ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เรียนรู้อะไรจาก “ปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕”

9
เมษายน
2567

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก (11 กรกฎาคม 2470-9 เมษายน 2565)
อดีตประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2538-2540

 

หลักการนำ

นับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างสูงที่ได้มีส่วนร่วมการสัมมนา เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและมวลสามัญชนคนไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันเป็นเดือนเกิดของท่านปรีดี พนมยงค์ ได้มีการเฉลิมฉลองรำลึกถึงชีวิตผลงานและเกียรติคุณของท่านไปแล้ว มาถึงเดือนมิถุนายนติดต่อกันอันเป็นเดือนประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งมีการยึดอำนาจการปกครองถึงสองครั้ง คือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖

นัยความสำคัญต่อการเรียนรู้จดจำย่อมจะกินความกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งๆ ขึ้นไปเป็นทวีคูณ ในแง่ของความเป็นสัจธรรม คือการได้มาและการสูญเสีย ในฐานะเป็นหลักการนำของสังคม และทั้งในแง่ของกาลเวลา คือผลกระทบถึงชีวิตสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นนัยความสำคัญยิ่งใหญ่ เหนือแม้กระทั่งสถานะความเป็นรัฐบุรุษอาวุโส หรือความเป็นบุคคลสำคัญของโลก อันล้วนเป็นเรื่องสมมุติธรรม

จุดมุ่งหมายของการนำเสนอ ณ ที่นี้ มีอยู่เพื่อเรียกร้องเชิญชวนสาธุชนผู้มีใจรักและใฝ่สัจธรรมความเป็นจริงทั้งหลาย มาร่วมกันเรียนรู้ ในอันที่จะทำความเข้าใจปัจจุบัน และมองออกไปสู่อนาคตอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาและความเป็นเหตุเป็นผล แทนที่จะปล่อยให้ถูกชักจูงให้หมกมุ่นเวียนว่ายอยู่แต่ในเรื่องของอำนาจวาสนาและตัวบุคคลเป็นมุโขโลกน ซึ่งย่อมแปรปรวนไปตามอารมณ์ผลประโยชน์ส่วนตนอันคับแคบ อย่างเช่นที่กำลังเป็นไปในบรรยากาศชีวิตสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นความอับจนทางปัญญา

ปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์ในอดีตก็จริง แต่ในเชิงของหลักการสังคมแล้ว ยังคงทรงคุณค่าอันควรแก่การนำมาทบทวนและคิดค้นแสวงหาอยู่เสมอ แม้สำหรับประชาชนคนไทยในยุคสมัยย่างเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๔๐ นี้ ก็ตาม

ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่การทำความชัดเจนในเรื่องของหลักการสังคม จึงขอเสนอการอ่านประวัติศาสตร์และวิเคราะห์อธิบายกระบวนการเมืองไทยในแนวทางดังต่อไปนี้ ซึ่งต่างมีส่วนเกี่ยวข้องและเสริมซึ่งกันและกัน

ประการแรก ชูประเด็นความสำคัญของความคิดเหนือเรื่องของตัวบุคคล ซึ่งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับกระแสอคติและมายาคติมากมายจนไม่อาจแยกแยะอะไรได้ แม้กระทั่ง เกณฑ์คุณค่าที่จะยึดถือ ในความเป็น “คนดี-คนไม่ดี” ผลก็คือ สังคมไทยในเวลานี้ ต้องกลายเป็นสังคมที่ได้แต่ไขว่คว้าหา “คนดี” โดยปราศจากเกณฑ์คุณค่าและหลักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในยามวิกฤตทางปัญญาและความตกต่ำของชนชั้นนำขณะนี้ น่าจะถึงเวลาที่สาธารณชนคนไทยจะต้องเรียนรู้ในระดับความคิดของตนเองอันเป็นรากฐานที่ประเทศชาติจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าอย่างอิสระเสรี เป็นธรรม และยั่งยืนโดยแท้จริง

ประการที่สอง ก้าวข้ามการแบ่งจำแนกกลุ่มหรือฝักฝ่ายการเมือง เป็นฝ่ายคณะเจ้า-ฝ่ายคณะราษฎร หรือฝ่ายทหาร-ฝ่ายพลเรือน อย่างที่ยึดถือกันมา แม้จะมีส่วนถูกต้องอยู่ในแง่ของโครงสร้างสัมพันธภาพเชิงอำนาจ แต่ก็ชวนให้มองข้ามหรือละเลยประเด็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องผลแพ้-ชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นก็คือ ปัญหาทิศทางของพัฒนาการทางสังคม การเมือง ซึ่งโดยรากฐานเป็นเรื่องระดับหลักความคิด ในสภาวะความหมกมุ่นจำเจอยู่กับเรื่องของเกมแพ้-ชนะ ใครได้-ใครเสีย ทั้งในส่วนของตัวแสดงและทางด้านของคนดูคนชม ตลอดจนสื่อมวลชน ชีวิตการเมืองไทย จึงได้แต่เวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ และในที่สุด ถดถอยลงไปเป็นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นในห้วงเผด็จการ หรือประชาธิปไตย ทั้ง “ครึ่งใบ” และ “เต็มใบ” เวลานี้

ในพฤติการณ์ที่เป็นจริง ก็คือว่า ภายในแต่ละฝ่ายหรือกลุ่มอำนาจ ต่างก็มีองค์ประกอบที่ลักลั่นขัดแย้งกันในทางแนวความคิด แต่ขณะเดียวกัน โดยหลักการกลับค่อนข้างลงรอยกันในระหว่างตัวบุคคลที่ถือกันว่าอยู่คนละฝักคนละฝ่ายกัน ดังที่จะขยายความต่อไป พฤติการณ์เช่นว่านี้ นำเรามาสู่ประเด็นหลักการ ประการที่สาม คือ เกณฑ์การวินิจฉัยปัญหาทิศทางพัฒนาการทางสังคมการเมืองว่า เราจะยึดถืออะไรเป็นหลัก

ในประเด็นข้อนี้ ผลงานวิเคราะห์เชิงสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ของ W. F. Wertheim ประมวลขึ้นเป็นหลักการเรียกว่า Emancipation Principle หรือที่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ใช้คำแปลว่า “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ดูจะเป็นหลักคิดทางวิชาการ ที่ให้ความกระจ่างเป็นอย่างดี ที่เราจะมองย้อนอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคตอย่างเที่ยงธรรมตามธรรมชาติความเป็นจริง กล่าวคือ เป็นหลักการอันแนบเนื่องอยู่ในสัญชาตญาณโดยธรรมชาติของมนุษย์เองทุกรูปทุกนาม ที่ย่อมจะต้องดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากทั้งพลังของธรรมชาติและอำนาจครอบงำของมนุษย์ด้วยกันเอง และทั้งหมดประกอบกันถือเป็นการพัฒนาก้าวหน้าของมนุษย์

กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะเป็น “หลักการ” ที่แนบเนื่องอยู่ในสัญชาตญาณ โดยธรรมชาติของมนุษย์ เป็นปรากฏการณ์สากล แต่ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ที่ว่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการอธิบายสะท้อนภาพพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงเสมอไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หากเป็นหลักการที่ใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยและประเมินเหตุการณ์และสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า จะเป็นความก้าวหน้า หรือชะงักงัน หรือว่าถดถอย[1] อย่างน้อยก็เป็นเครื่องแสดงว่า มนุษย์เราเองอาจทำตัวให้ถอยหลังเข้าคลองได้ในแง่ของ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ”

แม้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยตามกระแสโลกาภิวัตน์ พิเคราะห์ในแง่นี้แล้ว การจำแนกแบ่งกลุ่มตามกระแสแนวและหลักคิดออกเป็นกระแสความคิดก้าวหน้า และกระแสความคิดถดถอย จึงดูจะให้ความหมายดีกว่าแบ่งตามตัวบุคคลหรือสถานะสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับสาธารณชนคนไทยที่จะเข้ามีส่วนร่วมเรียนรู้ทางการเมืองในวงกว้างยิ่งๆ ขึ้นโดยลำดับ กระแสอนุรักษ์นิยม โดยคำจำกัดความ ก็คือ กระแสถดถอยนั่นเองในโลกของการพัฒนาเปลี่ยนแปลง

บนพื้นฐานของหลักการนำที่กล่าวมา กล่าวคือ คุณค่าความสำคัญของความคิด ปัญหาทิศทางพัฒนาการสังคมการเมือง และ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ที่ว่านี้ ที่ “ปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕” จะพึงได้รับการวิเคราะห์ประเมิน แต่ก่อนอื่น เราคงต้องย้อนอดีตไปก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย เพื่อความชัดเจนในเรื่องของปฏิวัติมิถุนายนเองด้วย

 

เหลียวหลัง

บนพื้นฐานเกณฑ์วินิจฉัยตาม “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ดังกล่าว ก็จะต้องเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในความตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีในแวดวงผู้นำระดับสูงสุด อย่างน้อยในช่วง ๕ ปีก่อนปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ ดังจะอนุมานได้จากที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และประธานสภากรรมการองคมนตรี ทรงแถลงในที่ประชุมสภากรรมการองคมนตรี เดือนเมษายน ๒๔๗๐ ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ liberal มาก ถึงแม้ทรงเห็นว่าบ้านเมืองชอบปกครองด้วยอาญาสิทธิ์ แต่ก็เป็นอาญาสิทธิ์ที่ liberal

…ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงศึกษาในต่างประเทศมาแล้ว ทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าการปกครองกรุงสยาม จะเป็นอย่างใดไม่ได้ดีแน่แล้ว นอกจากโดยรูป absolute monarchy...

ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๗) นี้ ทรงทราบแน่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัย liberal อย่างเอก ได้เคยทรงสนทนากันมาแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วในเรื่อง form of government ย่อมทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า รูปการปกครองอย่างที่ดีนั้นก็ คือ ที่สุดสำหรับบ้านเมืองโดยกาละ ถึงแม้ว่าในเวลานี้ยังจำเป็นต้องคงใช้รูปการปกครองโดยอาญาสิทธิ์ อาญาสิทธิ์นั้นก็จะต้องให้เป็นอย่าง Iiberal อย่างยิ่ง จึงจะทรงตัวอยู่ได้ แต่วันล่วงไปก็ยิ่งจะมีคนที่ได้การศึกษามีความรู้มากขึ้น จะต้องคิดการไว้เตรียมรับ emancipation ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยลำดับ[2]

ที่น่าทึ่งก็ตรงที่คำว่า Emancipation หรือ การปลดปล่อยสู่อิสระ ได้ปรากฏอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้นำระดับสูงภายใต้ระบอบเก่าเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ก่อนหน้าผลงานตีพิมพ์ดังกล่าวของ W. F. Wertheim สะท้อนให้เห็นถึงทัศนวิสัยที่สอดคล้องต่อกระแสความเป็นจริงของชีวิตสังคมการเมือง ทั้งข้อที่ทรงอ้างอิงถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็เป็นที่ยืนยันชัดเจนจากพระราชบันทึกถึงพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) เรื่อง Problems of Siam หลังขึ้นครองราชย์เพียง ๘ เดือนเศษ ดังนี้

สิ่งต่างๆ ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินยังเป็นที่เคารพและเกรงกลัวอยู่มาก แม้ว่าในตอนปลายรัชสมัย จะมีคนหนุ่มกลุ่มหนึ่ง เริ่มวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็มิได้เป็นไปอย่างเปิดเผย ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายไปมาก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ …

พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้าราชบริพารคนโปรด ข้าราชการทุกคนถูกเพ่งเล็ง บ้างมาก บ้างน้อย ในด้านฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือเล่นพรรคเล่นพวก ยังนับเป็นโชคที่พระบรมวงศานุวงศ์ยังเป็นที่เคารพยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์

สิ่งที่เป็นที่น่าเสียใจยิ่ง คือ ข้าราชสำนักของพระองค์เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง และในตอนปลายรัสมัยก็ถูกล้อเลียนเยาะเย้ย กำเนิดของหนังสือพิมพ์พรีเพรส ทำให้สถานการณ์ในขณะนั้นขยายตัวเลวร้ายขึ้น ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ระยะเวลาของระบบเอกาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที...[3]

ความตระหนักรับรู้ถึงวาระสิ้นสุดของ “ระบบเอกาธิปไตย” และความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องมีการริเริ่มพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยภาพและพลวัตทางความคิดสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงว่าในรัชกาลก่อนเพียงไม่ถึงสองปีก่อนหน้านั้น ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่ในระบอบ “absolute monarchy” ความฉับไวในการอ่านสถานการณ์อย่างรอบด้านทางเศรษฐกิจการเมืองและพระราชดำริดำเนินแผนพัฒนาประชาธิปไตยตลอดในช่วง ๖ ปีเศษก่อนปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการก่อตัวเติบใหญ่ของคณะราษฎรดังเป็นที่ทราบกัน

นับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนถึงกระแสความคิดพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องและคู่ขนานกันไป ทั้งด้านของผู้ครองอำนาจกับทางด้านของผู้อยู่ภายใต้อำนาจปกครอง โดยภูมิหลังตรงนี้เองกระมังที่ปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ จึงได้ชื่อว่า เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอันปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อของทั้งฝ่ายปฏิวัติและฝ่ายถูกปฏิวัติ และเหนือสิ่งอื่นใด เป็นภูมิหลังที่นำไปสู่การประสานปรองดองระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรภายใตัรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ประกอบกันเป็นการเปิดโอกาสช่องทางและความคาดหวังที่กระแสความคิดก้าวหน้าจะได้ก่อตัวเติบโตขึ้นสู่กระแสหลักเพื่อเป็นพลังผลักดันการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยไปในทิศทางของ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ในวงกว้างยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ

แต่ทว่า ทำไมถึงต้องมีปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ ในเมื่อเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทางฝ่ายผู้ครองอำนาจการปกครองมีความตั้งใจจริงจังที่จะทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางประชาธิปไตย ? เป็นคำถามที่ยกขึ้นมาในการสัมมนารายการหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวถึงข้างต้น คำตอบที่ได้ดูจะทุ่มเทไปในเรื่องสถานการณ์แวดล้อมใกลัๆ ตัวเสียมากกว่าอะไรอื่น ซึ่งก็ไม่ถึงกับผิดอะไร หากแต่จริงๆ แล้ว ปัจจัยเฉพาะหน้าเหล่านั้นคงเป็นเพียงปลายเหตุจากสมุฏฐานที่มาทั้งสองด้าน คือด้านหนึ่งจากกระแสการเรียกร้องต้องการเปลี่ยนแปลง หรือ “ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศ” ซึ่งก่อตัวขยายวงกว้างขวางและทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับตลอดช่วง ๕๐ ปี ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่เมื่อครั้ง “คำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน” ร.ศ. ๑๐๓ (พ.ศ. ๒๔๒๘) ถึง กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๕) แล้วจึงมาลงเอยที่ ปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ กับอีกด้านหนึ่ง ซึ่งสวนทางกัน

จากกระแสพลังภายในของกลุ่มผู้ครองอำนาจเองต่อต้านขัดขวางพระราชดำริพัฒนาประชาธิปไตย ข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เป็นที่เปิดเผยรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่เห็นสมควรนำมาบันทึกสรุปไว้ ณ ที่นี้ อย่างน้อยสองกรรมสองวาระด้วยกันในช่วง ๕ ปีก่อนปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ คือ : [4]

กรกฎาคม ๒๔๖๔ : ร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี.แซร์) เสนอหลักการให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน และในขณะเดียวกัน ยังคงสงวนพระราชอำนาจไว้เช่นเดิม แต่ข้อเสนอเปลี่ยนแปลงอย่างเบาบางที่สุดนี้ ก็ถูกอภิรัฐมนตรีคัดค้านเพียงด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เคยเป็นที่รู้จักกันมาก่อนในประเพณีการปกครองของไทย กับทั้งยังจะเป็นการกระทบกระเทือนและบั่นทอนพระราชอำนาจ

ตุลาคม ๒๔๗๔ : หลังเสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกา ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีระบบสภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท จากการแต่งตั้งและเลือกตั้งเพื่อพระราชทานแก่ประชาชน ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ อันเป็นวาระครบรอบ ๑๕๐ ปีแห่งราชวงศ์จักรี แต่ถูกคัดค้านจากปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาชาวอเมริกัน เพียงด้วยเหตุผล “ไม่เชื่อว่าความปรารถนาต้องการรูปการปกครองด้วยเสียงประชาชนจะมีอยู่แพร่หลายในหมู่ประชาชน” กับทั้ง “ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะมาบั่นทอนอำนาจของรัฐบาล”

สรุปรวมความ ก็คือ วิสัยทัศน์และพระราชดำริที่ก้าวหน้าเตรียมวางพื้นฐานรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต้องมีอันเป็นหมันไปด้วยพลังปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งจะมีบทบาทอิทธิพลสำคัญ ทำให้สังคมการเมืองไทยจำต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และถดถอย แล้วก็พลังกระแสปฏิกิริยาต่อต้านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้นี่เอง ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศและวัฒนธรรมทางการเมืองในแบบแผนที่ยึดถืออารมณ์ความริษยาเกลียดชัง และมุ่งร้ายหมายขวัญเอาตัวบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าเป็นที่ตั้งสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า “...สังคมไทย...เป็นที่ๆ ไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัย สำหรับอุดมคติและการเปลี่ยนแปลง”[5]

 

แลหน้า ๑ : กระแสแห่งความถดถอย

คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จะมีข้อให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กล่าวโทษอย่างไรก็ตามที แต่ในที่สุดด้วยภูมิหลังจากกระแสแนวคิดก้าวหน้าอันสอดคล้องต้องกันดังกล่าวแล้ว สังคมการเมืองไทยก็ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ นับเป็นผลสำเร็จของความรอมชอมอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสถาปนาระบบสภาผู้แทนใช้อำนาจนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท จากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง หรือว่าการให้มีบทเฉพาะกาลกำหนดขั้นตอนเตรียมวางพื้นฐานการศึกษาให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการใช้สิทธิเสียงในระบอบรัฐสภา[6]

ตลอดจนการกระจายอำนาจในรูปของระบบเทศบาลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นเป็นต้น ถ้าจะว่าไปแล้ว หลักการทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ได้ทรงพระราชดำริมาก่อนทั้งสิ้น ดังที่ได้ทราบกัน ทางด้านผู้นำคณะราษฎร ไม่ว่าจะได้มีความตั้งใจเช่นนั้นอยู่แล้วหรือไม่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นฝ่ายรับสนองพระราชดำริจนเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา แล้วยิ่งไปกว่านั้น ความรอมชอมยังไปไกลถึงขั้นมอบให้ตัวบุคคลจากทางด้านผู้ครองอำนาจเดิม คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นหัวหน้าจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดแรกของระบอบรัฐธรรมนูญไทย

เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่เช่นนี้ ย่อมจะต้องมีปัญหาขัดแย้งกระทบกระทั่ง โดยเฉพาะในทางความคิดระหว่างกระแสก้าวหน้าและกระแสปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิ (ยกเว้นผู้มีฐานันดรตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป) จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องอาศัยวุฒิภาวะความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เห็นการณ์ไกลและเอื้ออำนวยต่อโอกาสช่องทางสำหรับการประสานปรองดองอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานภายใต้รัฐธรรมนูญ

สำหรับกรณีการขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นเพียงผู้รับมอบหมายให้จัดทำร่างเสนอต่อคณะกรรมการที่หัวหน้าคณะรัฐบาลเองเป็นผู้แต่งตั้งให้เป็นผู้พิจาณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง แต่แล้วในชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึง ๔ เดือนของอายุรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม หัวหน้ารัฐบาลก็เลือกที่จะใช้อำนาจพลการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งก็มีความหมายเท่ากับเลิกล้มรัฐธรรมนูญและลบล้างผลความรอมซอมที่เพิ่งจะผ่านพ้นสดๆ ร้อนๆ มานั่นเอง

การหวนกลับเข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศคืนของคณะราษฎร ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ แม้จะไม่ต้องถึงกับเสียเลือดเนื้ออะไร แต่ยังผลเป็นการพลิกโฉมการเมืองไทย จากระบอบรัฐธรรมนูญอันอ่อนวัยที่กำลังถูกทดสอบไปสู่กระแสเผด็จการภายใต้การนำของพันโทหลวงพิบูลสงคราม ผู้เป็นแกนกำลังทหารในการก่อการยึดอำนาจครั้งที่สอง และทั้งเมื่อเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคมต่อมา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลเข้าทำการปราบปราม จากนั้นไป ชีวิตการเมืองไทยจึงเดินเข้าสู่วัฏจักรของการใช้กำลังความรุนแรงเป็นที่ตั้ง ว่ากันตั้งแต่ออก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ร.บ.ป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ การพิพากษาคดีกบฏของศาลพิเศษ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นรอยด่าง

อันเท่ากับเป็นการเริ่มต้นของจุดจบของ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” อันเป็นอุดมการณ์ของคณะราษฎรเอง จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม ๒๔๗๗ และภายในช่วงเวลาเพียง ๔ ปีเศษต่อมา พันโทหลวงพิบูลสงครามก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือนธันวาคม ๒๔๘๑ นำประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” เป็นอันสิ้นสุดของผลงานการรอมชอมและความพยายามทั้งปวงในการพัฒนาการเมืองของประเทศในทิศทางก้าวหน้าของ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ดังที่เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันมาตั้งแต่แรก

ถึงกระนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาเพียง ๖ ปีเศษ โอกาสช่องทางของการหวนกลับมาสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าก็ยังคงมีอีกเป็นคำรบสอง และมาคราวนี้เป็นโอกาสสุดท้าย เมื่อเผด็จการทหารของพันโทหลวงพิบูลสงคราม ผู้ไต่เต้าขึ้นสู่ยศจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างรวดเร็วต้องแพ้ภัยลัทธิทหารของตนเอง โดยนำประเทศชาติเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองกับฝ่ายอักษะ

ครั้นเมื่อฝ่ายอักษะต้องเพลี่ยงพล้ำลงจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสื่อมอำนาจลงไป เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองฝ่ายสภานิติบัญญัติสามารถโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงไปได้ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ นายควง อภัยวงศ์ หนึ่งในกลุ่มผู้นำคณะราษฎร ได้รับการสนับสนุนทั้งจากท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกลุ่มสมาชิกสภาฯ สายเสรีไทยให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงตอนนี้ บรรยากาศของการรอมชอมครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง จากการประสานงานร่วมมือกันกู้ชาติของขบวนการเสรีไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การอภัยโทษนักโทษการเมืองที่ต้องคำพิพากษาศาลพิเศษภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่กล่าวถึงข้างต้น การประกาศให้เจ้านายผู้ใหญ่ที่ถูกถอดให้กลับเข้าดำรงฐานันดรศักดิ์ตามเดิม ตลอดจนการถวายการอารักขาดูแลความปลอดภัยแก่บรรดาเจ้านายระหว่างภัยสงคราม และในที่สุดเมื่อสงครามสิ้นสุดลงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นการฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก จากระบบสภาเดียวมีสมาชิก ๒ ประเภท จากการแต่งตั้งและเลือกตั้งให้เป็นระบบสองสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แม้จะใช้วิธีการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน

ยังจะต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ นี้ นับเป็นการริเริ่มและความเห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้นำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ท่านปรีดี พนมยงด์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรารภถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีระหว่างสงคราม และมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีคนต่อๆ มาเป็นลำดับ จนถึงสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรึ จึงได้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้มีสมาชิกประเภทสอง โดยให้สภานิติบัญญัติมี ๒ สภา มาจากการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว และยกเลิกบทบัญญัติซึ่งให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง จากนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ และต่อมาบรรดาสมาชิกประเภทสอง รวมทั้งผู้ก่อการ ๒๔๗๕ มาร่วมหารือ จนในท้ายที่สุดได้ฉันทานุมัติ เห็นพ้องต้องกันในหลักการและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ[7]

เจตนารมณ์และความมุ่งมั่นพยายาม ที่จะให้เกิดการประสานปรองดองทางการเมืองในครั้งนั้น วิญญูชนทั้งหลายจะอนุมานเอาได้จากคำปราศรัยของท่านปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสองวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งเห็นสมควรนำมาถ่ายทอดกันเต็มๆ ให้ได้ภาพชัดแก่การเรียนรู้ ดังนี้

ในวาระที่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ จะได้สิ้นสุดลงในวันนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น คณะราษฎรพึ่งทราบเมื่อ ๖ วัน ภายหลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้มีพระกระแสรับสั่งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พร้อมทั้งข้าพเจ้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเจ้าพระยามหิธร ซึ่งเป็นราชเลขาธิการขณะนั้น เป็นผู้จดบันทึก

มีพระกระแสรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อได้ปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขณะนั้น ก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์ ในสุดท้ายเมื่อเสด็จกลับจากประพาสอเมริกา ได้ให้บุคคลหนึ่ง ซึ่งไปเฝ้าในวันนั้นพิจารณา บุคคลนั้นก็ถวายความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา และที่ปรึกษาก็กลับเห็นพ้องด้วยบุคคลนั้น คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อนการเปลี่ยนแปลงได้กระทำโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้ช่วงชิงดังที่มีผู้ปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างนั้น

ความจริงทั้งหลายปรากฏในบันทึกการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้นแล้ว ฉะนั้นเมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญพระองค์จึงพระราชทานด้วยดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทย ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี้ และบรรดาชาวไทยทั้งหลาย จงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทอดพระเกียรติของพระองค์ไว้ชั่วกาลปาวสาน

บัดนี้ผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และผู้ที่ได้ร่วมมือช่วยเหลือกันประกอบเป็นสมาชิกประเภท ๒ ก็จะสุดสิ้นสมาชิกภาพลงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า …

ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำโดยใจบริสุทธิ์ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยากันเป็นมูลฐาน...ความสามัคคีธรรม ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงจึงเป็นไปได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าต่างฝ่ายต่างสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมาย จะเป็นคนละแนว แต่ในอวสานเราก็พบกันได้…

ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการและปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม ...(อัน) เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ[8]

แต่แล้วในชั่วเวลาเพียงปีครึ่ง รัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ก็ต้องถูก “คณะทหาร” ทำการรัฐประหารล้มล้างไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล กรณีสวรรคต ร.๘ ถูกหยิบยกชูขึ้นเป็นชนวนการทำลายล้างทางการเมือง

ถึงจุดนี้ ข้อที่น่าสังเกตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ไม่ว่ารัฐประหารพฤศจิกายน ๒๔๙๐ จะเกิดจากการสมคบร่วมมือระหว่างผู้นำฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารหรือไม่ก็ตามที ดังที่ตั้งข้อสงสัยกัน ประเด็นข้ดแย้งเรื่องพระราชอำนาจ ซึ่งเคยถูกใช้อ้างเพื่อขัดขวางการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ครั้งก่อนปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อ้างอิงเป็นแรงจูงใจของการก่อรัฐประหารอีกวาระหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากคำแถลงในรัฐธรรมนูญ “ใต้ตุ่ม” ซึ่งประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการรัฐประหาร พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยอ้างเปรียบเทียบกับระบอบรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ว่า

โครงการเก่าร่างขึ้นเพื่อให้ราษฎรเลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม กำหนดให้อำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงเลือก การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็กำหนดให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์[9]

ส่วนทางด้านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายควง อภัยวงศ์ ก็ตอบสนองการมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างดี เพราะด้วย “รัฐบาลรู้สึกซาบซึ้งในเจตนาของคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน”[10] และดังเป็นที่ทราบกันแล้ว เพียง ๔ เดือนเศษต่อมา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูก

คณะรัฐประหาร “จี้” เชิญให้ลงจากอำนาจ จากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำอดีตคณะราษฎรอีกคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เสวยอำนาจอยู่ถึง ๑๐ ปี จึงถูกกำจัดเขี่ยตกเวทีประวัติศาสตร์ไป ความเป็นไปทางการเมืองทั้งหมดในช่วง ๑๐ ปีจากนั้น เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เล่าขานเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรให้มากไปกว่านี้

 

แลหน้า ๒ : วิกฤตหลักการสังคม

ปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์ล่วงเลยมาแล้วเป็นเวลาถึงเกือบ ๗ ทศวรรษ ทว่า จากที่ได้ลำดับเรื่องราวเป็นมาโดยย่นย่อ นับเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยความหมายความสำคัญยิ่งต่อความเข้าใจของสาธารณชนคนไทยในปัจจุบัน ในอันที่จะมองออกไปสู่อนาคตของตนเอง คำถามที่ตามมา ก็คือ เราได้เรียนรู้อะไรที่เป็นมรรคเป็นผลจริงๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของใครเป็นใคร ใครแพ้ใครชนะ ใครได้อะไร เสียอะไร แล้วเราก็เอาแต่ชื่นชมกับใครก็ได้ที่เป็นฝ่ายชนะ ได้อำนาจวาสนากันเหมือนเชียร์เกมแข่งขันหรือแทงโชคการพนันขันต่อ

จนดูเหมือนจะกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไปแล้ว เราต้องไม่ลืมว่า สังคมวัฒนธรรมไทยเรา ก็เฉกเช่นสังคมมนุษย์อื่นๆ ลัวนประกอบเป็นกระบวนการประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องยาวนาน ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม พฤติการณ์ของคนในสังคมทุกรุ่น ทุกระดับย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมและตัวเราผู้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเสมอ จะเรียกว่าเป็นกฎแห่งกรรมร่วมก็คงไม่ผิดนัก อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต จึงประกอบเป็นกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ประวัติศาสตร์จึงเป็นเสมือนกระบวนการของกฎแห่งกรรมร่วมของมวลมนุษย์เรานี่เอง

ด้วยเหตุนี้เอง การนำเสนอนี้จึงได้ย้ำมาตั้งแต่ตัน ถึงหลักการสามประการเพื่อการเรียนรู้อันสร้างสรรค์ต่อวิถีชีวิตของชนส่วนใหญ่ในสังคม นั่นก็คือ คุณค่าความสำคัญของความคิดเหนือเรื่องของตัวบุคคล ปัญหาทิศทางการพัฒนาสังคมการเมืองโดยรวม และหลักการปลดปล่อยสู่อิสระ ทั้งหมดเหล่านี้ ประกอบกันเป็นเกณฑ์วินิจฉัยและประเมินความถูกต้องชอบธรรมในการคิด การกระทำของคน และผลกระทบต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง

เราได้เห็นกันมาแล้วว่า สังคมการเมืองไทยเคยมีโอกาสช่องทางถึงสองครั้งสองคราที่จะเสริมสร้าง “สามัคคีธรรม” อันเป็นผลมาจากความพยายามรอมชอม เพื่อนำประเทศชาติไปในวิถีทางความก้าวหน้า แต่แล้วก็ต้องถูกสกัดขัดขวางจากพลังปฏิกิริยาเบี่ยงเบนออกไปในวิถีทางแห่งความถดถอยและตกต่ำ

ครั้งแรก ก็คือ การใช้อำนาจพลการปิดสภา เมษายน ๒๔๗๖ อันเป็นการเปิดโอกาสช่องทางให้พลังฝ่ายทหารก้าวขึ้นสู่ฐานะอำนาจการเมือง และสถาปนาระบอบเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งความล่มสลายของหลักอุดมการณ์คณะราษฎรในที่สุด

ครั้งที่สอง รัฐประหารพฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประกอบกับการแปรพักตร์ของผู้นำอดีตคณะราษฎรเอง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน บังเกิดผลนำไปสู่ระบอบเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คนเดิม แต่มาถึงตอนปลายกึ่งพุทธศตวรรษ คือช่วงปลายยุคจอมพล ป. ๒ นี้ กระแสโลกาภิวัตน์ หรืออีกนัยหนึ่ง การแผ่อำนาจครอบครองโลกของกลุ่มมหาอำนาจอุตสาหกรรม กำลังมุ่งหน้าเดินเป้าหมายอย่างแข็งขันที่จะผนวกเศรษฐกิจการเมืองไทยเข้าสู่ระบบตลาดและเศรษฐกิจการเมืองโลก ในนามของ “ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่” หรือ “ระเบียบโลกใหม่” นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งของชาติบ้านเมืองที่ต้องการวิสัยทัศน์ผู้นำและหลักการสังคมในอันที่ยืนหยัดในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลก

ยุคเผด็จการจอมพล ป. ๑ เคยนำเอาประเทศชาติเข้าไปเป็นเดิมพันสุ่มเสี่ยงในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว เพียงด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงของตนเอง หากแต่ยังได้อาศัยขบวนการเสรีไทย และวิสัยทัศน์ผู้นำที่ยืนหยัดในหลักการอิสรภาพ อธิปไตย และสันติภาพ สามารถกู้สถานการณ์ไว้ได้ ครั้นมาถึงภัยคุกคามจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือระเบียบโลกใหม่ วิสัยทัศน์และหลักการสังคมเช่นว่านี้ เป็นอันต้องอันตรธานสูญสิ้นไปจากผลของรัฐประหารพฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก่อให้เกิดช่องว่างทางความคิดและจิตวิญญาณสำนึกในคุณค่าแห่งอิสรภาพ อธิปไตยของชาติ และศักดิ์ศรีศักยภาพของปวงประชาชนคนไทยส่วนใหญ่

สิ่งที่เข้ามาแทนที่ไม่ได้เสนอคุณค่าอะไร นอกเหนือไปจากเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตนในวงแคบ ที่กลุ่มอำนาจและชนชั้นนำใหม่ จะพึ่งแสวงเก็บเกี่ยวมาได้จากการสมยอมให้ชีวิตเศรษฐกิจการเมืองของชาติเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับชี้นำและครอบงำจากมหาอำนาจภายนอก หลักวิชาการและนโยบายการพัฒนาเพื่อเร่งอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสาระ ก็คือ การพัฒนาแหล่งของการแสวงและเสริมสร้างฐานะอำนาจและความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มอำนาจและชนชั้นนำใหม่นั่นเอง

ในขณะเดียวกันกับที่ชนส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและชนบทต้องประสบกับความยากจนยากไร้ชุมชนล่มสลาย และฐานทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนชีวิตต้องเสื่อมโทรมและสูญเสียไป ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามเกณฑ์คุณค่าของชนชั้นนำใหม่และหลักวิชาการปัญญาชนยุคโลกาภิวัตน์

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ตลอดช่วง ๔ ทศวรรษเต็มๆ ของยุคพัฒนา เราจึงได้แต่คอยรับรู้รับฟังคำขวัญสำเร็จรูปต่างๆ ที่กำกับชี้นำมาจากแหล่งอำนาจและวิชาการอันแปลกแยกจากภายนอก ว่ากันตั้งแต่ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ของยุคเผด็จการทหาร “โชติช่วงชัชวาล” รวมทั้งตั้งสมญาประเทศชาติให้เป็น “บรรษัทรวมไทย” (Thailand Inc.) เที่ยวเร่ขายแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติราคาถูก เพื่อชักจูงระดมการลงทุนจากต่างชาติของยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ตามมาด้วย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” และ “เปิดเสรี” ของยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” จนถึงคาถาล่าสุด “สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ” ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน ตอนย่างเข้าทศวรรษ ๒๕๔๐ นี้ เป็นอันครบวงจรของวิถีทางการพัฒนา ซึ่งลงเอยด้วยการสูญเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจการเมือง ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในเวลานี้

ในความสูญเสียสำนึกอิสรภาพทางความคิดและภูมิปัญญาเช่นนี้ หรือว่าด้วยความละโมบมักใหญ่ใฝ่อำนาจของตนเอง กลุ่มอำนาจและชนชั้นนำใหม่จึงกลายเป็นชนชั้นนำประเภทนายหน้าที่ได้แต่คอยแอบอิงอาศัยอยู่กับหลักวิชาการประเภทนายหน้าไปโดยปริยาย และแปลกแยกออกไปจากฐานสังคมวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม

ในสภาวะความอับจนและแปลกแยกทางปัญญาความคิด และการสูญเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองเช่นนี้ คุณูปการของท่านปรีดี พนมยงค์ ย่อมจะปรากฏโดดเด่นขึ้นมา ทั้งในฐานะผู้นำทางความคิดในขบวนการปฏิวัติมิถุนายน ๒๔๗๕ และผู้มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางวิเทโศบายของประเทศระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นก็คือ หลักหกประการของคณะราษฎร และ การก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่มีการแสดงนิทรรศการสาธยายให้เห็นกันมาแล้วในวาระเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล ท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดกันในที่นี้ เพียงแต่เห็นสมควรย้ำถึงว่าหลักนโยบายทั้งสองด้านที่ว่านี้

ถ้าพิเคราะห์กันให้ดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องอยู่ในกระบวนความคิดเดียวกันและต่อเนื่องกันนั่นเอง กล่าวคือ เป็นเรื่องของเป้าหมายในการยกระดับฐานะมวลราษฎรของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมให้บรรลุสิทธิอธิปไตย อิสรภาพ และเสรีภาพ เสมอบ่าเสมอไหล่ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ

สำหรับนัยความสำคัญในด้านวิเทโศบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ อันเป็นปัญหาสลับซับซ้อนยุ่งยาก ต่างออกไปจากในยุคอาณานิคม เป็นเรื่องที่ยังจะต้องศึกษาคิดค้นหาความชัดเจนในเชิงปฏิบัติกันต่อไป จึงจะของดเว้นไม่พูดถึงในที่นี้

กล่าวโดยเฉพาะ ถึงหลักนโยบายการพัฒนาด้านต่างๆ ที่พูดถึงในหลักหกประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเป็นเอกราชทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองความปลอดภัยภายในประเทศ ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพของมวลราษฎร หรือว่าการให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม และทั้งหมดประกอบเป็นหลักการนำของสังคมที่เห็นได้ชัดเจนว่า ทรงคุณค่าความชอบธรรมอยู่เสมอ ในฐานะ “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” ในอันที่จะเสนอคำตอบเป็นทางเลือกให้หลุดพ้นจากสถานการณ์เสื่อมทรามทางสังคมภายได้กระแสความคิดอันถดถอย ไม่เฉพาะในยุคของระบอบเก่าก่อน ๒๔๗๕ เท่านั้น แม้แต่ในยุคพัฒนาปัจจุบันนี้ ก็ยังให้ความหมายอันควรค่าแก่การคิดค้นแสวงหาคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมตามกาลสมัย และเงื่อนปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยที่ตระหนักถึงความหมายความสำคัญต่อการเรียนรู้ปัญหาและอนาคตการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองโดยส่วนรวม จึงจำต้องขอแสดงข้อท้วงสิ่งที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะบุคคลสำคัญ ระดับอดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดพาดพิงไปถึงคณะราษฎร เมื่อราวสองสัปดาห์ที่แล้วมานี้เอง มีข้อความตอนหนึ่งว่า

....ทุกวันนี้ คนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ และศาสนา เป็นเรื่องถูกต้อง แต่พวกเราลืมประชาชน การลืมประชาชนไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่คณะราษฎร์อาจไม่ได้ตั้งใจ..”[11]

ที่จริง ความคิดก็ตรงกันที่ต่างเห็นคุณค่าความสำคัญของประชาชน ประเด็นอยู่ที่ว่า เราให้ความสำคัญของประชาชนด้วยหลักการอะไร จะเป็นด้วย “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” เพื่อที่ปวงราษฎรจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปสู่สิทธิเสรีภาพและเสมอภาค หรือว่าดีค่าของประชาชนเป็นเพียงฐานคะแนนนิยม และเพียงเพื่อสงวนรักษาสถานะเดิม ของตนเองเหนือประชาชน ซึ่งก็คือ โครงสร้างสัมพันธภาพทางอำนาจแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลความเป็นจริงก็คือว่า สำหรับคณะราษฎรแล้ว “หลักหกประการ” ซึ่งเชิดชูสิทธิเสรีภาพและเสมอภาคของประชาชน ถือเป็นหัวใจความชอบธรรมในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในประการสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เจตนารมณ์สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคก็ยังสอดคล้องอย่างชัดแจ้งกับปรากฏการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเรียกว่า “ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศ” หากแต่ถูกสกัดขัดขวางไว้ด้วยกระแสความคิดอันถดถอย แทนที่จะสมัครสมานร่วมกันผลักดันให้คุณค่าความสำคัญของประชาชนเกิดเป็นมรรคเป็นผลจริงจังขึ้นมา

พูดกันโดยเคร่งครัดแล้ว สถานะความเป็นคณะราษฎรจากแง่ของอุดมการณ์หลักหกประการเอง ก็เริ่มเสื่อมถอยลงไปเป็นลำดับ นับตั้งแต่ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ใช้อำนาจหัวหน้ารัฐบาล ทำการปิดสภาในเดือนเมษายน ๒๔๗๖ ซึ่งเปิดทางไปสู่เผด็จการทหารดังที่กล่าวมาในตอนต้น มาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งกำลังประสบกับสภาวการณ์แปลกแยกสับสนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การเรียนรู้ถึงปัจจัยความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเข้มงวดรัดกุม ปลอดจากอคติและมายาคติ นับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประเมินประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องตรงต่อดวามเป็นจริงและมองสู่อนาคตอย่างสร้างสรรค์ หาไม่แล้วชีวิตสังคมการเมืองไทยก็รังแต่จะเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร และเสื่อมทรามลงในที่สุด ดังที่กำลังส่อแววให้เห็นอยู่ในขณะนี้

 

ส่งท้าย

การเท้าความถึงคุณูปการของ ท่านปรีดี พนมยงค์ มิใช่เพียงเพื่อฟื้นอดีต และเชิดชูตัวบุคคล หรือว่านำมายึดถือเอาเป็นสูตรสำเร็จทางความคิดและการปฏิบัติ นั่นย่อมไม่ใช่เจตนารมณ์ของท่านปรีดี พนมยงค์อย่างแน่นอน

จุดประสงค์ของการนำเสนอนี้ ก็เนื่องด้วยปัญหาช่องว่างและสภาวะถดถอยทางความคิด และขาดหลักการนำที่สังคมการเมืองไทยจะพึงกำหนดวิถีชีวิตของตนเองอย่างอิสระเสรี เป็นธรรม และยั่งยืนในโลกของการพัฒนาเปลี่ยนแปลง หลักหกประการของคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ เสนอคำตอบในฐานะเป็นหลักการสังคมอันยึดถือหลักอธิปไตยของชาติ และสิทธิเสรีภาพเสมอภาคของประชาชนตามนัย แห่ง “หลักการปลดปล่อยสู่อิสระ” อันเป็นวิถีทางของความก้าวหน้า

หลักการสังคมที่ว่านี้ สามารถจุดประกายให้เกิดพลวัตพอที่จะเป็นคำตอบปัญหาคุกคามและท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งของช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ และช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ นี้ได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาห่างกันถึง ๗ ทศวรรษ เพราะเป็นปัญหาการคุกคามและท้าทายที่ต่อเนื่องในกระบวนการเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันในแง่ของยุคสมัยกาลเวลาเท่านั้นเอง กล่าวคือ เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณานิคมมาสู่ยุคพัฒนา “ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่” หรือ “ระเบียบโลกใหม่” อย่างที่เห็นๆ กันอยู่

อันที่จริง ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ถือว่าเป็นบุคคลชั้นนำคนแรกที่มีความคิดก้าวหน้า เล็งเห็นคุณค่าศักยภาพของมวลสามัญชนคนไทย ที่จะพึงมีสิทธิเสรีภาพและเสมอภาคในการมีส่วนร่วมกำหนดวิถีชีวิตความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๖ เราก็มี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เป็นนักการศึกษาคนเดียวในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ที่มองเห็นคุณค่าความสำคัญของการศึกษาในฐานะเป็นโอกาสช่องทางที่ “...เพื่อว่า เมื่อสถานะแห่งชาติ คือคนทั้งหมดได้เขยิบสูงขึ้นแล้ว ย่อมมีกำลังที่จะแข่งขันต่อสู้กับชาติอื่นๆ ได้ในทุกวิถีอาชีพ…”[12]

แม้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จะจำกัดความสนใจอยู่ที่เรื่องของการศึกษาโดยเฉพาะ แต่นัยความหมายต่อการสร้างจิตสำนึกตื่นตัวของมวลสามัญชนที่จะเข้าสู่ระบบ “การศึกษาสำหรับชาติ” ย่อมเป็นที่เห็นได้ไม่ยากนักจากประสบการณ์ที่เป็นมาทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ และตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๖ แนวความคิดและแผนการศึกษาเช่นว่านี้ จึงต้องประสบกับการต่อต้านและชะงักล้มเลิกไปในที่สุด

ความคิดก้าวหน้าของทั้งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และท่านปรีดี พนมยงค์ ต้องประสบความล้มเหลว ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ก็ประกอบกันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้ว คำตอบจริงๆ ที่วิถีความคิดก้าวหน้าจะเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาได้ ก็อยู่ที่ประชาชนนั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าชนส่วนใหญ่ของประเทศจะสร้างโอกาสให้กับตนเองเพื่อเรียนรู้ถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และศักยภาพปกครองตนเองหรือไม่ อย่างไรเท่านั้น

 

หมายเหตุ :

  • เนื้อหานำมาจาก ปาฐกถานำ การสัมมนาเรื่อง “แลไปข้างหน้า : ปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕”เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  • ปรับปรุงชื่อตอนโดยทีมบรรณาธิการ

บรรณานุกรม

  • เสน่ห์ จามริก, ปาฐกถานำเรื่อง เรียนรู้อะไรจาก “ปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕”?.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543, 1-25.

 


[1] W. F.  Wertheim, Evolution and Revolution : The Rising Wave of Emancipation,  (Penguin Books, Harmondsworth, ๑๙๗๔), ๓๕-๔๘.

[2] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ รล. ๖/๓ เอกสารส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7 เรื่องพระราชบัญญัติองคมนตรี (๑๑ เมษายน ๒๔๗๐)

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ สบ. ๒.๔๗/๓๒ เอกสารส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7 เล่ม ๓ บันทึกเรื่องการปกครอง (๒๓ กรกฎาคม-๑ สิงหาคม ๒๔๖๙) [พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว-ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เส้นใต้เน้นโดยผู้เขียนเอง]

[4] Benjamin A. Batson, The End of the Absolute Monarchy in Siam, (Oxford University Press, ๑๙๘๔). ๓๔-๔๑ , ๙๐-๙๒, ๑๔๘-๑๕๐.

[5] มติชน ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙

[6] “เมื่อไรเล่าจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนรูปการปกครอง ทรงพระราชดำริห์ว่าเมื่อไรประชาชนมีความรู้พอแก่การแล้ว จึงจะใช้ parliamentary system เป็นผลได้และก็คงจะต้องถึงเวลาอันสมควรเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งแน่นอน ในขณะรอเวลาที่จะมานั้น เราจะต้องคิดดูว่า จะรอให้ราษฎรเรียกเอาเอง ฤาจะชิงให้เสียก่อน ถ้าขัดไว้ช้าเกินไปแล้วต้องยอมให้ ไม่เหมาะและอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ว่ายอมให้เร็ว ไป ราษฎรยังไม่มีความรู้ ก็อาจไม่เป็นการเป็นงาน และอาจเป็นผลถึงจลาจลเหมือนดังเช่นได้เดยเห็นตัวอย่างในเมืองอื่นๆ การที่จะเก็งเวลาให้เหมาะว่า เมื่อใดจะพึงเปลี่ยนรูปการปกครองเป็น representative government นั้น เป็นการยากนักหนา ใครสามารถเก็งถูกก็ชื่อว่าเป็น Statesman อันวิเศษทีเดียว” สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ รล. ๖/๓ เอกสารส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7 เรื่องพระราชบัญญัติองคมนตรี (๑๑ เมษายน ๒๔๗๐)

[7] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่สอง (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐), ๑๔๓-๑๔๗, ๑๘๙-๑๙๑.

[8] เสน่ห์ จามริก (เชิงอรรถ 7) ๑๔๕-๑๔๗. [เส้นใต้เน้นโดยผู้เขียนเอง]

[9] เสน่ห์ จามริก (เชิงอรรถ 7) ๑๘๓.

[10] เสน่ห์ จามริก (เชิงอรรถ 7) ๑๕๓.

[11] อานันท์ ปันยารชุน, ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สื่อมวลชนกับธรรมาภิบาล” จัดโดย มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มติชน ๙ มิถุนายน ๒๕๔๓, ๒.

[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศธ ๔๒/๑๓ เอกสารส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 6 เรื่อง การประชุมอุปราชและสมุหเทศาภิบาล พ.ศ. ๒๔๖๒