ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ศาสตร์แห่งพระราชา : พระเจ้าจักรา การรักษาสันติภาพเชิงโครงสร้างของปรีดี

15
มีนาคม
2565

ตัวตนพระเจ้าช้างเผือก ภาพสะท้อนของสันติภาพในอุดมคติของปรีดี

“พระองค์มิได้ทรงชื่นชมต่อความหรูหราโอ่อ่าของพระราชสำนักงานแต่อย่างใด แต่ทรงอุทิศพระองค์เองเพื่อประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง พระเจ้าจักราทรงกล้าหาญยิ่งในการรบ แต่ทรงรักสันติภาพ...”

พระเจ้าช้างเผือก
11 พฤษภาคม 2482

 

“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของ นายปรีดี พนมยงค์ โดยการนำช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วงสงครามช้างเผือก (ซึ่งทรงได้รับการขนานนามว่าเป็นพระเจ้าช้างเผือก เนื่องจากทรงมีช้างเผือกในครอบครองเป็นจำนวน 7 เชือก) มาประกอบกับการปรุงแต่งผสมเข้ากับจินตนาการของนายปรีดีที่มีแง่คิดในเรื่องสันติภาพ ทำให้เกิดภาพของตัวละครเอกเป็นกษัตริย์หนุ่มพระนามว่า “พระเจ้าจักรา” ซึ่งเป็นตัวแทนของกษัตริย์ที่มีความกล้าหาญ แต่มีอุปนิสัยเป็นผู้รักสันติ[1]

การดำเนินเรื่องพระเจ้าช้างเผือกโดยส่วนใหญ่ เป็นการเล่าเรื่องผ่านสงครามระหว่างพระเจ้าหงสา ผู้มีความทะเยอทะยานและประสงค์จะทำลายอโยธยา โดยทำทีมาขอช้างเผือกจากพระเจ้าจักรา โดยอาศัยเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นเพื่อรุกรานอโยธยา ทำให้พระเจ้าจักราแห่งกรุงอโยธยาต้องยกทัพไปต่อสู้

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากเรื่องพระเจ้าช้างเผือกก็คือ ตัวละคร "พระเจ้าจักรา" มีความสำคัญมากกว่าการเป็นเพียงแค่ตัวละครเอกของเรื่อง แต่พระเจ้าจักราเปรียบเสมือน บุคลาธิษฐานของสันติภาพในอุดมคติของปรีดี ในขณะที่พระเจ้าหงสานั้นเป็นเสมือน บุคลาธิษฐานและความโหดร้ายของสงคราม

หากพิจารณาตลอดการดำเนินเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น จะเห็นได้ว่ามีหลายฉากหลายองก์ที่บทบาทของพระเจ้าจักราได้แสดงให้เห็นถึงผู้รักษาสันติภาพ เช่น “มิตรภาพจะมีคุณค่าอะไร ถ้ามันเป็นอุปสรรคขวางกั้นความทะเยอทะยาน”[2] หรือ “ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำหรับพวกเจ้า บทเรียนสำหรับพวกเราทุกคน อย่าให้ต้องถูกบังคับขับขี่เช่นวัวควายอีกเลย … จงเล่าขานให้ลูกหลานของเจ้าฟังถึงเรื่องในวันนี้ เรื่องของกษัตริย์ต่อกษัตริย์ทรงกระทำยุทธหัตถีกันเพื่อยุติกรณีพิพาท เพื่อว่าอนุชนรุ่นหลังจะได้รับรู้และกำชับผู้นำของตนให้กระทำเยี่ยงนี้บ้าง หากพวกเขาจำต้องต่อสู้กัน ด้วยวิถีทางนี้เท่านั้น จึงจะทำให้ชนทั้งผองในโลกได้รอดพ้นจากสงครามอันไร้ประโยชน์ และความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นเลย”[3]

ในขณะที่พระเจ้าหงสาในฐานะภาพแทนสงครามและความทะเยอทะยานของปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจ ตัวอย่างที่แสดงถึงก็คือ ฉากที่พระเจ้าหงสาจะเกณฑ์ไพร่พลมารบกับอโยธยา โดยเสด็จออกมาที่ระเบียงเพื่อประกาศให้พสกนิกรทราบ ซึ่งได้มีชายชราออกมาคัดค้านเรื่องสงครามโดยแสดงความเห็นว่า “ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเชื่อมั่นเหลือเกินว่า สิ่งที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พวกข้าพระพุทธเจ้าไปตายเพื่อให้ได้มานั้น ย่อมสามารถได้มาด้วยวิธีการเจรจาโดยสันติ” โดยหลังจากนั้นพระเจ้าหงสาก็ได้พระราชทานหอกพุ่งตรงไปที่อกจนเป็นเหตุให้ชายคนดังกล่าวลาโลกไปแบบไม่สมัครใจ พร้อมทั้งพระเจ้าหงสาทรงกำชับว่า “คำสั่งของข้า คือ กฎหมายสูงสุดยิ่งกว่าอื่นใด”[4]

อย่างไรก็ดี สันติภาพของปรีดี นั้น ไม่ได้หมายถึงการที่จะไม่ทำสงครามเลย ดังจะเห็นได้จากการที่พระเจ้าจักราทรงแต่งทัพเพื่อออกต่อสู้กับพระเจ้าหงสา แต่การทำสงครามของพระเจ้าจักรานั้นเป็นสิ่งที่ปรีดีเรียกว่า “ธรรมสงคราม” หมายถึง การทำสงครามหรือเข้าสู่สงครามด้วยความชอบธรรม กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการรุกรานผู้อื่น ดังเช่นกรณีที่พระเจ้าหงสากระทำ[5] สิ่งนี้เป็นจุดสำคัญในงานเรื่องพระเจ้าช้างเผือกของปรีดีที่ต้องการสื่อสารออกไปทั้งในทางการเมืองภายในประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับสันติภาพที่ปรีดีต้องการนำเสนอ

 

สันติภาพในเชิงโครงสร้าง

แม้เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของ “พระเจ้าช้างเผือก” จะพูดถึงสันติภาพในฐานะภาพใหญ่ของการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ แต่เมื่อได้อ่านหรือดูภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกจนจบแล้ว จะพบว่าพระเจ้าช้างเผือกได้ซ่อนนัยของสันติภาพในเชิงโครงสร้างของสังคมเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมไทย ผ่านหน้าที่ของผู้ปกครอง (รัฐบาล)

 

“ณ ที่นี้รัฐอิสระซึ่งปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชก็ได้บังเกิดขึ้น หากแต่เป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งกอปรขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และพระขันติธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา โดยมีความสำนึกในความเป็นชาติอันแผ่ซ่านอยู่ในหัวใจของประชาราษฎร์เป็นเครื่องรองรับ”

พระเจ้าช้างเผือก

 

ผู้ปกครองที่ดีในพระเจ้าช้างเผือก คือ ผู้ปกครองประเทศด้วยเหตุและผล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวของผู้ปกครอง ในพระเจ้าช้างเผือกนั้นจะพบว่า หลายฉากหลายองก์ ปรีดีได้แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของผู้ปกครอง (รัฐบาล) เอาไว้ โดยการจะรักษาสันติภาพภายในประเทศได้ ผู้ปกครองจะต้องรักษาความสงบสุข และรับผิดชอบความอยู่ดีกินดี โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีเสรีภาพและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการมีชีวิตเป็นเรื่องมีคุณค่า ซึ่งตามท้องเรื่องนั้นได้บรรยายลักษณะของการปกครองอาณาจักรอโยธยาว่าเป็นรัฐอิสระ ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามหลักคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา[6]

 

“...แทนที่ท่านจะมอบหญิงงามให้ข้าฯ 365 คน ท่านควรจะมอบช้างให้ข้าอีก 365 เชือกจะดีกว่า คงจะทำให้กำลังของฝ่ายเราพอมีทางจะสู้กำลังของฝ่ายเขาได้...”

พระเจ้าจักรา
พระเจ้าช้างเผือก

 

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ควรเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญกับเรื่องของตัวเองหรือประโยชน์ของตัวเองมากจนเกินไป ดังปรากฏในตอนต้นเรื่องว่า เหล่าเสนาบดีประสงค์ให้พระเจ้าจักรายึดถือคติดั้งเดิมที่จะต้องมีพระมเหสีจำนวนมากถึง 365 พระองค์[7] แต่พระเจ้าจักราทรงมีความเห็นว่า “...แทนที่ท่านจะมอบหญิงงามให้ข้าฯ 365 คน ท่านควรจะมอบช้างให้ข้าอีก 365 เชือกจะดีกว่า คงจะทำให้กำลังของฝ่ายเราพอมีทางจะสู้กำลังของฝ่ายเขาได้...”[8]

ในตอนท้ายของเรื่องพระราชินีคู่บุญของพระเจ้าจักราจะได้แสดงความเห็นแก่พระเจ้าจักราว่า “...การเลี้ยงดูนางสนมทั้ง 365 นางนั้นจะเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อย่างมาก พระราชทรัพย์เหล่านี้ควรจะนำไปใช้ในการส่งเสริมความกินดีอยู่ดีให้ราษฎร และความรุ่งเรืองของประเทศมากกว่า...ถึงสงครามจะยุติ เรายังต้องการใช้ช้างจำนวนมาก ไม่เพียงแต่สำหรับกองทัพเท่านั้น แต่สำหรับงานในป่าด้วยเพคะ”[9]

นอกเหนือจากฉากและองก์ข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า ตลอดเรื่องพระเจ้าช้างเผือกมีการพูดถึงสภาวะสันติภาพที่นำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างไร ดังเช่นในบทที่ 1 ราชอาณาจักรอโยธยาอันเก่าแก่ ซึ่งเป็นบทเริ่มต้นของเรื่องและในบทอื่นๆ แทรกอยู่โดยตลอดผ่านพระราชกรณียกิจของพระเจ้าจักราผ่านการปฏิรูปธรรมเนียมและประเพณีเก่าเพื่อนำมาสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร[10]

 

เศรษฐกิจแห่งสันติภาพและการสมานสามัคคี

“จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

 

“พระเจ้าจักรา” เป็นภาพสะท้อนของอุดมคติการปกครองของ “คณะราษฎร” ในหลายแง่มุม ทั้งในฐานะนักปฏิรูปที่ยกเลิกคติและธรรมเนียมประเพณีเก่า และทำนุบำรุงความกินดีอยู่ดีของราษฎร  ดังนั้น ความมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งของพระเจ้าช้างเผือกก็คือ การใช้สื่อเพื่อนำเสนอสันติภาพเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคม สิ่งนี้สะท้อนภาพความคิดของปรีดีเกี่ยวกับจิตสำนึกแห่งการอภิวัฒน์ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม[11]

การดำเนินการปฏิรูปประเทศต่างๆ ของพระเจ้าจักราจึงเป็นภาพสะท้อนของอุดมการณ์ของคณะราษฎร เมื่อทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม และเข้ามาบริหารประเทศ เจตนารมณ์ที่ให้ไว้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ 3 กล่าวว่า “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว จำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ของสังคมในเวลานั้น การดำเนินการสำคัญที่สุดในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและปรีดี ซึ่งแสดงไว้ใน "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" คือ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและการทำกินของชาวนา ในเวลาดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานั้นทำอาชีพเป็นชาวนา โดยเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดิน และถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างทางสังคมที่ผ่านการเก็บค่าเช่านา ภาษีโคกระบือ อากรค่านา และเงินค่ารัชชูปการ[12] 

กลไกของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้เป็นการจำกัดศักยภาพของราษฎรในการพัฒนาตนเองทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ในท้ายที่สุด สภาพดังกล่าวย่อมทำลายสันติภาพเชิงโครงสร้าง และนำมาสู่การใช้กำลังประหัตประหารกัน[13] เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาพเช่นนั้น ปรีดีจึงได้มีการเสนอให้มีการจัดสรรทรัพยากรให้มีความเป็นธรรมและกระจายการเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น

ข้อเสนอของปรีดีในเรื่องนี้ ปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจ[14] นอกจากนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ปรีดีได้สร้างระบบของการประกันความสุขสมบูรณ์เพื่อสมานสามัคคีระหว่างคนในสังคม โดยใช้วิธีการนำภาษีที่เก็บจากผู้มั่งมีมาช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยรัฐบาลเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือและประสานความสามัคคีนี้[15]

แม้ พระเจ้าจักรา จะเป็นตัวละครสมมติใน พระเจ้าช้างเผือก แต่หากทำการศึกษาวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังแล้วจะเห็นได้ว่า พระเจ้าช้างเผือกนั้นมีแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังตัวละครพระเจ้าจักรา ซึ่งในมุมหนึ่งนี้ผู้เขียนได้หยิบมาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจคุณค่าของสันติภาพเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกับมิติในทางเศรษฐกิจและความเป็นปัจจุบันในสภาวะสงครามเช่นนี้

 

[1] กษิดิศ อนันทนาธร, ‘ศาสตร์พระเจ้าจักรา กับสารที่ “พระเจ้าช้างเผือก” สื่อ’ (The 101.World, 18 เมษายน 2564) https://www.the101.world/the-king-of-the-white-elephant/ สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2565.

[2] ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก (หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 2558) 225.

[3] เพิ่งอ้าง, 325.

[4] เพิ่งอ้าง, 267 – 268.

[5] สุรัยยา เบ็ญโส๊ะ, ‘แนวคิดสันติวิธีในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ของปรีดี พนมยงค์’ (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2540) 182 – 183.

[6] ปรีดี พนมยงค์, พระเจ้าช้างเผือก (สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก 2542) 1.

[7] เพิ่งอ้าง 8.

[8] เพิ่งอ้าง 14.

[9] เพิ่งอ้าง 90 – 91.

[10] เพิ่งอ้าง 4 – 5.

[11] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304 สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2564

[12] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/312  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564.

[13] สุรัยยา เบ็ญโส๊ะ (เชิงอรรถ 5) 216.

[14]; เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (เชิงอรรถ 10); เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/312  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564.

[15] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (เชิงอรรถ 10).