หมวดที่ ๑๐
แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
เพื่อที่การประกอบเศรษฐกิจจะได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อยและได้ผลดี รัฐบาลก็จำต้องวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาตินี้จะต้องคำนวณและสืบสวนเป็นลำดับดั่งต่อไปนี้
ความเป็นอยู่ของอารยประเทศ
๑. จำต้องคำนวณและสืบสวนว่า ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎรนั้น มีอะไรบ้างและ ฯลฯ จะต้องมีจำนวนเท่าใดจึ่งจะพอเพียงแก่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตามควรแก่ความเจริญ ไม่ใช่คำนวณอย่างการแร้นแค้น เช่นอาหารก็จะต้องคิดถึงจำนวนข้าว เนื้อสัตว์ เกลือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล ฯลฯ ซึ่งบุคคลธรรมดาไม่ยากจนจะต้องมีรับประทาน เครื่องนุ่งห่มก็จะต้องคิดถึงจำนวนผ้าและแพรซึ่งบุคคลธรรมดาไม่ยากจนจะต้องมี เช่น หมวก เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า ฯลฯ
เหล่านี้ ในเรื่องสถานที่อยู่ก็จะต้องคิดว่าในครอบครัวหนึ่งมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง บ้านนั้นไม่ใช่กระท่อมหรือกระต๊อบจะต้องเป็นบ้านที่บุคคลธรรมดาอยู่ได้ด้วยความผาสุกและทนทานได้นาน เช่น ตึก เป็นต้น ต้องคิดถึงการเปลี่ยนกระท่อมหรือโรงนา ซึ่งเหมือนกับคนป่าในอาฟริกาในเวลานี้ มาเป็นตึกรามซึ่งมีสภาพเท่าเทียมอารยประเทศ
ในการคมนาคมนั้นเล่า ก็ต้องคิดถึงการคมนาคมทางบกว่าจะต้องสร้างรถไฟ ถนนหนทางอันเชื่อมราษฎรทุกๆ สหกรณ์ ทุกๆ ตำบลในพระราชอาณาจักรให้ทั่วถึงกัน การสร้างคลองหรือท่าอันเป็นการคมนาคม ทางน้ำและการคมนาคมทางอากาศ ตลอดจนยวดยานที่ราษฎรในครอบครัวหนึ่งหรือในสหกรณ์หนึ่งๆ ควรมีควรใช้ เช่น รถยนต์ เหล่านี้ต้องเทียบกับสภาพของคนไทยที่จะให้มีสิ่งเหล่านี้เท่าเทียมกับคนที่มีอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว
๒. เมื่อคำนวณและสืบสวนดั่งกล่าวในข้างต้นแล้ว ก็จะต้องคำนวณและสืบสวนต่อไปว่า สิ่งเหล่านั้นถ้าจะทำขึ้น จะต้องอาศัยที่ดินแรงงาน เงินทุนเป็นจำนวนเท่าใด เช่น การปลูกข้าวซึ่งจะเพียงพอแก่การที่พลเมือง ๑๑ ล้านรับประทาน เช่น สมมติจะต้องการข้าวสาร ๒,๙๓๑ ล้านกิโลกรัมจะต้องอาศัยที่นา ๑๕ ล้านไร่ และจะต้องอาศัยแรงงานตามวิธีต่างๆ สุดแต่การทำนาจะใช้แรงคนกับแรงสัตว์พาหนะ หรือ จะใช้แรงคนกับเครื่องจักรกล เช่น การไถ ถ้าคนไถตามธรรมดาจะได้วันละ ๑/๒ ไร่ ในการไถก็สิ้นแรง ๓๐ ล้านแรง แต่ถ้าใช้เครื่องจักรกล ซึ่งเครื่องจักรไถนาเครื่องหนึ่งไถได้วันละ ๔๐ ไร่ ซึ่งต้องการคนขับคนหนึ่ง และ ผู้ช่วยคนหนึ่งแล้ว แรงงานของคนก็จะต้องใช้เพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรงเท่านั้น ทุ่นแรงงานได้หลายเท่า
สมมติว่าการคราดและหว่าน ถ้าใช้แรงคนก็ต้องสิ้น ๑๕ ล้านแรง แต่ถ้าใช้เครื่องจักรกล ก็จะต้องใช้เพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรง (เทียบตามข้างต้น) การเกี่ยว ถ้าใช้แรงคนก็ต้องสิ้น ๓ ล้านแรง แต่ถ้าเครื่องจักรกลนำมาใช้ได้ โดยปรับที่นาให้ไขน้ำออกได้ ซึ่งเครื่องจักรกลเกี่ยวจะใช้การได้แล้ว ก็ต้องใช้แรงคนเพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรง
การลากเข็นจากที่นามายังโรงนา ถ้าใช้แรงคนก็ต้องสิ้น ๑๕ ล้านแรง แต่ถ้าใช้เครื่องจักรกล ก็จะต้องใช้แรงคนเพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรง เครื่องจักรกลทุ่นแรงงานดั่งนี้ รวมแรงานที่จะต้องใช้จึงอาจเป็นดั่งนี้
ก. ถ้าใช้แรงคน ผสมกับแรงสัตว์พาหนะเท่านั้นสิ้นแรงงาน ๙๐ ล้านแรง
ข. ถ้าใช้เครื่องจักรกลในการไถ คราด หว่าน ลากขน ส่วนการเก็บเกี่ยวใช้แรงคน เมื่อเครื่องจักรกลยังนำมาใช้ไม่ได้ ก็จะต้องสิ้นแรงงาน ๓๒,๒๕๐,๐๐๐ แรง
ค. ถ้าใช้เครื่องจักรกลทั้งหมด ก็จะใช้แรงคนเพียง ๓ ล้านแรงเท่านั้น และเงินทุนที่จะต้องใช้ก็ต่างกัน เช่น ถ้าใช้เครื่องจักรกลก็ต้องหาซื้อเครื่องจักรกลและน้ำมัน สมมติว่าที่นา ๑๕ ล้านไร่ ใช้เครื่องไถ ๕,๐๐๐ เครื่องๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท ดั่งนี้ทุนที่จะซื้อเครื่องไถนาก็คงเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอาจผ่อนส่งเงินเป็นงวดๆ ได้ และ หาทุนในการซื้อน้ำมันหรือตั้งโรงกลั่นกรอง ขุดหาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงอื่นๆ
๓. เมื่อทราบจากการคำนวณดั่งกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะต้องคำนวณและสืบสวนถึงที่ดิน แรงงาน เงินทุนของรัฐบาลที่มีอยู่ในเวลานี้ และ ที่จะมีขึ้นเพื่อทราบกำลังแห่งการที่จะประกอบเศรษฐกิจ เช่น ที่ดินเรามี ๓๒๐ ล้านไร้เศษ เป็นที่นาแล้ว ๑๘ ล้านไร่ และเป็นที่ไร่ที่ป่าซึ่งจะปลูกพืชผลได้อย่างไร และจัดการทำป่าไม้อย่างไร ในใต้ดินมีแร่อย่างไร ซึ่งเราจะจัดการขุดขึ้นมาใช้ได้ และ
คำนวณถึงแรงงาน เช่น พลเมือง ๑๑ ล้านคนนี้ สมมติคงเป็นเด็กและคนชราซึ่งทำงานไม่ได้ ๕ ล้านคน คงเป็นคนที่ทำงานได้ ๖ ล้านคน ในวันหนึ่งทำงาน ๘ ชั่วโมง และปีหนึ่งทำงาน ๒๘๐ วัน หยุด ๘๕ วัน คงได้แรงงาน ๑,๖๘๐ ล้านวันแรงงาน ในบรรดาแรงงานเหล่านี้ ก็จะแยกเป็นแรงงานที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงเท่าไร แรงงานฝีมือเท่าไร แรงงานวิชาพิเศษ เช่น นายช่าง แพทย์ ครูเท่าใด แรงงานในการควบคุมเช่นหัวหน้างาน และ ข้าราชการฝ่ายปกครองเท่าใด และ จะต้องคำนวณถึงเงินทุนที่รัฐบาลจะจัดให้มีได้ เช่น การกู้เงินกายใน การร่วมมือกับผู้มั่งมี การเก็บภาษีทางอ้อมอันไม่ให้เป็นการเดือคร้อนแก่ราษฎร
เมื่อเราคำนวณได้ดั่งนี้แล้วก็จะทราบได้ว่า เรามีที่ดิน และ แรงงานเหลืออยู่เท่าใด เราขาดเงินทุนเท่าใด และ เราจะจัดให้ที่ดินนั้นเป็นประโยชน์อย่างไร และแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์อย่างไร และ ที่สุดก็จะประมาณได้ว่าการที่จะทำให้ราษฎรได้ถึงซึ่งความสมบูรณ์นั้น เราจะต้องอาตัยเวลาเท่าใด ในปีหนึ่งๆ เราประมาณว่าจะทำได้อย่างไร
เริ่มใช้เป็นส่วนๆ
และในที่สุดก็จะทราบได้ว่า เราจะเริ่มใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติในท้องที่ใดก่อนและเริ่มการเศรษฐกิจใดก่อน เช่นนี้เป็นลำดับไป จนทั่วพระราชอาณาจักร
อบรมผู้ชำนาญ
การกระทำใดๆ เมื่อไม่คำนวณกำลังให้ดีแล้วการนั้นจะสำเร็จได้ยาก และ เมื่อเราทราบว่าเราขาดกำลังอันใด เราก็ควรหากำลังอันนั้น เช่น เราขาดผู้ชำนาญการพิเศษ เราก็จะต้องจ้างชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิเศษมาใช้ไปพลางก่อน และ อบรมคนของเราซึ่งจะต้องวางแผนการอบรมไว้ด้วย
หมวดที่ ๑๑
ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก ๖ ประการ
การที่รัฐบาลจัดการประกอบเศรษฐกิจเสียเองโดยการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์นั้น ย่อมทำให้วัตถุที่ประสงค์อื่นๆ ของคณะราษฎรได้สำเร็จได้อย่างดียิ่งกว่าที่จะปล่อยการเศรษฐกิจให้เอกชนต่างคนต่างทำ ดั่งจะเห็นได้ตามที่จะได้ชี้แจงต่อไปนี้
บทที่ ๑
เอกราช
ก) เอกราชในทางศาล
ในการที่จะจัดทำประมวลกฎหมายให้ครบถ้วนตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้นั้น ในข้อนี้ไม่จำเป็นต้องกล่าว เพราะเหตุว่าการร่างในขณะที่เขียนคำชี้แจงอยู่นี้ได้จวนเสร็จอยู่แล้ว
ข) เอกราชในทางเศรษฐกิจ
เมื่อเราจัดทำสิ่งที่จะอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการที่จะดำรงชีวิตได้เอง และรัฐบาลควบคุมการกตราคาหรือขึ้นราคา โดยที่เอกชนได้ทำเล่นตามชอบใจในเวลานี้ได้แล้ว เราก็ย่อมเป็นเอกราชไม่ต้องถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ตราบใตที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ในทางเศรษฐกิจไม่ได้
ค) เอกราชในทางการเมือง
เมื่อบ้านเมืองเรามีสิ่งอุปโภคบริโภค ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตพร้อมบริบูรณ์ เรามีอาวุธในการป้องกันประเทศได้เพียงพอ และเราบำรุงการศึกษาได้ด้วยมีแรงงานที่จะจัดให้ครูอบรมสั่งสอน เราจัดบำรุงอนามัยของราษฎร โดยอาศัยวิธีที่รัฐบาลจัดการเศรษฐกิจเสียเอง อันเปิดช่องทางความสะดวกแก่การบำรุงอื่นๆ แล้ว จะมีประเทศใดเขามาราวี
เวลานี้มีแต่พากันบ่นกลัวฝรั่งไม่กล้าทำอะไรลงไป ก็เมื่อเราจะจัดบ้านเมืองของเราตามความเอกราชของเราที่มีอยู่ เรารักษาสัญญา และ ข้อตกลงกับเขา เราไม่เบียดเบียนหรือกีดกันอาชีพของเขาที่มีอยู่ในสยามเวลานี้ เรายังคงแลกเปลี่ยนสินค้ากับเขา คือซื้อสินค้าของเขาในประเภทที่เราทำเองไม่ได้ เช่น เครื่องจักรกลเราซื้อเขามากขึ้นแทนที่จะซื้ออาหารจากเขาซึ่งเราทำของเราเองได้
ดั่งนี้ต่างประเทศใดเขาจะมาข่มเหงเรา ถ้าเรามัวกลัวฝรั่งว่าเขาจะข่มเหงเราในทางที่ผิด แม้เราจะเป็นฝ่ายที่ทำเช่นนั้นแล้ว เราก็อย่าทำอะไรเสียเลยดีกว่า แม้แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ในชั้นแรกเรามิกลัวฝรั่งว่าเขาจะข่มเหง หรือ แต่เขาก็มีน้ำใจดีเพียงพอที่จะไม่มาข่มเหงอันใด ฝรั่งเขาเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติจริงอยู่ แม้จะมีผู้ดูถูกสันนิบาตชาติว่าทำอะไรไม่ได้จริงจัง แต่ก็ยังเป็นเครื่องที่ยับยั้งการกดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมได้ไม่มากก็น้อยซึ่งผิดกว่าในครั้งก่อน
ขอให้ดูการพิพาทระหว่างบริษัทน้ำมันอังกฤษ กับ ประเทศเปอร์เซีย ซึ่งเปอร์เซียก็มีอาณาเขต และ พลเมืองไล่เลี่ยกับเรา ความเจริญในทางการศึกษาส่วนมากของพลเมืองก็ไล่เลี่ยกับเรา แต่ทำไมเมื่อเปอร์เซียถอนสัมปทานของบริษัทอังกฤษ อังกฤษก็ไม่จูโจมมาข่มเหง ข้าพเจ้าคิดว่าเขามีธรรมะพอจึงนำเรื่องขึ้นว่ากล่าวในสันนิบาตชาติแทนที่จะยกกองทัพไปรบ เมื่อเราไม่ต้องการข่มเหงเบียดเบียนชาวต่างประเทศเราต้องการบำรุงประเทศเราเหตุไฉนเขาจะมากดขี่ข่มเหงเรา
บทที่ ๒
การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
ข้าพเจ้าเคยแสดงปาฐกถาที่สามัคคยาจารย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่าเหตุแห่งการที่บุคคลกระทำผิดอาชญานั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. เหตุอันเกี่ยวแก่นิสัยสันดานของผู้กระทำผิดนั้นเอง
๒. เหตุอันเนื่องจากการเศรษฐกิจ เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้น เหล่านั้น ก็เมื่อรัฐบาลได้จัดให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์ มีอาหารกิน มีเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ แล้วก็เหตุไฉนการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากการเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่อีกเล่า เหตุแห่งการกระทำผิดอาชญาจะคงเหลืออยู่ก็แต่เหตุอันเนื่องแต่นิสัยสันดานของผู้กระทำผิดซึ่งจะต้องคิดแก้ไขโดยอบรมและสั่งสอนดัดนิสัย และเมื่อผู้อบรม ผู้สั่งสอน ผู้ตัดนิสัยได้มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจแล้วในการอบรมสั่งสอนดัดนิสัยจะได้ผลดียิ่งขึ้น
บทที่ ๓
การเศรษฐกิจ
การเศรษฐกิจซึ่งคณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า รัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ก็จะเป็นการสมจริงไม่ใช่หลอกลวงประชาชน ซึ่งข้อนี้มีผู้เข้าใจผิดเพราะเห็นว่ารัฐบาลยังมิได้ทำการใด แต่ที่ยังมิได้กระทำการใดก็เพราะยังมิได้ดำเนินการตามความคิดของข้าพเจ้า เมื่อได้ดำเนินการตามความคิดของข้าพเจ้าที่ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเสียเองแล้วราษฎรทุกคนจะมีงานทำ โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ แม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลแล้ว ราษฎรก็จะไม่อดอยากเพราะเงินเดือนที่รัฐบาลจะให้ในอัตราขั้นต่ำก็จะได้กำหนดให้พอเพียงที่จะซื้อหรือแลกเปลี่ยนกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ตามความต้องการของราษฎร
บทที่ ๔
เสมอภาค
ความเสมอภาคก็ย่อมจะมีขึ้นได้ในสิทธิและหน้าที่ ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษ ยังเป็นการเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการแม้จะเป็นในทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย แต่ไมใช่เสมอภาคในการที่คนหนึ่งมีเงิน ๑๐๐ บาท จะต้องริบเอามาแบ่งเท่าๆ กันในระหว่าง ๑๐๐ คนๆ ละ ๑ บาท ตามที่นักปราชญ์ในประเทศสยามท่านอ้างว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์เขาแบ่งกันเช่นนั้น เราเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามที่ท่านนักปราชญ์ในประเทศสยามท่านกล่าวนั้น และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกันดังที่นักปราชญ์ท่านกล่าว
บทที่ ๕
เสรีภาพ
ข้อนี้ผู้มองแต่ผิวๆ จะดัดด้านทันทีว่าการที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าเป็นข้าราชการนั้น และ การที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองนั้น จะเป็นการตัดเสรีภาพ จริงอยู่เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ แต่การตัดเสรีภาพนั้นก็เพื่อจะทำให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ทั้งหมด เป็นการปฏิบัติหลักข้อ ๓ รัฐบาลไม่ใด้ตัดเสรีภาพในการอื่นๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในเคหะสถาน ในการพูด ในการศึกษาอบรม ในการสมาคม
เมื่อราษฎรได้มีความสุขภายในเศรษฐกิจแล้ว ราษฎรก็ย่อมมีความสุขกาย ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้น หรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย แม้ในเวลานี้เองราษฎรก็ต้องทำงานเองเพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากพวกที่เกิดมาหนักโลกอาศัยคนอื่นเขากิน (Parasite Sociale) ไม่ว่าในประเทศใดๆ เสรีภาพย่อมจำกัดเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหมดด้วยกัน และคณะราษฎรก็ได้ประกาศไว้แล้วว่า เสรีภาพนั้นจะทำให้เกิดได้เมื่อไม่ขัดกับหลัก ๔ ประการ ดั่งได้กล่าวข้างต้น
บทที่ ๖
การศึกษา
ราษฎรจะมีการศึกษาอย่างเต็มที่ เมื่อราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์โดยรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองแล้ว ราษฎรก็ย่อมจะได้รับการศึกษา แทนที่จะคอยพะวงถึงทรัพย์สินของตนว่าจะเป็นอันตรายสูญหาย และรัฐบาลยังอาจที่จะบังคับให้ราษฎรที่เป็นข้าราชการจำต้องเล่าเรียน แม้ราษฎรผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๕ ปีก็ตาม
เมื่อเป็นข้าราชการแล้วก็จำต้องเรียน โดยวิธีที่เอกชนต่างคนต่างทำนั้น การบังคับให้ผู้ใหญ่เรียน ย่อมเป็นการยากก็เมื่อการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้วัตถุประสงค์ทั้ง ประการของคณะราษฎรได้สำเร็จไปตามที่ได้ประกาศแก่ราษฎรไว้แล้ว สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอริยะ ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ไฉนเล่าพวกเราที่ได้พร้อมใจกันไขประตูเปิดช่องทางให้แก่ราษฎรแล้วจะรีๆ รอๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากตันไม้นั้น คือผลแห่งความสุขความเจริญ
ดั่งที่ได้มีพุทธทำนายกล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอาริย์ในเรื่องนี้ผู้ถือศาสนาทุกคนในการทำบุญปรารถาจะประสบศาสนาพระศรีอาริย์ แม้ในการสาบานในโรงศาลก็ดี ในการพิธีใดๆ ก็ดี ก็อ้างกันแต่ว่า เมื่อซื่อสัตย์หรือให้การไปตามจริงแล้ว ก็ให้ประสบพบศาสนาพระศรีอาริย์ ก็เมื่อบัดนี้เราจะดำเนินวิถีไปสู่อาริยสมัย แต่ก็ยังจะมีบุคคลที่จะถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งถอยหนักๆ เข้าก็จะกลับไปสู่สมัยก่อนพุทธกาลคือเมื่อ ๒๔๗๕ ปีที่ล่วงมาแล้ว
ที่มา: เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หมวดที่ 10 แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ, หมวดที่ 11 ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก ๖ ประการ
อ่าน: 'สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ฉบับเต็ม
หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- คณะราษฎร
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
- ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
- การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
- ภราดรภาพ
- ภราดรภาพนิยม
- ลัทธิภราดรภาพนิยม
- หลัก 6 ประการ
- 24 มิถุนายน 2475
- วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- การปฏิวัติสยาม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- การประกันสุขสมบูรณ์ของราษฎร
- ประกาศของคณะราษฎร
- เอกราช
- การเศรษฐกิจ
- เสมอภาค
- เสรีภาพ
- การศึกษา