ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คุณครูลำยอง วิศุภกาญจน์ และการปะทะสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี

2
กันยายน
2565

ย้อนเวลาไปยังปี พ.ศ. 2541 ผมอายุ 8 ขวบ ได้ชมละครโทรทัศน์เรื่อง ระย้า ทางช่องเจ็ดสี (สร้างขึ้นมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ สด กูรมะโรหิต) ผลงานกำกับของ ฉลอง ภักดีวิจิตร นั่นทำให้ผมรู้จักกับสงครามมหาเอเชียบูรพาและการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นทางชายฝั่งภาคใต้ของไทย เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รวมถึงสร้างความตื่นเต้นและความกระตือรือร้นสนใจต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในเนื้อหาละครอย่างยิ่ง

ช่วงเวลานั้นเอง ผมเริ่มแว่วยินชื่อของ คุณครูลำยอง วิศุภกาญจน์ เป็นครั้งแรกในชีวิต สืบเนื่องจากผมดูละครแล้วเกิดนึกสงสัยจนตั้งคำถามว่า พวกทหารญี่ปุ่นเคยยกพลขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานีและเกิดการปะทะสู้รบกับคนไทยเฉกเช่นตัวละครในเรื่อง ระย้า บ้างหรือไม่?

 

คุณครูลำยอง วิศุภกาญจน์
คุณครูลำยอง วิศุภกาญจน์

 

คุณแม่ของผมซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จึงบอกเล่าวีรกรรมของคุณครูลำยองให้ผมรับฟัง นามของท่านติดตรึงความทรงจำของผมเสมอ อ่านพบเรื่องราวของท่านจากหนังสือเก่าๆ เกี่ยวกับโรงเรียนสุราษฎร์ธานีบ่อยหน

กระทั่งวันหนึ่ง ช่วงปี พ.ศ. 2542 ขณะผมเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันวาดภาพในโครงการ “ศิลปินมิรินด้า” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ผมแลเห็นอนุสาวรีย์คุณครูลำยองเป็นครั้งแรก รูปปั้นคนหนุ่มดูเคร่งขรึม ยืนตัวตรงถือหนังสือ

 

รูปปั้นครูลำยอง
รูปปั้นครูลำยอง

 

ปี พ.ศ. 2545 ผมเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ได้สัมผัสกับชีวประวัติและวีรกรรมของ คุณครูลำยอง มากขึ้น ทั้งการอ่านเรื่องราวที่บันทึกไว้ในเอกสารต่างๆ และการเข้าร่วมกิจกรรมวันวิญญาณทุกปีตลอดระยะเวลาที่กำลังศึกษาอยู่

ปี พ.ศ. 2551 เรื่อยมาตราบปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ผมศึกษาตั้งแต่ชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้นต้องอธิบายให้ผู้ที่สนใจฟังในประเด็นเสวนาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 คราใดแล้ว ผมมักจะยกตัวอย่างกรณีของ คุณครูลำยอง มาประกอบด้วยเสมอๆ

เฉกเช่นคราวที่ผมมีโอกาสเป็นผู้ร่วมเสวนาในงาน ประวัติศาสตร์มีชีวิต 71 ปี วันสันติภาพไทย เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีวิทยากรคนอื่นๆ ได้แก่ อาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์, ดร.สิทธิธรรม โรหิตะสุข และคุณศุภวัฒน์ หงษา โดยพวกเราพูดคุยกันหัวข้อ “มองประวัติศาสตร์ไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และขบวนการเสรีไทยอย่างมีชีวิต : ผ่านมุมมองและร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรม”

มีอะไรมากมายเกี่ยวกับสงครามมหาเอเชียบูรพาและจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ผมพรั่งพรูให้กับผู้ฟังในห้องอเนกประสงค์ หอศิลป์กรุงเทพฯ บ่ายวันนั้น ซึ่งต่อมาได้มีการนำถ้อยคำเสวนาของวิทยากรแต่ละรายมาเผยแพร่ในหนังสือ 71 ปี วันสันติภาพไทย : สันติ-ประชา-ทำ จัดพิมพ์โดยหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แน่นอนว่า เรื่องราวของ คุณครูลำยอง ย่อมได้รับการถ่ายทอดด้วยเสียงเล่าของผมผ่านไมโครโฟนบนเวทีในงานเสวนา ดังถ้อยความว่า

 

“แล้วด้วยความที่ผมติดใจเรื่อง ‘ระย้า’ มาก พอเวลาผมเจอคนชราที่ไหนผมก็พยายามคุยถึงเรื่องสงครามโลก เรื่องทหารญี่ปุ่น พ่อแม่ของผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานีมีอนุสาวรีย์ของคุณครูท่านหนึ่ง ชื่อว่าครูลำยอง วิศุภกาญจน์ ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 คุณครูลำยอง ซึ่งตอนนั้นยังเป็นครูหนุ่มอายุ 25 ปี ครูลำยองพาลูกเสือเพื่อจะไปซ้อมสวนสนามฉลองวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือวันที่ 10 ธันวาคม ลูกเสือมีหลายคน แต่ที่มาเขียนบันทึกถึงเรื่องราวของครูลำยองให้คนรุ่นหลังอ่าน เหมือนว่าจะมีอยู่ 2 คน พอดีเช้าวันที่ 8 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สุราษฎร์ ชาวบ้านดอน ชาวสุราษฎร์ตกใจ นึกว่าข้าศึกบุกแล้ว พวกเขาก็ไปหยิบปืนพระรามหก เอามายิงต่อสู้ ลูกเสือเคยฝึกวิชาแบบทหารมาแล้ว เขาก็ไปสู้กับญี่ปุ่นด้วย

คุณครูลำยองไม่ได้ฝึกลูกเสือ แต่ท่านเป็นคนคุมกลุ่มลูกเสือ ครูลำยองก็ทำหน้าที่เป็นคนส่งปืน หลบอยู่ในที่กำบัง ช่วงจังหวะที่จะส่งปืนให้ลูกเสือคนหนึ่ง พอครูลำยองโผล่มาโดนทหารญี่ปุ่นยิงเข้าที่หน้าผากพอดี ทุกคนเลยรู้สึกว่าครูลำยองได้ร่วมรบกับญี่ปุ่นด้วย เป็นคุณครูของโรงเรียนและเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เลยมีรูปปั้นอนุสาวรีย์ ถือเป็นวีรชนคนสำคัญ

ยอมรับว่า ตอนเด็กๆ ผมฟังหรืออ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกไม่อิน เพราะผมดูละครเรื่อง ‘ระย้า’ แล้วพระเอกเก่งมาก แต่ทำไมครูลำยองไม่บู๊เลย ไม่ทันได้ต่อสู้กับพวกญี่ปุ่น ทำไมไม่บู๊กว่านี้ให้ได้ดั่งใจผม ผมมักจะแวะไปดูอนุสาวรีย์ครูลำยอง พอตอนหลังผมสอบเข้าเรียนในโรงเรียนสุราษฎร์ธานีแล้ว ก็พบว่าเหตุการณ์นี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องแบบว่ามีคนแก่ๆ ที่ทันสมัยครูลำยองยังอยู่ มาร้องห่มร้องไห้ คือไม่ใช่แค่คนคนหนึ่งโดนยิงในเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกทัพขึ้นยึดเมือง แต่เป็นอะไรหลายอย่างที่คนร่วมเหตุการณ์ในสมัยครูลำยอง รู้สึกว่ามันเป็นฝันร้าย เป็นการเกิดสงคราม ถึงแม้ว่าจะยิงปะทะกันไม่นานมาก เพราะตอนหลังทางการเขาสั่งให้หยุดยิง แล้วอนุญาตให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนเข้ามาได้

ผมกลับรู้สึกสนใจในแง่ที่ว่า มีตัวละครของสงครามหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่แค่ว่าไปรบกับญี่ปุ่นอย่างเดียว ผมเลยเริ่มสนใจศึกษาค้นคว้า แล้วเขามีการรำลึก 8 ธันวาคมของทุกปี โรงเรียนของผมจะมีการรำลึกถึงคุณครูลำยอง ทีนี้ผมก็ลองไปห้องสมุดโรงเรียน เริ่มไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ไปจนถึงวันประกาศวันสันติภาพ ปี 2488 หรืออ่านเรื่องวันที่ญี่ปุ่นโดนอเมริกาเอาเครื่องบินไปทิ้งบอมบ์ ผมอ่านตอนแรกๆ ก็อ่านเหมือนเด็กที่อยากหาความรู้ แต่พออ่านไปสักพัก มันมีแง่มุมที่น่าสนใจและมีเกร็ดสนุกๆ เยอะมาก”

 

ลำยอง วิศุภกาญจน์
ลำยอง วิศุภกาญจน์

 

แท้จริง คุณครูลำยอง ไม่ใช่ชาวสุราษฎร์ธานี ท่านมีภูมิลำเนาที่จังหวัดภูเก็ต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2459 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชาครูประกาศนียบัตรครูประโยคประถม (ป.ป.) ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มรับราชการครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

ตามข้อมูลจากคำบอกเล่าของลูกเสือผู้เป็นลูกศิษย์และอยู่ในเหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คือ เช้าวันนั้น ประชาชนได้มารวมตัวกันซักซ้อมประกอบพิธีฉลองรัฐธรรมนูญบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ตั้งอยู่ไม่ห่างริมแม่น้ำตาปี ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลหลักเมือง) กองทัพญี่ปุ่นยกพลที่มากับเรือท้องแบนล่องแม่น้ำตาปีบุกขึ้นตลาดบ้านดอน พลันเกิดความชุลมุนวุ่นวาย เริ่มมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยกับฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายไทยนำโดย หลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด, พ.ต.ต. หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสุราษฎร์ธานี และ ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อัตถศาสตร์ ผู้บัญชาการหน่วยตำรวจสยาม ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นมีคนหนึ่งที่ชาวสุราษฎร์คุ้นเคยดี เพราะเขามาเปิดร้านขายถ้วยชามที่ตลาดบ้านดอนนานแล้ว อีกทั้งแต่งงานกับสาวอำเภอไชยาจนมีลูก 2 คน หากกลับไม่มีใครทราบว่า เขาคือนายทหารแห่งกองทัพญี่ปุ่น การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดการปะทะสู้รบ พ.ต.ต. หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ถูกยิงล้มลง ต้องเร่งนำตัวส่งสุขศาลา เจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้านดอนทั้งหลายผู้ห้าวหาญหมายใจจะต้องปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตน มิยอมให้ชาวต่างชาติเข้ารุกราน จึงมีการแจกจ่ายอาวุธ

คุณครูลำยอง และคณะลูกเสือที่จะไปซ้อมสวนสนามฉลองวันรัฐธรรมนูญ (บางเสียงเล่าระบุว่าจะไปเชิญพานรัฐธรรมนูญ) ได้รับแจกปืนพระรามหกพร้อมกระสุน พร้อมเข้าประจำแนวรบทางด้านปีกขวา อาศัยรั้วสังกะสี (บางเสียงเล่าระบุว่าก้อนหิน) เป็นที่กำบัง เสียงเล่าของลูกเสือบางคนว่า คุณครูลำยอง ยิงต่อสู้ทหารญี่ปุ่นได้หลายคน

การสู้รบปะทะกันระหว่างชาวบ้านดอนและทหารญี่ปุ่นเกิดขึ้นท่ามกลางสายฝนกระหน่ำหนักหน่วงจนมองอะไรไม่ค่อยเห็น จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีกำลังทหารจึงพยายามโทรเลขติดต่อขอกำลังทหารจากนครศรีธรรมราชมาช่วยเหลือ แต่ทางนครศรีธรรมราชก็กำลังเผชิญการสู้รับกับทหารญี่ปุ่นเช่นกัน

กระทั่งพอทหารญี่ปุ่นรบพุ่งหนักทางแนวรบด้านปีกซ้าย คุณครูลำยอง หาทางออกไม่ได้ด้วยรั้วสังกะสีกั้นอยู่ เผลอโผล่ศีรษะขึ้นขณะประทับปืนบนไหล่ ทหารญี่ปุ่นสาดกระสุนใส่ท่านถูกเข้าที่หน้าผาก สูญสิ้นชีวิตเวลาประมาณ 11.15 น. ขณะที่ ลูกเสือบุญรอด ชมตันติ เข้าไปประคอง คุณครูลำยอง ท่านยังเอ่ยว่า “สู้มัน” ก่อนจะหมดสิ้นลมหายใจ

เรื่องราวของ คุณครูลำยอง ได้รับการถ่ายทอดผ่านเสียงเล่าและถ้อยคำให้การของชาวสุราษฎร์ธานีที่เคยอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังไม่เคยพบการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ผมเองเพียรเสาะหาสืบค้นอ่านเอกสารทางราชการห้วงเวลานั้นมานานหลายปี ก็ยังไม่เจอนามของ คุณครูลำยอง ผ่านเอกสารเหล่านั้นเลย

เฉกเช่น ผมเคยอ่านเอกสารที่ว่าด้วยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกับทหารญี่ปุ่นในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ก็เจอรายชื่อบุคคลอื่นๆ เช่น ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อัตถศาสตร์ ที่เสียชีวิตระหว่างสู้รบ หรือในเอกสารเรื่องที่ พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิรณรงค์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไปตรวจภาวะราษฎรทางภาคใต้ โดยคณะนี้เดินทางมาถึงสุราษฎร์ธานีคืนวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 22.25 น. พอเช้าวันที่ 18 ธันวาคม ได้เยี่ยมสถานีตำรวจภูธรและเรียกประชุมคณะกรรมการจังหวัดเพื่อซักซ้อมความเข้าใจนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายหลังประกาศให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านเข้ามาในเมืองไทยได้แล้ว พระรามณรงค์ เรียกประชุมข้าราชการชั้นตรีลงไปรวมทั้งพนักงานเทศบาลที่โรงเรียนประจำจังหวัด ตอนบ่ายประชุมพ่อค้าคหบดีและประชาชนชาวบ้านดอนที่โรงมหรสพ มีผู้มาร่วมประชุมจำนวน 1,000 เศษ รับทราบว่าทางเกาะสมุยมีข้าวสารไม่เพียงพอ คณะผู้แทนรัฐบาลยังไปดูสถานที่ราชการซึ่งถูกไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอเมือง ที่ทำการเกษตร และ บ้านพักนายร้อยตำรวจ จนต้องใช้จวนข้าหลวงและโรงเรียนประชาบาลเป็นสถานที่ทำงานชั่วคราว

ในการนี้ คณะผู้แทนรัฐบาลได้ไปเยี่ยมคำนับศพ ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อัตถศาสตร์ และพนักงานเทศบาลผู้เสียชีวิตในการปะทะกับทหารญี่ปุ่น ก่อนจะเดินทางต่อไปจังหวัดพัทลุง เวลา 19.30 น. จะเห็นว่า ไม่พบการเอ่ยถึงมรณกรรมของ คุณครูลำยอง เลย

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าวีรกรรมของ คุณครูลำยอง เป็นสิ่งเกิดขึ้นจริง เพราะตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2545 เคยได้เจอ คุณครูเนติภรณ์ เฉลิมพักตร์ ซึ่งเป็นครูสอนโรงเรียนสุราษฎร์ธานีสมัยเดียวกันกับ คุณครูลำยอง และท่านก็เล่าให้ฟัง

 

อนุสาวรีย์ครูลำยอง
อนุสาวรีย์ครูลำยอง

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ทางโรงเรียนสุราษฎร์ธานีได้จัดให้มีจัดพิธีสดุดีดวงวิญญาณครูลำยองทุกวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปีต่อเนื่องมาตราบปัจจุบัน เรียกงานพิธีนี้ว่า “วันวิญญาณ” ผมเองเคยสัมผัสบรรยากาศในงานตลอดครั้งที่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนสุราษฎร์ธานี เสียงท่องบทวิญญาณสดุดี อันเป็นโคลงที่ประพันธ์โดย คุณครูแผ้ว พรหมสวัสดิ์ ยังคงกึกก้องห้วงความรู้สึกมิรู้ลืมเลือน

 

แปดธันธ์แปดสี่นั้น
ดัสกร
ญี่ปุ่นยกทัพรอน
รุกบ้าน
ไทยชาติมาดหมายทอน
ทัพหยุด อยู่ฤๅ
จึ่งร่วมฤทธิ์แรงต้าน
ตื่นทั้งชายหญิง

ประวิงทัพญี่ปุ่นด้วย
ทำนอง ยุทธพ่อ
รักชาติศาสน์กษัตริย์ปอง
ปกาสสู้
เลิศชายชื่อลำยอง
วิศุภ-กาญจน์ เฮย
พลีชีพชูชาติกู้
กียรติไว้กลางสมร

บวรมิตรศิษย์ญาติพ้อง
ภักดี
ต่างมอบกายพจี
จิตพร้อม
กตัญญูกตเวที
เทิดเกียร-ติคุณเฮย
มุ่งแผ่กุศลน้อม
ระลึกเบื้องแปดธนู

 

คุณครูลำยอง วิศุภกาญจน์ คือบุคคลหนึ่งที่ได้เสียสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมิให้ข้าศึกรุกรานในการปะทะสู้รบกับทหารญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเมืองไทยได้เข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมิค่อยพบเรื่องราวและนามของท่านจารึกในเอกสารสำคัญของทางราชการหรือได้รับกล่าวขานในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ เพราะท่านอาจเป็นเพียงคนสามัญธรรมดา ทว่าวีรกรรมของ คุณครูลำยอง ย่อมจำหลักแน่นแฟ้นอยู่ในความทรงจำของชาวสุราษฎร์ธานีมิเสื่อมคลาย

 

เอกสารอ้างอิง

  • ทศพล งามไพโรจน์. “วันวิญญาณ รำลึกเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกสุราษฎร์ฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2.” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 7 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2529).
  • 71 ปี วันสันติภาพไทย : สันติ-ประชา-ทำ. กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559.