ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อนาคตของเมืองไทย จดหมายของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ถึง ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี 8 ธันวาคม พ.ศ. 2516

18
พฤศจิกายน
2564

ชานกรุงปารีส

วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

เรียน ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี

อาศัยความตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าดำรงตำเหน่งรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนี้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายจนถึงปัจจุบันนี้ และอาศัยคำเรียกร้องของรัฐบาลให้ปวงชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ฉะนั้นข้าพเจ้าในฐานะราษฎรคนหนึ่ง และในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสจึงขอเสนอความเห็นมายังท่านและรัฐบาลดังต่อไปนี้

๑. ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้วว่าข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสนอให้ร่างตามบทมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใดโดยเฉพาะแม้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยมีส่วนในการร่าง แต่ข้าพเจ้าขอร้องว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเคารพเจตนาประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม และตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับปวงชนชาวไทยที่พระองค์ทรงโอนพระราชอำนาจเพื่อให้ประชากรของพระองค์ “ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์” ดังปรากฏในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกร่างขึ้นโดยพระองค์เองตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้ว “สังคมสัญญา” นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดไม่มีสิทธิละเมิดได้

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านและรัฐบาลสอดส่องระมัดระวังป้องกันผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายเลือกตั้งละเมิดหลักการอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยเฉพาะบางท่านที่ตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” เอาตามใจชอบแล้วนำไปประยุกต์เอาตามใจชอบ ท่านกับรัฐบาลย่อมทราบเหมือนคนไทยทั้งหลายว่า คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้รับรองแล้วหมายถึง “แบบปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” ปวงชนแสดงมติของตนโดยทางตรงหรือโดยทางผู้แทนที่คนเลือกตั้ง “ข้าพเจ้าไม่เคยพบตำราหรือการปฏิบัติของประเทศใดในโลกที่ถือว่าวุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นโดยการแต่งตั้งนั้นเป็นระบบประชาธิปไตย”

๒. แม้ท่านกับรัฐบาลถือว่ามีหน้าที่เพียงชั่วคราว ระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีรัฐบาลใหม่ก็ดี แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านกับรัฐบาลมีความรับผิดชอบอย่างสำคัญต่ออนาคตของชาติ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่บัญญัติขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ มิได้ให้สิทธิ์ในทางปฏิบัติแก่ราษฎรทุกชั้นวรรณะ และทุกชนชาติไทย มีโอกาสต่อสู้กันอย่างสันติในรัฐสภา เช่น มีวิธีการปฏิบัติเพื่ออภิสิทธิ์ชนฝ่ายเดียวแล้วก็จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายถูกกีดกันในทางปฏิบัติใช้วิธีต่อสู้นอกรัฐสภาขึ้น ความสงบสุขของบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ท่านย่อมเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการกีดกันในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติราษฎร ส่วนใดไว้ประเทศนั้นก็มีการต่อสู้นอกรัฐสภาขึ้น ส่วนประเทศที่ไม่มีการกีดกันเช่นว่านี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสู้กันนอกรัฐสภา

๓. พร้อมจดหมายนี้ ข้าพเจ้าขอส่งมาเพื่อท่านกับรัฐบาลพิจารณา ซึ่งบทความที่ข้าพเจ้าให้หัวเรื่องว่า “วิธีส่งเสริมให้ราษฏรสนใจประชาธิปไตย, โดยให้ราษฎรมีสิทธิ์ถอดถอนผู้แทน (Recall) ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว”

บทความนี้มีข้อความตรงกันในสาระสำคัญที่ข้าพเจ้าได้มอบให้แก่องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ปรารถนาได้บทความของข้าพเจ้าไปพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันที่ ๑๐ ธันวาคม และ มีคำนำเพิ่มเติมภายหลังที่ข้าพเจ้าได้ทราบความเห็นของผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหพันธ์รัฐเยอรมัน

ถ้าท่านเห็นสมควรโปรดบัญชาให้เจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีพิมพ์จดหมายและบทความนี้มอบให้แก่ท่านรัฐมนตรีในคณะของท่าน และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งรับไว้ประกอบการพิจารณาด้วย

อนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องที่ข้าพเจ้าเสนอมายังท่านนี้เป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศชาติ ฉะนั้นจึงขอเรียนไว้ให้ทราบล่วงหน้าว่าข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการขัดข้องที่ผู้สนใจจะได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเสนอมวลราษฎร

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
นายปรีดี พนมยงค์
รัฐบุรุษอาวุโส

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. จดหมายของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ถึง ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี 8 ธันวาคม พ.ศ. 2516, ใน, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น.87-88

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: