ราว 5 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีกระบวนการร่างฯ เพื่อรักษาอำนาจให้แก่รัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหลัก แม้จะส่งผลให้เกิดบรรยากาศการเมืองแบบประชาธิปไตยมากขึ้นจากการมีการปกครองในระบบรัฐสภาและมีการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 แต่เพียงไม่นานก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาลตนเองของจอมพล ถนอม และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 แล้วประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ส่วนสาเหตุสำคัญของการรัฐประหารคือรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเมืองในระบบรัฐสภาได้โดยเฉพาะเมื่อถูกอภิปรายโจมตีนโยบายรัฐบาลของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มข้น[1]
หากช่วงเวลาสั้นๆ ที่การเมืองเปิดระหว่าง พ.ศ. 2511-2513 ได้มีการตื่นตัวทางประชาธิปไตย การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชนขึ้น เริ่มจากการตั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2511 การตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ของนิสิตนักศึกษา และก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2513[2] ส่วนการเมืองระหว่างประเทศก็มีบริบทการตื่นตัวทางปัญญาของนักศึกษาในฝรั่งเศสและยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2511[3] หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าเหตุการณ์ ‘May 1968’[4]
ในระยะนี้เองที่เรื่องราวของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้ต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมีการกล่าวถึงปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยไว้ในหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับพิเศษวันสถาปนามหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้อธิบายหรือให้รายละเอียดของบทบาทปรีดี เรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและไม่ปรากฏภาพของปรีดีภายในเล่มอีกด้วย
ทั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ปรีดีกลับมาได้รับความสนใจในสังคมไทย ช่วง พ.ศ. 2512-2513 ว่านอกจากเพราะการเมืองเปิดกว้างแล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกราว 3 ประการ ประการแรก มาจากการเขียนบทวิจารณ์ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประการที่สอง คือ กรณีที่ปรีดีย้ายจากจีนมาอยู่ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งมีความผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้น จึงได้พบปะกับนิสิตนักศึกษาและมีบุคคลสำคัญ มีลูกศิษย์มาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมทั้งได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถา ไปบรรยาย ให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ และยังเขียนหนังสือ ประกอบกับข้อหาคอมมิวนิสต์ที่มีต่อปรีดีคลี่คลายลง[5] ประการที่สาม คือ การฟ้องร้องเพื่อเรียกเงินบำนาญคืนของปรีดี[6] จนกระทั่งการตื่นขึ้นของปรีดีได้เดินทางมาสู่ขบวนการนักศึกษาไทยในแดนโดม
หนังสือต้องห้าม “ตื่นเถิดลูกโดม” : การตื่นขึ้นของปรีดี พนมยงค์ ในขบวนการนักศึกษาไทย
จากการก่อตัวของขบวนการนักศึกษาไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 และการก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2513 ส่งผลให้มีกิจกรรมทางภูมิปัญญาของนิสิตนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ที่สำคัญคือการจัดทำวารสารและหนังสือนักศึกษาหรือ “หนังสือเล่มละบาท” ขึ้น[7]
ธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาที่เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2511 เล่าถึงการจัดทำหนังสือเล่มละบาทว่ามีจุดเริ่มต้นแรกเพื่อหารายได้เข้าชมรมและกลุ่มต่างๆ ในเล่มมักจะมีเนื้อหาหลากหลายเน้นความคิดเห็นของนักศึกษาซึ่งยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองมากนัก โดยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นจะจำหน่ายหนังสือเล่มละบาทบริเวณด้านหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระจันทร์
ธัญญายังเป็นหนึ่งในผู้จัดทำหนังสือเล่มละบาท คือ หนังสือ ตื่นเถิดลูกโดม ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ สโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ธนา ดำรงมณี ขจิต ศิกษมัต และ สายัณห์ สุธรรมสมัย[8] ที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันรับน้องใหม่ พ.ศ. 2512 แต่ได้กลายเป็น “หนังสือต้องห้าม” เพราะมีเนื้อหาทางการเมืองและมีปกเป็นภาพของ ปรีดี พนมยงค์ ธัญญาเล่าถึงการจัดทำหนังสือเล่มนี้และสะท้อนภาพปรีดีในสังคมไทยยุคนั้นไว้ว่า
““ตื่นเถิดลูกโดม” ในทัศนะเรา เห็นเป็นหนังสือรับน้องธรรมดาแต่ที่พิเศษพอดีเพื่อนได้รับรูปใหม่ล่าสุดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ซึ่งลี้ภัยจากจีนไปอยู่ฝรั่งเศส เมื่อเราได้รูปมาก็นำรูปท่านขึ้นปกซ้อนกับรูปเก่าของท่านให้เห็นหน้าท่านทั้งอดีตและปัจจุบัน
เราไม่เอะใจว่าจะเป็นปัญหาทั้งๆ ที่พอจะรู้ว่าเมื่อใดที่เราพูดถึงท่านในวงสนทนาจะต้องใช้เสียงเบาแทบจะกระซิบพูดคุยกันในขณะนั้น”
หนังสือ ตื่นเถิดลูกโดม ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่เพราะนายกสโมสรฯ และกรรมการฯ ที่ลงมติฯ ไม่เห็นด้วยได้ไปแจ้งสันติบาลจนตำรวจให้ส่งตัวแทนของกรรมการสโมสรฯ ไปชี้แจงแล้วเกิดการโต้เถียงกันขึ้น ต่อมาพบว่าตำรวจในกองบัญชาการตำรวจสันติบาลได้ขีดเส้นแดงใต้บรรทัดของบทความในหนังสือโดยเฉพาะที่ปกรองหนังสือหน้าแรกซึ่งมีรูปรอยเท้าเต็มหน้ากระดาษพร้อมกับข้อความว่า “แด่ -ความเลว ทรามต่ำช้า ในผืนแผ่นดินแห่งนี้” ตำรวจมองว่าข้อความนี้ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาล ในที่สุดจึงขอซื้อหนังสือทั้งหมดทำให้ไม่ได้เผยแพร่ไปโดยปริยาย
เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้กลุ่มนักศึกษาที่เกิดความไม่พอใจต่อการกระทำของนายกสโมสรฯ ที่นำเรื่องไปแจ้งสันติบาล จึงได้ออกใบปลิวโจมตีสโมสรฯ และเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในจนรั่วไหลไปสู่วงนอก จนเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำไปเขียนวิจารณ์ไว้ในคอลัมน์หน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และลงข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ชาวไทย ก่อนที่เรื่องจะบานปลายมากไปกว่านี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดประชุมภายใน หรือประชุม “ลับ” ขึ้น และมีคำสั่งให้คณบดีทุกคณะเข้าประชุมพร้อมกับกลุ่มนักศึกษาที่มีปัญหาและคณะผู้จัดทำหนังสือ ตื่นเถิดลูกโดม เข้าร่วมชี้แจงโดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นเป็นองค์ประธานของการประชุมฯ[9]
บันทึกการประชุมลับกรณีหนังสือตื่นเถิดลูกโดม
ก่อนจะมีการประชุม “ลับ” นั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2513 ได้มีกลุ่มนักศึกษายื่นหนังสือเพื่อขอเปิดอภิปรายกรณีหนังสือตื่นเถิดลูกโดม ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แต่ด้วยหลายปัจจัยทำให้ต้องจัดเป็นการประชุมภายในเพื่อสอบถามคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2513 แทน
การประชุมลับครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมฝ่ายบริหารประกอบด้วย อธิการบดีฯ เป็นประธานในที่ประชุม รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ และคณบดี ส่วนฝ่ายนักศึกษาประกอบด้วยกรรมการสโมสรนักศึกษา คณะผู้จัดทำหนังสือตื่นเถิดลูกโดม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สโมสรนักศึกษา พ.ศ. 2513 กรรมการชมรมอิสระ กรรมการฝ่ายนักศึกษาประจำคณะต่างๆ ยกเว้นคณะศิลปศาสตร์ ในการประชุมชี้ให้เห็นข้อมูลเบื้องต้นของหนังสือตื่นเถิดลูกโดมว่าเป็นหนังสือที่ออกภาคการศึกษาละหนึ่งเล่ม โดยมี ธนา ดำรงมณี กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสโมสรฯ รับผิดชอบในการผลิตเป็นหลัก
การอภิปรายปัญหาเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่กรรมการสโมสรฯ ขอดูหนังสือตื่นเถิดลูกโดมฉบับร่าง แล้วแนะให้นำภาพปรีดีออกจากปกแต่ธนาไม่ยินยอมจึงส่งผลให้กรรมการสโมสรฯ มีมติห้ามเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ กระทั่งมีกรรมการสโมสรฯ ไปแจ้งต่อสถานีตำรวจปทุมวัน และยังขอร้องให้ผู้การสันติบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ให้แก่สโมสรฯ ทำให้ธนารับไม่ได้กับการที่สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขายหนังสือให้แก่สันติบาล
ขณะที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม[10] ขอให้ธนาชี้แจงว่าเพราะเหตุใดจึงนำสำนวนฟ้องคดีต่อหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และภาพของปรีดีมาติดไว้บนกระดานข่าวประชาสัมพันธ์ของสโมสรฯ ธนาอธิบายว่าเป็นการโฆษณาหนังสือให้นักศึกษาสนใจ เหตุการณ์นี้มีบทสรุปที่ส่อเค้าว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงตามมาก็คือมีผู้ทุบกระจกของกระดานข่าวฯ แล้วนำภาพปรีดี และข่าวการฟ้องคดีฯ ดังกล่าวออกไป
ต่อมากรรมการสโมสรฯ ได้ประชุมกันที่ห้องพักของศาสตราจารย์อดุล วิเชียรเจริญ และมีมติให้ปลดธนาออกจากสโมสรฯ เนื่องจากพบว่ายังมีการจัดพิมพ์ปกเป็นภาพของปรีดีและมีเนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะสม ซึ่งก่อนที่หนังสือจะถูกส่งมอบให้สันติบาล อาจารย์ชัย[11] ยังได้แจกจ่ายให้แก่อาจารย์ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ อาจารย์สังเวียน อินทรชัย อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
กรณีความขัดแย้งของหนังสือตื่นเถิดลูกโดมที่เผยแพร่เรื่องราวของปรีดี พนมยงค์ แสดงให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดต่อปรีดีในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นปรีดีเพิ่งจะกลับมาได้รับความสนใจ ดังปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้นและมีกรณีฟ้องร้องคดีของปรีดีต่อสื่อมวลชนผนวกรวมอีกปัจจัยซึ่งในกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังไม่ได้มองภาพลักษณ์ของปรีดีในแง่บวกอย่างเอกฉันท์เพราะฝ่ายกรรมการสโมสรฯ ที่นำเรื่องไปฟ้องสันติบาลนั้นมองว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์และคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เป็นพรรคพวกผู้รับใช้ปรีดี
การอภิปรายของนักศึกษาในการประชุมลับฯ เข้มข้นขึ้น เมื่อเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ กลุ่มสภาหน้าโดมอีกคนหนึ่งได้กล่าวโจมตีกรรมการสโมสรฯ เรื่องหลักการเสรีในการแสดงความคิดเห็นและสอบถามเรื่องเกณฑ์ในการวัดว่าหนังสือตื่นเถิดลูกโดมไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่นั้นคืออะไร ทางชัยรัตน์จึงตอบว่า
“การทำหนังสือในครั้งนี้คือการแสดงความคิดเห็นที่เกินขอบเขต เกินขอบเขตในการใช้ชื่อหนังสือสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสโมสรมิต้องการให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นไปทางการเมืองในคราบของนักศึกษา…”
การประชุมฯ ดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดโดยฝ่ายนักศึกษา คณะผู้จัดทำหนังสือมุ่งโจมตีไปที่ประเด็นความหวาดกลัวของสโมสรฯ เรื่องใครเป็นผู้นำความไปแจ้งแก่ตำรวจสันติบาลทั้งที่ได้มีการตกลงในที่ประชุมกรรมการสโมสรฯ แล้วว่าให้นำหนังสือมาเก็บไว้ที่ห้องสโมสรฯ ขณะที่จรัลตั้งคำถามต่อกรรมการสโมสรฯ ว่า ถ้าหนังสือเขียนสนับสนุนจอมพลถนอม กิตติขจร สโมสรฯ คงไม่คัดค้าน
ส่วนฝ่ายบริหารและกรรมการสโมสรฯ มองว่าคณะผู้จัดทำหนังสือของสโมสรฯ จะไปรับใช้นักการเมืองเป็นประเด็นหลักโดยมีเหตุผลสนับสนุนการโจมตีเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะภาพปรีดีที่นำมาทำเป็นปกหนังสือนั้นมาจากธัญญาซึ่งทำงานในหนังสือพิมพ์ที่มีไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน หัวหน้าพรรคแนวประชาธิปไตยเป็นเจ้าของ และเนื้อหาของหนังสือยังเสนอไปในเชิงสนับสนุนปรีดี[12] หลังการประชุมฯ ลับเสร็จสิ้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกคำประกาศว่า เรื่องปัญหาจัดทำหนังสือที่เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยจัดประชุมพิจารณาแล้ว ผู้ใดสนใจให้ติดต่อขอดูรายละเอียดได้ที่เลขาธิการมหาวิทยาลัยและเรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไปโดยไม่มีผู้ใดถูกภาคทัณฑ์[13]
จากข้อมูลใหม่กรณีการห้ามเผยแพร่หนังสือ ตื่นเถิดลูกโดม เล่มนี้แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมนักศึกษาภายหลังถูกกดปราบใต้ระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยมายาวนาน แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่ชี้ให้เห็นจุดตั้งต้นและการหวนคืนของปรีดี พนมยงค์ ในขบวนการนักศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการจัดทำหนังสือ ตื่นเถิดลูกโดม[14] ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ
ที่มาของภาพ : หนังสือไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกสารส่วนบุคคล ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ สบ.9.3.1./27 “ถ้อยคําถอดจากเทปบันทึกเสียงการอภิปรายซักถามคณะกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับ คณะผู้จัดทําหนังสือ “ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ส.ม.ธ. 2513” วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย” (2 ตุลาคม 2513) ใน ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์. (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559 ) : 108-141.
หนังสือพิมพ์ :
- ชาวไทย, 26 กันยายน 2513
- ชาวไทย, 29 กันยายน 2513
- ชาวไทย, 3 ตุลาคม 2513
หนังสือภาษาไทย :
- จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา, (กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2546)
- ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2552)
- ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลาคม 16 ใน บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่าน 13 กบฏ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2556)
- ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548)
- ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ประจักษ์การพิมพ์, 2518)
- พูนศุข พนมยงค์, ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2551)
- มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544)
- องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม รวมบทความ ปาฐกถา และข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516)
วิทยานิพนธ์ :
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516. อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
บทความในวารสาร :
- ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 108-141.
- ประจักษ์ ก้องกีรติ. 24 มิถุนาฯ ในขบวนการ 14 ตุลาฯ : การเมืองและอำนาจของประวัติศาสตร์. วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 2, ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2547) : 47-75.
- เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับปฏิวัติตุลาคม, วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม 2517) : 160-180.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. (14 พฤษภาคม 2563). “ผมเห็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่” ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล.
- เกษียร เตชะพีระ. (13 ตุลาคม 2563). จากปรีดีถึง 14 ตุลาฯ.
- ปรีดี พนมยงค์. (15 ตุลาคม 2563). บทเรียนจาก 2475 ถึง 2516.
- ปรีดี พนมยงค์. (14 ตุลาคม 2563). จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม.
- ปรีดี พนมยงค์. (16 กันยายน 2564). ทัศนะของนายปรีดีต่อการสถาปนาอำนาจเผด็จการ หลังรัฐประหาร 2490.
- เผด็จ ขำเลิศสกุล. (14 ตุลาคม 2564). 14 ตุลา 2516 : เปิดรายงานลับทูตอังกฤษว่าด้วย “การปฏิวัติเดือนตุลาคม”.
[1] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516. อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550. หน้า 396-489.
[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 42-134.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 304.
[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2552)
[5] มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), หน้า 291-293.
[6] ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 112.
[7] จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา, (กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2546), หน้า 22.
[8] ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 117.
[9] ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลาคม 16 ใน บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่าน 13 กบฏ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2556), หน้า 80-81.
[10] กลุ่มสภาหน้าโดมเป็นกลุ่มอิสระกลุ่มแรกๆ ที่นักศึกษารวมตัวกันทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมีกิจกรรมนักศึกษาที่ผิดแผกจากยุคสายลมแสงแดดก่อนหน้านี้ เช่น การจัดนิทรรศการการเมือง การล้อมวงสนทนาเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตรงสนามหญ้าหน้าตึกโดม การต่อต้านความฟุ่มเฟือยของการจัดงานฟุตบอลประเพณี เป็นต้น
[11] ไม่ระบุนามสกุล
[12] ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 115-121.
[13] ธัญญา ชุนชฎาธาร, บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลาคม 16 ใน บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่าน 13 กบฏ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2556), หน้า 82.
[14] ก่อนหน้านี้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาช่วง 14 ตุลา มักจะคุ้นเคยกับกรณีหนังสือคัมภีร์ ฉบับปฏิวัติที่จัดทำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกือบถูกต้องห้ามเผยแพร่เพราะมีหน้าปกเป็นรูปเลนิน เนื้อหาด้านในเป็นเรื่องการปฏิวัติรัสเซียและสงครามกองโจรของเหมาเจ๋อตุงโดยต้องฉีกรูปปกเลนินออกไปเพื่อให้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- เหตุการณ์ 14 ตุลา
- 14 ตุลา
- 14 ตุลาคม 2516
- วันมหาวิปโยค
- วันมหาปิติ
- ถนอม กิตติขจร
- May 1968
- ปรีดี พนมยงค์
- ผู้ประศาสน์การ
- พูนศุข พนมยงค์
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ธัญญา ชุนชฎาธาร
- หนังสือเล่มละบาท
- ตื่นเถิดลูกโดม
- สโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์
- ธนา ดำรงมณี
- ขจิต ศิกษมัต
- สายัณห์ สุธรรมสมัย
- หนังสือต้องห้าม
- หนังสือพิมพ์ชาวไทย
- คึกฤทธิ์ ปราโมช
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- จรัล ดิษฐาอภิชัย
- กลุ่มสภาหน้าโดม
- หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
- อดุล วิเชียรเจริญ
- สังเวียน อินทรชัย
- วิจิตร ลุลิตานนท์
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน
- ธเนศ วงศ์ยานนาวา
- ประจักษ์ ก้องกีรติ
- มรกต เจวจินดา
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
- ธนพงศ์ จิตต์สง่า
- เสน่ห์ จามริก
- กานต์ธีรา ภูริวิกรัย
- เกษียร เตชะพีระ
- เผด็จ ขำเลิศสกุล