ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : จัดตั้งกองทัพประชาชน

19
มิถุนายน
2565

การที่โฮจิมินห์และพรรคมอบหมายให้หวอเหงียนย้าปรับผิดชอบในด้านการทหาร ซึ่งก็คือ การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในการต่อสู้เพื่อกู้เอกราช อันสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง “แนวร่วมเวียดมินห์” (VIET NAM DOC LAP DONG MINH HOI) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1941 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการประชุมสมัชชาครั้งที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ณ ฐานที่มั่นภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์พอดี

ผู้อยู่นอกวงการบางส่วนเข้าใจคำว่า “มินห์” หมายถึงการเกี่ยวข้องกับ “โฮจิมินห์” ก็เลยทึกทักเอาว่า เวียดมินห์ คือเวียดนามของโฮจิมินห์นั่นเอง อาจถือว่าไม่น่าเสียหายอะไร แต่ตามความจริงเวียดมินห์อยู่ภายใต้การบริหารของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน

“องค์กรแนวร่วมเวียดมินห์” และ “กองกำลังเวียดมินห์” รู้จักกันดีในหมู่ชาวเวียดนามผู้รักชาติ สามารถระดมผู้คนเข้าร่วมขบวนการได้อย่างกว้างขวาง มีจุดร่วมสูงสุดคือ ต่อสู้ขับไล่เจ้าอาณานิคมต่างชาติที่ใช้กำลังเข้าครอบครองปิตุภูมิของเขา เวียดมินห์จำต้องสร้างกองกำลังติดอาวุธเพื่อปฏิบัติการทางทหาร หวอเหงียนย้าปเคยกล่าวไว้ เมื่อได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านการทหารนั้น ท่านไม่มีความรู้ทางทฤษฎีการทหาร ไม่เคยผ่านโรงเรียนทหาร อาศัยแต่การศึกษาประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับเรื่องราวทางทหาร แต่ก็ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการบรรลุหน้าที่ตามความเชื่อมั่นของหน่วยเหนือที่มีต่อท่าน

จากการใกล้ชิดสนิทสนมลงสู่มวลชนรากหญ้าตลอดเวลา ท่านเห็นว่าทหารที่จะคัดสรรเข้ากองทัพนั้นย่อมมาจากประชาชนนั่นเอง แต่มิใช่บังคับขู่เข็ญเกณฑ์เอาคนเข้ามาเป็นทหาร การชักชวนต้องเริ่มจากปลูกจิตสำนึกทางการเมือง เข้าใจแนวทางการต่อสู้ มีกำลังแข็งแรง จิตใจมั่นคง อดทนต่อความยากลำบาก หวอเหงียนย้าปได้ข้อสรุปอันเป็นอมตะว่า “ทหารกับประชาชน ก็คือปลากับน้ำ” นั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีแม่น้ำก็จะสามารถได้ปลาที่อาศัยน้ำเคลื่อนไหวไปมาได้ จำนวนปลาย่อมเพิ่มมากขึ้นเมื่อน้ำเป็นน้ำดี เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา

จังหวัดกาวบั่ง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับมณฑลกวางสี - ยูนนานของจีน ลักษณะภูมิประเทศเป็นโขดเขาลำเนาไพรเสียส่วนใหญ่ พื้นที่ปลูกข้าวและทำเกษตรกรรมต่างๆ มีน้อยมาก เรียกว่าเป็นถิ่นทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่ง ผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นชนชาติหมู่น้อย ในอดีตถูกชนชาติที่ใหญ่กว่าไม่ว่าจะมาจากสารทิศใดบีบให้ถอยร่นเข้ามาตั้งรกรากในถิ่นนี้ 

ชนชาติหมู่น้อยเหล่านี้หลากหลายเผ่าพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกนุง, จ้วง ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีชาวเวียดนามตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตามบริเวณชายเขาต่อเนื่องกับบริเวณที่ราบของสามเหลี่ยมแม่น้ำแดงตอนบน ทั้งยังมีนักอภิวัฒน์เวียดนามจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้หลบหลีกจากการติดตามจับกุมของฝรั่งเศสเข้าไปอาศัยร่วมกับประชาชนท้องถิ่น เพราะฝ่ายปราบปรามไม่สามารถเข้ามาได้อย่างสะดวก และเพื่อเตรียมการจัดตั้งฐานที่มั่นในการต่อสู้ชิงชัย

 

ทหารหน่วยบุกเบิกขณะฟังคำสั่งของหวอเหงียนย้าป
ทหารหน่วยบุกเบิกขณะฟังคำสั่งของหวอเหงียนย้าป

 

การจัดตั้งกองทหารหน่วยแรกมีกำลัง 34 คน หรือหนึ่งหมวด เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว เรียกว่าเป็นกองกำลังโฆษณาติดอาวุธ อยู่ในเขตจังหวัดกาวบั่ง ทหารชุดแรกประกอบไปด้วยชนชาติหมู่น้อยชาวนุงและชนชาติหมู่น้อยอื่นๆ รวมทั้งชาวเวียดนาม ทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหวอเหงียนย้าป

อาวุธที่ใช้ประกอบส่วนให้ทหารก็ใช่ว่าจะทันสมัยอะไร มีปืนเมาเซอร์ขนาด 9 ม.ม. ทำจากเยอรมนีที่ถือว่าดีที่สุดในขณะนั้น ทางบ้านเราเคยเรียกปืนเมาเซอร์นี้ว่า ปืนเมาเซอร์ต่อด้าม เพราะส่วนท้ายของปืนเป็นด้ามไม้ใช้ประทับบ่ายิงเร็วได้อย่างดี นอกจากนี้ก็มีปืนพก 2 กระบอก ปืนคาบศิลาและปืนชาวบ้านทำเองสำหรับยิงนก ต่อมาภายหลังมีปืนกลเบาหนึ่งกระบอกที่ยึดมาจากป้อมค่ายฝรั่งเศส

ในด้านเครื่องแบบที่เป็นเครื่องแบบทหารไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีทางจัดหาได้ในช่วงเริ่มแรก การพรางตัวก็อาศัยตัดกิ่งไม้มาผูกติดกับร่างกาย ตัวผู้บัญชาการหวอเหงียนย้าปเองก็มีหมวกสักหลาดใบเก่าๆ สวมศีรษะ คนอื่นๆ ส่วนหนึ่งใส่งอบชาวนาเวียดนาม รูปทรงกรวยแหลม ภาษาเวียดนามเรียกว่า ‘หนอน’

วิวัฒนาการของหมวกทหารเวียดนาม เมื่อกองทัพขยายใหญ่ขึ้นก็ใช้หมวกที่บ้านเราเรียกว่าหมวกกะโล่สีเขียว ถือว่าเป็นสีพราง ในภายหลังมีการใช้หมวกเหล็กบ้าง แต่ในสงครามปลดปล่อยภาคใต้ส่วนมากใช้หมวกผ้าซึ่งเบาและพับเก็บได้ ใช้ป้องกันแดดและฝนได้เช่นกัน คล้ายคลึงกับทหารอเมริกันที่ไปรบในเวียดนาม ส่วนในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทหารเวียดนามใช้หมวกกะโล่เขียว อนึ่ง อันว่าตำนานที่มาของหมวกกะโล่ เข้าใจว่าจะเป็นหมวกที่นักล่าอาณานิคมใช้สำหรับกันแดดในดินแดนเขตร้อน นับตั้งแต่แอฟริกา, อินเดีย และเอเชียอาคเนย์

สำหรับรองเท้าซึ่งถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดนั้น สมควรยกย่องภูมิปัญญาของชาวเวียดนาม ที่นำเอายางนอกของล้อรถยนต์มาตัดเป็นพื้นรองเท้าและใช้ยางในรถยนต์หรือจักรยานมาตัดสอดยึดเป็นสายรัดทำให้มีน้ำหนักเบาเคลื่อนไหวได้เร็ว บุกน้ำบุกโคลนได้อย่างสบาย เพราะเอามาถอดล้างได้ง่ายไม่เหมือนไอ้โอ๊ค หรือคอมแบต ที่ทางตะวันตกนิยมใช้ และเมื่อหลายปีมาแล้วสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ทางภาคอีสานก็ได้นำยางรถมาทำเป็นอุปกรณ์ใช้สอยในชนบทบ้านเราเช่นกัน

หวอเหงียนย้าป เคยศึกษาคัมภีร์พิชัยสงครามของ ท่านซุนหวู่ ที่ได้บันทึกไว้ว่า ในการเข้าสัประยุทธ์ทำสงครามกับข้าศึกนั้นจักต้อง “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ดังนั้น การเข้าตีที่มั่นป้อมค่ายทหารฝรั่งเศสครั้งแรกของหน่วยโฆษณาติดอาวุธภายใต้การบังคับบัญชาของท่าน จึงต้องศึกษาและประยุกต์ให้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งคำสั่งสอนของโฮจิมินห์ที่เน้นนักหนาว่า การรบครั้งแรกต้องได้ชัยชนะ ต้องทำให้สำเร็จ ไม่มีการพ่ายแพ้ ไม่มีการที่ทำไม่สำเร็จ ก็ฝังแน่นอยู่ในใจของท่านอย่างมั่นคง

 

 

“รู้เขา” คืออะไร  ป้อมค่ายฝรั่งเศสแห่งนี้ถึงแม้ควบคุมทางสามแพร่งแต่ก็ห่างไกลจากป้อมค่ายอื่นๆ ทหารก็เป็นชาวเวียดนามที่ยากจน ถูกฝรั่งเศสเกณฑ์มา เป็นทหารชั้นเลว วินัยหย่อนยาน เพราะผู้บังคับค่ายเป็นทหารชั้นจ่านายสิบที่รับใช้ฝรั่งเศส แต่ไม่เอาไหนเลย ตกบ่ายก็ควบม้าเข้าไปในหมู่บ้าน เรียกให้ชาวบ้านเอาสุราอาหารมาบำเรอ และก็คงจะกินข้าวต้มกลางวันไปด้วย ข่าวสารอันทำให้ “รู้เขา” ก็ได้มาจากชาวบ้านที่แค้นเคืองต่อการปฏิบัติของทหารเลวๆ ในป้อมค่ายแห่งนี้

“รู้เรา” เมื่อ “รู้เขา” แล้วก็ต้องตระเตรียมแผนงานเข้าตีค่าย เริ่มตั้งแต่การแกะตราของกองบัญชาการหน่วยเหนือจากหัวมัน ประทับตราลงในกระดาษที่แสดงว่าเป็นหนังสือจากกองบัญชาการในตัวเมือง ควบคู่การปลุกเร้าให้กำลังใจแก่กองกำลังของตน ให้มีความเชื่อมั่นในการต่อสู้ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ สามารถเสียสละได้ทุกสิ่ง และเชื่อมั่นในชัยชนะ

เมื่อผู้บังคับค่ายออกไปหาความสำราญ อันเป็นกิจวัตรปกติในเวลาบ่ายแล้ว หวอเหงียนย้าปได้นำกองกำลังของท่านไปที่หน้าค่าย พร้อมทั้งชูหนังสือที่มีตราประทับให้คนในค่ายเปิดประตูเพื่อจะเข้าไปตรวจงาน ทหารชั้นผู้น้อยเมื่อเห็นว่ามีนายใหญ่มาตรวจการณ์ต่างกุลีกุจอเปิดประตูรับ ทหารในค่ายถูกสั่งให้เข้าแถว มีการตรวจอาวุธ กองกำลังเวียดมินห์ก็เข้ายึดอาวุธมาทั้งหมด

หวอเหงียนย้าป จึงประกาศถึงวัตถุประสงค์ในการเข้ายึดค่ายเพื่อต่อสู้กู้เอกราช ไม่มีการทำร้ายผู้ยอมจำนน แต่ให้ควบคุมตัวไว้ระยะหนึ่งเพื่อรอการกลับมาของผู้บังคับการค่าย พร้อมทั้งสั่งให้กองกำลังของตนไปดักจับ และสั่งไว้ว่าให้พยายามจับเป็นเพื่อโฆษณาขยายผล แต่เมื่อผู้บังคับการควบม้าเข้าค่ายด้วยอารมณ์ดี ครั้นประจันหน้ากับฝ่ายที่จะเข้าจับกุมก็ต่อสู้จึงถูกสังหารไปในที่สุด สำหรับบรรดาลูกสมุนของพวกฝรั่งเศส หวอเหงียนย้าปได้ปล่อยตัวทั้งหมด และให้กลับไปบ้านเรือนของตน ไปบอกแก่ญาติพี่น้องว่าเวียดมินห์ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร ผลปฏิบัติการทางการเมืองที่แสดงออกในเรื่องนโยบายเชลยศึก ทำให้ทหารเหล่านั้นบางคนกลับใจเข้าร่วม ขบวนการเวียดมินห์

"ขบวนการเวียดมินห์" ที่ หวอเหงียนย้าป รับผิดชอบด้านการทหารขยายวงออกไป ประกอบกับ “เหวียนอ๋ายก๊วก” กลับเข้าประเทศในชื่อ “โฮจิมินห์” ทำให้แสงแห่งความสำเร็จสว่างไสวขึ้นทุกขณะ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจังหวัดกาวบั่ง - หล่างเซิน ได้เป็นเขตฐานที่มั่นที่มั่นคงของขบวนการเวียดมินห์ไปแล้ว

 

หวอเหงียนย้าปกับกองกำลังกู้ชาติ
หวอเหงียนย้าปกับกองกำลังกู้ชาติ

 

ในวันที่ 22 ธันวาคม 1944 กองกำลังโฆษณาติดอาวุธก็ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการที่หมู่บ้านเหวียนบิ่ง จังหวัดกาวบั่ง มีหวอเหงียนย้าปเป็นผู้บัญชาการ และได้ทำการรบ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเบ้าหลอมตามช่วงกาลเวลา ในเวลาต่อมาจึงพัฒนาเป็นกองทัพประชาชนเวียดนาม ซึ่งได้ถือเอาวันที่ 22 ธันวาคมนี้เป็นวันกองทัพ

กองทัพประชาชนเวียดนามที่เติบใหญ่สร้างสมแสนยานุภาพเกริกไกรพร้อมๆ กับเส้นทางชีวิตของหวอเหงียนย้าป พี่ใหญ่แห่งกองทัพเวียดนามที่ต่อมาได้รับยกย่องเชิดชูให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดนักการทหารของโลก

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), “จัดตั้งกองทัพประชาชน” , ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 37 - 43.