ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ครอบครัวอภิวัฒน์ผล: จินตนาการว่าด้วยสังคมสยามในหนึ่งทศวรรษแรกภายหลังการประกาศใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจ

29
เมษายน
2564

จากการที่ได้มีโอกาสศึกษาและทำความเข้าใจเค้าโครงการเศรษฐกิจมาบ้างนั้น ผู้เขียนมักจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า หากเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ได้รับการนำเสนอในปี ๒๔๗๖ ได้รับการยอมรับและถูกประกาศใช้ผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญ ๒ ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช ๒๔๗๖ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พุทธศักราช ๒๔๗๖ แล้วสังคมสยามในเวลานั้น และในเวลาต่อมาจะพึงมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง

 

แน่นอนว่า คำถามเช่นนี้ของผู้เขียนเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริงในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากในความเห็นผู้เขียน ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ประกอบกันเข้า การที่เค้าโครงการเศรษฐกิจจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง นั่นอาจหมายถึงความจำเป็นจะต้องตัดตัวแปรทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ กลุ่มผลประโยชน์ที่มุ่งโต้แย้งคัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจออกไปจากการพิจารณาอย่างสิ้นเชิง 

แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนกลับเห็นว่า หากเราจะลองใช้จินตนาการประกอบข้อมูลและความรู้เท่าที่มีอยู่ เพื่อวาดภาพสังคมสยามในลักษณะที่ “อาจจะเป็นไปได้บ้าง” ก็น่าจะกระทำได้เช่นกัน อย่างน้อยที่สุดก็ได้ชื่อว่า ไม่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดของตนเองเสียทีเดียว และประเด็นที่มีน้ำหนักในเชิงเหตุผลมากที่สุดในทัศนะของผู้เขียนก็คือ ถ้าเค้าโครงการเศรษฐกิจเคยเป็นดั่ง “ความใฝ่ฝันที่มีต่อสยามประเทศ” สำหรับผู้ให้กำเนิดเอกสารชิ้นสำคัญยิ่งนี้แล้ว นี่อาจจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พวกเราซึ่งเป็นราษฎรสยามรุ่นหลังๆ พอจะมีโอกาสได้ร่วมคิดและร่วมฝันไปพร้อมๆ กับผู้เป็นเจ้าของความคิดในเรื่องนี้ได้ด้วยกระมัง 

ผู้เขียนจะเริ่มเรื่องราวด้วยการลองจินตนาการถึงการมีผลใช้บังคับของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในระหว่างปี  ๒๔๗๗-๒๔๘๗ รวมถึงความน่าจะเป็นของสภาพและเหตุการณ์ต่างๆ บนพื้นฐานข้อมูลที่ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเด็นต่างๆ ที่เสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้น้อยมาก จากนั้นจะลองจินตนาการ ครอบครัวชาวสยามบางครอบครัวขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่างในที่นี้ว่าเมื่อผ่านเวลาราวทศวรรษแรกจากปี ๒๔๗๖ อันเป็นปีที่เค้าโครงการเศรษฐกิจได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปแล้ว พวกเขาน่าจะมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจกันอย่างไรบ้าง

ผู้เขียนขอยกบางช่วงในข้อเขียนของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือ "ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีในจีน" ฉบับตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ดังความว่า 

"...สิ่งสำคัญ คือ การพินิจพิจารณาอุดมการณ์และการกระทำของคนรุ่นใหม่แต่ละคน ถ้าบุคคลนั้นได้เดินตามเส้นทางแห่งความก้าวหน้าที่แท้จริง เขาก็เป็นพวกหัวก้าวหน้าโดยแท้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลนั้นยังยึดมั่นต่อระบอบอันกดขี่ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ส่งเสริมอุดมการณ์ ความคิด และประเพณีโบราณในรูปแบบต่างๆ ให้ฟื้นคืนขึ้นมาอีก บุคคลนั้นย่อมเรียกได้ว่าเป็นพวกหัวเก่า ซึ่งย่อมขัดแย้งกับหัวก้าวหน้า ก้าวหน้าย่อมจะเป็นได้แต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก เพื่อลวงชนรุ่นใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นเท่านั้น ในช่วงก่อตัวของระบบสังคมนิยม จำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิตอันสอดคล้องกับระบบสังคมนิยม 

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าเค้าโครงการปฏิรูปการเกษตรของข้าพเจ้าที่ได้เสนอต่อรัฐบาลสยามในปี ๒๔๗๖ จะเป็นเพียงสังคมนิยมรูปแบบหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ สหกรณ์สังคมนิยม แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อมั่นว่า เค้าโครงในลักษณะเช่นนั้น จะถูกนำไปใช้ให้สำเร็จผลขึ้นได้ก็จำเพาะแต่บุคคล ผู้สำนึกในอุดมการณ์ที่มุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่น และ ปราศจากความเห็นแก่ตน อันเป็นผลของระบบปัจเจกชนนิยมเท่านั้น..." (แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล จากหนังสือ ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้าและ๒๑ปีแห่งการลี้ภัยในจีน ปรีดี พนมยงค์ )

 

เกริ่นนำ 

นับแต่ปี ๒๔๗๖ เป็นต้นมา สยามรัฐกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศขนานใหญ่ตามนโยบายของคณะราษฎร ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปทบทวนหลักข้อ ๓ ในประกาศของคณะราษฎรซึ่งระบุความว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” 

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ คณะราษฎรได้ให้สัญญาประชาคมแล้วว่า สยามรัฐและคณะรัฐบาลทุกชุดจะถือเอาการบริหารงานเศรษฐกิจเป็นภารกิจที่สำคัญในการ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” จะไม่ปล่อยปละละเลยต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างที่เคยเป็นมาในระบอบการปกครองเก่าอีกต่อไป 

ในช่วงกลางปี ๒๔๗๗ 'สภาเศรษฐกิจ' ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช  ๒๔๗๖ ได้ออกประกาศแผนเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ ซึ่งระบุให้มีผลบังคับใช้ระหว่างปี ๒๔๗๗-๒๔๘๗ และได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นทั่วประเทศ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมในท้องที่แต่ละจังหวัด ในแผนดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้ง “สหกรณ์กสิการ” ขึ้นก่อนสหกรณ์ประเภทอื่น โดยเน้นความสำคัญในระดับตำบลหรือระดับอำเภอเป็นสำคัญ 

อย่างไรก็ดี การออกประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อกิจการของเอกชนที่รัฐได้ให้สัมปทานหรือให้อนุญาตไปก่อนหน้าวันที่ประกาศใช้ รวมทั้งคำร้องของเอกชนเพื่อขอประกอบกิจการต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในวันที่ได้ประกาศใช้ เช่น กิจการเหมืองแร่ ป่าไม้รวมถึงกิจการพาณิชย์เดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงสีข้าว  

กล่าวได้ว่า ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ นี้ นับเป็นช่วงสำคัญสำหรับ “รัฐบาลในระบอบการปกครองใหม่” จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมองค์ประกอบพื้นฐานและหน่วยงานรัฐเพื่อการบริหารเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้ครบถ้วน 

ปัญหาหลักที่สำคัญและได้รับความสนใจ กระทั่งถูกหยิบยกขึ้นอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในระหว่างการประชุมพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่การรวบรวมและจัดหาที่ดินเพื่อรองรับระบบสหกรณ์กสิการในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด 

การจัดหาเงินทุนและเครดิตตามที่วิธีระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจรวม ๙ ประการ โดยเฉพาะการออกกฎหมายกำหนดรายละเอียดในการเก็บภาษีมฤดก ซึ่งสมาชิกในสภาใช้เวลาอภิปรายเป็นเวลานานยิ่งกว่าวิธีการอื่น แต่ถึงกระนั้นก็ได้รับการยอมรับด้วยมติเอกฉันท์ในที่สุด และมีมติว่าจะค่อยๆ พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ ได้รับเชิญให้อธิบายและชี้แจงในที่ประชุม โดยย้ำความสำคัญของการจัดเก็บภาษีประเภทนี้

มีใจความพอสรุปได้คือ “ภาษีมฤดกนี้ไม่ใช่จะอิจฉาคนมั่งมี เป็นเพราะตามหลักนั้น คนที่มั่งมีได้สะสมเงินทองไว้ เงินทองนั้นได้มาก็โดยอาศัยราษฎรร่วมกัน และผู้มั่งมีได้ไว้โดยทางตรงหรือทางอ้อม การกำหนดภาษีมฤดกนั้น ถ้าผู้มั่งมีมีมากจนเหลือเฟือควรเก็บให้มาก คนชั้นกลางจึงผ่อนผันเก็บแต่น้อย ทั้งนี้เพื่อมิให้กระทบผู้มั่งมีเกินไป” หรือ 

ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ กล่าวคือ ธนาคารแห่งชาติซึ่งต่างยอมรับกันในที่ประชุมว่าเป็นหน่วยงานที่จำเป็น อันจะขาดเสียมิได้ในระบบเศรษฐกิจสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้น แต่องค์ประกอบและหน่วยงานใหม่เหล่านี้คงต้องอาศัย ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง 

นอกจากนี้แล้ว การประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ทำให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า การจัดตั้งโครงสร้างและระบบบริหารงานสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดยังประสบปัญหาแตกต่างกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อม กล่าวคือ ในช่วง ๕-๖ ปีแรกของการใช้แผนเศรษฐกิจฉบับนี้ จังหวัดที่ดูจะมีความพร้อมในการรองรับระบบเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ จังหวัดส่วนใหญ่ที่อยู่รายรอบพระนคร และที่ห่างไกลออกไปก็มักจะได้แก่จังหวัดใหญ่ ส่วนจังหวัดเล็กนั้น หลังจากช่วง ๕-๖ ปีแรกไปแล้วจึงปรากฏว่า จังหวัดเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเริ่มมีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น 

อนึ่ง แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ นี้ สภาเศรษฐกิจมอบหมายให้จังหวัดเป็นตัวแทนรัฐทำหน้าที่ประสานและสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ที่ได้รับ การจัดตั้งขึ้นภายในเขตจังหวัดไปพลางก่อน จนกว่าสหกรณ์ทั้งหลายจะพร้อมสำหรับการบริหารจัดการตนเอง อย่างเป็นอิสระและเต็มรูปแบบในที่สุด นั่นหมายถึง อาจต้องรอไปจนสิ้นทศวรรษแรกและมีการประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่กิจการสหกรณ์ในแต่ละแห่งทั่วประเทศเริ่มลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงและเป็นปึกแผ่น สมดังตามเจตนารมณ์ของการประกาศใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจ 

ดังนั้น น่าจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งจัดตั้งขึ้นตามเค้าโครงการฉบับนี้จึงเป็นความพยายามที่จะประสานเศรษฐกิจในระบบ “ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ” ซึ่งเอื้อต่อกิจการด้านการค้าพาณิชย์เข้ากับระบบ  “สหกรณ์สังคมนิยม” โดยเฉพาะการนำระบบสหกรณ์มาใช้กับภาคกสิกรรมของประเทศเต็มรูปแบบ เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ในเวลานั้นยังคงพึ่งพาและดำรงชีวิตด้วยการกสิกรรมเป็นหลัก 

นอกจากนี้ ยังน่าเชื่อได้ในระดับหนึ่งด้วยว่า หากระบบเศรษฐกิจสหกรณ์ประเภทต่างๆ มั่นคงเป็นปึกแผ่นแล้วย่อมจะก่อความสมดุลทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ราษฎรส่วนใหญ่เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ในที่สุด 

ณ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปลายปี ๒๔๗๗ นั่นเองที่พื้นที่ในเขตอำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งหมดได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น “สหกรณ์กสิการอำเภอกรุงเก่า” โดยราษฎรเลือกตั้งผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่งงานบริหารในสหกรณ์ ทุกตำแหน่งเป็นการจำลองมาจากระบบการเลือกตั้งตามกฎหมายเทศบาลที่มีอยู่ จึงทำให้ได้มาซึ่งคณะสหกรณ์กรรมาธิการที่เป็นผู้แทนของราษฎรในพื้นที่ เป็นผู้ที่มีความเข้าใจและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการปัญหาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในการนี้ สหกรณ์กสิการอำเภอกรุงเก่าได้ประกาศจัดตั้ง “ตลาดกลาง” ขึ้นเป็นประเดิมเพื่อเป็นแหล่ง จำหน่ายผลผลิตของสหกรณ์ (ขจัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง) ต่อมาในปี ๒๔๗๙ เมื่อกิจการสหกรณ์กสิการอำเภอเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น จึงตามมาด้วยการตั้งโรงงานสีข้าวและแผนกงานขนส่งผลผลิต 

ในปีต่อๆ มา สหกรณ์กสิการ อำเภอกรุงเก่าประกาศขยายแผนงานออกไปอีก อาทิเช่น ในด้านผลผลิตทางการเกษตร ได้ทดลองตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตเพื่อให้เกิดความหลากหลายและสร้างงานในระดับตำบลเพิ่มขึ้น

ในปี ๒๔๘๑ ในด้านการบำรุงการศึกษา วัฒนธรรม และ วิชาชีพ เช่น ในปี ๒๔๘๐ จัดโครงการเพื่อเน้นการฝึกอบรมทักษะข้ารัฐการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำเครื่องจักรกลที่รัฐบาลสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในงานของสหกรณ์ รวมถึงการจัดหลักสูตรอบรม ทักษะวิชาชีพต่างๆ ให้แก่สตรีและแม่บ้านที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้าทำงานมาตั้งแต่ปีที่จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นอีกทั้งในระยะยาว (เช่น ในแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๒) มีการวางแผนเสนอให้เตรียมจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และ การเมืองในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

หรือมิฉะนั้น อาจเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาประจำจังหวัดในลักษณะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในโอกาสต่อไป โดยการประสานความร่วมมือกับกระทรวงธรรมการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่วนในด้านการทหาร เช่น การจัดให้มีการเกณฑ์หรือฝึกอบรมวิชาทหารนั้น จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมด้วยเช่นกัน 

ในด้านการสาธารณสุข สหกรณ์กสิการอำเภอกรุงเก่ามีแผนงานที่จะเน้นประสิทธิภาพและความทันท่วงที ในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีสถานการณ์โรคระบาด เช่น อหิวาตกโรคที่เริ่มมีข่าวมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ แล้วว่า พ่อค้าที่เดินทางกลับจากพม่าเข้ามาทางจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ต่อมาจึงได้มีการระบาดไปสู่จังหวัดส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลองท่าจีน หรือ อีกโรคหนึ่งคือ กาฬโรค ซึ่งสถานการณ์ในปี  ๒๔๗๘-๒๔๗๙ อยู่ในเกณฑ์ควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าพอใจ 

ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับในการดูแลสมาชิกของสหกรณ์ และ ทุกชุมชนในเขตอำเภอให้เป็นไปอย่างทันท่วงทีและที่จะขาดเสียมิได้ก็คือบุคคลากร หรือ ผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่มีความชำนาญการและมีจำนวนเพียงพอ 

โดยสรุป ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นสหกรณ์กสิการอำเภอกรุงเก่าอันเกิดจากแผนงานตามเค้าโครงการเศรษฐกิจค่อยๆ แปรสภาพไปสู่ “หน่วยการผลิตอิสระในทางเศรษฐกิจบนฐานแห่งการปกครองตนเอง โดยราษฎรในท้องถิ่นเต็มรูปแบบ” สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งการปกครองตนเอง (กฎหมายเทศบาล) ในระบอบ การเมืองประชาธิปไตย (กฎหมายรัฐธรรมนูญ) ในเวลานั้น ทั้งยังเป็นผลโดยตรงจากการอภิวัฒน์ทางการเมืองในปี  ๒๔๗๕ ด้วย นอกจากจะมีการจัดตั้งสหกรณ์กสิการขึ้นในระดับอำเภอแล้ว ในหลายตำบลของอำเภอกรุงเก่ายังมีการ จัดตั้ง “สหกรณ์กสิการตำบล” ขึ้นหลายแห่งด้วยเช่นกัน

บ้านอภิวัฒน์ผลในปี ๒๔๗๗ 

สมาชิกในบ้านหลังนี้ประกอบด้วย 'ราษฎร อภิวัฒน์ผล' อายุ ๒๖ ปี เป็นบุตรชายคนโตของ ‘ครอบครัวอภิวัฒน์ผล’ 'อารีย์ อภิวัฒน์ผล' อายุ ๒๕ ปี เป็นน้องชายคนรอง ส่วน 'มีสุข อภิวัฒน์ผล' อายุ ๒๓ ปี เป็นน้องสาวคนสุดท้อง 

บ้านและที่ดินที่ราษฎรและน้องอีก ๒ คนอาศัยอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่อยู่อาศัย (Homestead) ที่ก่อตั้งขึ้นตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งนับแต่ปลายปี ๒๔๗๗ เป็นต้นมา รัฐบาลได้เร่งออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อมอบอำนาจให้สหกรณ์กสิการอำเภอทั่วประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วเสนอของบประมาณจัดตั้งโครงการที่อยู่อาศัยใน พื้นที่บริหารงานของแต่ละสหกรณ์ซึ่งเดิมเคยมีสภาพเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าได้โดยปกติแล้ว แม้บ้านและที่ดินจะเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์กสิการอำเภอก็ตาม 

แต่เมื่อราษฎรและน้องอีก ๒ คนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้นับแต่ต้นปี ๒๔๗๙ ก็เริ่มทยอยซื้อสิ่งของและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เตียง สิ่งเหล่านี้ย่อมถือเป็นกรรมสิทธิ์ของราษฎรและครอบครัวตามกฎหมาย 

เมื่อเริ่มมีความมั่นคงในเรื่องที่พักอาศัย ในช่วงปลายปี ๒๔๗๙ 'ราษฎร' จึงขอให้บุพการีไปสู่ขอ 'นางสาวศรีสยาม ปัญจุตตรสัตตติ' อายุ ๒๑ ปีก่อนสมรส ราษฎรตั้งใจว่าจะย้ายเข้าบ้านฝ่ายเจ้าสาว แต่เมื่อได้สิทธิในการมีบ้านพักในโครงการราษฎรกับภรรยาก็ตัดสินใจย้ายเข้าบ้านในโครงการแทน 

ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวเองไม่ขัดข้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากจะมีภรรยา น้องชายและน้องสาวแล้ว บุพการีของราษฎรซึ่งต่างมีอายุ ๖๕ ปีและไม่ได้ทำงานแล้วก็ย้ายมาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี้ด้วย 

ไม่นานต่อมา ในช่วงรุ่งสางของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๑ บ้านอภิวัฒน์ผลก็ได้ต้อนรับสมาชิกครอบครัวคนใหม่ เนื่องจากบุตรชายคนเดียวของราษฎรและภรรยาได้ลืมตาดูโลก เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านในโครงการ ราษฎรและครอบครัวเริ่มทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านมากหน้าหลายตา เช่น พี่น้อม อายุ ๓๕ ปีอาศัยอยู่ในบ้านหลังติดกัน อาบุญช่วย อายุ ๕๐ ปีกับภรรยาที่เป็นญาติห่างๆ กันอาศัยอยู่ในบ้านหลังถัดจากพี่น้อม ส่วนลุงขำ อายุ ๖๖ ปีที่อยู่บ้านตรงกันข้ามก็เป็นอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของคุณพ่อของราษฎรด้วย

ข้ารัฐการประจำสหกรณ์ 

ในปี ๒๔๗๘ ราษฎรผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้ารัฐการประจำสหกรณ์กสิการตำบลบ้านป้อม (ชื่อตำบลเก่าแห่งหนึ่งในเวลานั้น) ในตำแหน่งปศุสัตว์ชำนาญการ ส่วนอารีย์ น้องชายของราษฎรซึ่งเดิมเคยเป็นกำลังสำคัญในการช่วยบุพการีทำไร่ แต่เมื่อบุพการีทั้งสองมีปัญหาสุขภาพไม่อาจใช้แรงงาน และ ดูแลที่ไร่ของครอบครัวได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจขายที่ดินแปลงดังกล่าว โดยสหกรณ์รับซื้อไว้และออกใบกู้ให้ครอบครัวถือไว้ในฐานะเจ้าหนี้ (ได้ผลตอบแทนคือ ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปีและเงินปันผลตามที่สหกรณ์จะได้ประกาศให้ทราบเป็นรายปี) แต่เนื่องจากอารีย์ยังประสงค์จะประกอบอาชีพเป็นชาวไร่ต่อไปจึงสมัครเข้าเป็นข้ารัฐการประจำสหกรณ์กสิการตำบลเดียวกันกับพี่ชาย มีหน้าที่เป็นแรงงานไถ่หว่านในที่ดินของสหกรณ์ โดยอารีย์เข้าทำงานในสหกรณ์ตำบลตั้งแต่ปี  ๒๔๗๙ เป็นต้นมา  

สำหรับมีสุข น้องสาวคนสุดท้องของราษฎร เลือกประกอบอาชีพทนายความหลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายแล้วไม่นาน การประกอบอาชีพอิสระประเภทต่างๆ นั้นสามารถกระทำได้ตามกฎหมายโดยจะต้องแจ้งต่อกรมการปกครอง และ เมื่อได้รับการรับรองแล้ว มีสุขไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานเป็นข้ารัฐการเหมือนพี่ชายทั้งสองคน เพราะมีหลักฐานยืนยันว่ารายได้จากการประกอบวิชาชีพทนายเพียงพอสำหรับเลี้ยงชีวิตอยู่แล้ว 

พี่น้อมและอาบุญช่วย เพื่อนบ้านของครอบครัวนี้ ก็ทำงานเป็นข้ารัฐการในสหกรณ์กสิการตำบลด้วยเช่นกัน แต่เป็นอีกตำบลหนึ่ง กล่าวคือ ทำงานในสหกรณ์กสิการตำบลปากกราน (ชื่อตำบลเก่าแห่งหนึ่งในเวลานั้น) ที่ตั้งอยู่ ทางใต้ของตำบลบ้านป้อม 

ก่อนที่จะเข้าทำงานในสหกรณ์ตำบล พี่น้อมและสมาชิกในครอบครัวรวม 4 คน (ยกเว้นลูกชายคนเล็ก อายุ ๑๒ ปี) ประกอบอาชีพเป็นชาวนามาแต่เดิม แต่ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง จึงต้องเช่าที่ดินทำนามาโดยตลอด การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้ารัฐการในสหกรณ์นั้น พี่น้อมกับสมาชิกในครอบครัวจะเข้าทำงานแต่เฉพาะเวลาภายหลังสิ้นสุดช่วงการทำนาตามปกติแล้ว 

กล่าวคือ จะเข้าทำงานประจำในสหกรณ์อยู่ราว 6 เดือนเท่านั้น โดยพี่น้อมทำงานใช้แรงงานในแปลงนาของสหกรณ์ ส่วนภรรยานั้นมีเหตุยกเว้นไม่ต้องเข้าทำงาน (ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป) ลูกสาวคนโตเป็นพนักงานขายอาหารประจำโรงอาหารของสหกรณ์ ส่วนลูกชายเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในบริเวณสำนักงานของสหกรณ์ตำบล 

สำหรับอาบุญช่วยกับภรรยา เดิมทั้งสองคนนี้มีที่นาเป็นของตนเองมาก่อน จึงมีประสบการณ์ในการทำนามาบ้าง แต่พอเริ่มมีอายุมากขึ้นก็ผันตัวมาเป็นผู้ให้เช่าที่ดินทำนาแทน 

อาบุญช่วยเคยเล่าให้ราษฎรฟังว่า ลูกสาวทั้งสองของตนไม่คิดจะทำนาในที่ดินของครอบครัวต่อไปแล้ว เพราะต่างได้สามีเป็นคนเชื้อสายจีนฐานะดีอาบุญช่วย จึงตัดสินใจขายที่ดินแปลงที่ใช้ทำนาพร้อมทั้งแปลงที่ปลูกบ้านอาศัยอยู่เดิมให้สหกรณ์ไปด้วย แม้จะมิได้ถูกบังคับซื้อก็ตาม 

ทั้งนี้ สหกรณ์รับซื้อที่ดินทั้งสองแปลงไว้และออกใบกู้ให้อาบุญช่วยถือไว้ในฐานะเจ้าหนี้ (ได้ผลตอบแทน คือ ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปีและเงินปันผลตามที่สหกรณ์จะได้ประกาศให้ทราบเป็นรายปี) การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้ารัฐการในสหกรณ์นั้น อาบุญช่วยทำงานเป็นผู้ประสานงานและดูแลคนงานในฝ่ายกำจัดแมลงและศัตรูพืช ส่วนภรรยาเป็นพนักงานขายอาหารประจำโรงอาหารของสหกรณ์เช่นเดียวกับลูกสาวพี่น้อม

ทุกคนที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมดนั้นล้วนอยู่ในวัยทำงาน (คือมีอายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พุทธศักราช ๒๔๗๖ และได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์กสิการตำบลที่ตนทำงานประจำ บุคคลที่เข้าข้อยกเว้นก็คือ กรณีหญิงมีครรภ์หรือหญิงมีบุตรในที่นี้ได้แก่ ศรีสยาม (ภรรยาของราษฎร)  ในช่วงเวลาที่ยังตั้งครรภ์อยู่ ภรรยาของพี่น้อม สตรีทั้งสองคนมีสิทธิได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะมีสิทธิเลี้ยงดูบุตรของตนไปจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ ๑๘ ปี 

สำหรับกรณีเด็กที่ได้รับการยกเว้น ในที่นี้คือ  ลูกชายของศรีสยามภายหลังการคลอด และลูกชายคนเล็กอายุ ๑๒ ปี (ซึ่งยังเรียนอยู่) ของพี่น้อม นอกจากนี้ กฎหมายยังยกเว้นแก่บุพการีทั้งสองคนของราษฎรและลุงขำด้วยเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีอายุเกินกำหนดที่จะต้องเข้าทำงานแล้ว (๕๕ ปีขึ้นไป) 

อาจมีข้อสังเกตในกรณีนี้ว่า ถ้าได้รับยกเว้นไม่ต้องทำงานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ พวกเขา เหล่านี้จะมีรายได้ในการดำรงชีพจากทางใด เมื่อพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พุทธศักราช ๒๔๗๖ แม้บุคคลเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานก็ตาม แต่ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินเดือน หรือเบี้ยบำนาญตลอดเวลาที่ยังไม่มีหน้าที่ทำงานด้วยเช่นกัน 

สำหรับราษฎรซึ่งมีความรู้ในด้านการเลี้ยงและดูแลสัตว์มาแต่แรกนั้น นอกจากเงินเดือนขั้นต่ำเป็นประกัน ในการเลี้ยงชีพตามกฎหมายประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรแล้ว เมื่อผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงานใน สหกรณ์ยังมีสิทธิได้รับเงินเดือนเพิ่มสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากราษฎรเป็นคนรู้จักใช้ จ่ายเงินและวางแผนชีวิตอยู่พอสมควร จึงมักจะมีเงินเหลือเก็บทุกเดือน โดยจะนำไปฝากไว้ที่คลังจังหวัด (พระนครศรีอยุธยา) ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นสาขาของธนาคารแห่งชาติที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี  ๒๔๗๖ 

ในทำนองเดียวกันกับพี่ชาย อารีย์ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำไร่ตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาเป็นข้ารัฐการในสหกรณ์นอกจากจะรับเงินเดือนขั้นต่ำเป็นประกันในการเลี้ยงชีพตามกฎหมายประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรแล้ว ความสามารถพิเศษของอารีย์ในกรณีนี้ก็เป็นเหตุให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำดังกล่าวด้วย 

ส่วนพี่น้อม และ อาบุญช่วยก็เล่าให้ราษฎรฟังว่า เขาทั้งสองทำงานเข้าเกณฑ์ตามประกาศของสหกรณ์กสิการตำบลปากกรานจนเป็นเหตุให้ได้รับเงินรางวัลจากสหกรณ์ติดต่อกันมาเป็นปีที่ ๓ แล้ว 

อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของครอบครัวอภิวัฒน์ผล และ เพื่อนบ้านของพวกเขา คงมิใช่วิถีชีวิตที่นำไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยในตัวเอง เว้นแต่จะตัดสินใจที่จะออกจากการเป็นข้ารัฐการของสหกรณ์แล้วเลือกประกอบอาชีพในทางการค้าพาณิชย์ซึ่งกฎหมายรับรองให้สามารถทำได้เพียงแต่มีหลักฐานมายืนยันว่าการตัดสินใจประกอบอาชีพ เช่นนั้นจะมีรายได้ในอนาคตเพียงพอต่อการดำรงชีพทั้งของตนเองและบุตร 

แต่ถึงกระนั้น แม้จะมิได้เป็นเศรษฐกิจ ที่เอื้อต่อความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นรายคน ระบบสหกรณ์และระบบประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นก็ย่อมเป็นประกันแก่การยังชีพในชีวิตประจำวันของราษฎรอย่างถ้วนหน้า กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ ทุกคนมี สิทธิและเสมอภาคกันที่จะ “ไม่จนและไม่อดตาย” ตามยถากรรมนั่นเอง 

แน่นอนว่า ระบบสหกรณ์กสิการตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (ปี ๒๔๗๗-๒๔๘๗) อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจนับแต่ปี ๒๔๗๖ เป็นต้นมา คงจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและเป็นปึกแผ่นขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตลอดทั่วประเทศสยามในเวลานั้น 

หากมิได้มีเหตุการณ์สำคัญภายนอกประเทศแทรกซ้อนเข้ามา กล่าวคือ การที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานดินแดนต่างๆ ในแถบเอเชีย รวมถึงเข้ารุกรานประเทศสยาม (๘  ธันวาคม ๒๔๘๔) และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา (ระหว่างปี ๒๔๘๔-๒๔๘๘) จนกระทั่งเป็น สาเหตุที่สำคัญในการชะลอโครงการจัดตั้งระบบสหกรณ์ในหลายพื้นที่ของประเทศตามไปด้วย 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด “ขอให้ถือเป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียนเอง” อาจมีประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏ มีผู้ไม่เห็นพ้องด้วย นั่นย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนประสงค์จะจูงใจผู้ที่สนใจ หรือ ใส่ใจในเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ ลองขบคิดและทบทวน “ศรีอารยสังคมในความคิดของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ที่ได้นำเสนอไว้ในปี ๒๔๗๖ โดยอีกวิธีการหนึ่งเท่านั้น

 

อ่าน: 'สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ฉบับเต็ม