ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” กับ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

11
กันยายน
2566

Focus

  • รัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ และประชาชนแล้ว ยังมีมิติของวัฒนธรรมการเมืองกำกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย
  • รัฐธรรมนูญไทยขาดการเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีการฉีกรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่บุคคลและสถาบันต่างๆ ได้ต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการปกครองและการเมืองไทยที่สืบเนื่องและลดทอนคุณค่าของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ดังที่เห็นได้จากการรักษาอำนาจของทหารและองค์การอิสระในรัฐธรรมนูญให้อยู่หนือประชาธิปไตยของประชาชน
  • ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องจัดการกับปัญหาความผิดเพี้ยนในสมดุลของอำนาจจากประชาชนกับส่วนที่อยู่นอกเหนือ อาทิ (1) ให้ความสำคัญกับการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของ (2) ให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เช่น คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร และ (3) ทำให้อำนาจถูกกระจายออกไปในแนวระนาบเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรเพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง

 

“รัฐธรรมนูญ” เป็นตราสารทางการเมืองที่สำคัญที่ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยว่ารัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ และประชาชน

อย่างไรก็ดี ภาพของรัฐธรรมนูญดังกล่าวมักจะเป็นลักษณะของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นฉบับๆ แต่นอกจากรัฐธรรมนูญในลักษณะข้างต้นแล้ว รัฐธรรมนูญยังมีอีกมิติหนึ่งที่เป็นด้านของวัฒนธรรมการเมืองหรือที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐในลักษณะต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มีความสำคัญ เพราะหลายครั้งรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ มีส่วนกำหนดความสัมพันธ์ที่แท้จริงขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ รวมถึงบางครั้งรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้อาจจะทรงอำนาจกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังจะเห็นได้ว่า ในหลายครั้งรัฐธรรมนูญไทยอาจถูกฉีกและร่างขึ้นใหม่ แต่ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในประเทศยังคงเป็นไปในทิศทางเดิมๆ กับสถานการณ์ก่อนหน้านี้

บทความนี้ต้องการจะอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อพิจารณาใดบ้างที่ควรนึกถึง และหากจะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้ให้เอื้อต่อประชาชนควรจะเป็นอย่างไร

 

“รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงในสังคมไทย

โดยทั่วไปแล้วภาพของรัฐธรรมนูญในสายตาคนส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจเหล่านี้ต่อกันและกัน และต่อประชาชน[1] นัยสำคัญของรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนความประพฤติของคนในสังคม[2]

ในขณะเดียวกัน เมื่อกำหนดให้รัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะกฎหมายสูงสุดแล้ว กฎเกณฑ์ทางกฎหมายอื่นๆ หรือการกระทำของรัฐบาลย่อมจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้[3] ดังจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับจะได้รับรองหลักการดังกล่าวเอาไว้ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า

 

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

 

ภาพของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดดังกล่าวจึงดูราวกับว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งทรงคุณค่าและศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสภาพดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นจริงในประเทศประชาธิปไตย แต่ในบริบทของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรมาแล้วมากกว่า 13 ฉบับ และยังมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารในฐานะเครื่องมือในการรักษาและสืบทอดอำนาจ

การยกเลิกหรือที่เรียกทั่วไปว่า ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ ในบริบทของประเทศไทย ทำให้สถานะของรัฐธรรมนูญถูกทำให้ไม่เป็นสิ่งทรงคุณค่าและศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มากไปกว่านั้นการยกเลิกหรือฉีกรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้บรรดากฎเกณฑ์ต่างๆ ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ฝังรากลึกลงไปในสังคมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรม หรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่เกิดจากบุคคลและสถาบันต่างๆ ในสังคมได้ต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตนมาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดการยอมรับกันในระดับหนึ่ง และกลายมาเป็นประเพณีการปกครองและการเมืองของสังคม[4]

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ถึงขนาดว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมคือ รัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถฉีกหรือทำลายได้ และในทางปฏิบัติไม่มีกฎระเบียบใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้ได้[5]

ในลักษณะดังกล่าว เราอาจกล่าวได้ว่า ความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้หมายความว่าการเมืองไทยไร้ซึ่งระเบียบข้อตกลงเป็นอนาธิปไตย แต่ระเบียบสถานะทางอำนาจในสังคมไทยถูกกำหนดโดย “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่เป็นข้อบังคับอันไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่รู้กันในหมู่ของชนชั้นนำ รวมถึงในสังคมไทย[6] รวมถึงว่าบทบาทของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่กำหนดสถานะทางอำนาจในสังคม แต่ยังสร้างกลไกแห่งอำนาจเพื่อแข่งขันกันกับกลไกแห่งอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับ และทำให้บรรดาคุณค่าในทางประชาธิปไตยต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเหล่านั้นไร้คุณค่าลง

อาทิ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองให้ประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามสิทธิและเสรีภาพที่ควรจะมี หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่มุ่งหมายจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งหากบรรดาคุณค่าเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องไปกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม การนำคุณค่าเหล่านี้ไปบังคับใช้ก็ย่อมทำได้โดยยาก

ตัวอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยในเรื่องที่สำคัญคือ ตำแหน่งแห่งที่ของทหารและกองทัพที่มีตำแหน่งแหล่งที่สำคัญในสังคมไทย แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดบทบาทและกองทัพไว้น้อยมากก็ตาม แต่บทบาทของทหารและกองทัพกลับยังมีอำนาจนำในสังคม โดยเชื่อมโยงกับความมั่นคงและผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ แตกต่างจากนักการเมืองและข้าราชการทั่วๆ ไปที่อยู่ในสถานะของผู้ปกครองในสายตาของประชาชนทั่วไป[7]

 

การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสร้างสมดุลอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเชิงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่ได้ร่างขึ้นมาโดยมุ่งหมายเพื่อจะหาสมดุลแห่งอำนาจที่ลงตัว แต่มุ่งสร้างระบบที่ถาวรมั่นคงด้วยการจัดสมดุลแห่งอำนาจตามใจชอบ ซึ่งทำให้ต้องพึ่งพาอำนาจอื่นๆ เพื่อรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ อาทิ อำนาจของทหารและกองทัพ สภาพของสมดุลอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างตามอำเภอใจนี้ ย่อมเป็นข้อยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน[8]

แม้ ณ เวลานี้จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลที่เป็นผลสืบทอดจากการรัฐประหารจะหมดวาระลงภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แต่จะเห็นได้ว่า กลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดผลกระทบในหลายลักษณะ ตัวอย่างเช่น การทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเครือข่ายของระบอบรัฐประหารมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือการทำให้พรรคการเมืองต้องร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วโดยละทิ้งพรรคการเมืองที่มีเสียงมากอันดับหนึ่ง

นอกจากทั้งสองเรื่องแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางกลไกที่มุ่งทำลายประชาธิปไตย อาทิ องค์กรอิสระและองค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองสูง ซึ่งทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup)[9]

ทั้งสองตัวอย่างข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องสมดุลอำนาจ ซึ่งเกิดมาจากการร่างรัฐธรรมนูญตามใจชอบที่เป็นผลิตของระบอบรัฐประหาร

สภาพข้างต้นนี้ยังต้องคำนึงถึงบทบาทของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสถาบันต่างที่มีอิทธิพลอยู่ในวัฒนธรรมการเมือง ย่อมมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเมือง รวมถึงลดทอนคุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีขึ้น

ดังนี้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่ต้องดำเนินการจึงควรต้องพิจารณาบริบทของผลกระทบจากสมดุลอำนาจเดิมที่ผิดเพี้ยนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และต้องปรับบทบาทของสถาบันต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ซึ่งอย่างหลังอาจจะทำได้ยากกว่าอย่างแรก เพราะอำนาจต่างๆ ของสถาบันเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นทางการ แต่ไม่ใช่ว่าวัฒนธรรมการเมืองที่กำกับสถาบันต่างๆ เหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะโดยสภาพวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา[10] การเพิ่มบทบาทความสำคัญของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมและสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย ควรจะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก การเขียนรัฐธรรมนูญควรให้ความสำคัญกับการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ให้เป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ (อธิปไตย) ที่แท้จริง ดังนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเชิงว่า การเขียนรัฐธรรมนูญควรตั้งอยู่บนหลักการของสิทธิของประชาชน เพื่อให้การต่อสู้ใดๆ ต้องกลับไปหาสมดุลแห่งอำนาจที่ตั้งอยู่บนกติกาที่มีสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นพื้นฐาน

สิ่งนี้จะช่วยให้สมดุลอำนาจมีความยืดหยุ่น แต่ยังมีกติกาที่รองรับและสะท้อนที่ตำแหน่งแหล่งที่ของประชาชน[11] รวมถึงบรรดาสถาบันต่างๆ ในวัฒนธรรมการเมืองไทยจะพยายามใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงจะทำได้ยากขึ้น เพราะสถาบันเหล่านั้นอาศัยอำนาจที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรม การทำให้ประชาชนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเมืองมีผลเป็นการลดทอนอำนาจเดิมของสถาบันต่างๆ ที่เคยมีอำนาจและปรับเปลี่ยนบทบาทของอำนาจสถาบันเหล่านั้นใหม่

ประการที่สอง การเขียนรัฐธรรมนูญควรให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ไม่เพียงแต่การทำให้คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรเข้มแข็งพอจะยืนหยัดต่อสู้กับสถาบันต่างๆ ที่มีอำนาจนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ อาทิ กองทัพและทหาร ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังจากเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะพลังทางการเมืองของระบอบเผด็จการที่เพิ่งถูกโค่นล้มไป แต่ยังคงแฝงตัวอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่[12] โดยเฉพาะเมื่อสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ในวัฒนธรรม

ในส่วนของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่ควรจะทำให้ทั้งสององค์กรผูกพันกับประชาชนให้มากที่สุด กลไกในการเข้าสู่ตำแหน่งและการดำรงอยู่จึงควรยึดโยงกับประชาชน การกำหนดให้สถาบันการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน อาทิ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรเกิดขึ้น รวมถึงสถาบันต่างๆ ที่มีอำนาจในเชิงวัฒนธรรมและอาจเป็นปฏิปักษ์ของประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป อาทิ การปรับบทบาทของทหารและกองทัพซึ่งอาจจะกลายเป็นแกนนำของการรัฐประหารให้ห่างออกจากการเมือง

ประการที่สาม การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะต้องทำให้อำนาจถูกกระจายออกไปในแนวระนาบ วิธีการทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมืองอีกวิธีการหนึ่งนอกจากการทำให้สิทธิของประชาชนเป็นจริงก็คือ การทำให้ประชาชนเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรเพื่อพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง การกระจายอำนาจจะช่วยสร้างพื้นที่ต่อรองทางการเมืองและลดการพึ่งพิงจากส่วนกลาง ซึ่งการจะทำในลักษณะดังกล่าวได้ จำเป็นต้องกระจายอำนาจ ทั้งในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่ท้องถิ่นมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และการเพิ่มบทบาทของประชาชนในพื้นที่ในการจัดการงบประมาณดังกล่าว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและร่วมกันตัดสินใจพัฒนาทิศทางของท้องถิ่นได้[13]

ท้ายที่สุด ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมเผชิญกับการมท้าทายหลายอย่าง โดยความเข้มแข็งและการตั้งรากฐานที่มั่นคงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องคำนึงถึงเสมอ คือประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ให้ความสำคัญกับประชาชน การปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจ อาจจะต้องใช้เวลา แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ

กล่าวโดยสรุป “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนให้เห็นสมดุลของอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงในสังคมไทย และบ่อยครั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แสดงปฏิสัมพันธ์เหนือกว่ากติกาทางการเมืองใดๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร จุดสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ควรจะนึกถึงอย่างสำคัญๆก็คือ การทำให้สมดุลอำนาจที่เป็นอยู่กลับมาหาประชาชนได้อย่างไร และจะต่อต้านอำนาจของสถาบันต่างๆ ที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและมีอำนาจครอบงำในสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยให้เปลี่ยนแปลงไป

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล. (2560). แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประชาไท.
  • ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา. (2561). กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2539). สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.).
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2563). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: มติชน.
  • สมยศ เชื้อไทย. (2564). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 28. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน.
  • หยุด แสงอุทัย. (2538). หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน.
  • ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2559). รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนแปลง. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

สื่อออนไลน์

หมายเหตุผู้เขียน :

ผู้เขียนขออุทิศบทความนี้แด่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ครูซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยพบเจอ แต่สอนให้ข้าพเจ้ามีมุมมองที่แตกต่างท่ามกลางความมืดของยุคสมัย


[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป, (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2538), น.39.

[2] สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป, (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2564, น.70.

[3] ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา, กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย, (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2561), น.136-137.

[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์, (กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2563), น.115.

[5] เรื่องเดียวกัน, น.115-116.

[6] กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ (18 สิงหาคม 2566), “ชวนอ่าน “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” มรดกความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566.

[7] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (13 ธันวาคม 2565). “ทหารและกองทัพในบริบทของรัฐธรรมนูญไทย,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566.

[8] กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประชาไท, 2560), น.32.

[9] พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย (30 มิถุนายน 2566), “รัฐประหารซ้อน: รัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือทางการเมือง,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566.

[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์, (กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2563), น.141.

[11] กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประชาไท, 2560), น.47-48.

[12] ปิยบุตร แสงกนกกุล, รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนแปลง, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559), น.106.

[13] นิธิ เอียวศรีวงศ์, สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง, (กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.), 2539), น.10-12. และ เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (7 กรกฎาคม 2565), “ปลดล็อคท้องถิ่น เดอะ ซีรีส์ : ปรับข้อจำกัดด้านการจัดทำงบประมาณ เพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566.