ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

22
ธันวาคม
2565

 

ผมอยากจะลากกลับมาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน อยากจะลองแกล้งทำตัวเป็นอาจารย์ ชวนทุกท่านทำข้อสอบกัน ว่าเราตามทันสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดเส้นทางไปสู่การเขียนรรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกันขนาดไหน

เป็นเกมชื่อว่า “เกม ห้ายก ตก 25 ฉบับ” ผมอยากชวนทุกท่านลองคิดกับคำถามที่ผมเตรียมมา ถ้าท่านติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมาดี พูดถึงรัฐธรรมนูญการเสนอโดยประชาชนมาแล้วหลายครั้ง ถ้านับถึงวันนี้ถ้าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ท่านคิดว่าเราต้องผ่านอะไรบ้าง ผ่านด่านแบบใดบ้าง

ข้อที่ 1 ประชาชนต้องเข้าชื่อย่างน้อย 50,000 คน

ข้อที่ 2 ต้องมี ส.ส. เห็นด้วยมาก 250 คน หรือ ครึ่งหนึ่ง

ข้อที่ 3 ส.ว. ต้องเห็นด้วยอย่างน้อย 84 คน หรือ หนึ่งในสาม

ข้อที่ 4 การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ต้องทำประชามติเสมอ

เฉลยนะครับ เราไม่ต้องการ ส.ส. 250 คน แต่เราต้องการ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันให้ถึงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส.ส. เท่าไหร่ก็ได้ ส่วนข้อที่ 4 นั้นไม่ใช่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่องไม่ต้องทำประชามติ อย่างเช่นหนึ่งที่ทำไปแล้ว แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องทำประชามติก็ได้ ที่ต้องทำประชามติเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ หมวด 1 หมวด 2 และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ

แต่ข้อที่ 1 ผมหวังว่าทุกท่านจะไม่พลาด ใช้ชื่อ 50,000 คน เสนอแก้ได้ และข้อที่ 3 ใครที่ท่องไม่ได้ผมอยากให้ท่องตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราต้องการเสียง ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คน

ข้อต่อไป ถ้าประชาชนอยากเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อไหนถูกต้อง เราต้องทำอะไรบ้าง

ข้อที่ 1 ทุกวันนี้เราลงชื่ออนไลน์ ไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนแล้ว

จริงหรือเปล่า เราเคยถ่ายสำเนาบัตรประชาชนกันมาใช่ไหม เราเคยหอบกระดาษเป็นปึกๆ หอบ printer และเครื่องปั่นไฟเดินไปที่ต่างๆ เพื่อจะเก็บรวบรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุด 

ข้อที่ 2 ถ้าเป็นข้อเสนอจากประชาชนเข้าสภา ไม่ต้องทำประชามติอีก 

ข้อที่ 3 เคยมีร่างที่ประชาชนเสนอเข้าไป ได้เสียง ส.ว. ตั้ง 23 เสียง คือไม่ถึง 1 ใน 3 

ข้อที่ 4 ประชาชนเคยเข้าชื่อกันครบ 50,000 คน แล้วยื่นเสนอสำเร็จมาแล้ว 1 ครั้ง นำโดยทีม iLaw และผมเอง เมื่อ พ.ศ. 2563 

จะบอกว่าตอบได้หลายข้อ ไม่ได้มีข้อถูกข้อเดียว ข้อที่ถูก คือ ข้อที่ 1 และ ข้อที่ 3 แล้วข้อที่ 4 ผิดอย่างไร? เราเคยทำเสร็จแต่ไม่ได้สำเร็จครั้งเดียว เพราะประชาชนเคยเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญไปยื่นต่อรัฐสภา และได้เข้าสู่การพิจารณามาแล้วถึง 4 ครั้ง เราทำได้เยอะมากใน 3 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาก

หนึ่งในปัจจัยคือ การเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญในตอนนี้ ไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป ในปี 2564 ผมมาพูดที่นี่ในงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ งาน PRIDI Talks ครั้งที่ 9 ผมมาเล่าความลำบากของการถ่ายบัตรประชาชนและการได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทั่วทุกหมู่เหล่าในการถ่ายเอกสาร แต่ตอนนี้กฎหมายเปลี่ยนแล้ว คือสามารถเข้าชื่อออนไลน์ก็ได้ ทำได้ง่ายขึ้น และ 3 ฉบับหลังจากนั้นเข้าชื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้โลกมันง่ายขึ้นและเรามีโอกาสที่จะเข้าชื่อเสนอแก้กันอีกได้ไม่ยาก อีกหลายๆ ครั้งในอนาคต

ในข้อที่ 3 คือเรื่องจริง ร่างที่เคยได้เสียง ส.ว. 23 เสียงนั้นมีมาแล้วและข้อ 4 ต่อให้เป็นข้อเสนอของประชาชน ถ้าจะแก้หมวด 1 หมวด 2 หรือแก้หมวดสำคัญๆ ก็ยังต้องทำประชามติอยู่ดี เป็นขั้นตอนที่ล็อกไว้ตามขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด

ผ่านไป 2 ข้อแล้ว เรามาทบทวนกันว่าเราทำอะไรกันไปแล้วบ้าง ในช่วงเวลาครู่เดียวในปี พ.ศ. 2563 การเข้าชื่อ 100,732 รายชื่อ นั้นไม่มีออนไลน์เลยเป็นกระดาษทุกใบ เราอยู่ด้วยกันในวันนั้น ผมจำได้ว่าทุกท่านมาลงชื่อกับผม เราเดินไปสภาด้วยกัน เราไปยื่นด้วยกัน 

แต่ไม่นานหลังจากนั้นปี พ.ศ. 2564 เรามีอีกฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญฉบับ Resolution นำโดย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ และ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ฉบับนั้นเสนอเรื่องรัฐสภาเดี่ยว ไม่เอา ส.ว. ยกเลิก ส.ว. ฉบับนี้เข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 แล้วก็ตกไป

มีฉบับที่นำโดย คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร โดยเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับ iLaw ฉบับของคุณพริษฐ์ ทั้งหลายนั้นมีความสุดโต่ง สภาจึงไม่โหวตให้ ฉะนั้นจึงเสนอประเด็นเดียว คือขอยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายก ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ฉบับนี้เมื่อเข้าชื่อเสร็จและเสนอไป จึงได้ 23 เสียง จาก ส.ว. 23 คน ซึ่งตอบตกลงว่ายอมตัดอำนาจของตนเอง แต่ 23 เสียงนั้นไม่พอ ฉบับนี้ก็ต้องตกไปเช่นกัน 

และฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 4 คือฉบับปลดล็อกทั้งถิ่น การแก้รัฐธรรมนูญนำโดยคณะก้าวหน้า คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตกไปเมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ เราทำได้ถึง 4 ครั้ง ถือว่าเยอะนะครับ ประชาชนเข้าชื่อกันเกิน 50,000 คน แล้วเสนอไปถึงรัฐสภา ได้เข้าไปในรัฐสภา แล้วอภิปรายลงมติ 4 รอบแล้ว

ข้อต่อไป ข้อ 3 เมื่อ ส.ส. จะเป็นฝ่ายเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบ้าง ข้อใดถูกต้อง

ข้อที่ 1 ต้องใช้ ส.ส. จำนวน 100 คน หรือ 1 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด 

ข้อที่ 2 ส.ส. ในสภาชุดนี้ยังไม่เคยเริ่มคิดจะแก้รัฐธรรมนูญเองเลย ต้องให้ประชาชนเสนอตลอด 

ข้อที่ 3 ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เสนอไปหลายครั้ง ฝ่ายรัฐบาลไม่เคยเสนอเลย

ข้อที่ 4 พรรคพลังประชารัฐเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

เฉลยคือข้อที่ 1 และข้อที่ 4 ผมกลัวว่าหลายท่านจะลืม แต่ผมอยากให้ท่านจำได้เลยเอามาถาม พรรคประชารัฐก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญ และเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ นำโดย คุณไพบูลย์ นิติตะวัน เราผ่านการเสนอมาเยอะมาก ส่วนข้อที่ 3 ผิดนะครับ ไม่ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลไม่เสนอ เสนอซึ่งเยอะด้วย ข้อที่ 2 ผิดนะครับ แล้วก็มีการเสนอเยอะด้วยเช่นกัน

อย่างที่บอกไปตอนต้น เราผ่านมาแล้ว 5 ยก ตก 25 ฉบับ เป็นประชาชนเสนอ 4 ฉบับ และ ส.ส. อีกเยอะเลย

เราผ่านมา 5 ยก แปลว่ารัฐสภาบรรจุประเด็นแก้รัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ถกเถียงอภิปราย และลงมติไปแล้ว 5 ครั้ง 5 ยก ยกที่ 1 7 ร่าง, ยกที่ 2 13 ร่าง, ยกที่ 3 1 ร่าง ยกที่ 4 4 ร่าง และยกที่ 5 1 ร่าง คือเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา

ดูแล้วนั้นมีความหลากหลายมากทั้งประเด็นและผู้เสนอ ประชาชนเสนอ 4 ร่าง ยกที่ 1 iLaw เสนอ, ยกที่ 3 ฉบับ Resolution โดยคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ, ยกที่ 4 โดยคุณสมชัย ศรีสุทธิยากร และยกที่ 5 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 

นอกจากนี้ ฝ่ายพรรคค้านเสนอไปแล้ว คือพรรคเพื่อไทย (กรอบสีแดง) เสนอมาเรื่อยๆ เสนอมาหลายอัน แต่ยังไม่ผ่าน ในส่วนพรรคก้าวไกล (กรอบสีส้ม) เสนอแต่ยกแรก เพราะต้องใช้ ส.ส. 100 คน แต่พรรคก้าวไกลมีจำนวน ส.ส. ไม่ถึง 100 คน นาทีนี้มีแต่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้นที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ (ตามภาพด้านล่าง)

ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล ไม่เสนอเลยหรือเปล่า หรือเสนอหนึ่งครั้ง พอเป็นพิธี หรือเสนอเพื่อพอลดกระแส?

ฝ่ายรัฐบาลก็เสนอ กรอบสีเขียว คือ พรรคพลังประชารัฐ กรอบสีน้ำเงินเป็นพรรคภูมิใจไทย และสีน้ำเงินเป็นพรรคประชาธิปตย์ พรรคพลังประชารัฐเสนอตั้งแต่ยกที่ 1 ยกที่ 2 และพลังประชารัฐเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตเอามาตลอด เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอะไร โดยเฉพาะเราเสนอว่าเราอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอนี้มาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปปัตย์โหวตรับมาตลอดนะครับ

ถ้าใครคิดว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลยุคนี้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญมาตลอด ไม่จริงครับ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์รับแทบทุกร่าง ร่างล่าสุดปลดล็อกท้องถิ่นพรรคประชาธิปัตย์ก็รับ ดูภาพรวมได้ตามภาพรวมต่อไปนี้ 

 

ผ่านมาแล้ว 26 ร่าง ตก 25 ร่าง นั่นแปลว่าผ่าน 1 ร่าง อะไรที่ผ่านบ้าง?

ร่างฉบับนี้คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ 26 ร่าง ผ่านได้ 1 ร่าง ก็ขอแสดงความยินดีกับการเดินทางของเรา เรื่องที่ไม่ผ่านนั้นเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง และเป็นใจกลางของปัญหาหรือเป็นประโยชน์ของประชาชน และประเทศไทยชาติขนาดไหน นั่นคือเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง ส.ส. เจรจาแล้วว่าจะเอา ก็ไปบอก ส.ว. ว่าเอาเถอะ จึงแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปแล้ว 1 ครั้ง แต่เป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่ได้เป็นเรื่องที่ประชาชนเรารออยู่

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนงำอีกคือประเด็นที่ผ่านไม่ได้เสนอเพียงครั้งเดียว ในเรื่องระบอบเลือกตั้งนั้นเสนอมาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งสิ้น 4 ร่าง 2 ยก แต่ผ่านเพียงครั้งเดียว นี่ก็เป็นเกมการเมือง ว่าสรุปคุณจะโหวตหรือไม่โหวต คุณไม่ได้ดูเนื้อหา แต่คุณดูจังหวะทางการเมือง คุณดูว่าคุณตกลงเกี้ยเซียะกันรู้เรื่องหรือยัง

ส่วนที่เสนอมาพร้อมกันพอเป็นพรรคเพื่อไทยเสนอบ้าง กลับไม่ให้ผ่าน แต่พอเป็นพรรคประชาธิปัตย์เสนอในเรื่องที่คล้ายๆ กัน ซึ่งจริงๆ แล้วร่างของพรรคเพื่อไทยมีรายละเอียดมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ แต่กลับรับร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และไม่รับร่างร่างของพรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้นเวลาจะบอกว่า “แก้รัฐธรรมนูญให้ดูเนื้อที่เป็นประโยชน์ ถ้าเขียนมาดีก็จะผ่าน” นั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่จะอยู่ที่ว่าคนที่เขาคุยกันนั้น เขาจะเอาหรือยัง ถ้าปัญหาเป็นที่เนื้อของร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านไปตั้งนานแล้ว แต่กลับผ่านที่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ก็แปลว่าอยู่ที่ตกลงกันว่าคุณจะเอาหรือยัง แต่ในรัฐสภาแบบนี้ที่รอเขาตกลงกันก็แก้ไปได้แล้ว 1 เรื่อง

ถ้านับ ส.ส. อย่างเดียวร่างใดบ้างที่ได้เสียงเกินครึ่งบ้าง ในจาก 26 ร่างที่ผ่านมา ผมบอกไปแล้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐเอง ตอบตกลงมาตลอดในการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้านับเสียง ส.ส. อย่างเดียว ร่างที่ได้เสียง ส.ส. เกินครึ่ง คือเกือบทุกร่าง 

การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้เสียงจาก ส.ส. เกินครึ่งมาเสมอ การเสนอแก้ไขในประเด็นหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งมาเสมอ ไม่ว่าจะเสนอโดยฝ่ายค้าน หรือเสนอโดยฝ่ายรัฐบาล เพราะฝ่ายค้านนั้นแก้หมดอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลเสนอมาฝ่ายค้านก็โหวตรับหมด

เพราะ ส.ส. นั้นให้เกินครึ่งหมดแล้ว แต่ที่ร่างนั้นตกไป 25 ฉบับ แล้วส่วนที่ไม่ผ่านสักทีนั้นเพราะอะไร ส่วนใหญ่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์ 1 ใน 3

พอจะสรุปได้จนไม่ยากเกินไปว่า อุปสรรคอย่างเดียวที่ยังขวางการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญๆ หรือเปิดทางไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตอันใกล้โดยประชาชน นั้นคือ ส.ว. เพราะพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็โหวตรับตลอด พรรคพลังประชารัฐยังเสนอให้เองเลย ส.ส.ร. นั้นมีรายละเอียดที่ต่างกันไป จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แต่ ส.ส. เอาหมดแล้ว มีแค่ ส.ว. ที่ไม่ปล่อยให้สิ่งนี้มันเดินหน้าต่อไป

ในข้อสุดท้าย ถ้าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นแบบนี้ คุณคิดว่ามีโอกาสไหมในอนาคตที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ข้อใดถูกต้อง

ข้อที่ 1. ส.ว. ชุดนี้จะอยู่กับเราตลอดไป และจะขวางไม่ให้เราแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เลย 

ข้อที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ข้อที่ 3 ถ้าได้เสียง ส.ส. จาก พรรคการเมืองที่หาเสียงว่าจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” เกินครึ่งก้มีโอกาสสูงที่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้

ข้อที่ 4 กว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ อาจต้องทำประชามติกัน 2-3 ครั้ง

คำตอบคือ ข้อที่ 1 ส.ว. ชุดนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป ส.ว. ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะมีอายุถึงอีกปีกว่าๆ เท่านั้น เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 เขาจะหมดอายุ แล้วจะต้องมีการเลือก ส.ว. ชุดใหม่ ดังนั้นเขาจะอยู่ขวางการร่างรัฐธรรมนูญตลอดไปไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนข้อ 3 และข้อ 4 ก็ค่อนข้างจะถูก

มีความเข้าใจว่า “ตกลงจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือเปล่า?” อันนี้เป็นความพยายามที่มาจากคนที่ไม่อยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขาส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญว่า “รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่” มาดูคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญ

 

คำวินัจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่
คำวินัจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

 

คำถามคือ รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติมาด้วย คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญ คือ รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะฉะนั้นหากเกิดว่ามีข้อเสนอที่อยากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเข้าสู่สภา สภามีอำนาจตอบตกลงหรือปฏิเสธ หากตกลงว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไปจัดทำประชามติ ตามมาตรา 256 ก็จะทำประมาติว่า จะตั้ง ส.ส.ร. แล้วจึงเดินหน้าได้

เพราะฉะนั้นจึงกลับไปที่ข้อเมื่อกี้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองทั้งหลายที่กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สภามีคำมั่นสัญญาร่วมกัน จากคำถามที่เรายืนยันถามไปว่า “เราต้องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แล้วถ้าพรรคการเมืองทั้งหลายซึ่งรวมไปถึงพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเกลียดชังพวกเขาเสมอไป พรรคที่เป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ตอนนี้ ถ้าหากเขายืนยันว่าพร้อมที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เลือกตั้งเสร็จ เขาเข้าสู่สภา ครั้งหน้าก็เสนอมาด้วยกันว่าเราจะตั้ง ส.ส.ร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วต่อไป ส.ว. ชุดนี้ที่เคยขวางก็จะหมดอายุแล้ว เราจะหา ส.ว. ใหม่ด้วยระบบแบ่งอาชีพอะไรกันก็แล้วแต่เพื่อเข้าสู่สภา

การเปิดทางไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่รออยู่ข้างหน้า ปีกว่าๆ เราก็ไปถึงแล้ว เพียงแต่มีคำถามแค่ว่า “ถ้าหากเราสนใจใครจะเป็นนายก” เราจะถามอย่างหนึ่ง “ถ้าหากสนใจว่าค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสนใจ เราจะมุ่งไปอย่างหนึ่ง หรือ “หากถามว่าใครจะเป็นนายก” แล้วทุกคนสนใจ แต่พอพูดเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่” ทุกคนกลับไม่อยากรู้แล้ว หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คำถามมีอยู่แค่ว่าใครเป็นนายก หรือไม่เป็นนายก แล้วเราก็รู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งก็ลอกผลมาว่าใครเป็นนายก ไม่เป็นนายก 

ดังนั้นคำถามที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ถ้าทุกคนถามให้ชัดว่า “คุณจะเอารัฐธรรมนูญใหม่หรือเปล่า?” ทำให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักการเมืองสนใจ พรรคการเมืองไหนก็ตามเดินมาหาเสียง ท่านถามเขาว่า “จะเปิดทางให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนไหม?” ถ้าทุกพรรคมีคำมั่นสัญญาร่วมกัน เขารู้ว่าประชาชนผู้เป็นฐานเสียงต้องการสิ่งนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ส.ส. ที่พร้อมจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รอ ส.ว. หมดอายุจากไปในเวลาไม่นาน วันนั้นเราจะไปถึง อีกไม่นานเลย

แต่ถ้าท่านเลิกหรือท้อเสียก่อน ผมเข้าใจเพราะเราเข้าชื่อกันมา 4 รอบแล้ว ท่านรู้สึกยังไม่ถึงไหนซึ่งอันที่จริงมันไปไกลมากแล้ว ถ้าท่านท้อวันนี้และเลิกถามคำถามนี้ ถามแต่ว่า “ใครจะเป็นนายก” ส.ส. ก็จะเลิกสนใจในเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญ เราจะไปไม่ถึง ฉะนั้นแล้วอยู่ที่คำถามของท่านที่จะถามกับผู้สมัคร ส.ส. ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ที่มา : ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ “การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์