป่วย ตกงาน หรือไม่ต้องจ่ายค่าทำประกันชีวิต[5] ดังได้กล่าวมาแล้วว่าจุดประสงค์ของ “รัฐสวัสดิการ” คือ ส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม ทำให้คนทุกคนในสังคมสามารถจะดำรงชีวิตได้ตามเจตจำนงของตนเอง

นอกจากนี้ หากกล่าวเฉพาะในบริบทของประเทศไทย ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ นักวิชาการด้านสวัสดิการสังคมคนสำคัญ ได้ชี้ให้เห็นว่า “อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเกิดรัฐสวัสดิการในประเทศไทยได้นั้นเกิดขึ้นมาจากปัจจัย 3 ประการ” ดังนี้

ประการแรก กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ คือ กลุ่มที่เห็นความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง และมีเจตนาดี แต่คิดว่าไม่สามารถทำอะไรหรือเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เมื่อเปลี่ยนอะไรไม่ได้ก็ทำได้เพียงแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการเสียสละเชิงปัจเจก[6] เช่น โครงการคนละก้าวที่ระดมเงินบริจาคมาช่วยโรงพยาบาล เป็นต้น การแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวอาจช่วยให้ปัญหาเฉพาะหน้าดีขึ้น แต่ในเชิงโครงสร้างนั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ประการที่สอง ลัทธิท้องถิ่นนิยมทำให้การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการแบบก้าวหน้าครบวงจรไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีกรอบการมองว่าเมื่อไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างได้ เพราะรัฐส่วนกลางไม่มีประสิทธิภาพและทุจริต ดังนั้น จึงต้องย้อนกลับมาหาระดับท้องถิ่น ทั้งๆ ที่ปัญหาหลายอย่างนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการต่อสู้เฉพาะประเด็น[7] ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่าประเด็นรัฐสวัสดิการนั้นไม่เคยเป็นประเด็นวิวาทะสาธารณะ

ประการที่สาม กลุ่มนักคิดและเทคโนแครต กลุ่มลัทธิเสรีนิยมใหม่ มองว่า ปัญหาสวัสดิการคือการขาดข้อมูลที่ดี รัฐจึงไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่เอาข้อมูลไปให้กับประชาชนจัดการตัวเองได้ด้วยเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ด้วยการแปลงสินทรัพย์ที่มีเป็นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น โดยไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมภายในรัฐ[8]

อุปสรรคทั้งสามประการข้างต้นนั้น ก่อให้เกิดความไม่ก้าวหน้าของขบวนการรัฐสวัสดิการของประเทศไทย นโยบายทางสังคมของรัฐจึงออกมาในลักษณะของสวัสดิการแบบชิงโชค ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพราะประเด็นรัฐสวัสดิการนั้นไม่เคยกลายมาเป็นวิวาทะสาธารณะ และการแก้ปัญหาดำเนินการไปเพียงเป็นจุดๆ มากกว่าจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการสมบูรณ์

วิถีทางที่เราจะไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ

การจะไปถึงรัฐสวัสดิการได้นั้น รัฐควรจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคคล ให้เขาสามารถดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงอิสระของตนเองในการดำรงชีวิตและเลือกดำเนินการตามความต้องการของตนเองได้ โดยมีการสนับสนุนจากรัฐในการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการได้นั้น ประกอบไปด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ ‘หลักการเบื้องหลัง’ และ ‘เครื่องมือดำเนินการ’

หลักการเบื้องหลัง ที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดความตระหนักขึ้นในสังคม แนวคิดของรัฐสวัสดิการนั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า สังคมโดยรวมต้องเข้ามาช่วยเหลือกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคคล และส่งเสริมให้บุคคลทุกคนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองได้ ซึ่งการร่วมกันนี้ก็คือ ความตระหนักในความเป็นพี่น้องร่วมกันของคนในสังคมหรือเรียกว่าต้องมีความ “ภราดรภาพ” กัน

‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้เคยอธิบายเรื่องความภราดรภาพเอาไว้ว่า “มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม”[9] ซึ่งหากปราศจากความยินยอมพร้อมใจของคนในสังคมในเรื่องดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะทรรศนะของคนในสังคมจะรู้สึกว่าการต้องร่วมช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งเลวร้าย ยิ่งในบางกรณีแล้วจำเป็นต้องอาศัยอำนาจรัฐเพื่อทำให้มีรัฐสวัสดิการแล้ว อาทิ การจัดเก็บภาษีจะกลายเป็นทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ต่างจากการเวนคืนทรัพย์สิน กรณีเช่นนี้จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเสียก่อน

สำหรับเครื่องมือดำเนินการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการนั้น บรรดาเครื่องมือทั้งหลายนั้นดำเนินการไปเพื่อให้เกิดสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ[10]

ประการแรก กระบวนการทำให้ไม่เป็นสินค้า (Decommodification) กล่าวคือ การทำให้บุคคลดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงตลาดแรงงานแต่เพียงช่องทางเดียวในการเลี้ยงชีพของบุคคลหนึ่ง ซึ่งหากบุคคลต้องพึ่งพิงตลาดแรงงานแต่เพียงช่องทางเดียว ตลาดแรงงานอาจจะบีบให้บุคคลต้องรับทำงานทุกประเภทโดยไม่คำนึงว่ามันจะมีค่าตอบแทนต่ำเพียงใด  ดังนั้น รัฐควรเข้ามาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคคลให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างรอบด้าน อันจะส่งผลให้บุคคลสามารถมีชีวิตในระดับที่ดีพอสมควรโดยอาศัยปัจจัยพื้นฐาน และ

ประการที่สอง การลดระดับการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม (Destratification) กล่าวคือ การที่สังคมถูกแบ่งเป็นลำดับชั้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งในประเด็นนี้รัฐสวัสดิการจะเข้ามาช่วยลดระดับการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม โดยการเสริมสร้างให้คนขยับระดับทางสังคมให้มีพื้นฐานที่เท่ากัน

การจะตอบสนองเป้าหมายทั้งสองประการข้างต้นได้นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยเครื่องมือ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  1. การประกันการว่างงาน
  2. เงินบำนาญ
  3. นโยบายประกันสุขภาพ
  4. การศึกษาและการฝึกวิชาชีพ

1. การประกันการว่างงาน

การประกันการว่างงาน คือ รูปแบบดั้งเดิมที่สุดของสิทธิประโยชน์ทดแทนรายได้ การว่างงานเป็นมากกว่าแค่การสูญเสียรายได้จากการทำงานหรือการสูญเสียเชิงวัตถุ[11] แต่บ่อยครั้งที่การวางนั้นมาพร้อมรู้สึกกังขาในศักยภาพของตนเอง หรือ ความวิกตกกังวลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับชีวิต การประกันการว่างงานจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และปลอบประโลมจิตใจ

ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินประกันการว่างงานแล้วระดับหนึ่ง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของรัฐสวัสดิการที่จะสามารถต่อยอดต่อไปได้  อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการปรับปรุงเรื่องประกันการว่างงานนั้นอาจจะปรับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากประกันการว่างงานในปัจจุบันนั้นตอบสนองเพียงเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของแรงงานเท่านั้น  ทว่า ในความเป็นจริงบุคคลหนึ่งคนนั้นมิได้หาเลี้ยงชีพเพียงแค่ตนเท่านั้น อาจจะต้องหาเลี้ยงบิดา มารดา และบุตร การให้เงินประกันการว่างงานจึงอาจคำนึงถึงภาระที่บุคคลนั้นมีอยู่ พร้อมๆ กับเสนอแนะงานที่เหมาะสมกับความต้องการของบุคคลนั้น

2. เงินบำนาญ

เงินบำนาญ คือ การประกันเงินบำนาญนั้นมีความสำคัญในฐานะการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานเมื่อบุคคลนั้นเกษียณจากวัยที่สามารถจะทำงานได้แล้ว ซึ่งแม้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาบริการสาธารณสุขและการดูแลมากขึ้น แต่การได้รับเงินบำนาญก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตได้

3. นโยบายประกันสุขภาพ

นโยบายประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้แทนที่รัฐจะจ่ายเป็นเงินสดให้กับบุคคลผู้รับสวัสดิการ โดยเปลี่ยนมาเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการบริการและสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของวัตถุสิ่งของหรือบริการแทน ซึ่งอาจมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าระบบประกันสุขภาพนั้นอาจไม่มีประสิทธิภาพ  ทว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายที่มีความจำเป็น

4. การศึกษาและการฝึกวิชาชีพ

การศึกษาและการฝึกวิชาชีพ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีความสำคัญโดยภาครัฐเข้ามาช่วยในการส่งเสริมด้านองค์ความรู้ให้กับบุคคลเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและต่อยอดการพัฒนาศักยภาพของบุคคล

นอกจากเครื่องมือทั้ง 4 ประการข้างต้นแล้ว ในปัจจุบัน รัฐประชาธิปไตยที่เป็นรัฐสวัสดิการที่มีความก้าวหน้านั้นได้ริเริ่มที่จะให้มีรายได้พื้นฐาน (Basic Income) ในลักษณะเป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตให้บุคคล โดยไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่รายได้จากการทำงาน

งบประมาณและภาระทางการคลัง

โจทย์สำคัญที่สุดของเรื่องรัฐสวัสดิการ คือ งบประมาณที่จะนำมาใช้จะมาจากแหล่งใด สิ่งสำคัญที่สุดงบประมาณที่จะนำมาใช้สร้างรัฐสวัสดิการนั้นไม่ควรก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ เพราะจะเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศ แต่เป้าหมายของรัฐในการดูแลประชาชนก็เป็นสิ่งจำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วิธีการหนึ่งที่ดำเนินการได้แน่นอน คือ การตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปรับลดงบประมาณด้านความมั่นคงหรือด้านการทหารลง เป็นต้น แต่ในอีกแง่หนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การปรับโครงสร้างทางภาษีเหมาะสม โดยการใช้ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าอย่างจริงจัง แม้ว่าจะสร้างผลกระทบให้กับบุคคลที่มีรายได้มาก เพราะต้องเสียภาษีมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกๆ คนนั้นจะได้รับสวัสดิการตอบแทนกลับมา 

นอกจากนี้ รัฐอาจจะใช้ภาษีเฉพาะมากขึ้น เช่น ภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือทางภาษีนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเพื่อเอามาใช้จัดสวัสดิการแล้ว ยังเป็นการลดความมั่งคั่งของบุคคลบางกลุ่มเพื่อกระจายความมั่งคั่งไปสู่สังคมทั้งหมด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรีดีได้เคยดำริไว้เช่นกันในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุปแล้ว รัฐประชาธิปไตย ที่ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงนั้นควรจะต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการสร้างความเสมอภาค และ ส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้สังคมอาจจะต้องฟันฝ่ามายาคติต่างๆ และหยิบเอาประเด็นรัฐสวัสดิการขึ้นมาเป็นวิวาทะสาธารณะอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐสวัสดิการกลายมาเป็นโจทย์สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคคล

 

[1] อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ, รัฐสวัสดิการกับสังคมประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย, 2562), น. 29.

[2] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์,” สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564, จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304.

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 33.

[5] กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, “สัมภาษณ์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: ‘รัฐสวัสดิการ’ เรื่องจริงไม่อิงนิยาย ล้างมายาคติ-ลดงบกลาโหม-เก็บภาษีฐานทรัพย์สิน,” สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564, จาก https://prachatai.com/journal/2018/04/76612.

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] เพิ่งอ้าง.

[9]  อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ, “มองเค้าโครงเศรษฐกิจในปัจจุบัน,” สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560, จาก pridi.or.th/th/content/2020/05/244.

[10] อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 63.

[11] เพิ่งอ้าง, น. 139.