ชีวิตที่ผ่านมา ๙๕ ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข ได้เห็นสัจจะของโลกมามากต่อมาก ท่านได้สรุปว่า “กว่า ๙๐ ปีของชีวิตฉันที่ผ่านมา เหตุการณ์มากมายหลายอย่าง ได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจในสัจจะของโลกอย่างแจ่มชัด แม้ในอดีตจะมีความแปรผันที่ทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โถมกระหน่ำเข้ามา หากฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีกตลอดเวลา ฉันไม่เคยลืมตัวหรือรู้สึกว่า ต้องสวมหัวโขน จึงไม่เคยคิดว่าชีวิตได้มีความแปรเปลี่ยน แต่อย่างใด…”
จึงไม่แปลกเลยว่า ในวัย ๙๕ ปีกว่าๆ ใครๆ ก็ชมว่าท่านผู้หญิงพูนศุข สุขภาพแข็งแรง มีความจำดี ไม่หลงลืม และไม่เลอะเลือนท่าน ผู้หญิงพูนศุขใช้ชีวิตสมถะและเรียบง่าย ให้ความเมตตาเห็นอกเห็นใจและเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์และผู้ด้อยโอกาสอย่างเป็นกันเอง จึงเป็น “คุณป้า” “คุณย่า” และ “คุณยายท่าน” ของคนรุ่นหลัง
กิจวัตรในแต่ละวันที่บ้านพูนศุข ถนนสาทรใต้ ๓ เป็นดังนี้ ตื่นตีสอง (สองนาฬิกา) เปิดวิทยุฟังพระสงฆ์เทศน์ ฟังข่าว วันอาทิตย์ดูโทรทัศน์ที่มีการเทศน์โดยนักบวชศาสนาคริสต์บ้าง ศาสนาอิสลามบ้าง (บรรพบุรุษสายหนึ่งของท่านสืบเชื้อสายมาจาก “สุลต่านสุไลมาน”) เมื่อทำธุระส่วนตัวแล้ว ท่านจะออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนสลับกับการดึงเชือกเพื่อบริหารแขน แล้วก็จะเดินรอบบ้าน ๓ รอบ
จากนั้นก็อ่านพาดหัวข่าวและหัวข้อข่าวโปรยของหนังสือพิมพ์ เนื่องจากจอประสาทตาเสื่อมตามวัย จึงทำให้อ่านตัวหนังสือจิ๋วๆ ไม่ได้ แต่ถ้าหนังสือเล่มใดที่ตัวหนังสือใหญ่นิดหน่อย ท่านก็จะอ่านด้วยความสนใจ หนังสือเล่มล่าสุดที่ท่านอ่านคือ “รักลูกให้ถูกทาง” ลิขิตโดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทเถระ) ท่านผู้หญิงแนะนำคนที่เป็นพ่อแม่หลายคนให้อ่านหนังสือเล่มนี้
ก่อนหน้าจะละสังขาร ๖ วัน วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม ท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ไปนมัสการพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทเถระ) ที่วัดชลประทานฯ พร้อมร่วมทำบุญสร้างอุโบสถกลางน้ำของวัดในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรี อยุธยา
สายๆ ในแต่ละวัน บางทีก็มีลูกหลานมาเยี่ยม บางทีก็ได้รับเชิญไปเป็นประธานในงานที่เป็นกิจกรรมของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ หรือ กิจกรรมสร้างสรรค์สังคมอื่นๆ ถ้าไม่มีผู้มาเยือน ท่านผู้หญิงก็จะนั่งพักผ่อนบ้าง อ่านหนังสือบ้าง เขียนคำไว้อาลัยบ้าง เขียนบัตรอวยพรวันเกิดญาติมิตรบ้าง ในเรื่องนี้ท่านจดจำวันเกิดของญาติมิตรได้อย่างแม่นยำ และถือโอกาสแสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วย
ส่วนอาหารมื้อกลางวันนั้น ท่านมักจะเรียกว่า “มื้อเพล” เพราะจะรับประทานในเวลา ๑๑.๓๐ น. หรือก่อนหน้านั้น ท่านผู้หญิงพุนศุข ให้ความสำคัญที่จะถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ ๗๕ ปีให้คนรุ่นหลังรับทราบอย่างตรงไปตรงมา ท่านร่างหัวข้อให้บุตรสาวที่ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวไปร่างข้อความตามคำบอก แล้วนำมาตรวจทาน แก้ไขให้ถูกต้อง หรือแม้แต่บทสัมภาษณ์สื่อต่างๆ ท่านก็จะขอนำมาตรวจและแก้ไขทุกครั้ง แต่ก็มีบ้างที่ผู้สัมภาษณ์มิได้นำมาเสนอให้ท่านตรวจทานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักจะมีข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างน่าเสียดาย
ทุกวันศุกร์ ท่านจะไปจ่ายตลาดที่ตลาดนัดบริเวณหน้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลาสลิด น้ำพริกมะม่วงผัด ผักสด เป็นอาหารที่ชอบมากเป็นพิเศษ รับประทานได้ทุกมื้อทุกวัน หลังอาหารกลางวัน ท่านจะเอนหลังพักผ่อน พอจะเคลิ้มๆ หลับได้บ้าง เมื่อถึงเวลาแดดร่มลมตก ท่านจะออกมานั่งที่เฉลียงหน้าบ้าน ทักทายผู้ปกครองและนักเรียนที่มาเรียนดนตรีและภาษาจีน แจกขนมเด็กๆ หรือเล่นกับ “คุ้กกี้” (สุนัขพันธ์ชิวาวาที่ท่านไม่ได้เลี้ยงเอง) อาบน้ำก่อนรับประทานอาหารมื้อค่ำ ดูข่าวโทรทัศน์แล้วเข้านอน
มาระยะหลังๆ ท่านมักจะบ่นว่าไม่เจริญอาหาร นอนก็ไม่ค่อยจะหลับ รู้สึกแน่นท้องและหน้าอกท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบ มีนิสัยชอบจดบันทึกประจำวัน เป็นเวลายาว นานหลายสิบปี จึงขออนุญาตนำข้อความในบันทึกมาเล่าสู่กันฟังว่า วาระสุดท้าย ท่านได้ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บด้วยความอดทนและกล้าหาญอย่างไร
บันทึกประจำวัน
วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน
“...คืนนี้ก่อนนอนหัวใจไม่ปกติ เพราะ spray ไม่หาย…”
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เมษายน
“เช้ารู้สึกเพลียไม่ได้ออกเดิน…”
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ เมษายน
“...ก่อนนอนมีอาการเกร็งหัวใจมาก spray ก็ไม่หาย รู้สึกอึดอัด เรียกโพธิ์ลีไปปลุกแป๋วเพื่อจะไป ร.พ. เตรียมตัวพร้อมแล้ว อาการดีขึ้นจึงไม่ไป”
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน
“เย็นวันเสาร์พบหมอ.....เล่าอาการให้ฟัง หมอบอกว่าคงไม่ใช่โรคหัวใจ เพราะพ่นยาหลายครั้งแล้วไม่หาย คงเป็นเรื่องท้อง ได้สั่งยาให้กินหลังอาหารเย็น ๒ เม็ด ก็ไม่มีอาการ หลับได้ ยาชื่อ AIR-X ภาษาไทยเขียนว่า แอร์-เอกซ์…”
วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม
“...เช้ามีอาการแน่นหน้าอก และไปถ่ายหนักหลายครั้ง... กลางคืนกิน Milk of Magnesi....
วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม
“...คืนนี้รู้สึกแน่นหน้าอก ได้ไปถ่ายหนักเวลาตี ๓ และกินยาขับลม ๒ เม็ด ตี ๕ ไปอีกครั้ง....”
วันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม
"เวลา ๒ น. เริ่มไปถ่ายและถ่ายติดๆ กันอีก ๔ ครั้ง วาณีโทรมาว่าได้นัดหมอ..... และหมอ.....แล้ว ก่อน ๙ น. ดุษมาและไป B.N.H. ด้วยกัน หมอ.....ตรวจและสั่งยา แต่ขอให้หมอ.....ตรวจก่อน แล้วจึงจะให้ใช้ยาที่สั่ง…
วันพุธที่ ๙ พฤษภาคม
“คืนวันอังคารมีอาการปวดร้าวที่อก ตอน ๒ ทุ่มคืนวันอังคาร ท้องเดิน เตรียมจะไปโรงพยาบาล ดุษมาและอยู่จนเห็นว่าค่อยยังชั่วจึงกลับ นอนไม่หลับเพราะปวดหน้าอก...คืนนี้ปวดหน้าอกมาก....”
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม
ท่านผู้หญิงพูนศุข เขียนบันทึกสั้นๆ เป็นลายมือครั้งสุดท้ายว่า
“ตอนสายครึ้มและฟ้าร้อง”
เช้าวันนั้น ท่านผู้หญิงยังเดินมาสั่งงานเลขาฯ ให้ส่งจดหมายอวยพรวันเกิดถึงญาติมิตร กลางวันรับประทานอาหารได้บ้าง แต่ไม่มากนัก คุยกับลูกๆ ด้วยความจำอันเป็นเลิศ สามารถท่องชื่อคล้องจองของสมาชิกครอบครัวหนึ่งที่รู้จักกันได้อย่างแม่นยำ และคุยกับลูกๆอย่างอารมณ์ดีว่า “แม่เป็นโรคใหม่ หมอบอกว่า กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับ จึงทำให้มีอาการแน่น” ท่านผู้หญิงพูนศุข เข้าใจตามที่แพทย์หลายท่านวินิจฉัยก่อนหน้านั้น รวมทั้งการวินิจฉัยเมื่อวันอังคารที่ ๘ พฤษภาคมว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ซึ่งในวันนั้นมิได้มีการตรวจ EKG. หรือวิธีการตรวจอื่นใดเป็นพิเศษ
แพทย์บอกเพียงแต่ว่า นัดให้มาพบอีกครั้งใน ๑ เดือน แต่ถ้ามีอาการก็ให้มาพบก่อนได้ ต้นๆ บ่าย ท่านบ่นว่าแน่นหน้าอกมากขึ้น และปวดแขนซ้าย จึงได้ตามหมอนวดจาก “ร้านสุขภาพไทย” มาช่วยคลายเส้น อาการแน่นและปวดก็ไม่หาย จนถึงบ่าย ๓ โมงกว่าๆ ท่านขอให้ลูกพาไปโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาอยู่เป็นประจำ ขณะรอแพทย์ คนดูแลท่านเล่าให้ท่านฟังว่าแม่ครัวเป็นโรคกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับก็มีอาการเช่นนี้ ท่านผู้หญิงบ่นสงสารแม่ครัวว่า กลางคืนไม่สบาย กลางวันยังต้องทำงานอีก ทั้งๆที่อาการโรคหัวใจของท่านอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ท่านยังนึกเห็นใจผู้อื่น
ขณะรอแพทย์นานกว่าครึ่งชั่วโมง พยาบาลจัดให้นอน แต่ท่านขอนั่ง เพราะมีอาการเกร็งมาถึงกราม ในที่สุด แพทย์วินิจฉัยว่าหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจตีบ ๑ เส้นหรือมากกว่านั้น จะต้องทำ balloon ขยายหลอดเลือดด่วน และติดต่อทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำตัวท่านไปรักษาที่นั่นทันที
วันพฤหัสที่ ๑๐ พฤษภาคม เป็นวันหยุดพืชมงคล แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการสวนหลอดเลือดได้กรุณารีบรุดมาที่ตึก สก. ชั้น ๘ ทำการขยายหลอดเลือดได้สำเร็จ ๒ เส้น ด้วยวัยสูงอายุ ทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อน ความดันต่ำลงๆ
เช้าวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ท่านยังรู้สึกตัวดี สามารถสื่อสารถึงความปวดเมื่อยกับลูกๆ ได้ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดให้มีการวางพานพุ่ม ณ ลานปรีดีทุกปี ซึ่งท่านไม่เคยขาดการไปวางพานพุ่มเลยสักปีเดียว รวมทั้งปีนี้ ท่านก็เตรียมตัวที่จะไปร่วมงานเช่นเคย แต่ก็ไปไม่ได้เพราะต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน
ท่านผู้หญิงพูนศุข เพียรพยายามเพื่อก้าวข้ามสภาวะทุกข์ครั้งสุดท้ายด้วยจิตใจที่กล้าหาญ ในที่สุด ท่านก็ได้ละสังขารไปด้วยความสงบในเวลาสองนาฬิกาของวันที่ ๑๒ พฤษภาคม (ตามปฏิทินโบราณของไทยท่านว่า ยังไม่ย่ำรุ่ง จึงยังคงเป็นวันที่ ๑๑ พฤษภาคม และตามปฏิทินสุริยคติ โลกยังหมุนไม่ครบรอบการโคจรของดวงอาทิตย์ ดังนั้นยังคงเป็นวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เช่นกัน)
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เลือกวันเกิดไม่ได้ แต่ท่านได้ละสังขารตรงกับวันเกิดของคนที่ท่านรักและบูชาที่สุด คือ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เดินทางมาถึงปลายทางของการให้อภัยคนที่เคยมุ่งร้าย และการระลึกถึงความดีของผู้มีพระคุณอย่างสมบูรณ์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ทำทานอันเป็นมหากุศลครั้งสุดท้ายในชีวิต ด้วยการบริจาคสรีระให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาแพทยศาสตร์ โดยบุตรและธิดาท่านผู้หญิงพุนศุข พนมยงค์ ได้ปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน” อย่างเคร่งครัด ท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ไปสู่ดินแดนซึ่งไม่ยึดติดอยู่กับกาลเวลาเป็นไปตามกฎอนิจจังวัฏสังขารา ไม่มีมนุษย์ผู้ใดหลีกเสี่ยงได้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
“เพราะฉะนั้น หากจะต้องปิดฉากชีวิตลง ก็ถือว่าเป็นการปิดโดยธรรมชาติ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะรับไม่ได้ เพราะฉันเชื่อว่า ‘สรรพสิ่งในโลกย่อมเปลี่ยนผันไปตามกรรม’”
ที่มา : หนังสือธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์