ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์กล่าว “สตรีเปนผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังสามี”

5
กุมภาพันธ์
2565

 

กลางปี พ.ศ. 2489 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถือกำเนิดขึ้น และมีลักษณะเด่นตรงที่ดำเนินกิจการโดย "สตรี" นั่นคือหนังสือพิมพ์ ธรรมธาดา ซึ่ง คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดา D.S.A. เป็นเจ้าของและผู้จัดการ  นายจงใจภักดิ์ ฉัตรภูมิ D.P.N. เป็นบรรณาธิการผู้โฆษณา พันตรี จิระชัย ชูรัตน์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และ นายสวัสดิ์ สิริสวัสดิ์ เป็นผู้พิมพ์

ช่วงทศวรรษ 2480 นามของ คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดา เลื่องลือในฐานะผู้หญิงที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อเขียนว่าด้วยชีวิตทางเพศ การครองรักครองเรือน และการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานหนังสือของ แมรี สโตปส์ (Marie Stopes) นักเขียนหญิงหัวก้าวหน้าแห่งยุควิกตอเรียนให้แวดวงนักอ่านทำความรู้จักกันกว้างขวาง  แต่เนื้อหาต่างๆ ที่คุณหญิงพงาพยายามถ่ายทอดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์สู่สังคมไทย ก็มิวายถูกกล่าวหาและจัดประเภทให้เข้าข่ายเป็น “เรื่องโป๊” 

ในงานชิ้นหนึ่งคุณหญิงพงาเขียนว่า การที่ภรรยาไม่สามารถเหนี่ยวรั้งสามีให้อยู่กับตนจนเขาไปมีภรรยาน้อย จะถือเป็นความบกพร่องของสามีฝ่ายเดียวไม่ได้ เล่าขานกันว่า ถ้อยความตอนนี้กระทบกระเทือนจิตใจ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม อย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลานั้น ยินกระแสข่าวคราวที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังมีภรรยาน้อยพอดี กระทั่งต่อมา กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานการพิมพ์เก็บหนังสือและไม่ยอมให้จำหน่าย

 

ภาพ: คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดา
ภาพ: คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดา

 

ธรรมธาดา จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์พานิจกิจ เชิงสะพานแม้นศรี  สำนักงานตั้งอยู่ ณ แสงทองวิทยาลัย เชิงสะพานกษัตริย์ศึก พระนคร หนังสือพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ประจำวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489  โปรยถ้อยร้อยกรองบริเวณมุมขวาหน้าแรกสุดว่า

 

“ศรีศรีสวัสดิ์ประจำธรรมธาดา
ของพะงาออกเพิ่มเติมหนังสือ
พิมพ์รายวันใช่ประชันอวดฝีมือ
เพราะได้ถือจุดมุ่งผดุงธรรม

ข่าวการเมืองข่าวการบ้านอื่นอื่น
จะไม่ฝืนความจริงสิ่งถลำ
ใดดีช่วยชั่วจะละเปนประจำ
เพื่อจะนำให้แจ้งแหล่งดีเอย”

 

บุคคลที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เล็งเห็นว่าควรสัมภาษณ์เพื่อนำมาประเดิมเสนอข่าว ก็ย่อมมิพ้น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ครองบทบาทโดดเด่นทางการเมืองในขณะนั้น จึงส่งคณะผู้แทนไปขอเข้าพบนายปรีดี เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม และลงพิมพ์ถ้อยคำตอบผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับของวันถัดมา พาดหัวว่า “นายกปรีดีให้สัมภาษณ์ ว่าผ้า ๕๐๐ ตันถึงสิงคโปร์แล้ว กรณีพิพาทสั่งปิดพรมแดนด่วน” และเปิดบทเกริ่น “ในการให้สัมภาษณ์แก่ น.ส.พ. ที่ทำเนียบนายกวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. นี้ ท่านนายกได้แถลงถึงสาระสำคัญหลายประการ…”

ความที่เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งดำเนินกิจการโดยผู้หญิง ฉะนั้น ข้อคิดเห็นหลักๆ ที่ทางคณะผู้แทนปรารถนาสอบถามจากนายกรัฐมนตรี มิแคล้วประเด็นทำนองอิทธิพลของผู้หญิงที่มีต่อชายผู้เป็นสามี และบทบาทหน้าที่ของสตรีตามระบอบประชาธิปไตย คำตอบที่ได้รับคือ นายปรีดีขอให้สตรีนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม นั่นเพราะ "สตรีเปนผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังสามี ควรใช้อิทธิพลนั้นนำสามีไปในทางที่ดี แทนที่จะนำไปในทางโจมตีคนหนึ่งคนใดด้วยความอิจฉาริษยา...”

การแสดงทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงของ นายปรีดี พนมยงค์ มิใช่จะปรากฏให้เราพบเห็นบ่อยๆ สักเท่าไหร่  หนังสือพิมพ์ ธรรมธาดา จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งอันพึงนำมาพิจารณา



เอกสารอ้างอิง

  • คำให้การเป็นพยานต่อศาลอาชญากรสงคราม ของ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อกรณีย์พระสารสาตร์พลขันธ์ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงคราม และ คำให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงคราม ของพล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส.  กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองจริวรรณนุสรณ์, 2526
  • ธรรมธาดา. 1(1) (1 มิถุนายน 2489).
  • โสมทัต เทเวศร์.“ว่าด้วยตำนาน ‘หนังสือโป๊เมืองไทย’ จาก ‘ครูเหลี่ยม’ สถิตย์ เสมานิล บ.กากะบาดและ ‘ยาขอบ’.” บานไม่รู้โรย 2, ฉ.2 (มีนาคม, 2529). หน้า 107-113.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดาราชวรสภาบดี (เป็นกรณีพิเศษ) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 11 กันยายน  2542. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2542