“ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การพนันจึงเกิดขึ้น”
นั่นคือคำกล่าวที่เรามักจะแว่วยินกันอยู่บ่อยหน
หากอีกหลายบรรทัดที่ผมกำลังจะบอกเล่าต่อไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการนัดประชุมวางแผนยึดอำนาจของกลุ่มผู้นำ คณะราษฎร ช่วงก่อนหน้าที่พวกเขาจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งการนัดประชุมแต่ละครั้งมีลักษณะเข้าทำนอง “แม้ความคิดเห็นจะตรงกัน แต่การพนันก็เกิดขึ้น”
คุณผู้อ่านคงนึกสงสัยแล้วว่า การพนันมาเชื่อมโยงกับการวางแผนของ คณะราษฎร ได้อย่างไร เชิญอ่าน ณ บัดนี้ครับ
ปี พ.ศ. 2474 ครั้นเมื่อ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ผู้นำคณะราษฎรสายทหารสามารถเกลี้ยกล่อมคณะนายทหารให้เข้าร่วมเป็นพรรคพวกได้จำนวนไม่น้อย ทั้งสองจึงติดต่อไปยัง นายประยูร ภมรมนตรี เพื่อนัดหมายให้สมาชิกผู้ก่อการของ คณะราษฎร ระดับหัวหน้ามาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
พระยาพหลฯ กำหนดว่า ในการประชุมแต่ละครั้งนั้น จำนวนบุคคลที่จะเข้าร่วม ขออย่าให้เกิน 8 คน ซึ่งการกำหนดตัวเลขเช่นนี้ เนื่องจาก พระยาพหลฯ ได้คำนวณตามคติของโหร และพบว่าเลข 8 เกี่ยวข้องกับวันเดือนปีเกิดของตน ย่อมจะเป็นแนวทางให้เกิดเป็นสิริมงคล
ความมุ่งหมายอีกประการ คือ การประชุมวางแผนยึดอำนาจจะต้องลักลอบกระทำอย่างเร้นลับ ฉะนั้น เพื่อมิให้เอิกเกริกจนเกินไป จึงกำหนดผู้เข้าร่วมประชุมไว้แค่ 8 คน ซึ่งสมาชิก คณะราษฎร ระดับหัวหน้าถือเป็นหลักปฏิบัติมาตลอด โดยในการประชุมของคณะผู้ก่อการทั้งหมด 7 ครั้ง ไม่เคยมีผู้เข้าประชุมเกิน 8 คนเลย
กลุ่มผู้นำ คณะราษฎร มักจะประชุมวางแผนกันในเวลากลางคืน โดยนัดประชุมครั้งแรกสุดที่บ้านของ นายประยูร ภมรมนตรี ตอนนั้น มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 5 คน ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และ นายประยูร
คณะผู้ก่อการยังจงใจนัดประชุมที่บ้านของสมาชิกซึ่งยังเป็นคนโสด ไม่มีลูกเมีย เฉกเช่น บ้านของ นายประยูร ที่ได้รับเลือกอยู่เนืองๆ นั่นเพราะทำให้มิต้องคอยกังวลว่า ความลับของภารกิจสำคัญอาจจะถูกแพร่งพรายออกไป และน่าจะปลอดภัยกว่าการพบปะสนทนาที่บ้านของผู้มีภรรยาแล้ว
ทุกครั้งที่คณะผู้ก่อการ คณะราษฎร มาประชุมวางแผนร่วมกัน พวกเขาได้ตระเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับใช้เล่นการพนันนำมาจัดวางไว้ ณ สถานที่ประชุมด้วยเสมอ เหตุผลก็คือถ้าฝ่ายทางการสยามระแคะระคายเรื่องจะมีการยึดอำนาจและบุกเข้ามาจับกุม พวกเขาจะอ้างว่า นัดหมายทุกคนมาเพื่อเล่นการพนัน สอดคล้องกับที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบันทึกไว้ในชิ้นงานชุด เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อันทยอยลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 และต่อมานำมาจัดพิมพ์รวมเล่มเมื่อปี พ.ศ. 2490 ดังความตอนหนึ่งว่า
“ในเวลาประชุมนั้น ที่ประชุมได้นำเครื่องมือเล่นการพนันไปแสดงไว้ในการประชุมทุกคราว เพื่อว่าถ้ามีการจับกุมกันขึ้น ก็จะยอมรับข้อหาว่าได้มีการมั่วสุมกันลักลอบเล่นการพนัน...”
ความผิดฐานเล่นการพนันช่วงปี พ.ศ. 2474-2475 ย่อมเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2473 ที่ประกาศบังคับใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถือเป็นประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการพนันฉบับแรกของไทย เพราะได้รวบรวมกฎหมายการพนันต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะเรื่องซึ่งเคยบังคับใช้ก่อนหน้านั้น มาจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบระเบียบในฉบับเดียวกัน
ฉะนั้น ถ้าบังเอิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุม คณะราษฎร ระดับหัวหน้าที่กำลังประชุมวางแผนยึดอำนาจกันเข้าจริงๆ และพวกเขาเอ่ยอ้างว่าทุกคนมารวมตัวเล่นการพนัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คงต้องอาศัย พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2473 มาใช้ดำเนินคดีเป็นแน่
แม้จะยังไม่ค้นพบหลักฐานที่ระบุข้อมูลชัดเจน เรื่องที่คณะผู้ก่อการได้ทำทีว่าพวกตนเล่นการพนันชนิดใดบ้าง แต่พิจารณาตามบริบทของยุคสมัยนั้น อย่างน้อยที่สุด เครื่องมือเล่นการพนันที่น่าจะถูกนำมาจัดวางไว้ คงมิพ้นสำรับไพ่ป๊อกและจำพวกลูกเต๋า เป็นต้น เพราะเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมของพวกเซียนนักเล่นการพนันในช่วงต้นทศวรรษ 2470
ควรกล่าวอีกว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 2470 ยุคของ รัฐบาลคณะราษฎร ได้มีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งกำหนดถึงลักษณะของเครื่องมืออุปกรณ์และวิธีเล่นการพนันอย่างชัดเจน เพื่อควบคุมการเล่นการพนันที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม
วิธีแสดงออกว่ามีการเล่นพนันเกิดขึ้นในทุกคราวที่นัดหมายพบปะกันของหัวหน้าผู้ก่อการ คณะราษฎร นั้น หาใช่เพราะพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับพฤติกรรมอันขัดต่อตัวบทกฎหมายของบ้านเมืองไม่ แท้จริงแล้ว พวกเขาย่อมเล็งเห็นและตระหนักเรื่อยมาว่า การเล่นพนันก่อให้เกิดปัญหาต่อชาวสยามมากมาย เป็นหนทางมอมเมามิให้ราษฎรสามารถพัฒนาชีวิตตนเองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ขณะที่เจ้าของบ่อนการพนันซึ่งเป็นพวกศักดินากลับได้รับผลประโยชน์จนมั่งคั่งร่ำรวย
อย่างไรก็ดี การนำเครื่องมือเล่นการพนันมาจัดวางไว้ในที่ประชุม นับเป็นกลอุบายที่หัวหน้าผู้ก่อการ คณะราษฎร หยิบยกมาใช้เพื่ออำพรางความจริงเรื่องที่พวกตนกำลังประชุมวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภารกิจเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง !
เอกสารอ้างอิง
- กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2557
- ประยูร ภมรมนตรี, บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าด้วย กําเนิด ความมุ่งหมาย การปฏิวัติ ความสําเร็จและความผิดพลาด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2517
- พระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2473. พระนคร : กรุงเทพบรรณาคาร, 2473
- เสถียร วิชัยลักษณ์. พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 พร้อมด้วยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยเงื่อนไขการพนันและกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนันและตามความในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงื่อนไขการพนัน. พระนคร: นีติเวชช์, 2503