ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview: ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล “เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียน”

13
ตุลาคม
2564

 

สวัสดีค่ะ มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตอนนี้เป็นนักศึกษาค่ะ เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา ความฝันของหนูเป็นฝันที่ธรรมดามากๆ ก็คงจะเหมือนกับทุกคนทั่วไป คือ เติบโตตามวันเวลา เรียนหนังสือ ประกอบอาชีพที่ตัวเองรักและถนัด เลี้ยงดูพ่อแม่ และมีครอบครัว จริงๆ เคยอยากเรียนสถาปัตย์ฯ ค่ะ เพราะเคยอยากเป็นสถาปนิก แต่สุดท้ายมาจบที่วิศวกรรมโยธา เพราะคุณพ่อทำธุรกิจก่อสร้าง เลยอยากเรียนในสาขาที่เรียนจบแล้วมาช่วยกิจการของครอบครัวได้ 

 

จุดเริ่มต้นกับคำว่า “การเมือง”

ย้อนกลับไปปี 2558 ครบรอบ 1 ปี รัฐประหารโดยคสช. สิ่งที่หนูเห็นและติดตามาจนทุกวันนี้ คือ ภาพข่าวที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มาทำกิจกรรมที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ พวกเขากำลังถูกเจ้าหน้าที่ฉุดกระชาก บางคนถูกอุ้มออกมา จึงเกิดการตั้งคำถามในใจขึ้นว่า ทำไมพวกเขาต้องถูกกระทำความรุนแรงขนาดนั้น ทั้งที่แค่ไปยืนคล้องแขนเพื่อที่จะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แค่นั้นเอง

หลังจากนั้นก็มีอีกมากมายหลายคำถามที่ไหลเข้ามาเรื่อยๆ ในหัว เราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย แล้วในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก เรามีสิทธิที่จะทำอะไรได้แค่ไหนกัน แค่ไปยืนมองเวลา แค่ไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยังทำไม่ได้เลยเหรอ มันเลยทำให้เราเริ่มสนใจ แล้วก็เริ่มทำความเข้าใจมากขึ้นว่า การเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร? สภาพสังคมเป็นอย่างไร? และทั้งหมดที่ว่ามานั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเรา?

จากจุดนั้นก็เลยเริ่มสนใจการเมืองมาเรื่อยๆ เริ่มติดตามว่าบ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์อะไรอย่างไรบ้าง เริ่มต้นก่อนเลยก็คือ รัฐประหารคืออะไร เขาเข้ามาได้อย่างไร เขาเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เราเสียอะไรไปบ้างจากการที่เขาเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเรื่องหลักอย่างหนึ่งเลยที่ทำให้หนูเข้าใจมากขึ้นก็คือเรื่องของ “เศรษฐกิจ” 

 

ภาพใหญ่ของประชาธิปไตย คือ เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก ในทุกครั้งที่มีการก่อการรัฐประหาร

ในทุกครั้งที่มีการก่อการรัฐประหาร เศรษฐกิจบ้านเราจะชะงักตัวในทุกๆ ครั้ง และเมื่อชะงักตัวแล้ว ถ้าหากว่ารัฐบาล หรือ ผู้ที่มีอำนาจในยุคนั้นๆ ไม่ได้ทำการพยุงเศรษฐกิจให้ดีพอ หรือว่าพยุงไว้ไม่ให้ตกต่ำไปกว่าเดิม ทุกอย่างก็จะดิ่งลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมันดิ่งลงไปเรื่อยๆ สภาพเศรษฐกิจก็จะยิ่งพังลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

คนที่ได้รับผลกระทบก่อน คือ คนตัวเล็กตัวน้อย พี่น้องชาวรากหญ้า ถัดมาก็จะเป็นคนระดับชนชั้นล่างขึ้นมากลางคน คนหาเช้ากินค่ำเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องพูดตรงๆ ว่าทางบ้านหนูได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

พอเกิดการรัฐประหาร เราไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ป๊าเคยทำ มีผลกระทบก็คืองานเริ่มน้อยลง แม่เปิดร้านขายของ ขายเครื่องสำอาง ขายอาหารเสริม ต้องเริ่มเปลี่ยนธุรกิจ เพราะลูกค้าที่สั่งของมาเป็นประจำเริ่มยกเลิกออเดอร์

ส่วนหนึ่งเลยคือเขาไม่มีเงินมากพอที่จะมาจับจ่ายใช้สอยในของฟุ่มเฟือยแบบนี้ เมื่อมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เขาเคยมีถ้าไม่จำเป็น เขาก็ต้องตัดออก ซึ่งมันกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจริงๆ แล้วก็ทำให้เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วความเดือดร้อนของเรา ความลำบากของประชาชนในจังหวะนั้นๆ หรือของเราในช่วงจังหวะนั้นๆ มันไม่ใช่เป็นเพราะว่าพ่อแม่เราไม่ขยันทำงาน แต่มันเป็นเพราะว่าสภาพสังคมที่เป็นแบบนี้ ไม่เอื้อให้ประชาชนได้มีปัจจัยมากพอในการดำรงชีวิตต่อ

 

ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

 

"หนูมองภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตย" เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องรัฐสวัสดิการ ส่วนหนึ่งเพราะหนูเคยอ่าน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของอาจารย์ปรีดี ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้นกับแนวความคิดที่ก้าวหน้า และใหม่ขนาดนี้ บอกได้คำเดียวเลยว่าว้าวมาก!

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อเราศึกษา เรามีความรู้สึกว่า นี่คือคำจำกัดความทั้งหมด คือ ที่มาของการต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือหลักการข้อสามที่อยู่ในประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ว่า “รัฐบาลต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร” ซึ่งมันควรจะต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ

"เค้าโครงเศรษฐกิจฯ" เป็นรากฐานสำคัญ และหนูมองว่าเป็นรากฐานสำคัญของรัฐสวัสดิการ เป็นพื้นฐานของประชาชน การบำรุงความสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร ถ้าแปลเป็นคำในปัจจุบันนะ.. ก็คือหนูลองบัญญัติ.. ลองคิดดูว่า ถ้าเป็นคำในปัจจุบันมันคืออะไร หนูมองว่ามันคือ การสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ให้กับคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ใช่แค่การหยิบยื่นงานให้ หรือไม่ใช่การเรียกเก็บภาษีหรือแค่นั้น แต่มันคือการสร้างหลักประกันอย่างไรกับให้ประชาชน เมื่อแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม เขายังพอมีรัฐที่ support พยุงชีพขั้นพื้นฐานให้เขาได้ ซึ่งหนูมองว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่แนวคิด ณ ตอนนั้นเป็นการวางรากฐานที่ดีมากที่จะทำให้ประชาชน เพื่อประชาชนคนไทยจะมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม พอที่จะต่อยอดชีวิตตนเองได้ เมื่อได้รับการ support จากรัฐ

หนูมองว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจ คือ ไอเดียขั้นพื้นฐานโดยที่อยากให้ประชาชนมีหน้ามีตา เราต้องใช้คำนี้เลยนะ มันคือการทำให้ประชาชนมีตัวตน และนั่นคือครั้งแรกที่ทำจะให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกัน

แต่พอหลังจากที่อาจารย์ปรีดีเสนอในครม. ก็ถูกพระยามโนปกรณ์รัฐประหาร หนูเสียดายมากที่โครงการเหล่านั้นถูกพับไป ไม่มีการกล่าวถึงใดๆ ถึงแม้จะถูกสกัดกั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือไอเดีย และหนูเชื่อว่าหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ก็เกิดจากการต่อยอดมาจากตรงนั้น จากแนวความคิดของอาจารย์ปรีดี

 

รัฐสวัสดิการที่ยังไม่ดีพอ เพราะชนชั้นนำสกัดกั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเท่าเทียม

ตอนนี้ที่สภาพสังคมยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพอให้กับประชาชน ส่วนหนึ่ง คือ กลุ่มชนชั้นนำ หรือ กลุ่มที่ต้องการที่จะมีอำนาจ เขาจึงให้โอกาสที่ไม่เต็มที่กับประชาชน เขาถึงได้ขัดขวางในการที่จะเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เท่าเทียมกันกับพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ

แม้เราจะเริ่มมีสวัสดิการอะไรบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าสุดท้าย ยังคงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังไม่เต็มที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน คือ ถ้าเราบอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ชื่อบอก เราก็ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ด้วย หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นตัวบัญญัติกฎหมาย หรือ ค่านิยมในสังคมที่มีต่อกันก็ควรจะเป็นในทิศทางของประชาธิปไตยแบบเต็มรูปแบบด้วยเช่นเดียวกัน

แต่ว่า ณ ตอนนี้ มันไม่ใช่แค่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งที่เป็นคนจำกัดกรอบทุกอย่าง แต่คือกลุ่มชนชั้นนำในกลุ่มอำนาจเก่า หรือ กลุ่มที่เขาอยากมีอำนาจแล้วใช้อำนาจพวกนี้ผ่านการเป็นรัฐบาล ผ่านพื้นที่ประชาธิปไตยที่จริงๆ ไม่ควรเลยที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้มาคอนโทรลสังคมอีกทีหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วประชาชนควรจะต้องได้มีโอกาสที่จะมีพื้นที่ในการปรับเปลี่ยนตรงนี้ เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน

และนี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องมองย้อนกลับไป เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เขาควรจะได้ ในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล วันหยุด วันลา เราต้องอย่าลืมว่าประเทศชาติขับเคลื่อนไปด้วยแรงงาน เพราะฉะนั้นหนูมองว่าแรงงานจึงสำคัญ แต่รัฐกลับไม่ได้ให้ความใส่ใจในแรงงานอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่หนุนเสริมอย่างเต็มที่กลับกลายเป็นระบบนายทุน พอประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้ เขาไม่ได้ เขาก็ต้องออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้อง ในกรณีที่หนักเข้าก็จะกลายเป็นความรุนแรง เกิดการอุ้มฆ่า การสังหารผู้นำแรงงาน อย่างเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ที่เคยเกิดขึ้นกับขบวนการแรงงานไทย จนปะทุกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ 6 ตุลาฯ 

 

เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียน

 

 

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งที่ทุกคนได้รับรู้ใน เหตุการณ์เดือนตุลาฯ คือ วันแห่งการสูญเสีย หนูคิดว่าทุกคนได้รับรู้ในส่วนตรงนี้ แต่ในส่วนของข้อมูล ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ หนูคิดว่าคนรุ่นหลังอย่างเราได้รับรู้น้อยมาก ได้เรียนรู้น้อยมาก ถ้าเทียบกับสถานการณ์จริงๆ ที่เคยเกิดขึ้น

ในแบบเรียนไม่มีบอกไว้ ในหนังสือเรียนไม่ได้อธิบายให้เราเข้าใจว่า เหตุการณ์มีความเป็นมาอย่างไร ทั้งที่มันคือเหตุการณ์ครั้งใหญ่ คือ วันที่ประชาชนคนไทย นักศึกษา ชาวนา กรรมกร ขบวนการแรงงานต่างลุกขึ้นมามีพลัง และถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม แต่ทำไมมันถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แค่นิดเดียว ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนั้นเลย

เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้ง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ควรจะต้องเป็นประวัติศาสตร์ตัวอย่าง ที่ทำให้คนรุ่นหลัง หรือว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ควรจะต้องได้มีสิทธิศึกษาต่อว่า ในเคสแบบนั้นเกิดอะไรขึ้น แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เป็นปัจจัยหลักให้เกิดเหตุ และเราจะป้องกันอย่างไรให้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

ส่วนหนึ่งคือสิ่งที่พวกเราได้รับหลังจากที่ได้ศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เราได้รับทั้งบทเรียน และส่งต่อบทเรียน ส่งต่อพลังแห่งความหวังให้กับพวกเราในการต่อสู้ คือ ณ วันนั้นเราได้เห็นความเบ่งบานของประชาธิปไตยในหมู่นักศึกษา ได้เห็นความบริสุทธิ์ของการมุ่งหวังอยากที่จะเห็นสิ่งที่ดีกว่าในประเทศนี้ของขบวนการแรงงานต่างๆ แต่ก็ถูกสกัดกั้นโดยกลุ่มคนที่ต้องการมีอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากสำหรับหนู และควรจะต้องให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ต้องมีข้อเท็จจริงทุกอย่างที่ชัดเจน ถ้าสังคายนาได้ต้องสังคายนาให้ได้ ให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างวันนั้น แล้วเหตุการณ์ในวันนั้น เราปฏิเสธกันไม่ได้หรอกว่ามันส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้หลายเรื่องหลายราวมาก

หนูคิดว่าในแบบเรียน ในหนังสือเรียนควรมีบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ให้ทุกคนได้มีโอกาสรับรู้ ส่วนหนึ่งถ้าพูดกันตรงๆ หนูรู้สึกเสียดายประวัติศาสตร์ เสียดายสิ่งที่ไม่เคยมีบันทึก สิ่งที่เคยเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจจะไม่ได้รับรู้สิ่งเหล่านั้นอีกแล้ว เนื่องจากเวลาผ่านล่วงเลยมาไกลมาก หนูคิดว่าคงมีหลายเรื่องราวมากที่หล่นหายไปในประวัติศาสตร์

และอีกอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ คือ สิ่งที่ผู้ชนะจะเป็นผู้เขียนเสมอ หลายๆ เรื่องราวผู้ชนะเป็นผู้เขียน เพราะฉะนั้น ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึก ที่ถูกเขียนถึงประชาชนจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มอำนาจเก่า หรือไม่ก็ทางสถาบันฯ เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ทำให้รู้สึกยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นชัดเจนว่า ถึงแม้ปัจจุบันประเทศของเราที่เราบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผ่านยุครุ่งเรืองแห่งการที่มีประชาธิปไตยเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาแล้ว แต่ ณ วันนี้กลับยังคงมีประวัติศาสตร์ที่เด่นชัดของกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ 

 

ความรุนแรงในปัจจุบันที่นับวันยิ่งทวีคูณ

เรื่องความรุนแรง คือ ยิ่งหนักเข้าทุกวัน ถ้าเราพูดถึงในการชุมนุมในยุคนี้ตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่วันแรกที่มีการชุมนุมจนถึงวันนี้ รัฐเขยิบระดับในการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เสมอ ซึ่งตรงนี้ ถ้าเราจะมองย้อนกลับถึงช่วงตอนกลางๆ ปี เราจะเริ่มเห็นการยั่วยุจากทางรัฐ อย่างเช่น ให้ทหารใส่เสื้อสีเหลืองที่ดูแบ่งแยกออกจากประชาชนที่ออกมาชุมนุม หรือแม้กระทั่งว่าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแต่งตัวเหมือนผู้ชุมนุมโดยใส่หมวก แล้วก็เข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุม นี่คือเราไม่เข้าใจเจตนาว่าเขาทำเพื่ออะไร และต้องการอะไร ทีนี้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจะเริ่มเห็นการปฏิบัติตัวที่เริ่มเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนจากทางรัฐ ที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้ว การเรียกร้องของประชาชน ไม่ใช่มีแค่การลงถนนอย่างเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการพยายามยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความพยายามยื่นข้อเรียกร้องของประชาชน อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ทีนี้รัฐตอบโต้เราด้วยการกีดกันเรา ด้วยการปิดโอกาสเราในการที่จะพูด หรือในการที่จะเสนอแนะรัฐ ซึ่งตรงนี้..เมื่อเริ่มหนักขึ้น เมื่อรัฐปิดทุกวิถีทาง ทางด้านประชาชนเองก็จำเป็นที่จะต้องเลือกแนวทางในการแสดงออก เพื่อสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลว่า ตอนนี้ประชาชนต้องการอะไร อย่างไร สิ่งที่รัฐบาลโต้กลับประชาชนก็คือรัฐบาลตั้งตัวเป็นศัตรูกับประชาชน ใช้อำนาจทางกฎหมาย ใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการกระทำหลายๆ อย่างโดยการปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม คนที่เห็นต่างจากรัฐ ที่เราเห็นได้ชัดก็คือ เรื่องของการ “อุ้มหาย การบังคับสูญหาย” หรือแม้กระทั่ง “การซ้อมทรมาน” สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนที่เมื่อเราพูดถึงก็ยังเป็นเรื่องสะเทือนใจของเราอยู่ทุกครั้ง แต่เราก็ไม่สามารถที่จะหาความยุติธรรมให้กับพวกเขาเหล่านั้นได้เลย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่หนูมองว่า ถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นปกติในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง "เราควรต้องเป็นคนหนึ่งที่ออกมาบอกว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ และควรต้องแก้ไขสักที"

ล่าสุดที่มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ผ่านวาระแรก ซึ่งตรงนี้หนูมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก นี่ไม่ใช่เพิ่งมีการยื่นเรื่องนี้เข้าไป แต่มีการผ่านการต่อสู้เรื่องของการยื่นพ.ร.บ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณามานานมากแล้ว แต่เมื่อเริ่มผ่านวาระแรก อย่างน้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยกับทางประชาธิปไตย หรือ เป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมปัจจุบัน ก็ต้องเข้าใจว่าเรื่องของการอุ้มหายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับได้หรอก และควรจะต้องมีการป้องกัน ต้องมีข้อกำหนดที่เป็นธรรมพอที่จะมีหลักประกันอะไรให้ประชาชนได้บ้าง

จาก 4 ร่างที่เราได้เห็นกัน ตัวร่างของรัฐบาล เราก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่าเหมือนออกมากันเฉยๆ และอาจจะไม่ได้ถูกบังคับใช้ด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้มีมาตรการเชิงรุกอะไรเลย ไม่ได้มีมาตรการใดที่จะบังคับใช้สิ่งที่บัญญัติขึ้น ซึ่งตรงนี้เองเราก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อออกพ.ร.บ. ตรงนี้มาแล้ว จะถูกบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ หรือไม่ หรือถูกตราขึ้นเพื่อเป็นแสตมป์ในการมีสิทธิมนุษยชนในประเทศแค่นั้น เพื่อบอกสากล ซึ่งเราเองก็ต้องช่วยกันผลักดันเหมือนกัน ตอนนี้หนูมองว่าตัวร่างฉบับนี้ที่ผ่านวาระ ก็เพราะพลังของประชาชนส่วนใหญ่ด้วยที่ทำให้เกิด ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี 

 

สังคมกำลังจะเปลี่ยน และเปลี่ยนได้แน่แต่ต้องใช้เวลา

 

 

หนูมีความหวังมากกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ มากกว่าตอนช่วงแรกๆ ที่เราออกมาทำกิจกรรม หนูมองว่ายุคนี้เป็นยุคที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอันใกล้ได้จริงๆ รู้สึกมีความหวังจริงๆ นี่ไม่ใช่แค่ว่าเป็นกระแสการเมืองที่เกิดจากการโน้มน้าวจากใคร แต่เป็นกระแสการเมืองที่เกิดจากการตื่นตัวของประชาชนกันเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อประชาชนต้องการที่จะอยากได้คุณภาพชีวิต หรือ สภาพสังคมที่ดีกว่านี้ ใครไปจะหยุดยั้งความต้องการตรงนี้ได้บ้าง เมื่อมีความต้องการตรงนี้ เรายิ่งแสดงออกมา และ เราได้เจอเพื่อนของเรามากขึ้น พอประชาธิปไตยเริ่มเป็นประเด็นสำคัญในสังคม คนเริ่มกล้าที่จะออกมาพูดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ และไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวอีกแล้ว เริ่มกล้าเปิดประเด็น เริ่มอยากจะพูดคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนั่นคือการทำให้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติในชีวิต และตรงนี้คือจุดสำคัญเลยว่า การเมืองในช่วงนี้ การชุมนุมในช่วงนี้ การต่อสู้ในช่วงนี้ มีความหวังมากที่สุดแล้ว และเราก็คิดว่าอย่างไรก็แล้วแต่ การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 5 ปี 10 ปีนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องมีสิทธิมีเสียง มีตัวตนมากกว่านี้แน่นอน

"หนูรู้สึกอิ่มเอมทุกครั้งที่เราเห็นคนที่มีแนวคิดที่คล้ายๆ กันกับเรา แล้วออกมาพูดเหมือนกันกับเรา หนูมองว่ามันไม่ใช่ว่าหนูคนเดียวที่พูดแบบนี้ได้ คือ ทุกคนต้องพูดได้ แต่สิ่งที่เราต่อสู้กันอยู่ คือ เราทุกคนต้องสามารถพูดถึงการเมือง พูดถึงสถาบันฯ องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับในประเทศนี้ได้อย่างเปิดเผยและเปิดกว้าง เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่มีอำนาจ หรือ มีส่วนในการออกแบบ หรือ กำหนดอะไรใดๆ ในประเทศเลย มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเทศที่ทำเพื่อเรา ที่ถูกกำหนดกฎหมายมาเพื่อเรา"

 

“คณะราษฎร” ต้นแบบประชาธิปไตยที่ยึดถือ

หลักๆ เลยคือ 2475 วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ประชาชนออกมามีสิทธิ มีเสียงจริงๆ ครั้งแรก คือ เราได้รับมอบสิทธินั้นจริงๆ ซึ่งหนูคิดว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่า เรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง และเราจะใช้สิทธิของเราอย่างไรต่อไปได้บ้าง

ณ จังหวะตอนนั้น หนูเข้าใจว่า การที่ประชาธิปไตยมาอยู่ในมือของคนไทย เราอาจกำลังพยายามตั้งตัวกันอยู่ว่า เราจะทำอย่างไร เราจะรับมือกับความเป็นประชาธิปไตยตรงนี้อย่างไร ทางคณะราษฎรก็ได้มีการวางรากฐาน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ หลัก 6 ประการ เรื่องการศึกษา เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องว่าจะทำให้ประชาชนฉลาดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการทำให้คนมีความรู้ความสามารถมากขึ้น แต่คือเรื่องของการติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชนมีตรรกะทางความคิดมากขึ้น การให้การศึกษากับคนทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้หลายๆ คนได้เข้าใจว่าเรามีโอกาสที่จะเรียนรู้ มีโอกาสที่จะต่อยอดต่อ มีโอกาสที่จะทำอะไรได้อีกมากมาย

สิ่งที่ประชาชนไทยต้องการตอนนั้นก็คือไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่เป็นองค์ความรู้ว่าเราจะใช้ประชาธิปไตยต่ออย่างไรด้วย การวางนโยบายหลายอย่างของคณะราษฎร ก็วางจนถึงรากฐานทางการศึกษา รากฐานทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเรื่องพวกนี้คือการหยิบยื่นโอกาสให้กับประชาชน ให้ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันในหลายมิติ

ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านพื้นที่ โอกาสในการเข้าถึงประกันสุขภาพซึ่งเขาอย่าง "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ของอาจารย์ปรีดีที่เป็นคนเขียน ที่ได้เล่าให้ฟังไปในตอนต้น อย่างรัฐสวัสดิการ จนถึงทุกวันนี้ แนวคิดนี้สำหรับหนูยังเป็นแนวคิดที่เรายังปรับใช้ได้กับสังคมในทุกๆ กาลเวลา นี่คือไอเดียที่ประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะด้วยยุทธวิธีแบบไหน แต่ไอเดียคือการทำประโยชน์เพื่อประชาชน

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แล้วว่าสถานการณ์นั้นๆ ประชาชนมีปัญหาอะไรบ้าง เรื่องการงาน เรื่องที่ดิน เรื่องปากท้อง ของขายไม่ได้ หรืออย่างไร รัฐจะช่วยเหลือหนุนเสริมกันแค่ไหนได้บ้าง ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นของรัฐบาล รัฐบาลที่มีหน้าที่ในแต่ละวาระ ในแต่ละตำแหน่ง ในแต่ละปี หน้าที่เดียวอย่างเดียวที่ต้องทำ คือ ทำหน้าที่เพื่อประชาชน คือ บริหารอย่างไรก็ได้ให้ทรัพยากรที่อยู่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัตถุดิบทางธรรมชาติ หรือ สภาพแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะบริหารอย่างไรให้มา support ประชาชนทุกคน ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม อย่างน้อยๆ ประชาชนกลุ่มพี่น้องเกษตรกรควรจะต้องได้มีโอกาสมีที่ดิน ครอบครองที่ดิน ได้มีโอกาส มีเสรีในการขาย

"หนูมองว่าหลักสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตย คือ การหยิบยื่นโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับคนทุกคนมากกว่า และหลังจากนั้นแล้ว เมื่อทุกคนมีโอกาส และทุกคนเข้าใจถึงโอกาสของตัวเอง ก็จะพ่วงกับคำว่าสิทธิ"

ทีนี้ไม่ใช่แค่ว่า ฉันมีสิทธิของฉัน แต่ฉันเองก็ต้องเคารพในสิทธิของคนอื่นด้วย แล้วจะเข้าใจในสิทธิซึ่งกันและกันมากขึ้น สังคมก็จะเกิดการหาจุดรวมตัวกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่การโจมตีกันเพื่อจะเอาฝ่ายฉันฝ่ายเดียว หนูคิดว่าความเป็นประชาธิปไตย คือ สังคมรอบข้างที่มากกว่าตัวเองด้วยซ้ำ

 

ตำรวจ-ทหารในอุดมคติ

 

 

ประเด็นหลัก คือ ตำรวจ-ทหารทำงานเพื่อใคร? ทำงานเพื่อประชาชนหรือเปล่า? ที่บอกว่าตำรวจรับใช้ประชาชนจริงหรือเปล่า? ถ้าตำรวจรับใช้ประชาชน และทำไมถึงมีตั๋วช้างที่ประชาชนก็ไม่ได้รู้เรื่องเลยตั้งแต่แรก งงๆ กันอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็ตามที่อยู่ในประเทศนี้ หนูคิดว่าต้องมองกลับมาที่จุดตั้งต้นเสมอว่า “หน่วยงานนั้นต้องทำงานเพื่อใคร?”

ตำรวจ-ทหารรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนหรือไม่ ถ้ารับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ประชาชนที่อยู่ในประเทศชาติ และต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ ถ้าประเทศชาติมันกว้างไป ก็จำกัดความหมายที่ง่ายกว่านั้นคือ  “ต้องทำงานเพื่อใคร”

ถ้าตามระบอบประชาธิปไตย แน่นอน คือ ต้องทำงานเพื่อประชาชน แต่ประเด็นคือ ณ จังหวะ ณ ตอนนี้ หนูเข้าใจว่าสถาบันฯ เหล่านี้ หน่วยงานองค์กรเหล่านี้ค่อนข้างที่จะหลงลืมบทบาทลงไปเสียเยอะ ถ้าเราพูดกันตรงๆ ก็คือตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการต่อสู้กันในทางอำนาจมาโดยตลอดระหว่างฝั่งศักดินากับฝั่งประชาชน ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับกันตามตรง ในขณะที่ฝั่งผู้มีอำนาจก็อยากที่จะมีอำนาจเหนือกองกำลังหลายๆ ส่วนที่มีบทบาทในประเทศ ซึ่งหนีไม่พ้นทหาร-ตำรวจอยู่แล้ว

ถ้าเรามองย้อนกลับไปดูอย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราจะเห็น 'พลตำรวจเอก สล้าง บุนนาค' เป็นนายตำรวจสำคัญคนหนึ่งที่เป็นผู้นำในการล้อมปราบนักศึกษา ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าบทบาทของกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในมือสำคัญมากต่อความมั่นคงของอีกคนกลุ่มหนึ่ง คือ หมายความว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเข้ารวบรวมกลุ่มอำนาจในสังคมไทย เขาจำเป็นต้องมีกองกำลัง กองกำลังในรูปแบบไหนก็ตามที่มีอยู่ในประเทศนี้ แน่นอนว่าทหาร-ตำรวจต้องมา และ ทหาร-ตำรวจ ถ้าจะส่งเสริมอำนาจให้จริงๆ เขาจะต้องจัดการได้ เขาต้องควบคุมได้

พอกลุ่มคนที่มีกำลังอยู่ในมือ และมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในมือ ทำให้เขาเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู้กับประชาชนไปโดยปริยาย ซึ่งทำให้ในตำแหน่งนั้นๆ ในทุกๆ เวลาต่อมา เหตุการณ์ต่อมาจึงเกิดการแย่งชิงตำแหน่งกันต่อไปเรื่อยๆ ซื้อเสียง ซื้อตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ ของตำรวจ เกิดคำถามที่ว่า ทำไมต้องมี ตำตอบก็คือ เพราะตำแหน่งต่างๆ มีบทบาทสำคัญในทางอำนาจ ถ้าเราได้พูดถึงอำนาจ ในทางการบังคับใช้กฎหมาย คนตรงนั้นต้องเป็นบุคคลที่กลุ่มที่ต้องการมีอำนาจควบคุมได้ ซึ่งหมายความว่าทุกๆ ตัวแปรอยู่ในกองกำลังแต่ละกองกำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่แปรผันกับอำนาจในช่วงจังหวะนั้นทั้งหมดเลย

ทีนี้เมื่อควบคุมได้..หนูคิดว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องปกติของสังคม กลุ่มที่มีอำนาจเขาต้องการที่จะเลี้ยงคนไว้ เลี้ยงดูเพื่อให้สมน้ำสมเนื้อ จึงทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์หมุนเวียนอยู่แบบนี้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับประชาชนเลย มันคือระบบวงจรที่วนลูปกลับไปกลับมาเรื่อยๆ เพื่อสืบต่ออำนาจ ความแข็งแรงของพื้นฐานอำนาจให้กับคนกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้นเอง

เหตุการณ์วันนั้น สล้าง บุนนาค มีบทบาทสำคัญมาก ถึงกับว่าไปยื่นหนังสือลาออกให้เสนีย์ ปราโมชได้เลย หรือว่าได้รับคำสั่งให้ไปรับอาจารย์ป๋วย แต่ว่าพฤติกรรมดูแล้วก็คงไม่ใช่ไปรับด้วยดี ซึ่งการแสดงพฤติกรรมแบบนี้ด้วยยิ่งทำให้เราเข้าใจเข้าไปอีกว่า คนที่กำลังยืนอยู่ในยศ ในตำแหน่งก็คงไม่ได้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวหรอก จำเป็นต้องมีคนคอยอุปถัมภ์กันเป็นเครือข่ายไปเรื่อยๆ เพื่ออะไรล่ะ เพื่อสุดท้ายแล้วก็เพื่อการดำรงอำนาจไว้ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า

อำนาจไม่เคยเป็นของประชาชนจริงๆ และไม่เคยถูกประชาชนอย่างเราเข้าไปตรวจสอบได้จริงๆ ไม่เคยถูกประชาชนอย่างเราตั้งคำถาม แล้วก็หาคำตอบได้จริงๆ ว่าความเป็นมาตรงนั้นมันคืออะไร แล้ว ณ ตอนนี้หนูบอกตรงๆ เลยว่า ที่บอกว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เพราะว่าประชาชนตั้งคำถามกันได้ง่ายมากขึ้น เพราะข้อมูลที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้เราต้องตั้งข้อสงสัยจริงๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ยิ่งมีเรื่องตั๋วช้าง ยิ่งทำให้ชัดเจนไปอีกว่า วงการตำรวจที่เป็นอยู่แบบนี้ เป็นหนักถึงขนาดนี้เลยเหรอ มีเรื่องถุงดำเข้ามาอีก การใช้ความรุนแรง การซ้อมทรมานผู้ต้องหา สมควรไหมที่จะต้องถึงขนาดนั้น ต้องกระทำผิดหลักสิทธิมนุษยชนขนาดนั้น จำเป็นต้องขนาดนั้นไหม ซึ่งถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำแบบนั้น มันสะท้อนถึงอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แนวทางของเจ้าหน้าที่รัฐ เขาต้องการที่จะเป็นผู้อยู่เหนือความถูกต้อง เป็นผู้อยู่เหนือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตรงนี้จะทำให้การดำรงตำแหน่ง หรือการประกอบอาชีพ หรืออำนาจหน้าที่ของตำรวจ มันบิดเบี้ยวไปจากเดิม จะไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้ว แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อแบ่งแยกอำนาจกันเอง และจัดสรรผลประโยชน์กันเอง ในกลุ่มพวกตัวเองเท่านั้น

แต่โดยลึกๆ แล้ว หนูว่าทุกอย่างยังสามารถแก้ไขได้ ยังไงก็แก้ได้ แต่ประเด็นก็คือว่า ทุกอย่างที่เราเห็นอยู่ในสภาพการเมืองไทย ณ ขณะนี้ ทุกอย่างต้องปรับแก้กันหมด เพราะตอนนี้เหมือนเรายังไม่มีอะไรที่อัปเดตเป็นปัจจุบันเลย ยังไม่มีอะไรอัปเดตที่เหมาะสมพอกับสถานการณ์ปัจจุบันเสียที

ทุกโครงสร้างจำเป็นต้องมีการปรับแก้กันทั้งหมด สังคายนากันทั้งระบบ เรื่องของการปฏิรูปตำรวจ เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มมีอำนาจจริงๆ เบื้องต้นที่เป็นประตู เป็นคีย์สู่การที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หนูคิดว่าต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่ที่เราสามารถร่วมกันออกแบบหรือกำหนดรัฐธรรมนูญได้เอง ในรูปแบบของประชาชนที่เราได้ถกเถียงกัน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ในการกำหนดอำนาจ และสังคายนาหลายๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ประชาชนจะได้เป็นคนเซ็ทมาตรฐานว่า เราต้องการแบบใด แล้วสังคมนี้มันควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเดิมๆ ส่วนใดบ้าง เพื่อให้สอดคล้องและไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

 

“หนูคิดว่าสังคมกำลังจะเปลี่ยน และเปลี่ยนได้แน่นอนแต่ต้องใช้เวลา”

 

SPECIAL THANK.........ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
บรรณาธิการ..................ณภัทร ปัญกาญจน์
ถ่ายภาพ........................กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ถอดความ......................ปวิตรา ผลสุวรรณชัย

สัมภาษณ์: ณ วันที่ 29 กันยายน 2564
เอื้อเฟื้อสถานที่: ธันวา คาเฟ่