ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

พัฒนาการของสิทธิและเสรีภาพ : รัฐธรรมนูญที่ฟ้องศาลได้ จนถึงหลัก “ไม่มีกฎหมาย (และรัฐธรรมนูญ) ห้าม ย่อมทำได้”

31
มกราคม
2566

“สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น…”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน

(พุทธศักราช 2560) มาตรา 25

สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่มีสภาพบังคับในเชิงป้องกัน

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 นอกจากจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองแล้ว ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วย

โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพมากถึง 39 มาตรา ซึ่งนอกจากสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 2494 ถึงปี 2534 แล้วก็มีส่วนที่เป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพในสังคมยุคใหม่ เช่น สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่จะอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น (มาตรา 46) สิทธิในสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56) สิทธิของผู้บริโภค (มาตรา 57) สิทธิในข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (มาตรา 58) และยังเพิ่มเติมสิทธิที่มีลักษณะเป็น “สิทธิเรียกร้องเอาจากรัฐ” ของประชาชนในหลายเรื่องด้วย เช่น สิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี (มาตรา 43) สิทธิในการที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน สิทธิของคนชราและผู้พิการหรือทุพพลภาพ ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ (มาตรา 54 และ มาตรา 55) แล้ว ยังมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในคดีอาญาเป็นการเฉพาะที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง การค้น การออกหมายจับ การขัง และการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลไว้เพิ่มเติมเป็นการเฉพาะด้วย

ส่วนที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อยู่ที่มาตรา 28 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ที่ถือเป็นก้าวแรกของการกำหนด “สภาพบังคับ” ให้แก่สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ผลของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีกรณีที่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิทางรัฐธรรมนูญในกรณีการถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สามารถยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญขึ้นต่อสู้ในศาลยุติธรรม เพื่อให้ศาลปล่อยตัวได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 240 ซึ่งบัญญัติว่า 

“ในกรณีที่มีการคุมขังตัวบุคคลในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดผู้ถูกคุมขังเอง พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที” 

ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 466/2541 วินิจฉัยกรณีที่มีบุคคลถูกพนักงานสอบสวนจับกุมตัวไปกักขังควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก โดยที่ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นการจับกุมและคุมขังโดยมิชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว และสั่งให้ดำเนินการปล่อยตัวโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกรณีแรก (เท่าที่ค้นคว้ามาได้) ที่บุคคลสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อโต้แย้งในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

แต่อย่างไรก็ตาม การรับรองของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 28 วรรคสองนั้น ก็ยังมีขอบเขตที่จะให้บุคคลยกเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างต่อศาลได้ เฉพาะในกรณีซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งเป็นการยกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในเชิง “ต่อสู้” แต่สำหรับกรณีที่สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเชิงเรียกร้อง เช่น สิทธิที่จะได้ประโยชน์จากรัฐนั้น แนวทางของฝ่ายตุลาการก็ยังมองว่า ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติอยู่ 

ในเรื่องนี้ เคยมีกรณีที่จำเลยที่ผู้ผลิตสุราแช่พื้นบ้าน ได้โต้แย้งต่อศาลจังหวัดที่ตนถูกดำเนินคดีว่า พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 17 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดขายสุราหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขาย เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิตนั้น ขัดหรือแย้งต่อสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และขอให้ส่งประเด็นนี้พร้อมประเด็นข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญอื่นๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2548 วินิจฉัยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ สรุปได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 46 มีเจตนารมณ์ให้บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเอง การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับจารีตประเพณี ศิลปะ หรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนก็ให้อนุรักษไว้ แต่สิทธิตามที่กล่าวจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องสิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบัญญัติไว้ พระราชบัญญัติสุราที่โต้แย้งกันนั้นจึงเป็นเงื่อนไขจำกัดสิทธิในการผลิตและจำหน่ายสุราได้ โดยไม่ถือว่าขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 46

 

สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิด “สิทธิเรียกร้อง”

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงได้ยกระดับเรื่องนี้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ นอกจากจะรับรองไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง ว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ ซึ่งเป็นลักษณะการอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองสิทธิแล้ว มาตรา 28 วรรคสาม ยังรับรองสิทธิในเชิงเรียกร้องต่อรัฐ 

โดยบัญญัติว่า “บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” และมาตรา 28 วรรคสี่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้”

ซึ่งในเรื่องนี้ก็ส่งผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในเชิงเรียกร้องนี้ได้เปลี่ยนแนวไปเช่นกัน กล่าวคือ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 คือแม้จะเป็นการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่โต้แย้งมา คือมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้น จะไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับรองหลักการว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน 

เช่นนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่วางหลักว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนจึงจะกระทำได้

การอ้างรัฐธรรมนูญต่อศาลเพื่อใช้ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากรัฐโดยตรง ก็ยังปรากฏในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิไว้ แต่ถ้าไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมากำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้ ก็ไม่สามารถที่จะอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นต่อรัฐได้ คือกรณีของการที่เจ้าของเดิมหรือทายาทเรียกคืนทรัพย์สินที่ถูกรัฐเวนคืนไปแต่มิได้นำที่ดินนั้นไปทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ซึ่งเป็นการฟ้องคดีต่อศาลปกครองที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่ตราขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น

โดยแนวทางการวินิจฉัยของศาลปกครองดังกล่าวแตกต่างจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในปี พ.ศ. 2526 ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.428/2553 ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปคือ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี (กรมทางหลวง) ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแล้ว ยังคงเหลือเนื้อที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ 

เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการตรากฎหมายเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นอีก ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องคืนที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 33 วรรคห้าของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเวนคืน โดยให้ผู้ฟ้องคดีคืนค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยที่รับไปในส่วนของที่ดินดังกล่าวคืนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีด้วย และเมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไป การเวนคืนที่ดินดังกล่าวเป็นการกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมของคู่กรณี โดยอนุโลมตามมาตรา 391 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ศาลปกครองยังใช้บรรทัดฐานนี้ กับกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะอ้างว่า ได้นำที่ดินที่เวนคืนไปใช้เพื่อการอื่นซึ่งมิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว การใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนั้นต้องเป็นเรื่องที่กฎหมาย คือพระราชบัญญัติเวนคืน และรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเวนคืนนั้นกำหนดไว้ว่าให้เป็นวัตถุประสงค์ที่รัฐอาจเวนคืนที่ดินได้ด้วย หากไม่เข้าด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำที่ดินที่ถูกเวนคืนไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานของรัฐจึงไม่มีอำนาจใดที่จะยึดถือที่ดินที่พิพาทต่อไป ต้องคืนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของหรือทายาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1375/2558 นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหลายเรื่องที่วินิจฉัยไว้ในแนวทางเดียวกัน

ศาลปกครองสูงสุดได้ให้เหตุผลที่เป็นการวางหลักในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดชัดเจน ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1177/2561 ที่รับรองสภาพบังคับของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่า หน่วยงานของรัฐและศาลไม่อาจยกการที่ยังไม่ได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นใช้บังคับ ขึ้นมาอ้างเพื่อปฏิเสธการอนุมัติให้เป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ มิฉะนั้น จะเป็นการยอมรับให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติงดใช้หรือยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รับรองสิทธิดังกล่าวได้โดยการเพิกเฉยหรือละเลยไม่ดำเนินการตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐ ในที่นี้คือหน่วยงานที่เวนคืนมีหน้าที่ที่จะต้องคืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้ว แต่มิได้ใช้ประโยชน์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยวิธีการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบัน จะมีกฎหมายออกมากำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการที่เจ้าของเดิมหรือทายาทเรียกคืนทรัพย์สินที่ถูกรัฐเวนคืนไปแต่มิได้นำที่ดินนั้นไปทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562) ทำให้แนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในส่วนที่ว่าด้วยวิธีการคืนที่ดินในกรณีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มิได้กระทบกระเทือนหลักการที่ศาลปกครองได้รับรองไว้ในในแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหลายเรื่องว่า สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น มีสภาพบังคับ และก่อนหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น

 

จากสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองให้ พัฒนาสู่หลักการที่ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอยู่แต่เดิมแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบข้อจำกัดแห่งการใช้สิทธิเสรีภาพ

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะถือว่า “สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” นั้นเป็นบทบัญญัติที่มีสภาพบังคับทั้งในเชิงป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และในเชิงเรียกร้องต่อรัฐให้บังคับให้ตามสิทธินั้นก็ตาม แต่ “มุมมอง” ของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพนั้น ก็ยังเป็นมุมมองในเชิงว่า รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ “รับรอง” ให้สิทธิเสรีภาพนั้นแก่ประชาชน เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ บัญญัติไว้ตรงกันว่า 

“สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” 

ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือเป็นกรณีของสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น สิทธิหรือเสรีภาพนั้นจึงจะได้รับความคุ้มครองและมีสภาพบังคับ

แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งมีข้อความที่แตกต่างออกไปโดนสิ้นเชิง โดยบัญญัติว่า 

“สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

บทบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นบทบัญญัติที่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไปจากเดิมในระดับกรอบคิดหรือมุมมอง กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ “สิทธิและเสรีภาพ” ตามรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการกำหนดไว้โดยตรงหรือโดยปริยายในรัฐธรรมนูญ หรือหากจะมีสิทธิหรือเสรีภาพอื่นใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ สิทธิหรือเสรีภาพนั้นจะต้องได้รับการรับรองแล้วผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงจะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 

หรืออาจสรุปเป็นกรอบคิดได้ว่า “สิทธิและเสรีภาพ” ของประชาชนคือสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ เพราะ “รัฐธรรมนูญ” ได้รับรองไว้

แต่บทบัญญัติมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ใช้มุมมองกรอบคิดที่ว่าประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพทั้งปวงอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้มีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม บทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงกรณีของสิทธิและเสรีภาพบางส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดและวางหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้นๆ ไว้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า นอกจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว ประชาชนจะไม่มีเสรีภาพอื่นๆ อีกเลย แต่หมายถึงว่า เรื่องใดๆ หรือการใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้ถูกห้ามหรือจำกัดไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมถือว่าประชาชนมีสิทธิหรือเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญจึงมิใช่บทบัญญัติที่ “รับรอง” หรือ “กำหนดให้” สิทธิหรือเสรีภาพแก่ประชาชนอีกต่อไป แต่เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียด และกรอบในการใช้สิทธิและเสรีภาพต่างๆ เท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากนั้น ถือหลักว่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายห้าม ย่อมกระทำได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลมาวางหลักเรื่องสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเราอาจจะต้องรอบรรทัดฐานในส่วนนี้

 

บทสรุป

สิ่งที่ต้องยอมรับในฐานะของความจริงอันไม่อาจเถียงได้ คือไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็คือ “กระดาษ” หรือ “เอกสาร” ที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อกำหนดกติกาว่าด้วยอำนาจรัฐ แต่ความเป็นจริงแห่ง “อำนาจรัฐ” รวมถึงอำนาจในทางวัฒนธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีบัญญัติ หรือไม่อาจบัญญัติไว้ได้ในรัฐธรรมนูญหรือเอกสารใด

ดังนั้นจึงแน่นอนและไม่ขอเถียงในปัญหาที่ว่าสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่เท่ากับสิทธิและเสรีภาพจริงที่ประชาชนในรัฐประเทศนั้นมีในทางความเป็นจริง และแม้แต่ในกรณีที่สิทธิเสรีภาพบางเรื่องจะมีอยู่ทั้งในตัวบทรัฐธรรมนูญและในทางความเป็นจริง ก็ใช่ว่าสิทธิและเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ จะมีอยู่จริงตามไปด้วยเช่นกัน

แต่ถึงกระนั้น พัฒนาการของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของไทยก็ยังถือว่ามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น พร้อมกับแนวคิดของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไปในทางที่ตระหนักรู้และหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน และพร้อมที่จะต่อสู้เรียกร้องในหนทางและเครื่องมือที่มีอย่างเต็มที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน.

 

บรรณานุกรม :

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :