ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

เมื่อข้าพเจ้าเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

6
มกราคม
2565

๑. ช่วงพุทธศักราช ๒๔๕๕-๒๔๘๔

ร.ศ. ๑๓๐ (พุทธศักราช ๒๔๕๔) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิชิตสรไกรไปรับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสมุทรบุรานุรักษ์” (ขำ)

พระสมุทรบุรานุรักษ์ บิดาของข้าพเจ้า ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ พระยาเพชรฎา และ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ตามลำดับ

สมัยนั้นชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการมีพลับพลาที่ประทับแรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเสด็จไปเปลี่ยนพระอิริยาบถในฤดูร้อน พลับพลาที่ประทับแรมอยู่ในบริเวณเดียวกับจวนเจ้าเมือง

ปลายเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ได้เสด็จไปประทับ ณ พลับพลานั้น

พระสมุทรบุรานุรักษ์กับภริยาถวายการต้อนรับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์ทรงทราบว่าพระสมุทรฯ เป็นน้องชายท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ภริยาของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พระสมุทรฯ กับภริยาได้นำบุตรีวัย ๔ เดือนเศษเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานนาม

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ อัญเชิญพระราชหัตถเลขา พระราชทานนามเด็กหญิงนั้นว่า “พูนศุข” และพระราชทานเหรียญทองลงยาอักษร พระนาม “ส.ผ.”

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) ได้ตามเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ดังนั้น ในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงครั้งนี้ จึงได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ด้วย

 

(จากซ้าย) พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาฯ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ
(จากซ้าย)
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาฯ
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และ
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ

 

ตราสกุล “ณ ป้อมเพชร์”
ตราสกุล “ณ ป้อมเพชร์”

 

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เสด็จประทับแรมที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ได้พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นอันดับที่ ๑๕๐

ปรีดี พนมยงค์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง “การพระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์” ตอนหนึ่งว่า

ท่านเจ้าคุณ[1] ผู้รับพระราชทานนามสกุลได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับแรมที่อ่างศิลานั้น ท่านเจ้าคุณขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ (ต่อมาเปลี่ยนเรียกว่าจังหวัด) ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับจังหวัดชลบุรี ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยยังมิได้คิดขอพระราชทานนามสกุล เพราะเรื่องนี้ยังมิได้ปรึกษาญาติที่สืบจากบรรพบุรุษเดียวกัน แต่เมื่อได้เข้าเฝ้าถวายบังคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชกระแสขึ้นก่อนว่า ‘ท่าจะมาขอนามสกุลละกระมัง’ (ระหว่างนั้นกำลังทรงพระสำราญในการทรงพระราชดำรินามสกุลของข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด)

ท่านเจ้าคุณฯ ก็เลยกราบบังคมทูลสนองพระราชกระแสรับสั่ง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงปรารภในท่ามกลางผู้เข้าเฝ้าหลายคน อาทิ พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา) ถึงการที่ทรงทราบประวัติบรรพบุรุษของพระสมุทรฯ (ขำ) พระองค์ทรงคุ้นเคยกับพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) อดีตผู้รักษากรุงฯ บิดาของพระสมุทรฯ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาตที่บ้านท่านผู้นี้

ขณะที่พระองค์ดำรงอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศน์ และทรงคุ้นเคยกับท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม) พี่สาวของพระสมุทรฯ ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงปรารภว่า บรรพบุรุษของพระสมุทรฯ เป็นคนในบ้านสมเด็จพระปฐมฯ (พระราชบิดารัชกาลที่ ๑) ตั้งบ้านอยู่บริเวณป้อมเพชร์รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงอุทิศที่บ้านส่วนใหญ่สร้างเป็นวัดสุวรรณดาราราม ที่เหลืออยู่ก็ให้ข้าหลวงเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณป้อมเพชร์ต่อๆ กันมา และตั้งลูกหลานเป็นผู้ช่วยผู้รักษากรุงฯ บ้าง ผู้รักษากรุงฯ บ้างต่อๆ มาหลายชั่วคน แล้วรับสั่งว่า “จะให้ว่า ณ อยุธยา ก็ไม่ได้ เพราะอยุธยาเป็นของฉัน” คือทรงหมายถึงพระองค์เคยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหลวงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา (ควรสังเกตว่าขณะแรกมี พ.ร.บ. นามสกุลเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ นั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้บุคคลที่สืบสายจากราชสกุลนั้นใช้คำว่า ณ กรุงเทพฯ ต่อท้าย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๗ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น ณ อยุธยา เริ่มใช้ตั้งแต่วันมหาจักรีที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ครั้นแล้วมีพระราชดำรัสให้ราชเลขานุการที่ตามเสด็จเขียนบัตรตั้งนามสกุลโดยพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยวชิราวุธ ป.ร. พระราชทานแก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ว่า ณ ป้อมเพชร์ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า na Pombejra

พระสมุทรฯ จึงได้แจ้งให้ญาติที่สืบสายจากบรรพบุรุษทราบตามความสมัครใจของผู้ที่ประสงค์ใช้นามสกุลนี้ แต่ก็มีบางสายที่ได้รับพระราชทานนามสกุลอย่างอื่น

 

 

เมื่อบิดาข้าพเจ้ากลับพระนคร ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มารดาข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ อยู่เสมอ งานเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ หลายครั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานการ์ดเป็นพระราชเสาวนีย์ให้มารดาข้าพเจ้านำบุตรธิดาเข้าเฝ้ารับพระราชทานเลี้ยง ณ วังพญาไท

 

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

 

พระองค์รับสั่งถามเด็กๆ ที่เข้าเฝ้าว่า “ชื่ออะไร” “ลูกใคร” จากนั้นพระราชทานสลากของเล่นแก่บุตรธิดาข้าราชการบรรจุอยู่ในตลับเซลลูลอยด์เล็กๆ โดยมีคุณข้าหลวงพาไปรับของเล่นพระราชทาน ส่วนอาหารพระราชทานในวันนั้นที่จำได้มี ทอดมันกุ้ง หมูหวาน แกงจืด และขนมหวาน

พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระศรีพัชนทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ ๕๗ พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ประทับ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา มารดาข้าพเจ้าเข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ เป็นประจำ ทุกครั้งจะถวายสิ่งละอันพันละน้อย เช่นน้ำปลาดี ที่บรรจุในภาชนะน่ารับประทานด้วยฝีมือของมารดาข้าพเจ้า

ตอนเย็นๆ ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ จะเสด็จไปวังสระปทุม มารดาข้าพเจ้าก็มักจะไปวังสระปทุมและเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ จนเป็นที่ทรงคุ้นเคย สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับสั่งให้ “คุณหญิงเพ็ง” มารดาข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่บริเวณอัฒจันทร์ ชั้นสองของพระตำหนัก

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงฉลอง ๖๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ มีงานสมโภชใหญ่ มารดาข้าพเจ้าได้เข้าไปช่วยงานที่ตำหนักทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ในสวนสุนันทา สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระราชทานเข็มกลัด พระนามาภิไธย “สว” ทองลงยาให้มารดาข้าพเจ้า ส่วนลูกๆ ได้รับพระราชทานเหรียญ “สว” เงินลงยา

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ข้าพเจ้าเข้าสู่พิธีมงคลสมรสกับ นายปรีดี พนมยงค์ และมารดาข้าพเจ้าได้พาเข้าเฝ้าในเวลาต่อมา

ในการเข้าเฝ้าครั้งนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงถามถึงการศึกษาของนายปรีดี เมื่อทรงทราบว่า สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ จึงรับสั่งถามว่า “พูดได้กี่ภาษา”

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ได้พระราชทานเข็มเงินลงยา “เจริญสุข” ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ประทานปลอกผ้าเช็ดมือถมเงิน ก่อนหน้านั้นยังประทานบุหงาเป็นของชำร่วยในงานสมรส นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างสูง

ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ประทานชื่อบุตรสาวคนโตของข้าพเจ้าว่า “ลลิตา” และประทานเหรียญห้อยคอทองลงยามีอักษรพระนาม “วอ”

มารดาข้าพเจ้านำน้องสาว ๓ คนของข้าพเจ้า เพียงแข, นวลจันทร์, อุษา เข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์เป็น “ข้าหลวงเรือนนอก” ให้ศึกษาที่ ร.ร.ราชินี

ฤดูหนาวปีหนึ่ง อากาศหนาวเย็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงให้คุณข้าหลวงนำผ้าห่มมาพระราชทานมารดาข้าพเจ้าที่บ้านป้อมเพชร์ พระองค์รับสั่งว่า “อากาศหนาว เห็นใจคนแก่”

พุทธศักราช ๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชา เสด็จนิวัติพระนคร สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.สั้น นพวงศ์ ข้าหลวงอาวุโส นำพระราชเสาวนีย์รับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้มารดาข้าพเจ้าตามเสด็จไปปากน้ำ สมุทรปราการ เพื่อรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งต่อมาเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ได้เทียบท่าที่ท่าราชวรดิษฐ์

บรรดาคุณข้าหลวงในสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ มีอยู่ท่านหนึ่ง คือ นางสาวอำไพ ณ ป้อมเพชร์ ญาติข้าพเจ้าเป็นธิดาของ พระยาเพชรฎา (สอาด) กับ มล.จิตรจุล (สกุลเดิม กุญชร) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้คุณอำไพไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อถวายพระอักษรภาษาไทย

พระราชนัดดา คุณอำไพ ณ ป้อมเพชร์ นั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มารดาข้าพเจ้าและข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ พระองค์มิได้ทรงกริ้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับสั่งว่า “ทั่วโลกเขาก็เป็นแบบนี้ แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบ”

ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ทรงพระเมตตามารดาข้าพเจ้ามากพระองค์เสด็จไปต่างประเทศเพื่อรักษาพระวรกาย ๒ ครั้ง เมื่อเสด็จกลับครั้งแรก ประทานกระเป๋าใส่เครื่องสำอางแก่มารดาข้าพเจ้า ในนั้นมีขวดแก้วจุกขวดสีม่วง สวยงามสะดุดตา ครั้งที่ ๒ พระราชทานผ้าแพรคลุมไหล่ มารดาข้าพเจ้าไปเฝ้าที่วังคันธาวาส ถนนวิทยุ ขณะนั้นพระองค์กำลังประชวร และจากนั้นไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่สิ่งของประทานต่างๆ ได้สูญหายไปเมื่อครอบครัวข้าพเจ้าเผชิญสภาพ “บ้านแตกสาแหรกไม่ขาด” อันเนื่องจากมรสุมการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า

๒. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พุทธศักราช ๒๔๘๔-๒๔๘๘)

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อทหารสัมพันธมิตรเริ่มเป็นฝ่ายโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ของญี่ปุ่นในพระนครเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อพ.ศ.๒๔ ๘๕ พระที่นั่งอนันตสมาคมถูกระเบิดเสียหาย

 

เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า
เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า

 

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ติดต่อขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรละเว้นการทิ้งระเบิดบริเวณพระบรมมหาราชวังและโบราณสถานอันทรงคุณค่าของชาติไทย และได้กำชับมิให้ทิ้งระเบิดวังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ด้วยสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงและไม่เป็นที่ไว้วางใจนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ถวายความปลอดภัยแต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยการอัญเชิญมาประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงประทับในเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยสายอังกฤษ เขียนไว้ในบทความ “พระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนการเสรีไทย” ตอนหนึ่งว่า

ระหว่างที่ผมส่งวิทยุอยู่ดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางการทหารอังกฤษได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศไทยเป็นระยะๆ หัวหน้าเสรีไทยจึงได้มีโทรเลขแจ้งไปยังอังกฤษว่า บางทีเครื่องบินทหารอังกฤษมาทิ้งระเบิดเปะปะ ขอให้ระมัดระวังให้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง อย่าทิ้งที่พระบรมมหาราชวังหรือวังของเจ้านายต่างๆ ให้หลีกเลี่ยงพระบรมวงศานุวงศ์และที่ตั้งรัฐบาล กับที่ทำการเสรีไทยต่างๆ ได้แจ้งสถานที่ต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงไปอย่างชัดเจน ทางอังกฤษก็ตอบรับคำว่าจะปฏิบัติตาม

ครั้งหนึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจะเป็นผู้ใดบ้างผมจำไม่ได้ หลายองค์เสด็จหลบภัยไปบางปะอิน เผอิญในระยะนั้นมีเครื่องบินของอังกฤษบินไปทางบางปะอินและทิ้งระเบิดด้วย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย รุ่งขึ้นผมได้รับคำต่อว่าอย่างรุนแรงจากหัวหน้าเสรีไทยในเรื่องนี้ และได้ส่งคำประท้วงไปอย่างดุเดือดต่อกองบัญชาการทหารอังกฤษ ทางการอังกฤษจึงมีโทรเลขตอบขอโทษ และรับรองว่าจะพยายามมิให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างนี้ขึ้นอีก

การที่เสรีไทย โดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทย ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดี พนมยงค์ ไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

ทุกครั้งที่นายปรีดีมาบางปะอิน ก็จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

นับจากวันที่นายปรีดีเข้าเฝ้าพระองค์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ มาถึงขณะนั้น เป็นเวลา ๑๕-๑๖ ปีแล้ว

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ขณะเสด็จประทับที่อยุธยานั้นทรงมีพระชันษากว่า ๘๐ พรรษาแล้ว ท่านทรงทราบตำแหน่งเก่าหรือเทียบบรรดาศักดิ์เก่ากับตำแหน่งของคนนั้นๆ เมื่อท่านเสด็จถึงอยุธยา ข้าพเจ้าเบิกข้าราชการเข้าเฝ้า เริ่มต้นด้วย “ข้าหลวงตรวจการมหาดไทยภาค” ข้าพเจ้ากราบทูลตำแหน่งตามระบบราชการใหม่นั้น สังเกตว่า สมเด็จฯ ยังไม่เข้าพระทัย จึงกราบทูลใหม่ว่า “เทศา” ก็ทรงเข้าพระทัย ครั้นแล้วข้าพเจ้าเบิกคนรองไปถวายตัวก็มิได้กราบทูลตำแหน่งของผู้นั้นว่า “ข้าหลวงประจำจังหวัด” คือ ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “เจ้าเมือง” ตลอดไปถึงสรรพสามิตจังหวัดที่เป็นชื่อตำแหน่งใหม่ ข้าพเจ้าก็ได้กราบทูลว่า “หัวหน้าฝิ่นสุรา” ก็เข้าพระทัยได้ดี ฯลฯ[2]

ในช่วงนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงในพระองค์นำอาหารมื้อกลางวันและเย็นพระราชทานแก่ครอบครัวข้าพเจ้าซึ่งหลบภัยสงครามที่บางปะอิน

ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาของลูกหลานในยามสงคราม และพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ

ด้วยนายปรีดีกับข้าพเจ้าตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาไม่อยากให้ลูกหลานปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ จึงปรึกษากันว่าน่าจะตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ที่ครอบครัวอพยพมาอยู่บางปะอินและบ้านแป้ง

สาขาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์จึงได้ก่อตั้งขึ้น ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ

ห้องเรียนเป็นโรงจาก ๓ หลัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังบางปะอิน

โรงจากหลังใหญ่อยู่ข้าง “สภาคารราชประยูร” เป็นห้องเรียนเด็กโตระดับมัธยมศึกษา

โรงจากสองหลังเล็กอยู่หน้า “สภาคารราชประยูร” เป็นห้องเรียนเด็กเล็ก ระดับประถมศึกษา

ครูอาจารย์แต่ละท่านความรู้ดี การสอนสนุกสนาน ทำให้เด็กๆ ได้ความรู้และเพลิดเพลิน

ครูผู้สอนส่วนใหญ่เป็นอาจารย์จากโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) อาทิ มหายัญ คงสมจิต กับ มหาอุบล เปรียญ ๙ ประโยค มีความรู้และเชี่ยวชาญภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาไทย

ครูประสิทธิ์ คุณะดิลก สอนภาษาอังกฤษ ครูนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์ สอนภาษาฝรั่งเศส

นอกจากนั้น ยังมีครูจากโรงเรียนดรุโณทยาน ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร เจ้าของและผู้ก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยาน เชิงสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร เสรีไทยที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติที่เมืองจุงกิง ประเทศจีน

ครูฉลบชลัยย์มีหน้าที่กวดวิชาให้เด็กนักเรียนแบบเข้มข้นตัวต่อตัว ทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เลขคณิต ธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยารามราฆพก็เป็นศิษย์ของครูฉลบชลัยย์ และยังมีครูสมวงศ์ ปทุมรส ซึ่งเป็นครูที่มากด้วยความสามารถ

นักเรียนสาขาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์นี้มีเจ้านายที่เป็นหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงชาย-หญิงจากราชสกุล “เทวกุล” “ชยางกูร” “สวัสดิวัตน์” “ดิศกุล” “ไชยยันต์” “ฉัตรชัย” “ศุขสวัสดิ์” และ “งอนรถ” ฯลฯ ซึ่งท่านเหล่านี้ตามเสด็จสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ มาบางปะอิน นอกจากนี้ลูกหลานนายปรีดีกับข้าพเจ้า ลูกหลานข้าราชการหลายครอบครัวก็เรียนที่โรงเรียนนี้

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระเมตตาบรรดาครู พระราชทานอาหารเลี้ยงครูทุกมื้อ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ พญ.วิมลรัตน์ กรัยวิเซียร แพทย์ประจำพระองค์ รักษาพยาบาลครูและนักเรียนด้วย

พระราชจริยวัตรในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ระหว่างประทับที่พระราชวังบางปะอินนั้น หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ประทานเล่าไว้ในหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บางตอนว่า

๓ เดือนผ่านไป ลูกระเบิดลงที่เกาะสีชัง และรอบๆ เกาะ ก็เกาะสีชังนั้นมิได้อยู่ห่างจากศรีราชาเท่าใดนัก ทำให้ดูน่าพรั่นพรึง ท่านผู้ควบคุมขบวนเสด็จจึงนำความเข้ามาทูลประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเมื่อสมเด็จฯ ตัดสินพระทัยประทับอยู่ต่อที่ศรีราชานั้น ประธานผู้สำเร็จราชการคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ตรัสสั่งไว้ว่า

“ดีแล้ว ที่จะประทับโรงพยาบาลสมเด็จต่อไป เพราะที่วังสระปทุมก็ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ถ้ามีเหตุอะไรให้เข้ามาบอกจะจัดการถวายใหม่”

เมื่อประธานผู้สำเร็จฯ ทรงทราบแล้วตรัสว่า “เรื่องนี้น่ะรออีก ๓ วันค่อยมาฟัง เพราะท่านปรีดีได้บอกไว้ว่า ถ้าถึงคราวจะอพยพสมเด็จพระพันวัสสา ท่านปรีดีจะจัดถวายเอง”

...

ไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใด ดร. ปรีดี ซึ่งเป็นหัวหน้าคนสำคัญในการบั่นทอนอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ กลับมาขออาสาเป็นธุระในการที่ถวายความปลอดภัยความสะดวกแด่สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า หลายคนแคลงใจ หลายคนชื่นชม แต่จะแคลงใจหรือชื่นชมก็ตาม ความปลอดภัยของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าอยู่เหนือสิ่งใด สำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในขบวนเสด็จอพยพ

ในที่สุดสมเด็จฯ ก็เสด็จจากโรงพยาบาลศรีราชามาประทับที่โรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คงเหลืออยู่แต่พระองค์เจ้าวาปี ประทับรักษาพระองค์อยู่ต่อไป เพราะทรงพระประชวร ดร. ปรีดี พนมยงค์ มารับเสด็จ และเชิญเสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ นำเรือไปจอดที่นนทบุรีตรงข้ามกับเรือนจำบางขวาง ๑๕ วัน เพื่อรอการจัดที่ประทับที่อยุธยาระหว่างที่เสด็จอพยพหลบภัยอยู่นี้ สมเด็จฯ ทรงมีพระราชหฤทัยนึกถึงสมเด็จพระราชนัดดาอยู่เสมอ ได้ตรัสว่า

“ดีใจ๊ ดีใจ หลานอยู่เมืองนอกไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นฉันคงเอาไม่รอด ห่วงหลาน”

ที่อยุธยา ดร. ปรีดีและภรรยาได้เข้าเฝ้าแหน กราบทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิจ จนคนที่คลางแคลงอยู่บางคนชักจะไม่แน่ใจ เพราะกิริยาพาทีในเวลาเข้าเฝ้านั้นเรียบร้อยนัก นุ่มนวลนัก นัยน์ตาก็ไม่มีแววอันควรจะระแวง ครั้งแรกที่เข้าเฝ้า ม จ. อัปภัศราภา เทวกุล ผู้ควบคุมกระบวนเสด็จ กราบทูลว่าหลวงประดิษฐ์ฯ[3] มาเฝ้าสมเด็จฯ ไม่เคยทรงรู้จักหลวงประดิษฐ์ฯ มาก่อนเลย หลวงประดิษฐ์ฯ คนเดียวที่ทรงรู้จักคือหลวงประดิษฐ์บาทุกา[4] เจ้าของห้างทำรองเท้ามีชื่อแห่งหนึ่งในพระนคร เป็นผู้ทรงพระกรุณาในเรื่องเงินทองอยู่เสมอ จึงตรัสว่า

“อ๋อ เขาเอาเงินมาใช้ฉันน่ะ”

“ไม่ใช่เพคะ…” ม.จ. อัปภัศราภา กราบทูล

“ไม่ใช่คนนี้ คนนี้เขาเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว”กราบทูลแล้วเห็นสมเด็จฯ ยังทรงสงสัยอยู่ก็กราบทูลต่อไปว่า

“สมเด็จเจ้าพระยายังไงล่ะเพคะ”

สมเด็จฯ ก็ทรงเข้าพระทัยทันที ทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยเป็นอย่างดี

“มาซิ พ่อคุณ อุตส่าห์มาเยี่ยม”

ตรัสซักถามถึงที่พัก และเมื่อทรงทราบว่าพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ก็ทรงหันไปทางข้าหลวง ตรัสสั่งว่า

“ดูข้าวปลาไปให้เขากินนะ”

เวลาเย็นๆ ผู้สำเร็จราชการฯ ก็เชิญเสด็จประทับรถยนต์ประพาสรอบๆ เกาะ

“หลานฉันยังเด็กนะ ฝากด้วย”

เป็นกระแสพระราชดำรัสครั้งหนึ่ง ผู้สำเร็จราชการฯ ก็กราบทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่คลางแคลงก็เริ่มจะไม่แน่ใจตนเอง

วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยา สมเด็จฯ ตรัสว่า

“ฉันจะไปปิดทอง”

ตรัสแล้วทรงซื้อทองที่วางขายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงบิดไม่ถึง ผู้สำเร็จราชการฯ จึงกราบทูลว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย”

สมเด็จฯ จึงประทานทองให้ไปพร้อมตรัสว่า

“เอาไปปิดเถอะ คนที่ทำบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็เป็นญาติกัน”

เล่าลือกันว่า กระแสพระราชดำรัสนั้นทำให้ผู้สำเร็จราชการฯ ซาบซึ้งมาก พวกที่ชื่นชมก็สรรเสริญพระปรีชาสามารถในสมเด็จฯ ว่าทรงเปลี่ยนใจคนที่เคยเขียนประกาศประณามพระราชวงศ์ได้อย่างตรงไปตรงมา พวกที่เคลือบแคลงอยู่ก็ยังคงเฝ้าดูต่อไป

ประทับอยู่อยุธยาได้ ๓ เดือน ก็ต้องทรงอพยพใหม่เพราะเกิดพายุใหญ่พัดเอาหลังคาที่ประทับพัง ต้องเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร แต่มิได้ไปประทับที่วังสระปทุมเพราะบริเวณนั้นมีสภาพเป็นดงญี่ปุ่น เสด็จประทับที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ ๖ เดือน ก็ต้องตกพระทัยอย่างยิ่ง เพราะวันหนึ่งได้มีการทิ้งระเบิดในพระนครครั้งใหญ่ ลูกระเบิดลงที่บางกอกน้อย วัดสุทัศน์ และในพระบรมมหาราชวังลงที่พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งพิมานรัถยา อันอยู่ขวาซ้ายของพระตำหนักที่ประทับไม่กี่เส้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเชิญเสด็จหลบภัยไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยทอดเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ให้เป็นที่ประทับอยู่หน้าพระที่นั่งวโรภาศ

พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ประทับที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีประทับที่ตำหนักพระราชเทวี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทับที่ “เก้าห้อง” พระองค์เจ้าอาทรฯ ประทับที่ตำหนักพระราชชายา ข้าราชบริพารก็พักตามเรือนเล็กตำหนักน้อยทั่วกันไป ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล และ ม. จ. พัฒนายุ ดิศกุล ประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ตรงข้ามพระราชวัง พระราชวังบางปะอินก็กลับคืนสู่สภาพมีชีวิตขึ้นบ้างผู้สำเร็จราชการฯ นั้นจอดเรือประจำทวีปอยู่ที่หน้า สภาคารราชประยูร อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร เขตพระราชวังบางปะอินก็เป็นเขตพระราชฐานโดยแท้จริง ผู้ใดจะกล้ำกรายเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารทั้งไทยทั้งญี่ปุ่น พระบารมีของสมเด็จฯ แผ่ครอบบางปะอินเป็นที่ร่มรื่นอยู่นานถึงเก้าเดือน

ชาวบ้านในแถบนั้นก็กลับมีขวัญดีชวนกันมาเฝ้า หาอะไรแสดงถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงพระสำราญดังที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาในกาลก่อน บางวันก็มาแข่งเรือถวายให้ทอดพระเนตรบางวันก็มาเล่นเพลงเรือถวายให้ทรงฟัง บางคืนก็มารำวงถวาย เพราะการรำวงในสมัยนั้นแพร่หลายมาก ทางราชการเองก็ให้หยุดวันพุธครึ่งวัน เพื่อข้าราชการได้หัดรำวงกัน สมเด็จฯ ก็พระราชทานผ้าห่ม เสื้อผ้า แก่เขาเหล่านั้น ของเหล่านี้ในระหว่างสงครามแพงมากที่สุด แต่ผู้สำเร็จราชการฯ จัดหามาถวายจาก “อ.จ.ส.” คือ ร้านค้าของทางราชการในราคาถูก

เย็นๆ ก็เสด็จขึ้นทรงโครเกที่สนามหน้าพระที่นั่งวโรภาศและก็เช่นเคย ทรงรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า

“ฉันเคยเล่นโครเกกับพระพุทธเจ้าหลวงที่สนามข้างใน นี่ ไม่มีใครจะเล่นกับฉันได้ตายกันเสียหมด”

 

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ (ประทับยืนซ้าย) ม.จ.หญิงอัปภัศราภา เทวกุล (ขวา)
สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ (ประทับยืนซ้าย)
ม.จ.หญิงอัปภัศราภา เทวกุล (ขวา)

 

ม.จ.หญิงอัปภัศราภา เทวกุล (ที่ 2 จากซ้าย) และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน (ขวาสุด) บ้านอองโตนี พ.ศ. ๒๕๑๕
ม.จ.หญิงอัปภัศราภา เทวกุล (ที่ 2 จากซ้าย)
และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน (ขวาสุด)
บ้านอองโตนี พ.ศ. ๒๕๑๕

 

ผู้สำเร็จราชการฯ ก็หมั่นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ จนเจ้านายที่ตามเสด็จที่เคยไม่โปรดก็เริ่มจะโปรด เสด็จพระองค์ประดิษฐาฯ เคยตรัสเล่าให้ผู้เขียนฟังวันหนึ่งว่า

“ผู้สำเร็จฯ นี่เขาดีนะ เมื่อวานเขาเดินผ่านมาเห็นขุดดินปลูกต้นไม้อยู่ เขาว่าดี ได้ออกกำลัง”

วันเกิดผู้สำเร็จฯ ผู้คุมกระบวนเสด็จก็จัดให้มีการแสดงละครสิ่งละอันพันละน้อยให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ พวกที่ชื่นชมยินดีในการกลับใจได้ของ ดร.ปรีดี ก็ชื่นชมไปฝ่ายที่คลางแคลงและหัวแข็งก็ยังไม่ยอมลงใจสนิท เก้าเดือนในบางปะอินเป็นเก้าเดือนแห่งความสุขของทุกคนที่บางปะอินอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ในยามสงคราม ส่วนสมเด็จฯ นั้นทรงพระประชวรไข้หวัด เมื่อหายประชวรแล้ว พระอธิษฐานที่เคยทรงไว้เมื่อครั้งถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชธิดาพระองค์เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ว่า ขอให้ทรงลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด เริ่มจะเป็นผลบ้าง แต่ทุกคราวที่มีคนมาเฝ้าก็ตั้งพระสติได้ ผู้สำเร็จราชการฯ นั้นทุกคราวที่มาเฝ้า จะทรงต้อนรับอย่างดี เคยตรัสด้วยว่า

“พ่อคุณเถอะ ฝากหลานด้วยนะ พ่อมาทำบุญกับคนแก่นี่พ่อได้กุศล”

ผู้สำเร็จฯ ก็รับพระราชเสาวนีย์ด้วยกิริยามารยาทอันงดงามเจ้านายทั้งหลายเห็นใจในการที่ผู้สำเร็จฯ มาอยู่ใกล้ชิดเป็นประจำทำให้อุ่นพระทัยกันทั่ว แต่ไม่มีสักพระองค์หรือสักคนจะทราบว่าภายใน “สภาคารราชประยูร” อันเป็นที่พักของผู้สำเร็จฯ นั้น คือสถานที่บัญชาการเสรีไทยในประเทศ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุอันทันสมัยอยู่ชั้นล่างอย่างมิดชิด

นายเฉลียว ปทุมรส ผู้อยู่ในตำแหน่งรองราชเลขาธิการสำนักพระราชวังก็กว้างขวาง ได้รับการนับหน้าถือตาอย่างแพร่หลายในกระบวนเสด็จ และกว้างขวางอยู่ต่อมาอีกนานจนเสร็จสงคราม

เกี่ยวกับคำเล่าประทานของหม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล นี้นายปรีดี ได้เขียนไว้ในบทความ “คำชี้แจงเพิ่มเติมประกอบ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” ว่า

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้[5] หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ที่ได้ทรงรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ท่านหญิงมีพระชันษา ๗ พรรษา จนกระทั่งสมเด็จพระองค์นั้นสวรรคต ได้นำหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา มาประทานข้าพเจ้า ๑ เล่ม ในหนังสือเล่มนั้นมีตอนหนึ่งที่ท่านหญิงได้ประทานเล่าเรื่องไว้เกี่ยวกับข้าพเจ้าและเสรีไทย บางคนที่ถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระองค์นั้น และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ระหว่างสงครามครั้งที่แล้ว ท่านหญิงฯ กล่าวไว้ในคำนำหนังสือเล่มนั้นว่า ก่อนที่จะทรงเล่าให้ผู้จัดพิมพ์นำไปลงพิมพ์นั้น ท่านหญิงฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ถ้าเป็นความจริงก็เล่าได้” ท่านหญิงฯ จึงเขียนในท้ายคำนำว่า “ยึดถือตามพระราชกระแสดำรัสนั้น ถ้าเป็นความจริงที่ข้าพเจ้าได้ยินกับหูเห็นด้วยลูกนัยน์ตาก็จะเล่าให้คุณสมภพ[6] (ผู้จัดทำหนังสือเล่มนั้น) ฟัง เพื่อช่วยคุณสมภพให้เขียนเรื่องได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

๓. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อสงครามสิ้นสุด สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จกลับมาประทับ ณ วังสระปทุมดังเดิม ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระองค์เป็นประจำเช่นเคย บางครั้งก็พาบุตรสาวเข้าเฝ้าด้วย พระองค์ทรงถามชื่อบุตรสาวคนเล็กของข้าพเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าชื่อ “วาณี” พระองค์ตรัสว่า “ชื่อเหมือนพี่ฉัน” พระองค์ทรงถามและตรัสเช่นนี้ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าพาบุตรสาวคนเล็กเข้าเฝ้า ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๐ กันยายน ๒๔๙๙ ข้าพเจ้าไปเฝ้าถวายพระพร พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเหมือนเดิม ยังความซาบซึ้งใจตราบเท่าทุกวันนี้

 

ที่มา : ลลิตา สุดา ศุขปรีดา วาณี (บรรณาธิการ). เมื่อข้าพเจ้าเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, ใน, ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๗๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: ตถาตา พับลิเคชั่น), หน้า ๔๙-๗๓

 

หมายเหตุ:  บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน สารคดี, ๒๓: ๒๖๙ (มกราคม ๒๕๕๐).หน้า ๘๕-๙๒ และ บันทึกเมื่อ มกราคม - พฤษภาคม ๒๕๔๙


[1] พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)

[2] ปรีดี พนมยงค์: “คำชี้แจงเพิ่มเติมประกอบ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒”

[3] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

[4] หลวงประดิษฐ์บาทุกา (เซ่งชง)

[5] พ.ศ. ๒๕๑๕

[6] สมภพ จันทรประภา