ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย: พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว

20
พฤศจิกายน
2564

คำนำ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2516 ข้าพเจ้าได้ส่งบทความไปให้องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ปรารถนาจะนำลงในหนังสือที่จะจัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกวันที่ 10 ธันวาคม ข้าพเจ้าให้ชื่อบทความนั้นว่า “พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (Recall) วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปยาก, เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และ สภาเดียว”

ความเห็นของข้าพเจ้าที่แสดงไว้นั้น บางเรื่องอาศัยจากการที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาทางตำราแต่ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติในประเทศไทย บางเรื่องเคยปฏิบัติในประเทศไทยและในต่างประเทศ บางเรื่องข้าพเจ้าได้คิดขึ้นเอง คือ การให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐมีเงินนอกงบประมาณพอจ่ายได้ในการเลือกตั้ง 25 ครั้งในรอบ 100 ปีนี้ ฯลฯ

ส่วนวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมันที่มีข่าวว่าบางท่านต้องการให้นำมาใช้ในประเทศไทยนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในบทความที่อ้างข้างต้นแล้วว่า ข้าพเจ้าเพียงแต่เคยเรียนทางตำราเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว อันตรงกับสมัยที่ประเทศเยอรมันใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “ไวมาร์” ผู้สนใจในประวัติศาสตร์การเมืองย่อมรู้ว่า “พรรคชาติสังคม” ซึ่งมีชื่อย่อว่า “นาซี” ของฮิตเลอร์ได้อาศัยวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมันชนะในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1932 แล้วฮิตเลอร์ได้เป็นประมุขของรัฐบาล (ชานเซลเลอร์) เยอรมันใน ค.ศ. 1933 (ในเมืองไทยนั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงระลึกได้ถึง “พรรคชาติสังคม” ของจอมพลสฤษดิ์ โดยมีผู้ที่นิยมลัทธินาซีได้เสนอให้ตั้งขึ้นภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 และก่อนทำสิ่งที่เรียกเอาเองว่า “ปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ทำนองคล้ายๆ กับที่ฮิตเลอร์ทำมาแล้ว)

ต่อมาเมื่อพรรคชาติสังคมของฮิตเลอร์เป็นพรรคเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย ครั้นแล้วฮิตเลอร์เป็นเผด็จการเต็มตัว การเลือกตั้งทั่วไปโดยราษฎรไม่มีขึ้นจนกระทั่งสถาปนาสหพันธรัฐเยอรมันใน ค.ศ. 1955 ดังนั้น แม้ข้าพเจ้าจะเคยไปประเทศเยอรมันระหว่าง ค.ศ. 1935 - 1936 ข้าพเจ้าจึงไม่มีทางประสบด้วยตนเองถึงวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมันสมัยที่ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ก่อนฮิตเลอร์ แม้จะได้ตั้งสหพันธรัฐเยอรมันขึ้นแล้ว และได้มีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามพรรค ข้าพเจ้าก็ไม่มีโอกาสที่เห็นแก่ตาตนเองว่าผลปฏิบัติจริงเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าเพียงแต่สนใจติดตามข่าวเท่านั้น

ดังนั้น ในบทความดังกล่าวของข้าพเจ้าจึงขอให้นักศึกษาถามผู้รู้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้แจ่มแจ้ง และขอให้ถามผู้มีประสบการณ์ช่วยอธิบายด้วย ทั้งนี้โดยคำนึงตามสุภาษิตของไทยว่า “สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ”

เมื่อข้าพเจ้าได้ส่งบทความไปยังองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้วจึงได้รับหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ฉบับลงวันที่ 29 พ.ย. 2516 พบบทความในหัวเรื่องว่า “การเลือกตั้งแบบเยอรมัน” ซึ่งคุณศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตอุปนายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันปัจจุบันเป็นอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

คุณศุภวิทย์ฯ ได้ศึกษาอยู่หลายปีในสหพันธรัฐเยอรมันจนสำเร็จปริญญาโท เป็นผู้มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ผมได้อ่านบทความของท่านผู้นี้แล้ว เห็นว่าแม้ท่านเป็นนักเรียนจากประเทศเยอรมัน แต่ท่านก็ถือเอาหลักวิชาที่ท่านเล่าเรียนได้ความรู้มานั้น มาประยุกต์ตามสภาพท้องที่กาลสมัยของประเทศไทย ข้าพเจ้าจึงขอคัดความตอนหนึ่งแห่งบทความของท่านมาไว้ดังต่อไปนี้

“ระบบการเลือกตั้งที่กล่าวมาโดยสังเขปข้างบนนี้เหมาะสมใช้การได้พอสมควรในเยอรมนีตะวันตกซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง ใช้เวลาวิวัฒนาการมานานกว่าร้อยปี มีประชาชนที่มีการศึกษาดี และตื่นตัวในทางการเมืองมากกว่าชนชาติส่วนใหญ่ในยุโรป เข้าใจการเลือกตั้งพรรคโดยอาศัยนโยบายเป็นเครื่องตัดสิน มีการปกครองแบบมลรัฐ การคัดเลือกตัวผู้สมัครจึง Decentralized และมีการส่งรายชื่อผู้สมัครเป็นรัฐๆ ไป ฯลฯ

เพราะฉะนั้น การนำเอาระบบนี้มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งมิได้มีการปกครองแบบมลรัฐ ระบบพรรคการเมืองยังอ่อนปวกเปียก นโยบายของพรรคต่างๆ ก็หาความแตกต่างที่เด่นชัดไม่ได้ และ ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมเลือกตัวบุคคลอยู่ อีกทั้งยังไม่ชินกับนโยบายพรรค ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดลออ ถึงข้อเสียอันพึงจะเกิดขึ้นได้”

คุณศุภวิทย์ฯ ได้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามิได้เน้นไว้ในบทความของข้าพเจ้า คือ การที่ประเทศเยอรมันตะวันตกมีการปกครองแบบมลรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องสะกิดใจให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ระลึกไว้ในบทความของข้าพเจ้าได้กล่าวแต่เพียงชื่อประเทศเยอรมันตะวันตกว่าสหพันธรัฐเยอรมัน เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าคนไทยทั่วไปก็พอจะรู้ความหมายของคำว่า “สหพันธรัฐ” อยู่แล้ว ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นแต่เพียงรัฐเดียวของราชอาณาจักรนั้น

ข้าพเจ้าจึงขอชมเชยคุณศุภวิทย์ฯ ที่สะกิดให้ผู้คนสนใจในวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมันว่า ประเทศเยอรมันตะวันตกนั้น มีการปกครองแบบมลรัฐต่างกับของไทย ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านผู้ที่อ่านบทความของข้าพเจ้าถือเอาบทความของคุณศุภวิทย์ฯ เป็นหลักประกอบด้วย แล้วพึงวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งแบบเยอรมันในทางหลักวิชาการก็ดี ในทางปฏิบัติก็ดี เหมาะสมแก่กาลสมัยของประเทศไทยในปัจจุบันนี้หรือไม่

เนื่องจากมีผู้สนใจหลายท่านต้องการทราบความเห็นของข้าพเจ้า ถึง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจึงขอให้คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตพฤฒสมาชิกเป็นผู้ช่วยจัดพิมพ์บทความที่ข้าพเจ้ามอบให้องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ประกอบกับคำนำที่เขียนในวันนี้รวมกันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งให้ชื่อว่า

 

ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์
ต่อ
ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี
เรื่อง
“วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย”

โดยให้ราษฎรมีสิทธิถอดถอนผู้แทน (Recall), ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาคะแนนเสียง, วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว

หวังใจว่าทุกท่านที่ปรารถนาส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตยคงจะรับไว้ประกอบพิจารณา

วันที่ 8 ธันวาคม 2516
ปรีดี พนมยงค์

พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว, วิธีให้ราษฎรถอดผู้แทน (Recall), วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปสู่ยาก, เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน, ชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่, และ “สภาเดียว”

เสนอโดย
นายปรีดี พนมยงค์

 

ด้วยคุณพีรพล ตริยะเกษม ในนามขององค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้โทรศัพท์ข้ามทวีปจากกรุงเทพฯ มาถึงผมที่ชานกรุงปารีส ขอคำขวัญและบทความเพื่อองค์การฯ นำลงในหนังสือที่จะจัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกวันที่ 10 ธันวาคม ผมยินดีสนองศรัทธาโดยขอให้ถือตามคำขวัญอันหนึ่งอันเดียวกับที่ผมมอบให้แก่ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และมวลชนที่รักชาติทั้งหลายว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม”

ส่วนบทความสำหรับองค์การฯ คราวนี้ ผมได้ลงมือเขียนไว้หลายหน้ากระดาษพิมพ์แล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนตามที่ตั้งใจไว้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรพึงตระหนักถึงภยันตรายที่กำลังคุกคามประชาธิปไตยโดยทางตรง และโดยทางอ้อม โดยเฉพาะพวกที่เอาเสื้อคลุมที่มีป้ายยี่ห้อว่าประชาธิปไตยมาสวมใส่เพื่ออำพรางธาตุแท้ปฏิกิริยาของเขา แทรกซึมเข้ามาในขบวนการของนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎร เพื่อหวังเหนี่ยวรั้งให้ประชาธิปไตยที่วีรชนได้นำมาให้ปวงชนก้าวหนึ่งแล้วต้องชะงักงันและดึงให้ถอยหลังเข้าคลองเพื่ออภิสิทธิ์ชนได้เบียดเบียนปวงชนต่อไปอีก หรือพื้นระบบเบียดเบียนการกดขี่ที่อภิสิทธิ์ชนเคยทำมาแล้วในอดีต ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บางคนเอาคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่มีความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานรับรองแล้วว่าหมายถึง “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” นั้นมาผันแปรเอาตามใจชอบ และนำไปประยุกต์ลักษณะของรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนชอบตามอคติ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่มีบทถาวรว่าประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกนั้น ผู้มีอคติในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ว่าฉบับนั้นเป็นประชาธิปไตย และประยุกต์แก่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ตนไม่ชอบ โดยเลือกเอาตอนที่เป็นบทเฉพาะกาลชั่วคราว โดยมิได้พิจารณาตัวบทถาวร ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดเฉพาะกาลแล้วจะมีลักษณะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

ส่วนบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งแสดงว่ารับมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ผู้ย่อประวัติรัฐธรรมนูญไม่ยอมพูดให้เป็นวิทยาทานโดยบริสุทธิ์ใจแก่นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎร แม้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ที่ไม่มีบทเฉพาะกาล แต่ตัวบทได้กล่าวไว้ถึงการเลือกตั้ง 3 สมัย ก็ย่อให้นิสิตนักศึกษานักเรียนเพียงสมัยที่ 1 ในระยะหัวต่อ 6 เดือนเท่านั้น ว่าเป็นลักษณะของธรรมนูญนั้น “ออกมาในรูปรวบอำนาจโดยสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 70 นาย แต่งตั้งโดยผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” โดยไม่กล่าวถึงสมัยที่ 2 และสมัยที่ 3 เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีที่การปกครองจะเป็นถาวรโดยราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนทั้งปวง ซึ่งเป็นการชี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยให้เป็นระบบถาวรของสยาม

แม้ผู้ย่อประวัติรัฐธรรมนูญไทยจะยอมรับรัฐธรรมนูญ 2489 เป็นประชาธิปไตยทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญนั้น ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และพฤฒสมาชิกเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งเองโดยวิธีทางอ้อมหรือเลือกตั้ง 2 ชั้น แต่ผู้ย่อประวัติรัฐธรรมนูญก็ขมวดไว้ว่า “กล่าวกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่เล่นพรรคเล่นพวก สมาชิกพฤฒสภาล้วนแต่เป็นพวกของ นายปรีดี พนมยงค์ เกือบทั้งสิ้น” ผู้มีใจเป็นธรรมย่อมเห็นได้ว่าเป็นคำกล่าวของพวกที่แพ้ในการเลือกตั้งโดยพวกเขาไม่บอกความจริงที่รู้หรือควรรู้ได้ว่าฝ่ายแพ้เลือกตั้งทำบัญชีผู้สมัครฝ่ายตนขึ้น หวัง “กินรวบ” ชนิด “รวมเขต” จังหวัดใหญ่เหมือนดั่งที่พวกเขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ใช้วิธี “รวมเขต”ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ เมื่อพรรคอื่นๆ รู้ว่าอีกพรรคหนึ่งเตรียมใช้วิธีกินรวบแล้ว ก็สมานกันหลายพรรคเป็นแนวร่วมทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครของแนวร่วมขึ้นบ้าง เมื่อฝ่ายที่เตรียมกินรวบมีคะแนนเสียงน้อยกว่าฝ่ายแนวร่วมก็เป็นธรรมดาที่แทนจะ “กินรวบ” นั้น กลายมาเป็น “แพ้รวบ”

ผู้ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบพรรคนั้น ควรรู้ดีว่าเขาทำกันอย่างไร ใครเคยพบเห็นบ้างว่าพรรคใดแทนจะออกเสียงให้คนสังกัดพรรคตนกลับไปออกเสียงให้คนสังกัดพรรคอื่น ผมมิใช่หัวหน้าของพรรคใดในการเลือกตั้งพฤฒสมาชิกครั้งกระนั้น ซึ่งแต่ละพรรคก็มีหัวหน้าและกรรมการพรรคของเขา โดยเฉพาะสมาชิกในพรรคต่างๆ ที่เป็นฝ่ายชนะครั้งนั้นมีผู้ที่เคยเป็นนักเรียนกฎหมาย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองหลายคน และมีผู้ให้ความนับถือผม เนื่องจากผมรับใช้ชาติมาหลายกรณีที่เขาเห็นประจักษ์ จึงเป็นการยากที่ผมจะห้ามมิให้สมาชิกเหล่านั้นนับถือผม ฉะนั้นการที่จะลงโทษผมเช่นที่กล่าวนั้นจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และถ้าถือตามคำที่ผู้ย่อประวัติรัฐธรรมนูญกล่าวแล้ว องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ขอคำขวัญและบทความของผมโดยมีศรัทธาต่อผมก็จะถูกหาว่าเป็นพรรคพวกของผมไป

ผมได้เคยเสนอไว้ในบทความอื่นๆ ที่ขอร้องรัฐบาลพิมพ์รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับเพื่อจำหน่ายให้นิสิตนักศึกษานักเรียนมวลราษฎรหาซื้อได้โดยราคาย่อมเยา เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นรัฐบาลในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว และเมื่อได้เห็นการเขียนประวัติรัฐธรรมนูญที่อ้างข้างต้นนั้น ผมก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่ท่านทั้งหลายต้องมีหนังสือรวบรวมรัฐธรรมนูญ เพื่อนิสิตนักศึกษา นักเรียน มวลราษฎรจะได้จัดตั้งกลุ่มศึกษาของตนขึ้นเองและเทียบรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับ ตั้งแต่คำปรารภและทุกมาตรา แล้ววินิจฉัยเองว่าเรื่องใดตอนใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นโดยปราศจากอคติ

แม้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผมมีส่วนร่างก็ขอเชิญวิจารณ์ได้เสรี ท่านก็จะพบเองว่าผู้เขียนใดได้กล่าวตามความจริงหรือไม่เพื่อที่องค์การฯ จะได้บทความของผมลงพิมพ์ทันในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ผมจึงขอส่งมาคราวนี้เฉพาะตอนที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสนใจในระหว่างนี้ และเรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่นักศึกษาหลายคนได้มาถามผมรวมทั้งคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ เคยบอกและเคยถามด้วย โดยผมให้หัวเรื่องบทความว่า “พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว, วิธีให้ราษฎรถอดผู้แทน (Recall), วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปสู่ยาก, เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน, ชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่, และ “สภาเดียว”

ผมไม่ขัดข้องที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และ องค์การนิสิตนักศึกษานักเรียนแห่งสถานศึกษาทั้งหลาย หนังสือพิมพ์และผู้สนใจทุกท่านจัดพิมพ์ขึ้นได้โดยผมไม่สงวนลิขสิทธิ์

- 1 -

พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว?

1.1 ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังหรือได้เห็นตัวอย่างที่สดๆ ร้อนๆ จากการเลือกตั้งระบบพรรคที่แล้วมาว่า ระบบพรรคนั้นได้แก้ปัญหาที่กล่าวกันว่า “ผู้แทนขายตัว” ได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ที่คุณธรรมของผู้แทนแต่ละคนว่ามีความซื่อสัตย์ต่อประชาธิปไตย และต่อมวลราษฎรหรือไม่ ผู้แทนในพรรคหนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนที่ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์ต่อมวลราษฎร ส่วนผู้ที่สมัครโดยไม่สังกัดพรรค ซึ่งไม่มีทางจะได้ประโยชน์จากพรรคก็ไม่มีทางขายตัวนอกจากผู้แทนที่เห็นแก่ตัวและจำพวกที่เรียกว่า “ผู้แทนผี”

ส่วนพรรคนั้นก็มีชนิดที่เรียกกันว่า “พรรคผี” ที่อำพรางว่าเป็นฝ่ายค้าน แต่ตนเองหรือพรรคของตนหรือบางคนในพรรคของตนแอบไปรับประโยชน์จากฝ่ายรัฐบาล ชนรุ่นใหม่ที่สนใจก็ขอให้ศึกษาจากผู้แทนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์นี้และความหมายของ “ผู้แทนผี” และ “พรรคผี” ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการนิมิต (Invention) ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่เขียนไว้เพื่ออภิสิทธิ์ชนและเพื่อที่ฝ่ายเสรีมนังคศิลาจะเอาชนะให้ได้ ประกอบเป็นรัฐบาลขึ้น ก็ต้องใช้วิธีการหาคะแนนเสียงเพิ่มจาก “ผู้แทนผี” และ “พรรคผี” ที่ไม่อาจควบคุมสมาชิกในพรรคของตนได้ทั่วถึง จึงมีผู้แอบไปรับเงินจากฝ่ายเสรีมนังคศิลาโดยยอมทำสิ่งที่พรรคไม่สามารถจับได้ เช่น ไม่มาประชุมในวันออกเสียงให้ความไว้วางใจรัฐบาลหรือ ในวันที่จะคัดค้านกฎหมายสำคัญของฝ่ายรัฐบาล โดยอ้างว่าป่วย หรือ อ้างเหตุอื่นที่ไม่สามารถมาประชุมได้ การหลบด้วยไม่มาสภาเช่นนี้ก็เป็นการเพียงพอแก่ฝ่ายเสรีมนังคศิลาที่พรรคฝ่ายค้านมีเสียงคัดค้านน้อยลงไป

1.2 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2511 สรุปการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองได้ส่งสมาชิกของพรรคเข้ารับเลือกตั้งรวมทั้งผู้ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด สมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏผลดังนี้

  • พรรคสหประชาไทย         ได้ 76 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์             ได้ 57 คน
  • พรรคแนวร่วมเศรษฐกร         ได้ 4 คน
  • พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา     ได้ 1 คน
  • พรรคแนวประชาธิปไตย         ได้ 7 คน
  • พรรคเสรีประชาธิปไตย         ได้ 1 คน
  • พรรคประชาชน             ได้ 2 คน
  • ผู้ไม่สังกัดพรรคใด             ได้ 71 คน
  • รวม 219 คน

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าพรรค ส.ป.ท. ของฝ่ายจอมพลถนอมมีสมาชิกน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด แต่ก็สามารถเอาชนะในสภาผู้แทนได้ ผมเห็นว่าเราไม่ควรลงโทษว่าผู้ไม่สังกัดพรรคใดทุกๆ คนขายตัวให้แก่ฝ่ายจอมพลถนอม เราควรให้ความเป็นธรรมว่าผู้ไม่สังกัดพรรคใดนั้นเอง หลายคนหรือจำนวนมากคัดค้านเรื่องที่จอมพลถนอมเสนอรัฐสภา

ปัญหาจึงมีว่าเสียงที่ฝ่ายจอมพลถนอมได้ขึ้นจนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดนั้น ได้มาจากผู้แทนที่สังกัดพรรคอื่นๆ ด้วย ถ้าผู้สนใจศึกษาให้รอบคอบจะเห็นว่าบางพรรคที่อ้างว่าเป็นฝ่ายค้านอย่างสำคัญได้ยกมือให้เรื่องที่จอมพลถนอมเสนอและบางครั้งพูดค้าน แต่พอถึงเวลาก่อนลงมติก็บังเอิญมีความจำเป็นต้องไปห้องน้ำบ้าง หรือไปพักผ่อนที่สโมสรสภาเพราะพูดมาเหนื่อยแล้วจึงขึ้นมาลงคะแนนในที่ประชุมไม่ทัน และยังมีบางคนของพรรคที่มิได้มาประชุม

ผมจึงขอเสนอให้ผู้ที่สนใจสอบสวนดูว่าที่มีผู้อ้างว่าการเลือกตั้งชนิด “รวมเขต” ใน จังหวัดใหญ่แล้วได้ผู้แทนของบางพรรคชนิด “กินรวบ” นั้น สามารถป้องกันผู้แทนขายตัวได้จริงหรือไม่

เมื่อครั้งผมยังอยู่ในประเทศไทยไม่เคยพบว่า มีการเล่นพนันขนาดหนักในสโมสรรัฐสภา แต่เมื่อมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแล้วได้อ่านหนังสือพิมพ์จากประเทศไทยประกอบด้วยมีผู้เห็นแก่ตามาเล่าให้ฟัง ยืนยันความจริงของหนังสือพิมพ์ที่กล่าวว่า ผู้แทนจำนวนหนึ่ง มิใช่ทั้งหมดได้เล่นการพนันได้เสียกันถึงขนาดเป็นแสนๆ บาททีเดียว ฝ่ายแพ้ไม่มีเงินชำระก็ต้องเป็นลูกหนี้ ตามชื่อที่หนังสือพิมพ์และผู้เห็นแก่ตาตนเองเล่าให้ฟังนั้น เป็นบุคคลของทุกพรรครวมทั้งพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ นิสิตนักศึกษา นักเรียนที่อยู่ในเมืองไทยถ้าต้องการความจริงก็อาจทราบได้ดีกว่าผม ดังนั้นตามตัวอย่างของเมืองไทยเรานี้เองพรรคการเมืองไม่อาจควบคุมสมาชิกของตนให้ประพฤติในสิ่งควรประพฤติและละเว้นในสิ่งควรละเว้นได้

1.3 ส่วนพรรคการเมืองในเมืองนอกนั้น เราไม่ควรอ่านเพียงตำราเท่านั้น ควรศึกษาจากการปฏิบัติว่าเขาป้องกันการขายตัวของผู้แทนได้หรือไม่

(1) ผู้ที่ไม่เคยไปเมืองนอกก็ได้ฟังวิทยุหรืออ่านหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแถลงข่าวข้อเท็จจริงที่ลือกระฉ่อนไปทั่วโลกระหว่างนี้ก็คือ “Watergate” (วอเทอร์เกท) ซึ่งพรรค “Republican” ใช้วิธีลอบบันทึกอัดเสียงคำปรึกษาหารือของพรรค “Democrat” ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคนี้ที่ตั้งอยู่ ณ อาคารวอเทอร์เกท ณ กรุงวอชิงตัน พรรคนั้นพยายามปิดบังคนทำผิดของพรรค แต่เมื่อเรื่องถึงมืออัยการและผู้พิพากษาไต่สวน พรรคนั้นก็ส่งตัวบางคนที่เป็นชั้นลูกน้องเป็นการบูชายัญ เรื่องก็ยังไม่จบลงง่ายๆ คือลุกลามมาถึงท่านประธานาธิบดีนิกสันเองที่ผู้พิพากษาไต่สวนขอเทปอัดเสียง แต่ท่านได้อ้างเอกสิทธิ์ที่ไม่ยอมมอบเทปอัดเสียงให้ เรื่องยังคาราคาซังอยู่จนทุกวันนี้

(2) เมื่อไม่นานมานี้ท่านแอกนิวก็ต้องลาออกจากการเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐพิพากษาที่มีหน้าที่สอบสวนได้ความว่า ท่านรับเงินจากผู้รับเหมาบางคนที่ช่วยในการเลือกตั้งของพรรคท่าน ยังมีบุคคลหลายคนแห่งทำเนียบขาวที่ถูกฟ้องศาลฐานยักยอกเงินที่นักธุรกิจเอามาให้เพื่อช่วยในการเลือกตั้งของพรรค ในชั้นแรกพรรคอุบเรื่องนิ่งไว้ แต่ราษฎรอเมริกันเอะอะมากขึ้น พรรคก็ต้องให้พวกของตนลาออกจากตำแหน่ง มิใช่พรรคจัดการขึ้นก่อนราษฎร

(3) แม้ว่าพรรคดีโมแครตที่ตามชื่อแปลว่า “พรรคประชาธิปไตย” ก็มีกรณีทำนองเดียวกันกับพรรค “รีพับลิกัน” ถ้าพรรคนั้นยังไม่เป็นรัฐบาลเรื่องก็อื้อฉาวน้อยหน่อย ไม่แน่ว่าจะมีคนในพรรคกินกันขนาดไหน เพราะหลายคนแห่งพรรคนั้นเป็นคนโลภมากเพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็มีอยู่

(4) ในยุโรปอีกหลายประเทศก็ปรากฏว่ามีหลายพรรคที่สมาชิกขายตัว เช่น สมาชิกบางคนแห่งพรรคฝ่ายรัฐบาลในฝรั่งเศส ได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทำการทุจริตกรณีเครดิตอสังหาริมทรัพย์ คนไทยที่ไม่เคยมาเมืองนอกก็คงได้ฟังวิทยุหรือได้อ่านหนังสือพิมพ์กรณีที่ท่านโพรฟูโม รัฐมนตรีแห่งพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้สมสู่กับหญิงโสเภณีที่ทูตทหารโซเวียตก็ไปสำนักนั้นด้วย เป็นที่น่าอันตรายแก่ความลับสุดยอดของรัฐบาลอังกฤษ เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีท่านเจ้าศักดินาแห่งพรรคเดียวกันนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วยว่าการในกระทรวงป้องกันราชอาณาจักรได้สมสู่กับหญิงโสเภณีอีกหลายคนที่มาจากแหล่งลับเยอรมัน และยังมีกรณีมากหลายที่คนสังกัดพรรคหนึ่งแล้วขายตัวให้พรรคอื่น ถ้าราษฎรยังไม่เปิดโปงขึ้นพรรคก็อุบเรื่องนิ่งไว้

1.4 จากปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทยเองและในเมืองนอก จึงเห็นได้ว่า การป้องกันผู้แทนขายตัวนั้นมิใช่ทำได้โดยพรรค การที่ประเทศต่างๆ มีพรรคการเมืองนั้น เราต้องศึกษาตามหลักวิชาการเมืองให้ถูกต้องเสียก่อนว่าคนในชาติหนึ่งๆ นั้น ประกอบด้วยหลายชนชั้นวรรณะซึ่งมีฐานะทางสังคมและทางดำรงชีพต่างๆ กัน แต่ละชนชั้นวรรณะแต่ละอันดับปลีกย่อยก็มีพรรคซึ่งเป็นตัวแทนในการดำเนินเพื่อให้บรรลุตามความปรารถนาที่เป็นอุดมคติของชนชั้นวรรณะและอันดับปลีกย่อย ในบางประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีสิ่งที่เรียกว่า พรรคใหญ่ 2 พรรค นั้นคือ “ดีโมแครต” ที่แปลตามชื่อว่า “พรรคประชาธิปไตย” และ “รีพับลิกัน” ที่แปลว่า “ชาวสาธารณรัฐ” นั้น ก็เป็นพรรคของฝ่ายนายทุนด้วยกันและไม่มีอุดมคติแน่นอนเป็นประจำ คือ ก่อนจะมีเลือกตั้ง ต่างพรรคก็นัดประชุมกำหนดนโยบายเป็นคราวๆ ไป บางคราวนโยบายของ “ดีโมแครต” ก็เหมือนกับ “รีพับลิกัน” ชุดก่อนขึ้นไป 1 ชุดเคยทำมา จึงมีลักษณะเป็น “พวกการเมือง” ยิ่งกว่า คือ ฝ่ายนายทุนแยกออกไปพวกตามชื่อดังกล่าว ส่วนพรรคที่แท้อันมีอุดมคติแน่นอนในสหรัฐอเมริกานั้นถูก “พวกการเมือง” ใหญ่ของฝ่ายนายทุนกีดกันโดยวิธีเลือกตั้งของระบบพวกการเมืองนั้น ท่านก็ย่อมเห็นได้ว่าพรรคการเมืองใหญ่นั้นไม่สามารถ ป้องกันผู้แทนขายตัวได้ตามที่กล่าวมาแล้ว

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์, ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ ต่อ ฯพณฯ สัญญาธรรมศักดิ์นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย ใน, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 89-95.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: