ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #15 วันปรีดี พนมยงค์ “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

12
พฤษภาคม
2565

 

วันพุธที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องใน วันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2565 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #15 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ขึ้น ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ โดยมี ผศ.ชล บุนนาค นายเอกชัย ไชยนุวัติ ศิริกัญญา ตันสกุล พริษฐ์ วัชรสินธุ ร่วมเสวนา และ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงเสวนาในวันนี้ว่า "ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้" ซึ่งการพัฒนานี้ก็มีทั้งด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา วัฒนธรรม และความเท่าเทียม ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่บรรลุเป้าหมายในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs เช่นกัน

 

 

“ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่บรรลุเป้าหมายในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” 

รวมถึงภาพจำของปรีดี พนมยงค์ในสังคมไทยที่ถูกด้อยค่าและกลายเป็นชื่อต้องห้ามในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2520 ที่สังคมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มกลับมาพูดถึงได้อีกครั้ง พร้อมยกเหตุการณ์การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 เมื่อปี 2526 ที่มีการแปรอักษรถึงปรีดี พนมยงค์ ว่า 

“พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน  

พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี  

พ่อของข้านามระบือชื่อ ‘ปรีดี’ 

 แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”

 

การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโจทย์สำคัญของทั่วโลกในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ในงานเสวนา เสวนา PRIDI Talks #15 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้มีการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 มุมมอง ได้แก่ ภาพรวมของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการผสานสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ (ที่ยังไม่สมบูรณ์) การเรียนรู้และพัฒนา ยุทธศาสตร์ชาติที่แน่นิ่งกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และการศึกษาและความยั่งยืน

 

ภาพรวมของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ผศ.ชล บุนนาค

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป้าหมายดังกล่าวเป็นหลักการร่วมกันในฐานะบรรทัดฐานใหม่ของประชาคมโลก ซึ่งร่วมกันประกาศเจตนาที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่การพัฒนายั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะประชาธิปไตยจะหยั่งรากลึกได้ประเทศต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา”

"เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายสากลในระดับโลกที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งทุกๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงประเทศไทยได้ให้กับรับรองหลักการดังกล่าวในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยเป้าหมายดังกล่าวนี้มีเจตนารมณ์ที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ในปัจจุบันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความสำคัญในฐานะบรรทัดฐานใหม่ของโลก โดยเป็นกรอบแนวทางของการพัฒนาและกลายมาเป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศใดมีการพัฒนาที่ดีจะต้องมีทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในกรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เมื่อรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาจากองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกรอบที่เป้าหมายนั้นกำหนดไว้ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็ควรจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ในเรื่องของ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" หลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้ไว้ หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 16 ซึ่งมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ แม้ว่าในเป้าหมายที่ 16 จะไม่ได้มีการใช้คำว่าประชาธิปไตยก็ตาม

เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจากการเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าหากพิจารณาในเชิงสาระสำคัญในรายละเอียดของเป้าหมายที่ 16 จะเห็นได้ว่า เป้าหมายย่อยๆ เหล่านี้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ แม้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง แต่จะเห็นได้ว่า วิสัยทัศน์ที่นายปรีดีได้เคยให้ไว้นั้นยังคงสอดคล้องกับบรรทัดฐานของโลกในปัจจุบัน เช่น ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของการประกันรายได้จากการมีงานที่ดีทำ การเคารพสิทธิแรงงาน การรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน และการเคารพความเท่าเทียมทางเพศของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ 

ในแง่ความสัมพันธ์ เมื่อพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีคู่กัน กล่าวคือ ประชาธิปไตยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หากปราศจากประชาธิปไตยที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางแล้ว การจะขับเคลื่อนนโยบายตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยสมบูรณ์จะหยั่งรากลึกลงในสังคมใดได้นั้น สังคมนั้นจำเป็นจะต้องมีทรรศนะที่สอดคล้องร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้สังคมจะต้องมีการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการร่วมกันของคนในสังคม และในขณะเดียวกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นจะช่วยสร้างวัฒนธรรมด้านระบบธรรมาภิบาล (good governance) ซึ่งเรียกร้องให้ในการดำเนินนโยบายหรือกิจกรรมใดๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะต้องกระทำอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน รวมถึงจะต้องติดตามผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ ดังจะเห็นได้ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเองก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ที่สังคมได้รับจากการขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ควบคู่ไปกับการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือ การเปลี่ยนผ่านสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานบรรทัดฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกเสมือนเป็นภาษาสากลที่รัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศเข้าใจร่วมกัน รัฐหรือรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถปฏิเสธที่จะทำตามบรรทัดฐานดังกล่าวได้  ดังนั้น ในแง่ของการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตย เป้าต่างๆ ในกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลได้

 

 

ยุทธศาสตร์ชาติที่แน่นิ่งกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โดย ศิริกัญญา ตันสกุล

“ในการจัดอันดับประเทศที่มีการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยอาจจะมีลำดับที่ดีกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่ในความจริงประเทศไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะหากพิจาณากรอบเป้าหมายแต่ละเรื่องแล้ว ภายใต้กรอบดังกล่าวเต็มไปด้วยรายละเอียดอีกจำนวนมาก ซึ่งปัญหาของประเทศไทยคือ การขาดข้อมูลในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์  นอกจากนี้ อุปสรรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวได้ก็เพราะว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมากกว่า”

"เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหลายๆ เรื่อง โดยขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบเป้าหมายดังกล่าวมาพิจารณาในแง่มุมใด สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ความพยายามในการเดินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นอาจเรียกว่าทำได้ไม่ดีเท่าใดนัก แม้ว่าในแง่ของการจัดอันดับการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก ซึ่งมากกว่าประเทศสิงคโปร์

หากพิจารณาในความเป็นจริงอาจจะสวนทางกับภาพที่รัฐบาลแสดงให้เห็น ในเชิงหลักการปัญหาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นมีเพียง 17 เป้าหมาย แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ในแต่ละเป้าหมายนั้นมีขอบเขตและเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องดำเนินการมากพอสมควร ซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะมีข้อบกพร่องสำคัญ คือ การขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน

ในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล การขาดข้อมูลคืออุปสรรคสำคัญ เพราะเมื่อมีการกำหนดเป้าหมายขึ้นมา 17 เป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ การปฏิบัติตามเป้าหมายและติดตามผลการปฏิบัติตามเป้าหมายเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ปัญหาของประเทศไทยก็คือ การขาดข้อมูลที่ใช้ในการดำเนินการและติดตาม เมื่อพิจารณารายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2565 เป็นข้อมูลเก่าของปี พ.ศ. 2560 หรือปี พ.ศ. 2561 ซึ่งอาจจะล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในการปฏิบัติตามเป้าหมายและติดตามผลการปฏิบัติตามเป้าหมาย ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะหากปราศจากซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำแล้วการจะทำตัวชี้วัดใดๆ ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ

ปัญหาของการขาดข้อมูลนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการกำหนดกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสร้างภาระให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก่อน เพื่อป้องกันตัวเองมิให้ถูกคาดโทษ ทำให้ไม่สามารถที่จะมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้ยังไม่รวมถึงภารกิจอื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบประจำ ในกรณีของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การติดตามการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงหน้าที่หนึ่งเท่านั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

 

 

การศึกษาและความยั่งยืน โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้ว่า การศึกษาจะตอบโจทย์ 3 ด้าน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความเป็นธรรม และการเสริมสร้างประชาธิปไตย ซึ่งทั้งสามด้านนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาและรักษาประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะโดยสภาพแล้วการศึกษาเป็นกลไกหรือเครื่องมือพื้นฐานในการบรรลุทุกๆ เป้าหมาย”

การศึกษาที่มีคุณภาพ (เป้าหมายที่ 4) เป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้โดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งหากย้อนกลับไปพิจารณาความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ จะเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องการยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายด้านการศึกษานั้นโดยสภาพไม่ใช่เป้าหมายที่สามารถแยกออกจากเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างเป็นเอกเทศ แต่มองว่าการศึกษาเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในประเด็นอื่นๆ

การใช้การศึกษาเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ โดยหากเปรียบประเทศเป็นเค้กก้อนหนึ่ง การศึกษามีส่วนช่วยใน 3 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก ขยายสัดส่วนของเค้กให้ใหญ่ขึ้น กล่าวคือ การศึกษามีส่วนช่วยในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยทำให้รายได้รวมกันของทุกคนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ช่วยติดอาวุธทักษะให้กับประชาชน ซึ่งสามารถช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้

ลักษณะที่สอง ทำให้เกิดการแบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม โดยการศึกษามีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษานั้นไม่เพียงแต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในช่วงเวลานี้เท่านั้น แต่จะส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป  อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ลักษณะที่สาม นอกจากเค้กจะมีขนาดใหญ่แล้วและมีการแบ่งอย่างเป็นธรรม เค้กจะต้องมีรสชาติดี สิ่งนี้ก็คือ การเสริมสร้างให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เงื่อนไขหนึ่งคือ การแก้กฎกติกาทางการเมืองในรัฐธรรมนูญเพื่อให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุมขึ้น และทำให้สถาบันทางการเมืองทุกสถาบันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน แต่อีกมิตินึงที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คือ การปลูกฝังแล้วรณรงค์ค่านิยมประชาธิปไตย ซึ่งเวทีหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ห้องเรียน ถ้าเราอยากให้มีประชาธิปไตยที่เบิกบาน ค่านิยมประชาธิปไตยที่แพร่หลายในสังคม

 

 

ประชาธิปไตย (ที่ไม่สมบูรณ์) กับการเรียนรู้และพัฒนา โดย เอกชัย ไชยนุวัติ

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด หากแต่ในการดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเรียนรู้ตลอด”

ระบอบประชาธิปไตยมีความสวยงามอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งนี้เป็นสัจธรรมของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ประชาธิปไตยจึงต้องเปิดกว้างเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนา สาระสำคัญของการเข้าสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการพัฒนา

 

ช่วงถาม-ตอบ

Q: การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในสังคมที่ไม่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้หรือไม่?

ผศ.ชล บุนนาค : สามารถบรรลุได้แต่ ‘ไม่เป็นธรรม’ เพราะในสังคมเผด็จการย่อมสั่งได้ว่าให้ไปทำอย่างนั้นนี้ แต่ไม่ได้ดูว่ามีใครได้รับผลกระทบหรือเปล่า หรือเขาอยากจะลดด้วยหรือไม่ ดังนั้นแล้ว ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่จะทำให้เราได้ยินเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบและเตรียมรับมือในช่วงของการเปลี่ยนผ่านได้

Q: ทำอย่างไรให้กลุ่มนายทุนใหญ่รับผิดชอบต่อสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น?

ศิริกัญญา ตันสกุล : ต้องอาศัยพลังจากประชาชนในสองส่วนคือ 1) การเลือกผู้แทนประชาชนหรือรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้และต้องไม่แคร์กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน อย่างเช่นในเรื่องของการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย 

2) การเข้ามาส่วนร่วมในการตรวจสอบ เมื่อประชาชนตระหนักในสิทธิ์ของตัวเองและส่งเสียงเรื่องปัญหาต่าง ๆ ก็จะทำให้ช่วยขับเคลื่อนประเด็นเหล่านั้นได้ เช่น ปัญหาโรงขยะอ่อนนุชในปัจจุบัน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็มีการรวมตัวและผลักดันเรื่องนี้กันอย่างเข้มแข็งเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง 

Q: การศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้บ้าง?

พริษฐ์ วัชรสินธุ : เมื่อพูดถึงการศึกษาที่ยั่งยืนนั้นเราควรนึกถึงการศึกษาที่เป็นพลวัตสามารถแก้ไขได้ตลอด ไม่ใช่ว่าแก้หนึ่งครั้งแล้วไม่แก้ไขมันอีกเลย เพราะการศึกษานั้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่แล้วต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้มันสอดคล้องกับวิวัฒนาการหรือบริบทเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของโลก 

ซึ่งเราควรมองไปถึงหลายส่วน เช่น หลักประกันระหว่างรัฐบาลและผู้เรียนว่าพวกเขาจะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอะไรได้บ้าง ออกแบบวิธีการสอนและการประเมินให้สอดคล้องทักษะที่อนาคตต้องการ และนำเทคโนโลยีมาช่วยแบ่งเบาบทบาทของครูผู้สอนให้มีเวลาได้สร้างสรรมากขึ้น ดังนั้นแล้ว เรื่องของการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากสำหรับสังคมไทย เพราะถ้ายิ่งไม่ลงมือทำตอนนี้ การพัฒนาในอนาคตก็ยิ่งไกลออกไป 

ก่อนปิดกิจกรรม คุณสุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกแก่วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ

 

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://fb.watch/cYRiCKrTW_/

ที่มา : PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 "มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์" เนื่องในวาระ 122 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ จัดขึ้น ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์