ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทัศนะ “ชิงสุกก่อนห่าม” : วาทกรรมโต้กลับการอภิวัฒน์เพื่อราษฎร

16
มิถุนายน
2565

 

ณ ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดการอภิวัฒน์สยามโดยคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับแรก ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ความตอนหนึ่งว่า

               “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย”[1]

การอภิวัฒน์สยาม ปลดเปลื้องระบอบเก่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่สร้างความแร้งไร้[1] และความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรทุกหย่อมหญ้า ไปสู่สังคมแห่ง “ประชาธิปไตย” โดยมุ่งหวังให้ราษฎรมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันอย่างถ้วนหน้า ภายใต้แนวคิดหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

ถึงกระนั้น แม้การอภิวัฒน์จะสร้างความเท่าเทียม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังเพื่อสลัดทิ้งซึ่งความทุกข์ยาก สร้างความเท่าเทียมและความมั่นคงของชีวิตแก่ราษฎร แต่บนหน้าประวัติศาสตร์การณ์กลับมิได้ถูกจดจำ ถูกดูเบา ผลิตซ้ำวาทกรรมที่กลายเป็นแรงเสียดทานและทำงานทางความคิดเพื่อลดทอนคุณูปการหน่ออ่อนแห่งวิถีประชาธิปไตย

 

พระปกเกล้าพระราชทาน?

 

 

“ชิงสุกก่อนห่าม” วาทกรรมที่ถูกผูกติดกับการอภิวัฒน์สยาม อย่างแยกไม่ชัดตัดไม่ขาด ดูแคลนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า เกิดจากความไม่เข้าใจและความรีบร้อนจากเพียงคนไม่กี่กลุ่ม (คณะราษฎร) เกิดขึ้นทั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เตรียมลู่ทางไปสู่สังคมประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน

“รัฐธรรมนูญฉบับพระปกเกล้า” ถูกใช้เป็นประจักษ์พยานเพื่อสนับสนุนวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตย เช่น แบบเรียนวิชาสังคมศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (หลักสูตรปี พ.ศ. 2551) โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีการกล่าวถึงกำเนิดของประชาธิปไตยว่า 

          “ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”  (น. 109)[2]

วาทกรรมดังกล่าวเปลี่ยนรูปแปรร่างเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ลดทอนบทบาทของคณะราษฎร ผู้ซึ่งหักร้างถางพงก่นสร้างนำพาสยามสู่เส้นทางประชาธิปไตย ปลดโซ่ตรวนของความอดอยากและหิวโหย ให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงตามที่อารยประเทศอื่นๆ อย่างที่เขาเป็นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่ออ่านจากเนื้อความของรัฐธรรมนูญฉบับพระปกเกล้าฯ ทั้ง 2 ร่าง ก็ยังห่างไกลกับความเป็นประชาธิปไตย มิได้เป็นอย่างเช่นรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร โดย “รัฐธรรมนูญฉบับพระปกเกล้า” ซึ่งมีอยู่ 2 ร่างหลักๆ ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญ Outline preliminary draft ของ พระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) และ An outline Of Changes In The Form Of Government ของ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) และ พระยาวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)[3]

หากกล่าวให้ชัดถึงที่มาของฉบับ Outline Preliminary Draft ที่ร่างโดยพระยากัลยาณไมตรีนั้น ร่างดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสิริราชสมบัติได้ 1 ปี พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรีว่า

          “พระเจ้าแผ่นดินของสยามสืบทอดตามการสืบเชื้อสายที่มีตัวเลือกที่เป็นไปได้ค่อนข้างจำกัดอย่างมาก ในกรณีนี้จึงไม่แน่นอนว่าเราจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีอยู่เสมอ ฉะนั้นพระราชอำนาจเด็ดขาดจึงอาจจะกลายเป็นอันตรายที่แท้จริงต่อประเทศ”[4]

อีกทั้งในขณะนั้นความสั่นคลอนของสถาบันกษัตริย์ก็เริ่มแผ่ขยายไปในวงกว้าง เช่น “เมื่อใกล้ๆ สิ้นรัชกาล ประชาชนเริ่มหมดความเชื่อถือกษัตริย์พระองค์ก่อน” ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะมีการปกครองในระบบรัฐสภา มีการปกครองแบบมีผู้แทน มีอัครมหาเสนาบดี มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีรัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์ “ได้รับฎีกาจำนวนมากเกี่ยวกับรูปแบบของสภาประเภทนี้”[5]

ในสายตาของพระยากัลยาณไมตรี เขามองว่าในโมงยามนี้การปกครองในลักษณะดังกล่าวยังไม่เหมาะกับสยาม จึงทูลเกล้าฯ ถวาย Outline Preliminary Draft เค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญที่ยังคงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้[6]

อนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ An Outline Of Changes  In The Form Of Government หรือ “เค้าโครงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครอง” ของ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) และ พระยาวิสารวาจา เกิดขึ้นโดยรัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์จะมอบรัฐธรรมนูญเป็นอนุสรณ์สำคัญในวาระพระบรมจักรีวงศ์ครองกรุงรัตนโกสินทร์มาได้กึ่งศตวรรษในวันที่ 6 เมษายน 2475 โดยร่างฉบับนี้มิได้เขียนเป็นมาตราเฉกเช่นฉบับของพระยากัลยาณไมตรี แต่เป็นการเขียนอธิบายใจความ[7]

ใจความหลักของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่คาบเกี่ยวทับซ้อนกันคือการคงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในด้านรายละเอียดที่กำหนดก็ยังคงคัดง้างกับความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจน ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่อย่างเบาบางอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงอยู่ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ฉาบเคลือบประชาธิปไตย จนกลายเป็นวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อในภายหลัง

 

อ่านเบื้องหลังของวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม”

ประจักษ์ ก้องกีรติ ในบทความเรื่อง “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” อธิบายความป่วยไข้ของวาทกรรมและมายาคติดังกล่าว ว่าประชาธิปไตยจากคณะราษฎร มิได้เกิดขึ้นโดยขาดรากฐานและที่มา แต่เป็นเพราะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เดินทางมาถึงพร้อมด้วยเหตุผลที่สุกงอมเต็มที่แล้ว 

ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่าในด้านการสถาบันการเมือง ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งรวมศูนย์อำนาจไว้เพียงกลุ่มชนชั้นนำและศักดินา ก่อให้เกิดการกดขี่จนประชาชนไม่สามารถลุกยืนได้ อีกทั้งระบบราชการที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวคิดใหม่ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นในความคิดของประชาชน อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือชาตินิยม เริ่มเป็นแผ่ขยายไปในวงกว้าง แน่นอนว่าความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทายต่ออำนาจของชนชั้นนำและระบอบเก่า การก่อตัวของชนชั้นใหม่ ปัญญาชน ชนชั้นกลาง นักเรียนทั้งในและนอกประเทศ นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า ข้าราชการรุ่นใหม่ อันเนื่องมาจากภาวะความเป็นสมัยใหม่และการก้าวเข้าสู่โลกเสรีและทุนนิยม ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดและจิตสำนึกของเสรีชน ความทันสมัย และความเท่าเทียม

ในด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเงินของสยามที่สะสมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อีกทั้งปัจจัยภายนอก คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี พ.ศ. 2472 - 2475 (Great Depression) ที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สยามก็ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบดังกล่าวไปได้ รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เกิดการเลิกจ้างข้าราชการระดับล่าง (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) มีการเพิ่มอัตราภาษีรายได้ซึ่งส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางและราษฎรโดยตรง ของใช้ในชีวิตประจำวันมีราคาเพิ่มสูงมากขึ้น ชาวนาได้รับความเดือดร้อน 

ไม่เพียงปัจจัยภายในที่เพาะสร้างให้สยามเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่มิอาจมองข้ามได้คือปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงขับควบคู่กันไป กล่าวคือ ณ ช่วงเวลานั้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลกอ่อนโรยลง จนอยู่สภาวะเจียนอยู่เจียนไป ท้ายที่สุดเมื่อหอคอยงาช้างโอนเอนแล้วล้มครืนลงมา ราชวงศ์ในหลายประเทศก็ต้องล่มสลาย เช่น จีนในปี พ.ศ. 2455 รัสเซีย เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการีในปีเดียวกัน คือ พ.ศ. 2461

ปัจจัยทุกอย่างกอปรกันทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้น การอภิวัฒน์ 2475 มิได้เกิดขึ้นอย่างขาดรากฐาน แต่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมพร้อมด้วยเหตุผล ให้คณะราษฎรต้องนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย เพื่อปลดแอกแห่งความทุกข์ยากที่ถูกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กดทับไว้ อีกทั้งวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” ก็มิได้ “ชิงสุก” แต่อย่างใด แต่ดอกผลแห่งประชาธิปไตยที่ผลิบานนั้นเกิดช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว 

เอกสารอ้างอิง

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (2560). ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - 2490. (วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะนิติศาสตร์, สาขากฎหมายมหาชน.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2560). การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/the-myths-of-2475/ เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565

หมายเหตุ : เรียบเรียงโดย ปรัชญา กำลังแพทย์

 

[1]  สถาบันปรีดี พนมยงค์, “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1”, (PRIDI, 3 มีนาคม 2563), เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126, เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2565.

[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน”, (The101.World, 24 มิถุนายน 2560), เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/the-myths-of-2475/, เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2565.

[3] กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 -2490,” (นิติศาสตรมหาบัณฑิต, สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), 52.

[4]  เรื่องเดียวกัน, หน้า 53.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[6] ให้อำนาจสูงสุดยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์ (มาตรา 1) แต่เพียงเพิ่มนายกรัฐมนตรีขึ้นมาด้วยเหตุผลคือการแบ่งเบาภาระงาน มีอำนาจในการปลดและแต่งตั่งรัฐมนตรีได้ (มาตรา 2) นอกจากนี้ยังมีคณะรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี (มาตรา4) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติปัญหาต่างๆ (มาตรา 5) และพระมหากษัตริย์สามารถมีวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม (มาตรา 6) อีกทั้งมีคณธอภิรัฐสมนตรีเป็นที่ปรึกษา (มาตรา 7) และมีองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 8) อีกทั้งยังให้มีพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในทางตุลาการ (มาตรา10) และนิติบัญญัติ (มาตรา 11) รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคำแนะนำและความยินยอมขององคมนตรี (มาตรา 12)

[7] An outline Of Changes  In The Form Of Government หรือ “เค้าโครงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครอง” มีรายละเอียดว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์และสภานิติบัญญัติ และทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของราษฏร มีอภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์มีอำนาจอย่างกว้างขวาง เช่น การออกเสียงคัดค้านของพระองค์ การมีรัฐสภาก็ยังไม่เป็นความจำเป็น สนับสนุนให้มีสภาเทศบาลในระดับท้องถิ่นก่อน