ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เมื่อประเทศไทยต้องการสร้างคลองไทย : สรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

24
กุมภาพันธ์
2565

ความเป็นไปได้ในการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีการกล่าวถึงโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยในฐานะอภิมหาโครงการ (mega project) ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ไทย (ดู การขุดคอคอดกระ : ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย) ซึ่งรวมแล้วแนวคิดในการขุดคลองดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากกว่า 20 ครั้ง  อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายๆ ของการพูดคุยกัน บทสรุปนั้นมักจะลงเอยด้วยการพูดว่า การขุดคลองนั้นมีลักษณะได้ไม่คุ้มเสีย รวมถึงมีความพยายามคิดโมเดลอื่นๆ เพื่อชดเชยแทนการขุดคลอง ตัวอย่างเช่น การนำระบบลิฟท์มาใช้เพื่อยกเรือข้ามแผ่นดิน หรือที่เรียกว่า “แลนด์บริดจ์” (land bridge) ซึ่งได้เคยมีการนำเสนอไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งที่ให้น้ำหนักเกี่ยวกับความมั่นคง[1] ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[2]

ในอดีตที่ผ่านมา ข้อคัดค้านใหญ่ที่สุดนั้นมักจะพูดถึงกันในแง่เรื่องของความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะการมองว่า เมื่อมีการขุดคลองตัดผ่านแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคง ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียเอกราช และอาจถูกมหาอำนาจโจมตี โดยมองว่าคลองคอดกระนั้นสามารถใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหารได้ ซึ่งในความเป็นจริง ประเด็นดังกล่าวนั้นมักจะถูกหยิบขึ้นมาใช้โดยผู้ต่อต้านการขุดคลองคอดกระอยู่เสมอ แม้กระทั่งในปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ข้อเสนอเรื่องนี้ก็ยังถูกหยิบยกมาโดยปรับเปลี่ยนจากการพูดถึงปัญหาความมั่นคงภายนอก มาสู่ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศจากการแบ่งแยกดินแดน

 

โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

ในอดีตที่ผ่านมาโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยนั้น เกิดขึ้นมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่แนวคิดริเริ่มเท่านั้นที่มีความหลากหลาย แต่ตำแหน่งที่คิดว่าจะมีการขุดคลองนั้นก็มีความหลากหลายเช่นกัน

ในสมัยของ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้มีการขุดคลองในเส้นทาง 2A โดยในเวลานั้น นายปรีดีได้ทำการศึกษาและประเมินค่าใช้จ่ายเอาไว้ทั้งสิ้นประมาณ 18 ล้านบาท [จำนวนตัวเลขดังกล่าวประเมินขึ้นจากค่าใช้ที่ประมาณในการลงทุนก่อสร้างตามแผนการของนายปรีดี] ซึ่งงบประมาณลงทุนได้อาศัยวิธีการหลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงการกู้เงินที่จะกระทบต่อเอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศ ความพิเศษของเรื่องนี้ คือ กุศโลบาย​ของนายปรีดีที่ล้ำลึกในการหาเงินเพื่อชดเชยการกู้และสร้างรายได้จากการขุดคลอง คือ การใช้ประโยชน์จากคลองที่พัฒนาขึ้นและทำให้ที่ดินโดยรอบมีมูลค่าสูงขึ้นจากคลอง ซึ่งเป็นต้นแบบที่ชาญฉลาดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน​; ดู บันทึกเสนอการขุดคอคอดกระของนายปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2478 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

การศึกษาของ รองศาสตราจารย์ ดร. สถาพร เขียววิมล เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา นั้นพบว่า มีจำนวนเส้นทางขุดคอคอดกระเพื่อสร้างคลองแล้วจำนวน 12 เส้นทาง โดยข้อเสนอจากโครงการศึกษาความเป็นไปได้หลายๆ โครงการที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 – 2548[3] ดังนี้

 

ภาพเส้นทางการขุดคลอง 12 เส้นทาง

ที่มา : ทีมข่าว TCIJ, ‘ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?’
ที่มา : ทีมข่าว TCIJ, ‘ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?’

 

รายการโครงการที่เสนอให้มีการขุดคลอง

 

คณะผู้ศึกษา ข้อเสนอ
บริษัท แทมส์ (Tippertts-Abbett-McCarthy-Stratton : TAMS) (รายงานเปิดเผยเมื่อปี 2516) - เสนอให้ขุดคลองแนว 5A (สตูล-สงขลา)
- ให้เรือขนาด 500,000 ตัน (หรือ 250,000 ตัน)
- ขุดแบบปกติหรือใช้นิวเคลียร์บางส่วน
- ลึก 33.5 เมตร กว้าง 490 เมตร ยาว 107 กิโลเมตร
- งบประมาณ 22,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (2519) - เสนอให้ขุดแนวพังงา-บ้านดอน
- เรือขนาด 100,000 ตัน พร้อมทุ่นจอดเรือหรือท่าเทียบน้ำมัน
- ลึก 18 เมตร กว้างประมาณ 200 เมตร ยาว 80 กิโลเมตร
- งบประมาณ 14,000 ล้านบาท
ข้อเสนอของนายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ (ก่อนปี 2528) - เสนอให้ขุดแนวพังงา-บ้านดอน
- เรือขนาด 200,000 ตัน
- ลึก 25 เมตร กว้างช่องทางเดียว
- งบประมาณ 100,000 ล้านบาท
สถาบัน Fusion Energy Foundation (FEF) ร่วมกับ Global Infrastructure Fund Research Foundation Japan (GIF) (2528) - เสนอให้ขุดคลองแนว 5A (สตูล-สงขลา) ตามข้อเสนอของ TAMS
- เรือขนาด 300,000 ตัน
- 2 ช่องทางเดินเรือ
- งบประมาณ ถ้าขุดแบบเครื่องจักรกล 17.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากขุดโดยใช้นิวเคลียร์ต้นทุนจะอยู่ที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2532) - เสนอให้ขุดคลองแนว 5A (สตูล-สงขลา) ตามข้อเสนอบริษัท TAMS
- ประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุนขุดคลองตามแนว 5A โดยนำมูลค่าการลงทุนที่บริษัท TAMS คำนวณไว้มาประเมินการลงทุน คาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ (2540) - เสนอให้ขุดคลองคอดกระเชื่อมจากไชยา-กระเปอร์-กระบุรี
- ต้องศึกษาโครงการใหม่
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2541) - ประมวลการศึกษาโครงการของบริษัท TAMS แนว 5A (สตูล-สงขลา)
- การลงทุนสูงถึง 500,000 – 810,000 ล้านบาท
คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2541) - เสนอให้ขุดคลองแนวบริเวณหลังสวน-กระเปอร์ ซึ่งมีคลอง 2 คลอง
- มีพื้นที่เชื่อมระหว่างคลองยาวประมาณ 12 กิโลเมตร
- แนวการขุดบนพื้นดินทั้งหมด 90 – 120 กิโลเมตร แนวน้ำลึก 25 เมตร
- เรือขนาด 247,000 ตัน
- แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงความเหมาะสมการลงทุน ของโครงการนี้
คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ชุดปี 2543 เสนอรายงานในปี 2548 - เสนอเส้นทางใหม่คือ แนว 9A (ตัดผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา)
- ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร กว้าง 300 – 400 เมตร ลึก 30 – 35 เมตร
- มีลักษณะเป็นคลอง 2 คลอง คู่ขนานกันไประหว่างไปและกลับคนละคลอง
- งบประมาณลงทุน 650,000 ล้านบาท

ที่มา : ทีมข่าว TCIJ, ‘ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?’

 

การศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองคอดกระในปัจจุบัน

นอกเหนือจากโครงการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนหน้านี้แล้ว ล่าสุดโครงการขุดคลองคอดกระได้ถูกหยิบยกกลับมาศึกษาอีกครั้งโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและพาณิชยนาวี ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา โดยมี พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ

ในแง่ของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการศึกษาครั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการได้เลือกที่จะใช้เส้นทาง 9A โดยตัดผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา โดยมีความกว้างและความลึกเช่นเดียวกันกับรายงานการศึกษาตามเส้นทาง 9A เดิม โดยเพิ่มรายละเอียดให้ต้องมีประตูกั้นน้ำจำนวน 2 ช่วง เพื่อควบคุมสภาพน้ำและป้องกันผลกระทบต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อม[4]

นอกจากการศึกษาที่เพิ่มเติมจากเส้นทาง 9A เดิมแล้วนั้น คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองในเชิงเศรษฐกิจ โดยมีการประเมินรายรับคลองไทยกับรายจ่ายลงทุน โดยเปรียบเทียบการลงทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ภายใต้การศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ ได้ทำการศึกษารายรับหลักของคลองไทยว่ามาจาก ค่าธรรมเนียมการผ่านคลอง โดยคำนวณจากจำนวนเรือที่คาดการณ์ว่าจะมาผ่านคลองไทย โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาจำนวน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ปี ค.ศ. 2030, ค.ศ. 2040 และ ค.ศ. 2050 มาประมวลร่วมกับอัตราค่าผ่านคลองไทยที่จะเรียกเก็บ โดยพิจารณาจากประเภทของเรือที่จะผ่านคลอง และอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ โดยอัตราต่ำสุดสำหรับเรือขนาดเล็กเที่ยวละ 4,200 – 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสูงสุดสำหรับเรือขนาดใหญ่เที่ยวละ 30,000 – 56,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีจำนวนเรือคาดการณ์ว่าจะเดินทางผ่านเมื่อคลองเปิดใช้ ดังนี้[5]

  • ในปี ค.ศ. 2030 มีเรือผ่าน 13,823 เที่ยว เก็บค่าธรรมเนียมได้ 390.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,498 ล้านบาท
  • ในปี ค.ศ. 2040 มีเรือผ่าน 21,766 เที่ยว เก็บค่าธรรมเนียมได้ 683.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21,881 ล้านบาท
  • ในปี ค.ศ. 2050 มีเรือผ่าน 28,368 เที่ยว เก็บค่าธรรมเนียมได้ 1041.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 33,332 ล้านบาท

ในแง่รายจ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายหลักที่นำมาพิจารณา คือ การขุดคลองไทยแนว 9A นั้นประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่

  • ด้านวิศวกรรมเป็นจำนวน 54,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ค่าเวนคืนที่ดิน รื้อถอน เคลื่อนย้ายประชาชน ชดเชยระบบนิเวศทางทะเล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้ว 13,585 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงการก่อสร้างระยะเวลา 6 ปี 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งสิ้นเป็นเงิน 72,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงความคาดเคลื่อนในการประมาณการ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดนอกเหนือจากนี้แล้ว อาจจะกำหนดเป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปเป็นรายจ่ายลงทุนทั้งสิ้น 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.34 ล้านล้านบาท และหากเป็นกรณีกู้เงินมาลงทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี จะต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 58,400 ล้านบาท[6] 

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นยังไม่ได้เป็นการสรุปรวมค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ทั้งหมดตลอดทั้งโครงการ ซึ่งรวมถึงบรรดาดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดระยะเวลาที่ยังชำระเงินต้นไม่ครบ

 

เปรียบเทียบรายรับกับรายจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้

วงเงินล้านบาท ปี ค.ศ. 2030 ปี ค.ศ. 2040 ปี ค.ศ. 2050
รายรับ (ค่าผ่านคลอง) 12,498 21,881 33,332
รายจ่าย (เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้) 58,400 58,400 58,400
รายรับ - รายจ่าย - 45,902 - 36,519 - 25,068

ที่มา : คณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและพาณิชยนาวี ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา

 

เมื่อพิจารณารายจ่าย เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้เพียงอย่างเดียวแล้ว โดยยังไม่คิดดอกเบี้ยทบต้น ประมาณปีละ 25,000 – 45,000 ล้านบาท หรือรายจ่ายสูงกว่ารายรับประมาณ 1.75 – 4.67 เท่า  ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยระบบนิเวศส่วนอื่นนอกเหนือจากระบบนิเวศทางทะเล และค่าใช้จ่ายประเภทดำเนินงาน (operation cost) และค่าบำรุงรักษา (maintenance cost) สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ  ดังนั้น ลำพังเฉพาะเพียงค่าผ่านคลองอย่างเดียวในความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ จึงเห็นว่าไม่เพียงพอจะชำระเงินต้นหรือแม้แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ได้  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหารายรับส่วนอื่นเข้ามาเสริม[7]

กล่าวโดยสรุปแล้ว โครงการสร้างคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยนั้นยังคงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกพูดถึงอยู่ทุกสมัยตลอดเวลา และอาจจะถูกพูดถึงอีกตลอดไปเรื่อยๆ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขคือ การประมาณค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไปต้นทุนที่ต้องใช้ในการก่อสร้างนั้นก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น ทั้งในเชิงของค่าใช้จ่ายเพื่อการเวนคืน หรือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ 

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงกรณีเมื่อเทคโนโลยีหรือความจำเป็นเปลี่ยนไป ทำให้การใช้เทคโนโลยีแบบเดิมไม่ทันสมัยแล้วก็อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะใช้วิธีการเดิมๆ อีกต่อไป สิ่งสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากจะสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ไม่มีคำพูดใดจะดีเท่ากับคำพูดของ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเคยกล่าวไว้ว่า

“ปัญหาจริงๆ แล้วของเราคือ เราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเวลา เพราะเราคิดว่าเวลาคือของฟรี แต่ระยะเวลาไม่ฟรี เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด”

 

[1] ดู เฉลิม ศกุนวัฒน์, ‘จำเป็นต้องขุดคลองผ่านคอคอดกระหรือไม่’ ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลเรือโทเฉลิม ศกุนวัฒน์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส อังคารที่ 11 เมษายน 2515 (ไม่ปรากฏที่พิมพ์ 2515) 15 – 18.

[2] ดู ผู้จัดการออนไลน์, ‘ศักดิ์สยามดันแลนด์บริดจ์เทียบชั้นท่าเรือฮ่องกง คาดมีสินค้ากว่า 20 ล้านทีอียู เร่งออกแบบจูงใจสายเรือ’ (ผู้จัดการออนไลน์, 24 พฤศจิกายน 2564) <https://mgronline.com/business/detail/9640000116650> สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2565.

[3] ทีมข่าว TCIJ, ‘ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?’ (TCIJ, 30 สิงหาคม 2560) <https://www.tcijthai.com/news/2015/30/scoop/5760> สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565.

[4] กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ‘การศึกษาเชิงลึกโครงการคลองไทย ประเด็นการเปรียบเทียบรายรับคลองไทยกับรายจ่ายลงทุน’ (2564) 9 สารวุฒิสภา 32.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] เพิ่งอ้าง 32.

[7] เพิ่งอ้าง.