การสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนนับตั้งแต่การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นความพยายามโดยเฉพาะจากรัฐบาลพลเรือนและการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการสถาปนารัฐธรรมนูญตามหลักการประชาธิปไตยและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน[1]
หนทางสู่รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงมีหมุดหมายสำคัญ 2 ประการคือ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และมอบอำนาจให้แก่ประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญ[2] จุดตั้งต้นของรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงประชาชนเริ่มมาจากปฐมรัฐธรรมนูญของสยามฉบับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แม้ว่ารูปแบบของปฐมรัฐธรรมนูญจะมีที่มาจากคณะราษฎรแต่มีบทบัญญัติสำคัญในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”[3] และรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎรอีก 2 ฉบับคือ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับ พ.ศ. 2489 ก็ยังคงยึดกุมหลักการประชาธิปไตยที่มีหัวใจคือประชาชนไว้ได้ หากหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490[4] ส่งผลให้หลักการต่อประชาชนเปลี่ยนแปลงไปกระทั่งในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540[5] ได้กลับมามีแนวคิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอำนาจบางส่วนในการสถาปนารัฐธรรมนูญได้อีกครั้ง
หลังจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ก็เว้นระยะไปราว 20 ปีจึงได้เกิดความเคลื่อนไหวที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการร่างรัฐธรรมนูญได้แก่ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 และข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน พ.ศ. 2563 โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หากบทความชิ้นนี้จะเสนอให้เห็นมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475-2560 เนื่องในวาระครบรอบวาระ 90 ปี การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 และวันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2565 และเพื่อปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในอนาคตที่ควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการสำคัญ
สิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475-2560
ปรีดี พนมยงค์ สะท้อนแนวคิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ไว้ว่า
“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับ 27 มิถุนายน 2475 มี 39 มาตราซึ่งบรรจุข้อความไว้เป็นครั้งแรกในสยามว่า อํานาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และมีบทบัญญัติว่าด้วยกษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร ศาล พอแก่การเป็นระบบการเมืองประชาธิปไตยในระยะหัวต่อระหว่างระบบศักดินาที่เป็นมาหลายพันปี กับระบบประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ส่วนสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค และสิทธิประชาธิปไตยทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทัศนะประชาธิปไตยนั้น ได้ใช้วิธีทําให้หลัก 6 ประการเป็น “ปฏิญญา” (DECLARATION) ซึ่งมีลักษณะเป็น “กฎบัตร” (CHARTER) ดังกล่าวแล้ว
ถ้อยคําที่ใช้ในรัฐธรรมนูญนั้นก็พยายามใช้คําไทยที่มีอยู่ก่อนธรรมนูญนั้นเพื่อสะดวกแก่มวลราษฎร”
มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ในปฐมรัฐธรรมนูญนี้คือหลักการ แนวคิด และพันธสัญญาที่รับรองสิทธิเสรีภาพพลเรือนสยามของคณะราษฎรที่ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรก
ปรีดียังกล่าวถึงรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และฉบับที่สาม คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2489 ไว้อีกว่า
“ข. รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มี 68 มาตรา โดยมีบทบัญญัติประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นแต่ก็ไม่เขียนไว้ฟุ่มเฟือย เรื่องใดที่รวมเป็นมาตราเดียวกันได้ก็ไม่แยกเป็นรายมาตรา
ค. รัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งมี 2 สภานั้นก็จําต้องมีมาตราเพิ่มขึ้นเท่าที่จําเป็นแก่การที่ต้องมี 2 สภา รวมแล้วฉบับนี้มีเพียง 96 มาตรา”[6]
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ปรีดีกล่าวถึง คือรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2489 ที่มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนปรากฏเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและวางแนวนโยบายการปฏิบัติในทางสถาบันทางการเมืองอย่างเด่นชัด ดังนี้
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 หรือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้เป็นครั้งแรก ในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม ได้แก่
มาตรา 12 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย
มาตรา 13 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน และ
มาตรา 14 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ[7]
ขณะที่อุดมคติเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ และระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรมของปรีดี ได้ปรากฏครั้งแรกในสุนทรพจน์ ณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 ครั้งนี้เองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2489 มีข้อเสนอสำคัญในเรื่องการแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง การให้ชนชั้นนำกลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง และการเสนอเรื่องพฤฒสภา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจนิติบัญญัติ คือมีระบบ 2 สภาตามแนวทางประชาธิปไตย ได้แก่ พฤฒสภา และสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพฤฒสภาจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร จำนวน 80 คน ยกเว้นในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ทั้งนี้จะอยู่ในวาระ คราวละ 6 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ให้จับฉลากออกกึ่งหนึ่ง
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2489 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไว้ในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวไทย จำนวน 5 มาตรา โดยมีมาตราสำคัญคือ มาตรา 12 บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย ซึ่งแสดงให้เห็นหลักความเสมอภาคของประชาชน หรือ “คนเท่ากัน” ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ[8]
ต่อมาในสมัยของรัฐธรรมนูญแนวทางอนุรักษนิยม เช่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492[9] ปรากฏว่าได้เรียบเรียงหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จาก 5 มาตรา ดังกล่าวแล้วนำมาขยายไว้ในบทบัญญัติ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26–45 โดยมีมาตราสำคัญ ได้แก่
มาตรา 26 บุคคลไม่ว่าเหล่ากำเนิด หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน
มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกําเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดีโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทําให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย และ
มาตรา 28 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือ ลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคก่อน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐ กระทําการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนานิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น[10]
ปรีดีได้แสดงทัศนะต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2492 ว่า เป็นการจำกัดการเคารพลัทธิทางการเมือง และเปรียบเทียบบัญญัติมาตราสำคัญไว้ดังนี้
“รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 มาตรา 13 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ...ในฉบับ 2475 ระบุว่า ลัทธิใดๆ
…
ส่วนฉบับ 2492 มาตรา 28 มีความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคก่อน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดอันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์ในทางมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนานิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
โดยฉบับ 2492 ได้เติมคำว่า “นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนา อันเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือลัทธิใดๆ ตามฉบับ พ.ศ. 2489 ออก”
และปรีดีสรุปถึงรูปแบบและการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ว่าใช้วิธีนำหมวดสิทธิและหน้าที่ของชาวไทยซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 และฉบับ พ.ศ. 2489 เขียนไว้เพียงมาตราเดียวแล้วนำมากระจายออกเป็นหลายมาตรา เช่น ฉบับ พ.ศ. 2475 มาตรา 15 และฉบับ พ.ศ. 2489 มาตรา 16 ที่บัญญัติมาตราเดียวแต่มากระจายเป็น 5 มาตรา ในฉบับ พ.ศ. 2492 เป็นต้น[11]
สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้หยุดชะงักในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร ระหว่าง พ.ศ. 2500-2510 ภายใต้การประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 ที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 อันมีบทบัญญัติลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้มีบทบัญญัติเรื่องความเสมอภาคของหญิงกับชายในทางการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517[12] ภายใต้บริบทการเมืองที่เปิดกว้างทางความคิดนี้ยังมีสภาสนามม้าเกิดขึ้นอีกด้วยล่วงมาจนถึงภายหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ก็ได้เพิ่มบทบัญญัติของมาตรา 26 ให้องค์กรรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของชนชาวไทยตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการจำกัดอำนาจขององค์กรรัฐไม่ให้กระทบสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยขึ้นเป็นครั้งแรก[13]
ล่าสุดในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 กลับไม่มีมาตรา 26 ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ ฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ประกันสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีก แต่ได้บัญญัติมาตรา 25 โดยจำกัดอำนาจของปวงชนชาวไทยว่า มีสิทธิและเสรีภาพได้แต่ “ตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”[14]
และในคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า มาตรานี้เป็นบทบัญญัติแนวทางใหม่ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทุกกรณี[15]
จะเห็นได้ว่าหนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไทยนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามทางการเมืองไม่ราบรื่นนัก หากจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยสองปัจจัยสำคัญคือ รัฐบาลที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญด้วยการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ทั้งยังต้องพิจารณาถึงเนื้อหาในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จากการนำเสนอข้างต้นพบว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญระหว่าง พ.ศ. 2475-2560 ผูกพันกับบริบททางการเมือง ณ เวลานั้นอย่างแยกไม่ออก ในท้ายที่สุดประชาชนจะสามารถสถาปนารัฐธรรมนูญและมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนเป็นแรงผลักดันร่วมกับการเมืองในระบบรัฐสภาคู่ขนานกัน
ที่มาของภาพ: ราชกิจจานุเบกษา สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ และไทยใหม่
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49, หน้า 166-179.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 536.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63, หน้า 118-168.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2492, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 มีนาคม 2492, เล่ม 66, หน้า 14.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2517, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ตุลาคม 2517, เล่ม 91, หน้า 19.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2550, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 สิงหาคม 2550, เล่ม 124, หน้า 7.
- ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2560, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2560, เล่ม 134, หน้า 7.
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (3) สร.0201.66.1/7 เรื่อง กรรมาธิการพิจารณาหาทางทําให้รัฐธรรมนูญมั่นคง [1 ก.ย.-6 ธ.ค. 2476]
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 435-437.
หนังสือพิมพ์ :
- ไทยใหม่, 24 มิถุนายน 2475
หนังสือ :
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553)
- บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย : ความเป็นมาและสาระสำคัญ, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2558)
- เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535)
- ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)
- ปิยบุตร แสงกนกกุล, เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย, (กรุงเทพฯ: คณะก้าวหน้า, 2565)
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)
- วรรณภา ติระสังขะ, อ่านรัฐธรรมนูญ 2560, (กรุงเทพฯ : สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564)
- ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563)
- สิริ เปรมจิตต์, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย ฉบับแรก พ.ศ. 2475 ถึงฉบับปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, มปป.)
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562)
- หยุด แสงอุทัย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยคำอธิบาย, (พระนคร: สำนักงานประชานิติ, 2489)
- Mérieau, Eugénie, Constitutional Bricolage: Thailand's Sacred Monarchy vs. The Rule of Law, (Oxford: Hart Publishing, 2021)
วิทยานิพนธ์ :
- กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
- วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กล้า สมุทวณิช. (2 ธันวาคม 2565). การแก้ไข การร่างใหม่ทั้งฉบับ : ทฤษฎีและประวัติศาสตร์การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย.
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (27 มิถุนายน 2564). รัฐธรรมนูญคืออะไร: ความหมายและที่มาของคำ.
- ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์.
- สมคิด เลิศไพฑูรย์. (9 ธันวาคม 2563). รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์: กลไกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (22 มีนาคม 2564). รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชาวบ้านและปากท้องอย่างไร?.
- ไอลอว์. (8 พฤศจิกายน 2563). ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน “5 ยกเลิก 5 แก้ไข”.
[1] ปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560
[2] ไอลอว์. (8 พฤศจิกายน 2563). ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน “5 ยกเลิก 5 แก้ไข”. https://www.ilaw.or.th/node/5780 และโปรดดูเพิ่มเติม ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ใน ปิยบุตร แสงกนกกุล, เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย, (กรุงเทพฯ: คณะก้าวหน้า, 2565), หน้า 158-165.
[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49, หน้า 166-179.
[4] กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
[5] วรรณภา ติระสังขะ, อ่านรัฐธรรมนูญ 2560, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), หน้า 561-570.
[6] ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์.
[7] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 536.
[8] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63, หน้า 118-168.
[9] Mérieau, Eugénie, Constitutional Bricolage: Thailand's Sacred Monarchy vs. The Rule of Law, (Oxford: Hart Publishing, 2021), pp. 113-115.
[10] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2492, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 มีนาคม 2492, เล่ม 66, หน้า 14.
[11] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552), หน้า 267-268.
[12] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2517, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ตุลาคม 2517, เล่ม 91, หน้า 19.
[13] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2550, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 สิงหาคม 2550, เล่ม 124, หน้า 7.
[14] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2560, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2560, เล่ม 134, หน้า 7.
[15] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562), หน้า 36-37.
- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
- วันรัฐธรรมนูญ
- การอภิวัฒน์สยาม
- คณะราษฎร
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ปรีดี พนมยงค์
- สภาผู้แทนราษฎร
- อำนาจอธิปไตย
- iLaw
- พฤฒสภา
- ระบอบประชาธิปไตย
- ประชาธิปไตยสมบูรณ์
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- ถนอม กิตติขจร
- รัชกาลที่ 9
- คึกฤทธิ์ ปราโมช
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
- ปิยบุตร แสงกนกกุล
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
- วรรณภา ติระสังขะ
- ศุภมิตร ปิติพัฒน์
- สิริ เปรมจิตต์
- หยุด แสงอุทัย
- กษิดิศ อนันทนาธร
- วิเชียร เพ่งพิศ
- กล้า สมุทวณิช
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- สมคิด เลิศไพฑูรย์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง