สำหรับวันนี้ ผมมีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่เท่านั้น ประเด็นแรกอยากจะพูดว่า เราจะจดจำหรือว่าให้ความสำคัญกับวันที่ 10 ธันวาคมอย่างไร
ประเด็นที่ 2 ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในมุมมองของผม
และประเด็นที่ 3 แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญว่ามันสำคัญอย่างไรโดยเฉพาะเชื่อมโยงกับสังคมไทย
สิ่งที่ผมพูดอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจใครทุกท่าน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดและเสนอประเด็น
ใน ประเด็นแรก เราจะจดจำหรือให้ความสำคัญกับวันที่ 10 ธันวาคม อย่างไร ถ้าเราจะเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และเหตุการณ์วันที่ 10 ธันวาคม 2475 หลายคนพูดมาเยอะแล้ว แต่สำหรับผมกระแสในช่วง 20-30 ปีหลัง มีฉันทามติในหมู่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์การเมือง คือ มีการมองว่าเป็นการปฏิวัติ ทีนี้ถ้ามองว่าเป็นการปฏิวัติ ไล่มาตั้งแต่วันที่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คำถามคือ “เราจะจดจำประมาณไหน เป็นการปฏิวัติได้จริงหรือเปล่า?” สมัยนี้เขาบอกว่าเป็นการปฏิวัต ก็มีงานใหม่ๆ ออกมาท้าทายทั้ง 2 ด้าน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่จบ จนถึงตอนนี้ในวันที่ผมสอนหนังสือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ยังไม่จบ มันเป็นเรื่องที่มีเรื่องราวต่อมาเรื่อยๆ
ในมุมของผม น่าจะเรียกว่าเป็น “The Great Compromise” โดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญเอง ผมไม่เคยเชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ แต่ปัญหาคือ เราเชื่อว่าจะมีฉบับสมบูรณ์ พอเชื่อว่าจะมีฉบับสมบูรณ์ เราก็จะคิดแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ทั้งฝ่ายที่ต้องการแก้กลับ และฝ่ายที่ต้องการไปข้างหน้า
คำถามคือ “รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มีจริงไหม” หรือว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ ต่อรอง คำว่า “Compromise” แปลว่า มีข้อตกลงร่วมกันบางประการ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องสู้กันต่อไป ผมคิดว่ามันเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้กันต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะที่เราเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองด้วย
“The Great Compromise” แปลว่า การประนีประนอมอันยิ่งใหญ่ มีข้อตกลง แต่ว่าไม่ใช่ว่าเป็น Happy Ending หรือว่าเป็น Happily Ever After แต่คือจุดตั้งต้นการผจญภัยของสังคม แต่สิ่งที่ผมบอกก็คือว่า เป็น “Compromise” ที่ Contested เป็นการประนีประนอมซึ่งเต็มไปด้วยการปะทะ ต่อสู้ และต่อรองกันตลอดเวลา เราเห็นเหตุการณ์ไล่มาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 27 มิถุนายน 2475 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ ต่อมาคือ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้ได้นานที่สุด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
ภายหลังจาก 24 มิถุนายน 2475 มีตั้งแต่การยุบสภา หรือเป็นการรัฐประหารเงียบของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลังจากนั้นมีการเรียกอำนาจคืน บางคนมองว่าเป็นการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหเสนา หลังจากนั้นมีกบฏบวรเดช และปราบกบฏบวรเดช ทุกอย่างภายในหนึ่งปี
จนกระทั่งมาถึงการทำรัฐประหาร 2490 ซึ่งแต่เดิมก่อนปี 2549 ไม่มีการให้ความสำคัญกับรัฐประหาร 2490 มากนัก สมัยที่ผมเรียนหนังสือแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย ในตำรามีเรื่องรัฐประหาร 2490 น้อยมาก อาจจะมีวิทยานิพนธ์อยู่เล่มเดียวที่ถูกตีพิมพ์ แต่ปัจจุบันในการเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรียกได้ว่ารัฐประหาร 2490 กลายเป็นหมุดหมายใหญ่ของสังคม แทบจะเรียกว่ามากกว่ารัฐประหารปี 2500 ไปแล้ว นี่คือประเด็นที่ 1 คือ “Contested Compromise” เป็นอะไรที่ Settle หรือเป็นการลงหลักปักฐานแต่เต็มไปด้วยการต่อสู้และต่อรองกันโดยตลอด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก มันทำให้ชีวิตทางการเมืองแต่ละฝ่ายมี Mission ของตัวเอง
ประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผมยังเชื่อว่าเราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง ผมว่าเป็นอะไรที่เป็นความฝันมาก รัฐธรรมนูญจะมีการสู้กันไปสู้กันมาเป็นเรื่องปกติ มันอาจไม่ใช่วงจรอุบาทว์แต่เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายมีจุดยืน มี Mission ที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าทรัพยากรทางอำนาจไม่เท่ากัน
เรื่องที่ต้องระวังในคำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” คือคำว่า “ประชาชน” แทบจะเรียกว่ามากกว่าคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ด้วยซ้ำ ผมจะพูดถึงคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ทีหลัง แต่ผมจะพูดถึงคำว่า “ประชาชน” ก่อน
อย่าลืมว่าเผด็จการอ้างคำว่า “ประชาชน” แทบจะบ่อยกว่าหรือไม่แพ้กับประชาธิปไตย ไม่เคยมีเผด็จการใดที่ไม่อ้างประชาชน เผด็จการคือการปกครองที่อ้างประชาชนตลอดเวลา อ้างว่าทำเพื่อประชาชนได้ดีกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ถ้าเราหล่นไปอยู่ในกับดักเรื่องของคำว่า “ประชาชน” บางทีก็จะหล่นอยู่ในกับดักของเผด็จการได้ด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
เหตุผลที่ผมบอกว่าเรายังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงนั้น เรามีหลายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประชาชนเยอะ เงื่อนไขของผมคือ ทุกฉบับมีข้อจำกัดทั้งนั้น ไม่แปลกที่หลายคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนี้ก็คือคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มากที่สุดทั้งนั้น มีแต่นักการเมืองที่ Happy กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยนี้มีงานวิจัยหลายเล่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เยอะมาก ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย บางงานวิจัยถูกนำไปปรับใช้และวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่ก็เป็นในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ที่ต้องการให้ดีขึ้น ไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบรังเกียจ หรือว่าต้องการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีความลึกซึ้งขึ้น ขยายความกว้างขึ้น ไม่เคยมีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพราะสิ่งนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องการให้ไปได้ไกลกว่านั้น ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณของการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทุกคนอยากให้ไปไกลกว่านั้น ทุกคนมองว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ผมไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องการสร้างอนุสาวรีย์ เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว
รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ดีอย่างที่ อาจารย์เสน่ห์ จามริก พูดเอาไว้ว่า
“รัฐธรรมนูญสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ และการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเสมอ”
เวลาพูดถึงคำว่า “ประชาชน” ต้องตั้งหลักอย่างน้อย 2 ด้าน ด้านที่ 1 คือ “ประชาชน” ในฐานะผู้แสดงทางการเมืองหรือตัวกระทำทางการเมือง (Political Actor) สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ การที่ประชาชนจะลุกขึ้นต่อสู้ได้นั้น มีกระบวนการที่ยาวนาน ไม่ใช่ว่าประชาชนจะเป็นคนที่ออกมาสู้เพื่อตัวเองโดยอัตโนมัติ มีเหตุผลหลายร้อยแบบที่จะทำให้ประชาชนสู้และไม่สู้ในทางรัฐศาสตร์
โดยเฉพาะถ้าลึกซึ้งขึ้นไปอย่าง Game Theory ประชาชนที่ไม่สู้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่คิด เพียงแต่ว่าเขาคำนวณต้นทุน กำไร และประโยชน์ เขาคำนวณว่าเขาจะต้องลงทุนอีกเท่าไหร่ในการต่อสู้ และเขาจะสูญเสียอะไร ไม่มีหรอกที่บอกว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย” เขามีอะไรจะเสียเยอะ แต่หน้าที่ของการต่อสู้นั้น ไม่ใช่แค่การปลุกเร้าให้ประชาชนออกมาสู้ อีกสิ่งที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า การที่เขาออกมาสู้นั้นต้นทุนของเขาถูกลง การเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างมันทำให้ต้นทุนเขาถูกลง
แต่อีกสิ่งหนึ่ง ด้านที่ 2 คือนอกจาก “ประชาชน” จะเป็น “ประชาชน” ที่เราเข้าใจกันแล้ว มันยังมีประชาชนที่มองว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นแนวคิดกว้างๆ เป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิง “ทุกฝ่ายก็ทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น” เหมือนคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ชอบใช้กัน คือในฐานะ “การปกครองประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” คำนี้เป็นคำที่ทุกคนชอบพูด คำถามคือ ทุกคนตั้งคำถามกับคำคำนี้แค่ไหน เผด็จการคือพวกที่ชอบใช้คำนี้ไม่น้อย แต่เขาไปเน้นคำว่า “เพื่อประชาชน” ใครก็แล้วแต่ที่พูดว่า “เพื่อประชาชน” ต้องถูกตั้งข้อสงสัยทั้งนั้น โดยเฉพาะเผด็จการพูดคำนี้บ่อย ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญคือจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นการปกครองนั้น “ปกครองโดยประชาชน”
คำว่า “โดยประชาชน” เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตย ส่วน “เพื่อประชาชน” ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ ใครๆ ก็พูดทั้งนั้น ฉะนั้นโดยทั่วไปอุตสาหกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องประกอบด้วยนักการเมืองที่อ้างถึงความเป็นตัวแทนของประชาชน ต่อมาจะมีนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่อ้างว่ารู้ดีว่าประชาชนคิดอะไร ต้องการอะไร และส่วนที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เนติบริกร มีทั้งสองฝ่าย แต่ที่สำคัญคือว่าประชาชนเขาจะเข้าอกเข้าใจ จะรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของเขาจริงๆ ผมคงพูดไม่ได้ว่าเขาจะรู้ได้อย่างไร เพราะนี่เป็นการเดินทางไปเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ในช่วงหลังมีขบวนการ มีกลุ่มที่พยายามเป็นทางเลือกในการให้ความรู้กับประชาชนและรวบรวมประชาชนเข้าด้วยกันในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของเขาด้วย นอกเหนือจากนักการเมืองและนักวิชาการ เช่นกลุ่มอย่าง iLaw เป็นกลุ่มที่น่าสรรเสริญ เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใกล้ถึงคำว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมากขึ้น เราจะพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่ประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อผลักดันประเด็นได้ แม้กระทั่งจนถึงวันนี้
ดังนั้นสิ่งที่เราพูดคือยังไม่ง่าย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมันยังกลับไปสู่สิ่งที่พูดในตอนแรกแล้ว ทุกเรื่องเป็นการต่อสู้ ต่อรองกันทั้งสิ้น จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน และสิ่งที่เรียกว่า Agree to Disagree การยอมรับเพื่อที่จะเดินต่อไปภายใต้กฎกติกาที่เป็นที่ยอมรับ ในช่วง 20 ปีหลัง พอแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เรารู้สึกว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำให้ยากทั้งสองฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน
มาสู่ ประเด็นสุดท้าย คือ แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ในทางรัฐศาสตร์คงมีหลายฝ่ายพูดถึงเยอะ แต่ผมคิดว่าเรามีกับดักที่สำคัญในการร่ำเรียนในประเทศนี้ เพราะเรามักจะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมาย แต่ในหลักรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นกฎหมาย เพราะถ้าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย เราจะพบกับอุตสาหกรรมการเขียนและแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ มิติทางกฎหมายเป็นเพียงส่วนเดียวของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นคำที่กว้างกว่านั้น
สำหรับผม โดยตัวของรัฐธรรมนูญเอง ถ้าไม่ได้ใช้ทฤษฎีอำนาจสถาปนาของประชาชน รัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นสิ่งการันตีว่าจะมีประชาธิปไตย ประเทศที่หมกมุ่นกับรัฐธรรมนูญหลายประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่ใช้รัฐธรรมนูญกดหัวประชาชน บางประเทศเกิดปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตย ถึงขั้นใช้รัฐธรรมนูญจัดการทุกคนที่เห็นต่างก็มี ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังในสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่ามองรัฐธรรมนูญเป็นวัตถุหรือตัวบทอย่างเดียว
ในสมัย ร.ศ. 103 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และอีกหลายคนเขียนถึงรัชกาลที่ 5 ผมคิดว่าเราอาจจะต้องงดเลิกใช้คำว่ารัฐธรรมนูญก่อน แล้วก็ไปใช้คำว่า “Constitution” ในความหมายนั้นด้วยซ้ำ ทุกปีนิสิตในวิชาการเมืองไทยสมัยใหม่ของผม ตั้งหลักโดยการเริ่มอ่านหนังสือเล่มนั้น คำกราบบังคมทูลนั้นมีความสำคัญอย่างไร ความสำคัญของการกราบบังคมทูลนั้น มันไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของ “Settle” หรือ “การตั้งคำถาม” บางอย่าง การพยายามหาจุดลงตัวของการจำกัดอำนาจ ซึ่งเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าเราตั้งหลักของคำว่ารัฐธรรมนูญ โดยมองว่ารัฐธรรมนูญคือที่มาของทุกอำนาจ สิ่งที่ต้องระวังคือใครจะควบคุมสิ่งนี้ได้
แต่ถ้าอีกด้านหนึ่ง คืออย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อจำกัดอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อใช้คำว่า “Constitutional” เมื่อไหร่ แปลว่าการจำกัดอำนาจ และมันมีเงื่อนไขเสมอ ทุกคนบอกว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในประเทศเขาถ้าใช้คำว่า “Constitutional” เมื่อไหร่ มันแปลว่า “เดี๋ยวก่อน” “คุยกันก่อน” “ตกลงกันให้ได้ก่อน” สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประเพณีที่ท่องกันมาสมัยเรียนปริญญาตรี คือไม่มีใครหรอกที่จะสั่งได้ ทุกเรื่องต้องผ่านการตกลงกัน ไม่มีใครที่มีอำนาจสูงสุด ทุกคนนั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักการบางอย่างที่ตกลงกันมานานแล้ว ไม่มีใครอยู่ดีๆ ตั้งกฎ ตั้งเกณฑ์ ขึ้นมาได้เอง
ผมคิดว่า “Constitutional” มีความสำคัญ แต่ปัญหาของเราคือ ชอบพูดแต่ “Constitution” เราไม่ค่อยขยายความไปสู่ “Constitutional” และ “Constitutionalism” ซึ่งเป็นคำที่พยายามใช้ในปี 2540 ตอนหลังก็ลืมๆ กันไป ว่าเงื่อนไขของการมีองค์กรอิสระต่างๆ นั้น มีไว้เพื่อกำกับอำนาจกันไปมา ไม่ใช่มีไว้เพื่อเป็นองค์กรสูงสุด แต่เป็นองค์กรที่ทุกอย่างจะต้องวนกลับมาหาประชาชน เพราะว่าคำว่า “Constitutionalism” มันมีความหมายแบบนั้น ไม่ได้มีความหมายโดยตัวของมันเอง มันมีความหมายเมื่อใช้พูดถึง “การตกลงกัน” ว่าจะไม่มีใครมีอำนาจสูงสุดเหนือไปกว่าสถาบันอื่น แม้กระทั่งประชาชนเอง ประชาชนก็ใช้อำนาจผ่านสถาบันต่างๆ เหมือนกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องชวนคิดเฉยๆ
อย่าลืมว่า “Constitution” ที่มีการพูดถึงตั้งแต่คำกราบบังคมทูลเรื่อยมา ความใฝ่ฝันที่เราจะมี “Constitution” ที่ออกมาเป็นตัวกฎหมายให้ได้นั้น จนถึงปี 2475 มันไม่เคยสมบูรณ์แบบแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้วแม้กระทั่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เอง ก็เป็นอำนาจซึ่งแบ่งกัน ต่อให้สถาปนาอำนาจของประชาชนได้ ในตัวรัฐธรรมนูญ 2475 เองมันก็แบ่งกัน ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจ ใช้การคานกัน ส่วนหนึ่งก็คือไม่พออกพอใจกันว่าอำนาจที่มีมันไม่เพียงพอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
สองประเด็นสุดท้าย คือ ถ้าไล่เรียงในแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในความหมายของคำว่า “Constitutional” มันมีอคติเสมอ แม้กระทั่งตอนเปลี่ยนแปลงในตอนเขียนคำกราบบังคมทูลเอง “Constitution” ในความหมายนั้นยังไม่มีสภา หรือแม้กระทั่งเรามี “Constitution” ที่ออกมาเป็นกฎหมายแล้ว สภาแรกก็ยังไม่ใช่สภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์อยู่ดี มันมีข้อจำกัดเสมอเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นข้อจำกัดให้เราได้ท้าทาย ขยายความเป็นประชาธิปไตยให้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ อย่าลืมว่าในบริบทสังคมไทยนั้นไม่ได้เริ่มต้นขึ้นโดย Clean Slate (การเริ่มต้นใหม่) คือไม่ได้อยากจะเขียนอะไรก็เขียนขึ้นมาได้ การสถาปนารัฐธรรมนูญในสังคมไทยไม่เคยใช้ Track (ลู่ทาง) นี้เลย แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่เชื่อว่าเป็นการปฏิวัติ มันก็ไม่ใช่
สุดท้ายนี่เป็นการประนีประนอมกันในระดับหนึ่ง เป็นการตกลงกันที่ไม่ได้ตกลงกัน แต่ว่าจะควบคุมสิ่งนี้ไม่ให้ไปสู่ความรุนแรง หรือการใช้อำนาจอื่นได้อย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้น 2-3 ปีหลัง ขบวนการของคนรุ่นใหม่ เขากลับไปหารากเหง้าของคำว่า “Constitution” การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของเขา โดยเฉพาะการที่เขาถูกดำเนินคดีต่างๆ มากมาย มันคือการย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคำว่า “Constitutional” ทั้งนั้น ว่าคุณจะจำกัดอำนาจอย่างไร เขาไม่ได้ออกมาเพราะเขาอยากจะออกมาเฉยๆ แต่เขารู้สึกว่าในช่วงตั้งแต่ที่เขามีชีวิตทางการเมือง คือเริ่มรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมานั้น มีอำนาจบางอย่างที่เกินเลย เกินเลยจนกระทั่งที่เราจะต้อง Settle กับมัน เกินเลยจนเราจะต้องใช้คำว่า “Constitutional” เข้าไป มันต้องมีการจำกัดและตกลงซึ่งกันและกัน นี่คือความพยายามมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างที่สุด เขาไม่ได้เรียกร้องที่จะเขียนรัฐธรรมนูญอะไรก็ได้ เขาไม่ได้เรียกร้องเป็นประชาชนที่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น สิ่งที่เขาตั้งคำถามง่ายที่สุดคือว่า ทุกอย่างต้องมาตกลงกัน ต้องมา Settle กัน
ฉะนั้น ผมคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดเลย คือ ทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมากที่สุด ผมยังไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่เราจะพูดกันทุกครั้งว่าเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการพูดคุยกันอย่างเท่าๆ กันของทุกฝ่าย และหาทาง Settle ว่าอำนาจที่มีในสังคมมันจะแบ่งกันใช้และคานกันอย่างไร
รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ที่มา : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ “รัฐธรรมนูญในมุมมองรัฐศาสตร์” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์