ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บันทึกข้อเสนอเรื่องขุดคอคอดกระของนายปรีดี พนมยงค์: พ.ศ. 2478 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

8
กุมภาพันธ์
2565

-๒-

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘ ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาเทศบาลสมัยนั้น (ที่ได้ตั้งขึ้นโดยรวมกรมทางกับกรมนคราทรเข้าเป็นกรมเดียวกัน มีหน้าที่ในการทางทั่วราชอาณาจักร และการคมนาคมส่วนท้องถิ่น) ได้จัดร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักรตามคำสั่งของข้าพเจ้า เสร็จแล้ว ได้เสนอร่างโครงการนั้นมายังข้าพเจ้าเพื่อพิจารณา 

เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงการสร้างทางจากชุมพรผ่านกระบี่เพื่อไปยังระนองและพังงานั้น ข้าพเจ้าก็ได้หวนระลึกถึงการขุดคลองที่คอคอดกระว่า สมควรที่จะได้ฟื้นขึ้นมาอีก แทนที่จะสร้างทางอย่างเดียวซึ่งจะเป็นวิถีทางอย่างหนึ่งในการช่วยให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร แต่ปัญหาการขุดคลองกระนี้ เกินขอบเขตของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ 

ข้าพเจ้าจึงได้นำเรื่องไปเสนอเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่าถ้าขุดได้ก็เป็นการดีเพราะท่านเองเคยผ่านคลองสุเอซมาเหมือนกัน และเคยอยู่ในประเทศเยอรมนีที่มีคลองคีลเชื่อมทะเลเหนือกับบอลติกที่คอคอด ใกล้กับประเทศเดนมาร์ก จึงอยากให้เรามีคลองที่คอคอดกระบ้าง 

ท่านถามว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน กับต้องระวังต่างประเทศ ข้าพเจ้าเรียนต่อท่านเจ้าคุณฯ ว่า ข้าพเจ้าก็มีความวิตกอย่างท่าน แต่ก่อนอื่นทีเดียว เราจะขุดคลองนั้นต่อเมื่อเรามีทุนของเราเอง เพราะถ้าขืนใช้วิธีกู้ยืมจากต่างประเทศแล้ว ก็จะทำให้เราผูกพันกับเจ้าหนี้ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ข้าพเจ้าจะปรึกษา หลวงเดชาติวงศ์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) เพื่อนร่วมก่อการวันที่ ๒๔ มิถุนายน ย้ายจากกรมรถไฟมาเป็นนายช่างในกรมโยธาเทศบาล ซึ่งเป็นผู้ร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักร ว่าการขุดคลองกระจะสิ้นค่าใช้จ่ายสักเท่าใด แล้วจะพิจารณาว่ากระทรวงการคลังจะมีเงินให้หรือไม่ 

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ ต่อไปว่าปัญหาต่างประเทศนั้นนอกจากการป้องกันโดยไม่กู้เงินเขามาขุดคลองแล้ว เราจะต้องระวังไม่เพียงแต่อังกฤษเท่านั้น แต่ต่างชาติที่เป็นมหาอำนาจทั้งหมด เราจะต้องเอาเยี่ยง คลองคีลของเยอรมัน และ คลองโครินธ์ของกรีก ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของชาตินั้นเด็ดขาด ไม่ใช่วิธีการอย่าง คลองสุเอซหรือ คลองปานามา ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณพระพหลฯ ว่าประเทศอังกฤษย่อมถูกกระทบกระเทือนโดยเฉพาะ ถ้าเราชี้แจงกับเขาว่าแม้สิงคโปร์จะขาดรายได้เนื่องจากการผ่านสินค้าของไทยก็ตาม แต่อินเดียกับพม่าของอังกฤษย่อมได้ประโยชน์จากคลองนี้ด้วย แม้พ่อค้าที่ลอนดอนเองก็ได้ประโยชน์ เพราะปีหนึ่งๆ บริเตนซื้อสินค้าหนักๆ เช่น ไม้สักและข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อค่าขนส่งถูกลง พ่อค้าชาวอังกฤษเองก็ได้ประโยชน์คุ้ม หรือ เกินกว่าที่ได้ทางสิงคโปร์ 

การที่เราจะขุดคลองกระตามอธิปไตยของเราได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัญหาแห่งการรักษาอธิปไตยและความเป็นเอกราชทั้งมวลของชาติ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลที่ท่านเจ้าคุณฯ เป็นหัวหน้าอยู่นั้น ก็คงได้รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้เป็นอย่างดี และถ้าเราช่วยกันประคองรักษาต่อไป เราจะรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้ ท่านเจ้าคุณฯ ตอบว่า “จริง” แล้วท่านเสริมต่อไปว่า ถ้าเราลงเสียดุลยภาพแห่งอำนาจแล้ว ดุลยภาพอื่นๆ ก็เสียตามไปด้วย บ้านเมืองก็จะพังทลาย

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ อีกว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ ก็คือ การเจรจาแก้ไขสัญญาที่ไม่เสมอภาค เวลานั้นยังไม่มีศัพท์ สนธิสัญญากับต่างประเทศ คือ ถ้าเราลงมือขุดคลองก่อนแล้วก็จะทำให้การเจรจาแก้ไขสัญญาเช่นนั้นขลุกขลักได้ เราต้องจัดการแก้ไขสัญญาให้เรามีเอกราชสมบูรณ์ก่อน

เจ้าคุณพหลฯ เห็นด้วยในหลักการตามที่ข้าพเจ้าเสนอ แล้วท่านสั่งให้ข้าพเจ้ากลับไปพิจารณากับหลวงเดชาฯ เรื่องการช่างและให้ข้าพเจ้าคิดหาเงินทุนต่อไป

 

-๓-

ข้าพเจ้าได้เชิญหลวงเดชาติวงศ์ มาปรึกษากะประมาณการกันอย่างคร่าวๆ ว่า ถ้าเราจะขุดคลองที่คอคอดกระยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ขนาดกว้างและลึกอย่างคลองสุเอซ รวมทั้งการแต่งร่องน้ำจากปากคลองไปสู่ทะเลลึก ก็คงใช้เงินในขณะนั้นประมาณ ๑๐ ล้านบาท นอกจากนั้นเราจำเป็นต้องสร้างเขื่อนและท่าเทียบเรือ โรงคลังสินค้า เขื่อนกันคลื่นในทะเล ถนนและทางรถไฟริมฝั่งคลอง สะพานรถไฟและสะพานต่างๆ ข้ามคลอง โรงไฟฟ้า การโทรเลข โทรศัพท์ กระโจมไฟ อาคาร และอุปกรณ์อื่นๆ อันเกี่ยวแก่ความจำเป็นและความสะดวกแก่การเดินเรือผ่านคลองนี้ จึงได้กะกันไว้อย่างคร่าวๆ ว่าคงจะใช้เงินอีก ๘ ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๘ ล้านบาท

เราได้คิดกันอีกแผนหนึ่งถึงการขุดคลองที่กว้างและลึกน้อยกว่าคลองสุเอซ เช่น ขนาดคลองโครินธ์ของกรีก เพื่อให้เรือเพียงขนาดที่เข้าปากน้ำเจ้าพระยาได้ผ่านเท่านั้น อันจะเป็นการกระทบกระเทือนอังกฤษไม่มากนัก ในการนี้เราอาจลดค่าใช้จ่ายสำหรับงานดินลงไปได้ประมาณ ๖ ล้านบาท แต่เราก็ต้องสร้างเขื่อน สะพานข้ามคลอง และการก่อสร้างอื่นๆ เช่นเดียวกับการขุดคลองขนาดของสุเอซนั่นเอง

เราได้คิดต่อไปว่า ถ้าเราจะขุดเพียงขนาดกว้างลึกเท่าคลองโครินธ์ แล้วมีแผนการขยายให้เท่าคลองสุเอซในอนาคต แต่เราเห็นว่าการขยายคลองใหม่และสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็ต้องทำใหม่ เช่น สะพานข้ามคลอง เป็นต้น ฉะนั้น จึงคิดว่าไหนๆ จะขุดคลองกันตรงนี้แล้วก็ขุดกันเต็มอัตราทีเดียว เอาขนาดคลองสุเอซนั่นแหละ

หลวงเดชาฯ ถามข้าพเจ้าว่าจะเอาเงินมาจากไหน ข้าพเจ้าตอบว่าเงินคงคลังกับเงินสำรองใช้หนี้เงินกู้ยืมมีอยู่ที่กระทรวงการคลังซึ่งเก็บไว้เฉยๆ นั้น สมควรขอเอามาใช้จ่ายในการลงทุนของประเทศชาติได้ประมาณ ๓๕ ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างทาง อีกส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างคลองกระ แต่กระทรวงการคลังหวงเงินนั้น ข้าพเจ้าเห็นจะต้องอาสาไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรัฐบาลจะได้อนุญาตให้ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองใช้หนี้ได้สะดวก หลวงเดชาฯ ไต่ถามถึงปัญหาระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าได้ตอบตามที่ได้เรียนเจ้าคุณพหลฯ ดังกล่าวแล้ว

ข้อสังเกต ตามที่วิทยุกระจายเสียงแจ้งว่ารัฐบาลไทยปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๐๑) คิดจะขุดคลองนี้จากบริเวณใต้บางสะพานไปยังปากน้ำจันทร์นั้น ทำให้ข้าพเจ้าฉงนว่า เหตุใดจึงจะขุดคลองยาวประมาณกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรซึ่งเกินกว่าแนวที่นายช่างได้กะกรุยเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ กว่าหนึ่งเท่า แต่ได้ทราบว่ารัฐบาลหวังจะได้ทองคำและแร่อื่นๆ จากการขุดคลองนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าระลึกว่า การขุดคลองกับการทำเหมืองแร่นั้นต่างกัน 

แม้ข้าพเจ้าจะเห็นด้วยตาเปล่าว่า งานทั้งสองอย่างมีการขุดดินด้วยกัน การสร้างคลองนั้นต้องการให้คลองตรงและสั้นที่สุด ส่วนการทำเหมืองแร่มีการขุดดินในที่จำกัดและคดเคี้ยวไปมาตามสายแร่ และบางที่สายแร่ก็อยู่ตื้น บางทีก็อยู่ลึก ไม่สม่ำเสมอ เครื่องขุดดินสำหรับเหมืองแร่ก็มีลักษณะต่างกับเครื่องขุดดินสำหรับขุดคลอง ยิ่งเป็นเครื่องขุดดินทำเหมืองทองคำแล้ว ก็มีลักษณะพิเศษออกไปอีก เพราะแร่ทองคำที่มีอยู่ใต้ดินในทรายนั้นเป็นชิ้นเล็กมากๆ นานๆ จึงจะพบเป็นเมล็ดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ซึ่งถือว่าเป็นมหัศจรรย์ไม่ใช่เป็นลิ่มหรือแท่ง นอกจากนั้นเครื่องสำหรับเหมืองทองคำต้องมีเครื่องกลไกที่สามารถระวังเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขุดที่อาจมีบางคนไม่ซื่อแล้วยักยอกเอาไปคนหนึ่งๆ เพียงวันละไม่ถึงกรัมก็จะทำให้นายเหมืองหรือรัฐบาลขาดทุน 

ข้าพเจ้าได้ระลึกต่อไปอีกว่า บริเวณอำเภอบางสะพานนี้เป็นแหล่งที่บรรพบุรุษไทยได้ทำการขุดและร่อนเอาแร่ทองคำขึ้นมาติดต่อกันเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ทองคำส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในกลุ่มก็ได้มาจากแหล่งที่กล่าวนี้ ดังนั้น ในสมัยโบราณท่านจึงยกบริเวณนี้ขึ้นเป็นเมือง (คือที่เรียกว่าจังหวัดในปัจจุบัน มีชื่อว่าเมือง “กำเนิดนพคุณ”) ซึ่งหมายถึงจังหวัดที่เป็นแหล่งกำเนิดทองคำเนื้อดี ซึ่งเรียกกันว่า “ทองเนื้อเก้า” หรือ “ทองนพคุณ”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แหล่งทองคำที่กล่าวนี้ก็ยังทำกันต่อมาและได้ยกบริเวณนี้ให้เป็นเมืองกำเนิดนพคุณอยู่จนกระทั่งยุบเมืองเป็นอำเภอแล้ว ต่อมาเปลี่ยนเรียกชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองกำเนิดนพคุณ จึงกลายมาเป็นอำเภอบางสะพาน 

ในปลายรัชกาลที่ ๕ ได้มีบริษัทต่างประเทศขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ ณ บริเวณนั้นตามปกติแล้วพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงหวงแหนทรัพยากรอันมีค่าของชาติ แต่การที่พระองค์พระราชทานสัมปทานนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าพระองค์คงทรงพิจารณาว่าทองคำที่เหลืออยู่จากการขุดค้นตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมาเหลือน้อยมาก ถ้าบริษัทต่างด้าวอยากจะลงทุนก็อาจเป็นประโยชน์แก่ราษฎรไทยที่จะได้ค่าจ้างจากการเป็นลูกจ้างบริษัท

ในที่สุดบริษัทนั้นทำไปไม่สำเร็จแล้วต้องล้มละลาย ข้าพเจ้าคิดว่าเทคนิคในการทำเมืองทองปัจจุบันอาจมีอะไรดีกว่าเมื่อครั้งบริษัทนั้นก็เป็นได้ ฉะนั้น จึงไม่ประสงค์คัดค้านที่รัฐบาลจะทำเหมืองแร่ทองคำ ณ ที่นั้นเอง แต่ขอให้สำนึกให้ดีว่าจะยังมีทองคำเหลืออยู่พอที่จะลงทุนทำได้กำไรหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการขุดคลอง จึงไม่สมควรที่จะเอาการขุดคลองไปขึ้นต่อการทำเหมืองแร่ที่อาจเป็นการเสี่ยง 

การขุดคลองอาจทำให้เห็นชิ้นแร่บางชนิดบ้าง แต่ก็ไม่มากมายถึงกับจะโกยขึ้นได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นแร่ทองคำแล้ว ไม่ใช่ของหาได้ง่ายๆ มิฉะนั้นทองคำก็หมดคุณค่า หรืออาจมีราคาถูกกว่าดีบุก การที่ทองคำเป็นสิ่งหายากนั้นเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ทองคำมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นสมควรในหลักการที่ดำริวิสาหกิจใดๆ จะต้องคำนึงถึงวัตถุพลอยได้ด้วย จึงคิดว่านอกจากแสวงหาแร่ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลอาจคิดอย่างอื่นอีกก็เป็นได้ ในขณะที่เราดำริขุดคลองสมัยเจ้าคุณพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เราได้ดำริถึงสิ่งพลอยได้จากสภาพที่เห็นกันได้อย่างประจักษ์ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

การสร้างคลองนี้ เราก็จะต้องมีประกาศหวงห้ามที่ดิน ในบริเวณประมาณ ๒ แสนไร่ และโดยเฉพาะที่ดินในบริเวณนั้นเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มิได้มีผู้ใดทำประโยชน์ เมื่อขุดคลองขึ้นแล้วที่ดินสองฝั่งคลองต้องเจริญแน่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกหลวงเดชาฯ ว่าจะให้รัฐบาลลงทุนอีก ๒ ล้านบาท เพื่อจัดการปรับปรุง แต่ที่ ๒ แสนไร่นั้นให้เป็นสวน คือ ที่ดินบางแห่งเหมาะก็ทำเป็นสวนผลไม้ได้ เช่น บริเวณหลังสวนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์สำหรับสวนผลไม้ 

นอกจากนั้นก็ปลูกยางพาราและมะพร้าว ต้นโกโก้ และไม้ยืนต้นอื่นๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อพ้นกำหนดห้าปีที่สวนเหล่านั้นก็จะมีราคา (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ไม่น้อยกว่าไร่ละ ๑๐๐ บาท และถ้าเป็นสวนผลไม้ก็มีราคามากขึ้นไปอีก ที่สวนสองแสนไร่ก็คงเป็นเงินยี่สิบล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการสร้างสวนแล้วรัฐบาลก็จะได้กำไรคืนทุนที่จะขุดคลอง 

เราเห็นกันว่าจะไม่ใช้วิธีถางป่าแบบเผาป่าที่ทำกัน โดยโค่นต้นไม้ลงแล้วใช้ไฟเผา เพราะเราเสียดายไม้ของชาติ เราจะปรุงแต่งที่ดินสองฝั่งคลองอย่างปราณีต เช่น ไม้ใหญ่ต้นใดสามารถทำเป็นซุงเพื่อใช้ทำเขื่อนได้ก็ต้องประคองให้เป็นซุง ไม้ใดที่เลื่อยเป็นแผ่นกระดานปลูกอาคารได้ก็ต้องเลื่อย ไม้ใดที่ทำเป็นเสาเข็มได้ก็ต้องเอามาเป็นเสาเข็ม ส่วนไม้ที่ใช้อย่างอื่นไม่ได้จึงเอามาเผาเป็นถ่าน ไม่ใช่เผาทิ้งให้เป็นขี้เถ้า ในการนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกในการถางป่า

เราได้พิจารณากันว่าส่วนที่สร้างขึ้นใหม่นั้น จะให้กรรมกรที่มาช่วยการขุดคลองมีสิทธิซื้อก่อนผู้อื่น เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีที่ดินอันเป็นที่สวนอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยให้ชำระเงินผ่อนเป็นงวดๆ กรรมกรเหล่านี้อาจมาจากภาคอื่นทั่วราชอาณาจักร และเมื่อเขาได้ช่วยขุดคลองสำเร็จแล้วก็จะได้มีที่ดินพร้อมด้วยอาคารที่สร้างให้ด้วยราคาถูกอย่างผาสุก กรรมกรแต่ละคนก็เพียงแต่จะบำรุงพืชผลที่เราลงไว้ให้ และต่อเติมตามที่เขาเห็นสมควร เขาก็จะเก็บผลไม้อย่างสบาย และนำไปส่งตลาดค้ากับต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ปากคลองขุดใหม่นั้น ซึ่งเขาจะได้ราคาดีขึ้นกว่าที่ต้องผ่านเมืองท่าของประเทศอื่น ที่ดินส่วนที่เหลือจากขายให้กับกรรมกร ก็จะได้ขายให้แก่คนไทยซึ่งเป็นคนยากจน หรือ คนที่ไม่มีหลักทรัพย์ของตนเองตามที่กรรมการขายที่ดินจะได้ตรวจสอบพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันมิให้คนมั่งมีเอาเงินไปซื้อที่ดินจากกรรมกร หรือ คนยากจนดังกล่าวแล้ว เราก็จะต้องมีข้อกำหนดว่าที่ดินซึ่งกรรมกร และคนยากจนรับซื้อไปนั้นจะซื้อขายหรือโอนด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากโอนทางมรดกเท่านั้น 

ข้าพเจ้าได้เสนอเรื่องที่ปรึกษากับหลวงเดชาฯ ต่อเจ้าคุณพหลฯ แล้วเดินทางไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้สำเร็จ แล้วกลับมาประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคซึ่งเป็นอุปสรรคของอธิปไตยและเอกราชแห่งชาติไทย แล้วย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาก็มีเหตุการณ์ต่างๆ จนกระทั่งสัญญาสมบูรณ์แบบตามที่ราษฎรไทยรู้อยู่แล้ว

 

-๔-

บัดนี้ สัญญาไม่เสมอภาคและสัญญาสมบูรณ์แบบก็หมดไปแล้ว ตามนิตินัยประเทศไทยมีความเป็นเอกราช สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอีกคือเอกราชตามพฤตินัย เพราะปัญหาที่จะต้องคิดให้รอบคอบ มิใช่อยู่แต่เพียงว่าเราเห็นว่าเป็นเอกราชตามนิตินัยแล้วก็จะทำตามพลการ 

ข้าพเจ้าสนับสนุนรัฐบาลให้ขุดคอคอดกระสำเร็จไปตามอุดมการณ์ที่ข้าพเจ้าพรรณนามาแต่ต้นก็เพราะมีความหวังว่ารัฐบาลจะรักษาและป้องกันเอกราชของชาติ ตามพฤตินัยได้ และใช้ทุนของชาติไทยเราเองดังที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป

ประการที่ ๑ การรักษาและป้องกันเอกราชทางพฤตินัย 

ข้าพเจ้าคิดว่า นักการเมืองปัจจุบันนี้ จำนวนมาก เคยเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าคุณพหลฯ มาโดยตรง คงจะระลึกถึงเจ้าคุณพหลฯ บ้างว่า ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เอกราชและอธิปไตยของชาติเท่าที่มีอยู่ขณะนั้น มิได้เสื่อมลงไป แต่ได้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะท่านเจ้าคุณฯ ได้นำราษฎร รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้เป็นอย่างดี การงานของประเทศชาติสมดุลไปทุกส่วน

ภายหลังสงครามครั้งที่แล้ว หลายรัฐบาลไทยที่มีอยู่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ได้นำหลักนโยบายอันสุขุมคัมภีรภาพของเจ้าคุณพหลฯ มาใช้เพื่อรักษาความเป็นเอกราชตามนิตินัยและตามพฤตินัยของชาติ โดยรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจของมหาประเทศไว้ได้ แม้ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องบางอย่าง แต่ก็ไม่บกพร่องในเรื่องความเป็นเอกราชของชาติ ซึ่งสำคัญกว่าบุคคลและสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

ราษฎรมากหลาย ในปัจจุบันนี้ ได้เรียกร้องโดยใช้ภาษาอย่างสามัญชนว่า “ความเป็นกลาง” ซึ่งทำให้บางท่านวินิจฉัยตามรูปการณ์ภายนอกของศัพท์เทคนิคแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และบางท่านก็คัดค้านคารมต่างๆ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าการพิจารณาคำเรียกร้องของราษฎรสามัญทั่วไปนั้น จะต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของราษฎร เพราะถ้าจะพิจารณาเถียงกันตามศัพท์เทคนิคแล้ว ข้าพเจ้าเอง และเชื่อว่าอีกหลายท่าน ถ้าใช้เวลาว่างสำรวจศัพท์ที่เราใช้แล้วก็จะพบว่า เราท่านใช้ศัพท์ผิดเพี้ยนไปได้ จึงควรให้อภัยแก่ราษฎรสามัญ โดยอย่าเข้มงวดในการใช้ศัพท์เทคนิคนัก 

ข้าพเจ้าคิดว่า “ความเป็นกลาง” ที่ราษฎรสามัญเรียกร้องนั้น หมายถึงดุลยภาพแห่งอำนาจซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าคุณพหลฯ นำราษฎรมาสมัยหนึ่งในการรักษาอธิปไตยและเอกราชของชาติไว้ได้อย่างมั่นคงและทวียิ่งขึ้น เพราะท่านไม่เอาชาติไปเป็นเดิมพันถ่วงน้ำหนักข้างหนึ่งข้างใด สิ่งที่ท่านเอาเป็นเดิมพัน คือการรักชาติด้วยกาย วาจา ใจ ท่านเทิดทูนชาติไทยเหนือบุคคลใดๆ ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าคุณพหลฯ คงสามารถเจริญรอยตามได้ นโยบายของเจ้าคุณพหลฯ ดังว่านั้นเป็นเกราะที่แข็งแกร่งในการป้องกันอิทธิพลของต่างชาติที่จะแทรกเข้ามาในปัญหาอธิปไตยกับเอกราชของชาติไทย ข้าพเจ้าหวังว่า ความหวังของข้าพเจ้าคงไม่พลาด

ประการที่ ๒ ปัญหาทุน 

ข้าพเจ้าเห็นว่าการสร้างคลองที่คอคอดกระนี้เป็นการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับชาติไทยโดยชาติไทยเอง ดังนั้นเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะนำเอาทุนนอนที่มีอยู่โดยยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างใด และไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรา มาลงทุนได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะคิดกู้เงินของชาติอื่นมาลงทุนในการนี้ เพราะจะทำให้เกิดภาวะผูกพันทางพฤตินัยหลายอย่าง ผลที่เราหวังจะได้ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางเศรษฐกิจก็จะกลับกลายเป็นเสียเอกราชทางพฤตินัยอย่างอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะเพิ่มภาษีอากรหรือลดเงินเดือนข้าราชการเพื่อการนี้ และข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะเอาทุนนอนของชาติมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องที่ไม่ใช่การลงทุน เช่น การขุดคอคอดกระนี้ 

ข้าพเจ้าเห็นว่า รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบางรัฐบาลต่อๆ มา จนถึงมีการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้น ได้สะสมทุนบางประเภทไว้ให้ชนรุ่นหลังซึ่งยังคงมีเหลืออยู่บ้าง พอที่รัฐบาลนี้อาจนำเอามาลงทุนในการสร้างคอคอดกระได้ และยังมีขุมทรัพย์อีกบางประการที่ข้าพเจ้าจะบอกให้ท่านไปสำรวจเอามาใช้ 

ในการนี้ ทุนและขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นทองคำแท่งที่ชาติไทยมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปขุดค้นจากดินให้เสียเวลา ทองคำแท่งเหล่านี้ บางประเภทก็เป็นทุนสำรองเงินตรา บางประเภทก็ไม่ใช่ทุนสำรองเงินตรา แม้ทองคำรัฐบาลเอาขึ้นบัญชีเป็นสำรองเงินตรานั้น ก็ยังมีบางประเภทที่การได้มา การเสียไป การมีอยู่ มิได้ทำให้เงินตราปัจุบันนี้ดีขึ้นหรือเลวลง เช่น ทองคำประเภทที่เราได้คืนจากพันธมิตรซึ่งยึดครองญี่ปุ่นและบัดนี้เราได้ฝากไว้ใน ส.ร.อ. นั้น เมื่อครั้งญี่ปุ่นได้เอาทองคำส่วนหนึ่งแห่งธนาคารชาติของเขากันไว้ว่าเป็นของไทย เนื่องจากที่เขามาขอเบิกเป็นเงินบาทในระหว่างสงคราม ทองคำประเภทนั้น ก็มิได้ช่วยให้เงินบาทระหว่างสงครามมีค่าดีขึ้นอย่างไร เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้ว พันธมิตรยึดทองคำประเภทนั้นไว้ ก็มิได้ทำให้เงินบาทของไทยเสื่อมค่าลงไป 

เพราะเหตุนั้น คือ เสื่อมค่าเพราะเหตุอื่นๆ ภายหลังเราได้ทองคำนั้นคืนมา ก็มิได้ทำให้เงินบาทมีค่าดีขึ้นอย่างไร เพราะค่าของเงินบาทเสื่อมลงโดยเหตุอื่นๆ เพื่อความเข้าใจของสามัญชนผู้อ่านจดหมายนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงอย่างง่ายๆ ว่าระบบเงินตราของไทยเมื่อก่อนสงครามครั้งที่แล้วนั้นเป็นระบบการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี คือผู้ใดมีธนบัตรเป็นจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น สมมุติว่าตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ก็มีสิทธิ์เอาธนบัตรนั้นมาขอแลกเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองได้ทันที โดยรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ 

ในสมัยนั้น รัฐบาลสยามได้มีทุนสำรองมั่นคงนัก คือนอกจากเงินตราต่างประเทศแล้วยังมีทองคำอีกด้วย คือมีหลักทรัพย์อันมีค่า ๑๐๐% ซึ่งไม่หวั่นเกรงแม้จะมีผู้เอาธนบัตรที่ออกใช้ทั้งหมดมาแลกทุนสำรอง แต่ในระหว่างสงครามที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ระบบเงินตราของไทยก็เหมือนกับอีกหลายประเทศในโลก คือใช้ระบบควบคุม กล่าวคือผู้ถือธนบัตรไทยไม่มีสิทธิ์ที่จะขอแลกเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรอง รัฐบาลยอมให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ตามที่รัฐบาลเห็นสมควร เพื่อไม่ต้องเอาทุนสำรองที่มีอยู่เดิมมาจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยน รัฐบาลอาจทำได้โดยรักษาดุลยภาพแห่งมูลค่าที่มีผู้เอาเงินบาทมาขอแลกเงินตราต่างประเทศกับมูลค่าเงินตราต่างประเทศที่รัฐบาลได้รับมา เช่น ได้รับมาจากการขายสินค้าแก่ต่างประเทศ เป็นต้น ถ้ารัฐบาลรักษาดุลยภาพเช่นนี้ไว้ไม่ได้ คือมีการแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศเกินกว่ามูลค่าที่รัฐบาลได้รับแล้วก็จะต้องจำหน่ายทุนสำรอง และในที่สุดทุนสำรองก็หมด 

ตามปกติชาติไทยเราอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในทางการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศอยู่แล้ว ถ้าเราดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมดาโดยไม่ถ่วงตาเต็งแห่งอำนาจให้หนักไปข้างใด อันเป็นการทำให้ดุลยภาพทางการเศรษฐกิจและการค้าเสียไปแล้ว เราก็รักษาดุลยภาพในการแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก 

ดังนั้น การรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้ให้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแก้ไขความหนักใจของรัฐบาลในดุลยภาพทางการคลังและทางงบประมาณ เนื่องจากเราเสียดุลยภาพไปมากในระหว่างสงคราม จึงเป็นเหตุให้ค่าเงินบาทตกต่ำไป ต่อมาจนภายหลังสงครามด้วย ซึ่งปรากฏว่าเงิน ๑๘ บาท จึงจะแลกดอลลาร์ ส.ร.อ. ได้ ๑ เหรียญ แต่บางรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนรัฐประหาร (พ.ศ. ๒๔๙๐) ได้ใช้วิธีรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจและเศรษฐกิจ จึงทำให้ค่าของเงินบาทสูงขึ้น คือเงิน ๑๐ บาทแลกได้ ๑ ดอลลาร์ ส.ร.อ. แต่บัดนี้ ราษฎรไทยต้องจ่ายถึง ๒๑-๒๒ กว่าบาทจึงจะแลกหนึ่งดอลลาร์ ส.ร.อ. โดยมีความหวังว่ารัฐบาลจะรักษาดุลยภาพต่างๆ ดังที่กล่าวแล้วไว้ได้ ข้าพเจ้าจึงได้เสนอต่อราษฎรและรัฐบาลในการที่จะเอาทองคำบางประเภทที่ชาติไทยมีอยู่ มาลงทุนขุดคลองกระดังกล่าวในข้างบนนี้เพื่อความเข้าใจของสามัญชนว่า ชาติไทยมีทองคำอยู่ในเวลานี้อย่างไรบ้างนั้น ข้าพเจ้าจึงลองนึกคร่าวๆ จะขอเล่าสู่กันฟัง ถ้าความจำของข้าพเจ้าเลือนไปบ้างก็ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยให้ด้วย

ก. ในสมัยก่อนที่ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น

ทุนสำรองเงินตราของไทยเอาฝากไว้เป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ในอังกฤษแทบทั้งสิ้น เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งที่กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาเห็นว่าวิธีดังกล่าวนั้นเป็นการทำให้เงินตราและเศรษฐกิจของไทยต้องตกอยู่ภายใต้เงินอังกฤษอย่างสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น ถ้าเงินอังกฤษเสื่อมราคาลงไป เงินไทยก็จะต้องเสื่อมราคาด้วย ข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้ธนาคารตัวแทนรัฐบาลไทยในอังกฤษ เอาเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองเงินตราส่วนหนึ่งซึ่งเป็นทองคำประมาณ ๓๕ ล้านกรัม แล้วนำมาเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง ณ กรุงเทพฯ ต่อมาเงินปอนด์เสื่อมราคาลงโดยอังกฤษได้ลดค่าของเงินปอนด์ที่แลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์ ส.ร.อ. ประมาณปอนด์ละ ๒๐ เซ็นต์อเมริกัน จึงทำให้ทองคำที่ข้าพเจ้านำมาเก็บไว้ ณ กรุงเทพฯ นั้นมีราคาสูงขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับเงินปอนด์อันทำให้ชาติไทยได้มีกำไร จำนวนมากและทำให้ค่าแห่งทุนสำรองเงินตราไทยสูงขึ้น นอกจากนี้ก่อนที่อังกฤษจะลดค่าเงินปอนด์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังถึงฐานะของเงินอังกฤษเห็นว่าอังกฤษจะต้องลดค่าในเร็ววัน จึงได้สั่งโอนเงินปอนด์อีกส่วนหนึ่งไปเป็นเงินเหรียญอเมริกันเป็นการด่วน โทรเลขของข้าพเจ้าไปถึงลอนดอนประมาณ ๖ ชั่วโมง ก่อนอังกฤษประกาศลดราคาเงินจึงสามารถโอนเงินปอนด์บาง ส่วนไปเป็นเงินดอลลาร์อเมริกัน ซึ่งชาติไทยได้มีกำไรส่วนหนึ่ง

เมื่อรัฐบาลสมัยก่อนโน้น ประกาศสงครามกับอังกฤษ อังกฤษจึงได้ยึดเงินของไทยที่ฝากไว้ในอังกฤษ แต่ทองคำที่เราเอามาเก็บไว้ในกรุงเทพฯ ก็ได้รอดพ้นจากการยึดของอังกฤษ และข้าพเจ้าคิดว่ายังอยู่เรียบร้อยที่ห้องนิรภัยของชาติไทยจนถึงทุกวันนี้ ทองคำประเภทนี้ก็ยังไม่ควรที่รัฐบาลจะแตะต้อง คือควรรักษาไว้เพื่อความจำเป็นอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในกาลภายหน้า

ข. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อเงินมีราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ

รัฐบาลไทยขณะนั้นมีเงินเหรียญบาทอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อคิดเป็นเนื้อเงินก็มีราคาประมาณบาทละ ๔๐ สตางค์ ราษฎรไม่นิยมเหรียญบาท เหรียญบาทจึงค้างอยู่ที่กระทรวงการคลังประมาณ ๔๐ กว่าล้านเหรียญ ข้าพเจ้าจึงได้ส่งเอาเหรียญเหล่านั้นไปขายแล้วซื้อเป็นทองคำได้ประมาณ ๒ ล้านกรัมเศษ เอาฝากไว้ที่ ส.ร.อ. ทองคำงวดนี้รัฐบาลก็ยังไม่ควรแตะต้องเช่นเดียวกับที่กล่าวในข้อ ก.

ค. เมื่อก่อนญี่ปุ่นโจมตีเพิลฮาเบอร์นั้น ญี่ปุ่นได้ถูกอังกฤษ อเมริกัน กักเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น 

ญี่ปุ่นไม่มีเงินตราต่างประเทศที่จะมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อซื้อข้าวสาร ญี่ปุ่นจึงได้มาเจรจากับรัฐบาลไทยในขณะนั้นเพื่อขอเอาเงินเยนมาแลกเป็นเงินบาท ข้าพเจ้าเห็นว่า เงินเยนไม่มั่นคงจึงเกี่ยงว่าถ้าญี่ปุ่นจะเอาเงินบาทก็ให้ เอาทองคำมาแลก ญี่ปุ่นไม่พอใจ แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอม โดยตกลงว่าทองคำส่วนหนึ่งให้ขน เอามากรุงเทพฯ และอีกส่วนหนึ่งนั้นเอาฝากไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น ภายหลังไม่กี่วันก็เกิดสงครามเอเชียบูรพา ดูเหมือนการขนทองมากรุงเทพฯ คงชะงักไป และคงฝากไว้ที่ญี่ปุ่น ข้าพเจ้าประมาณคร่าวๆ เห็นจะราวๆ ๓ ล้านกรัม ทองคำยอดนี้เอามาลงทุนขุดคลองได้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรา

ง. ในระหว่างสงครามญี่ปุ่นได้บังคับให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินบาทแลกกับเงินเยนที่เรียกว่าบัญชีเงินเยนพิเศษเป็นจำนวนมากมาย 

อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบาทต้องเสื่อมค่าลงอย่างมากมายและเรื้อรังมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลในสมัยหลังเคยมาหารือถึงการที่ญี่ปุ่นขอเงินอีก ข้าพเจ้าก็แนะไปว่าให้เกี่ยงเกี่ยวเอาทองคำมาแลก ญี่ปุ่นก็ยอมให้ทองคำบางส่วน และเอาขึ้นบัญชีเงินเยนพิเศษบางส่วน ข้าพเจ้าหนักใจว่าถ้าเสร็จสงครามแล้วทองคำประเภทนี้ของไทยที่ฝากไว้ในญี่ปุ่นก็คงสูญเพราะญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายแพ้แน่นอน และสัมพันธมิตรก็คงจะยึดทองคำนี้โดยอาจอ้างตามนิตินัยว่าสืบเนื่องจากรัฐบาลไทยครั้งก่อนโน้นร่วมรบกับญี่ปุ่น 

ข้าพเจ้าคิดดูเห็นว่าทางออกที่พอจะอ้างกับสัมพันธมิตรได้ก็คงมีบันทึกไว้ว่า เงินที่จ่ายให้ญี่ปุ่นในตอนที่รัฐบาลมาหารือกับข้าพเจ้านั้น เราจ่ายให้ไปเพราะญี่ปุ่นเอาไปซื้อข้าวให้ราษฎรมลายูและอินโดนีเซีย ประกอบด้วยความจริงก็ปรากฏจากหนังสือของญี่ปุ่นที่แจ้งมาจะเอาไปซื้อข้าวสารให้ราษฎรเหล่านั้น พร้อมกันนั้นข้าพเจ้าก็ได้โทรเลขลับบอกไปยังกองบัญชาการของสัมพันธมิตรที่แกนดีถึงการที่ฝ่ายไทยต้องจ่ายเงินให้ญี่ปุ่นซื้อข้าวสารเพื่อราษฎรของสัมพันธมิตรเอง 

เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สัมพันธมิตรผู้ยึดครองประเทศญี่ปุ่นก็ได้ทองคำที่เราฝากไว้ในญี่ปุ่นรวมทั้งทองคำรายนี้ด้วย ต่อมาได้มีอเมริกันคนหนึ่งที่เคยทำงานอยู่ในกองทัพสัมพันธมิตรที่โตเกียวได้เสนอต่อเอกอัคราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตันว่า สามารถที่จะหาทางเจรจาให้รัฐบาลไทยได้ทองคำที่ฝากไว้ในญี่ปุ่น โดยเขาขอค่านายหน้าบ้าง ข้าพเจ้าทราบว่ารัฐบาลไทยที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารได้พิจารณาเห็นว่าทองคำ ประเภทนี้ต่างกับประเภทที่กล่าวในข้อ ค. เพราะได้ไว้ในระหว่างสงคราม ถ้าชาติไทยได้ทองคำจำนวนนี้ มาโดยเสียค่านายหน้าเพียงเล็กน้อยก็สมควร 

นายหน้าคนนี้ได้เดินทางมาพบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ แล้วขอโอกาสมาพบข้าพเจ้า เพื่อขอความเห็นว่าเหตุผลที่จะอ้างประกอบนั้นมีอะไรบ้าง นอกจากเหตุผลส่วนที่เขาคิดไว้ ข้าพเจ้าจึงได้ชี้แจงถึงเหตุผลว่า ทองคำของเรานั้นไม่ใช่แลกกับเงินที่ช่วยญี่ปุ่นในการรบ แต่เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นเอาเงินไปซื้อข้าวสารให้ราษฎรในมลายูและอินโดนีเซีย นายหน้าผู้นั้นพอใจมากที่ได้ข้ออ้างซึ่งข้าพเจ้าได้แนะให้เขาไปติดต่อรัฐบาล เพื่อขอดูหลักฐานที่กระทรวงการคลัง 

ต่อมาอีกไม่กี่วันก็เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าไม่รู้แน่ชัด ว่ารัฐบาลต่อมาได้ตกลงกับนายหน้าคนนั้นอย่างไรบ้าง ชาติไทยจึงได้ทองคำประเภทนี้คืนมาแล้วนำไปฝากไว้ยัง ส.ร.อ. (ข้าพเจ้าคิดว่านายหน้าคนนี้คงเอาเหตุที่เราอ้างเอาเงินบาทให้แก่ญี่ปุ่นเพื่อซื้อข้าวสารให้แก่ราษฎรสัมพันธมิตร เป็นเหตุสำคัญในการเจรจา) ข้าพเจ้ากะว่าทองคำประเภทนี้มีประมาณ ๓๐ ล้านกรัมเศษ ถ้าขายยังตลาดเสรีที่มีราคาสูงกว่าราคาทางการของ ส.ร.อ. แล้วเราจะได้เงินตราต่างประเทศ ๓๐ ล้านเหรียญอเมริกาอันจะเป็นทุนสำหรับขุดคลองกระได้

จ. ยังมีทองคำแท่งและเงินอยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินสำรองเงินตราเลย 

ข้าพเจ้าได้สอบสวนแล้วได้ความว่าทองคำแท่งและเงินแท่งเหล่านี้เป็นของเจ้าประเทศราชแห่งเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และระยะต่างๆ ในบริเวณเจ็ดหัวเมืองภาคใต้ที่ได้นำมาในนามของราษฎรแห่งหัวเมืองเหล่านั้น ทูลเกล้าถวายเพื่อเป็นราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ไทยตามระบบศักดินา ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าเงิน และทองเหล่านั้นจะมีน้ำหนักเท่าใด เงินทองเหล่านี้เดิมเก็บไว้ ณ ห้องนิรภัยเก่าของกระทรวงการคลังมาหลายสมัยแล้ว เจ้าคุณประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่าในสมัยที่ท่านเป็นสนมเอกแต่ผู้เดียวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ท่านได้เห็นทองแท่งและเงินแท่งชนิดนี้มาก 

ท่านเล่าว่าเวลานั้นท่านเป็นเด็กไม่รู้จะเอาทองแท่งไปทำอะไร ท่านจึงเอาทองคำบางแท่งมาใช้เป็นที่ทับชายมุ้งเพื่อกันไม่ให้มุ้งปลิว ทั้งนี้ก็แสดงว่าทองคำและเงินแท่งชนิดนี้มีอยู่มาก ข้าพเจ้าคิดว่าราษฎรในภาคพายัพและภาคอีสานคงจะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวว่าทองคำแท่งและเงินแท่งซึ่งเจ้าประเทศราชในสมัยก่อนได้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชบรรณาการในนามของพี่น้องเหล่านี้ ยังคงมีเหลืออยู่ที่ยังมิได้เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น 

ถ้าหากรัฐบาลจะได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อนำเอาทองคำแท่งและเงินเหล่านี้เปลี่ยนสภาพให้เป็นทุนส่วนหนึ่งของคลองที่จะขุดใหม่ก็จะได้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติไทยเป็นส่วนรวมและจะนำมาซึ่งความปลื้มปิติของราษฎรในภาคต่างๆ ที่ได้มีส่วนในการนี้ด้วย 

ฉะนั้น ถ้าหากทองคำแท่งตามที่กล่าวข้างต้นยังไม่พอเป็นทุนในการขุดคลอง (แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพอ) ข้าพเจ้าเห็นว่าการขุดคลองนั้นมิใช่ว่าเราจะต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างทันที รวมทั้งหมดคือจะจ่ายเป็นงวดๆ ไปตามโครงการ ในระหว่างนั้นรัฐบาลก็มีเวลาหาทางประหยัดรายจ่ายแผ่นดินที่ไม่จำเป็นเอามาใช้ในการนี้โดยไม่ต้องเพิ่มภาษีอากรหรือลดเงินเดือนข้าราชการ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลสามารถทำได้ เพราะหวังว่าคงจะมีหลายท่านที่จะเจริญรอยตามเจ้าคุณพหลฯ ในการเทิดทูนชาติเหนือบุคคล โดยกาย วาจา ใจ

 

-๕-

ข้าพเจ้าหวังว่าในการที่เอาทองคำส่วนที่ไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรามาเป็นทุนในการขุดคลองกระนี้ นอกจากชาติไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ยังจะมีประโยชน์ทางอ้อมอีกมากหลาย รวมทั้งจะเป็นการทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การค้าและเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอยู่ในขณะนี้ได้กระเตื้องขึ้นอีก การนี้จะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกวรรณะไม่ว่าจะเป็นวรรณะเจ้าสมบัติ หรือผู้มีทุนน้อย หรือวรรณะไร้สมบัติ แม้ว่าชาวยุโรป  ชาวอเมริกัน ชาวอาเซียนทุกชาติทุกภาษาที่มาทำการค้าและวิสาหกิจ พึ่งโพธิสมภารของชาติไทยอยู่ในเวลานี้ ก็จะพลอยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของชาติไทยในการสร้างคลองกระโดยทุนของชาติไทยเองดังกล่าวแล้วนั้นด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์
(นายปรีดี พนมยงค์)

 

ที่มา: (เนื้อหาช่วงท้าย) จดหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. เขียนเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เรื่อง “แผนขุดคอคอดกระ” ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “ชีวิตและงานของดร.ปรีดี พนมยงค์” โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)

บทความที่เกี่ยวข้อง:

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่องโดยบรรณาธิการ