ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

กว่าจะมาเป็น “สวนเสรีไทย”

28
สิงหาคม
2565

 

ในอดีตผมเคยถูกชวนให้ไปพูดที่นู่นที่นี่บ้าง แต่ไม่มีวันไหนเลยที่ผมจะรู้สึกตัวเล็กมากที่สุดเท่าวันนี้ ที่บอกว่ารู้สึกตัวเล็กที่สุดในวันนี้นั้น เพราะผมได้มีโอกาสมาร่วมงานรำลึกถึงกลุ่มบุคคลที่เสียสละให้กับชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ปากพูดว่ารักชาติ แต่ดำเนินการเอง และเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ จนผมประเมินตัวเองได้แค่เป็นธุลีของภารกิจที่พวกท่านได้ทำไว้เมื่อ 77 ปีที่ผ่านมา

 

 

ก่อนที่จะพูดถึงความเป็นมาเป็นไปของสวนเสรีไทยนั้น ที่ความจริงไม่ได้เริ่มในช่วงสมัยผมเท่านั้นอย่างเดียว แต่ได้เริ่มมาก่อน คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านที่มาก่อนผมเล็กน้อย คือ อาจารย์กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา แล้วมาเริ่มกิจกรรมมากมายในช่วงผม แล้วหลังจากนั้นก็ยังมีผู้ว่าฯ คนต่อไปก็ทำให้กิจกรรมสำเร็จสมบูรณ์ได้ไม่มากก็น้อย

ในช่วงที่ผมอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีประสบการณ์หนึ่งอยากจะเล่าให้ท่านผู้มีเกียรติในที่นี้ได้รับทราบ คือ ในงานใหญ่งานหนึ่งที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมากันที่งานแห่งนี้ กำลังยืนทานเครื่องดื่ม พูดคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นจำนวนหลายร้อยคน ทันทีทันใดนั้น ผมก็ได้ยินเสียงที่ค่อนข้างเขียวมาข้างหลังผมในทันที ว่า “นี่ผู้ว่าฯ อยากจะรู้ว่าทำไมจะต้องไปตั้งชื่อสวน ถนนหนทาง เป็นชื่อขบวนการเสรีไทย หนักหนา” ผมตกใจ ตอบไม่ถูก เพราะมันมีเหตุผลร้อยพันประการที่จะอธิบายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่าท่านตั้งคำถามนี้ขึ้นมาด้วยเสียงที่เขียว ผมตอบไม่ถูก ยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่กลางงานนั้น

ทันทีทันใดนั้น มีบุรุษร่างใหญ่ท่านหนึ่ง ปราดเข้ามาระหว่างการสนทนาของผม สุภาพบุรุษท่านนี้มาด้วยมาดที่ขรึม เข้ม เขียวเช่นเดียวกัน ตอบกลับยังท่านผู้มีเกียรติท่านนั้นว่า “ก็ในเมื่อขบวนการเสรีไทย ทำให้ลื้อมีแผ่นดินอยู่ถึงทุกวันนี้ แล้วจะเสียหายอย่างไร หากจะตั้งชื่อตั้งเสียงเพื่อรำลึกถึง?” ปรากฏว่าอาคันตุกะที่มาทักทายต่อว่าผมข้างหลังนั้น ถอยกรูดไม่เป็นท่าไปเลย บุคคลท่านนั้นที่เข้ามาช่วยระหว่างเกิดวิวาทะนั้น คือ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา แล้วท่านก็ตบบ่าของผมก่อนที่จะบอกว่า “ทำดีแล้ว ทำต่อไป”

ผมมาทราบว่าท่านก็เป็นเสรีไทยคนหนึ่ง แต่ท่านไม่เคยพูดถึงว่าท่านคือเสรีไทย ตอนทำงานร่วมกันท่านก็ไม่เคยพูดถึง สมตามเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี ที่พูดว่าเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลงเราจะไม่พูดถึง เราจะไม่ทวงบุญคุณ เพราะเราถือว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะของเสรีไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนที่รักชาติทั้งประเทศที่ร่วมการกระทำดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุกระนั้นก็ตาม จึงเป็นเหตุทำให้ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีร่วมกับผม ไม่เคยเอ่ยปากว่าท่านคือเสรีไทย แต่ท่านจะทำให้เห็นเมื่อจะต้องอยู่ในภาวะที่จำเป็นจึงแสดงตนออกมา

ผมเล่าเรื่องนี้ให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านทราบ เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ประกาศไว้หลังสิ้นสุดวันที่ประกาศสันติภาพไทย 16 สิงหาคมนั้น ท่านบอกว่าอีกเดือนต่อมากิจกรรมต่างๆ ของขบวนการเสรีไทยก็ยุติลง แล้วก็เป็นอย่างนั้น เพราะสมาชิกของขบวนการเสรีไทยทุกคนก็ดำเนินการตามแนวคิดและเจตนาของอาจารย์ปรีดีมาตลอดเป็นระยะเวลาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน

 

 

ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์ แต่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะมองอะไรด้วยการช่าง ตวง วัด อยู่เสมอ ผมลองมองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มแรกที่อาจารย์ปรีดีในฐานะหนึ่งในสามผู้สำเร็จราชการแผ่นดินฯ ไม่ยอมเซ็นประกาศศึกกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ผมมองดูว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความพยายามของท่านในการสร้างขบวนการเสรีไทยนั้น เป็นเรื่องที่เหนือคาดหมายทั้งสิ้นที่จะประสบความสำเร็จที่ปลายอุโมงค์ นึกถึงแสนยานุภาพของทหารญี่ปุ่น นึกถึงความถดถอยเมื่อการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในต้นเดือนธันวาคม เมื่อนึกถึงทุกสภาพแล้วท่านอาจารย์ปรีดีไม่สามารถประเมินได้เลยถึงชัยชนะของขบวนการเสรีไทย แต่ท่านเคลื่อนไหวโดยเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมที่เซ็นเข้าร่วมสงครามในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และหลังจากนั้นเป็นการเคลื่อนไหวอีกหลากหลาย

ผมจึงอยากคิดอย่างนี้ว่า ขบวนการเสรีไทย ที่ตั้งขึ้นมาในวันนั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองจะมีบทบาทในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่สงครามสิ้นสุดลง ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนเองจะมีบทบาทในการที่ทำให้ประเทศไทยนั้นปลอดภัยจากการที่เป็นผู้แพ้สงคราม ท่านรู้อยู่อย่างเดียวว่าท่านไม่ยอม ขบวนการเสรีไทยรู้อยู่อย่างเดียวว่าไม่ยอม เนื่องจากมีความรักในอธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของคนไทย ท่านคาดการณ์ไม่ได้ว่าท่านจะต้องมาเป็นผู้เจรจาแล้วเกิดประโยชน์

อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ถ้าหากว่ามาช่าง ตวง วัด จริงๆ แล้วมีน้อยนิดเมื่อเทียบกับทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย กำลังของคนไทยที่อยู่ในประเทศมีไม่ถึง 10,000 คน ฝึกทหาร 5 เดือน 30 - 40 คนในสายอเมริกาและสายอังกฤษ ยากเย็นเหลือเกินกว่าจะบรรลุจุดประสงค์ แต่อย่างน้อยที่สุดคือแสดงให้เห็นว่า “ฉันไม่ยอม” เหล่านี้คืออานิสงส์ของความรักในอธิปไตยและเสรีภาพ

ผมคิดว่าเสรีภาพของไทยนั้น น่าจะหมายถึง การมีสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่มีเพียงแต่อธิปไตย ไม่ได้มีแต่ความเสรี แต่การที่มีสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในความหมายของสันติภาพไทย ในวันนั้นเมื่อ 77 ปีที่ผ่านมาเราอาจจะมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่ากำลังจะสูญเสียอธิปไตยและเสรีภาพ แต่หากลองมองนึกดูในปัจจุบันก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เราไม่รู้เหมือนกันว่าใครที่จะมาปกครองเราในวันนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวันนั้นที่ทหารญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจะมาปกครองเราว่าจะเป็นอย่างไร ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะใครก็ไม่รู้ที่มากำหนดชะตาของคนไทยแทนเรา ปัญหาที่สำคัญต่อไปนี้ก็คือว่า เราหาความเป็นเสรีชนของเราไว้ให้ได้ต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ครอบงำด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเรากำลังจะเสียอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ โดยส่วนตัวไปอย่างง่ายๆ

 

 

ความเป็นมาเป็นไปของ สวนเสรีไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ปีนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาก โดยเฉพาะในเขตบางกะปิ คันนายาว บึงกุ่ม รามคำแหง ตลอดแนวมาจนถึงถนนสุขาภิบาล 1, 2, 3 จะท่วมตลอด ในหลวงมีพระราชดำริว่าน่าจะสร้างบึงเก็บน้ำเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 กรุงเทพมหานครได้เริ่มหาบึงเก็บน้ำแล้วจึงไปพบบึงบึงหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “บึงตาทอง” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำแต่เสื่อมโทรม มีวัชพืช มีการบุกรุก มีการทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ไม่มีทางระบายน้ำเข้าออกไปสู่คลองแสนแสบเลย เพราะฉะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่เป็นบึงเก็บน้ำในเวลาที่ฝนตกลงมาได้ กรุงเทพมหานครเริ่มพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาที่ของโรงเรียน 5 ไร่ มาทำเป็นอาคารที่จะช่วยดูแลในเรื่องของบึงตาทอง

ในปี พ.ศ. 2530 - 2532 ก็สร้างรั้ว สร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดย อาจารย์กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เข้ามาในปี พ.ศ. 2535 - 2539 อนุมัติเงินในการสร้างอาคารเรียนขึ้นในบริเวณ 5 ไร่ตรงนี้ หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2538 คุณกฤษฎา อนุมัติสร้างรั้วล้อมรอบของสถานที่นี้

ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2540 ที่ผมเข้ามาช่วยงานกับกรุงเทพมหานครแล้วนั้น ก็ได้งบประมาณมากเป็นพิเศษ 14 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมา รวมถึงบ้านพัก เพื่อก่อสร้างเป็นห้องสมุดขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ได้พบกับผม เพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องของ “สวนน้ำบึงกุ่ม” ที่มีพื้นที่เบื้องต้นไม่กี่ไร่ ถ้าหากว่าสามารถที่จะตั้งชื่ออย่างเป็นทางการได้ คือ “สวนน้ำเสรีไทย” ก็จะเป็นการจุดที่ทำให้เกิดความสนใจแล้วก็จะทำให้มีการศึกษาเล่าเรียนรำลึกถึงกิจกรรมของ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เกิดขึ้นในอดีต ผมเห็นชอบกับอาจารย์ดุษฎีในทันที ในปีต่อมามีงบประมาณสร้างอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ซึ่งเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2544

 

 

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2546 มีพิธีการเปิดอย่างเป็นทางการ มีรองนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาทำหน้าที่เปิดอย่างเป็นทางการ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่กรุงเทพมหานครฝ่ายเดียว แต่ประชาชน องค์กรเอกชน ราชการส่วนกลาง ได้เข้ามาร่วมมือกันทุกเรื่องทุกราว เพื่อที่จะให้เกิดสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เพราะหลังจากนั้นจากพื้นที่ 90 ไร่ ของบึงตาทองได้ขยายไปจนบัดนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 300 กว่าไร่ บึงนี้ขยายไปจนชนกับเขตแขวงหลอแหล ใช้เพื่อการเก็บน้ำ ใช้เพื่อการระบายน้ำเน่าและน้ำเสียออกคลองแสนแสบ โดยมีสำนักระบายน้ำควบคุม สำนักวัฒนธรรมคอยดูแลเรื่องอาคาร มีสำนักสิ่งแวดล้อมช่วยดูแลสวนสาธารณะ

ความสำเร็จของ “สวนเสรีไทย” เกิดจากความร่วมมือของประชาชน องค์กรเอกชน และราชการส่วนกลาง เข้ามามีส่วนร่วมในการเกิดอนุสรณ์แห่งนี้ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ของบึงแห่งนี้คือ การได้ใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในการบริหารน้ำ เก็บน้ำ ระบายน้ำ โดยมีสำนักระบายน้ำควบคุม และมีสำนักวัฒนธรรมฯ คอยดูแลเรื่องอาคาร มีสำนักงานสิ่งแวดล้อมช่วยดูแลเรื่องสวนสาธารณะมาจนถึงทุกวันนี้

ในโอกาสที่สำคัญวันนี้ ผมอยากจะเรียนว่า ให้ช่วงเวลาดังกล่าวก็เกิด ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ขึ้นมาไล่ๆ กัน เกิดการเปลี่ยนชื่อ ถนนคลองตัน สุขุมวิท 71 เป็น ถนนปรีดี ขึ้นมา เพื่อเป็นการรำลึกถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

 

 

อาคารเสรีไทยที่มีทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เสรีไทย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบึงกุ่ม และสวนทั้งปวงนั้นจะไม่สามารถอยู่ยืนยงได้เลย ถ้าหากว่าขาดเสียซึ่งกรุงเทพมหานครที่รับเป็นผู้ดูแล บริเวณนี้นั้นจะอยู่แค่นี้ไม่ได้เพราะต้องมีการบำรุงรักษา จะต้องเจริญเติบโตไปพร้อมกับโรงเรียน ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านรองผู้อำนวยการโรงเรียน อาสาสมัคร อปพร. ทั้งปวงที่อยู่ในบริเวณบึงกุ่มนี้นั้นจะต้องช่วยคนละไม้คนละมือเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

ผมขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันรักษาคุณค่าของอุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทย ให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับสถานที่แห่งนี้ชั่วกาลนาน ขอบคุณครับ

 

 

 

ที่มา : PRIDI × BMA กิจกรรมครบรอบ 77 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 16.00 - 20.40 น. ณ สวนเสรีไทย บึงกุ่ม

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/2883405185302462/