ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ไปฝึกหัดว่าความ ณ กรมอัยการ

17
กันยายน
2565

ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศสหวนคืนสู่สยามอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ในปี พ.ศ. 2469 นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับราชการตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมและเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย 

ล่วงมาต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2470 ทางกระทรวงยุติธรรมได้ส่งข้าราชการหนุ่มผู้เคยศึกษาวิชากฎหมายในยุโรปให้ไปฝึกหัดการว่าความ ณ กรมอัยการ ซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรม คือ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ดังปรากฏการรายงานข่าวหน้าเบ็ดเตล็ด (หน้า 5) ของหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2470 ว่า

 

“กระทรวงยุติธรรมได้ส่ง นายปรีดี พนมยงค์ เนติบัณฑิตสยามและหมอกฎหมายฝรั่งเศส หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์ ณ อยุธยา เนติบัณฑิตสยามและอังกฤษ กับนายบุญรอด จุลเนตร์ เนติบัณฑิตสยามและอังกฤษ ไปฝึกหัดการว่าความที่กรมอัยการ ตั้งแต่วันที่ ๓ เดือนนี้”

 

พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล)
พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล)

 

ถึงแม้ข้าราชการทั้ง 3 นายจะเป็นนักเรียนนอก เคยร่ำเรียนวิชานิติศาสตร์แบบสากลในต่างประเทศทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ทว่า ครั้นต้องมาปฏิบัติหน้าที่ด้านกฎหมายในเมืองไทย ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ ฝึกหัด และทบทวนกระบวนวิธีดำเนินการพิจารณาคดีความแบบสยามให้แม่นยำช่ำชอง โดยเฉพาะ การว่าความ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่นักกฎหมายทุกคนพึงปฏิบัติได้ ขณะเดียวกัน การไปฝึกว่าความ ณ กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย คงจะมีข้อผิดแผกแตกต่างจากการดำเนินงานของกรมกองต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรม ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับข้าราชการหนุ่ม

 

หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์ ณ อยุธยา หรือ หลวงประพนธ์นิติสวรรค์
หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์ ณ อยุธยา หรือ หลวงประพนธ์นิติสวรรค์

 

นายบุญรอด จุลเนตร์ หรือ หลวงวิเทศจรรยารักษ์ ในชุดเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2468
นายบุญรอด จุลเนตร์ หรือ หลวงวิเทศจรรยารักษ์ ในชุดเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2468

 

หม่อมหลวงประดับ และ นายบุญรอด มีอายุอาวุโสมากกว่า นายปรีดี โดยเฉพาะ นายบุญรอด นั้น อายุมากกว่าถึง 6 ปี เขาเคยทำงานประจำกระทรวงยุติธรรมและเริ่มเรียนที่โรงเรียนกฎหมายมาก่อน แต่ นายบุญรอด ใช้เวลาเรียนนานรวม 6 ปี 10 เดือน จึงสอบได้เป็นเนติบัณฑิตสยามพร้อมๆ กับนายปรีดี เมื่อปี พ.ศ. 2462 แต่นายปรีดีสอบได้แล้วต้องรออีกปีจึงได้รับการประกาศเป็นเนติบัณฑิตสยาม เพราะอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

นายบุญรอด ได้รับทุนหลวงไปเรียนวิชากฎหมายต่อที่สำนักเกรย์สอินน์ (The Honourable Society of Gray's Inn) ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ภายหลังจาก นายปรีดี ไปเรียนต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเกือบหนึ่งปี

ตอนที่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อปี ร.ศ. 110 (ตรงกับ พ.ศ. 2434) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อจัดการระบบศาลใหม่ โดยนำศาลยุติธรรมที่แยกสังกัดอยู่ในแต่ละกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมนา เข้ามารวมศูนย์ไว้ในสังกัดเดียวกัน

แรกเริ่มทีเดียว กระทรวงยุติธรรมยังไม่มีกรมอัยการ มีเพียงกรมรับฟ้องคดี กระทั่งปี ร.ศ. 111 (ตรงกับ พ.ศ. 2435) ปรากฏหลักฐานตามหนังสือ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย เล่ม ๑ ในบทข่าวชำระความศาลสถิตยุติธรรม ได้มีการพิจารณาคดีโดยกรมอัยการเป็นโจทก์ กรณีที่พระยาสีหราชเดโชชัยต้องหาว่าเฆี่ยนนายโตตาย มีการพิจารณาคดีวันที่ 20 มิถุนายน โดย หลวงรัตนาญัปติ เจ้าพนักงานกองกลางกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ว่าคดี ซึ่งทำการไต่สวนอำแดงเป้า ภริยาของนายโตผู้ตาย และพาอำแดงเป้าไปสาบานตัวยื่นฟ้องต่อกรมรับฟ้อง กล่าวโทษว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ร.ศ. 111 พระยาสีหราชเดโชชัยกับพรรคพวกบ่าวทาสรุมกันจับตัวนายโตมาผูกมัดทุบตี จนวันที่ 30 พฤษภาคม นายโตขาดใจตายเพราะทนความบาดเจ็บไม่ไหว

 

หลวงรัตนาญัปติ หรือ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
หลวงรัตนาญัปติ หรือ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

 

กระทั่งล่วงผ่านมาถึงปี ร.ศ. 112 (ตรงกับ พ.ศ. 2436) รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมอัยการขึ้นอีกกรมหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม และแต่งตั้งให้ หลวงรัตนาญัปติ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคนแรกสุด ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) โดยมีหน้าที่ราชการเป็นทนายหลวง ทนายความของแผ่นดิน ว่าความแผ่นดินในศาลทั้งปวง ณ สนามสถิตยุติธรรม และศาลกงสุลต่างประเทศฯ เป็นทนายความในนามของราชาธิปไตย ฟ้องกล่าวโทษผู้กระทำผิดล่วงพระราชอาชญา เป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีแทนราษฎรที่ไม่สามารถฟ้องร้องเองได้ อย่างไรก็ดี อำนาจหน้าที่ของกรมอัยการยุคแรกๆ จำกัดอยู่ในเขตกรุงเทพพระมหานครเท่านั้น

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้นรัฐบาลสยามประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี พร้อมประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2460 กรมอัยการยังได้รับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ฟ้องขอให้ศาลริบเรือเชลย

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2465 กรมอัยการโอนย้ายจากกระทรวงยุติธรรมมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย 

ก่อนหน้าที่ข้าราชการหนุ่มทั้งสาม ได้แก่ นายปรีดี, หม่อมหลวงประดับ และ นายบุญรอด จะออกเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายในทวีปยุโรป หรือขณะที่พวกเขายังเป็นเนติบัณฑิตสยาม ซึ่งน่าจะตรงกับช่วงต้นทศวรรษ 2460 กรมอัยการย่อมจะสังกัดกระทรวงเดิม แต่พอพวกเขาหวนกลับคืนเมืองไทย กรมนี้อยู่ในสังกัดกระทรวงใหม่แล้ว 

เช่น นายบุญรอด ช่วงปี พ.ศ. 2461 ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เขาเคยทำงานเป็นอัยการประจำกรมอัยการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม

นักเรียนนอกที่กระทรวงยุติธรรมส่งไปฝึกหัดการว่าความ ณ กรมอัยการ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2470 ถัดมาไม่นาน พวกเขาทั้งสามล้วนเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการทางด้านกฎหมาย

นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2472 ขณะเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายหม่อมหลวงประดับ สุทัศน์ ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประพนธ์นิติสวรรค์ และ นายบุญรอด จุลเนตร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิเทศจรรยารักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2472 ขณะเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นักกฎหมายนาม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก้าวขึ้นมามีบทบาทบริหารกิจการบ้านเมืองในฐานะ “มันสมองของคณะราษฎร” อีกตำแหน่งหนึ่งที่นายปรีดีได้รับในช่วงปลายทศวรรษ 2470 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แน่นอน กรมอัยการที่เคยไปฝึกหัดว่าความ มิแคล้วอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลด้วย

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยแรงผลักดันของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

นักกฎหมายอีกสองคน คือ หลวงประพนธ์นิติสวรรค์ และ หลวงวิเทศจรรยารักษ์ ก็มีบทบาทในการสอนและเรียบเรียงหนังสือคำสอนชั้นปริญญาตรีวิชากฎหมายให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเช่นกัน

ผลงานหนังสือคำสอนของ หลวงประพนธ์นิติสวรรค์ เฉกเช่น คำสอนลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม (พ.ศ. 2476), กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกคำสั่ง (พ.ศ. 2477) เป็นต้น

ส่วน หลวงวิเทศจรรยารักษ์ จะเน้นสอนและเรียบเรียงคำสอนเกี่ยวกับ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รวมถึง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม, ฝากทรัพย์, เก็บของในคลังสินค้า, ปราณีประนอม, การพะนันและขันต่อ

ปลายทศวรรษ 2470 หลวงประพนธ์นิติสวรรค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ขณะที่ หลวงวิเทศจรรยารักษ์ เป็นผู้พิพากษาศาลประจำมณฑลและจังหวัดต่างๆ ค่อยๆ เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับจนได้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาช่วงปลายทศวรรษ 2490

ปัจจุบัน กรมอัยการมิได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากแยกออกไปเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด

เรื่องราวที่ นายปรีดี พนมยงค์ เคยถูกส่งตัวไปฝึกหัดว่าความ ณ กรมอัยการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทุกวันนี้แทบจะไม่ค่อยเป็นที่รับทราบและมีใครกล่าวถึงสักเท่าใด แต่นับเป็นข้อมูลน่าสนใจ ซึ่งเปิดเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมและนักกฎหมายไทย

 

เอกสารอ้างอิง

  • กระทรวงมหาดไทย, กรมอัยการ. ประวัติกรมอัยการ. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสารการประสิทธิ์ อธิบดีกรมอัยการ พ.ศ. 2489-2491 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2497. พระนคร : โรงพิมพ์อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์, 2497
  • ความเห็นของพระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 9 มีนาคม 2493. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2493
  • ประพนธ์นิติสรรค์, หลวง. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายจัดการงานนอกคำสั่ง. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2477
  • ประพนธ์นิติสรรค์, หลวง. คำสอนลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม. พระนคร : ม.ป.พ., 2476
  • วิเทศจรรยารักษ์, หลวง. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล. พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง, 2495
  • วิเทศจรรยารักษ์ (บุญรอด จุลเนตร์), หลวง. คำบรรยายวิชานิติศาสตร์ เรื่อง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ว่าด้วยเรื่องพื้นอากาศ และการเดินอากาศยาน. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิเทศจรรยารักษ์ ณ เมรุวัดอนงคาราม ธนบุรี วันที่ 16 มีนาคม 2503. พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง, 2503
  • วิเทศจรรยารักษ์ (บุญรอด จุลเนตร์), หลวง.คำสอนชั้นปริญญาตรี พุทธศักราช ๒๔๙๓ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม, ฝากทรัพย์, เก็บของในคลังสินค้า, ปราณีประนอม, การพะนันและขันต่อ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2493
  • ศรีกรุง. (6 สิงหาคม 2470)
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ม.ม., ท.ช., ร.ด.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2526. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2526