ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทเสวนาแห่งสามัญชน คนชื่อ “เสน่ห์ จามริก”

10
เมษายน
2565

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ‘เสน่ห์ จามริก’ มีอายุครบ 90 ปี ในวาระนี้ลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมกันจัดงาน “ดอกหญ้าไหว: สู่ชีวิตและสังคมเสรี  บทเสวนาแห่งสามัญชน” ขึ้นที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยมีลูกศิษย์ของเสน่ห์คนหนึ่งกล่าวรำลึกว่า เขาเป็นนักศึกษาแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาที่เสน่ห์ดูแล ครั้งหนึ่งเล่นบาสเกตบอลแขนหัก ไม่อาจใช้มือขวาเขียนตอบข้อสอบได้ เสน่ห์ได้จัดการให้เขาสามารถสอบได้ ด้วยการให้อัดเสียงแล้วให้เจ้าหน้าที่ถอดเป็นคำตอบให้

นอกจากนี้ เมื่อลูกศิษย์คนนี้ออกจากป่ากลับมาสู่เมืองอีกครั้งในทศวรรษ 2520 เสน่ห์ได้ช่วยดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ ให้เขาอย่างครบถ้วนโดยที่เขาไม่ต้องมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยเขียน Recommendation ให้ด้วย พร้อมกับให้โอวาทลูกศิษย์ว่า “ขอให้เรียนจริงๆ สักที”

ลูกศิษย์คนนี้ ถึงกับยกย่องว่าเสน่ห์เป็น “ครูที่ผมเคารพรักและยำเกรงอย่างยิ่ง”

ลูกศิษย์ของเสน่ห์ ที่เอ่ยถึงนี้ ชื่อ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”

เสกสรรค์กล่าวว่าเสน่ห์เป็นแบบอย่างของนักวิชาการที่น่าสนใจใน 3 ประเด็น คือ (1) สนใจประเด็นที่สอดคล้องกับปัญหาของสังคม (2) สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และ (3) นำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติ

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "เสน่ห์เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งของสังคมไทยและเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แม้เสน่ห์จะไม่เรียกร้องสิ่งใด แต่ก็เป็นพันธะที่ควรจะต้องทำอะไรให้"

‘เสน่ห์ จามริก’ เป็นใคร สำคัญอย่างไร ชวนมาเสวนาชีวิตสามัญชนคนนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

ชีวิตและครอบครัว

เสน่ห์เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2470 ที่จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรของนายอุ้ยและนางเนย จามริก ในวัยเด็กเขาผูกพันกับแม่มาก พอโตขึ้น แม่ต้องการให้เขาเรียนสูงๆ จึงฝากเข้าโรงเรียนที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยอยู่กินกับครูที่รับเด็กอื่นมาอาศัยด้วยกันหลายคน

เมื่อแม่เนยเสียชีวิตจากการคลอดลูกที่โรงพยาบาลศิริราชในเดือนมีนาคม 2484 แล้ว เสน่ห์จึงอยู่ในความดูแลของนายนิยมและนางสว่าง โลพันธ์ศรี “อาผู้ชาย” และ “อาผู้หญิง” ของเขา ในชั้นแรกพำนักกับตาที่เรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านสามเสน ต่อมาจึงย้ายมาอยู่กับอาทั้งสองที่สวนลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี

เนื่องจากนิยมและสว่างไม่มีลูกด้วยกัน จึงมีแต่ “หลานร่วมชีวิตครอบครัว” 3 คน ได้แก่ เสน่ห์, จงรักษ์ พุ่มพันธ์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ต่อมาในปี 2514 นิยม สว่าง และจงรักษ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

เสน่ห์กล่าวว่า “รู้สึกเหมือนโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิตหยุดหมด สลายหมดสิ้น คิดอะไรไม่ตก” คงเหลือแต่ชีวิตที่ดีงามของทั้งคู่ที่ให้บทเรียนอันสำคัญแก่ชีวิตของเขา ทั้งการมองโลก การคบเพื่อน การใช้ชีวิตคู่ ฯลฯ เช่น “คนเรานั้น หากมัวยึดถือ ‘ตนเอง’ เป็นใหญ่แล้วไซร้ จิตใจก็ย่อมคับแคบ คิดได้แต่แค่ผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่รู้จักความรัก ความเมตตา และความเข้าใจต่อกัน โลกและสังคมก็ย่อมหาความสงบสุขได้ยากเต็มที”

 


“อาผู้หญิง” และ “อาผู้ชาย”

 

เพื่ออุทิศกุศลแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เสน่ห์บวชที่วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า “ขีณสิเนโห” ดังในเดือนกันยายน 2514 มีเอกสารสำหรับแสดงธรรมในนามฉายานี้ เรื่อง พุทธธรรมและหลักการสิทธิเสรีภาพ

 


ขีณสิเนโหภิกขุ

 

การศึกษา

เสน่ห์จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดราชบพิธ ในปี 2484 หลังจากนั้น 2 ปี จึงสำเร็จหลักสูตรเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปี 2491 โดย พจนา นาควัชระ เล่าว่า เสน่ห์เป็นคนเดียวในรุ่นที่สอบได้ในเวลาเพียง 3 ปีครึ่ง ขณะที่คนอื่นต้องเรียน 4 ปี หรือมากกว่านั้น

 


บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์

 

พ.ศ.2492-93 เขาเข้าทำงานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  จากนั้นไปรับราชการในกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ถึงปี 2496 จึงได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญา B.A. in Administration จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในปี 2500 แล้วจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนใกล้จะจบแล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศเรียกตัวกลับด่วน เร็วกว่าที่กำหนด ทำให้ไม่สำเร็จการศึกษากลับมา กล่าวกันว่ามีผู้กลั่นแกล้งเขา

เจตนา นาควัชระ ให้รายละเอียดว่า “ข้าราชการเลวๆ ประทุษร้ายท่านด้วยประเด็นทางการเมือง ก่อนที่ท่านจะเรียนจบปริญญาเอก” คงเป็นเพราะ “ที่เราพยายามจะเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่เข้ากับฝ่ายใดนั้น ทำให้เราตกที่นั่งลำบาก คนส่วนใหญ่มักจะเอาป้ายที่มีสีมาคล้องคอเราตลอดเวลา แล้วทะเลาะกับป้ายเหล่านั้น โดยที่ไม่ใส่ใจจะหาความจริงว่าเราคิดอย่างไร”

 

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศได้ไม่นาน เสน่ห์ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2503 นับเป็นนักวิชาการรุ่นแรกๆ ที่มาเป็นอาจารย์ประจำ เพราะขณะนั้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอาจารย์พิเศษเป็นส่วนใหญ่ มีอาจารย์ประจำน้อยมาก

ในปี 2512 เสน่ห์ตั้งโครงการรัฐศาสตร์ศึกษาขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับความเป็นจริงของการศึกษาขั้นอุดมแบบในสถาบันที่มีชื่อเสียงของยุโรปและสหรัฐฯ ที่จัดการศึกษาแบบ Liberal Arts ซึ่งเน้นวิเคราะห์และฝึกฝนการใช้ปัญญา อย่างน้อยที่สุดคือการถาม

บรรยากาศในห้องเรียนจึงเป็นห้องเล็กๆ ที่เน้นการเรียนแบบสองทาง หรือ dialogue ให้นักศึกษาสนใจที่คำตอบและความเข้าใจในหลักการวิธีการต่างๆ มากกว่าสิ่งที่อาจารย์พูด โดยตัวเขาเองนั้นรับผิดชอบสอนในวิชาสำคัญอย่าง ปรัชญาการเมือง และ การเมืองไทย

การบุกเบิกแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ คือ เปลี่ยนเป้าหมายจากการเรียนการสอนเพื่อเตรียมบุคลากรให้ระบบราชการมาสู่รัฐศาสตร์เพื่อความรู้ความเข้าใจในระดับสากลอย่างเชื่อมโยงกับสังคมไทย นับเป็นคุณูปการที่สำคัญของเสน่ห์

วีระ สมบูรณ์ ยกย่องว่า เสน่ห์มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างนักวิชาการ นักคิดนักเขียน และปัญญาชน ในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เล่าว่า เขาเข้าแผนกรัฐศาสตร์ศึกษารุ่นที่ 2  ในรุ่นนี้มี 11 คน มีเพื่อนนักศึกษา เช่น สุรินทร์ พิศสุวรรณ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ปรีดี บุญซื่อ ฯลฯ  การที่แผนกนี้ให้พื้นที่และเป็นแหล่งบ่มเพาะเสรีชน ทำให้ในที่สุดแผนกรัฐศาสตร์ศึกษากลายเป็นฐานบัญชาการให้เกิดกลุ่มอิสระอย่าง "สภาหน้าโดม" ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

 

 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ไปได้แล้ว เสน่ห์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้หนึ่งด้วย ต่อมาไม่นานนัก มีการก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยของวีรชน 14 ตุลาฯ และรักษาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย เสน่ห์ก็ได้เป็นประธานของสหภาพฯ นี้

"เขาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์ ในปี 2518"

 

รองอธิการบดีของ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

เมื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสน่ห์เข้ามาช่วยงานป๋วยในฐานะรองอธิการบดี ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในห้วงเวลาวิกฤตของมหาวิทยาลัย ช่วง 2518–2519

ป๋วย เขียนถึงเสน่ห์เมื่อเขาอายุครบ 60 ปี ว่า

 

 

สอดคล้องกับที่ พิทยา ว่องกุล ตั้งข้อสังเกตว่า “การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีหลายวิธี โดยเฉพาะวิธีการสร้าง ‘กระบวนการเรียนรู้’ และการปกป้องประชาชนในแนวทางสันติวิธี ให้เรียนรู้ด้วยสติปัญญาตนเอง และพึ่งตนเอง”

 

งานด้านวิชาการ

เสน่ห์มีผลงานทางวิชาการมากมาย ในส่วนงานแปล หนังสือ ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน (2510) ที่เขาแปลจากงานของ M. J. Harmon นั้น พิทยา ว่องกุล ยกย่องให้เป็นหมุดหลักทางความรู้รัฐศาสตร์ของสังคมไทยเอาเลยทีเดียว

ส่วนงานเขียนของเขาเองนั้น ก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เด่นๆ เช่น ปัญหาและอนาคตการเมืองไทย (2519) การเมืองไทยกับการพัฒนารัฐธรรมนูญ (2529) พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (2531) สิทธิมนุษยชนในกระแสโลก (2549) ฯลฯ

นอกจากการเขียนบทความจำนวนมาก การเขียนหนังสือ และการแปลหนังสือแล้ว เสน่ห์ยังมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดโครงการพิมพ์หนังสือตำราดีๆ จำนวนมากตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านมูลนิธิที่เขาเป็นประธาน ทั้งโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (2521–2552) และโครงการคบไฟของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนา (2530–2557) นอกจากนี้ยังเป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย (2524–2528) และผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2524–2528) อีกด้วย

 

งานด้านสิทธิมนุษยชน

เสน่ห์สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้จากการเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ โครงการวิจัย “พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” มูลนิธิฟอร์ดและมูลนิธิเอเชีย (2521–2523) โครงการวิจัยสิทธิชุมชน ภายใต้โครงการ “ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา” มูลนิธิฟอร์ด (2534–2537) โครงการวิจัย “สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สากล” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (2541–2550) และเป็นผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย “สิทธิมนุษยชนศึกษา” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (2546–2550) วีระ สมบูรณ์ จึงยกย่องให้เขาเป็น “ผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทสังคมไทย”

นอกจากนี้ เสน่ห์ยังดำรงตำแหน่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง เช่น ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) (2532–2534) รองประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2532–2553) ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2534–2537) ผู้อำนวยการชุนชนท้องถิ่นพัฒนา–อีสาน (2538–2544) และเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2544–2552)

 

การสร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติ

จะเห็นได้ว่า เสน่ห์ไม่เพียงแต่คิดและเขียนบทความและหนังสือเท่านั้น เขายังทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและป่าชุมชน ไม่เพียงเท่านั้น เขายังลงมือปฏิบัติการในพื้นที่จริงด้วยโดยเฉพาะในทางภาคอีสาน เช่น จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อจะลงพื้นที่ เสน่ห์ให้ข้อคิดกับผู้ที่ทำงานด้วยกันว่า “ไปเอาความรู้กับชาวบ้านในชุมชนนะ” ครั้นวันที่อายุครบ 90 เขาก็กล่าวในงานวันเกิดว่า “ชนบทเป็นชีวิตจิตใจของผมตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

 

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ว่า เสน่ห์เป็นนักวิชาการที่มีฐานคิด และประเด็นมีการสร้างความรู้ในลักษณะข้ามสาขา และมีความพยายามแสวงหาประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้คน

ในแง่ของนโยบายสาธารณะ เสน่ห์เสนอทางเลือกเชิงนโยบาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมการเมืองของคนที่ด้อยโอกาส ด้อยอำนาจ และเน้นการพัฒนาชนบทที่มาจากฐานของชุมชนเกษตรกรรมและความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ในมิติของการกระจายอำนาจ เสน่ห์ยังสนใจถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับชุมชนในการบริหารจัดการฐานทรัพยากรของชุมชนอีกด้วย

ประภาสจึงเห็นว่า เสน่ห์เป็น “นักรัฐศาสตร์ทวนกระแสเพื่อประชาชนคนธรรมดาสามัญ” ขณะที่ วีระ สมบูรณ์ ยกให้เสน่ห์เป็น “นักวิชาการผู้เป็นกัลยาณมิตรของสังคมไทย”

 

เสน่ห์ของเสน่ห์

‘สุนี ไชยรส’ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่มีเสน่ห์เป็นประธาน ได้เขียนถึงเสน่ห์ของเสน่ห์ไว้ว่า เขาเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพในคุณค่าความเป็นคน ให้เกียรติทุกคนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งการงาน เช่น จะเรียก “คุณ” กับทุกคน หรือเมื่อถึงช่วงปีใหม่ เขาจะให้ของขวัญเป็นกำลังใจและขอบคุณต่อแม่บ้านต่อ รปภ. อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เสน่ห์ยังมีชีวิตที่เรียบง่ายและสมถะ เขามักจะใส่เสื้อม่อฮ่อมตัวโปรดเป็นประจำ เวลาไปลงพื้นที่ก็จะเป็นกันเองและเคารพความเห็นของชาวบ้าน

ขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เล่าเสริมรายละเอียดว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้นำชาวบ้าน  เสน่ห์ในฐานะประธานการประชุม จะเริ่มบทสนทนาว่า “พวกนี้แม้จะแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่จิตใจดี ทำงานเพื่อชาวบ้าน”  ซึ่งชัชวาลย์บอกว่า อดยิ้มไม่ได้ที่เสน่ห์พยายามทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจและยอมรับนักพัฒนา

 

วิพากษ์เสน่ห์

‘พิภพ อุดมอิทธิพงศ์’ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมว่า  มนุษย์เราควรมี 2 อย่างคู่กัน คือ คุณธรรมและความสามารถ  เขากล่าวว่าจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในกรรมการสิทธิฯ ยุคของเสน่ห์นั้น  เสน่ห์มีคุณธรรม  แต่ความสามารถนั้นมีละหรือ?  พิภพเห็นว่าเสน่ห์ไม่มีความสามารถ เพราะ “เป็นคนแหย ไม่มีจุดยืน ควบคุมจัดการองค์กรไม่ได้เลย คงเป็นเพราะแกอยู่ในระบบราชการมาค่อนชีวิตนั่นเอง”

นอกจากนี้ เมื่อเกิดการรัฐประหาร ปี 2549 เสน่ห์ ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐประหารเป็นทางออกที่เหลืออยู่ … อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์” และ “จริงอยู่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่มันไม่พอที่จะหยุดที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้น ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ประการแรกต้องทำความเข้าใจมัน มันขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร แต่ละครั้งแต่ละช่วงตอน เหตุผลไม่เหมือนกัน แล้วต้องรู้สถานการณ์ว่าระบอบทักษิณเป็นยังไง ทำไมไม่มีทางเลือก” ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาถึงจุดยืนในทางประชาธิปไตยของเสน่ห์

 

ส่งท้าย

90 ปี ของชีวิตสามัญชนคนหนึ่งที่ชื่อ “เสน่ห์ จามริก” ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไว้ให้ปรากฏแก่ตาโลกอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนและงานแปลของเขา  งานด้านวิชาการรัฐศาสตร์  งานด้านสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน  และงานด้านการพัฒนาชนบท รวมถึงคุณธรรมในการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆ  แต่เสน่ห์ก็เป็นคนธรรมดาที่มีข้อบกพร่อง ซึ่งใครๆ สามารถวิจารณ์ได้

“บทสนทนาแห่งสามัญชน เรื่องของคนชื่อเสน่ห์ จามริก” ย่อมจะยังประโยชน์แก่อนุชน ถ้ารู้จักใช้ชีวิตที่ผ่านแล้วของเสน่ห์มาเป็นบทเรียนให้กับพวกเรา เลือกที่จะเดินในทางที่ควรเดิน และเรียนรู้จากความบกพร่องในชีวิตเขา แต่ถ้าอคติบังตาจนละเลยชีวิตของเสน่ห์ไปแล้ว นับว่าน่าเสียดายที่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากนักวิชาการคนสำคัญแห่งยุคสมัยผู้เป็น “ปาจารย์” ของวงวิชาการไทยในปัจจุบัน

 

ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร. บทเสวนาแห่งสามัญชน คนชื่อ “เสน่ห์ จามริก” เผนแพร่ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2017, สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2022

เรื่องและภาพ