ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“รัฐบุรุษ” ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2493

20
มีนาคม
2565

ภายหลัง ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 พยายามทวงคืนอำนาจจากคณะรัฐประหาร 2490 จนกระทั่งประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  นายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางออกจากเมืองไทยแล้วลี้ภัยไปพำนักอยู่ต่างแดนเนิ่นนานแรมปี

ครั้นล่วงเข้าปีถัดมา ลูกศิษย์และกลุ่มคนที่ยังระลึกถึงและห่วงหาอาวรณ์ต่อ นายปรีดี ได้มีการรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงออกว่า พวกเขาทั้งหลายไม่ลืมท่านอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ 

หลักฐานชิ้นหนึ่งซึ่งยืนยันเด่นชัด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ ได้จัดทำฉบับวันเกิดปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวาระครบรอบชาตกาล 50 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 อันเป็นหนังสือพิมพ์ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 ประจำวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. เดียวกัน

รัฐบุรุษ หรือ THE STATESMAN WEEKLY  มีลักษณะเป็น “แม็กกาซีนการเมืองรายสัปดาห์ ฉบับสมบูรณ์แบบในเมืองไทย”  บรรณาธิการ เจ้าของ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคือ เทพวิฑูร นุชเกษม ส่วน ยุทธนา ชลภูมิ รั้งตำแหน่งบรรณาธิการผู้ช่วย สำนักงานและโรงพิมพ์ตั้งอยู่ที่บริษัทการพิมพ์ไชยวัฒน์ แม้นศรี พระนคร จำหน่ายราคาฉบับละ 2 บาท

รัฐบุรุษ ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓  โปรยถ้อยคำประกอบหน้าปกว่า 

“นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่กับผู้ร่วมคิดในกระบวนการเสรีไทย ที่ช่วยให้ชาติไทยได้รอดพ้นจากความเปนผู้แพ้สงครามตาม “มหามิตร” ยี่ปุ่นในยุค “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาอาเชียบูรพา” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำชาติเข้าไปผูกพันไว้ หากขบวนการเสรีไทยไม่บังเกิดขึ้นจนถึงกับได้มีการสวนสนามต่อหน้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว เอกราชของชาติไทยจะดำรงคงอยู่เยี่ยงที่เราท่านเห็นประจักษ์กันอยู่เช่นทุกวันนี้ละหรือ?”

 

หน้าปกหนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓
หน้าปกหนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓

 

เทพวิฑูร นุชเกษม ไม่เพียงสนใจเพียงด้านแวดวงสื่อมวลชน หากขณะจัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับข้างต้น เขายังลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดพระนคร โดยเป็นตัวแทนจากเขตอำเภอปทุมวัน หมายเลขสมัครคือเบอร์ 3 ซึ่งจะจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2493

แท้จริง เทพวิฑูร นับเป็นบุคคลหนึ่งผู้ตราตรึงในความทรงจำของ นายปรีดี  ดังได้รับการเอ่ยพาดพิงนามในตอนหนึ่งผ่านข้อเขียนเรื่อง  ‘ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์’ ความว่า

“....คุณเฉียบฯ ได้เปลี่ยนจิตสำนึกจากการเป็นนายตำรวจของฝ่ายนายทุนมาเป็นนายตำรวจของฝ่ายกรรมกร และได้ทำการต่อต้านพวกที่มีซากทัศนะทาสกับทัศนะศักดินา ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูระบบถอยหลังเข้าคลองขึ้นมาอีก 

ฉะนั้น เมื่อพวกปฏิกิริยาทำรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ในบรรดาคำสั่งของคณะนั้นได้มีคำสั่งฉบับหนึ่งปลดคุณเฉียบออกจากตำแหน่งประจำการ คุณเฉียบพร้อมด้วยผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาบางคน อาทิ คุณเทพวิฑูรย์ นุชเกษม ส.ต.ท.ชม แสงเงิน ฯลฯ จึงได้ไปขอลี้ภัยอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้านพักของกรมนาวิกโยธินสัตตหีบโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ได้กรุณาต้อนรับข้าพเจ้าและผู้ติดตามให้พักอาศัยเพื่อลี้ภัยรัฐประหารนั้น”

เฉียบ อัมพุนันทน์ เป็นนายตำรวจผู้สนิทสนมกับ นายปรีดี อย่างยิ่ง เริ่มจากเคยร่วมปฏิบัติการเสรีไทยช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ร้อยตำรวจเอก เชื้อ สุวรรณศร แนะนำให้ทั้งสองทำความรู้จักกันเมื่อปี พ.ศ. 2487 พอหลังสงครามสงบ เฉียบ สบโอกาสมาทำงานคลุกคลีใกล้ชิด นายปรีดี จนประหนึ่งเป็นองครักษ์ประจำตัวก็ว่าได้  

การที่ เทพวิฑูร เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคอยติดตาม เฉียบ ก็พลอยให้ได้คลุกคลีกับ นายปรีดี ไปด้วย ถึงขั้นเคยร่วมใช้ชีวิตใต้ร่มชายคาเดียวกันตอนหลบหนีการจับกุมควบคุมตัวของคณะรัฐประหารเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงไม่แปลกถ้า เทพวิฑูร ในฐานะเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จะยกพื้นที่หน้ากระดาษของตนเพื่อนำเสนอเรื่องราวการรำลึกถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นกรณีพิเศษ

เทพวิฑูร สร้างสรรค์ผลงานหนังสือเล่มโตหนา 500 กว่าหน้าในชื่อเรื่อง เหนือชัยชนะ จัดพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2507

 

เทพวิฑูร นุชเกษม บรรณาธิการ เจ้าของ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ
เทพวิฑูร นุชเกษม บรรณาธิการ เจ้าของ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ

 

เมื่อพลิกเปิดหนังสือพิมพ์ รัฐบุรุษ ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ จะพบข้อเขียน ‘ปรีดี...รำลึก..’ โดย ประหยัด บำเพ็ญสิทธิ อันเกริ่นว่า

“ในที่สุดของการแข่งขัน  วันแห่งการหมุนเวียนของโลกที่หมุนแข่งไปกับวันคืนที่ล่วงไปๆ จากพระอาทิตย์ขึ้นแล้วก็ตก ก็มาครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ของชีวิตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ซึ่งในวันนี้ ถ้านับย้อนไปเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วนี้มา กรุงศรีอยุธยาเมืองแห่งประวัติศาสตร์ ได้ให้กำเหนิดรัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย ในตระกูลชนชั้นกลางมาเพื่อ “เอกราช” และสิทธิคำว่าไทสำหรับไทยเรา ท่ามกลางญาติมิตรที่แสนจะปรีเปรมในเด็กน้อยนี้”

ประหยัด ไล่เรียงประวัติ การศึกษา การรับราชการ ความสามารถ และบทบาทของ นายปรีดี นับแต่เยาว์วัยมาจวบจนเป็น ‘มันสมองของคณะราษฎร’ 

“...เมื่อเขาร่างโครงการเศรษฐกิจสำหรับชาติ เขากลับถูกพระยามโนปกรณ์ฯ กล่าวหาเปนคอมมิวนิสต์ และถูกเนรเทศไปสู่ฝรั่งเศสด้วยเรือกลไฟโกล่า พร้อมด้วยนางพูลสุขภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากในวันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖

กรรมดีได้ดี กรรมชั่วได้ชั่ว ผลนี้จึงสนองให้พระยามโนปกรณ์ถูกคณะราษฎร์รัฐประหารเอาคืนมาเมื่อค่ำวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ นั่นเอง”

นายปรีดี ได้เดินทางกลับคืนประเทศสยามตามคำเรียกร้องของคณะราษฎร พอมาถึง หลวงพิบูลสงคราม เข้าสวมกอดและเปล่งคำพูด “นี่แหละคือความหวังของประชาธิปไตย เขา ‘ปรีดี’ เปนมันสมอง และพวกเรา ทหารเปนกำลัง”

หาก นายปรีดี ก็ยังมิพ้นมลทินว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องเผชิญหน้าคณะกรรมการสอบสวนจนหลุดพ้นข้อกล่าวหาในที่สุด แล้วได้เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ “...ได้แสดงความรักชาติอันแท้จริงให้เห็น ด้วยการเปนหัวหน้าเสรีไทย  ปลดจากการเปนขี้ข้า เอาเอกราชกลับคืนมาสู่ไทยอีกครั้งหนึ่ง เขาพิศูจน์สมองอันปราดเปรื่องของเขาให้โลกเห็นและยกย่องไปทุกมุมโลก ในคราวกู้เอกราชคราวนั้น”

แน่นอน “แต่ปรีดีเปนคนอาภัพ” เพราะ

“...ที่เมื่อเห็นประเทศชาติภายหลังสงครามมันช่างอลเวงสิ้นดี จึงได้โดดเข้าเปนนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระเจ้าอยู่หัว ร.๘ สิ้นพระชนม์ นายปรีดีต้องมัวหมองเยี่ยงถูกพระยามโนใส่เพลิงอีก จึงต้องลาออก ตราบจนกระทั่งเกิดรัฐประหาร นายปรีดีต้องหนีออกสู่ต่างด้าว เพราะถูกศัตรูเอากรณีสวรรคตเปนดาบคอยฟันมิให้นายปรีดีคืนสู่สยามได้”

ประหยัด หาใช่จะสิ้นหวัง และสะท้อนความรู้สึกนึกคิดทำนอง

“แต่อย่างไรก็ตาม ราษฎรอีกเป็นจำนวนมากก็ยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของนายปรีดีอยู่ และยังต้องการมันสมองของเขา และยิ่งกว่านั้นยังเชื่ออีกด้วยว่า “นายปรีดีต้องกลับมาสู่สยาม เพื่อความเจริญของชาติบ้านเกิด” ตามคำเรียกร้องไนระยะอันสั้นนี้”

ก่อนปิดท้ายข้อเขียน

“จึงในวารดิถีอันชาวหนังสือพิมพ์รัฐบุรุษถือเปนศุภพฤกษ์อันดีนี้ ขอน้อมเคารพและอวยพรให้ความร่มเย็นจงพึงมีแด่ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ไม่ว่าท่านจะระหกระเหินไปในดินแดนแห่งใดของมุมโลก จงปราศจากภยันตรายจากศัตรูของนักประชาธิปไตยไทย ขอความมีมานะ เลือดนักสู้ของท่านจงเข้มข้นยิ่งขึ้น ทุกๆ วินาทีเถิด.

ชาวคณะหนังสือพิมพ์รัฐบุรุษขอยึดถือเอาความยุติธรรมและความจริงเปนเครื่องสักการะในคุณงามความดีของท่าน และขอไห้ท่านจงประสพความสุขทุกทิวาราตรีกาลเทอญ”

ในหนังสือพิมพ์ยังลงพิมพ์ภาพกิจกรรมต่างๆ ของ นายปรีดี ขณะยังมีบทบาทในเมืองไทยจำนวน 9 ภาพ โดยเฉพาะภาพตอนดำเนินงานภารกิจเสรีไทย และภาพความสนิทสนมกับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งโปรยถ้อยคำประกอบว่า “ความสนิทสนมที่ปรีดีมีอยู่ต่อในหลวง ร.๘ อย่างนี้หรือที่เขาจะวางแผนการณ์ปลงพระชนม์” รวมถึงภาพหาดูยากเฉกเช่นภาพนายปรีดีไปเลือกตั้ง โปรยถ้อยคำประกอบว่า “ปรีดีกำลังใส่บัตรเลือกตั้ง แสดงถึงความเปนนักประชาธิปไตย” เป็นต้น

 

ซ้ายสุดของภาพ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ ขวาสุดของภาพ คือ นายปรีดี พนมยงค์
ซ้ายสุดของภาพ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ ขวาสุดของภาพ คือ นายปรีดี พนมยงค์

 

นายปรีดี พนมยงค์กำลังใส่บัตรเลือกตั้ง
นายปรีดี พนมยงค์กำลังใส่บัตรเลือกตั้ง

 

อาวุโสในที่ประชุมผู้แทนหนังสือพิมพ์ ทำเนียบท่าช้างฯ’ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา 14.00 น. ภายหลัง นายปรีดี กลับจากการเดินทางรอบโลกมาลงตีพิมพ์อีกหน (ซึ่งผมจะได้นำเอาเนื้อหาส่วนนี้มาเขียนวิเคราะห์อภิปรายในคราวหลัง)

กรอบหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องเล่าที่ให้ชื่อ ‘แปลกแต่จริง’ และเผยรายละเอียดว่า

“ในการประชุมให้โอวาทบันดานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งสำเร็จปริญญาตรี จำนวน ๒๑๐ คน หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกกิติมศักดิ์คณะกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (เทียบคล้ายเทียบยศเอา) ได้ให้โอวาทแก่บัณฑิตจนพอใจแล้ว ก็ให้ดนตรีดุริยโยธิน (ของทหารบก) มากล่อมอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มเชื่อว่าพูดด้วยใจจริง และจอมพล ป. ได้สละเงินถึง ๑๐๐๐ บาท เปนค่าอาหารเลี้ยงสุรา-ยา-ปลาปิ้ง พอเหล่าบัณฑิตเหล่านั้นอิ่มหนำสำราญกันแล้ว

เหล่าบัณฑิตทั้งหลายก็เปล่งเสียงไชโย สดุดี แต่แทนที่จะสดุดีให้จอมพลผู้สละทรัพย์ในการเลี้ยงและให้ความรื่นเริง กลับกลายเปน

“ขอให้ผู้ประศาสน์การ [ปรีดี พนมยงค์] จงเจริญอยู่คู่ประเทศไทย”

(และมีเสียงประหลาดบอกผู้ประศาสน์การจงเจริญอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางตำรวจอันแน่นขนัด)”

นอกเหนือจากเนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวรำลึกถึง นายปรีดี  ด้านข้อเขียนอื่นๆ ล้วนส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหาร 2490 โดยมองว่าการรัฐประหารย่อมก่อให้เกิดผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย

รัฐบุรุษ ฉบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ให้ประจักษ์ว่า ครั้งหนึ่งเคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษหวนระลึกถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทยปัจจุบันคือเอกสารหายากและยังไม่ค่อยเห็นใครนำมาศึกษาเท่าใดนัก ผมย่อมปีติยินดียิ่งที่ได้นำเสนอสิ่งพิมพ์จากวันวานฉบับนี้ให้คุณผู้อ่านเป็นที่รับรู้

 

หมายเหตุ : คำสะกดใช้ตามเอกสารชั้นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. เทพวิฑูร นุชเกษม. เหนือชัยชนะ. พระนคร : แพร่พิทยา, 2507
  2. ปรีดี พนมยงค์. “ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์.” ปรีดีสาร (พฤษภาคม 2545). หน้า 11-21
  3. รัฐบุรุษ (THE STATESMAN WEEKLY) ฉบับวันเกิดปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓. ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (16 พฤษภาคม 2493).