ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

10 ผลงานชิ้นสำคัญของปรีดี พนมยงค์ ที่คนไทยไม่ควรลืม

21
พฤษภาคม
2564

หากศึกษาและพิจารณาถึงสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำตลอดระยะเวลา 15 ปี (2475-2490) ที่เขามีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยอย่างปราศจากอคติแล้ว จะเห็นว่าผลงานที่ปรากฏนั้น ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เพื่อชาติและประชาชนอย่างมั่นคง โดยยึดโยงกับหลักปรัชญาที่ปรีดีเรียกว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบด้วย หลักเอกราชอธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง และประชาธิปไตยสมบูรณ์ (เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม)

ดังนั้น ความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงอยู่ที่ความเป็นเอกราชของชาติ และการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นหัวใจสำคัญ ดังที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดแจ้ง ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

 

 (1) การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475

 

 

‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้ประกาศปฏิญญาเพื่อพัฒนาประเทศไว้เป็นหลัก 6 ประการ ดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

(2) เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ 

 

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 วัน คณะราษฎรได้นำร่าง “พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475” ซึ่งร่างโดย “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือ ปรีดี พนมยงค์ ทูลเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยปฐมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1 อย่างชัดเจนและหนักแน่นในเจตจำนงว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายไปก่อน และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475” ซึ่งปรีดีเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงคนเดียวที่มาจากคณะราษฎร ส่วนคณะกรรมการที่เหลืออีก 8 คน ล้วนแต่เป็นขุนนางในระบอบเก่าทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จึงเป็นการประณีประนอมกันระหว่างระบอบใหม่และระบอบเก่า ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบ 

 

(3) เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ

 

 

เนื่องจากปรีดีเห็นว่า “เศรษฐกิจเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม” จึงต้องเร่งนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี 2476 ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน โดยให้เหตุผลในการวางรูปเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ว่า

“การบำรุงความสุขของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” [1]

สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ก็คือ การให้การประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย หรือที่ปรีดีเรียกว่า “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และรัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ในรูปแบบสหกรณ์สังคมนิยม (Socialist Cooperative) ซึ่งโดยเป้าหมายแล้วก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนั่นเอง

ถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นเพียง “เค้าโครง” แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลพระยามโนฯ จนถึงขั้นประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร (ทั้งที่ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสภาฯ) และ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับออกแถลงการณ์ประณามปรีดีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงมติว่าปรีดีไม่มีมลทินตามที่ถูกกล่าวหา [2]

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจไม่ใช่แนวคิดคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่มีการยึดที่ดินของคนรวย ไม่ทำลายนายทุน แต่ต้องการสมานประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานให้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ รัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการประดิษฐ์คิดค้นของบุคคล ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน [3]

 

(4) จัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ

 

 

ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดรูปแบบการบริหารส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตนเองและมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง โดยริเริ่มจัดตั้ง “เทศบาล” ขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. เทศบาล และยังได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องตามระบอบรัฐธรรมนูญ คือ ให้มีสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาแบบเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร มีนายกเทศมนตรีบริหารงานท้องถิ่นแบบเดียวกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การปกครองระบอบเทศบาลของส่วนท้องถิ่นนี้ นับว่าเป็น “การปกครองโดยราษฎรเพื่อราษฎร” อย่างใกล้ชิดที่สุด และยังเป็นการปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยให้หยั่งรากทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าต้นประชาธิปไตยจะไม่มีวันถูกถอนรากถอนโคนให้สิ้นซากได้   

 

(5) ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 1 ปี ปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ เพื่อเป็น “ตลาดวิชา” ที่ให้ความรู้ทางกฎหมาย ทางการเมืองการปกครองแก่ประชาชน อันเป็นรากฐานทางความรู้ที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศและอายุ ตามคำมั่นที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” 

 

(6) เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์

 

 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไทยถูกมหาอำนาจหลายประเทศบังคับให้จำต้องทำสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค โดยยอมให้ประเทศเหล่านั้นมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกว่า “สภาพนอกอาณาเขต” ส่วนในทางเศรษฐกิจ ไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 (ร้อยชักสาม) ของราคาสินค้าขาเข้า ผูกมัดไม่ให้เก็บศุลกากรตามชายแดนแม่น้ำโขง ฯลฯ

เมื่อปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้เริ่มลงมือปลดแอก ผ่านการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว โดยใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญานั้น แล้วยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ และได้ใช้ความพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก “ดุลยภาคแห่งอำนาจ” ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ทำให้ไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ 

 

(7) ปรับปรุงภาษี และสถาปนาประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรก

 

 

ปรีดี พนมยงค์ ได้ปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมซึ่งเป็นที่มาของภาษีอัตราก้าวหน้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ ใครมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ใครมีรายได้น้อยก็เสียน้อย ใครบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก ตามส่วนแห่งความสามารถที่จะเสียภาษีได้ จากเดิมที่ไม่ว่าคนจนหรือมั่งมีก็ต้องเสียภาษีเท่ากัน

ในขณะเดียวกันก็ยกเลิกภาษีที่ขูดรีดขูดเนื้อราษฎรออกไปทันที เช่น ภาษี “รัชชูปการ” หรือ ภาษีส่วย ซึ่งราษฎรต้องเสียให้เจ้าศักดินา รวมถึงยกเลิกอากรยิบย่อยทั้งหลาย เช่น อากรค่านา อากรสวน ซึ่งราษฎรที่ทำนาทำสวนต้องส่งบรรณาการให้แก่เจ้าศักดินา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สถาปนา “ประมวลรัษฎากร” เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม ใช้มาจวบจนปัจจุบัน

 

(8) ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

หลังจากการปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ริเริ่มสร้างเสถียรภาพด้านการคลังในลำดับขั้นต่อไป คือ การตั้งธนาคารกลางของชาติไทย ดังที่เขียนไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากเรื่องการธนาคารเป็นของใหม่ คนไทยยังไม่คุ้นชิน แต่ปรีดีเล็งเห็นว่าจะเกิดสงครามขึ้นในยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของไทยด้วย จึงต้องเร่งลงมือทำไปที่ละขั้น

ตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ใน พ.ศ. 2483 และฝึกหัดเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม จนดำเนินงานไปได้ด้วยดีแล้วจึงจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น ตาม พ.ร.บ. ธนาคารชาติไทย 2485 เป็นธนาคารแห่งชาติ และได้พัฒนาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

(9) จัดตั้งขบวนการเสรีไทย ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

 

 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ปรีดีได้เล็งเห็นแนวโน้มว่าลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์จะเป็นชนวนให้เกิดสงคราม จึงได้สร้างภาพยนต์ “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฎในภาพยนต์ว่า “ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ” และยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามก็พร้อมที่จะต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี

แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลาง ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้ประเทศไทยรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด จึงไม่ยอมลงนามในประกาศสงคราม และยังได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในทันที ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” โดยมีภารกิจในการต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน และปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนไทย

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็น “โมฆะ” ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม มีการเดินขบวนสวนสนามของขบวนการเสรีไทยอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงว่าชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง

 

(10) รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ 2489 

 

 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวตอของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราวที่จะต้องเปลี่ยนระบอบเก่าที่มีมาแต่โบราณ ให้เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบนั้น ต้องมีกึ่งประชาธิปไตยก่อน ทำให้ยังไม่สามารถให้สิทธิประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่แก่ราษฎร ในระยะแรกของการจัดตั้งระบบรัฐสภา จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ 2 ประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และสมาชิกประเภทที่ 2  ที่มาจากสมาชิกคณะราษฎร โดยมีกรอบเวลาเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการปกครองในระบอบใหม่ดีขึ้น

ต่อมาเมื่อการปกครองในระบอบใหม่เข้าที่เข้าทางดีแล้ว ปรีดีได้เสนอต่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ว่าเห็นควรที่จะยกเลิกบทเฉพาะกาลและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับราษฎรได้แล้ว สมาชิกประเภทที่ 2 จึงได้ร่วมมือกับสมาชิกประเภทที่ 1 จัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ขึ้นแทนฉบับ 2475

รัฐธรรมนูญ 2489 ได้บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย “พฤฒิสภา” (Senate) กับ “สภาผู้แทนฯ” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด จึงเป็นผู้แทนปวงชนอย่างสมบูรณ์ตามความหมายของ “ประชาธิปไตย” คือ ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ นอกจากนี้ยังให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ปวงชนชาวไทยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ

หากแต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2489 นี้มีอายุสั้นเพียง 18 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 โค่นล้ม พร้อมกับการลี้ภัยทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ แล้วคณะรัฐประหารก็ได้สถาปนาระบอบการปกครองขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรเลย

 


อ่านเพิ่มเติม

อ้างอิง

เอกสารอ้างอิง