ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ต.ม.ธ.ก. รุ่น 6 ปรีดี พนมยงค์ และการเมืองไทยในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2

11
กรกฎาคม
2567

Focus

  • 11 กรกฎาคม 2470 ครบวาระ 97 ปี ชาตกาล ศาสตรา​จารย์​เสน่ห์ จามริก เป็นนักวิชาการผู้วางรากฐานองค์ความรู้ด้านรัฐศาสตร์​คนสำคัญ​ และอดีตประธานกรรมการบริหาร​สถาบัน​ปรีดี​ พนมยงค์ ท่านแรกในระหว่างปี 2538​-2540 และรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับการเมืองไทยและนายปรีดี พนมยงค์คือ ท่านเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่ 6 โดยศาสตราจารย์เสน่ห์มีผลงานทางวิชาการสำคัญคือ งานแปลหนังสือ “ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน” (2510) ที่แปลจากงานของ เอ็ม เจ ฮาร์มอน (Mont Judd Harmon) และงานวิจัยหลัก อาทิ “ปัญหาและอนาคตการเมืองไทย” (2519) และ “การเมืองไทยกับการพัฒนารัฐธรรมนูญ” (2529) ที่วางแนวรัฐศาสตร์ศึกษาและเป็นตำราสำคัญ​ของสาขารัฐศาสตร์และผลงานสำคัญด้านวิชาการสำคัญคือ ปี 2509 ได้ก่อตั้งโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยท่านเป็นประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์คนแรก ในปี 2521
  • ผลงานในด้านพัฒนา​สังคมและการเมืองไล่เรียงตามลำดับช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ท่านได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และเป็นผู้เสนอให้มีการก่อตั้ง “สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ระหว่างปี 2523-2524 ท่านเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเป็นประธานคณะทำงานศึกษานโยบายพัฒนาชนบท ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ในปี 2527-2535 ยังเป็นกรรมการให้กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา และเป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยรวมทั้งในปี 2530 ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนาและดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ เรื่อยมาจนถึงปี 2550 หลังการรัฐประหารในปี 2549 ศาสตราจารย์เสน่ห์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สำคัญคือ ในปี 2538 ศาสตรา​จารย์​เสน่ห์​ จามริก ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสถาบัน​ปรีดี พนม​ยงค์​ ท่านแรก และเป็นรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
  • บทความนี้ของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก นำเสนอเรื่องราวของตนเองที่เข้าศึกษา ต.ม.ธ.ก. รุ่น 6 ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 และอัตชีวประวัติโดยละเอียด ซึ่งไม่เพียงชี้ให้เห็นเฉพาะเรื่องราวส่วนตัวเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นบริบททางการเมืองของยุคสมัยดังกล่าว เรื่องราวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมถึงมีการกล่าวถึงบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ในช่วงเวลานั้นอันเป็นข้อมูลอีกมุมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
 
 

 


ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก (11 กรกฎาคม 2470-9 เมษายน 2565)
อดีตประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ท่านแรก
ที่มา : เพจสวนครูองุ่น

 

วัยเด็ก

ผมเกิดที่อําเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แต่สมัยที่ครอบครัวผมอาศัยอยู่ที่นั่น ผมยังจําความไม่ได้ ชีวิตวัยเด็กในความทรงจําของผมอยู่ที่อําเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ บ้านผมประกอบ อาชีพค้าขายข้าว ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ลําบากนัก

เมื่ออายุได้สัก 4-5 ขวบ แม่ก็ให้ผมไปเล่นบ้าง เรียนบ้าง อยู่ที่บ้านของเพื่อนแม่ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ท่านชื่อ ครูทองหล่อ ท่านก็ดูแลเลี้ยงดูไปด้วยและสอนไปด้วยจนกระทั่งจบชั้นประถม 4 ถึงได้เอาไปฝากกับครูเข้าโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว

ผมได้เริ่มเรียนค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับเด็กในรุ่นเดียวกัน เมื่อเรียนจบประถม 4 ผมก็ ข้ามฟากไปโรงเรียนประจําอําเภอชุมแสง จนกระทั่งจบ ม. 6 ก็ย้ายไปเรียนที่จังหวัดนครสวรรค์ เรียกว่า โรงเรียนปากน้ำโพ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจําจังหวัดก็ย้ายไป

จุดเปลี่ยนเมื่ออายุได้ 14 ปี ผมก็ขึ้นชั้น ม. 5  แม่ผมป่วยหนักจนต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ศิริราช ตอนนั้นผมซึ่งกําลังจะขึ้น ม.5 จึงต้องตามขึ้นมาด้วยเพื่อดูแลแม่ และได้มาอยู่กับตาซึ่งมีแพอยู่บริเวณสะพานซังฮี้ ในระหว่างนั้นมีญาติข้างพ่อท่านหนึ่งได้มาเยี่ยมแม่และได้ให้ความเมตตากับผมมาก เมื่อแม่เสียไป แม้ผมจะยังอยู่กับตา แต่อาจเป็นเพราะตอนนั้นผมโหยหาความรัก ความอบอุ่นจากแม่ ผมจึงมักไปหาท่านที่บ้านที่ถนนลาดหญ้าทุกสัปดาห์ และในที่สุดผมจึงได้ย้ายไปอยู่กับอาผู้หญิงท่านนี้ ซึ่งนับเป็นบุคคลสําคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตผม ท่านชื่อ สว่าง โลพันธ์ศรี ส่วนอาผู้ชายชื่อ นิยม โลพันธ์ศรี ซึ่งทํางานเป็นเซลล์แมนขายเครื่องมือแพทย์อยู่ที่ห้างบีกริมของเยอรมันหน้าวังบูรพา

เวลาปิดเทอมผมจะนั่งรถไฟไปเยี่ยมพ่อที่ชุมแสงเลย จําได้ว่าวันที่กลับจะต้องตื่นตีห้า นั่งรถสามล้อไปหัวลําโพงเพื่อจะให้ทันรถเที่ยวหกโมง แต่ช่วงที่ติดสงครามก็ไม่ค่อยได้เดินทาง เพราะทางรถไฟโดนระเบิดที่นครสวรรค์ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนั่งรถไฟไปแล้วต้องลงเดิน เพราะรางรถไฟเสียหายจนรถไปต่อไม่ได้

ผมเรียน ม. 6 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ จนเรียนจบในปี 2484 ตอนนั้นยังไม่มีใครแนะนําเกี่ยวกับเรื่องเรียน พอเรียนจบ ม. 6 ก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อที่ไหนดี ตอนนั้นอาย้ายจากบ้านสวนไปอยู่แถววงเวียนใหญ่ (ซึ่งเป็นบ้านของผมไปจนกระทั่งผมไปเรียนต่อต่างประเทศ) ไม่ทันรู้ตัว

ผมก็เสียเวลาไป 1 ปี ปีนั้นเป็นปี 2485 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ที่สุด จําได้ว่าผมยังพายเรือจากบ้านไปเที่ยวแถวหน้าสภา

 

เข้าเตรียมฯ

แม้จะเข้ามาอยู่กรุงเทพฯได้ปีกว่าแล้ว แต่ผมเองก็ยังใหม่สําหรับวงการศึกษาในกรุงเทพฯ หลังจากที่เสียเวลาไปปีหนึ่งถึงได้ตัดสินใจเข้าเตรียมปริญญาของธรรมศาสตร์ คนรุ่นผมมีตัวเลือกไม่มาก และธรรมศาสตร์ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับผมที่สุด

ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนได้รู้จัก และได้เห็นอาจารย์ปรีดีเป็นครั้งแรกตอนเข้าแถว วันเปิดเรียนวันแรก แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดเพราะตึกเตรียมฯ อยู่หน้าคณะพาณิชย์ ส่วนอาจารย์ปรีดี จะออกมาให้โอวาทจากตึกโดม ซึ่งก็พอจะมองเห็นจากไกล ๆ ว่าท่านแต่งเสื้อครุยมหาวิทยาลัย เสียงท่านกังวานมีจังหวะจะโคนประทับใจผมมาก จนเดี๋ยวนี้ก็ยังนึกถึงเสียงนั้นได้ ผมเพิ่งจะมีโอกาส เข้าพบท่านอาจารย์ปรีดีก็ตอนที่เขาเชิญไปรัสเซีย ผมเลยถือโอกาสเลยไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดีที่ปารีส

ตอนสอบเข้าผมต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์ การได้เข้ามาเรียน ม.5 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธอาจมีส่วนช่วยในการปรับพื้นฐานให้เด็กต่างจังหวัดอย่างผม จนทําให้สอบได้ลําดับต้น ๆ จึงทําให้ได้อยู่ห้อง 1 จากนักเรียนทั้งหมด 20 ห้อง สมัยนั้นโรงเรียนเตรียมปริญญาของธรรมศาสตร์จัดนักเรียนเข้าห้องตามคะแนนที่สอบได้ ผมจึงมีเพื่อนเก่ง ๆ อยู่หลายคน

ในห้องเรียนของโรงเรียนเตรียมนั้นก็เหมือนกับโรงเรียนธรรมดา โต๊ะนักเรียนเป็นโต๊ะไม้เดี่ยว ๆ บางทีก็เอามาวางให้นั่งคู่กัน มีลิ้นชักข้างล่างไว้ใส่สมุดหนังสือประจําตัว โต๊ะใครโต๊ะมัน นั่งกันตามคะแนน พูดถึงโต๊ะเรียนแล้วนึกถึงสมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดราชบพิธริมคลองหลอด พอถึงวันสอบวันสุดท้าย นักเรียนวัดราชบพิธจะต้องเอาโต๊ะเรียนของตัวเองลงมาขูด และล้างในคลองหลอดเพราะมันเลอะหมึกเยอะเหลือเกิน

ในเรื่องการแต่งตัวไปโรงเรียน พวกผู้หญิงเขาจะแต่งเครื่องแบบเรียบ ๆ กระโปรงดําบ้าง กรมท่าบ้าง ใส่เสื้อขาวแล้วก็ติดตราธรรมศาสตร์ ส่วนพวกผู้ชายเราแต่งชุดยุวชนทหารทุกวัน

ตอนนั้นต้องไปฝึกยิงปงยิงปืนกันด้วย สมัยที่ยังอยู่ปากน้ําโพพอถึงวันชาติ (วันฉลองรัฐธรรมนูญ) เราต้องไปเดินขบวนสวนสนาม บางทีผมก็โดนแกล้งแบกปืนเดินคนเดียว ส่วนคนอื่นเดินเป็นแผง บ้านผมอยู่แถววงเวียนใหญ่ เวลาจะไปโรงเรียนก็นั่งรถเมล์ไปธรรมศาสตร์ แต่ก่อนก็มีรถไปลงเชิงสะพานพุทธ

ซึ่งจากตรงนั้นจะมีรถรางให้นั่งไปลงแถวท่าพระจันทร์ซึ่งสะดวกมาก เพราะรถไม่ติดขัด อย่างทุกวันนี้ สมัยที่อยู่แถวสามเสน (กับตาที่ซังฮี้) ก็มีรถราง ซึ่งสามารถนั่งมาลงที่บางลําพูจากนั้นก็ต่อรถเมล์ถึงวัดราชบพิธ

ผมยังประทับใจการเรียนเตรียมฯ ปี 1 ซึ่งเราต้องหัดเลคเชอร์กันตั้งแต่อายุเพิ่ง 15-16 ปี โรงเรียนเตรียมปริญญามีดีอยู่อย่าง คือ มีครูประจําชั้นที่ดีและให้ความสนิทสนมกับพวกเราเป็นอย่างมาก จําได้ว่าครูประจําชั้นของผมชื่อ ครูสมพิศ อายุเพียง 18 ปี เพิ่งจบ ธบ. มาใหม่ ๆ ท่านเรียนเก่งและต่อมาทํางานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อมาเข้าเตรียมปริญญาของธรรมศาสตร์ ผมก็เริ่มรู้สึก อาจจะเป็นเพราะว่าได้เห็นเพื่อนที่เรียนเก่งเป็นตัวอย่าง เพราะผมอยู่ในกลุ่มคนเก่ง ไม่ว่าในกลุ่มของ เราจะมีที่มาจากไหนก็ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจกัน มันเกิดความหมายของคําว่า เรียนโดยไม่รู้ตัว การเรียน ของเราเป็นไปอย่างอิสระมาก ตอนเรียนเตรียมยังมีการบ้าน (แต่พอมาเป็นนักศึกษานั้นไม่มีการบ้าน) เวลาทําก็ใช้ปากกาเขียน ทําเสร็จก็เอาสมุดการบ้านมาส่งครู แล้วเขาก็ให้คะแนนตามงานที่เราทํา สมุดงานของผมรู้สึกจะเป็นปกสีน้ําตาลซึ่งเป็นของโรงเรียนเตรียมเอง

แต่พอขึ้นปีสองอาจเป็นเพราะสงครามเลยไม่ได้สมุดคืนมาเลย ผมเก็บสมุดเลคเชอร์พวกนี้มาจนเป็นอาจารย์ให้ธรรมศาสตร์ แล้วก็มาโดนเผาตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพราะผมเก็บทุกอย่างไว้ในห้องพักอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์

การเรียนของโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่เราจะถูกกวดขันอย่างมากในวิชาภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่สําคัญคือ ครูแต่ละท่านที่มาสอนเป็นคนที่ได้ชื่อว่า เชี่ยวชาญในวิชานั้น ๆ ผมยังจําได้ว่า ชอบวิชาประวัติศาสตร์ที่สุด แค่วันแรกก็ได้เรียนเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสกันแล้ว ซึ่งสําหรับผมตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่และน่าทึ่งมาก

 

ประวัติศาสตร์บอกเล่า ต.ม.ธ.ก.

วิชาด้านภาษาของเราก็เข้มแข็งมาก ภาษาอังกฤษได้ครูบุญยืนซึ่งทํางานอยู่แบงค์ชาติ ผมประทับใจครูท่านนี้มาก เพราะเคยได้รับคําชมจากท่านตอนที่ท่านให้ออกไปอ่านงานหน้าชั้น พออ่านเสร็จท่านถามว่า ผมจบมาจากอัสสัมฯ หรือเปล่า ผมซึ่งจบโรงเรียนวัดถือว่านั่นคือ คําชมที่ดีที่สุดที่จะได้ในตอนนั้นแล้ว ส่วนภาษาฝรั่งเศสได้ครูซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวง การต่างประเทศ ครูของโรงเรียนเตรียมเราส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แทบทั้งนั้น

อีกอย่างหนึ่งที่เตรียมแปลกกว่าที่อื่นก็คือ เราได้เรียนวิชาที่ไม่มีใครรู้จักอย่างวิชาเทคโนโลยี แปลกกว่าที่อื่นก็คือ เราได้เรียนวิชายังจําได้ว่า ต้องเรียนเรื่องปล่องไฟ ปล่องควัน ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่เห็นว่า ผู้วางหลักสูตรท่านมีวิสัยทัศน์มองเห็นว่า ต่อไปข้างหน้าจะมีการพัฒนาไปอย่างไร นอกจากนั้นก็ยังมีวิชาดนตรีซึ่งเราได้เรียนกับบรมครูทางด้านดนตรีอย่างพระเจนดุริยางค์ ทําให้ได้รู้จักเสียงเพลงแลตัวโน้ตต่าง ๆ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ชักจะเลือน ๆ ไปหมดแล้ว รุ่นผมวิชาเรียนต่าง ๆ มันมีน้อยกว่ารุ่นอื่นอย่างวิชาภาษาละติน วิชาชวเลขก็ไม่ได้เรียนกันแล้ว

วิชาต่าง ๆ ที่ได้เรียนจากเตรียมฯนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ใช้งานจริงสักเท่าไหร่ แต่มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมบุคลิกทางความคิดของพวกเรามากกว่า มันจึงเป็นหลักสูตรที่ดี เพราะมันทําให้ เราสังเคราะห์เอาความรู้ที่ได้มาจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในชีวิตแตกต่างกันไปตัวผมค่อนข้างจะสนิทสนมครูทั้งหลาย เพราะทุกท่านให้ความเป็นกันเองกับพวกเราอย่างมาก ครูทั้งหลายก็ไม่ได้ดุเรามากมาย เพราะคล้ายกับว่าเราเองก็เริ่มที่จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว

สมัยที่ผมเรียนเตรียมฯ โรงอาหารของเราจะอยู่บริเวณคณะนิติศาสตร์ในปัจจุบัน ตรงข้ามตึกเตรียมฯที่ผมได้เรียน พอถึงเวลาพักเที่ยงจะมีเสียงออดเป็นสัญญาณโรงอาหารหลังคามุงจาก มองเห็นได้แต่ไกล ผมกับเพื่อนอีก 3-4 คนจะวิ่งแข่งกันว่า ใครจะไปเอาจานแรกที่โรงอาหารแข่งกันว่าใครเป็นที่ 1 เป็นประจําทุกวันเหมือนยังเป็นเด็กประถม

ผมได้สตางค์ไปโรงเรียนประมาณ 10-15 สตางค์ จ่ายค่ารถ 2-3 สตางค์ ที่เหลือก็เป็น ค่าอาหารซึ่งตอนนั้นราคาถูกมาก ร้านที่ถูกที่สุดขายเพียงจานละ 5 สตางค์เท่านั้น ตอนนั้นมีร้านอาหารประมาณ 10 กว่าร้าน แต่ที่ผมกินประจํามีแค่ 2-3 ร้าน จําได้ว่า มีร้านหนึ่งขายมันต้มน้ำตาลซึ่งผมกินเป็นประจําเมื่อกินข้าวเสร็จแล้ว พวกเราจะไปเล่นกันหลังตึกเตรียม เพราะตรงริมกําแพงมีต้นกล้วยและมะละกอขึ้นอยู่ซึ่งบางทีพวกเราก็ไปตัดแล้วเอามาเล่นขี่ม้าประสาเด็ก

 

ความหลากหลาย

การเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้นมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่อื่น ๆ ในทุกอย่าง ค่าเล่าเรียนก็ปีละ 20 บาท เท่านั้น ธรรมศาสตร์จึงได้ให้โอกาสทางการศึกษากับคนจํานวนมาก ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสนี้

สมัยนั้นจุฬาฯ ได้ชื่อว่าเป็นที่เรียนของคนฐานะดี ส่วนธรรมศาสตร์เป็นแหล่งรวมที่หลากหลายมาก ทั้งคนที่มีฐานะดีและคนที่มีฐานะยากจน ผมคิดว่าเพราะธรรมศาสตร์ต้อนรับคนทุกชั้นวรรณะ นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนมากระหว่างจุฬาฯ กับธรรมศาสตร์ เรามีเด็ก ต่างจังหวัดจากทุกภาคเรียนอยู่มาก แต่ที่ผมรู้จักสนิทสนมส่วนใหญ่จะมาจากภาคใต้ เพราะเขาอยู่ห้อง 1 ห้อง 2 แต่ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนหรือมีฐานะทางบ้านอย่างไร เราก็เล่นและเรียนร่วมกันอย่างเท่าเทียม

นักศึกษาเตรียมรุ่นผมจะสนิทกันมาก แม้จะต่างห้องกัน ในกลุ่มเพื่อนของผมก็มีความหลากหลายทั้งที่มาและฐานะบ้างก็เรียนเก่ง บ้างก็ร้องเพลงเก่งอย่างพจนา นาควัชระ พี่ชาย ดร. เจตนา นาควัชระ และ ม.ร.ว.ถนัดศรี แล้วก็ธีระ งามวัตร เพื่อนสนิทกันจริง ๆ ก็มีกฤช สมบัติศิริ ลูกพระยามไหสวรรย์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เสียไปแล้ว แล้วก็มีสมชาย สุสังกรกาญจน์ที่ตอนนี้ก็ค่อนข้างมีปัญหาเกี่ยวกับความจํา แล้วก็พจนา นาควัชระ เป็นเพื่อนสนิทที่ยังติดต่อกันอยู่กันจนทุกวันนี้ เขาอยู่เชียงใหม่ ผมยังเคยไปนอนกับเขาเลย สุขภาพยังแข็งแรงดี เขาเล่นไวโอลิน และร้องเพลงเก่ง สมัยเรียนเวลาหยุดพักเที่ยงเขาก็เอาไวโอลินออกมาเล่นให้เราฟังในห้องเรียน เพื่อน ๆ หลายคนก็ร้องเพลงเก่งก็มาจับกลุ่มกันมีถนัดศรีด้วย เพราะอยู่ห้องเดียวกันที่นั่งใกล้ผมนี่ หลังจากนั้นก็ไม่ได้เจอกันเลย

สมัยนั้นมีนักเรียนหญิงน้อยกว่าชาย ในแต่ละห้องซึ่งมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 40-50 คนนั้นจะมีนักเรียนหญิงไม่เกิน 10 คนเท่านั้น แต่เวลานั่งในห้องก็นั่งคละหญิงชายโดยเรียงตามลําดับคะแนน แต่ละคนจะมีที่นั่งประจําของตัวเอง เวลาว่างคนที่เก่งก็จะมาติวให้คนที่ไม่เก่ง บางคนจดเลคเชอร์เก่งมาก อย่างผมจําได้มีอยู่คนหนึ่งชื่อ ประสงค์ ซึ่งเป็นคนที่ลายมือสวยมาก เขาจะเป็นคนที่มานั่งคุยให้ฟังว่าครูสอนอะไรไปบ้าง

ที่จริงตอนสอบเข้า กฤช สมบัติศิริ ได้ที่ 1 ส่วน ประสงค์นั้นได้ที่ 2 แต่เรียนไป เรียนมา ประสงค์ก็ได้ที่ 1 ตลอด แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ให้ความสําคัญกับการเรียนเก่งของเขามาก ไปกว่าเรื่องที่เขาจดเลคเชอร์เก่ง

ก่อนเข้าโรงเรียนผมไม่รู้สึกว่า การเรียนหนังสือ คือเรื่องจริงจังแบบการทํางานเลย มันเหมือนไปเล่นมากกว่า แต่มาที่เตรียมธรรมศาสตร์ พูดได้เลยว่า เริ่มเห็นการเรียนหนังสือเป็นเรื่องสําคัญมากขึ้น เพราะที่นี่ผมได้พบได้คบกับคนเก่งมากมาย จึงได้รับอิทธิพลจากเขาอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตการเรียนหนังสือผมเลยก็ว่าได้ ผมได้เห็นอุปนิสัย การวางตัวที่แสดงให้เห็นว่า เวลาที่เขาเล่นก็เล่น เรียนก็เรียน แล้วเริ่มเห็นวิธีที่เขาท่องหนังสือ ทําให้ผมได้แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจทางการเรียนขึ้นมา

ตอนนั้นผมยังอยู่กับครอบครัวอาผู้หญิง-อาผู้ชาย ชีวิตผมได้รับความรักความเมตตาจากครอบครัวนี้อย่างมากที่สุด แล้วท่านก็ไม่ได้คอยมาชี้นําหรือบงการว่า ผมจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร มีแต่คอยสนับสนุนเท่านั้น เวลาเรียนก็ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ต้องออกไปหางานพิเศษทํา

นอกจากผมแล้ว อาทั้งสองยังอุปการะเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งลําบากมาเหมือนผม เราจึงนับถือเหมือนเป็นญาติกัน เขาก็เรียนกฎหมายอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เขาเป็นคนขยันมาก พอเช้าขึ้นก็ลุกมา ตักน้ำแล้วก็ท่องหนังสือ ผมก็ต้องลุกขึ้นมาอ่านหนังสือบ้างเหมือนโดนกดดันกลาย ๆ แต่มันก็ทําให้ ผมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น

 

กิจกรรม

ในเวลานั้นกิจกรรมยามว่างของเด็กวัยรุ่นไม่มีให้เลือกมากมายอย่างทุกวันนี้ ผมนั้นชอบอ่านหนังสือที่ชาวบ้านเรียกว่า หนังสือ “เริงรมย์” คืออ่านเล่น ๆ ไม่ได้จริงจังอะไร หนังสือที่ว่านี้ ก็คือ หนังสือนิยายของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ค่อนข้างป๊อบปูล่าในสมัยนั้น

นอกจากนั้นก็มีการไปดูหนังดูละครกันพอสมควร ซึ่งเมื่อก่อนมันก็มีอยู่ไม่กี่โรงหรอกครับ ก็มีเฉลิมกรุง ต่อมาก็มีเฉลิมไทยสร้างตามมาที่หลัง แล้วก็มีโรงหนังแถวหัวลําโพงอีกสักแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่ผมจะดูหนังฝรั่ง ไม่ค่อยได้ดูหนังไทย แต่ชอบดูละครไทยโดยเฉพาะละครแม่เลื่อน ซึ่งในสมัยนั้นต้องใช้ผู้หญิงเล่นทั้งหมด แม้จะเป็นบทผู้ชายก็ต้องเป็นผู้หญิงเล่น มีดาราละครอย่าง ฉลอง สิมะเสถียร และสวลี ผกาพันธุ์

หมดจากหนังสือ หนังและละคร ก็เห็นจะเป็นการไปเชียร์กีฬาที่สนามศุภฯ ทั้งรักบี้และฟุตบอล ซึ่งก็มีแข่งกันอยู่ไม่กี่ที่ ก็มีเรา จุฬาฯ นายร้อย และนายเรือเท่านั้น

งานฟุตบอลประเพณีในตอนนั้นคึกคักมาก ยังจําได้ว่า ครั้งแรกที่ไปงานนี้ ผมยังเป็นยุวชนฯ อยู่เลย สมัยนั้นพอถึงวันแข่งฟุตบอลประเพณี กลุ่มของผมจะมาถึงธรรมศาสตร์ตั้งแต่ก่อนไก่โห่ และจะหักดอกคูณสีเหลืองซึ่งมีอยู่ทั่วธรรมศาสตร์ และเดินถือช่อดอกคูณจากธรรมศาสตร์ไปถึงสนามกีฬา

สมัยนั้นยังไม่มีเชียร์ลีดเดอร์อะไร ต่างก็ร้องเพลงตามกันไป ทุกคนได้เนื้อร้องมาจาก การเรียนวิชาดนตรี เพลงที่ร้องก็มีเพลงเหลืองแดง และอีกไม่กี่เพลงซึ่งผมก็จําไม่ค่อยได้แล้ว พอการแข่งขันเสร็จสิ้นลง พวกเราก็จะเดินกลับมาฉลองชัยที่ธรรมศาสตร์ แล้วทุกครั้งจะมีข่าวตลอดว่า มีการมาต่อยกันที่วัดมหาธาตุฯ แต่ผมเองก็ไม่เคยเห็นกับตาสักที

น่าแปลกที่พอเราเป็นนักศึกษาแล้วก็ไม่ค่อยจะได้ทํากิจกรรม อาจเป็นเพราะทุกคนได้รับอิสระมาก ใครจะมาฟังเลคเชอร์ก็มาฟัง ใครจะไม่มาก็ไม่เป็นไร การจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เหมือนสมัยเตรียมนั้นค่อนข้างจะน้อยมาก หลังจากที่ห่างหายกันไปในช่วงสงคราม เมื่อกลับมาทุกคนก็ค่อนข้างเป็นปัจเจกแล้ว คนที่ทํากิจกรรมก็ทํา คนที่มุ่งแต่เรียนก็เรียน หรือบางคนก็ต้องทํางานไปด้วยเรียนไปด้วย

ผมได้เห็นคนทํากิจกรรมอย่างทุ่มเทมาก็คือ ในช่วงที่ผมอยู่สักปี 1 ซึ่งได้เห็น คุณอันดับ รองเดช และพวก สําแดงวีรกรรมในห้องเรียน เขาเป็น ต.ม.ธ.ก. รุ่นพี่ของผมสักปีสองปี วันนั้นผมนั่งอยู่ในห้องบรรยายของตึกบัญชีเก่า อยู่ ๆ คุณอันดับก็ขึ้นไฮด์ปาร์กแล้วก็กรีดเลือด ต่อหน้านักศึกษาจํานวนมาก พอคุณอันดับกรีดเสร็จ ก็พูดอะไรต่ออีกสักพักแล้วเพื่อนเขาชื่อคุณทวีป วรดิลก ซึ่งเคยได้ที่หนึ่งในการเขียนเรียงความของโรงเรียนขึ้นมาพูดด้วยอีกคน

 

สงครามเปลี่ยนนักศึกษาเตรียมปริญญาเป็นนักศึกษา มธก.

นักศึกษาเตรียมฯ รุ่น 6 รุ่นผมต้องเรียนกันในกระท่อมหลังคามุงจากหลังเดียวยาวพอ กับหอประชุมใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระท่อมนี้ในอดีต อาคารหลังคาจากหลังยาวนี้ถูกกั้นเป็นห้อง ๆ ให้พวกเราทั้งยี่สิบห้องพอจะนับได้ว่า มีห้องเรียนประจําของตัวเอง พอขึ้นปี 2 ถึงได้ขึ้นตึกเรียนกับเขาบ้าง ห้องที่ได้เรียนเดี๋ยวนี้ก็เป็นตึกบัญชีติดมุมถนนด้านวัดมหาธาตุ

ตอนนั้นสงครามโลกครั้งที่สอง ปะทุในยุโรปมาสักระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มจะลามมาถึง เอเชีย ญี่ปุ่นก็เริ่มดําเนินแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในช่วงแรกนี้ไทยยังไม่ได้ประกาศสงครามกับชาติไหน

ก่อนวันเปิดภาคเรียนไม่กี่วัน จอมพล ป. ก็ประกาศสงครามกับอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร ภาคเรียนแรกของชั้นปีที่ 2 เปิดการเรียนการสอนอยู่ได้สักสัปดาห์โรงเรียนก็ประกาศหยุดเรียนเพราะมีการทิ้งระเบิดหนักเหลือเกิน พวกเราที่กําลังดีใจว่าจิตใจห่อเหี่ยวกันอีกครั้ง

ผมจําได้ว่าระเบิดลูกแรกลงมาในเดือนธันวาคมพอดี ขณะนั้นกรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่ปลอดภัยอีกต่อไปที่วงเวียนเล็กนี่ มันทิ้งระเบิดกระทั่งกลางวันแสก ๆ เลย ทั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ตลาด โรงเรียน สวนกุหลาบ พวกนี้โดนหมด พอดีอามีญาติอยู่ที่รังสิต คลอง 6 จึงได้ย้ายไปอยู่ที่นั่นกัน ทั้งบ้านเลย ยกเว้นอาผู้ชายซึ่งต้องอยู่ทํางานทางนี้ สมัยนั้นต้องมีการปันส่วนทั้งยาและอาหาร ซึ่งค่อนข้างขาดแคลนมาก ดีที่อาผู้ชายรู้จักคนเยอะ เราจึงไม่ค่อยเดือดร้อนอะไรเท่าคนอื่น

ทางโรงเรียนก็เปลี่ยนวิธีเรียนโดยให้เราไปทําการบ้านมาส่ง ผมคิดว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทําให้ผมได้ฝึกการเขียนหนังสือไปในตัว เพราะฉะนั้นช่วงที่เรียนเตรียมปี 2 ก็เรียกได้ว่า ไม่ได้เรียน จริงจัง พอผ่านขึ้นไปถึงมหาวิทยาลัยยังต้องเรียนแบบรับชีต รับการบ้านแล้วก็เขียนไปส่งเหมือนกัน

ที่จริงสมัยที่ยังไม่มีสงครามเราก็เรียนกันโดยอาศัยชีตกันพอสมควรอยู่แล้ว เพราะอาจารย์ปรีดี เป็นผู้วางระบบการเรียนการสอนของธรรมศาสตร์ ดังนั้นเราจึงได้ยืมระบบชีตมาจากฝรั่งเศสด้วย เพราะท่านจบมาจากที่นั่น เมื่อเปิดเทอมเราลงเรียนวิชาไหนก็มาซื้อชีตของวิชานั้นไปอ่านแต่สมัยนั้นเราไม่ได้เรียกว่า ชีต แต่เรียกว่า “คําสอน”

นักศึกษาเตรียมรุ่นผมต้องเรียนชั้นปีที่ 2 ด้วย “คําสอน” เพียงอย่างเดียวจนจบชั้นเตรียมปริญญา พอถึงเวลาก็ต้องเข้ามาสอบกรุงเทพฯ แต่จําได้ว่า ขนาดผมที่อยู่แค่รังสิตก็ยังไม่ค่อยได้ เข้ามาในกรุงเทพฯ เลย มาเข้าอีกทีก็เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ซึ่งสงครามเริ่มสงบแล้ว แต่พอกลับเข้ามาเรียนก็เกือบจะเรียกว่าได้เพื่อนใหม่ทั้งหมดเลย เพราะเพื่อนร่วมรุ่นนั้นหายกันไปเยอะทีเดียว เหลือแต่พวกที่สนิทสนมกันเท่านั้นเอง อีกส่วนหนึ่งเขาก็แยกไปเข้าบัญชี ผมเรียนกฎหมายจึงไม่ค่อยได้พบกันอย่างแต่ก่อน

ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นที่พักของพวกเชลยฝรั่ง อังกฤษ เวลามาสอบหรือมารับ “คําสอน” พวกเราก็ยังมีโอกาสได้เห็นเชลยพวกนี้อยู่บ้างตามริมแม่น้ําเจ้าพระยา ชีวิตความเป็นอยู่ของเชลยพวกนี้ดูจะดีทีเดียว ไม่ได้รับการคุกคามอะไร เพราะผมคิดว่า อาจารย์ปรีดีปกป้องพวกนี้พอสมควร

 

ชีวิตนักศึกษา มธก.

อย่างที่บอกไปแล้วว่า นักศึกษามธก. นั้นมีอิสระสูงมาก ใครจะทําอะไร ไม่ทําอะไร ก็เป็นการตัดสินใจของตัวเอง คนที่เข้าไปฟังเลคเชอร์อย่างผมก็เริ่มรู้จักกับพวกอาจารย์ทั้งหลาย ผมประทับใจอาจารย์อยู่หลายท่าน หนึ่งในคนที่ผมประทับใจที่สุดก็คือ ท่านอาจารย์ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งสอนวิชากฎหมายปกครองที่ท่านเรียนมาจากฝรั่งเศส ตอนหลังเป็น 1 ใน 4 รัฐมนตรี ที่ถูกยิงทิ้ง เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เปลี่ยนจากการใส่กางเกงขาสั้นของชุดยุวชนทหาร มาเป็นกางเกงขายาว ของนักศึกษา ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะตอนนั้นผมไม่เคยรู้จักการนุ่งขายาว มาก่อนเลย เคยเห็นแต่นักศึกษาเขานุ่งกางเกงขายาวอยู่ไกล ๆ ซึ่งสมัยก่อนถือว่า โก้มาก ยิ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์จะต้องมีเสื้อนอกอีก

ธรรมศาสตร์ในเวลานั้นเปิดเรียนทั้งช่วงเช้าและบ่าย คนที่ต้องทํางานไปด้วยเรียนไปด้วย ก็ต้องจัดตารางเวลาตัวเองให้ดีว่าจะเรียนหรือจะทํางานตอนไหน ผมโชคดีที่ได้รับความเมตตาจากคุณอา จึงสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องไปเป็นเสมียนอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกันหลาย ๆ คน และเพราะสามารถทุ่มเทเวลาเรียนได้อย่างเต็มที่ ผมจึงเป็นคนเดียวในรุ่นที่จบตั้งแต่ 3 ปีครึ่ง ปัญหาก็คือ พอจบแล้วไม่รู้จะไปถ่ายรูปกับใคร สุดท้ายก็ต้องรอจนเพื่อน ๆ จบตามมาในเทอมสองถึงได้ถ่ายรูปด้วยกัน

 

ยุคฝ่ามรสุม: ธรรมศาสตร์ การเมือง และปรีดี พนมยงค์

ในรุ่นเป็นรุ่นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มากที่สุด ต้องเจอสงคราม ต้องเจอการปฏิวัติ เกิดมรสุม ทางการเมืองกับอาจารย์ปรีดี แต่พวกเราซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่นักศึกษาก็ได้แต่ติดตามเหตุการณ์ โดยไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เท่าไรนัก อย่างกรณีสวรรคตเราก็ได้แต่ไปนั่งข้างสนามหลวงเพื่อฟังเสียงเขาสอบสวนปากคําผู้ต้องหาซึ่งมีการกระจายเสียงออกมาจากในศาลทุกวัน

การกระจายเสียงในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่ช่วงแดดร่มลมตก หรือประมาณ 4 โมงเย็น ไปจนถึงมืดค่ํา ตอนนั้นมีคนมาฟังกันเยอะมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกเพศทุกอาชีพ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่สะเทือนหัวใจคนทั้งประเทศ พวกเราไปนั่งฟังอยู่หลายสัปดาห์ เนื้อหาที่ได้ยินยังจําได้ว่า เป็นเรื่องของหมอที่เข้าไปตรวจวิถีกระสุนเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็จับความ ไม่ค่อยได้ว่าอะไรเป็นอะไร ทุกคนที่มาพูดก็ไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไร เพียงแต่นั่งฟังกันเฉย ๆ พวกผมเองก็ไม่เคยมาคุยเรื่องนี้กันเลย ได้แต่ต่างคนต่างฟังแล้วก็คิดอะไรเป็นตัวของตัวเอง

เด็กวัยรุ่นสมัยที่ผมเป็นนักเรียนนั้น ก็คงจะเหมือนวัยรุ่นสมัยนี้ คือมีการชอบพอและคบหากันบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยสัก 4-5 คน แต่ก็จีบกันแบบเด็ก ๆ ที่ไม่รู้ประสีประสาอะไร ส่วนใหญ่เราก็เล่นกันกับเพื่อนผู้ชายด้วยกันมากกว่า กลุ่มของผมส่วนใหญ่ก็จะอยู่แถวสนามฟุตบอล และมุมหนึ่งของตึกเตรียมเพราะพวกเราอยู่แถว ๆ นั้นเป็นส่วนมาก สมัยก่อนในธรรมศาสตร์มีต้นคูณ เต็มไปหมด หลังตึกเตรียมมีต้นกล้วย ต้นมะละกอ ถ้าออกลูกขึ้นเมื่อไหร่ก็จะเสร็จทโมนอย่างพวกเราเสมอกับเด็กโรงเรียนอื่นเราก็ไม่ค่อยได้ไปสุงสิงด้วยเท่าไหร่

แต่รู้สึกว่า ตอนนั้นเราจะเป็นคู่แข่งกับโรงเรียนนายร้อย อาจจะเรื่องกีฬา อีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาเป็นทหารซึ่งมักจะเล่นงานอาจารย์ปรีดีของเราอยู่เรื่อย ส่วนโรงเรียนนายเรือนี่รู้สึกจะเป็นมิตรกัน อาจจะเป็นเพราะอยู่ไม่ไกลกัน ตอนที่อาจารย์ปรีดี มีเรื่องก็ได้ทหารเรือช่วย เราเลยรู้สึกกับพวกนี้ดีกว่า

ผมยังจําได้ว่า สมัยที่เกิดกบฏวังหลวง ผมเป็นนักศึกษาอยู่ประมาณปี 2 อาจารย์ปรีดี เอาทหารเรือเข้ามาก่อการ ตอนนั้นผมอยู่ที่ตลาดลาดหญ้าใกล้ ๆ วงเวียนใหญ่ เห็นทหารเรือกําลัง ถูกพวกทหารบกไล่จับ บางคนวิ่งเข้าไปในสวนที่ลาดหญ้า แต่ก็ยังโดนจับได้ ในใจลึก ๆ เราก็นึกเอาใจช่วยทหารเรือ และอาจารย์ปรีดีอยู่ตลอดเวลา เพราะเรารู้สึกผูกพันกับท่าน สมัยนั้น ครูบาอาจารย์ของเราก็โดนจับ โดนฆ่า อย่างกรณีของ 4 รัฐมนตรี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทําให้เรามีความรู้สึกค่อนข้างไม่ดีกับฝ่ายตรงข้ามซึ่งก็คือ รัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะเราเห็นว่ามันไม่ค่อยแฟร์ คดีต่าง ๆ มันก็คลุมเครือจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ผมคิดว่ามันก็เป็นจุดด่างของประวัติศาสตร์การเมืองเราอย่างหนึ่ง

 

ชีวิตการทํางาน

เมื่อเรียนจบ ผมก็ไปสอบเข้ากระทรวงพาณิชย์ แต่อยู่ไปก็รู้สึกยังไม่ใช่ความถนัดของตัวเอง เลยไปสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศและอยู่ประจําที่นั่นอยู่สัก 4-5 ปี ก็ได้เจอคนรุ่นเดียวกันหลายคน อย่างพจนาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันอยู่แล้ว ตอนนั้นผมพยายามสอบชิงทุนของกระทรวงการต่างประเทศแต่ไม่ได้ ไม่นานก็ได้ยินเรื่องที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เปิดสอบชิงทุน ผมจึงได้ ไปสอบแล้วก็ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ซึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะทุนของธรรมศาสตร์ให้อิสระมากกว่า ทุนของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถ้าได้ทุนก็ต้องมานั่งทํางานใช้ทุนอีกนาน

ตอนนั้นผมจําได้ว่า ดร.มาลัย หุวะนันท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสมัยนั้น ตั้งใจจะให้ ผมไปอเมริกา แต่เมื่อผมบอกว่าขอไปอังกฤษดีกว่า ท่านก็ใจดีให้ไปตามใจ แล้วยังบอกว่า ไปต่อปริญญาโทมาเลยนะ คือตอนนั้นผมอายุประมาณ 26 ปี ทีแรกอยากจะเข้าอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะภาษาอังกฤษสู้พวกที่เขาเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ได้

ผมต้องเสียเวลาเรียนภาษาอยู่เป็นปี ก่อนที่จะได้เข้าที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แล้วก็ต้องเริ่มเรียนปริญญาตรีใหม่หมดเลย ซึ่งมันก็ดีไปอย่างเพราะมันทําให้ผมได้เรียนประวัติศาสตร์เยอะมาก เขามีระบบติวเทอร์เรียลที่ดีมาก จึงทําให้ผมมีพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่แน่นมาก และทําให้เขียนหนังสือเป็นมากขึ้น ผมเรียนที่อังกฤษอยู่ 3 ปีก็เรียนจบ พอจะไปต่อฝรั่งเศสก็ถูกกระทรวงเรียกกลับเมืองไทย

ช่วงที่กลับมาทํางานที่กระทรวงการต่างประเทศนี้ ผมได้มีโอกาสไปสอนให้คณะรัฐศาสตร์ในวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอยู่หนึ่งเทอม ปีต่อมามีการปฏิวัติรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ท่านให้คุณถนัด คอมันตร์ (ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะใช่พี่น้องกับอาจารย์อาบ คอมันตร์ ผู้อํานวยการโรงเรียนเตรียมฯ เพราะอาจารย์อาบค่อนข้างคล้ํามาก แต่คุณถนัดนั้นตัวขาว) ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี และให้คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นเลขานุการรัฐมนตรี ตอนนั้นมีหนังสือขอตัวให้ผมไปสอนหนังสือที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมตัดสินใจอยู่พักหนึ่งและรับคําขอนั้น จากนั้นผมก็สอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ตลอดเวลาประมาณ 30 ปี หลังจากนั้น

ธรรมศาสตร์ยังให้ความรู้สึกอิสระเหมือนเดิม และผมก็สามารถจะพัฒนาสิ่งที่ผมอยากเรียนรู้ไปได้เท่าที่อยากทํา ผมสามารถมุ่งความสนใจไปทางเศรษฐกิจการเมืองและประวัติศาสตร์ จนในระยะต่อมาก็เริ่มสนใจเรื่องชุมชนท้องถิ่นชนบท ซึ่งไม่มีสอนไม่มีเรียน แล้วยังสามารถทําวิจัยในเรื่องที่สนใจเหล่านี้ได้ด้วย อาจจะโชคดีที่มีมูลนิธิเอเชียเขามาสนับสนุนเรื่องเงินทุน ยังจําได้ว่าชุมชนแรกที่ได้ลงไปสัมผัสคือ อ่างทอง ตอนนั้นพวกนักศึกษาก็ลงไปช่วยกันหาข้อมูล และทําให้ผมเริ่มสัมผัสกับชนบท แต่จากนั้นผมก็ต้องสอนอย่างเดียว จนตอนหลังถึงได้มาเป็นที่ปรึกษาของ สภาร่างรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน พอผมมาเป็นกรรมการสิทธิฯ ผมก็ทํางานต่อในเรื่องชุมชน และยังคงพยายามสานต่องานด้านนี้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่สถาบันไทยคดีศึกษา หรือเป็นกรรมการอยู่ที่ TDRI

 

ความผูกพันกับธรรมศาสตร์

ชีวิตผมผูกพันกับธรรมศาสตร์เรียกได้ว่า ตั้งแต่แม่เสียไปไม่นาน คือ เริ่มตั้งแต่ได้เข้า โรงเรียน ต.ม.ธ.ก. จากนั้นก็ได้เรียน มธก. ต่อมาก็ไปเรียนจบจากอังกฤษด้วยทุนของธรรมศาสตร์ จบมาแล้วทํางานในกระทรวงอยู่ได้ไม่เท่าไหร่ ผมก็เข้ามาเป็นอาจารย์ให้ธรรมศาสตร์ ทั้งหมดนี้ เป็นโชคชะตาของผมที่มีอันต้องมาพันผูกกับธรรมศาสตร์เรื่อยมา นักศึกษา ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๆ ผมเท่าที่ รู้จักเขาก็ปฏิบัติตัวดี ตอนนี้พวกเราก็เป็นประวัติศาสตร์กันหมดแล้ว การมาสัมภาษณ์พวกเรานี้ ผมก็พยายามรื้อความทรงจําเพื่อสร้างเป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่งให้ธรรมศาสตร์

ช่วงหลัง ๆ มานี้ผมไม่ค่อยได้เข้าไปในธรรมศาสตร์นานพอสมควรแล้ว เรียกว่าตั้งแต่ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 ผมก็เข้าไปน้อยครั้งเพราะรู้สึกไม่ค่อยสู้จะดีสักเท่าไหร่ พูดตรง ๆ ว่า ตอนนี้ผมไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของธรรมศาสตร์แล้ว อีกอย่างที่คณะก็ทําให้ผมผิดหวังเหมือนกันคือ ครั้งหนึ่งผมอยากทำสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย และพวกรอคกี้เฟลเลอร์ก็บอกว่า มีเงินทุนรออยู่แล้ว แต่คณะก็ปฏิเสธการตั้งสถาบันนี้ ผมก็เลยไม่ค่อยอยากจะเข้าไปเท่าไหร่

ผมอยากให้ผู้ที่จะเข้ามาบริหารการศึกษาของธรรมศาสตร์ตั้งโจทย์กับตัวเองให้มาก ให้มันเป็นพลวัต ให้มีการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม ที่สําคัญ คือ ต้องเปิดประตูให้สังคมเข้ามาวิจารณ์

ตอนนี้อุปสรรคมันติดอยู่ที่วิธีคิด บางทีพอเราเข้ามาเป็นครูอาจารย์แล้ว ก็มักจะมองหรือรู้สึกว่า เรารู้มากกว่าชาวบ้าน มองมุมด้อยของสังคมว่าเป็นปัญหา ผมคิดว่า ถ้ามีมุมด้อยในสังคมก็ต้องโทษมหาวิทยาลัยว่า ไม่สามารถผลิตคนให้ไปแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ งานวิจัยต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มักเป็นงานวิจัยที่ตายอยู่ในกรอบเท่านั้น เราต้องตั้งคําถามใหม่ว่า สิ่งที่ทําที่ศึกษาอยู่จะไปกระตุ้น ให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด

 

 

หมายเหตุ: 

  • ปรับปรุงชื่อหัวข้อย่อยบางส่วนโดยบรรณาธิการ

 

บรรณานุกรม 

  • เสน่ห์ จามริก, ต.ม.ธ.ก. รุ่น 6. ใน ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2, (พ.ศ. 2486-2490) (ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554)