ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789:
การกำเนิดขึ้นของสภาแห่งชาติ[1]
เหตุการณ์สำคัญทางกฎหมายที่ส่งผลไปสู่การปฏิวัติ
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งสำคัญในรัชสมัยของหลุยส์ที่ 16 ก่อนจะปิดฉากลงด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงฤดูร้อนปี 1789 ในช่วง 2-3 ปีก่อนการปฏิวัติ มีเหตุการณ์สำคัญทางกฎหมายที่ส่งผลต่อเนื่องอย่างคาดไม่ถึง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “จุดชนวน” การปฏิวัติ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น กรณีศาลปาร์เลอมองต์ต่อต้านนโยบายปฏิรูปของกษัตริย์ และกรณีฐานันดรที่สามชิงโอกาสจากการประชุมสภาฐานันดรเพื่อเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติ
ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง: กรณีศาลปาร์เลอมองต์[2]
การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในรัชสมัยหลุยส์ที่ 14 ต่อเนื่องมาจนถึงหลุยส์ที่ 15 ประกอบกับการเข้าร่วมสงครามปลดปล่อยอเมริกาจากอังกฤษ ทำให้ราชสำนักประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินการคลังอย่างรุนแรง ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีเครื่องมือใดในการหารายได้เข้าคลังได้ดีไปกว่าการเรียกเก็บภาษี ดังนั้น อัครเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 หลายคน จึงพยายามออกมาตรการปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นและสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการจ่ายภาษี
เดิมที Necker อัครเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้มาตรการเก็บภาษี เพราะกังวลว่าจะถูกขัดขวางจากขุนนางอภิสิทธิ์ชน แต่สุดท้ายสถานะทางการคลังก็ไม่ดีขึ้น ฝรั่งเศสจำต้องยอมกู้เงินเพิ่มและตามมาด้วยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้น นโยบายการปฏิรูปอย่างละมุนละม่อมของ Necker ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 1783
ต่อมา Calonne เข้ารับตำแหน่งแทน Necker เขาได้เสนอ “แผนการปรับปรุงการคลัง” (Plan d'amelioration des Finances) ต่อหลุยส์ที่ 16 ในปี 1786 โดยมีเนื้อหาสาระ คือ สร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ยกเลิกเอกสิทธิ์ทางภาษีของเจ้าของที่ดิน ทั้งพระ ขุนนาง สามัญชน หากเป็นเจ้าของที่ดินก็ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ Calonne ยังเสนอให้มีการตั้งสภาประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่คำนวณและประเมินภาษี โดยสมาชิกสภามาจากคนในพื้นที่ที่ถือครองทรัพย์สินและจ่ายภาษี โดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานันดร และเพื่อเป็นการบรรเทาความยากลำบากของคนจน เขาเสนอให้ยกเลิกภาษีบางประเภทที่คนจนต้องแบกรับเอาไว้ แน่นอนที่สุดว่ามาตรการของ Calonne เช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับพวกขุนนางอย่างยิ่ง
Calonne รู้ดีว่านโยบายของตนขัดผลประโยชน์ของพวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนเข้าอย่างจัง เขาคาดหมายว่าบรรดาขุนนางทั้งจากตระกูลเก่า (noblesse d'épée) และแบบใหม่ (noblesse de robe) ที่รวมตัวกันอยู่ในศาลปาร์เลอมองต์คงต้องใช้กลไกของศาลปาร์เลอมองต์เป็นเครื่องมือในการขัดขวางนโยบายปฏิรูปภาษีโดยใช้สิทธิคัดค้าน (droit de remontrance) ไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการว่าด้วยการปฏิรูปภาษีส่งผลให้พระบรมราชโองการเหล่านี้ไม่มีผลใช้บังคับ
ดังนั้น เขาจึงพยายามหาช่องทางในการขจัดการขัดขวางของพวกขุนนางด้วยการเสนอให้หลุยส์ที่ 16 เรียกประชุม “สภาขุนนาง” (Assemblée de notables) เพื่อให้สภาแห่งนี้ให้การรับรองมาตรการปฏิรูปทางภาษี และช่วยสร้างความชอบธรรมในการสู้กับแรงต่อต้านของศาลปาร์เลอมองต์ได้ โดยเขาคัดรายชื่อบรรดาสมาชิกสภาขุนนางเสนอต่อหลุยส์ที่ 16 และเรียกประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1787
แม้ Calonne พยายามคัดสรรสมาชิกสภาขุนนางที่พอจะเป็นฝักฝ่ายเดียวกับตน แต่สภาขุนนางก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการปฏิรูปภาษีของเขาอยู่ดี เมื่อนโยบายการปฏิรูปภาษีไม่ประสบผลสำเร็จ หลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจปลด Calonne ออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายน 1787 และแต่งตั้ง Loménie de Brienne นักบวชจากเมืองตูลูส ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีแทน
Loménie de Brienne ได้ผลักดันนโยบายปฏิรูปต่อไป โดยเขาพยายามดึงชนชั้นกระฎุมพีเป็นพวกเพื่อสร้างแนวร่วมในการสู้กับขุนนาง เช่น ให้เสรีภาพในการประท้วง เปิดโอกาสให้คนชนบทสามารถจ่ายเงินแทนการถูกเกณฑ์ทำงานให้กษัตริย์ ตั้งสภาจังหวัดโดยให้มีผู้แทนจากฐานันดรที่สามมากขึ้นเป็นสองเท่าและให้ลงมติและนับคะแนนเป็นรายหัว เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังคงยืนยันให้มีการปฏิรูประบบภาษีให้เท่าเทียมกันความพยายามปฏิรูปของ Loménie de Brienne ทำให้พวกขุนนางอภิสิทธิ์ไม่พอใจ
ในส่วนของสภาขุนนางนั้น หลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจยุติการประชุมและยุบเลิกสภาขุนนางในวันที่ 25 พฤษภาคม 1787 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถูกยุบไปนั้น สภาขุนนางได้ยกประเด็นเรื่องสิทธิของชาติที่จะประชุมกันเป็นสภาฐานันดรขึ้น และได้มีมติว่าเรื่องสำคัญๆ อย่างมาตรการปฏิรูประบบภาษีนั้น ต้องให้สภาฐานันดรเป็นผู้พิจารณา
ศาลปาร์เลอมองต์ “คู่ปรับ” ของราชสำนัก ยังคงเดินหน้าขัดขวางนโยบายการปฏิรูปต่อไป ในเดือนกรกฎาคม 1787 ศาลปาร์เลอมองต์ปารีสไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการว่าด้วยภาษีแสตมป์และพระบรมราชโองการว่าด้วยการเก็บภาษีเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสภาฐานันดรเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าว
เมื่อศาลปาร์เลอมองต์ยังคงยืนกรานต่อต้านนโยบายของราชสำนักเช่นนี้ “ฟางเส้นสุดท้าย” ก็ขาดสะบั้นลง ราชสำนักตัดสินใจ “ชน” กับศาลปาร์เลอมองต์ โดยหลุยส์ที่ 16 ใช้อำนาจในฐานะเป็น “บ่อเกิดของความยุติธรรม” ด้วยการยืนยันขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการดังกล่าว และประกาศให้พระบรมราชโองการมีผลใช้บังคับ ศาลปาร์เลอมองต์ไม่พอใจอย่างยิ่งและประท้วงกษัตริย์ ราชสำนักจึงใช้มาตรการรุนแรงเข้าจัดการ โดยสั่งปลดและขับไล่ตุลาการศาลปาร์เลอมองต์ที่ต่อต้านกษัตริย์ออกไป
วันที่ 3 พฤษภาคม 1788 ศาลปาร์เลอมองต์เปิดศึกชนกับราชสำนักอย่างเปิดเผยด้วยการเผยแพร่ “คำประกาศว่าด้วยกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” เพื่อแจกแจงถึงกฎเกณฑ์ที่มีสถานะเป็นกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร อันได้แก่ การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามลำดับทายาทโดยยกเว้นผู้หญิง การเรียกประชุมสภาฐานันดร ประเพณีของท้องถิ่น การห้ามโยกย้ายผู้พิพากษา อำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ในการตรวจสอบพระบรมราชโองการ และสั่งขึ้นทะเบียนให้เฉพาะพระบรมราชโองการที่สอดคล้องกับกฎหมายของจังหวัดและกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร สิทธิของพลเมืองในการได้รับการพิพากษาโดยผู้พิพากษาซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยกฎหมาย คำประกาศฯ ของศาลปาร์เลอมองต์นี้เป็นการยืนยันอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์ และกษัตริย์ไม่อาจย้ายผู้พิพากษาได้
ห้าวันถัดมา หลุยส์ที่ 16 ได้ตอบโต้ศาลปาร์เลอมองต์อย่างทันทีทันควัน ด้วยการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์รวม 6 ฉบับ ตามข้อเสนอของ Lamoignon รัฐมนตรียุติธรรม มาตรการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์ของ Lamoignon มุ่งหมายลดทอนอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ ลดจำนวนศาลที่ซับซ้อน รวมอำนาจเข้าสู่ราชสำนัก และกำหนดให้การขึ้นทะเบียนพระบรมราชโองการเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้น
จากกรณีนี้เอง ทำให้การประท้วงของศาลปาร์เลอมองต์ลุกลามออกไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Rennes และ Grenoble ไม่เพียงแต่พวกพระและขุนนางที่สนับสนุนศาลปาร์เลอมองต์เท่านั้น พวกฐานันดรที่สามก็เห็นว่าราชสำนักใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และควรลุกขึ้นสู้กับราชสำนักเพื่อปกป้อง “เสรีภาพของจังหวัดต่างๆ” การชูธงปกป้องเสรีภาพของจังหวัดเช่นนี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราชสำนักก็โจมตีว่า พวกศาลปาร์เลอมองต์ไม่ได้ปกป้องเสรีภาพของจังหวัดต่างๆ แต่พวกเขาต้องการรักษาอภิสิทธิ์เอาไว้ต่างหาก
การต่อต้านราชสำนักขยายวงออกไปมากขึ้น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1788 หลุยส์ที่ 16 จำเป็นต้องหาวิธีลดแรงเสียดทาน โดยยอมเรียกประชุมสภาฐานันดร และกำหนดให้มีการประชุมในวันที่ 1 พฤษภาคม 1789 พร้อมกับระงับการปฏิบัติหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังสั่งปลด Loménie de Brienne และแต่งตั้ง Necker กลับเข้าเป็นอัครเสนาบดีอีกครั้ง ต่อมา Lamoignon ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม และตามมาด้วย การยกเลิกมาตรการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์ทั้งหมด
การประชุมสภาฐานันดร: เปิดฉากการปฏิวัติโดยฐานันดรที่สาม[3]
กษัตริย์ฝรั่งเศสไม่ได้เรียกประชุมสภาฐานันดรอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1614 ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่า การประชุมในอีก 175 ปีให้หลังนั้นจะมีกฎเกณฑ์อย่างไร ดังนั้น เมื่อหลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจเรียกประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 1 พฤษภาคม 1789 จึงเกิดประเด็นให้ถกเถียงตามมาในเรื่ององค์ประกอบ จำนวนสมาชิกของแต่ละฐานันดร วิธีการลงมติ และการนับคะแนน ศาลปาร์เลอมองต์เสนอว่า การประชุมสภาฐานันดรในปี 1789 ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามแบบ
การประชุมสภาฐานันดรตามปี 1614 ทั้งหมด นั่นคือ จำนวนสมาชิกฐานันดรขุนนางมีมากที่สุดและเป็นสองเท่าของจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สาม และการลงมติของสภาฐานันดรให้ใช้วิธีลงมติแยกกันแต่ละฐานันดร และมติแต่ละฐานันดรเท่ากับ 1 เสียง ส่วนพวกฐานันดรที่สามเห็นว่าข้อเสนอของศาลปาร์เลอมองต์นั้นไม่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามเป็นสองเท่า เพราะจำนวนประชากรที่เป็นสามัญชนมีมาก จึงต้องมีจำนวนผู้แทนของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยหากยังคงใช้การลงมติแยกฐนันดรกันและนับคะแนนเป็นรายฐานันดร อย่างไรเสีย ฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางก็จะร่วมมือกันเอาชนะฐานันดรที่สามด้วยเสียง 2 ต่อ 1 เสมอทั้งๆ ที่หากนับคะแนนเป็นรายบุคคลแล้ว ฐานันดรที่สามอาจเป็นเสียงข้างมากก็ได้ พวกเขาจึงเสนอต่อไปว่าต้องแก้ไขให้ลงมติร่วมกันทั้งสามฐานันดร โดยนับคะแนนรายคน
ประเด็นปัญหาเรื่ององค์ประกอบและการลงมติของสภาฐานันดรนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนกับพวกกระฎุมพี ในท้ายที่สุด Necker อัครมหาเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 ได้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามให้ แต่ยังคงยืนยันให้มีการลงมติแยกฐานันดรและนับคะแนนเป็นรายฐานันดร
ฝ่ายฐานันดรที่สามได้ถกเถียงอภิปรายประเด็นดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง มีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ออกมาจำนวนมากเพื่อโจมตีรูปแบบสภาฐานันดรที่ถูกครอบงำโดยขุนนางอภิสิทธิ์ชน แต่หลายกรณี ก็ยังคงเป็นการตอบโต้ที่อยู่ในกรอบความคิดแบบดั้งเดิม คือ การแบ่งแยกฐานันดร เพื่อให้แต่ละฐานันดรได้ปกป้องประโยชน์ของตนเอง และแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสามัญชนที่เก่าแก่ไม่แพ้กับพวกขุนนาง อย่างไรก็ตาม มีงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนฐานันดรที่สาม โดยอธิบายให้เหตุผลที่หลุดกรอบไปจากเดิม เป็นงานที่ส่งผลสะเทือนและปลุกเร้าให้เกิดการปฏิวัติ นั่นคือ Qu'est-ce que le Tiers Etat ? ของ Sieyès[4]
Sieyès เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นในช่วงปลายปี 1788 และตีพิมพ์เผยแพรในเดือนมกราคม 1789 โดยหวังว่างานชิ้นนี้จะกระตุ้นเตือนให้ผู้แทนของฐานันดรที่สาม “ตาสว่าง” และร่วมมือกันเป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติผลงานของเขาได้การตอบรับดีมาก ต้องพิมพ์ซ้ำใหม่ถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาไม่กี่เดือน เกิดกระแสปากต่อปากถามไถ่กันเสมอว่า “ได้อ่าน le Tiers แล้วหรือยัง?” ผู้คนตามถนน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ชุมนุมต่างๆ ต่างก็นำข้อเขียนชิ้นนี้ไปถกเถียงอภิปรายกัน
เขาเริ่มต้นงานชิ้นนี้ด้วยการตั้งคำถามและคำตอบไว้ 3 ข้อ ข้อแรก ฐานันดรที่สามคืออะไร? คำตอบคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้อสอง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ฐานันดรที่สามมีอะไรบ้างในระเบียบการเมือง? คำตอบ คือ ไม่มีอะไรเลย และ ข้อสาม ฐานันดรที่สามต้องการอะไร? คำตอบ คือ ต้องการเป็นอะไรบางอย่าง
จะเห็นได้ว่าคำถามและคำตอบทั้งสามข้อนี้ได้นำไปสู่การแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ให้กับฐานันดรที่สามนั่นเอง
Sieyès เรียกร้องให้เพิ่มจำนวนสมาชิกฐานันดรที่สามให้เท่าเทียมกับฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางและให้ลงมติร่วมกันทั้งสามฐานันดรโดยนับคะแนนเป็นรายคน เขาใช้กฎของจำนวนมาหักล้างกฎเกณฑ์แบบจารีตประเพณีโบราณที่อ้างแต่ความเก่าแก่ โดยเสนอว่า เราไม่อาจยอมรับให้พวกเสียงข้างน้อยสามารถทำลายเจตจำนงของคน 25 หรือ 26 ล้านคน เมื่อจำนวนประชากรที่เป็นสามัญชนมีมาก ก็ต้องมีผู้แทนจำนวนมากพระและขุนนางที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ย่อมไม่อาจขัดขวางความต้องการของสามัญชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ได้
ไม่เพียงแต่ข้อเรียกร้องเรื่องการให้ฐานันดรที่สามได้มีบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในสภาฐานันดรเท่านั้น Sieyès ยังไปไกลกว่างานอื่นๆ ตรงที่เขาสร้างคำอธิบายให้ฐานันดรที่สามอยู่เหนือพระ ขุนนาง และกษัตริย์ โดยผ่านความคิดเรื่อง Nation เขาเริ่มต้นจากการเสนอให้ยุติการพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยต้องผูกมัดกับแนวทางที่ทำกันมาในอดีต แต่ต้องเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเสียใหม่
สำหรับ Sieyès แล้วแนวปฏิบัติในอดีต ไม่มีอะไรมากไปกว่าสิทธิที่จะไม่อดทนต่อเรื่องเดิมๆ อีกต่อไป เราต้องแตกหักกับเรื่องราวในอดีต และต้องย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ นับแต่นี้ ต้องเริ่มต้นจากการค้นหาว่าแท้จริงแล้ว “ชาติ” คือใคร อัตลักษณ์ทางการเมืองอันแท้จริงของ “ชาติ” คืออะไร
พวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนและพวกศาลปาร์เลอมองต์มักอธิบายให้ชาติเป็นองคภาวะทางการเมืองที่มีแต่ละชนชั้นเข้ามาประกอบร่วมกัน คำอธิบายเช่นนี้ทำให้ชนชั้นขุนนางมีบทบาททางการเมืองเคียงคู่ไปกับกษัตริย์ได้ Sieyès ปฏิเสธคำอธิบายเช่นนี้ และมุ่งไปสู่คำอธิบายใหม่เพื่อเปิดทางให้ฐานันดรที่สามเข้ามากำหนดเจตจำนงในนามของชาติ
สำหรับ Sieyès แล้ว “ชาติ” หรือ “Nation” คือ การแสดงออกให้ปรากฏของกฎหมายธรรมชาติ ชาติ คือ การรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลในสภาวะธรรมชาติเพื่อดำเนินชีวิตในสังคมการเมืองด้วยการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้น ชาติเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ด้วยความจำเป็นที่มนุษย์ต้องมารวมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ชาติจึงไม่ใช่ผลผลิตจากสัญญาประชาคมหรือข้อตกลงระหว่างปัจเจกบุคลแต่มันเป็นผลธรรมดาจากกฎแห่งความจำเป็น
“ชาติ” ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มของคนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในดินแดนเดียวกันและปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่มันประกอบขึ้นจากคนที่เป็นหุ้นส่วนของวิสาหกิจของสังคม อันได้แก่ คนที่ผลิตและมีส่วนร่วมกับผลผลิตอันเป็นประโยชน์และใช้ร่วมกัน ดังนั้น ชาติจึงไม่ยอมรับทั้งกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์หรือกลุ่มคนที่ยากจนข้นแค้น เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ไม่ได้ร่วมผลิตใดๆ
จากคำอธิบายส่วนประกอบที่ก่อตัวเป็นชาติเช่นนี้เอง ทำให้ “ชาติ” ของ Sieyès มีแต่พวกฐานันดรที่สาม เพราะพวกเขาผลิต แบ่งปัน และมีทรัพย์สินของตน ในขณะที่พวกอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายไม่อาจถูกนับรวมเข้ามาอยู่ในชาติได้ เพราะ เป็นพวกไร้ประโยชน์ ไม่ทำงาน ไม่ผลิต แต่กลับดูดซับทรัพยากรและผลผลิตของผู้อื่นเสมือนเป็นกาฝากหรือปรสิต
ในความเห็นของ Sieyès “ชาติ” หรือ “Nation” ซึ่งประกอบไปด้วยฐานันดรที่สามนั้น มีบทบาทในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะ “ชาติ” แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ทรง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (pouvoir constituant) เมื่ออำนาจสถาปนา
“รัฐธรรมนูญ” เป็นอำนาจอันอิสระเสรีจากทุกรูปแบบทางกฎหมายดังนั้น “ชาติ” (Nation) ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงเป็นองคภาวะที่อยู่สูงสุด และไม่ตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อยืนยันว่า “ชาติ” เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และ “ชาติ” เป็นผู้ที่ตัดสินใจก่อตั้งและกำหนดรัฐธรรมนูญขึ้นมา “ชาติ” จึงมาก่อนรัฐธรรมนูญ และเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐ เจตจำนงของ “ชาติ” จึงชอบด้วยกฎหมายเสมอ เพราะ “ชาติ” คือกฎหมายโดยตัวมันเอง หากจะมีอะไรที่มาก่อน “ชาติ” และอยู่เหนือ “ชาติ” ก็คงมีแต่เพียง “กฎหมายธรรมชาติ” เท่านั้น
“ชาติ” ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ “ชาติ” เป็นอิสระจากทุกรูปแบบทางกฎหมายในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ “ชาติ” สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะ อำนาจที่ “ชาติ” ใช้เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) ที่ไร้ขีดจำกัด มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญนั่นเอง
เมื่อรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นแล้ว บรรดาองค์กรต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญได้ตั้งขึ้นก็จะใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) การแบ่งแยกอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) และอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) นี้ ส่งผลให้ “ชาติ” อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือรัฐธรรมนูญ และเหนือทุกองค์กร
คำอธิบายของ Sieyès ที่ยืนยันว่า “ชาติ” เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่องค์กรอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ เมื่อนำไปประกอบกับคำอธิบายเรื่อง “ชาติ” คือการประกอบรวมตัวกันขึ้นของฐานันดรที่สามแล้ว ย่อมส่งผลให้ฐานันดรที่สามกลายเป็นผู้ทรงอำนาจในการกำหนดระบอบการเมืองการปกครอง สถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใช้ในรัฐ และก่อตั้งองค์กรอื่นๆ ขึ้น
ในขณะที่สภาฐานันดรเป็นเพียงองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ ดังนั้นสภาฐานันดรจึงเป็นเพียงองค์กรที่ใช้อำนาจในระดับที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) ไม่ใช่องค์กรที่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นองค์กรที่มาจากรัฐธรรมนูญตามระบอบของกษัตริย์ด้วย จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สภาฐานันดรไม่สามารถก่อตั้งรัฐธรรมนูญได้ มีแต่ “ชาติ” ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของฐานันดรที่สามเท่านั้นที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของระบอบแบบใหม่
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ ชาติจะแสดงออกซึ่งเจตจำนงได้อย่างไร? เราจะทราบได้อย่างไรว่าชาติได้ตัดสินใจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น? ต่อประเด็นปัญหานี้ Sieyès เสนอว่า ชาติเป็นองคภาวะเพียงหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ ชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นที่รวมกันของประชาชนทั้งหลาย ดังนั้น คนแต่ละคนจึงไม่อาจแสดงเจตจำนงออกมาได้ แต่ต้องหลอมรวมให้เป็นเจตจำนงหนึ่งเดียวของชาติ วิธีการที่จะแสดงออกซึ่งเจตจำนงของชาติจึงต้องใช้ระบบผู้แทน ประชาชนต้องเลือกผู้แทนของตนเข้ามา เพื่อให้ผู้แทนทั้งหลายร่วมกันแสดงเจตจำนงในนามของชาติ
สำหรับกลุ่มคนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทน และบุคคลที่มีสิทธิเป็นผู้แทนได้นั้น Sieyès ใช้หลักการแบ่งงานกันทำ (la division du travail) มาอธิบายว่า คนที่มีบทบาทในทางการเมืองและสามารถกำหนดเจตจำนงของชาติร่วมกันได้นั้น ต้องเป็นคนที่ผลิตและสร้างประโยชน์ส่วนรวมให้แก่สังคม ดังนั้น จึงมีแต่พวกฐานันดรที่สามเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตัวแทนและถูกเลือกให้เป็นตัวแทน
ความคิดของ Sieyès ในเรื่องนี้ คือ การนำความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในยุคสมัยนั้นที่เน้นการผลิต มาประยุกต์ใช้ในแดนทางการเมือง ทำให้การผลิตซึ่งเป็นพลังในทางเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองด้วย กลุ่มคนที่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจผ่านการผลิตและการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง กำหนดระบอบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งองค์กรต่างๆ ผ่านการสถาปนารัฐธรรมนูญ
Sieyès ปฏิเสธประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนแต่ละคนมาออกเสียงประชามติ เขาเห็นว่าประชาธิปไตยทางตรงอาจไปได้ดีในสังคมบุพกาลหรือรัฐขนาดเล็ก แต่เมื่อรัฐขยายตัวขึ้น ย่อมไม่มีทางที่จะนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ได้ รัฐขนาดใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้างขวางและมีจำนวนประชากรที่มากขึ้น ไม่สามารถที่จะหามติร่วมกันของชาติได้ เขายังอธิบายต่อไปอีกว่า ระบบผู้แทนไม่ได้หมายความว่า พลเมืองทั้งหลายได้โอนเจตจำนงของตนไปให้แก่ผู้แทนเพื่อแสดงออกแทนตนเอง แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือกผู้แทนเข้าไปเพื่อแสดงเจตจำนงอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมไมใช่ประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่ง
เมื่อผู้แทนได้เข้ามารวมตัวกันเพื่อลงมติตัดสินใจ การลงมติก็เป็นวิธีการในการสกัดเอาประโยชน์ทั่วไปหรือประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชาติออกมา เจตจำนงที่ผู้แทนแสดงออกมาจึงเป็นเจตจำนงของชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เจตจำนงของผู้แทน เพื่อประโยชน์ของผู้แทน และไม่ใช่เจตจำนงของผู้เลือกผู้แทน เพื่อประโยชน์ของผู้เลือกผู้แทน
ความคิดของ Sieyès ได้ส่งผลทางการเมืองสองทางไปพร้อมกัน ด้านหนึ่ง คือ การเปิดฉากปฏิวัติ ด้วยการปลุกเร้าให้ฐานันดรที่สามเห็นความสำคัญของตนเอง ยกระดับฐานันดรที่สามให้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง มีอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบหรือกฎเกณฑ์แบบที่เคยเป็นมาในอดีต อีกด้านหนึ่ง คือ การปิดล้อมประชาชน-คนชั้นล่าง ด้วยการอธิบายผ่านเศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบผู้แทน มีแต่เพียงฐานันดรทีสามซึ่งผลิตและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเท่านั้นที่มีบทบาทในทางการเมือง ประชาชน-คนชั้นล่าง ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ ระบบผู้แทนได้กีดกันประชาชน-คนชั้นล่างออกไป พวกเขาไม่สามารถเลือกหรือถูกเลือกได้ ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่อาจแสดงออกผ่านการออกเสียงประชามติแบบประชาธิปไตยทางตรงได้อีกด้วย
Qu'est-ce que le Tiers Etat ? คือ งานแห่งสถานการณ์ ออกมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะกับช่วงเวลา และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ปลุกเร้าให้พวกกระฎุมพีกล้าที่จะลุกขึ้นปฏิวัติ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อขุนนางอภิสิทธิ์ชน พระ และกษัตริย์ พร้อมกันนั้น มันยังเป็นงานที่กีดกันประชาชน-คนชั้นล่าง ออกไปด้วย คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า Qu'est-ce que le Tiers Etat ? เป็นงานปฏิวัติ แต่เป็นปฏิวัติที่สงวนไว้ให้พวกกระฎุมพีเท่านั้น
การเปลี่ยนสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติ : การปฏิวัติของฐานันดรที่สาม[5]
วันที่ 24 มกราคม 1789 หลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาฐานันดรและกำหนดกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง จากนั้นการเลือกตั้งสภาฐานันดรมีขึ้นในเดือนมีนาคม (จังหวัดอื่นๆ) และเดือนพฤษภาคม (ปารีส) และเปิดประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 5 พฤษภาคม 1789 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 1,139 คน แบ่งเป็นสมาชิกฐานันดรขุนนาง 270 คน ฐานันดรพระ 291 คน และฐานันดรที่สาม 578 คน ซึ่งทั้งสามฐานันดรนี้ต้องแยกกันประชุมและลงมติแยกกัน
ในการประชุมสภาฐานันดรวันแรก สมาชิกสภาฐานันดรที่สามปีกนักกฎหมาย-ทนายความเสนอวาระให้พิจารณายกเลิกการแยกประชุมในแต่ละฐานันดรและยกเลิกการลงมติในแต่ละฐานันดรแยกกัน พวกเขาเสนอให้ทั้งสามฐานันดรประชุมร่วมกันและลงมตินับคะแนนเป็นรายบุคคล ฐานันดรพระและขุนนางปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้สภาฐานันดรที่สามต้องประชุมต่อไปกันเองที่ห้องประชุมใหญ่ Menus-Plaisirs พวกเขาจัดการเปลี่ยนชื่อเรียกตนเองเสียใหม่ว่า สภา Communes โดยหยิบยืมมาจาก House of Commons ของอังกฤษ และประกาศเชิญชวนสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางและพระที่เห็นด้วยให้มาร่วมประชุมด้วยกันเพื่อตรวจสอบว่าสภาแห่งนี้มีอำนาจอะไรบ้าง
ฐานันดรขุนนางและพระยังคงปฏิเสธข้อเสนอของฐานันดรที่สาม แต่การปฏิเสธนี้ก็ไม่อาจขัดขวางเจตจำนงของฐานันดรที่สามได้ พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าต่อไปและยื่นคำขาดกำหนดเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายน หากพระและขุนนางยังไม่เข้าร่วม ฐานันดรที่สามก็จะประชุมต่อไปกันเอง ในท้ายที่สุด มีสมาชิกสภาฐานันดรพระและสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางบางส่วนมาร่วม
ในวันที่ 17 มิถุนายน Sieyès เสนอให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ (Assemblée nationale) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง การเปลี่ยนจากสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่เรื่อง “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ” (souverainete nationale) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการกำเนิดกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ในฝรั่งเศส
นับแต่นี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของชาติ ซึ่งมีสภาแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย มีแต่เพียงสภาแห่งชาติเท่านั้นที่มีอำนาจในการตีความและแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปของชาติ ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศส วันที่ 17 มิถุนายน 1789 จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์และก่อตั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส
สองวันถัดมา สมาชิกสภาฐานันดรพระอีกหลายคนได้เข้าร่วมประชุมสภาแห่งชาติ ส่วนสมาชิกฐานันดรขุนนางได้เรียกร้องให้กษัตริย์ลงมาวินิจฉัยชี้ขาดว่ามติของฐานันดรที่สามนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย Necker เสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 ตระหนักดีถึงคลื่นลมแห่งการปฏิวัติจึงพยายามหาหนทางประนีประนอมในรูปแบบของกษัตริย์อังกฤษโดยเขาเสนอให้หลุยส์ที่ 16 ยอมรับการแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกันระหว่างสภาฐานันดรและกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม หลุยส์ที่ 16 ไม่เห็นด้วย ในวันที่ 23 มิถุนายน พระองค์ทรงประกาศว่าการลงมติของผู้แทนฐานันดรที่สามในวันที่ 17 มิถุนายน เป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้ทั้งสามฐานันดรกลับมาประชุมโดยให้ประชุมแยกกันแต่ละฐานันดร
หลุยส์ที่ 16 อาจมองว่าตนได้ประนีประนอมมากเพียงพอแล้ว แต่พวกฐานันดรที่ 3 ไม่รู้จักพอเสียทีพระองค์ทรงใช้กุศโลบาย “สู้พลางถอยพลาง” ตั้งแต่ยินยอมให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาฐานันดรที่ 3 ให้อีกหนึ่งเท่าตัว แต่ก็ไม่ยอมให้มีการลงมติทั้งสามฐานันดรร่วมกันและนับคะแนนเป็นรายบุคคล ยินยอมแต่งตั้ง Necker ซึ่งมีแนวคิดแบบปฏิรูปกลับมาเป็นเสนาบดี แต่ก็ไม่ยอมทำตามข้อเสนอของ Necker เท่าไรนัก
น่าสนใจว่าหากหลุยส์ที่ 16 ยอมประนีประนอมกับฐานันดรที่ 3 อีกครั้ง เช่น การยอมรับหลักความเสมอภาคทางภาษีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด การยอมให้สภาฐานันดรได้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับกษัตริย์ เป็นต้น การปฏิวัติฝรั่งเศสอาจไม่ลุกลามจนเกินความควบคุมของหลุยส์ที่ 16 ก็เป็นได้
คำประกาศของหลุยส์ที่ 16 ไม่มีพลังเพียงพอ พวกฐานันดรที่สามดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าประชุมในนามของสภาแห่งชาติต่อไป การประกาศสู้ของ Mirabeau ที่ว่า “เราจะออกไปจากที่ประชุมของเราแห่งนี้ได้ก็ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้น” สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกฐานันดรที่สามที่รวมตัวกันและเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติแล้วนั้น จะไม่มีวันล้มเลิกความตั้งใจและไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งภารกิจของพวกเขาได้นอกเสียจากใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ความตั้งใจเอาชีวิตเข้าแลกของพวกฐานันดรที่สามนี้ ทำให้การปฏิวัติยังรุดหน้าไปต่อได้
การเปลี่ยนสถานะจากสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติ นอกจากช่วยยืนยันความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ไม่ใช่ของกษัตริย์แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายความคิดใหมในเรื่องประชาธิปไตยแบบผู้แทนด้วย พวกฐานันดรที่สามต้องการให้ผู้แทนแต่ละฐานันดรเข้าประชุมร่วมกัน ลงมติร่วมกัน และนับคะแนนเป็นรายหัว ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้พวกเขาได้เปรียบและกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศสได้ ดังนั้นสมาชิกฐานันดรที่สามจึงต้องหาคำอธิบายมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว
Sieyès ให้เหตุผลว่า ความเป็นผู้แทนของชาติต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวและไม่อาจแบ่งแยกได้ ดังนั้นจึงไม่อาจมีสมาชิกสภาคนใดที่กล่าวอ้างความเป็นผู้แทนของชนชั้น ความเป็นผู้แทนของฐานันดร หรือความเป็นผู้แทนของเขตพื้นที่ใด ผู้แทนทั้งหลายจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยการประชุมแยกกัน ผู้แทนที่ได้รับเลือกจากประชาชนตามเขตพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้รับมอบอาณัติมาจากประชาชนผู้เลือก และไมได้เป็นผู้แทนในเขตพื้นที่แต่เป็นผู้แทนของชาติทั้งหมด
การแสดงออกของผู้แทน คือ การแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปร่วมกันทั้งหมดของชาติ ความคิดของ Sieyès ในเรื่องดังกล่าว เป็นต้นกำเนิดของหลักการเรื่อง Free Mandate กล่าวคือสมาชิกสภาผู้แทนมีอิสระในการตัดสินใจลงมติในเรื่องใดๆในฐานะผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งตรงกันข้ามกับ Imperative Mandate ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนจำต้องผูกมัดตามอาณัติของประชาชนที่เลือกตนและตามเขตพื้นที่ที่ตนลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทน
ในวันที่ 8 กรกฎาคม 1789 สภาแห่งชาติได้ยืนยันภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนว่า “ชาติฝรั่งเศสอันชอบธรรมทั้งมวลแสดงออกทางผู้แทนผ่านสมาชิกสภาแห่งชาติทั้งหลาย อาณัติบังคับใด สมาชิกกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เสียงส่วนน้อยใด ไม่อาจหยุดยั้งกิจกรรมของสภาแห่งชาติ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเสรีภาพของสภาแห่งชาติ ไม่อาจตัดทอนกำลัง และไม่อาจจำกัดอำนาจนิติบัญญัติซึ่งครอบคลุมทุกส่วนของชาติและเป็นของชาวฝรั่งเศสทั้งมวล”
เพียงช่วงเวลาเดือนเศษนับตั้งแต่เปิดประชุมสภาฐานันดร ระบอบการเมืองฝรั่งเศสก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงราก เริ่มจากการยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มิใช่ของกษัตริย์ ต่อด้วยการอธิบายว่าอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นแสดงออกโดยสภาแห่งชาติ (แปลงสภาพมาจากสภาฐานันดรที่สาม) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ได้ปักหมุดหลักการเรื่อง “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ” และ “ประชาธิปไตยทางผู้แทน” ให้แก่การเมืองสมัยใหม่สภาแห่งชาติได้เปลี่ยนแปลงหลักความเป็นผู้แทนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่สภาฐานันดรเป็นเพียงสภาผู้แทนที่กษัตริย์เรียกประชุมเพื่อปรึกษาหารือในราชการแผ่นดิน กลายเป็นสภาที่เป็นสภาผู้แทนของชาติ มีและใช้อำนาจอธิปไตยอย่างทั่วไปผ่านการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับในรัฐ ในชื่อของ “สภาแห่งชาติ” (Assemblée nationale)
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาตามมาว่า สภาแห่งชาติมีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับกษัตริย์เช่นใด? จะจัดวางโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ของฝรั่งเศสอย่างไร? กล่าวให้ถึงที่สุด ฝรั่งเศสจะกำหนดรัฐธรรมนูญตามระบอบใหม่อย่างไร?
“สภาแห่งชาติ” ซึ่งกำเนิดจากการประกาศเปลี่ยนสถานะตนเองของสภาฐานันดรที่สาม ได้กำหนดภารกิจของตนไว้ ได้แก่ การกำหนดรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักร การจัดวางระเบียบโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่และการรักษาหลักการอันถูกต้องของสถาบันกษัตริย์ โดยสมาชิกสภาแห่งชาติได้รวมตัวกันในวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เพื่อสาบานตนที่สนามเทนนิส Jeu de Paume ว่า สมาชิกสภาแห่งชาติจะประชุมร่วมกัน เพื่อทำภารกิจนี้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นและยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง พวกเขาจะไม่มีวันแยกหนีจากกัน
หากพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์แล้ว การสาบานตนของสมาชิกสภาแห่งชาติที่สนามเทนนิสยิ่งทำให้เห็นถึงความคิดเรื่องความเป็นผู้แทนของชาติทั้งหมด มิใช่ผู้แทนของประชาชนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ การสาบานตนในครั้งนี้เป็นการผูกมัดตนเองร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาแห่งชาติ มิใช่การตกลงหรือให้คำมั่นสัญญากับประชาชนผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สมาชิกแต่ละคนต่างก็รับผิดชอบต่อกันและกันอย่างเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกันในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยพันธะผูกพันนี้ สภาแห่งชาติจึงต้องสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับอย่างมั่นคงถาวร รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสจึงเป็นเป้าประสงค์และดอกผลของการปฏิวัติ
เมื่อสภาแห่งชาติไม่ได้ทำหน้าที่ตรากฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่สถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ด้วย ดังนั้น เพื่อยืนยันถึงภารกิจของสภาแห่งชาติให้แน่นอนชัดเจน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 1789 สภาแห่งชาติจึงมีมติเพิ่มเติมสถานะของตนจากเดิมที่เป็น “สภาแห่งชาติ” (Assemblée nationale) ให้กลายเป็น “สภาแห่งชาติสถาปนารัฐธรรมนูญ” (Assemblée nationale constituante)
เมื่อพูดถึงวันหรือเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้คนจำนวนมากมักคิดถึงเหตุการณ์ทลายคุก Bastille เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวันชาติฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดตามที่กล่าวมาในตอนนี้กับตอนที่แล้ว จะเห็นได้ว่า วันอันเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองฝรั่งเศสแบบ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ไม่ใช่วันที่ 14 กรกฎาคม 1789 แต่เป็นสี่วันอันสำคัญในสภาแห่งชาติ ได้แก่
- 5 พฤษภาคม 1789 วันเปิดประชุมสภาฐานันดร เริ่มต้นโอกาสของฐานันดรที่สามในการเดินหน้าสู่การปฏิวัติ
- 17 มิถุนายน 1789 วันที่สภาฐานันดรที่สามลงมติประกาศตนเป็นสภาแห่งชาติ และยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มิใช่ของกษัตริย์ โดยมีสภาแห่งชาติเป็นผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตย
- 20 มิถุนายน 1789 วันที่สมาชิกสภาแห่งชาติสาบานตนที่สนามเทนนิสว่าจะประชุมร่วมกันจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญ
- 9 กรกฎาคม 1789 วันที่สภาแห่งชาติลงมติเพิ่มเติมภารกิจเข้าไปเป็น “สภาแห่งชาติสถาปนารัฐธรรมนูญ”
เหตุการณ์สำคัญในสภาแห่งชาติเหล่านี้ คือ ห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติ อาจกล่าวได้ว่า การรื้อถอนทำลายระบบรัฐธรรมนูญของระบอบเก่า กระทำโดยสภาฐานันดรที่สาม พาไปสู่สภาวะปลอดระบบรัฐธรรมนูญและมุ่งหน้าสู่การสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญใหม่ หากพิจารณาจากระบบกฎหมายของระบอบเก่า การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรมตามฐานของระบอบเก่า แต่มันจะมีปัญหาอะไรหลงเหลืออีกเล่า ในเมื่อการกระทำนี้ คือ “การปฏิวัติ”
การเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญ[6]
การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาแห่งชาติ เริ่มต้นจากการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกำหนดตารางการทำงานและกระจายงานออกไปให้คณะอนุกรรมาธิการรวม 30 คณะ โดยแต่ละคณะจะเลือกผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อสภาแห่งชาติ คณะอนุกรรมาธิการที่ 8 ซึ่งมี Mounier เป็นผู้รับผิดชอบทำรายงาน (เขาได้รับเลือกโดยชนะ Sieyès) ได้เสนอรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอันสำคัญของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ขอบเขตอำนาจของสถาบันกษัตริย์ รูปแบบของความเป็นผู้แทน และคำประกาศสิทธิของพลเมือง
ต่อมา ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ด้านนอกสภา ประชาชนได้บุกทลายคุก Bastille ส่วนเหตุการณ์ภายในสภาแห่งชาตินั้น มีการลงมติให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องประกอบด้วยบทบัญญัติรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมืองด้วย นอกจากนั้น สภาแห่งชาติยังมีมติให้การกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องกระทำกันในที่ประชุมสภาแห่งชาติด้วย
มติดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเสนอของ Mounier ที่ต้องการให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณายกร่างเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญและคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเสียก่อน เพื่อให้อนุกรรมาธิการได้อภิปรายถกเถียงในรายละเอียดกันได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากแรงกดดันจากสมาชิกสภาแห่งชาติ
สภาแห่งชาติจึงมีมติตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เรียกกันว่า “คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญชุดที่หนึ่ง” ประกอบไปด้วย Mounier, Sieyès, Le Chapelier, Bergasse ซึ่งเป็นพวกฐานันดรที่สาม Clermont-Tonnerre, Lally-Tollendal ซึ่งเป็นพวกขุนนาง และ Talleyrand, Champion de Cicé ซึ่งเป็นพวกพระ
หากพิจารณาถึงพื้นฐานทางฐานันดรของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าฝ่ายที่มาจากฐานันดรที่สามมีมากกว่าฝ่ายที่มาจากฐานันดรพระและขุนนางในอัตราส่วน 4 ต่อ 2 ต่อ 2 ทั้งนี้เนื่องจากฐานันดรที่สามประสบชัยชนะในการเปลี่ยนสภาฐานันดรที่สามเป็นสภาแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้แทนจากฐานันดรพระและขุนนางที่เข้าร่วม คือ พวกที่ยินยอมตามความคิดของฐานันดรที่สามแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความคิดทางการเมืองและแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าสถานะหรือฐานันดรไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความคิด กรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่สนับสนุนกษัตริย์ สนับสนุนรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแบบระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษ และสนับสนุนระบบสองสภา มีเพียงSieyès, Talleyrand, Le Chapelier เท่านั้นที่ต่อต้านระบบสองสภา และยืนยันว่าระบบสภาเดียวเท่านั้นที่สอดคล้องกับหลักการอำนาจอธิปไตยของชาติ
แม้สมาชิกสภาแห่งชาติต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศฝรั่งเศสจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศให้แน่นอนชัดเจน เพื่อให้พ้นไปจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการกดขี่ของรัฐบาล และเป็นภารกิจของพวกเขาที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามคำสาบานที่ให้ไว้ ณ สนามเทนนิส แต่ “รัฐธรรมนูญ” คือ เป้าหมายร่วมกันเท่านั้น
ส่วนเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นเช่นใด ก็ต้องถกเถียงกันอย่างหนัก และเป็นประเด็นชิงไหวชิงพริบ ช่วงชิงเอาชนะกัน จนนำมาซึ่งการแบ่งสมาชิกสภาออกเป็นฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม
การจัดทำรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่อาจหลีกหนีแรงกดดันจากสภาพการเมืองในช่วงเวลานั้นได้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และเหตุการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องจากนั้นมีผลชี้นำทิศทางการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ในช่วงฤดูร้อน 1789 การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา ทั้งในเมืองและในชนบท มีส่วนสำคัญในการกดดันให้สภาแห่งชาติต้องยกเลิกระบอบอภิสิทธิ์และตราคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ภายหลังเหตุการณ์ทลายคุก Bastille เกิดกระแสข่าวลือลามไปทั่ว โดยเฉพาะในชนบท ทำให้ชาวนาจำนวนมากตระหนกตกใจลุกขึ้นก่อขบถในหลายพื้นที่ เกิดกระแสรวมหมู่ชักชวนกันให้ไปบุกยึดทรัพย์สินและที่ดินของพระและขุนนาง นอกจากนี้ยังเข้าไปยึดหอจดหมายเหตุที่ดินเพื่อทำลายหนังสือแสดงอภิสิทธิ์เหนือที่ดินของพวกเจ้าที่ดิน เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “La Grande Peur” หรือ “ความกลัวรวมหมู่ขนานใหญ่”[7]
เหตุการณ์ La Grande Peur กดดันให้สภาแห่งชาติต้องพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับระบบอภิสิทธิ์ที่ให้แก่พระและขุนนาง ในเวลานั้นสภาแห่งชาติกำลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกสภาสับสนอลหม่านแบบนี้ ก็อาจทำให้การเมืองในสภาดำเนินต่อไปไม่ได้ และขบวนการปฏิวัติที่ชนชั้นกระฎุมพีเป็นผู้ถางทางเริ่มต้นอาจหลุดมือไปจากพวกเขาได้ ดังนั้นสภาแห่งชาติจึงจำเป็นต้องหาหนทางให้เหตุการณ์ความวุ่นวายภายนอกอันเกิดจากข่าวลือต่างๆ นานายุติลงให้จงได้
สภาแห่งชาติมีสองทางเลือก ทางเลือกแรก คือ การยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ หากเลือกวิธีการนี้ ก็หมายความว่าจำเป็นต้องควบคุมและปราบปรามการก่อขบถในพื้นที่ต่างๆ อันอาจทำให้ชาวนาตั้งตนเป็นศัตรูกับระบบฟิวดัลมากขึ้นและอาจไม่พอใจสภาแห่งชาติไปด้วยได้ ทางเลือกที่สอง คือ สร้างระบบการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและคนจน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นดอกผลความสำเร็จ ด้วยสถานการณ์ที่ข่าวลือทำงานไปทั่วเช่นนี้ ทางเลือกนี้ก็ไม่อาจเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา
เมื่อทั้งสองทางเลือกถูกปฏิเสธสมาชิกสภาแห่งชาติกลุ่มเบรอตง (Club breton) จึงได้เสนอวิธีการใหม่ คือ การประกาศยกเลิกระบอบอภิสิทธิ์ เริ่มต้นจาก Vicomte de Noailles เสนอให้ยกเลิกอภิสิทธิ์ทั้งหมดเพื่อการลุกฮือในต่างจังหวัดสงบลง ต่อมา Duc d'Aiguillon เสนอให้รับรองหลักความเสมอภาคในการจ่ายภาษี และให้รัฐซื้ออภิสิทธิ์ต่างๆ คืนได้ในท้ายที่สุดสภาแห่งชาติลงมติในวันที่ 4 สิงหาคม 1989 ให้ยกเลิกระบบฟิวดัลทั้งหมด[8]
มักกล่าวกันว่า วันที่ 4 สิงหาคม 1789 คือ วันยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และสิ้นสุด ระบบฟิวดัล และเป็นวันสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้ว พบว่า ระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงทันที ดังจะเห็นได้จากกฎหมายลงวันที่ 4 6 7 8 และ 11 สิงหาคม 1789 ประกาศรับรองไว้อย่างกว้างๆ เท่านั้น โดยในมาตราแรก ยืนยันว่า สภาแห่งชาติทำลายระบบฟิวดัลทั่วทั้งหมด ส่วนมาตราถัดๆ ไป เป็นการยกเลิกอภิสิทธิ์ต่างๆ ในหลายเรื่อง เช่น ภาษี ที่ดิน ทรัพย์สิน ระบบศาล แต่กฎหมาย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข กระบวนการ และวิธีการในการยกเลิกอภิสิทธิ์เหล่านี้ จึงเกิดปัญหาตามมาว่าจะใช้เกณฑ์อะไรในการจำแนกทรัพย์สินที่ถือครองตามระบบอภิสิทธิ์? รัฐสามารถยึดคืนได้ทันทีหรือต้องจ่ายค่าทดแทน? กระบวนการในการทยอยยกเลิกอภิสิทธิ์ต้องทำอย่างไร? ดังนั้น สภาแห่งชาติต้องทยอยออกกฎหมายเพื่อขยายรายละเอียดตามมาตั้งแต่ 1790 จนถึงปี 1793 โดยสภา Convention ในสมัยสาธารณรัฐ ออกกฎหมายลง วันที่ 17 มิถุนายน 1793 ประกาศยกเลิกอภิสิทธิ์ทั้งหมดตามระบบฟิวดัลโดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนคืน
แม้ระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลไมได้หายไปในชั่วข้ามคืน ถึงกระนั้น เหตุการณ์ในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนได้สำนึกถึงความเป็นปัจเจกบุคคล มีอิสระในการตัดสินใจ เสมอภาคเท่าเทียมกัน ความคิดเช่นนี้ได้แพร่หลายออกไปยังภาคสังคมมากขึ้น ไม่ใช่จำกัดเฉพาะในหมู่นักปฏิวัติเท่านั้น
หลังจากตรากฎหมายประกาศยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบฟิวดัลในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 แล้ว ในวันเดียวกันนั้น สภาแห่งชาติได้ลงมติว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเริ่มต้นจากการตราคำประกาศสิทธิเสียก่อน โดยนอกจากจะสนองตอบต่อความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ชี้นำการปฏิวัติแล้ว ยังมุ่งหมายให้คำประกาศสิทธินี้เป็นกรอบเบื้องต้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอีกด้วย
ที่มา: ปิยบุตร แสงกนกกุล. ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789: จากการกำเนิดขึ้นของสภาแห่งชาติจนถึงการจัดทำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง, ในรวมบทความวิชาการในวาระ 70 ปี วรวิทย์ กนิษฐะเสน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2, 2561), น.39-54
หมายเหตุ:
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
[1] บทความชิ้นนี้ ตัดตอนส่วนหนึ่งมาจากงานของผู้เขียนในเรื่อง “ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส(1789-1799)” ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเขียน และยังไม่เสร็จสมบูรณ์
[2] François FURET et Denis RICHET, La Revolution française, Hachette, 1968, pp. 15- 67 ; Marcel MORABITO, Histoire constitutionnelle de la France : De 1789 a nos jours, LGDJ, 2014, pp. 35-39 ; Philippe SUEUR, Histoire du droit public français,XV-XVIii siecle, PUF, 1989, pp.84-94 ; Michel VOVELLE, La chute de la monarchie, Seuil, 1972, pp.95-126 ; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด,วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2552, หน้า 305-336.
[3]Ran HALEVI, Etat généraux , in François FURET et Mona OZOUF (Sous la direction de), Dictionnaire critique de la Révolution française. Événements, Champs/Flammarion, 1992, pp.145-158 ; Marcel MORABITO, Op.cit., pp.39-46.
[4] Emmanuel Joseph SIEYES, Qu'est-ce que le tiers état ?, (1788), Préface de Jean-Denis Bredin, Champs/Flammarion, 1988.
[5] François FURET et Denis RICHET, Op.cit., pp.69-81 ; Marcel MORABITO, Op.cit., pp.48-53 ; Michel VOVELLE, Op.cit., pp.127-149.
[6] Keith M. Baker, < Constitution > in François FURET et Mona OZOUF (Sous la direction de), Dictionnaire critique de la Révolution française. Institutions et créations, Champs/Flammarion, 1992, pp.179-205 Marcel MORABITO, Op.cit., pp.52-53 ;Michel VOVELLE, Op.cit., pp.127-149.
[7] Jacques REVEL, < Grande peur >, in in François FURET et Mona OZOUF (Sous la direction de), Dictionnaire critique de la Révolution française. Événements, Champs/Flammarion, 1992, pp.193-204.
[8] François FURET, Nuit du 4 août , in François FURET et Mona OZOUF (Sous la direction de), Dictionnaire critique de la Révolution française. Evénements, Champs/Flammarion, 1992, pp.227-239