ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐมนตรีปรีดี ตอบ ส.ส. เรื่องการสร้างสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะ

30
เมษายน
2565

“สวนลุมพินี” เกิดขึ้นในเมืองไทยโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่มสร้างขึ้นกลางทุ่งศาลาแดงด้วยอาณาบริเวณ 360 ไร่ มุ่งหมายจะให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงรองรับงานจัดแสดงสินค้าและมหรสพ “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ในปี พ.ศ. 2468  ทว่าโครงการสร้างสวนแห่งนี้มีอันหยุดชะงักลงทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จสิ้นดี  สืบเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

 

สวนลุมพินี ที่มา : silpa-mag.com
สวนลุมพินี
ที่มา : silpa-mag.com

 

ต้นทศวรรษ 2470 อันตรงกับสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการขอเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งทางทิศใต้ของ สวนลุมพินี ประมาณ 90 ไร่ จัดสร้างเป็น “สวนสนุก” โดย พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) เป็นผู้เริ่มริดำเนินการ ขณะเดียวกันในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงร่วมลงทุนด้วย มีกำหนดจะเปิดให้บริการในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2472

เป้าประสงค์สำคัญของกิจการสวนสนุก ก็เพื่อแสวงหาเงินรายได้มาใช้ดำเนินงาน ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี  โดยจัดเก็บค่าผ่านประตูจากผู้เข้าเที่ยวชมในพื้นที่สวนสนุกราคาคนละ 10 สตางค์ ซึ่งภายในนั้น จะเต็มไปด้วยร้านรวงจำหน่ายสินค้านานา การแสดงมหรสพเฉกเช่น ละคร ลิเก ระบำคาบาเรต์ ภาพยนตร์ มวย และงิ้ว อีกทั้งยังมีเครื่องเล่นเช่น ม้าหมุน กระเช้าสวรรค์ พร้อมทั้งกิจกรรมการละเล่นอื่นๆ สารพัน 

มิยกเว้นพวกการพนันต่างๆ ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมรายการพิเศษ จำพวกแข่งขันฟุตบอลและประชันมวยคู่เอก ทางสวนสนุกจะเก็บค่าผ่านประตูเพิ่มเติม หรืออย่างช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย (วันที่ 1-2 เมษายน) และเทศกาลขึ้นปีใหม่ฝรั่งของทุกปี พระยาคทาธรบดีฯ ผู้ดูแลสวนสนุกจะจัดให้มีการเล่นพนันจับสลากแจกรางวัลแก่ผู้มาร่วมงาน โดยต้องจ่ายค่าบัตรผ่านประตูเพิ่มเป็นราคาคนละ 25 สตางค์ 

แท้จริงแล้วการพนันถือว่าผิดกฎหมายบ้านเมือง หาก พระยาคทาธรบดีฯ พยายามยื่นเรื่องขออนุญาตจัดการเล่นพนันหลายหน จวบจนทางสมุหพระนครบาลยุคนั้นอนุโลมและอนุญาตให้ทางสวนสนุกจัดขึ้นได้เป็นกรณีพิเศษ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระยาคทาธรบดีฯ ยื่นเรื่องขออนุญาตจัดการเล่นพนันจับสลากต่อรัฐบาลคณะราษฎร แต่ไม่รับอนุญาต เพราะไม่ชอบด้วยนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งปรารถนากำจัดการเล่นพนัน แม้ พระยาคทาธรบดีฯ เอ่ยอ้างเหตุผลว่า ตนเองต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาบริเวณสวนลุมพินีทั้งหมด การจัดให้มีการเล่นพนันจึงจำเป็นยิ่ง แต่ทางรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยกลับลงความเห็นว่า เมื่อสวนสนุกหมดอายุสัญญาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 ควรจะให้เลิกกิจการไปเสียเลย และควรนำเอาพื้นที่สวนลุมพินีทั้งหมดมาสร้างเป็น “วนะสาธารณ์” สำหรับประชาชน ใครๆ ก็สามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู ซึ่งหมายความว่าทำเป็น “สวนสาธารณะ” นั่นเอง

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมีนาคม พ.ศ. 2477) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  

ครั้นต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) ซึ่งเริ่มต้นประชุมเวลา 15.45 น. ดำเนินการประชุมโดยรองประธานสภาคนที่ 1 คือ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) สมาชิกเข้าประชุมทั้งสิ้น 107 ราย ก่อนจะพักการประชุมและเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 17.30 น. โดยรองประธานสภาคนที่ 2 คือ พระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก) มาดำเนินการประชุมแทน เนื่องจากรองประธานสภาคนที่ 1 มีกิจธุระ 

ช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร) สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ซึ่งแม้จะมิใช่สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร แต่ก็เอาใจใส่เรื่องการสร้างสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะ จึงตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า

“...ข้าพเจ้าขอตั้งกะทู้ข้อต่อไป ทราบว่า เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้งกรรมการขึ้น ๗ นายเพื่อพิจารณาจัดสร้างสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อประชาชนจะได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนใจในเวลาที่ว่างงานภายหลังที่ได้ตรากตรำงานมาตลอดวันแล้ว และได้ให้ทุนไปหลายแสนบาท ขอทราบว่าคณะกรรมการของรัฐบาลนั้นได้จัดการไปแล้วเพียงใด เมื่อไรจะสามารถก่อตั้งขึ้นสำเร็จเป็นรูป ถ้ากรรมการคณะนั้นไม่สามารถที่จะดำเนินงานให้เป็นผลสำเร็จได้ ก็ควรที่จะจัดตั้งคนใหม่แทนเสีย เพื่อจะได้มองเห็นผลแห่งการนั้นในเวลาอันเร็ววันบ้าง จึงขอทราบว่าเมื่อไรสวนลุมพินีจึงจะเป็นสวนลุมพินีได้จริง ๆ ดังความมุ่งหวังของคณะรัฐมนตรี และพระราชประสงค์แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตอบ

“ในเรื่องที่จะให้จัดสร้างสวนลุมพินีขึ้นเป็นสวนสาธารณะนั้น เวลานี้กรรมการได้ออกแบบและกำลังดำเนินการก่อสร้างในบริเวณภายนอกเขตต์เช่าของสวนสนุก โดยได้ลงมือตบแต่งดัดแปลงคันตลิ่ง ดูคลองที่ชำรุดให้เรียบร้อยขึ้น และทํางานดินเพื่อที่จะสร้างสนามหญ้า สร้างรางระบายน้ำ เมื่องานเหล่านี้เสร็จโดยบริบูรณ์แล้ว ก็จะได้ลงมือซ่อมถนนสายใหญ่ๆ และลาดยางแอสฟัลต์ต่อไป และมีหวังอย่างมากว่างานเหล่านี้จะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. ๒๔๗๘  ส่วนการปลูกต้นไม้และพรรณไม้ต่างๆนั้นคงจะต้องกินเวลานานตามระยะต้องการแห่งความเจริญของต้นไม้และพรรณไม้ต่างๆที่จะเติบโตขึ้น”

สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ยังมิคลายสงสัย 

“ข้าพเจ้าขอทราบว่าเหตุใดจึงเพิ่งจัดการเมื่อเร็วๆนี้เอง เวลาผ่านพ้นมาตั้ง ๒ ปีแล้ว ดูเหมือนว่าไม่ได้จัดการอะไรเลย”

นายปรีดี จึงอธิบายเหตุผล 

“ท่านก็ย่อมทราบว่าข้าพเจ้าก็เพิ่งไปอยู่กระทรวงมหาดไทย ตอนก่อนนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถจะตอบท่านได้”

ท่าน ส.ส. กล่าว “พอใจแล้ว”

 

หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร)
หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร)

 

หลวงวรนิติปรีชา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของจังหวัดสกลนคร ได้รับตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของเมืองไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งอาศัยวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อม โดยประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด

พื้นเพของคุณหลวงเป็นชาวตำบลธาตุเชิงชุม ตัวเมืองสกลนคร บิดาคือ หลวงโชติภูมิภักดี (ทะ) (ต่อมาได้รั้งตำแหน่งนายอำเภอในมณฑลอุดรธานี) กับ นางทองคาย เคยศึกษาที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล พอจบชั้นมัธยมสามก็เข้ามาเรียนต่อ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์จนจบชั้นมัธยมหก จึงเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจนสำเร็จเนติบัณฑิตย์เมื่อปี พ.ศ. 2464 

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ หลวงวรนิติปรีชา เคยรับราชการศาลยุติธรรม เริ่มต้นจากตำแหน่งเสมียนประจำศาลฎีกา มาสู่ตำแหน่งฝึกหัดผู้พิพากษาศาลแพ่งและฝึกหัดผู้พิพากษาศาลโปริสภาตามลำดับ ช่วงปลายทศวรรษ 2460 เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลมณฑลพิษณุโลก ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนม และย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลอุดรปลายปี พ.ศ. 2469  จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “คุณหลวง” ปลายปี พ.ศ. 2471 กระทั่งลาออกจากราชการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 เพราะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของเมืองไทย

หลวงวรนิติปรีชา นับเป็น ส.ส. อีกคนที่มักอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมอย่างแข็งขันอยู่เนืองนิตย์ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในด้านต่างๆ

การกลายเป็นสวนสาธารณะของ สวนลุมพินี พลันก่อรูปร่างขึ้นชัดเจนอีกหนสมัยรัฐบาลคณะราษฎร หลังจากเคยเป็น “สวนสนุก” ที่ต้องจ่ายเงินค่าผ่านประตูมาเนิ่นนานกว่าสิบปี เริ่มด้วยนายช่างผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรเยี่ยง หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เข้ามาควบคุมดูแลเรื่องการปรับปรุงสวนในปี พ.ศ. 2478  กระทั่งต่อมา สวนลุมพินี ได้เป็นพื้นที่จัดงานต่างๆของรัฐบาล เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ก็คือบุคคลหนึ่งซึ่งร่วมแสดงบทบาทเช่นกันในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อเอื้ออำนวยให้ สวนลุมพินี ได้กลายเป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจสาธารณะสำหรับประชาชนจนถึงกาลปัจจุบันนี้ 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
  • ภาสวร สังข์ศร. สวนสนุก: การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพ ปี พ.ศ. 2470-2540. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ สามัญ พ.ศ. ๒๔๗๗. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2478
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519